"วงศกร พิทุพันธ์" มือลุยสินเชื่อ ภาคเหนือ IFCT


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

ครั้งหนึ่งอัศวิน คงศิริ กรรมการและผู้จัดการทั่วไป ของบรรษัท เงินทุนอุตสาหกรรม แห่งประเทศไทย หรือ ไอเอฟซีที เคยเปรยถึงการปล่อยสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมที่บรรษัททำอยู่ ยังไม่บรรลุสู่ความสำเร็จ แถมยังขาดทุนตลอด เนื่องจากสินเชื่อประเภทนี้มีค่าใช้จ่ายสูง ต้องมีระบบสาขา ขึ้นมาดูแลเพื่อให้ความสะดวกแก่ผู้กู้รายย่อย ซึ่งต้องลงทุนสูงมาก

แต่ความจำเป็นของไอเอฟซีที ที่มีบทบาทในฐานะสถาบันการเงินที่ให้เงินกู้ระยะยาวทำหน้าที่เสมือนหนึ่ง Long term credit bank และธนาคาร เพื่อการพัฒนาที่มีนโยบายสร้างรากฐานแข็งแกร่งให้แก่อุตสาหกรรมขนาดย่อม และอุตสาหกรรมท้องถิ่น ทำให้ไอเอฟซีทีหยุดไม่ได้ แม้ว่าจะขาดทุนก็ตาม

เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานี้ ไอเอฟซีทีได้สวนกระแสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ด้วยการเปิดสำนักงานภาคเหนือแห่งใหม่ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ด้วยการทุ่มเงินลงทุนเพื่อการนี้ถึง 20 ล้านบาท สร้างอาคารสำนักงานสี่ชั้นอันทันสมัย บนเนื้อที่กว้าง 200 ตารางวา

สำนักงานแห่งใหม่นี้ จะทำหน้าที่เสมือนหนึ่งเป็นสถาบันการเงินอุตสาหกรรมขนาดย่อม ที่ให้บริการครบวงจร ตั้งแต่ให้เงินกู้ ร่วมลงทุน บริการลิสซิ่ง และเช่าซื้อ รวมถึงการให้คำปรึกษาการจัดการโครงการ โดยมีพื้นที่เป้าหมายในสี่จังหวัด คือจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูนและแม่ฮ่องสอน

การแยกสี่จังหวัดข้างต้น ที่เปรียบเพชรน้ำงามทางภาคเหนือ เนื่องจากมีศักยภาพการเติบโตที่สูงมาก ในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้สำนักงานภาคเหนือตอนบนที่จังหวัดลำปาง เหลือจังหวัดที่ต้องรับผิดชอบเพียง 6 จังหวัด คือ ลำปาง พะเยา น่าน ตาก และอุตรดิตถ์ จากเดิมที่เคยดูแล 10 จังหวัด ที่รวม 4 จังหวัด ข้างต้น ด้วย

"สมัยก่อน ทำเลที่ตั้งสำนักงานในจังหวัดลำปาง ทำให้การเข้าไปดูแลลูกค้า หรือไปช่วยพัฒนาธุรกิจให้ลูกค้า อาจจะไม่ทั่วถึงนัก ซึ่งปัจจุบันเราย้ายไปเชียงใหม่ ก็เชื่อว่าสามารถให้ความดูแลและพัฒนาธุรกิจได้มากขึ้น และทำให้ลูกค้าติดต่อเราได้ง่ายขึ้น ทำให้มีโอกาสทำธุรกิจร่วมกันได้มาก"แหล่งข่าวกล่าว

การแยกมาตั้งสำนักงานภาคแห่งใหม่นี้ จึงให้เป้าหมาย การปล่อยเงินกู้ในปี 2534 ของสำนักงานภาค (ลำปาง) ต้องลดเหลือเพียง 65 ล้านบาท จากเดิมที่เคยปล่อยเงินกู้ไป 96.6 ล้านบาท ในปีที่แล้ว

ขณะเดียวกัน เป้าหมายการปล่อยสินเชื่อวงเงินกู้ของสำนักงานภาค (เชียงใหม่) ซึ่งเพิ่งเกิดใหม่ในปีนี้ ก็ตั้งไว้เป็นตัวเลข วงเงินกู้ประมาณไม่ต่ำกว่า 150 ล้าน เน้นบริการให้กู้ระยะยาว 5-7 ปี ในอันตราดิกเบี้ยเงินกู้ต่ำ ซึ่งเป็นอัตราคงที่ 9 (Fixrate) เพียง 14% แก่ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดย่อม ใน 4 จังหวัด ขณะที่แบงก์พาณิชย์ทั่วไป คิดดอกเบี้ยเงินกู้สูงชนเพดาน 19%

เป็นที่แน่นอนว่าคงทะลุเป้าหมาย เพราะเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่ำเป็นที่ปรารถนาอย่างมาก สำหรับเถ้าแก่ เมืองเหนือในสภาวะการเงินฝืดเคือง ดอกเบี้ยสูง เช่นนี้

เป้าหมายนี้ได้มอบไว้เป็นภารกิจแก่ผู้บริหารสำนักงานภาคแห่งใหม่นี้ ที่ชื่อ วงศกร พิทุพันธ์ เป็นคนหนุ่ม ผู้มีอนาคตไกล ที่ทำงานกับไอเอฟซีที นับ 10 ปี ตั้งแต่จบปริญญาตรี ด้านวิศวกรรมสาขาไฟฟ้า จากคณะวิศวกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทสาขาบริหารธุรกิจ หรือเอ็มบีเอ รุ่น 26 จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วงศกร เองทำงานเริ่มต้นเป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อ โดยเฉพาะด้านเทคนิค และไต่เต้าเป็นผู้ช่วยหัวหน้าส่วนวิเคราะห์โครงการ มีประสบการณ์สมัยที่ทำงานอยู่ส่วนกลางเคยมีโอกาสวิเคราะห์ และปล่อยสินเชื่อภาคเหนือด้วย ทำให้พอจะรู้จักพื้นที่พอสมควร และเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งที่ลำปาง ก็ได้ย้ายมาเป็นทีมงานที่เชียงใหม่นี้แล้ว

"เป้าหมายการปล่อยสินเชื่อแต่ละจังหวัด เรามีนโยบายกว้าง ๆ ที่ได้รับจากส่วนกลางว่า อะไรก็ตามที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อม ท้องถิ่น เราให้การส่งเสริมหมด ถ้าไม่อยู่ในอุตสาหกรรม ที่อิ่มตัวแล้ว โดยรายหนึ่งเราจะให้ 1-2 ล้าน หรือ 5-10 ล้าน แล้วแต่ขนาดโครงการ" ผู้จัดการภาควัยหนุ่ม 32 เล่าให้ฟัง

ในปีที่ผ่านมา ๆ เชียงใหม่ จัดว่าเป็นจังหวัดที่แบงก์ปล่อยสินเชื่อมากที่สุดในภาคเหนือ รองลงมาคือเชียงราย ลำพูน เป็นสัดส่วนสินเชื่อพาณิชยกรรมและการก่อสร้างเกินครึ่ง เนื่องจากการพัฒนา เมืองหลักเหล่านี้ให้เป็นเมืองท่องเที่ยว ทำให้เกิดอุตสาหกรรมก่อสร้างโรงแรม คอนโดมิเนียม ตลอดจนอุตสาหกรรม ต่อเนื่องจากการท่องเที่ยว เช่นของชำร่วย ธุรกิจบริการ ธุรกิจค้าอัญมณี

"ตอนนี้ เรามีลูกค้าประมาณ 60-70 ราย ส่วนใหญ่ เป็นอุตสาหกรรม จะเป็นโรงงานขนาดใหญ่ ขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง เช่นโรงงานผลิตกล่องกระดาษลูกฟูกแห่งแรกในภาคเหนือ ชื่อ เอ.เอส เอ เชียงใหม่ ลูกค้าส่วนใหญ่ จะอยู่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูนมาก ส่วนอีก 15% มาจากเชียงราย ซึ่งเรามีดุสิตไอร์แลนด์ รีสอร์ท เป็นลูกค้า ตอนนี้เราไมมี่ลูกค้าที่แม่ฮ่องสอนเลย ซึ่งในระยะ 1-2 ปี นี้ มีการเติบโตด้านโรงแรมและการท่องเที่ยว ผมหวังว่าปีนี้ จะมีลูกค้าจากที่นี่มาใช้บริการบ้าง"วงศกร พิทุพันธ์ ผู้จัดการสำนักงานภาค (เชียงใหม่) เล่าให้ฟัง

ปีแรกของการดำเนินงานฐานลูกค้าเก่าที่เป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อม ที่มีขนาดเงินลงทุนไม่เกิน 20 ล้านบาท เป็นกลุ่มเป้าหมายแรก ที่วงศกรจะต้องไปแนะนำตัวเองให้รู้จัก พร้อมทั้งทำแผนส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจกับส่วนกลาง เช่นการจัด mission พบผู้ประกอบการ เช่นจัดสัมมนา หรือโครงการอบรมนักลงทุนรุ่นเยาว์ สำหรับนักศึกษาที่ใกล้จบ เพื่อเตรียมตัวให้เป็นผู้ประกอบการในอนาคต

"บรรษัท มีวิธีการในการปล่อยสินเชื่อและติดตามลูกค้าด้วยวิธีการของเราเอง จากประสบการณ์ที่ทำมา เราคิดว่า เรากับลูกค้าลงทุนร่วมกัน เนื่องจากธุรกิจอุตสาหกรรม หวังผลระยะยาวไม่ใช่การค้าที่ซื้อขายแล้วเก็งกำไรระยะสั้น อัตราส่วนที่เหมาะสมโดยทั่วไปเราจะกำหนดประมาณหนึ่งต่อหนึ่ง คือลูกค้าออกทุนหนึ่งล้าน เราก็ให้หนึ่งล้าน"วงศกร เล่าให้ฟังถึงมาตรฐานวัดความเสี่ยงทุนในการกู้ยืม

ขณะที่ให้เงินกู้อุตสาหกรรมขนาดย่อมเป็นหลัก วงศกรก็กล่าวว่าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ก็เป็นเป้าหมายรองลงมาเช่นกัน โดยทางสำนักงานภาคจะเป็นช่องทางนำผ่านลูกค้า ให้แก่สำนักงานใหญ่พิจารณา

"ต่อไปถ้าหากอัตรากำลังเจ้าหน้าที่มีศักยภาพเข้าถึงการบริการลูกค้าขนาดใหญ่ได้ คงจะต้องใช้เวลาในการพัฒนาระยะหนึ่ง แต่ขึ้นอยู่กับแผนงานของส่วนกลาง ที่จะให้ภูมิภาคทำหรือไม่"ผู้จัดการภาคหนุ่มวัย 32 เล่าให้ฟัง

จากแนวโน้มการกระจายการลงทุนที่เคยกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองสมุทรปราการ สุมทรสาคร และแนวชายฝั่งทะเลตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด ได้ย้ายฐานการผลิต มาสู่เขตภาคเหนือตอนบน เนื่องจากใกล้แหล่งวัตถุดิบ และแรงงานฝีมือ เป็นที่จับตาของผุ้บริหารไอเอฟซีที ที่มองเห็นการเติบโตของอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกนี้

"เท่าที่ทราบอุตสาหกรรมขนาดเบา เช่นอุตสาหกรรมด้านอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตแผงไอซี ก็ได้ย้ายฐานการผลิตขึ้นมาที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูนเหมือนกัน ซึ่งเราถือว่าเป็นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติเข้ามาลงทุนซึ่งเขามีแหล่งเงินทุน แต่เราก็สามารถให้บริการเขาได้ถ้าเขาใช้เรา" วงศกร เล่าให้ฟังถึงเป้าหมายตลาด

เมื่อถูกถามถึงปัญหาหนี้เสียเกิดขึ้นหรือไม่ อันเนื่องมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจผันผวน วงศกร กล่าวว่ามีความเสี่ยงทั้งนั้น อุตสาหกรรมขนาดย่อม ที่บริหารโดยเถ้าแก่คนเดียว แต่วิธีการควบคุมการให้สินเชื่อของไอเอฟซีที แตกต่างกว่าที่อื่นตรงที่จะเป็นการเบิกเงินกู้ ตามความก้าวหน้าของโครงการ เพราะถือว่าเป็นการลงทุน ร่วมกันระหว่างลูกค้ากับไอเอฟซีที

"ปัญหาหนี้เสียตอนนี้ยังไม่เห็น จะมีบ้างก็ที่ลูกค้าบางราย ขอผ่อนผันระยะเวลา ชำระเงินกู้ เนื่องจากเรามีงวดชำระชัดเจน ผมคิดว่า ลูกค้าทางภาคเหนือเป็นลูกค้าที่ดีมาก ไม่มุ่งเก็งกำไร แต่ตั้งใจทำงาน ผมคิดว่า ผมโชคดี ที่ได้มาอยู่กับคนที่มีวัฒนธรรม แบบนี้" วงศกร ผู้จัดการภาคหนุ่ม หยอดคำวานทิ้งท้าย

โชคดี หรือโชคร้าย เป็นเรื่องของอนาคต ที่ผู้จัดการหนุ่มอย่างวงศกร พิทุวงศ์ ต้องรับผิดชอบต่อภารกิจที่ได้รับมอบหมายมา เพื่อให้สำนักงานภาคเหนือตอนบน(เชียงใหม่) แห่งนี้เป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดย่อมในที่สุด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.