|
เมื่อแบงก์ทั่วโลกขาดเสถียรภาพ BIS จึงต้องเร่งกู้ความเชื่อมั่น
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2534)
กลับสู่หน้าหลัก
Bank for international Sattlements BIS ได้ตกลงกันที่กรุงบราซิลเพื่อกำหนดให้สิ้นปี 1992 เป็นเส้นตายที่แบงก์ต่าง ๆ ทั่วโลก ต้องเร่ทำให้สัดส่วนทุนต่อสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงไม่ต่ำกว่า 8% โดยอัตราส่วนทุนประเภทที่ 1 หรือทุนหลัก (core capital) ไม่ต่ำกว่า 42% การกำหนดองค์ประกอบของทุนประเภทที่1. ทุนประเภทที่ 2 และองค์ประกอบของการคำนวณ ความเสี่ยงคือ สาเหตุที่ทำให้มีการประชุมคณะกรรมการผู้ออกกฎด้านอุตสาหกรรมแบงก์ และผู้ออกข้อปฏิบัติต่าง ๆ ของบีไอเอส ที่กรุงบราเซล โดยมีปีเตอร์ คุ๊ก เป็นประธาน
บีไอเอส ยังกำหนดระยะเวลาการปฏิบัติตามข้อกำหนด อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยกำหนดช่วงปี 1990-1991 เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ก่อนจะทำตามกฎอย่างสมบูรณ์ในสิ้นปี 1992
แต่เดิมนั้น แบงก์ชั้นนำส่วนใหญ่เชื่อว่า จะสามารถทำตามกฎของบีไอเอส ได้ก่อนปี 1992 โดยไม่จำเป็นต้องเดินตามขั้นตอนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทว่าเมื่อแบงก์เหล่านี้ ต้องเผชิญสภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากตลาดหุ้นที่ทรุดดิ่งในปี 89 และวิกฤตการณ์ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในปี 90 ก็ทำให้แบงก์ต่าง ๆ จำเป็นต้องยอมเดินตามการเปลี่ยนแปลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป
การเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปดังกล่าวก็คือ ในขั้นแรก บีไอเอส จะยอมให้นับรวมองค์ประกอบของทุนประเภทที่ 2 หลาย ๆ องค์ประกอบ ยังสามารถเข้าเป็นทุนประเภทที่ 1 ได้ นอกจากนี้ กำไรจากการถือหลักทรัพย์ของแบงก์ญี่ปุ่น ซึ่งไม่แสดงในงบดุล ก็ถือว่าเป็นทุนประเภทที่ 1 เช่นเดียวกับหนี้สิน แบบซับออดิเนท ( subbordinated debt) ของแบงก์สหรัฐ
นอกจากนี้ในช่วงแรก บีไอเอส ยังยอมโอนอ่อนในเรื่องโครงสร้างของทุนทั้ง 2 ประเภทด้วย กล่าวคือ อันที่จริงแล้วทุนประเภทที่ 1 นั้นหมายถึง ส่วนของผู้ถือหุ้นสามัญ หรือผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิ์มีเสียงในการบริการ และเป็นผู้ที่ต้องแบกรับยอดขาดทุนของแบงก์ หากแบงก์ประสบปัญหา แต่บีไอเอส ยังยอมให้รวมเอาองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น เงินสำรองในรูปของส่วนเกินทุน (Capital surplus) และกำไรสะสม โดยทุนสำรองดังกล่าวจะ ต้องมีการเปิดเผยรายละเอียดและจะต้องไม่มีการนำเงินทุนสำรองที่ไม่แสดงในงบดุลมาคิดรวม
อยู่ด้วย
อย่างไรก็ตาม หุ้นบุริมสิทธิ์ชนิดไม่สะสมเงินปันผลนั้น ไม่อาจรวมอยู่ในทุนประเภทที่ 1 เพราะแม้ว่าหุ้นดังกล่าวจะไม่ได้รับเงินปันผล หากปีใด บริษัท มีกำไรสะสมไม่พอจ่าย แต่ผู้ถือหุ้น บุริมสิทธิ์ ก็ไม่มีสิทธิ์ออกเสียง และไม่ต้องรับผิดชอบต่อผลขาดทุน หากบริษัทประสบปัญหา หรือประสบภาวะล้มละลาย ดังนั้นหุ้นบุริมสิทธิ์จึงมีลักษณะเหมือนหนี้สินมากกว่าหุ้นสามัญ
ทันทีที่มีการแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างทุนประเภทที่ 1 และทุนประเภทที่ 2 บรรดาผู้ออกกฎ ก็มีอิสระเสรีที่จะเซ็นอนุมัติให้ทุนชนิดใดนับรวมเป็นทุนประเภทที่ 2 ได้บ้าง โดยอาศัยการตีความรูปแบบของทุนตามกำหนดเฉพาะของแต่ละประเทศ และด้วยเหตุนี้ จึงทำให้มีการต่อรองกันในระดับประเทศเกิดขึ้นด้วย โดยสำหรับแบงก์ญี่ปุ่นนั้น ยอมให้มีการตีมูลค่าเงินสำรองใหม่ได้ โดยคำนึงถึงกำไรจากการค้าหลักทรัพย์ ซึ่งในงบดุล จะมิได้แสดงเอาไว้ จะแสดงก็แต่เพียงต้นทุนของหลักทรัพย์เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลาย ๆ ประเทศ เช่น เยอรมัน ที่แบงก์ยังพอมีเงินทุนสำรองเท่ากับยอดดั้งเดิม เพราะพวกเขายืนยันว่า จะไม่ยอมให้แบงก์ต่าง ๆ เอารายการอื่น ๆ ที่ไม่เคยเป็นที่ยอมรับมานับรวมเป็นทุนประเภทที่ 2 เหมือนแบงก์ญี่ปุ่น เป็นอันขาด รวมทั้งบีบบังคับให้แบงก์เปิดเผยข้อมูลอย่างเต็มที่ ส่วนหนี้สินแบบซับออดิเนทที่ แบงก์สหรัฐฯ นับรวมเป็นทุนประเภทที่ 1 นั้น เยอรมันนี กลับเป็นทุนประเภทที่ 2
อย่างไรก็ดี เนื่องจากหนี้สิน แบบซับออดิเนท เป็นหนี้สินที่แลเห็นได้ไม่ชัดเจน และมีความผันผวนจึงมีความจำกัดหากจะนำมานับรวมในทุนประเภทที่ 2 โดยจำกัดไว้เพียงไม่เกิน 50% ของทุนประเภทที่ 2 ส่วนกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ถูกจำกัดไว้ไม่เกิน 55% และทุนประเภทที่ 2 นั้นจะต้องไม่เกิน 50% ของทุนทั้งหมด กล่าวคือทุนประเภทที่ 2 จะต้องไม่เกินทุนประเภทที่ 1 นั่นเอง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|