ทีดีอาร์ไอ สัมมนาสิ่งแวดล้อม Polluter pays principle


นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2534)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังจากที่เริ่มใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 6 เมื่อปี 253 และจะสิ้นสุดเอาปีหน้านี้แล้วนั้น ประเทศไทยก็เริ่มส่อเค้าก้าวเข้าสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (นิกส์) ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละกว่า 10%

อันที่จริง ความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมาก ๆ เพิ่งจะเกิดในช่วง 3 ปี ให้หลังนี่เอง และเป็นความเติบโตชนิดที่ไม่มีการระบุและคาดการณ์ในแผนฯ ฉบับใด ๆ

บนย่างก้าวสู่การเป็นนิกส์ ประเทศไทยก็มีการขยายการลงทุนในทุกภาคการผลิต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรม ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะขยายตัวออกไปอีกมาก นั่นหมายความว่าการเกิดมลภาวะในชั้นบรรยากาศของโลกที่ประเทศไทยจะมีเพิ่มากขึ้นด้วย เพราะโรงงาน อุตสาหกรรม เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมลภาวะ โดยเฉพาะในเรื่องของความเสื่อมโทรม ของคุณภาพสิ่งแวดล้อม กากสารพิษ น้ำเน่า อากาศเสีย

ปี 2512 มีโรงงานอุตสาหกรรมที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ประมาณ 600 โรง ครั้นปี 2532 เพิ่มขึ้นเป็น 51,500 โรง โรงงานอุตสาหกรรมเหล่านี้กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลรอบนอกถึง 52% และในจำนวนนิคมอุตสาหกรรม ที่มีอยู่ 23 แห่งทั่วประเทศ มีถึง 12 แห่ง ที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพ และปริมณฑลรอบนอก

ในจำนวนโรงงานกว่าห้าหมื่นโรง มีโรงงานที่ปล่อยสารการพิษเช่น โลหะหนัก สารเคมี น้ำมัน สารละลายรวมทั้งสิ้น 15,126 โรง ในจำนวนนี้ 10,152 โรงตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โรงงานที่ปล่อยกากสารพิษเหล่านี้ ทำการปล่อยกากสารพิษออกมาถึง 1.1 ล้านตัน ในปี 2529 ขณะที่ประเทศไทย มีศูนย์กำจัดกากสารพิษเพียงแห่งเดียว ที่เขตบางขุนเทียนซึ่งมีความสามารถในการบำบัดของปริมาณกากสารพิษที่เกิดขึ้น

เมื่อดูแนวโน้มในอนาคตแล้ว ปริมาณก๊าซพิษต่าง ๆ จะเพิ่มมากขึ้นอย่างน่ากลัว สำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้ตรวจวัดคุณภาพอากาศในปัจจุบัน พบว่าอยู่สภาวะที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ดังนั้นการเพิ่มขึ้นอย่างมากของปริมาณมลพิษในอนาคต จึงเป็นตัวเลขที่น่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง

นี่คือผลพวงที่เป็นบาดแผลของการพัฒนาและความเติบโต อย่างรวดเร็วบนเส้นทางสู่นิกส์

ในเรื่องของทรัพยากร ธรรมชาติ ก็มีการใช้อย่างอย่างฟุ่มเฟือย ปราศจากความระมัดระวัง รับผิดชอบ ป่าไม้ แร่ธาตุ แหล่งน้ำถูกใช้ประโยชน์ด้วยวิธีการไม่ถูกต้อง จนต้องเรียกว่าเป็นการทำลายมากกว่าการนำมาใช้ประโยชน์

นโยบายป่าไม้ แห่งชาติ ซึ่งริเริ่ม ในปี 2528 มีการระบุว่า จะรักษาป่าไม้ไว้ 40% ของพื้นที่ป่าไม้ ทั้งประเทศ และป่าเศรษฐกิจ 25% ครั้นต่อมา เมื่อมีการทำลายป่ากันขนานใหญ่ รัฐบาลจึงออก พ.ร.ก.ปิดป่าในปี 2532 ซึ่งปรากฏกว่ามีป่าไม้ถูกรุกทำลายไปแล้วประมาณ 40 ล้านไร่ หรือ 1/3 ของพื้นที่ป่าสงวนทั้งหมด

ในขณะที่ ความหายนะของสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติ คืบคลานเข้าใกล้ชีวิต ผู้คนมากขึ้น โดยเฉพาะคนในเมืองหลวงและปริมณฑล รอบนอกที่เผชิญกับมลพิษ มากกว่าคนในต่างจังหวัด ก็เริ่มที่จะตื่นตระหนกถึงความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ

สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ดีทีอาร์ไอ) ซึ่งรู้จักกันดีว่า เป็นกลุ่มมันสมองนอกระบบราชการ ถือเอาประเด็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเมื่อไทยจะเป็นนิกส์ มาเป็นหัวข้อการสัมมนาประจำปี 2533 แทนที่การคาดหมายภาวะเศรษฐกิจเหมือนทุกปีที่ผ่านมา

การสัมมนาประจำปี หรือนัยหนึ่งคือ การเสนอผลงานวิจัยครั้งนี้ เน้นปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอยู่ 3-4 เรื่อง ป่าไม้ น้ำ เหมืองแร่ และมลภาวะ เป็นพิษจำพวกกากสารพิษ น้ำเน่า อากาศเสีย โดยทีดีอารืไอ พยายามมีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม และชัดเจนขนาดที่สามารถนำไปปฏิบัติได้ให้มากที่สุด

ดร.ธีระ พันธุมวิช ผู้อำนวยการโครงการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ทีดีอาร์ไอ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักในงานวิจัยเพื่อการสัมมนาครั้งนี้ กล่าวเน้นถึงการหักล้างถางป่าของชาวบ้าน เพื่อใช้เป็นที่ทำกินว่ามีชาวบ้านจำนวน 8,700,000 คน ใน 12,000 หมู่บ้านที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ จำเป็นที่จะต้องเร่งแก้ปัญหาการบุกรุกถางป่าของชาวบ้านเหล่านี้ โดยทีดีอาร์ไอ สนับสนุนนโยบาย ปฏิรูปที่ดิน ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการที่จะให้กรรมสิทธิ์ที่ดินแก่ชาวบ้าน และการพัฒนาที่ดิน เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ชาวบ้านด้วย

ทั้งนี้ ดร. ธีระ อ้างการศึกษาของธนาคารโลก ที่ชี้ออกมาชัดเจนว่า เกษตรกรที่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน สามารถเพิ่มผลผลิตของตนเองได้มากขึ้นร้อยละ 10-30 เพราะสามารถหาแหล่งเงินกู้ราคาถูกโดยนำที่ดินไปค้ำประกัน

ในส่วนของการตัดไม้ซึ่งเป็นการทำลายป่าที่สำคัญ ดร.ธีระ กล่าวว่า เป็นเรื่องการตัดไม้ทำลายป่า ไม่จำเป็นที่จะต้องทำวิจัยเพราะเป็นเรื่องที่ทราบกันดีอยู่ สิ่งที่งานวิจัยให้ความสำคัญคือการเพิ่มสัดส่วนป่าอนุรักษ์จาก 15% เป็น 25% เพราะผลการสำรวจพื้นที่ป่าไม้ ด้วยการวิเคราะห์ภาพจากดาวเทียมของกรมป่าไม้ ยืนยันว่า ธรรมชาติยังเหลืออยู่ 28% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ขณะเดียวกันทำให้ลดพื้นที่ป่าเศรษฐกิจลดเหลือ 15%

ดร.ธีระเสนอให้มีการเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าเพื่อลดแรงจูงใจในการถือครองที่ดิน ผืนใหญ่ โดยไม่ได้ทำประโยชน์ และเพื่อกำจัดขนาดการถือครองให้เหมาะสม และเสนอให้เก็บภาษี การเปลี่ยนมีการถือครองที่ดิน ในระยะสั้น เพื่อลดการเก็งกำไรที่ดินด้วย

ในเรื่องน้ำซึ่งมีปัญหาการจัดสรรไม่เพียงพอกับการขยายตัวของชุมชนที่อยู่อาศัย อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว ทีดีอาร์ไอ ให้ข้อเสนอ ให้เพิ่มอัตรา ค่ำน้ำให้ตรงกับสภาพความเป็นจริง โดยคิดจากค่าใช้จ่ายในการจัดหาและพัฒนาแหล่งน้ำ

เรื่องของแหล่งน้ำ ทีดีอาร์ไอ จะมีข้อเสนอในทำนองประสานประโยชน์ระหว่างผู้ทำ เหมืองกับการรักษาทรัพยากรแร่มากกว่า ข้อเสนอเรื่องอื่น ๆ เพระมีสมมุติฐานการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ สามารถลดหรือป้องกัน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ทางออกจึงอยู่ที่การประสานประโยชน์ระหว่างกัน คือเน้นให้ผู้ทำเหมืองมีส่วนในการรักษาป่าพร้อมกับการพัฒนาทรัพยากรแร่

นอกจากนี้ มีการเสนอให้จัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม สำหรับผู้ประกอบการทำเหมืองแร่ โดยส่วนหนึ่ง หักจากค่าภาคหลวงแร่ และให้เก็บเงินประกันจากผู้ทำเหมืองด้วย

ในส่วนที่เป็นข้อเสนอ เพื่อจัดการเรื่องกากสารพิษ น้ำเน่า อากาศเสีย ทีดีอาร์ไอ ยึดหลักการให้เก็บค่าใช้จ่ายในไทย พยายามย้ำว่าการแปรข้อเสนอเหล่านี้ ให้เป็นการปฏิบัติอย่างจริงจัง จะต้องมีการศึกษาความเป็นไปได้ทางการเมืองด้วย และอาจจะต้องมีการคิดรูปแบบพิเศษเพื่อให้เกิดนโยบายสิ่งแวดล้อมขึ้นมาให้จงได้ เพราะผู้เข้าร่วมประชุมหลายคนได้แสดงความห่วงใยไว้ว่า โครงสร้างทางการเมืองปัจจุบันจะทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้ยาก

อย่างไรก็ดี ศ.ประเวศน์ วะสีศรี สาตริก และ ศ.เสน่ห์ จามริก ซึ่งร่วมกันอภิปรายเป็นปึกหนึ่ง ได้ให้ข้อสังเกตที่น่าสนใจไว้ด้วย กล่าวคือ งานวิจัยเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ทำภายใต้สมมติฐานการยอมรับ ความเปลี่ยนแปลง จาการพัฒนาที่เกิดขึ้น ไม่แน่ว่า ผู้วิจัยยอมรับแนวทางการพัฒนาที่ผ่านมาด้วยหรือไม่

ประเด็นก็คือ ควรจะมีการตั้งคำถามต่อแนวทางพัฒนาที่ผ่านมา ซึ่งก่อให้เกิดปัญหามากมาย ก่ายกอง จนทีดีอาร์ไอ นำมาทำการศึกษาวิจัยและจัดสัมมนา ขึ้นมาในวันนี้ได้

ข้อเสนอการจัดการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทีดีอาร์ไอ อยู่บนหลักที่ว่าผู้ที่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ต้องเป็นผู้รับภาระในการแก้ไข หรือผู้ผลิตมลพิษจะต้องจ่าย กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ระดมทุนมาพัฒนาสิ่งแวดล้อม ยังดูเป็นหลักการที่ไม่กระจ่างนัก

เช่นแนวคิด นานาคติ เรื่องการควบคุมปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ทีดีอาร์ไอ เสนอให้ประเทศไทยสนับสนุน การกำหนดหลักการควบคุมที่ใช้โควต้าซึ่งกำหนดมาจากค่าเฉลี่ยของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวประชากร โดยให้เหตุผลว่า จะไม่ทำให้ประเทศไทยอยู่ในฐานะเสียเปรียบประเทศอื่น หรือมีผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้ทีดีอาร์ไออ้างว่า ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เฉลี่ยต่อหัวประเทศไทยอยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยของโลก ซึ่งจะทำให้ไทยได้รับโควต้าสูงกว่าปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นมาจริงและประเทศไทย จะได้รับประโยชน์มาก ถ้าโควต้าส่วนเกินนี้สามารถซื้อขายได้ !!

ไทยจะไม่เสียเปรียบประเทศอื่น ๆ แต่ก็เท่ากับว่าเราได้สนับสนุนการเพิ่มปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์บนชั้นบรรยากาศของโลก ด้วยการขายโควต้า ให้ประเทศอื่น ๆ

และหมายความว่า เราได้สนับสนุนหลักการที่ว่าผู้ที่มีความสามารถ ในการจ่ายเพื่อจัดการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ตนได้สร้างขึ้นมาเท่าไหร่ ก็สามารถสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้นอีกเท่าตัวมีความสามารถจ่ายได้หรือไม่

เป็นเรื่องที่ผู้ฟังสัมมนาเก็บมาคิดหลายตลบแล้วก็ยังไม่เข้าใจจุดยืนของดีทีอารืไออยู่นั่นเอง

อย่างไรก็ดี ความพยายามสนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก โดยมองปัญหาการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในประเทศก่อน นับเป็นจุดเริ่มที่ดี แต่หวังว่า คงมิใช่เพียงเพื่อการรวบรวมข้อมูลสำหรับเตรียมเข้าร่วมประชุมสิ่งแวดล้อมโลก ของสหประชาชาติ ที่จัดขึ้นที่บราซิล ในเดือนมิถุนายน 2535 เท่านั้น

กล่าวโดยบทบาทหน้าที่ขององค์กรวิจัยแล้ว นับว่าทีดีอาร์ไอ ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง ในการทำตามบทบาทหน้าที่ของตนอีกครั้ง เพราะได้มีการนำเสนอประเด็นนโยบายที่ชัดเจนมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา และหลายคนในที่ประชุมกล่าวตรงกันว่า เป็นนโยบายเชิงรุกครั้งแรกเท่าที่ทีดีอาร์ไอ เคยมีมา

แต่ความรุนแรงของปัญหา ที่ทีดีอาร์ไอ นำเสนอในที่ประชุม สะท้อนให้เห็นว่า จำเป็นที่จะต้องมีวิธีการแก้ไขอย่างเร่งด่วนและเป็นจริงมากที่สุด

สิ่งที่ผู้ร่วมฟังสัมมนา และคนอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก อยากเห็นก็คือ การนำข้อเสนอทั้งหลายปฏิบัติแม้จะยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่บ้างในข้อเสนอเหล่านั้นก็ตาม

มันย่อมเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่าการทำวิจัย

ดร.เสนาะ ได้เรียกร้องไว้ในช่องสุดท้ายของการประชุมว่า ขอให้ทุกฝ่ายทุกคนร่วมมือกันโดยมีรัฐเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงกฏหมายข้อบังคับ ส่วนภาคเอกชน ก็ให้มีความร่วมมือปฏิบัติตาม

เป็นเรื่องที่ยังจะต้องคอยติดตามกันอีกนาน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.