|
" เอ็นอีพี" กำลังไต่บนเส้นลวด
โดย
ศิริเพ็ญ กระตุฤกษ์
นิตยสารผู้จัดการ( กุมภาพันธ์ 2534)
กลับสู่หน้าหลัก
การประกาศนโยบายอย่างเด่นชัดที่จะเข้าลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ควบคู่ไปกับกิจการอุตสาหกรรมของบริษัท กระสอบอิสาน กลายเป็นที่สนใจของบรรดาเหล่าลงทุนทั้งหลาย ราคาหุ้นที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ถึง 9 เท่า ในช่วงระยะเวลาอันสั้น ทำให้เกิดกระแสข่าวเรื่องการปั่นหุ้น จากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ขึ้น จนต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงกัน ในขณะที่การลงทุนในนาม ของบริษัทเอ็นอีพี อสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรม จำกัด ได้แผ่ขยายวงกว้างออกไปออกไปเรื่อย ๆ ในอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง
การเปลี่ยนชื่อบริษัท จาก " กระสอบอิสาน" มาเป็น " ผลิตภัณฑ์อิสาน" ตามมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นสามัญครั้งที่ 1/2532 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2532 กลายเป็นจุดเริ่มต้นการแตกแขนงทางธุรกิจตรั้งสำคัญของบริษัทฯ ในปัจจุบัน ด้วยเหตุผล ที่ต้องการให้สอดคล้องกับการขยายขอบเขตวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ซึ่แต่เดิมระบุให้ทำธุรกิจแต่เพียงกระสอบอย่างเดียว มาเป็นประกอบธุรกิจได้ทุกประเภทและดูเหมือนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะเป็นธุรกิจที่คณะผู้บริหารของกระสอบอิสานให้ความสนใจมาก่อนหน้านี้ แล้ว จากการให้สัมภาษณ์ของ พงศ์พันธ์ บุรณศิริ กรรมการผู้จัดการของกระสอบอิสานตอนหนึ่งว่า
" เราเริ่มธุรกิจเรียลเอสเตท เมื่อประมาณ มกราคม 2532 เราได้เริ่มโครงการนิคมอุตสาหกรรมสระบุรี โดยเริ่มทยอยซื้อที่ดินไปเรื่อย ๆ เนื่องจากการซื้อที่ดินทีเดียวให้ได้แปลงใหญ่ ๆ จำนวน 1,500 ไร่ นั้น มันต้องใช้เวลา พอเราเริ่มซื้อไปได้ สัก 4-5 เดือน เราก็เริ่มจดทะเบียนตั้งบริษัท สวนอุตสาหกรรมสระบุรี จำกัด ขึ้นในเดือนพฤษภาคม ของปีเดียวกัน"
ดังนั้น การขยายขอบเขตวัตถุประสงค์ในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ในการประชุมครั้งนั้นเท่ากับเป็นการรองรับแนวความคิดใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้แล้ว
การลงทุนในบริษัทสวนอุตสาหกรรมสระบุรี ครั้งแรกนั้น บริษัท ผลิตภัณฑ์อิสาน เข้าไปถือหุ้นประมาณ 60% ของทุนจดทะเบียน 30 ล้านบาท ตามโครงการที่วางไว้ ในพื้นที่จำนวน 1,500 ไร่ จะแบ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมทั่วไป 730 ไร่ เขตอุตสาหกรรมส่งออก 390 ไร่ เขตที่อยู่อาศัยและพาณิชกรรมประมาณ 32 ไร่ พื้นที่สาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวก 375 ไร่ โดยใช้เงินลงทุนทั้งหมด 600 ล้านบาท และได้ยื่นเสนอขอจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไปยังนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศ (กนอ.) ด้วย
จากการปรับทิศทางการขยายธุรกิจตามแนวความคิดใหม่นี่เอง ที่ได้จุดประกายความสนใจให้กับนักลงทุนรายใหญ่รายหนึ่งในเวลาต่อมา
พรเสก กาญจนจารี เข้ามามีบทบาทในตำแหน่งกรรมการคนหนึ่งของบริษัท ผลิตภัณฑ์อิสาน จากคำเชิญของทีเกียรติ กฤษณามระ ประธานกรรมการของบริษัทฯ ในฐานะ ที่พรเสก เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่รายหนึ่ง จากรายงานการประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2532 เมื่อเดือนมากราคม 2533 ระบุว่าพรเสก ถือหุ้นขณะนั้น 17%
พรเสก เคยให้สัมภาษณ์ ถึงการเข้ามาไล่ซื้อหุ้นปลติภัณฑ์อิสานจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปริมาณที่มากด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ จาการที่บริษัท อเมริกัน แอพไพรซอล ( ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำวิจัยบสรุป ในปี 2530 ว่าราคาหุ้นของผลิตภัณฑ์อิสานควรจะอยู่ในระดับที่เหมาะสม ประมาณ 36.95 บาท และกระทั่งปี 2532 ราคาที่ดินบริเวณนั้น มีราคาเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นราคาหุ้นตัวนี้ จึงไม่น่าต่ำกว่า 50 บาท ต่อหุ้น ในขณะที่ ราคาหุ้น ในกระดานขณะนั้เคลื่อนไหวอยู่ประมาณ หุ้นละ 20-30 บาท
สาเหตุอีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ การที่บริษัท ผลิตภัณฑ์อิสานกำลังเปลี่ยนแนวทางในการทำธุรกิจด้วยการหันมาจับธุรกิจพัฒนาที่ดินจากการเข้าซื้อที่ดินเพื่อทำนิคมอุตสาหกรรมสระบุรี
การตัดสินใจเข้ามาซื้อหุ้นผลิตภัณฑ์อิสานของพรเสก ในเดือนพฤศจิกายน 2532 นั้นเป็นช่วงจังหวะเดียวกันกับการประกาศเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัท ฯ จาก 75 ล้าน เป็น 150 ล้านบาท
พรเสก เข้าถือหุ้นในกระดาน เก็บพอร์ต คราวละ 2,000-10,000 หุ้นในราคา ตั้งแต่หุ้นละ 20 บาท เป็นต้นมา ซึ่งในขณะนั้น นักลงทุนในตลาดฯ แทบไม่มีใครสนใจเข้ามาลงทุนเลย จึงเป็นช่วงจังหวะเหมาะที่จะไล่เก็บหุ้นตัวนี้ โดยหวังว่าจะเก็บให้ได้ถึง 51% ของทุนจดทะเบียน แต่เมื่อซื้อหุ้นเก็บเข้าพอร์ตได้จำนวนหนึ่งราคาหุ้น จึงปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวเดร็ว จนทำให้พรเสก หมดโอกาสจะเทคโอเวอร์ บริษัทผลิตภัณฑ์อิสานในตลาดหลักทรัพย์ฯ
" ลองคิดดู ตอนนั้นทุนจดทะเบียน 7.5 ล้าน หุ้น ถ้าตีว่าราคาหุ้น 70 บาท ต่อหุ้น ก็ใช้เงินแค่ 525 ล้านบาท เท่านั้น ถ้าซื้อเกินครึ่งหนึ่ง ไม่ถึง 300 ล้านบาท มันก็คุ้มค่าที่จะซื้อ" พรเสก เคยกล่าวถึง ความคิดที่จะเข้าไปเทคโอเวอร์ บริษัทผลิตภัณฑ์อิสาน
มีการกล่าวกันว่า เหตุผลเริ่มแรก ที่ทำให้พรเสกเข้ามาลงทุนก็คือ การบูมของธุรกิจที่ดิน ว่ากันว่าที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตกระสอบจำนวน 150 ไร่ ที่ตำบลจอหอ จังหวัด นครราชสีมา ซึ่งอยู่ติดริมถนนใหญ่นั้น อยู่ในทำเลที่ดีมาก ในช่วงที่ราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้นหลายร้อยเท่าตัว แต่ราคาที่ดินที่จอหอกลับถูกตีราคาตามราคาดั้งเดิม
ราคาที่พงส์พันธ์ คำนวณออกมาคร่าว ๆ ถึง ที่ดินบริเวณโรงงานอยู่ประมาณ ไร่ละ 3-4 ล้านบาท ดั้งนั้นเฉพาะราคาที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์สินของโรงงาน ตกประมาณ 600 ล้านบาท ซึ่งมากว่า ทุนจดทะเบียน ของบริษัทฯ ในปี 2532 ซึ่งมีอยู่ 75 ล้านบาท
ยิ่งเมื่อรวมเข้าไปกับที่ดินโรงงาน ในโครงการนิคมอุตสาหกรรมสระบุรี จำนวน 1,500 ไร่ ที่บริษัท ผลิตภัณฑ์อิสาน เข้าไปถือหุ้นอยู่ด้วยแล้ว ก็ยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้พรเสกในการตัดสินใจลงทุนในหุ้นตัวนี้
สัดส่วนหุ้นที่พรเสก และกลุ่มใบริษัท ในเครือ เข้ามาเก็บในตลาดฯ ช่วงแรก มีรวมกันประมาณ กว่า 20% แต่หลังจากการเพิ่มทุนจาก 10 ล้านหุ้น เป็น 12.5 ล้านหุ้น ในเดือนมีนาคม 2533 แล้วนำหุ้นออกขายให้กับประชาชนทั่วไป สัดส่วนการถือครองหุ้นจึงลดลงเหลือประมาณ 14 % และจากรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ตามทะเบียนผู้ถือหุ้น ณ วันที่ 16 มกราคม 2534 ปรากฏว่า สัดส่วนผุ้ถือหุ้น ของกลุ่มพรเสก ลดลงเหลือประมาณ 3.27 % จากการเพิ่มทุนจะทะเบียนครั้งหลังสุด มาเป็น 500 ล้านบาท
การเข้ามาของพรเสก ในฐานะกรรมการคนหนึ่งของบริษัทผลิตภัณฑ์อิสาน กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการแตกแขนงธุรกิจในเวลาต่อมา ซึ่งนั่นหมายรวมถึงความสามารถในการทำกำไรให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ
ข่าวคราวความเคลื่อนไหวของบริษัท ผลิตภัณฑ์อิสานเริ่มคึกคัก ขึ้นทันที โดยเฉพาะราคาหุ้นได้ถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายหลังการประกาศเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัท จาก 150 ล้าน เป็น 500 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อเป็นการรองรับการขยายตัวของธุรกิจในอนาคต รวมถึงการขยายงานด้านอื่น ๆ เช่นโครงการลงทุนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือการลงทุนในโครงการอาคารสำนักงานตามเหตุผลที่ชี้แจงในปที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ
สำทับด้วยการเปลี่ยนชื่อ บริษัทฯ จาก บริษัท ผลิตภัณฑ์อิสาน จำกัด มาเป็น " บริษัท เอ็นอี พี อสังหาริมทรัพย์และอุตสาหกรรม จำกัด" ในเดือนถัดมา เพื่อเน้นให้เห็นถึงจุดยืนใหม่ของบริษัท จากคำชี้แจงของพรเสก ในที่ประชุมคณะกรรมการว่าเป็นการเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการดำเนินธุรกิจที่ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ว่าจะทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ควบคู่ไปกับอุตสาหกรรม ส่วนการผลิตกระสอบเป็นเพียงส่วนเดียวของด้านอุตสาหกรรม การเปลี่ยนชื่อดังกล่าว จะแสดงให้เห็นชัดว่า เราจะดำเนินธุรกิจด้านใด
ในช่วงขณะนั้นเอง มีข่าวจากการให้สัมภาษณ์ของผู้บริหารบริษัทฯ ถึงโครงการที่จะสร้างอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ โดยส่วนหนึ่งจะเป็นสำนักงานของบริษัทฯ ส่วนที่เหลือ จะให้เช่าสำนักงานซึ่งโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการเลือกสรรที่ดินที่จะใช้ในการก่อสร้าง
และข่าวโครงการ 2 โครงการ ที่ถูกเปิดเผยออกมาก่อนที่จะมีการแถลงอย่างเป็นทางการจากผู้บริหารของบริษัทฯ ทำให้หลายต่อหลายคนกล่าวว่าเป็นตัวที่ทำให้ราคาหุ้นแบบรั้งไม่อยู่ คือการเสนอตัวเข้าร่วมคัดเลือกเป็นผู้พัฒนาและก่อสร้างอาคารสำนักงานถาวรของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในบริเวณรัชดาภิเษก ซึ่งที่ดินทั้งหมด ที่จะใช้ในการก่อสร้างเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทภูเก็ตพัฒนาการเศรษฐกิจ จำกัด และบริษัท ธีระพัฒนาการเศรษฐกิจ จำกัด โดยมอบหมายให้บริษัท ผลิตภัณฑ์อิสานเป็นผู้ดำเนินโครงการเองทั้งหมด
อีกโครงการหนึ่งเป็นการร่วมทุนกับกลุ่มนักธุรกิจภายนอก คือกลุ่มพรเสก กาญจนจารี และ มร.เคน ชิรากาวา ชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจำนวน 3 ไร่เศษ บริเวณริมถนนรัชดาภิเษก เพื่อก่อสร้างอาคารสำนักงานทั่วไป โดยจะจัดตั้งบริษัทกลางเข้ามาบริหารและบริษัทผลิตภัณฑ์อิสานจะเข้าไปร่วมถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 50%
นักลงทุนเริ่มให้ความสนใจหุ้นของบริษัทผลิตภัณฑ์อิสานเมื่อประมาณต้นเดือนพฤษภาคม 2533 จากข่าวดีที่สอดแทรกเข้ามาทุกระยะ ประกอบกับข่าวลือที่ว่า รายใหญ่กำลังเข้าไปไล่ล่า ราคาให้พุ่งขึ้นไปถึงหุ้นละ 40-50 บาทและ 55 บาท ซึ่งปรากฏว่า ระดับราคาได้เพิ่มขึ้นตามข่าวลือแทบทุกครั้ง จนทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ จากบรรดานักลงทุน และวงการโบรกเกอร์ ว่าตลาดฯ น่าจะเข้าไปตรวจสอบรายละเอียด
จนกระทั่งวันที่ 8 มิถุนายน 2533 ตลาดฯ จึงสั่งแขวนป้ายอีเอส เตือนนักลงทุน ให้ใช้ความระมัดระวัง แต่ราคาหุ้นยังเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นต่อ ไปอีกจนตลาดฯ ต้องสั่งแขวนป้ายเอสพี สั่งห้ามการซื้อขายชั่วคราว ซ้อนเข้าไปอีกป้ายหนึ่ง พร้อมกับการเจ้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ในระหว่างนั้น ราคาหุ้นมีขึ้นและลงตามกระแสข่าวที่ออกมาเป็นระยะ ๆ จนกระทั่งเกิดวิกฤติการณ์อ่าวเปอร์เชีย ราคาหุ้นตกต่ำมาตลอดรวมทั้งหุ้นของบริษัท ผลิตภัณฑ์อิสานด้วย
ราคาหุ้น ของผลิตภัณฑ์อิสาน มาถึงจุดอวสาน เคลื่อนไหวอยู่ในวงแคบ ๆ หลังจากที่ตลาด ประกาศผลการตัดสินคัดเลือกบริษัท ที่ชนะการประมูลสร้าง
อาคารสำนักงานซึ่งปรากฏว่าบริษัทผลิตภัณฑ์อิสานพ่ายแพ้ประกอบกับข่าวผลการขาดทุนในพอร์ตของบริษัทฯ ที่นำเงินไปใช้ลงทุนเก็งกำไร ระยะสั้น ในตลาดฯ จนยอดขาดทุนมีสูง
ถึง 90.7 ล้านบาท ราคาจึงปรับตัวลงมาอยู่ที่ 30-40 บาท ซึ่งเกือบจะเหมาะสมกับผลดำเนินงานที่แท้จริง
และถึงแม้ว่า ทางการจะประกาศรายชื่อ ผู้ที่เรียกสอบสวนกรณีที่มีข่าวว่า ปั่นหุ้นโดยมีชื่อของพรเสก และคณะผู้บริหารร่วมอยู่ด้วย แต่ผลการสอบสวนคดีดังกล่าว ก็ยังไม่สรุปผลออกมา
ถึงแม้ว่าจะได้รับการยืนยัน จากตัวแทนของตลาดฯ และธนาคารแห่งประเทศไทย ว่ามีหลักฐานหนาแน่น ก็ตาม ในขณะที่ คนใกล้ชิดผู้บริหารคนหนึ่ง ของผลิตภัณฑ์ ของอิสานกล่าวอย่างหนักแน่นว่า " เรื่องนี้มันจบลงแล้ว"
เหตุผล สำคัญที่ทำให้บริษัท กระสอบอิสานต้องเปลี่ยนนโยบายหันไปทำธุรกิจมากประเภทขึ้น โดยเฉพาะ การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้เป็น เพราะอุตสาหกรรม ที่ไม่สามารถ ขยายตัวออกไปได้อีก เนื่องจากความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปอลดต่ำลง โดยเฉพาะกระสอบปอ ซึ่งปรากฏว่า ผู้ใช้ทั้งในและต่างประเทศ ได้หันไปใช้กระสอบพลาสติก และการบรรจุ แบบอื่นแทนมาก ขึ้น ประกอบกับการซื้อขายถูกกำหนด ราคาโดยตลาด ฉะนั้น ผลประกอบการ ของบริษัทฯ จึงผันผวน ตามภาวะการตลาด อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ดังนั้น หลายคนจึงมองว่า ผลการดำเนินงานแต่เพียงอย่างเดียว ของบริษัทกระสอบอิสาน ไม่ใช่สิ่งจูงใจนักลงทุน เข้ามาสนใจหุ้นตัวนี้
ในขณะที่กระทรวงการคลังเองก็ต้องการให้บริษัท กระสอบอิสาน ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ รายแกร ที่ถูกแปลงสภาพ เป็นบริษัทเอกชน ด้วยการนำเข้า จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นตัวอย่างความสำเร็จ
เพราะฉะนั้น ธุรกิจที่ให้ผลตอบแทน ที่ดี และเป็นธุรกิจ ที่สามารถ สร้างฐาน ให้ทรัพย์สิน ของบริษัท ฯ โต และมั่นคง จึงเป็นแนวความคิด ในการขยายกิจการต่อไป ของผู้บริหารของบริษัทฯ
" ในช่วง 2 ปี ย้อนหลังไป ธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ เติบโต ขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีตัวอย่างของความสำเร็จในเรื่องนี้มามาก เรามองดูว่า ถ้าบริษัทฯ จะขยายธุรกิจเข้าไปในกลุ่มนี้ จะเป็นการช้าไปหรือไม่ ปรากฏว่าไม่ช้า เพียงแต่เรา จะเก็บเกี่ยวได้ไม่เท่ากับ คนที่เข้ามาในธุรกิจนี้แรก ๆ แต่ เราก็สามารถ เก็บเกี่ยวต่อไปได้ และในการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บางตัวนอกจาก จะให้ผลตอบแทน เร็ว แล้วยังสร้าง
มูลค่าทรัพย์สิน เพิ่มให้กับ บริษัทฯ อีก ฯ พงส์พันธ์ อธิบาย ถึงเหตุผล ในการทำธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ ให้ฟัง
โครงการ นิคมอุตสาหรรมสระบุรี นับว่า เป็นโครงการ ของการขยายธุรกิจสู่อสังหาริมทนัพย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการประกาศที่จะทำ โครงการผลิตกระสอบพลาสติก แต่ต้องยุติ โครงการไว้ชั่วคราว เนื่องจาการประกาศของกระทรวงอุตสาหรรม ที่ออกมาว่า บริษัทหรือโรงงาน ใด ที่จะทำการผลิต กระสอบพลาสติก ไม่ว่าจะเป็นกระสอบเปล่า หรือ บรรจุ อะไร ก็ได้ เมือ่ผลิต แล้วก็ต้องส่งออก ขายต่างประเทศ เท่านั้น ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้อง หันมาพิจารณา ถึงตลาดกันอีกครั้งหนึ่ง
โครงการนิคมอุตสาหกรรม สระบุรี เริ่มต้น ขึ้นในนาม ของบริษัท สวนอุตสาหกรรมสระบุรี จำกัด ซึ่งจดทะเบียน บริษัท เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2532 ด้วยทุน 1 ล้านบาท จากนั้นไม่นาน ด้มีการเพิ่มทุน เป็น 30 ล้านบาท โดยบริษัทผลิตภัณฑ์อิสานถือหุ้นอยู่ 60% ที่เหลือ 40% เป็นของกลุ่ม นางสุพร ตรงเจริญชัย และเมื่อมีการเพิ่มทุนจดทะเบียน ครั้งหลังสุด เป็น 150 ล้านบาท เมื่อเดือน มีนาคม 2533 สัดส่วนการถือครองหุ้น จึงเปลี่ยน ไปโดยบริษัท ผลิตภัณฑ์อิสานถือหุ้น 53% คณะกรรมการและพนักงานบริษัท 9% บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนชาติ จำกัด 9% , บริษัท โยธะกา จำกัด ( กลุ่มธนชาติ ) 11% , กลุ่ม นางสุพร ตรงเจริญชัย 8% , บริษัท สยามพาณิชย์ พัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด 5% และนายเลอพงษ์ พัฒนจิตวิไล 5%
ในช่วงปีที่ผ่านมา การดำเนินโครงการอยู่ในขั้นตอนการออกแบบและสำรวจสภาพแวด
ล้อมทั้งหมด โยจะเริ่มพัฒนาที่ดินและก่อสร้างได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2534 นี้พร้อมกับการเปิดขายโครงการด้วย
และนั่นเป็นเพียงโครงการเดียวที่ริเริ่มขึ้นโดยผู้บริหารของบริษัทฯ จนกระทั่งพรเสก เข้าร่วมในคณะกรรมการบริษัทฯ แนวคิดการลงทุนทางด้านอสังหาริมทรนัพย์ของผลิตภัณฑ์อิสาน จึงได้แผ่ขยายวงกว้างออกไปดังเช่นที่พงศ์พันธ์ เคยกล่าวและยอมรับว่าในการเข้าสู่ธุรกิจเรียลเอสเสตท โดยเริ่มต้น ที่สระบุรี นั้นจะว่า เป็นไอเดีย ของพรเสกนั้น คงไม่ใช่ แต่หมายความว่าพรเสวก นั้นเป็นคนที่ช่วยผลักดัน ให้ธุรกิจเรียลเอสเตรท ของบริษัทฯ เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
นอกจากนั้น พงส์พันธ์ ยังกล่าวอีกว่า ในการกำหนดนโยบายแต่ละครั้ง กรรมการที่มีบทบาท ในการร่วมปรึกษามีอย่างน้อยที่สุด 4 คน และหนึ่งคน ในจำนวนนั้น มีคนชื่อพรเสก รวมอยู่ด้วย (อีก 3 คน ที่เหลือ มีทวีเกียรติ กฤษณามระ ประธานกรรมการ, จินดา ยิมเรวัต รองประธานกรรมการ และพงศ์พันธ์ บุรณศิริ กรรมการผู้จัดการ)
และในวันที่ 21 มีนาคม 2533 ที่ประชุม คณะกรรมการบริษัทฯ ได้กำหนดนโยบาย การดำเนินธุรกิจในรูปแบบ holding company เพื่อรองรับเป้าหมายการลงทุนขยายกิจการของบริษัทฯ โดยแบ่งแนวการลงทุนออกเป็น 3 แนวทางคือ
1. บริษัทดำเนินการเอง อย่างเช่น อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ปอ
2. บริษัทฯ เข้าถือหุ้นส่วนใหญ่ ( เกินกว่า 50%) ในกิจการต่าง ๆ เช่น บริษัทสวนอุตสาหกรรมสระบุรี จำกัด
3. บริษัทฯ เข้าถือหุ้นส่วนเล็กน้อย ( น้อยกว่า 50%) ในกิจการต่าง ๆ ที่ให้ผลประโยชน์หรือผลตอบแทนในการลงทุนสูง
ภายหลัง จากการเพิ่มทุน เป็น 500 ล้าน บาท แล้วบริษัท ผลิตภัณฑ์ อิสานด้เข้าถือหุ้น ในบริษัท แฮบบิแทท ( ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมเกี่ยวกับทอพรม มา 3 ปีเศษ และอยู่ระหว่าง การเพิ่มทุน จดทะเบียน จาก 25 ล้านบาท เป็น 85 ล้านบาท เป็น จำนวน 1.8 ล้านหุ้นในราคา หุ้นละ 20 บาท คิดเป็นเงิน 36 ล้านบาท หรือ 21.2% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด
ซึ่งการเพิ่มทุนครั้งนี้เพื่อนำไปใช้ในการขยายกำลัง การผลิต จากเดิมเดือนละ 35,000 ตารางฟุต เป็น 90,000 ตารางฟุต และเหตุผล ที่เลือกลงทุน ในบรษัทนี้ เพราะเห็นว่า เป็นอุตสาหกรรม ที่มีอนาคต ดี โดยมียอดขายในปัจจุบันปี ละ 80 ล้าน บาท ( ตลาดต่างประเทศ 70 % และในประเทศ 30% ) และมีอัตราการเพิ่มขึ้นราว 20-30 % ต่อปี ในขณะ ที่การบริหารงานเป็นที่เชื่อถือได้ มีพล.อ บัญชา สุขานุศาสน์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทการบินไทยเป็นประธานกรรมการและวิวัฒน์ ทองปุสสะ เป็นกรรมการผู้จัดการ
ต่อจากนั้น บริษัท ผลิตภัณฑ์อิสาน ได้ลงทุน ซื้ออาคารคอนโดมีเนียม ที่พักอาศัย ในโครงการ เมืองทองธานี จากบริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด เจ้าของโครงการ ในวงเงินลงทุน ประมาณ 300 ล้าน บาท เพื่อนำไปขาย ต่อให้ลูกค้า ต่างประเทศ ที่จะมาลงทุน ในนิคมอุตสาหกรรม สระบุรี ซึ่งเป็น บริษัทในเครือ และแก่ลูกค้าอื่น ๆ ที่สนใจ อาคารดังกล่าว มีทั้งหมด 27 ชั้น คิดเป็นพื้นที่ ขายได้ ประมาณ 10,000 ตารางเมตร จะสร้างเสร็จประมาณ กลางปี 2536
และในช่วงนี้เองที่ บริษัทผลิตภัณฑ์ อิสานได้นำเงินไปลงทุน ในตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย จนเป็นที่ฮือฮา และมีผลต่อราคาหุ้นของบริษัทฯ ในเวลาต่อมา เมื่อปรากฏผลว่า บริษัทฯ ขาดทุน ในกรณีนี้ถึง 90.7 ล้านบาท
โดยพงส์พันธ์ ได้ให้เหตุผล ของการนำเงิน เพิ่มทุนที่ได้มาจากผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ไปเปิดพอร์ต เพื่อเก็งกำไร ระยะสั้น ในตลาด ฯ ว่า " เนื่องจาก คณะกรรมการบริษัทฯ ประเมินสถานการณ์ แล้วว่ากลางปี 2533 แนวโน้ม ผลิตภัณฑ์ ปอจะไม่มีกำไร เพราะวัตถุดิบ แพงขึ้น 40% ขณะเดียวกันราคาสินค้า ไม่ได้สูงขึ้นตามวัตถุดิบ และปริมาณการขาย ก็ลงดลง ประกอบกับการลงทุน ในอสังหาริมทรัพย์ เป็นเพียงการเริ่มต้น ของธุรกิจที่ยังไม่สามารถ ให้ผลตอบแทนได้ และประการสำคัญคือการลงทุนในหุ้นหลักทรัพย์ช่วงนั้น ให้ผลตอบแทน ที่งดงาม คณะกรรมการจึงตัดสินใจให้ลงทุน ในช่วงสั้น ๆ แต่เผอิญมาเกิดวิกฤตการณ์อ่าวเปอร์เซีย ขึ้น ทำให้เงินที่ลงทุนไปจมอยู่ในหุ้น และมีผลต่อผลประกอบการของบริษัทฯ"
และนัยว่า การหาผลประโยชน์ จากเงินที่ได้รับการเพิ่มทุนเป็นการชั่วคราวในตลาดหุ้น ก็เพื่อที่จะปิดงบตัวเลขในบัญชีให้มันสวย รวมถึงผลตอบแทน ในบัญชีสิ้นปีให้มันสวย รวมถึงการตอบแทน เงินปันผล ให้ผู้ถือหุ้น ของบริษัทฯ ดีหน่อย แต่ผลกลับออกมา แบบตรงกันข้าม เมื่อปรากฏว่าบริษัทฯ ขาดทุนสุดทธิ 74.88 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 3.78 บาท
จากข้อมูล ที่บริษัท ชี้แจงกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรากฏว่าผลขาดทุน จาการผลิต และการค้า ปอ เป็นเงิน 21 ล้าน บาทเศษ และขาดทุน จาการลงทุน ในตลาดหลักทรัพย์ฯ 53 ล้านบาท " ในระยะ แรกบริษัทฯ ได้กำไร จากการลงทุน ในตลาดหลักทรัพย์ เป็นเงิน 37 ล้านบาท แต่หลังจาก เกิดวิกฤติการณ์ อ่าวเปอร์เซีย ทำให้ราคาหุ้น ตกลงไปประมาณ 50% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2533 หุ้นบริษัทถือไว้ตามราคาทุน 176.9 ล้าน บาท เมื่อตีราคาตามราคาตลาด แล้ว จึงมีมูลค่าเพียง 89.2 ล้านบาท บริษัทฯ จึงได้ตั้งสำรอง เผื่อการลดค่าของหลักทรัพย์ตามมูลค่า ของตลาดน ที่ลดลงเอาไว้เป็นเงิน 90.7 ล้านบาท" หมายเหตุ งบเงินข้อหนึ่งระบุ ไว้เช่นนี้
ในขณะที่ ผลการดำเนินงานในปี 2533 ซึ่งสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2533 ตามรอบบัญชี ของทางการปรากฏว่าขาดทุน แต่การลงทุนของผลิตภัณฑ์อิสาน ในนามของบริษัท เอ็นอีพี อสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรม จำกัด ยังคงดำเนินต่อไป ตามนโยบายของบริษัทฯ
ในเดือนพฤศจิกายน 2533 เอ็นอีพี ได้ซื้อ หุ้นบริษัท พี.เค เอส ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด จำนวน 5,000,000 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 23 บาท จากราคา พาร์ 10 บาทคิด เป็นเงินลงทุน 115 ล้านบาท หรือ 20% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด หลังจากที่ บริษัท พี.เค เอส ได้เพิ่มทุนจดทะเบียน 150 ล้านบาทเป็น 250 ล้านบาท
ต่อมาในเดือน ธันวาคม เอ็นอีพี ได้ลงทุนซื้อ พื้นที่ในอาคารเอ็มไพร์อาวเวอร์ 2 ซึ่ง ตั้งอยู่ริมถนน สาทรเหนือ จำนวน 5 ชั้น ในพื้นที่ 7,200 ตารางเมตร มีมูลค่า การลงทุน ทั้งหมด 391 ล้านบาท เป็นการซื้อต่อจากคน ที่จองไว้แล้ว โดยจะทำเป็น สำนักงาน ให้เช่า โดยการก่อสร้าง เริ่มมาตั้งแต่ ปลายปี 2533 และจะใช้เวลา ในการดำเนินงาน 3 ปี
จุดหนึ่ง ที่น่าสนใจ สำหรับการลงทุน ของเอ็นอีพี คือการเข้าไปลงทุน
ถือหุ้นในบริษัท พี.เค เอส. ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท ที่จัดตั้งโดจพรเสก กาญจนจารี เมื่อเดือนเมาายน 2532 โดยถือหุ้น อยู่เกือบ 100 % แต่หลังจากการเพิ่มทุนแล้ว สัดส่วนหุ้นลดลงอยู่ในราว 60% .โดยขายหุ้น ไปให้กับเอ็นอีพี
ซึ่งจุดนี้เอง ที่อาจจะชี้ให้เห็นว่า พรเสก เป็นผู้สนใจ ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก่อนหน้าที่จะเข้ามากว้างซื้อหุ้น ของผลิตภัณฑ์อิสาน
การที่เอ็นอีพี เข้าถือหุ้น 20% ในพี.เค.เอส นั้นไม่เพียงแต่การได้ผลประโยชน์ในทางตรงกับบริษัทฯ นี้เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงธุรกิจในเครือข่ายที่พี.เค.เอส เข้าร่วมด้วยในฐานะผู้ถือ หุ้น
บริษัท พี.เค.เอส จดทะเบียน เป็นบริษัท ที่ทำทำธุรกิจด้านอสังหาริมทพนัย์ ในขณะเดียวกัน ก็ได้ขยายเครือข่าย การลงทุนของบริษัท น ออกไปในธุรกิจแขนงอื่น แต่ก็ยังให้ความสำคัญกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เช่นเดิม ซึ่งหากพิจารณาดูแล้วการลงทุนของพี.เค.เอส จะออกมาใน3 รูปแบบ คือ การร่วมทุนกับบริษัทอื่น..การลงทุนในทรัพย์สิน...และการลงทุนในหุ้น
บริษัทพี.เค.เอส.เอ็ม ไอ จำกัด เป็นบริษัท พัมนาที่ดินที่ตั้งขึ้นพร้อมกันกับบริษัท พี.เค.เอส ดิเวลลอปเม้นท์ จำกัด โดยทบริษัทพี.เค.เอส เข้าถือหุ้นประมาณ 30% ของทุนจดทะเบียน ทั้งหมด 50 ล้านบาท ในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ นี้ได้จัดสรรที่ดินในรูปของสวนเกษตรในโครงการเขาใหญ่เกทเรย์ปาร์ค ซึ่งมีเนื้อที่ทั้งหมด 79 ไร่ ออกจำหน่าย โดยมีมูลค่า โครงการประมาณ 130 ล้านบาท
บริษัทร่วมฤดี เอสเตท จำกัด เป็นบริษัท ที่เกิดการร่วมทุนระหว่างบริษัท พี.เค.เอส จำกัด กับบริษัท โควา วุซซัง ไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทญี่ปุ่นในสัดส่วน 50.1 49.9 โดยมีทุนจะทะเบียน 150 ล้านบาท ตั้งขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม 2532 เป็นบริษัทฯ ที่ทำธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่นกัน โดยปัจจุบัน อยู่ในระหว่างการดำเนินงาน ขออนุญาตก่อสร้างเซอร์วิสอพาร์ทเม้นต์บริเวณซอยร่วมฤดี 1 เพลินจิต ในเนื้อที่ 2 ไร่เศา ใช้เงินลงทุนประมาณ 700 ล้านบาท
บริษัท ฟุจิตสึ ซีสเต็ม บิสซิเนส ( ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทร่วมทุนอีกบริษัทหนึ่ง ที่พี.เค เอส เข้าไปถือหุ้น 51% โดยร่วมกับบริษัท ฟูจิตสึ จำกัด ของญี่ปุ่น ซึ่งถือหุ้น ในส่วนที่เหลือ 49% จากทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท บริษัทฯ นี้จะทำหน้าที่ เป็นบริษัทตัวแทนจำหน่ายเครื่องคอมพิวเตอร์ ของฟูจิตสึ ซึ่งรวมถึงการเป็นที่ปรึกษาด้านการจัดระบบด้วย โดยคอมพิวเตอร์ ส่วนหนึ่ง จะเป็นการนำ เข้าจากญี่ปุ่น และอีกส่วนหนึ่งจะได้มาจากโรงงาน ผู้ผลิตของฟูจิตสึ ในประเทศไทย ซึ่งแต่เดิม ผลิตเพื่อการส่งออก 100%
ถึงแม้ว่า ในปัจจุบัน พี.เค.เอส จะยังไม่ได้เริ่มดำเนินโครงการพัฒนาที่ดินในชื่อของบริษัท ฯ ก็ ตาม แต่บริษัท ได้นำเงิน ไปลงทุนในทรัพย์สิน ไว้จำนวนหนึ่ง ก็คือที่ดินที่นครราชสีมา จำนวน 1,200 ไร่ ที่ดินปราณบุรี จำนวน 50 ไร่ ( ที่ดินสองแปลงนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาเพื่อพัฒนาโครงการนอกจากนี้ ยังถือพื้นที่ในอาคารเอ็มไพร์ทางเวอร์ จำนวน 3 ชั้น และอาคารมินิออฟฟิตรัชดาคอมเพล็กซ์ ซึ่งมีทั้งหมด 7 ชั้น)
สำหรับเงินลงทุนที่พี.เค.เอส นำไปซื้อเป็นหุ้นนั้น เป็นของสินทรัพย์ ประกันภัย จำนวน 3 แสนหุ้น บริษัท อีสเทิร์นสตาร์ เรียลเอสเตรื จำนวน 2 แสน หุ้น และเข้าถือหุ้น ในบริษัท ดอนเมืองโทลเวย์ จำนวน 1% ของทุนจดทะเบียน ทั้งหมด 1,683 ล้านบาท
ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมาเงิน ที่เอ็นอีพี นำไปใช้ในการลงทุน ขยายกิจการด้านต่าง ๆ มีมูลค่า รยวมทั้งหมด ประมาณ 900 ล้านบาท ( ยังไม่รวมโครงการผลิตกระสอบพลาสิตกซึ่งจะเริ่มในปี 2534 นี้ และใช้เงินเงินลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท) จาการเปิดเผยของพงศ์พันธ์
และแหล่งเงินทุนที่สำคัญที่เอ็นอีพี นำไปใช้ ในการขยายกิจการของบริษัทนั้นฯ ส่วนใหญ่จะเป็นเงินที่ได้ รับมาจากการเพิ่มทุนของบริษัทฯ ซึ่งมีด้วยกัน 2 ครั้งคือ ครั้งแรกเพิ่มจาก 75 ล้านบาท เป็น 150 ล้านบาท ทุนที่เพิ่ม 75 ล้านบาท บริษัท ำออกจำหน่าย 5,000,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 10 บาท และ 2,500,000 ล้านหุ้นในราคาหุ้นละ 42 บาท และจาการเพิ่มทุนครั้งที่สอง จาก 150 ล้านบาท เป็น 500 ล้านบาท ทุนที่เพิ่ม 350 ล้านบาท บริษัท ได้นำออกจำหน่าย 22,432,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 10 บาท ,12,464,766 หุ้นในราคาหุ้นละ 25 บาท และ 102,996 หุ้นในราคาหุ้นละ 42 บาท ได้เงิน รวมทั้งสิ้น 695 ล้านบาท
เงินลงทุนส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้ จากสถาบันการเงินภายในประเทศ
ที่ผ่านมา เอ็นอีพี นำเงินจากการเพิ่มทุนเข้าไปถือหุ้นใน 3 บริษัท คือสวนอุตสาหกรรมสระบุรีม แฮบบิแทท และพี.เค.เอส เป็นเงินประมาณ 230.5 ล้านบาท ในขณะที่การลงทุนในโครงการต่าง ๆ เอ็นอีพี จะนำเงินเพิ่มทุนไปใช้ในระยะเริ่มแรกของโครงการ ต่อจากนั้น จะเป็นการใช้เงินกู้จากสถาบันการเงิน ยกตัวอย่าง การลงทุน ซื้ออาคารคอนโดมีเนียม เมืองทองธานี ในราคา 250 ล้านบาท นั้น เอ็นอีพี ใช้เงินส่วนที่เพิ่มทุนกับการลงทุนในโครงการนี้ประมาณ 100 ล้านบาท ที่เหลืออีก 150 ล้านบาท จะกู้จากสถาบัน การเงิน โดยใช้ทรัพย์สิน คือตัวอาคารเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เช่นเดียวกันกับ การลงทุน ในโครงการอื่น ๆ
" เราวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของสถาบันการเงินว่า จะให้กู้ในสัดส่วนเท่าไหร่ และเราจะสร้างโครงการจากตัวนั้น ขึ้น ซึ่งแต่ละโครงการจะใช้ เงินกู้ในสัดส่วน ที่ไม่เท่ากัน ส่วนเงินเพิ่มทุน เราจะใช้เป็นการผ่อนชำระในช่วงแรก ซึ่งขณะนี้ เงินที่เอ็นอีพี ได้จากากรเพิ่มทุน มากว่าครึ่งหนึ่ง ถูกนำไปลงทุนในโครงการต่าง แล้ว และเงินเพิ่ม ทุนส่วนน้อย ที่เหลืออยู่ บริษัทฯ จะนำไปใช้ในการขยายกิจการในอนาคต สำหรับเงินกู้จากสถาบันการเงินนั้น ปัจจุบัน ยังมีไม่มาก เพราะแต่ละโครงการ ที่ลงทุนยังอยู่ในระยะเริ่มต้นเท่านั้น" พงศ์พันธ์ อธิบาย ถึงการบริหารสภาพคล่อง
ถึงแม้ว่า เอ็นอีพี จะพยายาม ขยายการลงทุนไปในธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยคาดหวังว่า รายได้ที่ได้ จากธุรกิจ นี้จะเข้ามา 2 ใน 3 ส่วน ในขณะที่ อุตสาหกรรม จะทำรายได้ ให้เพียง 1 ส่วนเท่านั้น แต่การลงทุน ของบริษัทฯ ในช่วงที่ผ่านมา เป็นการลงทุนระยะยาว ที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้น ดังนั้น รายได้ ของบริษัทฯ ในปี 2534 นี้ คงไม่แตกต่าง อะไร กับปี 2533 มากนัก ซึ่งทางผู้บริหารของเอ็นอีพีเองก็ยอมรับและค่อนข้างหนักใจในตัวเลขที่จะปรากฏในงบการดำเนินงานปลายปีนี้ ซึ่งคาดว่า ตัวเลขออกมาคงไม่สวยหรูนัก
ในขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้ให้ความเห็นว่า " การที่เอ็นอีพี มีแผนชัดเจนในการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ แต่การลงทุนส่วนใหญ่ เป็นโครงการที่เพิ่งดำเนินการ รวมทั้งการที่บริษัท อาจจะประสบปัญหา การขาดทุน จาการซื้อขายหลักทรัพย์ หากสภาวะการซื้อขายหุ้นในตลาดฯ ยังไม่ดีขึ้น โดยประมาณการในปี 2534 หากรวมผลขาดทุน จากการขายหลักทรัพย์ 90 กว่าล้านบาท แล้วบริษัทฯ ไม่ได้ขาดทุนจาการขายหลักทรัพย์ ที่ดีขึ้น ดังนั้น การลงทุนในหุ้นผลิตภัณฑ์อิสาน ขณะนี้ จึงเป็นการลงทุนในระยะยาว เพือ่หวังผลกำไร จากดครงการต่าง ๆ ที่บริษัท เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น
หากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ที่ซบเซาอยู่ ในขณะนี้ ยังคงยืดเยื้อต่อไป จนถึงปลายปี แน่นอน ว่าเอ็นอีพี ก็อีกบริษัทหนึ่งที่ต้องเผชิญกับปัญหาจากผลการดำเนินงานซึ่งตัวเลขที่ออกมา อาจจะไม่ แตกต่าง จากปีที่แล้วมากนัก
ถึงสิ้นปี งบประมาณ 2534 เงินทุนที่ได้ จาการเพิ่มทุนในปี 2533 จำนวน 695 ล้านบาท ก็จะลดลงเหลือเพีบง 100 กว่าล้าน( ประมาณการจากเงินที่นำไปลงทุนในโครงการต่าง ๆ) ในขณะที่เงินรายได้จากการลงทุนยังไม่สามารถก่อดอกออกผล
ทางออก ที่มองเห็นก็คือการเพิ่มทุนอีกครั้ง แต่ดูเหมือน ในสภาพตลาดหุ้น ปัจจุบัน คงไม่ใช่เรื่อง ที่จะทำได้ง่ายนัก สภานการณ์ ของเอ็นพีอี ในขณะนี้ จึงค่อนข้างหมิ่นเหม่ยิ่งนัก
เหตุผลประกอบที่สำคัญประการแรก คือรายได้ จากธุรกิจอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ปอ ซึ่งเป็นธุรกิจดั้งเดิมของบริษัทฯ จากการประมาณการของผู้บริหารมีแนวโน้ม ที่จะออกมาใกล้เคียง ปีที่แล้ว ในขณะที่ อุตสหากรรมผลิตภัณฑ์พลาสติกซึ่งเป็น การลงทุนใหม่ของบริษัทฯ ในปีนี้ จะสามารถทำรายได้ให้ในปี 2535
ประการที่สอง การที่บริษัทฯเงินไปลงทุน ในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งให้ผลตอบแทนสูง แต่ต้อง อาศัยระยะเวลา ดังนั้นการลงทุนโครงการต่าง ๆ ช่วงปีที่ผ่านมา จึงเป็นการลงทุนระยะยาว ที่หวังผล
ใน 3-5 ปี ข้างหน้า
ประการสุดท้าย การนำเงินส่วนหนึ่งไปลงทุน ในตลาดหลักทรัพย์ฯ แบบเก็งกำไรระยะสั้น ซึ่งเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง ผลจาการขาดทุน ในตลาดหุ้น ทีผ่านมา เป็นเครื่องชี้ให้เห็นได้ชัดว่า การลงทุนในลักษณะนี้มีผลในทางลบกับบริษัทฯ
" แล้วจะไปไหวไหม ?" นั่นเป็นคำถามที่ผู้บริหารจะต้องพิสูจน์ฝีมือกันอีกครั้ง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|