|
ฮาวคัมทุ่ม 200ล.พัฒนาโฉมสื่อรถไฟใต้ดิน
ผู้จัดการรายวัน(5 เมษายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
BMCL พร้อมอวดโฉมโครงการพัฒนาเชิงพาณิชย์ภายในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ฮาวคัมโชว์สื่อนวัตกรรมใหม่ครั้งแรกในไทย จอกระจก "ฮาวคัม สกรีน" เล็งจดลิขสิทธิ์และทุ่มทุน 200 ล้านบาท เปิดขาย 108 จอจาก 18 สถานี ฟันรายได้ค่าโฆษณาจอละ 3.6 ล้านบาทต่อเดือน ด้านพื้นที่ค้าปลีกเมโทรมอลล์เทงบพันล้านบาท อ้าแขนรับรายใหญ่ปักธงแล้ว40% ทรู-ซีเอ็ดจองครบ 11 สถานี ด้านแฟมิลี่มาร์ทขอเอี่ยวเพียง 1 สถานี นอกนั้นยกให้เซเว่น อีเลฟเว่น
วานนี้ (4 เม.ย.) บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีเอ็มซีแอล ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ลงนามในสัญญาพัฒนาเชิงพาณิชย์ โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ร่วมกับบริษัทคู่สัญญา ได้แก่ บริษัท เมโทร มอลล์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ผู้ดำเนินการร้านค้าย่อยภายในสถานี บริษัท ไตรแอดส์ เน็คเวิคส์ จำกัด และบริษัท ฮาวคัม มีเดีย จำกัด ผู้ดำเนินการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ภายในสถานี โดยมีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมเป็นสักขีพยาน
นายนันทสิทธิ์ แจ่มสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ฮาวคัม มีเดีย จำกัด ผู้ดำเนินการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ภายในสถานี เปิดเผยว่า บริษัทได้นำนวัตกรรมสื่อโฆษณาและประชาสัมพันธ์รูปแบบใหม่เข้ามาใช้ในการที่ได้รับสัมปทานบริหารพื้นที่โฆษณาและประชาสัมพันธ์ภายในอุโมงรถไฟฟ้าใต้ดิน โดยสื่อดังกล่าวเป็นสื่อที่บริษัทนำรูปแบบสื่อมาจากหลายประเทศ จกนั้นนำมาปรับปรุงและพัฒนาขึ้นใหม่ และเตรียมที่จะนำไปจดลิขสิทธิ์ภายใต้ชื่อ "ฮาวคัม สกรีน"
รูปแบบสื่อฮาวคัม สกรีนเป็นจอกระจกที่จะเป็นสื่อในการโฆษณาภาพเคลื่อนไหวที่ไม่ใช่จอพลาสมาทีวี เหมือนสื่อโฆษณาภาพเคลื่อนไหวทั่วไป โดยสื่อนี้จะติดบริเวณประตูกระจกติดอุโมงรถไฟฟ้าใต้ดิน ซึ่งบริษัทใช้งบลงทุนจอทั้งหมด 200 ล้านบาท มีจำนวน 108 จอ ดำเนินการติดทั้งหมด 18 สถานี แบ่งเป็นสถานีละ 6 จอ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการติดตั้งในเดือนมิ.ย.นี้ และจะเริ่มเก็บรายได้ค่าโฆษณาจากเอเยนซี่ต่างๆ ในเดือนส.ค.นี้
ทั้งนี้ บริษัทจะขายโฆษณาและประชาสัมพันธ์สื่อดังกล่าวโดยแบ่งเป็น 2 แพ็คเกจ คือ แพ็คเกจที่ 1 เป็นแพ็คเกจโฆษณาความยาว 1 นาที ราคาเหมาจ่ายรายเดือน 3,600,000 บาทต่อ 1 จอ ส่วนแพ็คเกจที่ 2 เป็นแพ็คเกจโฆษณาความยาว 30 วินาที ราคาเหมาจ่ายรายเดือน 1,800,000 บาทต่อ 1 จอ ซึ่งคาดว่าใน 12 เดือนหรือ 1 ปีแรกบริษัทจะมีรายได้กว่า 100 ล้านบาท
บริษัทสามารถรับลูกค้าที่เป็นเอเยนซี่ได้ 5-6 รายต่อเดือน โดยเอเยนซี่จะนำสื่อนี้ไปขายให้กับลูกค้าหรือเจ้าของสินค้าอีกทอดหนึ่ง ซึ่งขณะนี้สามารถขายโฆษณาได้ตามเป้าหมายที่วางไว้แล้ว โดยลักษณะการฉายโฆษณานั้นจะคิดจากที่ผู้โดยสารจะต้องรอรถไฟแต่ละขบวนประมาณ 3-5 นาทีในช่วงเร่งรีบ และ 5-7 นาทีในช่วงเวลาทั่วไป หรือคิดเฉลี่ยที่ผู้โดยสารรอรถไฟที่ประมาณ 5 นาที ในช่วงเวลานี้จะเป็นช่วงฉายโฆษณา ซึ่งใน 1 ชั่วโมง จะสามารถฉายโฆษณาได้ 12 ครั้ง และใน 1 วันรถไฟฟ้าใต้ดินจะเปิดให้บริการทั้งหมด 18 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าอัตราค่าโฆษณาที่คิดนั้นถูกกว่าโฆษณาบนรถไฟฟ้าลอยฟ้าบีทีเอส
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ร่วมกับสำนักข่าวไทย ในการรายงานข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับหุ้นและอื่นๆ ต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้โดยสารที่รอรถไฟได้รับชม โดยปัจจุบันมีผู้เข้ามาใช้บริการสูงสุด 2 แสนคนต่อวัน
สำหรับภาพรวมของกลุ่มฮาวคัมจะมี 3 บริษัทหลัก ประกอบด้วย บริษัท ฮาวคัม เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด ดูเกี่ยวกับธุรกิจรายการโทรทัศน์ ปัจจุบันมี 2 รายการทางไอทีวี และอยู่ระหว่างเสนอรายการใหม่กับทางช่อง 3, บริษัท ฮาวคัม สตูดิโอ จำกัด ดูเกี่ยวกับธุรกิจสิ่งพิมพ์ ขณะนี้ได้ลงทุนนำเข้าเครื่องอิงค์เจ็ต 6 เครื่อง มูลค่า 30 ล้านบาท เพื่อรับกับธุรกิจสื่อโฆษณาอื่นๆ ที่มีอยู่ และบริษัท ฮาวคัม มีเดีย จำกัด ที่ดูแลสื่อโฆษณาภายในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน
ด้านยอดรายได้ปีนี้คาดว่ากลุ่มฮาวคัมจะมีรายได้ 300 ล้านบาท หรือแต่ละบริษัทจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาทและเติบโตแบบก้าวกระโดดจากสิ้นปี 2547 ที่ปิดรายได้ประมาณ 100 ล้านบาท
รายใหญ่ยึดพท.ค้าปลีก40%
ด้านพื้นที่ค้าปลีกภายในรถไฟฟ้าใต้ดิน นายสรคม ตรีวิศวเวทย์ รองกรรมการผู้จัดการ และนายคุณานันท์ ทยายุทธ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เมโทร มอลล์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ผู้ดำเนินการร้านค้าย่อยภายในสถานี กล่าวว่า เมโทร มอลล์สามารถเปิดให้บริการได้เพียง 11 สถานีจากจำนวนสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินทั้งหมด 18 สถานี มีพื้นที่ร้านค้าและจัดกิจกรรมให้เช่าประมาณ 15,000 ตร.ม. (ไม่นับรวมสถานีจตุจักร โซน บี, ซี และชั้นใต้ดิน) มีจำนวนร้านค้าเช่าทั้งสิ้น 524 ร้านค้า โดยสถานีจตุจักรโซนเอมีร้านค้ามากที่สุดจำนวน 92 ร้านค้า
บริษัทใช้งบลงทุนก่อสร้างเมโทร มอลล์รวม 1,000 ล้านบาท คาดว่าปีนี้จะสามารถเปิดให้บริการได้ 5 สถานีแรก ได้แก่ สุขุมวิท จะเป็นสถานีแรกที่เปิดให้บริการ เริ่มให้ร้านค้าเช่าเข้าตกแต่งได้ พ.ค.นี้, พหลโยธิน, จตุจักรโซนเอ, ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และลาดพร้าว และจะสามารถสร้างรายได้จาก 5 สถานีนี้ประมาณ 100 ล้านบาท โดยคาดว่าภายในปีหน้าจะสามารถเปิดให้บริการได้ครบทั้ง 11 สถานี ซึ่งจะทำให้บริษัทมีรายได้กว่า 200 ล้านบาท
สำหรับจำนวนผู้เช่าในขณะนี้มีผู้เช่าพื้นที่แล้วประมาณ 40% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้เช่ารายใหญ่ อาทิ ธ.ไทยพาณิชย์, ธ.กรุงศรีอยุธยา,ธ.ทหารไทย, อิออน, อีซี่ย์ บาย, ควิกแคช, ซีเอ็ด บุ๊คและทรู 11 สถานี, แดรี่ ควีน, บาสกิ้น รอบบิ้น, มิสเตอร์ โดนัท, อานตี้ แอนส์, เนสท์เล่, เซเว่น อีเลฟเว่น 10 สถานี, แฟมิลี่มาร์ท 1 สถานี เป็นต้น โดยพื้นที่ที่เหลืออีก 60% บริษัทต้องการผู้เช่าที่เป็นเอสเอ็มอี แต่ถ้าหากผู้ประกอบการรายใหญ่สนใจพื้นที่เพิ่มอีก มีโอกาสที่สัดส่วนจะเป็น 50% เท่ากัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|