หมายเหตุ "ธุรกิจครอบครัว"


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

ทำไมฉบับครบรอบปีที่ 5 และการย่างก้าวขึ้นสู่ปีที่ 6 ของ "ผู้จัดการ" จึงได้เขียนถึงธุรกิจครอบครัวจิราธิวัฒน์, ภิรมย์ภักดีเจ้าของเบียร์สิงห์, โอสถานุเคราะห์แห่งโอสถสภา (เต็กเฮงหยู), กลุ่มศรีไทยฯและอีกหลายครอบครัว ทั้งที่จริง ๆ แล้วก็มีอีกจำนวนไม่น้อยที่น่าจะต้องรวมอยู่ด้วย

ก็เห็นจะต้องเรียนชี้แจงว่าเรามีเหตุผลของเราอยู่

ประการแรกสุด เราตั้งใจละเลยที่จะไม่เขียนถึงครอบครัวเจ้าของแบงก์ ไม่ว่าจะเป็นโสภณพนิช, เตชะไพบูลย์, รัตนรักษ์ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นครอบครัวระดับมหากาฬมีความเกี่ยวข้องกับหน่วยธุรกิจที่ไม่ได้จำกัดตัวเฉพาะภาคการเงินการธนาคารเท่านั้น หากแต่ยังผูกพันเข้าไปอยู่แทบทุกขุมขนของวงการธุรกิจก็ว่าได้

เรามีเหตุผลของการไม่เขียนถึงครอบครัว "ทุนการเงิน" เหล่านี้หลายประการ แต่ที่สำคัญที่สุด ก็คือทุก ๆ ครอบครัวนั้นได้มีการเขียนถึงไปมากแล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่ "ผู้จัดการ" หรือหนังสือฉบับอื่น ๆ

อีกประการหนึ่ง เรามีเจตนาที่อยากชี้ให้เห็นพัฒนาการของกลุ่มทุนพาณิชย์ที่พยายามขยายตัวเข้าสู่การผลิต โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นภาคที่กำลังทวีความสำคัญขึ้นทุกขณะ

หรือถ้าจะบอกว่าเราเขียนถึงเฉพาะครอบครัวธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมล้วน ๆ ก็คงจะบอกได้

การเลือกหยิบยกเฉพาะบางครอบครัวในภาคอุตสาหกรรมก็คงจะเป็นอีกคำถามหนึ่งอย่างแน่นอนที่สุด

ก็ขออนุญาตชี้แจงเจตนาของเราดังนี้

แน่นอน จำนวนหน้ากระดาษของเราก็ไม่เพียงพออยู่แล้วที่จะกล่าวถึงครอบครัวธุรกิจ ๆ ครอบครัว แต่นั้นก็คงไม่ใช่สาเหตุสำคัญเสียทีเดียว

สำคัญกว่านั้นก็คือ ข้อจำกัดในแง่ที่พัฒนาการของแต่ละครอบครัวนั้นมีความต่างกันอย่างเห็นได้ชัดและเห็นได้ไม่ชัดแม้ว่าจะมีจุดกำเนิดในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกันคือระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองหรือหลังสงครามโลกไม่กี่ปีก็ตาม

เราเลือกเขียนถึงธุรกิจครอบครัวที่ก่อสร้างตัวสามารถพัฒนา และยืนยงอยู่ได้ในปัจจุบันภายใต้สถานภาพที่ต่าง ๆ กัน

บางแห่งมีแนวโน้มที่ดูสดใสในอนาคต บางแห่งดูแล้วหวาดเสียวและอีกบางแห่งกำลังต้องการการเปลี่ยนแปลงเพื่อการดำรงอยู่สืบไป

จากจุดกำเนิดในระยะเวลาใกล้เคียงกัน แต่พัฒนาไปในหลากหลายรูปแบบตามสไตล์ของผู้นำของแต่ละครอบครัวผสมผสานกับเงื่อนไขภายนอกนั้น ทำให้การเขียนถึงธุรกิจครอบครัวจำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการพิจารณาถึงลักษณะเฉพาะในปัจจุบันของแต่ละแห่งเป็นปฐม

ซึ่งก็ได้สรุปภายหลังเปิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ทั้งในหมู่กองบรรณาธิการและกลุ่ม นักวิชาการตลอดจนบุคคลในวงการธุรกิจหลายคน เป็นลักษณะเฉพาะ 5 ลักษณะ

ลักษณะแรก เป็นธุรกิจครอบครัวที่ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านความเป็นเจ้าของอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็ยังบริหารโดยใช้คนของครอบครัวไม่เปลี่ยนแปลง

ลักษณะนี้ เราหยิบยกกรณีบุญรอดบริวเวอรี่ของตระกูลภิรมย์ภักดี และกรณีตระกูลจงสถิตย์วัฒนา ขึ้นมาเป็นตัวอย่าง

ลักษณะที่สอง เป็นธุรกิจครอบครัวที่ความเป็นเจ้าของยังไม่เปลี่ยนแปลง ยังใช้สมาชิกในครอบครัวเหมือนเดิมหากแต่โครงสร้างการบริหารเปลี่ยนแปลงเป็นระบบสมัยใหม่แล้ว

ลักษณะนี้ เป็นลักษณะที่ออกจะใช้กันแพร่หลายที่สุดเพราะจริง ๆ แล้วธุรกิจครอบครัวบ้านเราก็เพิ่งจะอยู่ในช่วงข้อต่อระหว่างรุ่นที่ 1 สู่รุ่นที่ 2 เป็นส่วนใหญ่มีจำนวนไม่มากที่เริ่มรุ่นที่ 3 การส่งมอบจากพ่อสู่ลูกซึ่งเป็นรุ่นลูกที่ได้รับการศึกษาสูงได้เคยสัมผัสรับรู้การทำงานของรุ่นพ่อ และได้รับการเรียนรู้งานก่อนขึ้นสู่ความเป็นผู้บริหารระดับสูงมาระยะหนึ่ง สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นเหตุเป็นผลที่ทำให้หลาย ๆ ครอบครัวมีลักษณะเช่นนี้

เป็นลักษณะที่แพร่หลายที่สุด จำนวนธุรกิจครอบครัวในลักษณะนี้จึงมีหลายเรื่องที่เราเขียน อย่างเช่น จิราธิวัฒน์, กลุ่มเต็กเฮงหยู, ตระกูลธนาพรชัย และกลุ่มศรีเฟื่องฟุ้ง เป็นต้น

ซึ่งในความเฉพาะที่ถูกกำหนดให้อยู่ในกลุ่มที่คล้ายคลึงกัน แล้วก็ยังมีลักษณะเฉพาะในความเฉพาะอีกด้วย

ลักษณะที่สาม เป็นธุรกิจที่ความเป็นเจ้าของโดยครอบครัวไม่เปลี่ยนแปลง หากแต่ผู้บริหารกลับเป็นมืออาชีพไม่ใช่คนของครอบครัวและจำเพาะไปกว่านั้นก็คือมืออาชีพที่บริหารนั้นมีความโดดเด่นเป็นวันแมนโชว์อย่างเห็นได้ชัด

ลักษณะเช่นนี้เราเลือกที่จะเขียนถึงกลุ่มศรีไทยซูเปอร์แวร์ ซึ่งบทบาทของมืออาชีพอย่าง สนั่น อังอุบลกุล โดดเด่นดูเหมือนจะยิ่งกว่าเจ้าของอย่าง สุมิตร เลิศสุมิตรกุล เสียอีก เช่นเดียวกันกรณีปูนซิเมนต์นครหลวงของตระกูลรัตนรักษ์ แต่มีสมเกียรติ ลิมทรง บริหารก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่

ลักษณะที่สี่ เป็นธุรกิจครอบครัวที่เริ่มก้าวเข้าสู่ความเป็นธุรกิจสมัยใหม่ทั้งในด้านความเป็นเจ้าของที่ครอบครัวลดบทบาทลง ขณะเดียวกันมืออาชีพก็เพิ่มสัดส่วนขึ้นเรื่อย ๆ

ลักษณะนี้ เราหยิบยกเรื่องของกลุ่มสหยูเนี่ยนและกลุ่มซีพีขึ้นมาเขียนถึง

และลักษณะที่ห้า เป็นธุรกิจครอบครัวที่สัดส่วนของความเป็นเจ้าของเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากครอบครัวเป็นการร่วมทุนกับต่างประเทศหรือเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่การบริหารก็ยังอยู่ในมือของคนหน้าเดิมจากครอบครัวผู้ก่อตั้งกิจการ

สำหรับลักษณะนี้เราเขียนถึงกลุ่มอุตสาหกรรมทอผ้าของสุกรี โพธิรัตนังกูร และกลุ่มตระกูล บุลสุข เจ้าของและผู้บริหารการผลิต

สรุปแล้วเราก็มีเหตุผลของการเขียนถึงธุรกิจครอบครัวต่าง ๆ ดังที่ลงตีพิมพ์ในฉบับสิงหาคมและกันยายนนี้ด้วยสิ่งที่กล่าวไว้ข้างต้น

การเขียนถึงธุรกิจครอบครัวของเรานั้น นอกจากหยิบยกตัวอย่าง

โดยแยกแยะตามลักษณะพิเศษที่ได้รับการพัฒนาขยับขยาย

จากอดีตถึงปัจจุบันแล้ว ส่วนแรกที่สุดเรายังได้ปูพื้นให้เห็นถึงจุดกำเนิดของธุรกิจครอบครัว โดยภาพด้านกว้างไว้อีกด้วย

การให้ภาพด้านกว้างนั้น เป็นการสะท้อนให้เห็นภาพที่สำคัญ 2 ระยะที่ได้ส่งผลสะเทือนต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนต่อธุรกิจครอบครัวทั้งระบบ

ภาพแรกเป็นภาพของสภาพการณ์ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ส่วนภาพที่สองเป็นช่วงที่โลกทั้งโลกเกิดวิกฤตการณ์พลังงานเพราะการรวมตัวของกลุ่มโอเปคและมีการปรับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขึ้นไปเป็นเท่า ๆ ตัว ส่งผลกระทบทั้งในระดับกว้างทั่วโลกและลงลึกไปถึงผลประกอบการของหน่วยธุรกิจทุก ๆ หน่วยทั้งระบบ

ภาพแรกซึ่งเป็นสภาพภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นเป็นภาพของการกำเนิดขึ้นของธุรกิจครอบครัวจากหน่อเล็ก ๆ ที่เกือบร้อยทั้งร้อยเริ่มต้นจากการพาณิชย์ โดยอาศัยช่องว่างที่กิจการของชาติมหาอำนาจจากยุโรปประสบภัยสงครามต้องถอยร่นออกจากประเทศไทย โลกทั้งโลกยังอยู่ในช่วงของการขาดแคลนสินค้า

เหล่าผู้ให้กำเนิดธุรกิจครอบครัว ซึ่งต่อมากลายเป็นเจ้าของอาณาจักรยิ่งใหญ่ในปัจจุบันนั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกันหลายด้านโดยเฉพาะการเป็นผู้มีสายตายาวไกล มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และการ รู้จักใช้สายสัมพันธ์โดยเฉพาะสายสัมพันธ์ กับผู้มีอำนาจทางการเมืองให้เป็นประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นสายสัมพันธ์ตรงหรืออ้อมก็ตาม

นอกเหนือสิ่งอื่นใด ก็เห็นจะเป็นสายสัมพันธ์ในแง่ที่มากต่อมากแล้วเป็นโอเวอร์ซี-ไชนีส

การเกิดช่องว่างจากการถอยร่นของชาติมหาอำนาจที่เคยยึดกุมธุรกิจประเทศด้อยพัฒนา โดยเฉพาะประเทศไทยช่วงสงครามโลกครั้งที่สองและหลังสงครามสงบหมาด ๆ นั้น ถ้าเป็นสถานการณ์ใหญ่ที่นำพาให้เกิดการอุบัติขึ้นของธุรกิจครอบครัวเป็นจำนวนมากแล้ว

การเกิดวิกฤตการณ์พลังงานในช่วงปี 2514 เป็นต้นมาหลายปีติดต่อกัน ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นระยะของการทดสอบความแข็งแกร่งครั้งใหญ่ของธุรกิจครอบครัว

การปรับองค์กรครั้งสำคัญของธุรกิจครอบครัวจำนวนมากเริ่มขึ้นภายหลังวิกฤติการณ์นี้

เนื่องจากบทเรียนที่ได้รับนั้นสอนว่า มีแต่องค์กรที่มีโครงสร้างที่เข้มแข็งกอปรด้วยผู้ บริหารที่สามารถเท่านั้น ที่จะคงอยู่และเติบโตได้ไม่ว่าจะในสถานการณ์ ที่ส่งเสริมหรือสถานการณ์ที่วิกฤตก็ตาม

และช่วงนี้ก็ยังอยู่ในช่วงที่กระแสการปรับตัวเปลี่ยนแปลงยังไม่หมดสิ้นไป แม้วิกฤตการณ์ด้านพลังงานจะผ่านพ้นไปแล้วโดยพื้นฐาน

การปรับตัวของธุรกิจครอบครัวนั้น กล่าวโดยแนวโน้มของส่วนใหญ่แล้วเป็นกระแสที่ก้าวหน้าคือเป็นการปรับโครงสร้างของธุรกิจให้เป็นธุรกิจสมัยใหม่ขึ้น

แต่ก็เป็นการปรับตัวที่ต้องใช้เวลาและมีลักษณะลักหลั่นกัน

อย่างน้อยในอีกหนึ่งทศวรรษการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความลงตัวอย่างแท้จริง ซึ่งสามารถบ่งบอกถึงความแตกต่างจากรากฐานเดิมก็น่าจะยังดำรงอยู่ นอกเหนือเสียแต่ว่าจะเกิดสถานการณ์ใหญ่จริง ๆ ขึ้นมาเสียก่อนนั้นแหละ

โดยเฉพาะสถานการณ์ใหญ่ของการกีดกันทางการค้าที่ทวีความเข้มข้นขึ้นตามลำดับ

มองออกไปข้างหน้าอย่างน้อยในอีกหนึ่งทศวรรษแล้วการเกิดสงครามใหญ่ซึ่งนำพาความสูญเสียพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงเฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองหรือระดับน้อง ๆ ก็คือสงครามอินโดจีนที่ครั้งนั้นปริวิตกกันมากว่าประเทศไทยจะกลายเป็นโดมิโนอีกตัวหนึ่งต่อจากเวียดนาม กัมพูชา และลาว ซึ่งทำเอานักลงทุนต่างถอยร่นกันพักใหญ่นั้น

ก็คงจะเป็นเรื่องที่พอวางใจได้ว่าคงจะเกิดขึ้นไม่ได้ง่าย ๆ นัก

อย่างน้อยท่าทีที่พยายามผ่อนคลายความตึงเครียดของชาติมหาอำนาจสหรัฐฯและโซเวียตก็คงจะเป็นหลักประกันได้อย่างดีประการหนึ่ง

สหรัฐฯนั้นลำพังแต่พยายามประคับประคองตัวในปัญหาเศรษฐกิจก็ไม่มีเวลาแล้ว

ส่วนโซเวียตแนวทางใหม่ที่เรียกว่า "เปเรสตอยกา" ซี่งเป็นแนวทางฟื้นฟูความเป็นเลิศทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีของโลกสังคมนิยมทั้งมวลก็คงจะทำให้ไม่มีความสนใจในเรื่องอื่นด้วยเช่นกัน

และทางด้านปัญหาพลังงานของโลก ก็คงเป็นเรื่องที่พอจะคลายใจได้แล้ว พร้อม ๆ กับความแตกแยกที่ยากต่อการรวมกันติดของกลุ่มประเทศที่เรียกว่า โอเปค

การกีดกันทางการค้าซึ่งมีประเทศอุตสาหกรรมเกิดใหม่เป็นตัวละครเอก เล่นบทประกบกับดาราหน้าเดิมอย่างสหรัฐ ฯ ญี่ปุ่นและกลุ่มประชาคมยุโรป (ที่ยิ่งวันยิ่งเป็นปึกแผ่นตามลำดับจนมีอำนาจต่อรองสูงมาก) ดูเหมือนจะเป็นสถานการณ์เพียงประการเดียวที่น่าเป็นห่วง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยที่ว่ากันว่ากำลังเป็น "นิค" อีกประเทศหนึ่งก็จะได้รับผลกระทบโดยตรงตามระดับความรุนแรงของมาตรการกีดกันทางการค้าที่ชาวโลกเขาเล่นกัน

ทิศทางของธุรกิจครอบครัวไทยที่แข็งแกร่งในปัจจุบันยิ่งเผอิญเป็นทิศทางที่มุ่งผลิตเพื่อการส่งออกอีกด้วย

กลุ่มที่จะโดนผลกระทบอย่างหนักหน่วงจึงเป็นกลุ่มธุรกิจครอบครัวเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างมโหฬารของธุรกิจครอบครัวก็คงจะเกิดอีกครั้งเป็นครั้งที่สาม

ไม่แน่นักบางทีสภาพของธุรกิจครอบครัวอาจจะถึงคราวต้องสลายตัวโดยสิ้นเชิงทั้งในด้านความเป็นเจ้าของและการบริหารก็เป็นได้ !?!?

หรือร้ายแรงกว่านั้นก็คือล่มสลายไปโดยสิ้นเชิง เฉกเช่นกับที่เคยเกิดขึ้นกับธุรกิจครอบครัวหลาย ๆ ครอบครัวในอดีต

ธุรกิจครอบครัวบ้านเรานั้น โดยภาพรวมแล้วก็มีการเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด และด้วยเงื่อนไขของการยอมรับการเปลี่ยนแปลงนี่เองที่ทำให้สามารถพัฒนาและเติบโตมาได้กระทั่งปัจจุบัน

ยกเว้นก็แต่บางธุรกิจของบางครอบครัวเท่านั้นที่ไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงแต่ก็สามารถพัฒนาและเติบโตได้ด้วยเงื่อนไขพิเศษอย่างเช่น ธุรกิจเบียร์ของตระกูลภิรมย์ภักดีเป็นต้น (รายละเอียดอ่านจากเรื่องเบียร์สิงห์)

ดังได้กล่าวแล้วว่าธุรกิจครอบครัวภาคอุตสาหกรรมที่ "ผู้จัดการ" เขียนถึงนั้น เริ่มต้นจากการประกอบพาณิชยกรรมเป็นส่วนใหญ่จากนั้นค่อยขยายตัวเข้าสู่การผลิตทดแทนการนำเข้าและขยายอีกขั้นเป็นผลิตเพื่อส่งออกด้วย

สุกรี โพธิรัตนังกูร เริ่มต้นจากธุรกิจค้าผ้าแล้วขยับขยายมาทำโรงงานทอผ้า จุดที่ก้าวกระโดดก็คือการร่วมทุนกับต่างชาติขยายกิจการ

เพียงแต่จุดเด่นของเขาก็คือการเล่นเกมที่พยายามมีอำนาจเหนือหุ้นส่วนชาวต่างชาติเท่านั้น

เป็นกลยุทธ์ของการหยิบยืมทุนจากข้างนอกที่เข้ามาพร้อม ๆ กับโนว์ฮาว จากนั้นก็เข้าควบคุม ทั้งสองส่วนกลายเป็นกลุ่มทุนที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้ในที่สุด

กลุ่มสหยูเนี่ยนก็เริ่มจาก อดีตหลงจู๊ที่ช่ำชองการค้าที่ต่อมาก็จับมือกับญี่ปุ่นตั้งโรงงานผลิตซิปแล้วขยายตัวตามลำดับ

จากนั้นก็นำกิจการหลายแห่งเข้าตลาดหลักทรัพย์

กลุ่มศรีเฟื่องฟุ้งจับมือกับญี่ปุ่น

กลุ่มซีพีจับหลายกลุ่ม ฯลฯ

ส่วนถ้าไม่ร่วมทุนกับต่างชาติก็พัฒนาถึงขั้นสร้างฐานการเงินของตัวเองขึ้นมาสนับสนุน

จากจุดกำเนิดที่ครอบครัวเป็นเจ้าของล้วน ๆ การเปลี่ยนแปลงในแง่ที่เปลี่ยนจากความเป็นเจ้าของกลายสภาพมา เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นทิศทางที่เกิดขึ้นมาในระยะใกล้ ๆ นี้ และก็คงเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางนี้เรื่อย ๆ ตามปริมาณของการขยายตัวซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาทุนรอนเพิ่มขึ้นถึงระดับที่ครอบครัวไม่มีศักยภาพเพียงพอแล้ว

ซึ่งถ้าจะให้พยากรณ์ทิศทางที่ค่อนข้างเป็นรูปธรรม ก็เห็นจะต้องบอกว่าการใช้ประโยชน์จากตลาดทุนซึ่งมั่นคงขึ้นเรื่อย ๆ นั้นจะเป็นทางออกที่สำคัญอีกทางหนึ่งในอนาคต

อีกปัญหาหนึ่งของธุรกิจครอบครัวซึ่งเป็นปัญหาที่พูดกันมากก็คือปัญหาเรื่องการสืบทอดอำนาจ

การสืบทอดอำนาจเป็นหัวข้อที่หยิบยกมาพูดกันมากสำหรับธุรกิจครอบครัว ที่ร่วมกันบริหารระหว่างคนในครอบครัวกับมืออาชีพจากข้างนอก

แต่ไม่ค่อยพูดถึงถ้าธุรกิจนั้นคนในครอบครัวบริหารกันมาโดยตลอด อย่างเช่นกรณีบุญรอด บริวเวอรี่หรือกรณีกลุ่มทอผ้าของสุกรี

ถ้าจะพูดก็พูดในทำนองว่าอนาคตจะเป็นเช่นไรเท่านั้น

กล่าวโดยแนวโน้มแล้วนั้น ธุรกิจครอบครัวของไทย โดยส่วนใหญ่ถ้าจะมองในแง่ของการสืบทอดอำนาจแล้ว ก็ยังเป็นการส่งทอดในหมู่ของสมาชิกในครอบครัว ทั้งนี้โดยนัยยะที่สำคัญอย่างน้อย 2 ประการ

ประการแรก ธุรกิจครอบครัวจริง ๆ แล้วก็ยังไม่หมดรุ่นที่หนึ่งเสียโดยสิ้นเชิง อายุการก่อตั้งที่อยู่ระหว่างช่วงหลังสงครามซึ่งกินเวลาเพียงราว ๆ 30-40 ปี ยังเป็นช่วงที่อายุขัยของรุ่นที่หนึ่งยังไม่หมดหรือถ้าหมดอย่างมากก็เป็นรุ่นที่ 2

สุกรี โพธิรัตนังกูร เป็นผู้ให้กำเนิดธุรกิจครอบครัวและปัจจุบันยังเป็นวันแมนโชว์อยู่เหมือนเดิม

ดำหริ ดารกานนท์ ผู้ให้กำเนิดสหยูเนี่ยนอายุเพิ่ง 56 ปี

นายห้างเทียม โชควัฒนาแห่งกลุ่มสหพัฒน์ยังอยู่

เกียรติ ศรีเฟื่องฟุ้ง ก็ยังทำงานไหว

และอีกมากที่ทำงานไปพร้อม ๆ กับการฝึกฝนทายาท

วิวัฒนาการของธุรกิจครอบครัวนั้น ถ้านับรุ่นที่ 1 เป็นรุ่นของการบุกเบิก รุ่นที่ 2 ก็คงจะเป็นรุ่นที่สร้างความมั่นคงให้กับกิจการ

พิจารณาในแง่นี้แล้วระดับความเข้มข้นของสายเลือดจากรุ่น 1 สืบทอดถึงรุ่น 2 ซึ่งส่วนใหญ่ซึมซับถึงความยากลำบากมากพอ ๆ กับรุ่นพ่อ ความทะเยอทะยานหรือไฟในตัวก็ยังถือเป็นรุ่นที่สามารถรับการสืบทอดได้สบาย ๆ ยกเว้นแต่จะมีปัญหาจำเพาะที่กลายเป็นเงื่อนไขทำลายการสืบทอดลักษณะนี้เท่านั้น การสืบทอดจึงอาจจะเปลี่ยนแปลงไปเป็นรูปอื่น ซึ่งมากต่อมากแล้วก็คือปัญหาความเปลาะบางของครอบครัวนั่นเอง

ประการที่สอง ผู้ทำหน้าที่สืบทอดถ้าจะว่าไปแล้วก็เป็นคนที่ผ่านการศึกษาและการบ่มเพาะให้เป็นคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง ไม่ใช่คนที่ "เตี่ย" ไม่ยอมให้ห่างตัว เรียนรู้แต่เฉพาะวงการแคบ ๆ ของ "เตี่ย" หลายคนมีความสามารถไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ามืออาชีพ และการก้าวขึ้นมานั้นเป็นกฎเกณฑ์ที่ค่อนข้างตายตัวไปแล้ว ว่าจะต้องเริ่มจากพนักงานระดับทั่ว ๆ ไปก่อน เรียนรู้งานระยะหนึ่งแล้วจึงขึ้นไป

การพิจารณาอนาคตของธุรกิจครอบครัวว่าจะมีอนาคตที่รุ่งโรจน์หรือมืดมนเป็นการมองที่จะต้องแยกแยะปัญหาทายาทหรือมืออาชีพออกจากปัญหาอื่น ๆ เป็นการเฉพาะ

ธุรกิจครอบครัวใดก็ตามที่มีโครงสร้างของทุนที่เปิดกว้าง

มีการวางระบบการบริหารเป็นแบบสมัยใหม่ด้วยการกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ และการกระจายอำนาจ แทนที่การรวมศูนย์ทุกอย่างอยู่ที่ตัวเจ้าของ

ปัญหาการสืบทอดอำนาจในแง่ที่จะตกอยู่กับมืออาชีพ คนนอกหรือลูกหลานที่เป็นคนของครอบครัวผู้เริ่มต้นกิจการดูเหมือนจะเป็นปัญหารอง ซึ่งการประเมินค่าคงต้องมุ่งลงไปที่รายละเอียด

ก็อย่างที่มีคนกล่าวไว้นั่นแหละ

ได้ลูกหลานดีมีความสามารถเป็นสิ่งประเสริฐ แต่ถ้าได้ลูกหลานไม่เอาไหนมิล่มจมคราวนี้แล้วจะล่มจมเมื่อใด

ธุรกิจครอบครัวในบางเงื่อนไขของสถานการณ์ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายโดยเฉพาะในระยะที่เป็นช่วงของการบุกเบิกกิจการ

การสืบทอดอำนาจภายในหมู่คนในครอบครัวเดียวกันก็ไม่ใช่ข้อสรุป ที่จะเรียกเป็นความเสียหาย หากทายาทเป็นคนมีความสามารถถึง

ธุรกิจครอบครัวของไทยนั้น โดยแนวโน้มแล้วการดำรงอยู่พร้อม ๆ กับเจริญเติบโตต่อไปได้ก็คือการปรับตัวที่ก่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ซึ่งรูปแบบจะเป็นเช่นไรนั้น บางทีอาจจะต้องค้นหาลักษณะเฉพาะกันเอาเอง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.