TBI GROUP โพธิรัตนังกูร เสียวเหลือเกิน


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

สี่สิบกว่าปีที่สุกรี โพธิรัตนังกูร ผาดโผนอยู่ในยุทธจักรสิ่งทอกับโบนัสความเป็น "ราชาสิ่งทอของโลก" ที่เขาได้รับความสมบูรณ์แบบ กลายเป็นเครื่องหมายคำถามลองดีความอยู่รอดของอาณาจักรหลายหมื่นล้าน "ทีบีไอกรุ๊ป" ที่สุกรีสร้างขึ้นมาด้วยกลอุบายอันแยบยลและความยากลำบากที่ไม่มีตำราเรียนเอ็มบีเอเล่มใดจะเทียบเท่ารุ่นที่ 2 ของ "โพธิรัตนังกูร" จะรักษามันไว้ได้หรือไม่...

พลาดไปเพียงครั้งเดียวไม่ใช่อุปสรรคขัดขวางความเป็น "เจ้าพ่อ" ของสุกรี โพธิรัตนังกูร

สุกรี โพธิรัตนังกูร - อัจฉริยบุคคลผู้ค้ำจุนธุรกิจหลายหมื่นล้านด้วยความไม่รู้หนังสือหนังหา ใด ๆ เลยสักตัว อัตชีวประวัติของเขามีค่ายิ่งกว่าตำราเอ็มบีเอ เขากลายเป็นแบบอย่างการต่อสู้ทางธุรกิจ ที่ใคร่กระหายความยิ่งใหญ่ทุกเสี้ยวนาที !!??

สุกรีอาจไม่ต้องรอซื้อเวลาความเกรียงไกรจนถึงวันนี้หากครั้งที่บริษัทอุตสาหกรรมไทยเกรียงฟอกย้อม ประสบปัญหาครั้งนั้น (ปี 2520) เป็นที่รู้กันว่าสุกรีเร่าร้อนยิ่งนักกับการได้สิทธิ์เข้าไปแก้ปัญหาไทยเกรียงฯ มันไม่เป็นเพียงแค่การสร้างเกียรติประวัติหากยังเป็นฐานสำคัญในการขยายธุรกิจที่ดี

เสียดายที่ ชิน โสภณพนิช ไม่ยอมตอบรับสุกรีและทีบีไอ.กรุ๊ปของเขา กลับไปมีไมตรีจิตอันดีกับกลุ่มสหยูเนี่ยนของดำหริ ดารกานนท์ แต่ก็นั้นแหละสำหรับสุกรีคนที่มีชีวิตเริ่มต้นก่อนรุ่งอรุณทุก ๆ วันย่อมไม่ใช่เป็นการพ่ายแพ้อย่างหมดอาลัยตายอยาก

มีบางคนบอกว่าสุกรีนั้นเหมือนเฒ่านักตกปลา ในนิยายชื่อดังของเฮมมิงเวย์ที่ว่า "เขาเป็นคนที่ยอมให้ถูกทำลายได้ แต่จะทำให้พ่ายแพ้ไม่ได้เป็นอันขาด เพราะสุกรีไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นผู้แพ้"

"ผมโตมาจากการขายผ้า จะให้ผมไปทำอะไรล่ะ ผมมันเก่งเรื่องสิ่งทอ ผมมุ่งหวังที่จะเป็นจ้าวสิ่งทอของโลกให้จงได้" สุกรีเคยบอกเล่าความใฝ่ฝันของเขากับ "ผู้จัดการ"

มาจนถึงวันนี้ความใฝ่ฝันของสุกรีที่จะให้ทุกโรงงานมีแกนปั่นด้ายรวมกันไม่น้อยกว่า 1,000,000 แกนกำลังจะเป็นจริงขึ้นมาในไม่ช้า เมื่อผนวกกับการแตกแขนงการผลิตของอุตสาหกรรมสิ่งทอที่สุกรีมีอยู่แล้วอย่างสมบูรณ์ไม่ว่าจะเป็นปั่นด้าย ทอผ้า ฟอกย้อม ตัดเย็บ ส่งออก

เชื่อเถอะว่า สุกรี โพธิรัตนังกูร กับ ทีบีไอ.กรุ๊ปของเขา คือสัญลักษณ์อันยิ่งใหญ่ของโลกอุตสาหกรรมสิ่งทอขนานแท้จริง ๆ !!!

ความสำเร็จของทีบีไอ.กรุ๊ป เป็นเรื่องที่ว่ากันด้วยลำหักลำโค่นของคน ๆ เดียวอย่างสุกรีเป็นสำคัญ การรู้จักฉกฉวยโอกาสจากการร่วมทุนกับต่างชาติชนิดไม่ยอมเป็นเบี้ยตัวรองทำให้ธุรกิจของ "โพธิรัตนังกูร" สง่าผ่าเผยขึ้นมาอย่างน่าใคร่ครวญ และยิ่งมีคำกล่าวกันมากว่า อุตสาหกรรมสิ่งทอนั้นแทบไม่จำเป็นต้องใช้ "มืออาชีพ" มากนักซึ่งในเมื่อสุกรีเองก็ปรารภอยู่บ่อย ๆว่า "เขาอยากให้สิ่งที่เขาสร้างขึ้นมาเป็นของโพธิรัตนังกูรตลอดไป" มันก็เลยน่าดูอยู่ไม่น้อยว่า

ส้มหล่นที่ลูกหลาน "โพธิรัตนังกูร" รับมาจากบรรพชนที่เก่งฉกาจนั้นพวกเขาจะสืบทอดมันให้อยู่ต่อไปได้อย่างมีศักดิ์ศรีทัดเทียมกับของเดิมหรือไม่ ??

"ผมใหญ่ขึ้นมาได้เพราะทหาร" สุกรีเคยบอกเล่าความเป็นมาของเขาอย่างไม่ปิดบัง เป็นการชี้ ให้เห็นว่า หลังจากสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาจนถึงช่วงเวลาของการส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมที่เริ่มต้นพร้อม ๆ กับการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1 นั้นความสำเร็จของพ่อค้าจีนจะเกิดขึ้นอย่างง่ายดายก็ต่อเมื่อ "รู้จักนายทหารและหยิบยืมบารมีมาใช้ให้เป็นในการทำธุรกิจ"

สุกรีเป็นคนที่รู้จักกาลเทศะเป็นอย่างดีว่าเวลาไหน คราไหน ที่เขาจะอำพรางสีของตัวเองให้เข้ากับกลุ่มผู้มีอำนาจทางการเมืองได้อย่างไร ???

ชีวิตที่เริ่มต้นของสุกรีนั้นเขาต้องผูกพันกับกลุ่มนายทหารต่างกรรมต่างวาระที่เป็น "ศัตรู" กันในทางการเมืองถึง 2 กลุ่ม โดยในปี 2492 ที่สุกรีมีร้านขายผ้า "กิมย่งง้วน" เป็นของตัวเองเขาสามารถทำให้ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ไว้เนื้อเชื่อใจถึงกับให้สิทธิ์ร้านกิมย่งง้วนเป็นรายเดียวผูกขาดขายผ้าให้กับอจส.

ต่อมาเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารโค่นจอมพลป.พิบูลสงคราม ในปี 2500 และเป็นช่วงที่การลงทุนอุตสาหกรรมกำลังตื่นตัวแทนที่สุกรีจะม่อยกระรอกตามนายเก่าเขากลับทำให้หลายคนประหลาดใจเมื่อสามารถต่อเส้นสายเข้าหาจอมพลสฤษดิ์ได้โดยผ่าน พล.ท.วิชัย พงษ์อนันต์ เจ้ากรมยุทธการ ทส.ของสฤษดิ์ ผลจากการกระทำครั้งนี้ทำให้สุกรีได้รับช่วงต่อของโรงงานทอปั่นด้ายของกรมทหารที่วัดสร้อยทองซึ่งมีแกนปั่นด้ายถึง 20,000 แกนมาทำแทนโดยเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น "ไทยคอตตอนมิลค์" พร้อมเพิ่มแกนปั่นด้ายเป็น 30,000 แกนนับเป็นการสร้างฐานรากที่แยบยลเสียนี่กระไร !?

สายสัมพันธ์กับฐานอำนาจทางการเมืองการทหารของสุกรีเห็นได้อย่างแจ่มชัดอีกครั้งก็ในปี 2527-30 ซึ่งช่วงระยะเวลาดังกล่าวมีเสียงร่ำลือหนาหูว่า บริษัทไทยเมล่อนเทกซ์ไทล์ของสุกรีมีการขยายแกนปั่นด้ายอยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะในปี 2527 เพิ่มแกนปั่นด้ายถึง 40,000 แกนซึ่งในระยะนี้เกิดภาวะวิกฤติเส้นด้ายภายในราคาสูงขึ้นกว่า 50% ทำให้ทุกคนมองกันว่า ราคานี้ไม่เป็นไปตามกลไกตลาดที่แท้จริง แต่เป็นการจงใจสร้างสถานการณ์ขึ้นมาเพื่อบีบให้ราชการยอมรับเงื่อนไขการขยายกำลังผลิต

ไทยเมล่อนเทกซ์ไทล์ในฐานะยักษ์ใหญ่ที่กุมตลาดเอาไว้มากกว่า 70% ย่อมหนีไม่พ้นที่จะตกเป็นเป้าครหา การต่อสู้ในเรื่องนี้รุนแรงมากถึงกับที่บีโอไอ.ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาความถูกต้องของการขอรับการส่งเสริมขยายแกนปั่นด้าย ขณะเดียวกับที่คู่แข่งรายใหญ่อย่าง "อุตสาหกรรมทอผ้าไทย" ของ พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร ก็ร่วมออกแรงคัดค้านสุดเหวี่ยง

การหักหาญกันในเรื่องนี้หากดูความสมเหตุสมผลของหลาย ๆ ฝ่ายแล้วหลายคนเชื่อว่าสุกรีกับ ทีบีไอ.กรุ๊ป ของเขาจะต้องพ่ายแพ้อย่างแน่นอนแต่แล้วด้วยการโชว์ศักยภาพการส่งออกที่ทีบีไอ. กรุ๊ป บอกว่าจะส่งออกในปี 2530ได้สูงถึง 2,500 ล้านบาทสูงจากปี 2529 ที่ส่งได้เพียง 1,600 ล้านบาท ภายหลังที่ประมวล สภาวสุ รมว. อุตสาหกรรมประธานคณะกรรมการนโยบายสิ่งทอแห่งชาติได้ไปตรวจเยี่ยมโรงงานของสุกรีที่รังสิตเมื่อ 17 ธันวาคม 2529 ชัยชนะในเรื่องการขยายแกนปั่นด้ายก็ตกเป็นของสุกรี

ประเด็นที่น่าคิดก็คือว่า ทำไม รมว.อุตสาหกรรมอย่างประมวล จึงเปลี่ยนแปลงมติอย่างรวดเร็วทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้น 7 วันยังมีทีท่าว่าจะไม่ให้โรงงานของสุกรีขยายแกนปั่นด้าย กล่าวกันว่าเบื้องหลังความสำเร็จแท้จริงนั้นเกิดขึ้นจาก "นายทหาร" คนหนึ่งเป็นคีย์สำคัญ นายทหารคนที่ว่านี้ก็คือ พ.อ. (พิเศษ) เจริญศักดิ์ เที่ยงธรรม ลูกเขยของสุกรีนั่นเอง

เสธฯเจริญศักดิ์นั้นเคยทำงานอยู่ฝ่ายกิจการพลเรือนพิเศษ กอ.รมน. เป็นผู้ปฎิบัติการจิตวิทยาที่ พล.อ. มานะ รัตนโกเศศ รมช.ศึกษาธิการ ในรัฐบาลเปรม 5 เชื่อมืออย่างมาก และยังเป็นทีมงานที่ปรึกษาของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ผบ.ทบ.อีกด้วย จะเห็นได้ชัดเลยว่า สะพานเชื่อมโยงกับฐานอำนาจของสุกรีโดยผ่านลูกเขยของเขานั้นไม่เบาเลย!!!

แบบแผนพฤติกรรมการดำเนินธุรกิจจนประสบความสำเร็จอย่างน่าประหลาดใจเป็นเรื่องที่ชาวญี่ปุ่นภาคภูมิใจนักหนา แต่จิตวิทยาและปรัชญาการทำการค้าเยี่ยงสุกรี โพธิรัตนังกูร ก็ทำให้ญี่ปุ่นต้องจดจำบทเรียนอันเจ็บปวดไปอีกยาวนาน!?

สุกรีหยิบยืมการร่วมทุนกับต่างชาติขยายตัวและค้ำความยิ่งยงของธุรกิจครอบครัวของเขาเอาไว้ได้อย่างไร!? "ประสบการณ์ของขิงแก่อย่างสุกรีที่ให้บทเรียนกับญี่ปุ่นนั้น ผมว่าหากมองในแง่ดีแล้วเป็นเรื่องที่นักธุรกิจไทยควรศึกษากันไม่น้อย" นักธุรกิจคนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"

ในปี 2502 ที่รัฐบาลเร่งส่งเสริมการลงทุนภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะสิ่งทอก็เป็นปีที่สุกรีคิดที่จะขยายฐานของตนเช่นเดียวกัน เขาร่วมมือกับกลุ่มซิกิโบและโนมูระ ยักษ์ใหญ่ด้านสิ่งทอของญี่ปุ่นตั้งโรงงานอุตสาหกรรมทอผ้าห่มไทยขึ้นมาด้วยทุนไม่น้อยกว่า 600 ล้านบาทแบ่งสัดส่วนหุ้นเป็นไทย/ญี่ปุ่นร้อยละ 51/49

กิจการทอผ้าห่มไทย (ทีบีไอ.) รุ่งเรืองมากในปี 2505 พร้อม ๆ กับการเคลื่อนไหวของซิกิโบที่เรียกร้องให้สุกรีแบ่งเงินปันผล แต่ปรากฏว่าไม่ได้รับการสนองตอบจากสุกรีมากมายนัก เนื่องจากปรัชญาการทำงานของสุกรียึดหลักที่ว่า "ต้องขยายไม่หยุดหย่อน เขานำเอาผลกำไรไปขยายการลงทุนทุก ๆ ปี"

ความที่ถูกบ่ายเบี่ยงอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ซิกิโบ -โนมูระ เป็นเดือดเป็นแค้นอย่างมากที่ถูกหักหน้าแบบให้ได้อายเลยยื่นหนังสือขอลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทและยื่นหนังสือฟ้องร้องบังคับหนี้ซึ่งสุกรีก็ยินยอมทันที "ผมเซ็นให้แม่งเลย" เขาเคยกล่าวด้วยความยิ้มย่องในชัยชนะ

สิ่งที่สุกรีได้รับจากการกระทำอย่างนี้ของเขาก็คือว่า ในที่สุดสัดส่วนหุ้นของซิกิโบ-โนมูระก็ ค่อย ๆ ลดน้อยลงไป จนแทบจะไม่มีเหลืออยู่อีกแล้วในปัจจุบัน นับเป็นการสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับ "โพธิรัตนังกูร" อย่างที่ไม่ต้องเปลืองตัวอะไรมากนัก หนำซ้ำยังได้เทคโนโลยีมาใช้แบบฟรี ๆ ด้วย

หรืออย่างคราวที่เขาต้องหักเหลี่ยมเฉือนคมกับ ชาตรี โสภณพนิช ในเรื่องของโรงงานไทย- เมล่อนโพลีเอสเตอร์ ซึ่งเป็นโรงงานผลิตเส้นใยสังเคราะห์ที่สุกรีขยายให้ครบวงจรโดยร่วมทุนกับกลุ่มโรปูแลงท์ของฝรั่งเศส และแบงก์กรุงเทพในสัดส่วนหุ้นร้อยละ 49.6/40/10 ตามลำดับ

ไทยเมล่อนโพลีเอสเตอร์ที่เป็น "หัวใจ" ของอุตสาหกรรมสิ่งทอทั้งระบบในช่วงแรก ๆ นั้นประสบกับภาวะขาดทุนไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาทเล่นเอาโรปูแลงถึงกับถอดใจไม่สู้ต่อ การตัดสินใจยอมแพ้ของโรปูแลงท์สร้างความหนักใจให้กับสุกรีมาก เพราะ หนึ่ง-เขาเองยังไม่มีความชำนาญในเรื่องเส้นใยสังเคราะห์ สอง- ความต้องการที่จะรุกคืบเข้ามาถือหุ้นใหญ่ของชาตรีกับแบงก์กรุงเทพ เนื่องจากชาตรีเองก็มองออกว่า หากอดทนอีกสักนิดในอนาคตไทยเมล่อนโพลีเอสเตอร์แทบจะเป็นผู้ผูกขาดที่สดใส

ชาตรีต้องการได้หุ้นในส่วนของโรปูแลงท์มาไว้ทั้งหมด และในฐานะเจ้าหนี้เงินกู้ก็อยากให้สุกรีเทหุ้นอีก 29% มาให้อีกด้วย การนัดเจรจาตกลงกันเรื่องนี้ที่โรงแรมดุสิตธานีเป็นความอ่อนหวานที่ชาตรีไม่อาจลืมเลือนได้เลยในชีวิต เพราะขณะที่สุกรีกล่าวว่า "ผมยินดีด้วยในความต้องการที่เป็นผลสำเร็จของคุณ" ชาตรีและทุกคนที่อยู่ในที่นั้นใครเลยจะคิดว่า ณ อีกมุมหนึ่งสุกรีได้ส่งตัวแทนของเขาไปเจรจากับผู้มีอำนาจเต็มของโรปูแลงท์ให้ขายหุ้นทั้งหมดแก่ตัวสุกรีเสียเถอะ โดยตกลงจ่ายค่าหุ้นให้ครึ่งหนึ่งก่อนแล้วที่เหลือผ่อนชำระในอีก 3 ปี

ข้อเสนอดี ๆ อย่างนี้มีหรือโรปูแลงท์จะไม่เอาที่สุดหุ้นใหญ่ทั้งหมดเลยมาอยู่ในหน้าตักของสุกรีแทนที่จะไปอยู่กับชาตรี นอกจากนี้โรปูแลงท์ยังให้การช่วยเหลือด้านเทคโนโลยีเหมือนเดิม จนปัจจุบันนี้ไทยเมล่อนโพลีเอสเตอร์เป็นบริษัทที่ทำกำไรสูงสุดให้ ทีบีไอ. กรุ๊ป ไปเสียแล้ว!!!

คนจีนมีหลักทำการค้าอยู่อย่างหนึ่งว่า "เมื่อได้ต้องได้ เมื่อเสียอย่าเสียดาย" พูดอย่างคนไทยก็ว่า "ถึงลูกถึงคน" หลักยึดนี้ดูเหมือนสุกรีจะมีอยู่อย่างครบเครื่อง ไม่ใช่เกิดขึ้นครั้งเดียวกับการหักหน้าชาตรีในเรื่องไทยเมล่อนโพลีเอสเตอร์ ยังมีอีกมากที่แสดงถึงความกล้าของคน ๆ นี้

ไทยอเมริกันเทกซ์ไทล์ผู้ผลิตเส้นด้ายรายใหญ่ที่มีแกนปั่นด้ายมากถึง 72,556 แกนเป็นบทพิสูจน์ที่ดี โรงงานนี้เดิมทีมีนักลงทุนอเมริกันมาร่วมด้วยแต่สถานการณ์ที่ตกต่ำของอุตสาหกรรมสิ่งทอในปี 2513 ทำให้นักลงทุนอเมริกันขลาดกลัวและเมื่อมาเจอการสต็อกฝ้ายที่สุกรีไม่ต้องการให้สต็อกไว้นาน ๆ ขอให้มีการผลิตออกมาเร็ว ๆ เพื่อทุ่มตลาดซึ่งสถานการณ์ขณะนั้นทางอเมริกันไม่เห็นด้วยเลยก่อให้เกิดปัญหา จนที่สุดได้มีการถอนหุ้นกลับคืนเรื่องนี้ทำให้สุกรียัวะมากเขาเลยเร่งผลิตด้ายทุ่มตลาดเป็นการใหญ่ เพื่อระบายการส่งออกให้เกิดมากขึ้น ทั้งนี้จะได้ลดสต็อกภายในลง ซึ่งเมื่อใดที่ความต้องการภายในสูงขึ้นก็ง่ายกับการที่จะตั้งราคาตามความชอบใจ

โชคบวกกับฝีมือที่สุกรีเก็งสถานการณ์ได้ถูกการสุ่มเสี่ยงของเขาครั้งนั้นกลับเป็นผลดีใน 4-5 ปีหลังถัดมา ความต้องการในที่ยั้งไม่หยุดเลยส่งผลให้ไทยอเมริกันฯ แฮปปี้อย่างหาใดเหมือน

แต่ที่เด็ดขาดมากที่สุดของเขาเห็นจะเป็นครั้งที่แก้ปัญหาขาดทุนของไทยเมล่อนเทกซ์ไทล์ในปี 2526-27 ซึ่งปีนั้นไทยเมล่อนเทกซ์ไทล์ตัวเลขขาดทุนสูงถึง 700 ล้านบาท ผู้ผลิตทั่วโลกหวาดกลัวไม่กล้าส่งสินค้าออกเพราะราคาเส้นด้ายในตลาดโลกขณะนั้นเหลือเพียงปอนด์ละ 28-29 บาท เรื่องอย่างนี้สำหรับสุกรีเขาไม่ระย่นย่อกลับเพิ่มการส่งออกถึงเดือนละ 1,000,000 ปอนด์

สุกรีกล้าที่จะ "เสีย" ในระยะสั้นทั้งนี้เพื่อแลกกับความอยู่รอดในระยะยาว เพราะสิ่งที่เขากระทำลงไปเท่ากับเป็นการจงใจปั่นตลาดเส้นด้ายภายในให้ระส่ำระสาย เพราะ 30-40% ของโรงงานทอผ้าภายในใช้เส้นด้ายจากโรงงานในเครือทีบีไอ. กรุ๊ป ดังนั้นเมื่อเส้นด้ายขาดแคลนราคาภายในก็สูงขึ้น และสุกรียังใช้ข้ออ้างในการขยายแกนปั่นด้ายอย่างชอบธรรมของตัวเองได้อีก

ก็จริงอย่างที่คนในวงการนี้บอกว่า "สำหรับสุกรีแล้วนั้นเขาเป็นได้ทั้งพระเจ้าและฆาตกร" !!

ภายในสมองกลม ๆ มน ๆ คล้ายลูกแตงโมของคนไม่รู้หนังสืออย่างสุกรีนั้นถูกบรรจุไว้ด้วยกลศึกอันแยบยลต่อเนื่องตลอดเวลา สุกรีปลุกตัวเองให้ตื่นอยู่เสมอกับการวางแผนงานในเรื่องของการลงทุนนั้นแต่ไหนแต่ไรมาแล้วที่สุกรีต้อง "วิ่ง" ให้ได้มาเพื่อบัตรส่งเสริมจากบีโอไอ ซึ่งตอนแรก ๆ สมัยที่ตั้งโรงงานใหม่ ๆ เวลาไปติดต่อเจ้าหน้าที่บีโอไอเขามักมีผ้าเนื้อดี ๆ ติดตัวไปกำนัลอยู่เสมอ ๆ ครั้นมาระยะหลัง ๆ ที่กิจการขยายใหญ่มากขึ้นถึงกับมีเสียงลือว่า "สุกรีนั้นมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของบีโอไอคนหนึ่งเป็นตัวแทนที่คอยให้ความช่วยเหลือ ทีบีไอ. กรุ๊ป คล้าย ๆ กับเป็นพนักงานประจำคนหนึ่งของทีบีไอ. กรุ๊ปเลยทีเดียว"


ทีบีไอ. กรุ๊ป ของสุกรีนั้นยิ่งใหญ่คับฟ้าเสียจริง ๆ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า กลุ่มอุตสาหกรรมนี้เป็นกลุ่มเดียวในประเทศไทยที่ไม่ยอมขยายตัวออกไปยังธุรกิจแขนงอื่นการขยายตัวของ ทีบีไอ. กรุ๊ป เป็นการขยายตัวตามแนวตั้งที่พยายามครอบคลุมให้ครบวงจรการผลิตทั้งระบบ ทั้งปั่นด้าย ทอผ้า ฟอกย้อม ตัดเย็บ ส่งออก สุกรีมีโรงงานปั่นด้ายใหญ่ ๆ คือ ไทยเมล่อนเทกซ์ไทล์ ไทยอเมริกันเทกซ์ไทล์ ไทยเมล่อนโพลีเอสเตอร์ ส่วนทอผ้าก็มีอุตสาหกรรมทอผ้าห่มไทย ฟอกย้อมก็มีไทยทริคอตไทยพรินติ้ง ไทยลีพรินติ้ง ไทยกรีพรินติ้ง และสำหรับตัดเย็บ-ส่งออก ก็มีไทยเอโร่กับไทยเอโร่การ์เมนท์เป็นหัวหอก

มองแล้วแทบจะไม่มีช่องว่างของอุตสาหกรรมนี้อีกแล้วที่คนอย่างสุกรียังไม่ได้ทำ เขาสรุปความเป็นหนึ่งของเขาอย่างแข็งกร้าวมากว่า "เพราะผมเก่ง" เหตุที่สุกรีไม่คะนองที่จะเล่นธุรกิจอื่นก็เป็นเพราะ "เขาไม่ลึกซึ้งทะลุปรุโปร่งเหมือนเรื่องสิ่งทอ"

และทางเดินล่าสุดของ ทีบีไอ. กรุ๊ป ก็ยังเป็นที่ยืนยันได้ว่าสุกรียังคิดที่จะใหญ่ในวงการนี้ต่อไปไม่หยุดหย่อน การเคลื่อนไหวซื้อที่ดินขนาดใหญ่ที่ จ.นครราชสีมา เพื่อสร้างโรงงานปั่นด้ายทอผ้าขนาดใหญ่อย่างน้อย ๆ อีก 2 โรงย่อมเป็นเรื่องยืนยันได้อย่างดี

การบริหารงาน ทีบีไอ. กรุ๊ป ของสุกรีนั้นเขาเป็นคน ๆ เดียวที่มีอำนาจสูงสุด ทั้งนี้เพราะสุกรีเชื่อมั่นตัวเองมากกว่า "ยังไม่มีใครแหลมคมพอที่จะขึ้นมาทดแทนเขาได้ในเวลานี้" และอีกอย่างหนึ่งการทำธุรกิจนี้ก็ไม่ยอกย้อนอะไรมากนักเพียงรู้จักขยับขยายตลาดให้กว้างขวางมากขึ้นเท่านั้น เพราะตลาดภายใน ทีบีไอ. กรุ๊ป แทบจะชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ ได้อยู่แล้ว

ถึงกระนั้นก็ต้องมองเหมือนกันว่า คนอย่างสุกรีที่ว่าแน่ ๆ ก็ยังต้องยอมรับความเป็น "มืออาชีพ" อยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะกิจการของไทยเอโร่กับไทยเอโร่การ์เมนท์ ซึ่งยุ่งเกี่ยวกับการส่งออกเขาปล่อยงานด้านนี้ให้กับผู้ร่วมหุ้นกับญี่ปุ่น วิโรจน์ อมตกุลชัย นักบริการอาชีพคนเดียวของ ทีบีไอ. กรุ๊ป เป็นคนดูแล

ความจำเป็นในการยอมรับมืออาชีพของสุกรีอาจเป็นเพราะว่า หนึ่ง - บริษัทไทยเอโร่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ สุกรีไม่ต้องการที่จะให้ทุกคนมองว่าบริษัทนี้เป็นของโพธิรัตนังกูร สอง - เขาเลือกใช้วิโรจน์ที่เป็นคนเข้าผู้ใหญ่เก่ง มีหลักการเจรจาคมคายเฉียบแหลง เป็นหัวขบวนในการสรรหาโควต้าซึ่งวิโรจน์ก็ทำหน้าที่นี้ได้ดี และยังเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัทในทางอ้อมด้วย

"ก็คงหวังได้แค่บริษัทไทยเอโร่เท่านั้นที่คนอย่างสุกรีจะยอมรับมืออาชีพและเปิดกว้างให้คนอื่นเข้าไปแสวงหาความสำเร็จในอุตสาหกรรมนี้ได้บ้าง" แหล่งข่าวคนหนึ่งกล่าว

ทีบีไอ. กรุ๊ป แม้จะยิ่งใหญ่เพียงใด และยังมีโอกาสที่จะผยองได้อีกยาวไกลนั้น หากหวนกลับมามองจุดยืนในการบรรลุเป้าหมายของกลุ่มนี้แล้วจะพบความเป็นจริงว่า "ได้ก่อให้เกิดโครงการอุตสาหกรรมที่เสียรูปไปมากในเรื่องความล้าหลังด้านเทคโนโลยี"

ทีบีไอ. กรุ๊ปที่มีอายุยาวนานมาตั้งแต่ครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่สองสู่การพัฒนาไม่หยุดยั้งจนสามารถควบคุมการผลิตได้ครบวงจร ลักษณะอย่างนี้อาจพูดได้ว่าไม่ได้พบเห็นได้จากประเทศอื่นเลย แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า หลังจากที่มีการนำเข้าเครื่องจักรและเทคโนโลยีใหม่ ๆ แล้ว ทีบีไอ.กรุ๊ปหาได้มีการพัฒนาเครื่องจักรเป็นของตัวเองซึ่งความอ่อนด้อยนี้ทำให้ขีดการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมสิ่งทอบ้านเรายังอยู่ในวงจำกัด

ความแตกต่างนี้เปรียบกับญี่ปุ่นอย่างซิบิโก-โนมูระที่สุกรีดึงเข้ามาร่วมหุ้นนั้นเห็นได้ชัดว่ารากเหง้าของผู้ประกอบการมีฐานกำเนิดแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ซิกิโบ-โนมูระ มาจากคนที่สนใจงานเทคนิคเครื่องจักรสิ่งทอ ส่วนสุกรีก้าวมาจากการเป็นพ่อค้าผ้า ดังนั้นสุกรีจึงให้ความสนใจเรื่อง "ตลาด" มากกว่า

ความไม่เชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีนี้อาจมีผลในระยะยาว และเมื่อนั้นไม่รู้ว่า ทีบีไอ. กรุ๊ปจะคิดได้เมื่อสายเกินไปแล้วหรือเปล่า !!!

ทุก ๆ เช้าที่สุกรีต้องพาสังขารวัย 75 ปีของเขาเดินตรวจตราทุก ๆ จุดของโรงงานภายในเนื้อที่หลายพันไร่นั้น เขาจะฉุกคิดหรือไม่ว่า "40 กว่าปีแล้วนะที่ตัวเองต้องจมปลักอยู่กับการทำงานจนสายตัวแทบจะขาด" ซึ่งถ้าเขายังคิดอยากที่จะทำงานต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุขัย โดยไม่ใส่ใจกับการฝึกปรือวิทยายุทธ์ให้กับทายาทให้เก่งสักครึ่งหนึ่งที่เขามีอยู่ มันก็น่าคิดเหมือนกันว่า อาณาจักรหมื่นล้านที่เขาสู้เหนื่อยยากปลุกปั้นขึ้นมานั้นจะมีสภาพอย่างใดเมื่อเขาต้องจากไป????

เขาเคยยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า "ผมก็หนักใจเหมือนกันเกี่ยวกับอนาคตของ ทีบีไอ. กรุ๊ป อายุปูนนี้แล้วผมพลาดอีกไม่ได้ ไม่มีโอกาสให้แก้ตัวอีกแล้ว"

ใช่แล้วคนอย่างสุกรีจะพลาดอีกไม่ได้ และเวลาที่เหลืออยู่จะเพียงพอกับเขาหรือไม่ สำหรับการเหลียวหลังกลับมาสร้างโครงสร้างใหม่ในรุ่นลูกให้แข็งแกร่งอย่างแท้จริง !!! เพราะสิ่งที่เขาไม่อยากเห็นเลยก็คือ "ทีบีไอ. กรุ๊ป เปลี่ยนมือไปจากคนในตระกูลโพธิรัตนังกูร"!!!

สุกรี-สุภา โพธิรัตนังกูร มีลูกชาย-ลูกสาวที่เขาบอกว่า "ลูกของผมไม่ทะเลาะกันแน่เรื่องแย่งสมบัติ" ด้วยกัน 6 คนคือ

ชาญวุฒิ โพธิรัตนังกูร - ลูกชายคนโตที่ดูเงียบเหงาและสมถะ ไม่ร้อนแรงมากนักกับการทำธุรกิจ สุกรีมอบหมายให้เขาดูแล "ไทยเมล่อนโพลีเอสเตอร์"

ศุภวรรณ โพธิรัตนังกูร - "หนู" จบการเงินจากอังกฤษ ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับสุกรีมาตั้งแต่เริ่มตั้งอุตสาหกรรมทอผ้าห่มไทย เป็นลูกที่สุกรีรักมากและละเอียดรอบคอบในเรื่องการเงิน-บัญชีแต่น่าเสียดายที่สุกรีไม่อาจใช้ความสามารถและประสบการณ์ของลูกสาวคนนี้ได้มากนัก เนื่องจาก "หนู" ต้องติดตามไปดูแลสามีที่อังกฤษ

อรวรรณ โพธิรัตนังกูร (เที่ยงธรรม) - "แป๊ว" ภรรยาของเสธฯ เจริญศักดิ์ เป็นคนที่ถอดแบบสุกรีมาในเรื่องความเด็ดขาดและไม่ยอมใคร จบการบริหารมาจากอังกฤษ เธอกับสามีเป็นคนที่มีบทบาทสูงในเรื่องแรงงานสัมพันธ์ของทีบีไอ. กรุ๊ป

ชุติภัทร โพธิรัตนังกูร - "แดง" ลูกชายคนเล็กที่เป็นดั่งเงาทาบลงไปบนตัวสุกรี ซึ่งเขาเองยังยอมรับว่า เรื่องการซื้อขายแล้วนั้นลูกชายคนนี้ของเขาไม่เป็นรองใคร เขาเป็นคนสำคัญที่จะต้องแบกรับภาระของโพธิรัตนังกูรในรุ่นที่ 2 แดงแต่งงานกับลูกสาวคุณหญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ จึงทำให้สายสัมพันธ์ของเขากว้างขวางมากขึ้น

จุฑาทิพย์ โพธิรัตนังกูร - ลูกสาวที่ชอบอยู่เงียบ ๆ ไม่ค่อยสนใจธุรกิจของตระกูลมากนัก "ต้อง" มีลักษณะคล้ายกับชาญวุฒิ ปัจจุบันแต่งงานอยู่กินกับ เพิ่มพูน ไกรฤกษ์ นายแบงก์อนาคตไกลของแบงก์ไทยพาณิชย์ ผู้เป็นทายาทของพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์

กรรณิการ์ โพธิรัตนังกูร - ลูกสาวคนสุดท้องที่สุกรีบอกว่าเหมือนเขามากที่สุด "จุ๋ม" จบมาจากอเมริกา ปัจจุบันเรียนรู้การขึ้นมาเป็นใหญ่ในทีบีไอ. กรุ๊ป อยู่ที่อุตสาหกรรมผ้าห่มไทย แต่งงานกับวินัย วิโรจน์วัธน์ ลูกเขยที่มีส่วนช่วยเหลือสุกรีมากในเรื่องการค้า วินัยคุมงานโรงงานฟอกย้อม

อุตสาหกรรมสิ่งทอนั้นจริงอยู่ที่ว่า ถ้าพื้นฐานมาดีแล้วให้คนในครอบครัวสืบทอดต่อก็พอที่จะกล้อมแกล้มไปได้ แต่สุกรีก็ต้องไม่ลืมเหมือนกันว่าลูกหลานของเขานั้นจะต้องเก่งพอ ๆ กับเขาไม่เช่นนั้นแล้วอย่าว่าแต่คู่แข่งจะรอวันเทียบทานรัศมีเลย บทสุดท้ายของ ทีบีไอ. กรุ๊ป นึกก็เสียวได้ไม่น้อย !!!

เส้นเลือดใหญ่ของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยนั้นอยู่ที่ ทีบีไอ. กรุ๊ป เป็นตัวชี้ขาด ดังนั้นหมากกระดานนี้ของอาณาจักรแห่งนี้จึงจำเป็นต้องเดินด้วยความสุขุม ระมัดระวังเป็นพิเศษ!!!


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.