ศรีไทย ซุปเปอร์แวร์ ใหญ่แล้วเริ่มน่ากลัว


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

ความสำเร็จของศรีไทยซุปเปอร์แวร์เป็นเรื่องความใจกว้างของเถ้าแก่กับความเฉลียวฉลาดและทุ่มเทอย่างสุดจิตสุดใจของมือปืนรับจ้าง ธุรกิจครอบครัวที่ก้าวเข้าสู่ความเป็นสากลของศรีไทยฯ ณ วันนี้เดินทางมาถึงทางเปลี่ยนที่รอการเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน !!!

โชคและความฉลาดแท้เทียว ที่เกื้อหนุนให้กิจการภายในครอบครัวเล็ก ๆ อย่าง "ศรีไทยซุปเปอร์แวร์" ซึ่งเริ่มต้นด้วยเครื่องจักรมือการผลิตง่าย ๆ 2 เครื่อง ผลิตของใช้ออกมาขายจำนวนไม่มากเมื่อปี 2506 ได้กลายเป็นธุรกิจระดับชาติที่มีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วโลกในปัจจุบัน !!!

สุมิตร เลิศสุมิตรกุล -เขาเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ก็เป็นเยี่ยงซินตึ๊งทั้งหลายที่ไม่ระย่อท้อต่อความยากลำบากของชีวิต ทำงานงุด ๆ ดุจหอยโข่งขอเพียงผลตอบแทนคุ้มค่าก็แล้วกัน อาชีพที่ถูกโฉลกกับเขามากที่สุดก็คือ พ่อค้าเร่ขายมีด ที่ทำให้คนหนุ่มวัยเพียง 20 ปีอย่างเขา ลืมตาอ้าปากได้

สุมิตรเป็นคนที่มีลางสังหรณ์แม่นยำคนหนึ่ง เมื่ออายุได้ 30 ปี และมีร้านเป็นหลักแหล่งอยู่แถวสำเพ็ง เขาเริ่มมองเห็นว่าตลาดสินค้าพลาสติกจะขยายตัวอย่างมากในอนาคต ดังนั้น จึงลงทุนซื้อเครื่องโหนพลาสติกด้วยมือ 2 เครื่องเพื่อผลิตของเด็กเล่นง่าย ๆ ออกมาขาย

ในปี 2506 ห้างหุ้นส่วนจำกัด อุตสาหกรรมศรีไทยพลาสติก เกิดขึ้นมาพร้อมกับที่สุมิตรเริ่มรู้สึกว่า สินค้าเด็กเล่นที่คนนิยมชักส่ออาการไม่ค่อยดีเสียแล้ว จึงจำเป็นต้องปรับแบบแผนการผลิตเสียใหม่ โดยหันมาผลิตของใช้ในบ้านเช่นถังน้ำ อ่าง ตะกร้า และของแถมต่าง ๆ แทน

สุมิตรแม่นราวกับจับวาง สินค้าของเขาได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดี จนทำให้กิจการขยายตัวมากขึ้น มีการสั่งซื้อเครื่องจักรใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามาอีกหลายสิบเครื่อง แต่โดยรวมแล้วแม้สุมิตรจะเป็นคนที่มีทักษะทางการค้าเยี่ยมยอดเพียงไร ทว่าเขากลับเป็นคนที่มีจุดเด่นค่อนข้างจะจำกัด???

กิจการศรีไทยฯ ที่ใหญ่มากขึ้นตามลำดับนั้น ถ้าวิเคราะห์ย้อนหลังจะพบว่า แท้ที่จริงศรีไทยฯ ควรที่จะไปโลดก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้ผูกขาดตลาดสินค้าพลาสติกในระยะนั้นได้อย่างไม่ลำบากยากเย็น ทั้งนี้เพราะว่า หนึ่ง- ตลาดกำลังขยายตัวเต็มที่ พฤติกรรมผู้บริโภคสนใจของใช้ที่เป็นพลาสติกมากขึ้น สอง- จำนวนผู้ผลิตยังมีไม่มากมาย และก็ไม่มีขนาดใหญ่ไปกว่าศรีไทยฯ

แต่เป็นที่น่าเสียดายมากว่า สุมิตรไม่อาจผลักดันสินค้าของศรีไทยฯ ให้เป็นหนึ่งในตลาดได้อย่างที่ควรจะเป็น เขาไม่กล้าพอที่จะเสี่ยงดำเนินยุทธศาสตร์ทางการตลาดสมัยใหม่เพื่อขยายฐานตลาด ส่วนใหญ่ยังคงยึดการซื้อขายตามวิธีโบราณ ที่ควบคุมการผลิตให้ได้ดุลกับออร์เดอร์ที่สั่งเข้ามา

"ถ้าแกไม่อนุรักษ์มากเกินไปแล้ว ไม่เห็นกำไรจะ ๆ แล้ว ไม่กล้าลงทุนนั้นผมว่าป่านนี้ ศรีไทยฯ ไปได้ไกลมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้หลายสิบเท่าตัว" แหล่งข่าวคนหนึ่งบอกเล่าให้ฟัง

บังเอิญของคนโชคดี??

ศรีไทยฯ เดินทางมาถึงจุดปรับเปลี่ยนครั้งสำคัญเอาในปี 2515 ซึ่งปีนั้นเกิดเหตุการณ์ที่เป็นสะพานทอดมาถึงสภาวะในปัจจุบัน 2 เหตุการณ์คือ

หนึ่ง - การเปลี่ยนชื่อห้างหุ้นส่วนจำกัดอุตสาหกรรมศรีไทยพลาสติก มาเป็นอุตสาหกรรม ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับการย้ายโรงงานการผลิตจากซอยสุขสวัสดิ์ 2 มาอยู่ที่ซอยสุขสวัสดิ์ 36 แขวงบางปะกอก (ที่อยู่ปัจจุบัน) และเริ่มผลิตสินค้าเมลามีนเป็นครั้งแรก เมลามีนหรือที่เรียกกันติดปากว่า "ซุปเปอร์แวร์" ที่ผลิตขายในตอนแรกก็เป็นประเภทถ้วยชาม ทั้งชนิดมีลวดลายและไม่มีลวดลาย

สอง- สนั่น อังอุบลกุล ชื่อและนามสกุลนี้คนในตระกูล "เลิศสุมิตรกุล" ต้องท่องจนขึ้นใจ!!!

สนั่น-ศรีไทยฯ นั้นเข้าทำนองน้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า ไม่มีเวทีที่ใจเปิดกว้างพออย่างศรีไทยฯ ความเป็นเพชรน้ำเอกที่กำลังระบือลือลั่นของสนั่นบางทีไม่อาจเปล่งประกายแวววาวออกมาก็เป็นได้เช่นเดียวกัน ไม่มีสนั่นมีหรือศรีไทยฯ จะเป็นหนึ่งในสินค้าพลาสติกและเมลามีนของโลกอย่างนี้ได้

ความบังเอิญที่สุมิตรได้สนั่นเข้ามาร่วมหัวจมท้ายกับศรีไทยฯ จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มค่านักและเป็นบทพิสูจน์ที่ดีถึงความสามารถในการเลือกคนเข้าทำงานของสุมิตร

"ผมต้องการจะพัฒนาศรีไทยฯ จากการบริหารแบบครอบครัว ไปสู่การดำเนินการแบบสากลมากขึ้น จึงจำเป็นต้องหาผู้มีความรู้ ความสามารถเข้ามาช่วย" สุมิตรเคยบอกเล่าถึงการดึงสนั่นเข้ามา เขาอาจจะช้ากับการยกระดับฐานะ แต่ไม่สายเกินไปที่จะไต่บันไดผู้นำ

สนั่น อังอุบลกุล - นักบริหารหม้ายคนล่าสุดของวงการ ผู้ชายคนที่ใบหน้าแลดูอ่อนเยาว์กว่าวัย 40 ปีคนนี้ เคยเป็นนักเรียนทุนเอเอฟเอส. รุ่นที่ 4 ก่อนเรียนจบปริญญาตรี บริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัย OGLETHORPE ATLANTA สหรัฐอเมริกา

เขาเริ่มทำงานครั้งแรกกับบริษัท ริคเคอร์มานน์ ซึ่งเป็นผู้ขายเครื่องจักรให้กับศรีไทยฯ เดิมทีเดียวทางบริษัทจะส่งไปทำงานที่ฮัมบูร์ก ซึ่งเป็นออฟฟิศใหญ่ แต่เมื่อได้ดูสัญญาแล้วไม่เห็นว่ามีประโยชน์อะไรกับชีวิตมากนักเขาจึงตอบปฏิเสธ

วันหนึ่งที่เขามาตรวจเครื่องจักรที่ศรีไทยฯ ก็ได้พบกับสุมิตรซึ่งเกิดความประทับใจในตัวคนหนุ่มผู้นี้มาก จึงได้ออกปากชักชวนให้มาร่วมงาน แต่กว่าที่สนั่นจะตัดสินใจมาร่วมหอลงโรงกับศรีไทยฯ ที่กำลังฟูมฟักตัวเองขึ้นสู่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ก็กินเวลานานถึง 2 ปี

สนั่นเริ่มงานก็ศรีไทยฯ ในตำแหน่งผู้จัดการโรงงานที่มีคนงานเพียง 100 กว่าคนแต่ก็เป็นคนงานที่คุ้นเคยอยู่กินกันแบบครอบครัว ไม่มีระบบหรือหลักการอะไรกันเลย ซึ่งนี่เป็นทั้งอุปสรรคและ ข้อด้อยอย่างมากที่เขาเรียนรู้ว่า "ทำไมศรีไทยฯ ถึงยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร"!?

สุมิตรเป็นคนที่มีคุณสมบัติดีอีกอย่างหนึ่งก็คือ ความเป็นคนใจกว้าง ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้ร่วมงานและพร้อมที่จะถอยฉากเพื่อเปิดทางให้คนรุ่นใหม่ เมื่อเขารับสนั่นเข้ามาก็ยินดีมอบอำนาจการตัดสินใจให้เต็มที่ ทำให้สนั่นสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น จากระบบทำงานแบบครอบครัวเมื่อเริ่มผลิตเมลามีนสนั่นก็ได้มีการเปลี่ยนคนงานใหม่อีกชุดหนึ่ง

"มันเหมือนเป็นการตอกเสา ถ้าดีแล้วก็ดีเลย เวลาจะขยายตัวมันจะง่ายขึ้น" สนั่นบอกเล่าถึงการหักล้างการทำงานแบบครอบครัว และดูเหมือนว่า 6 ปีแรกของการทำงานที่นี่เขาหมดเวลาไปกับการสร้างระบบบริหาร-การทำงานแบบสากลขึ้นมาอย่างสมบูรณ์

6 ปีที่ชื่อเสียงของสุมิตรเริ่มจางหายไป และชื่อของสนั่นเริ่มเข้ามาแทนที่ หลายคนถึงกับนึกว่าศรีไทยฯ นั้นเป็นของสนั่น เรียกได้ว่าเขาก้าวขึ้นกุมอำนาจเบ็ดเสร็จทุกตารางนิ้ว พฤติการณ์เยี่ยงนี้ไม่อาจเกิดขึ้นเลยก็ได้ ถ้าสนั่นจะไม่มีนายอย่างสุมิตร เลิศสุมิตรกุล

ภายหลังจัดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขระบบงานภายในจากที่เคยอยู่กันอย่างกงสี มาเป็นระบบที่มีการควบคุม มีหลักการอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เขาก็ปฏิวัติยุทธวิธีทางการตลาดชนิดยกเครื่องกันเลย นั่นก็คือ การกล้าที่จะนำเอาระบบไดเร็กต์เซลส์มาใช้กับสินค้าที่ยังไม่มีชื่อเสียงของศรีไทยฯ

นับเป็นการหักมุม 180 องศา สนั่น วัดอัตราเสี่ยงสูงเสียเหลือเกินในเกมนี้!!!

สนั่นต้องพบกับการกดดันอย่างหนักเมื่อไปยึดสินค้าเมลามีนชนิดมีลวดลายคืนมาจากห้างสรรพสินค้าเพื่อมาทำไดเร็กต์เซลส์ หลายคนบอกว่า "เขาบ้า" เพราะสินค้าชนิดนี้มีราคาสูง แต่ชื่อยังไม่เป็นที่รู้จัก การทำไดเร็กต์เซลส์จึงเป็นเรื่องตลกที่เสี่ยงเอาการ

โชคดีที่สนั่นไม่ฆ่าตัวเอง เพราะด้วยวิธีไดเร็กต์เซลส์ทำให้สินค้าชนิดนี้ขายดีกว่าที่เคย ไปนอนนิ่งอยู่ในห้างฯ หลายเท่าตัว ทำให้ต้องมีการเพิ่มเครื่องจักรการผลิตจาก 3 เครื่องเป็น 7 เครื่อง แล้วก็เพิ่มทุกปีจนกลายเป็น 92 เครื่องในปัจจุบัน รวมถึงพนักงานที่มีไม่น้อยกว่า 5,000 คน

ก็เป็นความเก่งของสนั่น และเป็นความเฮงของสุมิตรไป เพราะงานนี้ถ้าผิดพลาดแล้วล่ะก็ศรีไทยฯ มีหวังกระเด็นหลุดจากวงโคจรของอุตสาหกรรมผลิตสินค้าพลาสติกไปในบัดดล...

ปี 2520 สนั่นได้รับการเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นผู้จัดการทั่วไป แล้วหลังจากนั้นอีก 2 ปีก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการ พร้อมกับกลายเป็นผู้ถือหุ้นสำคัญคนหนึ่งของศรีไทยฯ ในนามบริษัท สยามเมลามีน จำกัด

บทบาทของสนั่นในศรีไทยฯ ไม่มีอะไรจะมาเหนี่ยวรั้งเขาได้อีกแล้ว เขาสร้างศักยภาพให้ตัวเองเพิ่มมากขึ้น เมื่อเจาะตลาดต่างประเทศได้เป็นผลสำเร็จ สินค้าศรีไทยฯ ส่งไปขายในต่างประเทศมากกว่า 35 ประเทศและส่งให้สายการบินอีกประมาณ 15 สายการบิน

ปี ๆ หนึ่งศรีไทยฯ ฟันยอดขายจากต่างประเทศก็ไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท !!!

คนที่รู้จักสนั่นดีบอกว่า สนั่นให้ความสนใจตลาดต่างประเทศมากเขาจะเป็นคนเทคแคร์ลูกค้าด้วยตัวเอง ให้บริการที่ประทับใจยิ่งเมื่อลูกค้ามาเยี่ยมชมโรงงาน เรียกได้ว่าลูกค้าบางรายที่สั่งซื้อสินค้าศรีไทยฯ เป็นเพราะชื่นชอบเขาเป็นการส่วนตัวเสียมากกว่า

ระยะหลัง ๆ มานี้มีการกล่าวกันมากว่า สนั่นเข้ามามีส่วนในการตัดสินใจโครงการสำคัญ ๆ ที่เคยร่วมกับสุมิตรชนิดคนเดียว 100% แล้ว และนับตั้งแต่ที่เขาเข้ามาอยู่ปรากฏว่าเครือข่ายของศรีไทยฯ ได้แตกตัวเพิ่มขึ้นอีกหลายบริษัท โดยส่วนใหญ่ยังมุ่งเน้นด้านพลาสติกและเมลามีนเป็นหลัก

ปี 2524 ศรีไทยฯ ขยายตัวมากขึ้นภายใต้การกำกับดูแลของสนั่น ในปีนี้ได้มีการตั้งบริษัทศรีไทยเครื่องครัวขึ้นมา บริษัทนี้แม้ทางนิตินัยจะอยู่ในความรับผิดชอบของ "สมบัติ เลิศสุมิตรกุล" ทายาทสายเมียหลวง (จินตนา) ของสุมิตร ทว่าโดยพฤตินัยแล้วนั้น ไม่อาจปฏิเสธบทบาทของสนั่นได้เลย...

บริษัท ไทยทอย ที่ผลิตของเด็กเล่นจากพลาสติกซึ่งตั้งในปีเดียวกันนี้ ก็เป็นประจักษ์พยานชี้ชัดความสามารถของสนั่นได้เป็นอย่างดี เขาต้องเทียวไล้เทียวขื่อหาตลาดต่างประเทศรับรองสินค้าของบริษัทอย่างหนัก เข้ามาจัดการด้านตลาดเสียคนเดียว สามารถหาออร์เดอร์ในแต่ละปีได้ไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท และในหุ้นส่วนบุคคลเขาก็ถือครองเป็นอันดับ 3 รองลงมาจากสุมิตรและลีไทเซ็ง

"สนั่นเป็นคนต้นคิดในการขยายตัวของสองบริษัทนี้ เขาต้องการที่จะให้ศรีไทยฯ ควบคุมตลาดนี้อย่างครบวงจร ประจวบเหมาะสอดคล้องกับความต้องการของสุมิตรที่ต้องการจะผลิตของเด็กเล่นระลึกถึงอดีต ไทยทอยจึงเป็นบริษัทที่สองคนทุ่มเทกันมาก" แหล่งข่าวบอกเล่า

ทางสายใหม่??

ชื่อเสียงของศรีไทยฯ -สุมิตร-สนั่น โด่งดังสุดขีดในปี 2530 เมื่อสามารถเจรจาดึงยักษ์ใหญ่จากหลายประเทศเข้ามาร่วมลงทุน และปีนี้ถือได้ว่าเป็นการเปิดศักราชสู่โลกอุตสาหกรรมของศรีไทยฯ อย่างสมบูรณ์แบบ

ศรีไทยฯ ไม่จำกัดตัวเองอยู่กับการผลิตเมลามีนอย่างเดิมอีกแล้ว ได้มีการร่วมทุนกับบริษัท มิยากาวา คาเซ่ ของญี่ปุ่นเพื่อผลิตเปลือกหม้อแบตเตอรี่ พลาสติก การเข้าร่วมกับมิยากาวาส่งผลให้ศรีไทยฯ กลายเป็นผู้ผูกขาดเปลือกหม้อแบตเตอรี่เพียงรายเดียวในประเทศไทย และยังรวมถึงการรับจ้างผลิตลังน้ำอัดลมต่าง ๆ อีกไม่น้อยกว่า 90% ของตลาด

แต่ที่ศรีไทยได้รับผลพวงมากที่สุดเห็นจะเป็นเครดิตที่ทำให้ได้รับลิขสิทธิ์ผลิตลังปลาลังบรรจุสัตว์น้ำจากแนลลี่ ซึ่งเป็นสถาบันผลิตลังบรรจุสัตว์น้ำที่ได้มาตรฐานของโลก และนี่เป็นก้าวแรกที่ศรีไทยฯ ได้ผลักดันตัวเองสู่ตลาดบรรจุภัณฑ์ของโลก

บรรจุภัณฑ์มีความสำคัญยิ่งยวดต่อชีวิตสินค้ามากเพียงไร ศรีไทยฯ ก็มีอิทธิพลมากเพียงนั้น!!

นอกจากมุ่งผลิตเปลือกหม้อแบตเตอรี่และลังแล้ว ศรีไทยฯ ยังได้ร่วมทุนกับบริษัทฟาร์อีส เทอร์นเท็กซ์ไทล์จากไต้หวัน จัดตั้งบริษัท พี.อี.ที. ไทยแลนด์ เพื่อผลิตขวด พี.อี.ที. และเครื่องใช้ในครัวเรือนต่างๆ ที่ทำจากเม็ดพลาสติก พี.อี.ที. ซึ่งเป็นที่คาดหมายกันว่าจะมีบทบาทสูงในอนาคต

ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่โรมรันกันสุดเหวี่ยงนั้น ก็มีข่าวว่า ศรีไทยฯ แม้จะยืนอยู่วงนอก แต่ก็เป็นคนวงนอกที่หลายฝ่ายนักลงทุนปรารถนาจะให้เข้าไปร่วม เพราะการได้ศรีไทยฯ ที่มีโรงงานผลิตสินค้าต่อเนื่องแล้วนั้น ย่อมเป็นการง่ายดายที่จะครอบคลุมตลาดอย่างครบวงจร

ศรีไทยฯ ก็คาดหวังไว้เช่นนั้นเหมือนกัน แต่เรื่องหมูไปไก่มาที่มีผู้กำกับบทอย่างสนั่นเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดนั้น เขายังไม่ยอมตัดสินใจอะไรง่าย ๆ รอให้ถึงเวลาเหมาะสมแล้วคงไม่รีรอ...

จากในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพลาสติกแล้วนั้นปี 2530 ยังเป็นปีที่ชี้ให้เห็นทิศทางการลงทุนของศรีไทยฯ ด้วยว่าเริ่มที่จะให้ความสนใจในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนมากขึ้น โดยมองเห็นว่าอุตสาหกรรมประเภทนี้เป็นเหมือน "เสือนอนกิน" การลงทุนที่สำคัญก็มีร่วมกับบริษัท ลักกี้โกลด์สตาร์ แห่งเกาหลี ตั้งบริษัทศรีไทยโกลด์สตาร์ เพื่ผลิตเครื่องโทรศัพท์ส่งออก โดยเน้นตลาดอเมริกาที่มีตลาดรองรับไว้แล้ว

ร่วมทุนกับเอกชนจีนรายหนึ่งตั้งบริษัท ซินโน ศรีไทยแร่และโลหะ เพื่อถลุงแร่พลวงบริสุทธิ์ส่งไปยังยุโรป โดยตั้งโรงงานที่ จ. ราชบุรี และยังตั้งบริษัททากาฮาชิ พลาสติก เพื่อผลิตชิ้นส่วนพลาสติกใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีลูกค้ารายใหญ่อย่างชาร์ป

ศรีไทยฯ ยังมีโครงการพัฒนาอีกยาวไกล แต่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญนี้ ปัญหาหนึ่งที่ สุมิตรใคร่ครวญอย่างหนักก็คือ ปัญหาด้านบุคลากรที่ปรากฎว่าบริษัทยังไม่สามารถสรรหาหรือจัดสร้างบุคลากรขึ้นมารองรับการขยายตัวได้ในอัตราส่วนที่เหมาะสมกัน

"ปัจจุบันเรายังผลิตคนไม่พอใช้" สุมิตรระบายปัญหานี้ให้คนใกล้ชิดรับฟังอยู่บ่อย ๆ และที่เขาต้องทบทวนมากเป็นสองเท่าเห็นจะเป็น "ผู้สืบทอด" ธุรกิจของเขานั่นเอง เนื่องจากทายาทแต่ละคนที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นสายเมียหลวง (จินตนา) หรือสายเมียน้อย (ศรีสุดา) นั้นยังอ่อนเยาว์กันอยู่มาก และที่เข้ามาร่วมงานบางคนแล้วนั้นก็บอกกันตรง ๆ ว่าชั้นเชิงทางธุรกิจยังห่างไกลจากรุ่นที่ 1 และมือปืนรับจ้างอย่างสนั่น อังอุบลกุล มากมายเสียเหลือเกิน!!!

มันเป็นความปริวิตกกังวลที่สุมิตรไม่อาจไม่คิดไม่ได้เลย

เพราะการที่ได้เรียนรู้และกุมโครงสร้างสำคัญของบริษัทไว้เสียทุกจุด จึงทำให้มีเสียงกล่าวขานกันมากว่า ถ้าวันใดที่สนั่นคิดจะถอยห่างออกมาเป็นตัวของตัวเอง เส้นทางสายนี้ของเขาแทบจะไม่ต้องนับหนึ่งเลย ออร์เดอร์หลายออร์เดอร์พร้อมที่จะติดตามมากับเขาทันที

"สมัยก่อนยังดีที่มีคนเก่า ๆ ของคุณสุมิตรคานอำนาจกันอยู่บ้าง แต่ปัจจุบันนี้คนที่อยู่ล้วนเป็นคนของคุณสนั่นทั้งสิ้น เขาถึงกับตั้งบริษัทขึ้นมารับออร์เดอร์เป็นของตัวเองแล้วแทนที่จะป้อนให้กับศรีไทยฯ อย่างที่เคยเป็นมา อีกอย่างถ้าคุณสนั่นคิดจะฮุบกิจการนี้แล้วเขาก็อาจทำได้เช่นกันด้วยการใช้วิธีการเพิ่มทุนแล้วค่อยเก็บเบี้ยซื้อหุ้นมาไว้กับตนมากที่สุด อย่าลืมนะว่าในหลายบริษัทที่เป็นเครือข่ายของศรีไทยฯ ในขณะนี้คุณสนั่นได้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 3 อยู่แล้ว ผมว่าบางทีแกอาจรอซื้อเวลาอยู่ก็เป็นได้" แหล่งข่าวที่เคยคลุกคลีกับศรีไทยฯ บอกเล่าให้ฟัง

สนั่น อังอุบลกุล - เขาเป็นราศีธนู คนราศีนี้ ซิเซโร่ได้อธิบายไว้อย่างแจ่มชัดมากว่า "การขยายตัวในเรื่องงาน เงิน และอาชีพของชาวราศีธนูจะไม่มีวันหยุด วงการและอาณาจักรของเขาจะกว้างขวางกระจายไปเป็นตาข่ายหรือเป็นใยแมงมุมทุกหนแห่ง"

"เขาไม่ได้ทำแบบมาเฟีย ไม่มีอำนาจอิทธิพล แต่เขาเป็นนักรอโอกาสที่ฉกาจที่สุดและในทันทีที่เขาสามารถฉวยโอกาสนั้นได้ เขาจะรีบฉวยโอกาสนั้นทันที วิธีฉวยโอกาสเป็นแบบแผนเฉพาะของเขา มันจะเริ่มด้วยการเตรียมตัวรอจังหวะ"

สนั่นคนเดียวเท่านั้นที่จะตอบได้ว่าเขารอวันที่จะเป็นใหญ่อย่างแท้จริงหรือเปล่า??? รอที่จะซื้อเวลาอันเหมาะสมให้มาศิโรราบโดยปราศจากข้อติฉินนินทาทั้งปวงหรือไม่??

เรื่องของมือปืนรับจ้างที่เก่งเกินไป และพร้อมที่จะสร้างอาณาจักรเป็นของตัวเองได้นั้น มีให้เห็นกันอยู่บ่อย ๆ สำหรับกรณีของสนั่นกับศรีไทยฯ ที่มีเสียงกล่าวขานกันออกมาในทำนองนี้ด้วยนั้น "ผู้จัดการ" ไม่อาจตอบได้ว่ามันเป็นความจริงหรือเปล่า???

"ผู้จัดการ" เพียรพยายามติดต่อทั้งสนั่นและสุมิตรมากที่สุดเท่าที่เราเคยติดต่อกับนักบริหาร-นักธุรกิจคนอื่น ๆ มา โดยใช้การติดต่อทางโทรศัพท์ไม่น้อยกว่า 50 ครั้ง แต่เป็นที่น่าเสียดายมากว่า คำตอบที่ได้รับกลับมาทุกครั้งก็คือว่า "ทั้งสองคนไม่ว่างเลย"

ในเมื่อไม่ว่าด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม เราก็เลยจนใจที่จะต้องปล่อยให้ความน่าสงสัยนี้เป็นเรื่อง ที่ทุกคนจะวินิจฉัยกันเอาเอง!!??

และเสียใจมากที่สุดตรงที่ ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่แหวกวงล้อมของความเป็นธุรกิจครอบครัวสู่ความเป็นธุรกิจสากล จนนำมาซึ่งความเป็นหนึ่งด้านอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าพลาสติกและเมลามีนของโลก ด้วยเครื่องจักรการผลิตร่วม 200 เครื่อง และยอดขายที่สูงเป็นพัน ๆ ล้านบาทในแต่ละปีนั้น เราน่าที่จะได้รับข้อมูลและข้อเท็จจริง จากทุกคนที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จนี้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นแบบอย่างที่ควรค่าแก่การศึกษาของนักธุรกิจ-นักบริหารคนอื่น ๆ ที่ไขว่คว้าหาความสำเร็จนี้เช่นกัน

เสียดายจริง ๆ !!!


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.