|

4 ทศวรรษธุรกิจครอบครัว การบุกเบิก การสืบทอด และการเปลี่ยนแปลง
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2531)
กลับสู่หน้าหลัก
จากหน่ออ่อนที่มากต่อมาก จำกัดวงอยู่ในหมู่คนจีนโพ้นทะเลยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้นำหลายครอบครัวได้ให้กำเนิดธุรกิจของพวกเขาขึ้น ความเป็นนักบุกเบิกผู้ชาญฉลาดทำให้เขาประสบความสำเร็จสามารถก่อรูปเป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่ และก็มีจำนวนไม่น้อยที่ต้องพังทลายไป
แต่นักบุกเบิกผู้เดินทางไกลมาอย่างน้อยสี่ทศวรรษก็คงไม่สามารถอยู่เป็นนิรันดร์ ปัญหาการสืบทอดและการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกไม่พ้นซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญยิ่งสำหรับอนาคต
สงครามโลกครั้งที่สองทำให้สถานการณ์เศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง โลกทุนนิยมภายใต้การชี้นิ้วสั่งการของสหรัฐอเมริกาฮึกเหิมลำพองขึ้นอย่างมาก อิทธิพลของสหรัฐอเมริการุกรานเข้าครอบงำการเมือง และเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ อย่างบ้าคลั่ง
และด้วยการอนุเคราะห์เกื้อกูลอย่างดีจากอเมริกาที่มีต่องานรัฐประหารปี 2490 ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม กับกลุ่มจอมพลผิน ชุณหะวัณ ได้ทำให้ระบบทุนนิยมในประเทศไทยขยายตัวออกไปอีกก้าวหนึ่ง รูปแบบการผลิตสมัยใหม่ มิใช่เป็นเพียงหน่ออยู่ในครรภ์สังคมศักดินาเหมือนอย่างเก่าอีกต่อไป
พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนปี 2497 ถึงจะไม่มีผลทางการปฏิบัติมากนัก ระดับการพัฒนาและการขยายตัวภาคอุตสาหกรรมอาจจะเป็นไปอย่างเชื่องช้า ขนาดของอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่เป็นของเอกชนยังเป็นอุตสาหกรรมขนาดย่อม รัฐฯ ยังต้องเป็นตัวนำร่องในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ กระนั้นยังนับได้ว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้มีส่วนปลุกเร้าความเป็น "นายทุนใหม่" ขึ้นมาในสังคมไทย
จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับนโยบายชาตินิยม "ประเทศไทยเพื่อคนไทยเท่านั้น" ทำให้ขุมอำนาจเศรษฐกิจที่ก่อนหน้าปี 2497 เคยอยู่ในกำมือคนต่างชาติต้องถูกย่อยสลายลงเป็นอันมาก อุตสาหกรรมที่สำคัญ ๆ อย่างการส่งออกข้าว โรงสีข้าว ธนาคารพาณิชย์ กิจการเดินเรือ ประกันภัยถูกรัฐบาลเข้าแทรกแซงด้วยกลวิธีต่าง ๆ ผลจากการกระทำนี้ทำให้กลุ่มทุนใหม่ที่สามารถเดินตามก้นรัฐบาลได้เป็นดิบเป็นดีร่ำรวยขึ้นมาอย่างมากมาย
กลุ่มพ่อค้าคนจีนที่มีบทบาทสูงมากในช่วงนั้น ต้องมีการปรับตัวกันจ้าละหวั่น เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวพวกเขาต้องยินยอมหวานอมขมกลืนอยู่ใต้อำนาจราชศักดิ์ของกลุ่มอำนาจทางการเมือง ในขณะเดียวกันก็รู้จักฉกฉวยหยิบยืมบารมีของคนเหล่านั้นมาแผ่ขยายปริมณฑลธุรกิจได้อย่าง แยบยลเช่นกัน
ในที่สุดเลยกลายเป็นว่านโยบายกีดกันคนจีนให้พ้นไปจากวงจรธุรกิจ กลับแปรรูปเป็นนโยบาย "คุ้มครองธุรกิจคนจีน" ให้โตวันโตคืนอย่างหน้าชื่นตาบาน กลุ่มทุนธนาคารซึ่งเป็นกลุ่มผูกขาดเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันล้วนเติบโตขึ้นมาในยุคนี้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกรุงเทพของตระกูลโสภณพนิช ธนาคารกสิกรไทยของตระกูลล่ำซำ สหธนาคารของตระกูลชลวิจารณ์
จอห์นี่ มา หรือ วัลลภ ธารวณิชกุล "อาชญากรเศรษฐกิจ" ชื่อดังที่ยังถูกล่าตัว เดิมทีเขาเป็นพ่อค้าคนจีนฮ่องกงเข้ามาร่วมทุนจัดตั้งบริษัท เอเชียทรัสต์ ร่วมกับ ชิน โสภณพนิช เอเชียทรัสต์ได้รับความเชื่อถือจากพ่อค้าเป็นอันมากมีฐานะเสมือนแบงก์ ๆ หนึ่ง เบื้องหลังการเติบโตอย่างราบรื่นของเอเชียทรัสต์เป็นเพราะว่า ยอมที่จะให้ พล.อ. เผ่า ศรียานนท์ 1 ในขุนศึกกลุ่มซอยราชครูของจอมพลผินเข้ามาเป็นประธานบริษัท ลักษณะการเขียนเสือให้วัวกลัวซึ่งเป็นการลงทุนครั้งเดียวของจอห์นนี่ มา คุ้มค่าอย่างยิ่ง เพราะเอเชียทรัสต์ไม่ต้องถูกเจ้าหน้าที่คอยหาเรื่องเล่นงานให้เสียค่าปรับโดยไม่จำเป็น
ธนาคารกรุงเทพ หลังการก่อตั้งในปี 2487 เพียงห้วงเวลาหนึ่งทศวรรษธุรกิจนี้กลับเติบโตอย่างพรวดพราด ที่เป็นอย่างนี้ได้เพราะ ชิน โสภณพนิช "จับเส้นถูก" จริงอยู่ที่ว่านโยบายรัฐบาลช่วงนั้นได้บีบบังคับให้แบงก์กรุงเทพโอนหุ้นร้อยละ 60 ให้แก่กระทรวงเศรษฐการพร้อมกับจัดส่ง พล.ต. ศิริ สิริโยธิน 1 ในขุนศึกกลุ่มซอยราชครูเข้าไปเป็นประธานกรรมการ สภาพการณ์นี้ไม่ทำให้ชินท้อถอยเขากลับช่วงชิงเวลานี้สร้างความเจริญเติบโตให้กับแบงก์กรุงเทพอย่างยากจะยั้งหยุด ทั้งนี้โดยอิงเข้ากับอิทธิพลทางการเมืองของกลุ่มซอยราชครู
รูปธรรมแห่งการช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกันและกันระหว่างกลุ่มพ่อค้ากับกลุ่มอำนาจทางการเมือง การทหาร ที่สำแดงพลังหนุนเนื่องให้หลายธุรกิจยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้นั้น ได้ชักลากให้ธุรกิจครอบครัวต่าง ๆ ให้เข้าไปสวามิภักดิ์กับกลุ่มอำนาจการเมือง-การทหารที่ผลัดเปลี่ยนยุคสมัยกันมาจนถึงปัจจุบัน
ธุรกิจครอบครัวที่บานสะพรั่งอย่างมากในยุคสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม นอกจากกิจการธนาคารพาณิชย์แล้วนั้นก็ยังมีอุตสาหกรรมน้ำตาลอีกตัวหนึ่ง มิเพียงแค่บริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทย (อนท.) ที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาผูกขาดในปี 2495 ส่วนภาคเอกชนเองในปี 2496 กลุ่มอัษฎาธรกับกลุ่มชินธรรมมิตร ก็ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมากุมกลไกตลาดน้ำตาลในปี 2496
กลุ่มไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรมของตระกูลอัษฎาธร ที่มีสุรีย์ อัษฎาธร หรือ "เถ้าแก่หลิ่น" เป็นแม่ทัพนั้นตั้งโรงงานน้ำตาลทรายศรีราชา ซึ่งเป็นโรงงานเอกชนแห่งแรกในปี 2496 โรงงานแห่งนี้จะผลิตน้ำตาลทรายแดงขายส่งให้กับยี่ปั๊วต่าง ๆ ซึ่งปริมาณความต้องการน้ำตาลในขณะนั้นสูงมาก จึงทำให้กลุ่มไทยรุ่งเรืองสามารถหยั่งรากลึกในสนามธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว
กลุ่มชินธรรมมิตรหรือกลุ่มกว้างสุ้นหลี ครอบครัวนี้ก็ทำธุรกิจมาช้านาน เดิมทีเป็นเพียงยี่ปั๊วที่รับซื้อน้ำตาลจากกลุ่มไทยรุ่งเรืองมาขายต่อให้กับพ่อค้าเล็ก ๆ แต่ด้วยสายตายาวไกลของผู้นำตระกูลอย่าง ชวน ชินธรรมมิตร ที่มองเห็นความเป็น "เสือนอนกิน" ได้จากอุตสาหกรรมน้ำตาลจึงได้ตัดสินใจสร้างโรงงานขึ้นมาแข่งกับเถ้าแก่หลิ่นของไทยรุ่งเรือง
ทั้งไทยรุ่งเรืองและชินธรรมมิตรมาเติบใหญ่สุดขีดอีกครั้งก็ในยุคที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก้าวขึ้นมาเถลิงอำนาจ โดยที่เถ้าแก่หลิ่นหรือ สุรีย์ อัษฎาธร เดินสายการเมืองด้วยการผ่านโอสถ โกสิน และบรรเจิด ชลวิจารณ์ ซึ่งเป็นคนสนิทของจอมพลสฤษดิ์
ความสัมพันธ์ของธุรกิจครอบครัวกับกลุ่มอำนาจทางการเมือง-การทหาร นับจากช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาจึงไม่อาจแยกขาดจากกันได้!?
หัวเลี้ยวหัวต่อของการพลิกโฉมหน้าโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมาถึงจุดสวิงครั้งใหญ่จริง ๆ ก็ในปี 2500 เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้นำกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ ทำการรัฐประหารขับไล่รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม จอมพลผ้าขาวม้าแดงผู้นี้ได้แง้มทวารการเข้ามาลงทุนของต่างชาติอย่าง เต็มที่
รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ล่อใจนักลงทุนด้วยการตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ขึ้นมาในปี 2503 และกว้านเอานักวิชาการหนุ่มมือดี อย่างดร. ป๋วย อึ้งภากรณ์ ดร. อำนวย วีรวรรณ เข้ามาร่วมร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ซึ่งสาระสำคัญของแผนพัฒนาฉบับนี้ เน้นหนักการพัฒนาประเทศด้วยการลงทุนภาคอุตสาหกรรม
อุตสาหกรรมก่อสร้างต้องจารึกนามจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไว้ตราบชั่วฟ้าดินสลายเลยทีเดียว นับจากที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนภาคเอกชน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้าง INFRA STRUCTURE เช่น ถนน เขื่อน ประปา ขึ้นมาให้พร้อมเสียก่อนเพื่อรองรับโครงการใหญ่ ซึ่งก็ด้วยความจำเป็นดังกล่าวนี้เอง ทำให้อุตสาหกรรมก่อสร้าง "ตกทอง" ได้ก่อนอื่น ๆ
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับความเป็น "บิดาการก่อสร้างไทย" จึงไม่เกินเลยความจริง !!! กลุ่ม อิตัลไทย ยักษ์ใหญ่วงการก่อสร้างไทยเป็นกลุ่มที่โดดเด่นมากในยุคนั้น กลุ่มนี้เป็นการร่วมทุนกันของหมอชัยยุทธ กรรณสูต กับบีจีโอ แบร์ลิงเจียรี่ ชาวอิตาลี เริ่มต้นในนามบริษัทอิตัลไทยอุตสาหกรรมเมื่อ ปี 2489
ปี 2501 บริษัทอิตาเลี่ยนไทย ดีเวลลอปเมนท์ (ไอทีดี.) ซึ่งเป็นบริษัทลูกก็เกิดขึ้นในช่วงเวลา... ยิ่งนัก เพราะช่วงนี้เป็นช่วงที่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ทุ่มโถมการพัฒนาด้าน INFRA STRUCTURE ขนาดใหญ่และบริษัทที่ประมูลงานก่อสร้างพื้นฐานทั้งหมดก็คือ ไอทีดี.
ความสำเร็จของไอทีดี. มีผลอย่างมากกับการที่หมอชัยยุทธนั้นมีสายสัมพันธ์ลึกซึ้งกับจอมพลสฤษดิ์ ทั้งนี้โดยผ่านจอมพลประภาส จารุเสถียร ทหารมือขวาของจอมพลสฤษดิ์ที่เกี่ยวดองเป็นคนสนิทของตระกูลกรรณสูตมาช้านาน หมอชัยยุทธถึงกับเขียนสุนทรพจน์เยินยอจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้ชุบชีวิตธุรกิจก่อสร้างไทย
ภายหลังที่แผนพัฒนาฉบับที่ 1 คลอดออกมา ทำให้อัตราการเติบโตภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้นร้อยละ 10.2 การไหลเข้ามาของทุนจากต่างประเทศในระยะปี 2503-13 มีหลากหลายกระแส โดยเฉพาะจากอเมริกานั้นสูงถึง 72% อุตสาหกรรมลงหลักปักฐานอย่างมากก็เป็นอุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมโลหะพื้นฐาน และอุตสาหกรรมสินค้าสำเร็จรูปต่าง ๆ ที่ทดแทนการนำเข้า
ผลต่อเนื่องของการใช้ พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุนปี 2503 เป็นตัวรุกยังทำให้กลุ่มทุนหลักในไทยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของตัวเองอีกด้วย พ่อค้าคนจีนที่แต่ก่อนเคยเป็นเพียงผู้นำเข้า ก็หันมาเป็นผู้ผลิตสินค้าเอง มีการยกระดับตัวเองขึ้นเป็นกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมที่มีการร่วมทุนกับต่างชาติ ญี่ปุ่นเป็นชาติ ที่มาร่วมลงทุนด้านสิ่งทอมากที่สุดถึง 52.2%
ความคึกคักของครอบครัวธุรกิจต่าง ๆ ที่ขยายตัวเข้าไปสู่การลงทุนภาคอุตสาหกรรมในห้วงระยะเวลาตั้งแต่ปี 2503-2516 นั้น แม้จะเกิดขึ้นอย่างหนาตา หากพิจารณาความเป็นจริงเบื้องลึกจะพบข้อที่น่าสังเกตมากกว่า การลงทุนเหล่านั้นยังมิได้ทำให้องคาพยพของอุตสาหกรรมไทยแข็งแกร่งอย่างแท้จริง ทั้งนี้ก็มาจากเหตุผลที่ว่า
การลงทุนส่วนมากมุ่งเน้นไปที่การผลิตสินค้าบริโภคขั้นสุดท้ายให้ความสนใจกับ "ตลาด" มากกว่าที่สนใจงานด้านพัฒนาเทคโนโลยีและเครื่องจักร อย่างเช่นกลุ่มโพธิรัตนังกูรที่ร่วมลงทุนกับญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมสิ่งทอ พฤติกรรมของกลุ่มนี้ก็ไม่มีทีท่าว่าจะพัฒนาเครื่องจักรเป็นของตัวเองเลยสักที ทั้ง ๆ ที่ศักยภาพก็มีพอเพียง รูปการณ์ที่เป็นอย่างนี้อาจมีสาเหตุมาจากการที่ หนึ่ง- กลุ่มทุนอุตสาหกรรมไทยเกิดขึ้นมาจากพ่อค้านำเข้าคนจีนที่ไม่เชี่ยวชาญด้านเทคนิคเหมือนอย่างกลุ่มทุนอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น สอง- โดยส่วนใหญ่กลุ่มที่ผูกขาดในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ล้วนมีกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อย่างโสภณพนิช ล่ำซำ เตชะไพบูลย์ คอยกำกับบทบาทอยู่เบื้องหลังทั้งสิ้น ซึ่งกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในช่วงนั้นไม่ได้สนใจเรื่องเทคโนโลยีนัก และที่สำคัญอย่างมากอีกประการหนึ่งก็คือกลุ่มทุนต่าง ๆ ในประเทศไทยคงความเป็นนายหน้าให้กับต่างชาติเสียมากกว่าไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพรประภาที่เป็นตัวแทนขายรถยนต์นิส-สัน กลุ่มสหยูเนี่ยนที่เป็นตัวแทนให้กับวายเคเค. เป็นต้น
การเติบโตของธุรกิจครอบครัวในอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ หลังจากช่วงปี 2503-2516 ปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจน 2 ข้อก็คือ หนึ่ง- ยังคงอิงอยู่กับอิทธิพลทางการเมือง สอง- อาศัยพื้นฐานจากต่างชาติเป็นหลัก
กลุ่มทุนนายหน้าที่รุ่งโรจน์ก็เช่นกลุ่มโพธิรัตนังกูรของ สุกรี โพธิรัตนังกูร กลุ่มพรประภาของถาวร พรประภา กลุ่มโชควัฒนา ของเทียม โชควัฒนา กลุ่มสหยูเนี่ยน ของดำหริ ดารกานนท์ หรือแม้แต่กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ของเจียรวนนท์ กลุ่มศรีไทยปศุสัตว์ ของสงวน จันทรานุกูล
กลุ่มโพธิรัตนังกูร - สุกรี โพธิรัตนังกูร กว่าที่จะมาเป็น "ราชาสิ่งทอโลก" ได้นั้น เขายอมรับว่าใหญ่ขึ้นมาได้เพราะรู้จักสร้างความสัมพันธ์กับนายทหารที่ครองอำนาจในช่วงปี 2500 อย่างสฤษดิ์ มุมที่หักเหชีวิตของเขาก็เมื่อรับช่วงโรงงานทอผ้าปั่นด้ายของกรมทหารที่วัดสร้อยทองมาทำได้เป็นผลสำเร็จ พฤติกรรมการลงทุนและขยายตัวของกลุ่มนี้ในช่วงปี 2500-16 ก็เป็นเพียงการปูพื้นฐานการผลิตขั้นต้นเท่านั้น ยังไม่มีสายงานการผลิตครบวงจรอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ตอนนั้นเน้นเพียงโรงงานปั่นด้าย
กลุ่มพรประภา - กลุ่มนี้ถือว่าเป็นสัญลักษณ์อันน่าภาคภูมิใจเบื้องต้นของอุตสาหกรรม รถยนต์ในประเทศไทย เนื่องจากเป็นผู้แทนจำหน่ายนอกประเทศรายแรกของนิสสันมอเตอร์แห่งญี่ปุ่น กลุ่มพรประภาสร้างสยามกลการบุกเบิกธุรกิจมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เช่นเดียวกับกลุ่มอื่น ๆ
"สยามกลการได้เป็นตัว แทนจำหน่ายรถยนต์นิสสันก็เพราะ ถาวร พรประภา ชนผู้บุกเบิกของกลุ่มรู้จักกันกับนายพลนาคามูระ อดีตแม่ทัพญี่ปุ่นประจำประเทศไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง โดยผ่านตัวแทนจากกลุ่มซอยราชครู (พล.ต. ประมาณ อดิเรกสาร) ซึ่งนำพาเขาไปเป็นเอเยนต์ดังกล่าว"
การดำเนินธุรกิจของพรประภานั้นมีลักษณะพิเศษที่น่าศึกษามากก็คือ การสร้างฐานอันแข็งแกร่งของถาวร พรประภา โดยเชื่อมโยงเข้ากับกลุ่มอำนาจอย่างต่อเนื่อง เพราะหลังจากที่ตีสนิทกับกลุ่มซอยราชครูช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองจนได้เป็นเอเยนต์รถยนต์นิสสัน ต่อมาเมื่อจอมพลสฤษดิ์ขึ้นมามีอำนาจถาวรก็ใช้ธุรกิจเหมืองแร่ที่ตนมีอยู่สร้างสัมพันธ์กับกลุ่มสี่เสาเทเวศร์ของจอมพลสฤษดิ์ แล้วมาถึงยุคถนอม-ประภาส-ณรงค์ ถาวรก็ยังเข้ากันได้ดีกับจอมพลประภาส จารุเสถียร โดยผ่านชิน โสภณพนิช เป็นคนเชื่อมโยง การที่ปรับตัวเองได้ทุกยุคสมัยนี้เองทำให้กลุ่มพรประภาดำรงความยิ่งใหญ่มาได้จนถึงปัจจุบัน แม้ว่าหลายครั้งจะประสบภาวะวิกฤติต่าง ๆ ก็ตามที
กลุ่มสหพัฒนพิบูลของตระกูลโชควัฒนา - กลุ่มนี้เป็นตัวแทนกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่ชี้ให้เห็นถึงความสามารถอันยิ่งใหญ่ของผู้ประกอบการที่เป็นคนจีนในเมืองไทย
กลุ่มสหพัฒนพิบูลมีรากฐานมาจากความกล้าหาญชาญชัยของคน ๆ หนึ่งที่ชื่อ เทียม โชควัฒนา หรือ "เฮงเทียม" ซึ่งไม่ยี่หระที่จะต่อกรกับการรุกรานของกองทัพธุรกิจต่างชาติที่ดาหน้าถาโถมเข้ามามากมายในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยเฉพาะบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งหลาย
เทียม โชควัฒนา เป็นลูกชายพ่อค้าจีนร้าน "เปียวฮะ" ซึ่งเมื่อ 60 ปีก่อนอยู่แถว ๆ ตรอกอาเนียเก็ง ย่านทรงวาด ความสำเร็จของเทียมมีพื้นฐานมาจากความคับแค้นที่เห็นร้านเปียวฮะของพ่อต้องตกไปเป็นของอาและตัวเขาเองแทนที่จะได้เรียนสูง ต้องทำงานหนักเยี่ยงจับกัง
เทียมเริ่มทำตัวเป็นพ่อค้าตั้งแต่อายุได้ 12-13 ขวบด้วยการไปรับยาเส้นมาขาย จนถึงอายุ 20 ปี เขาจึงมีร้านเป็นของตัวเองชื่อว่า "เฮียบฮะ" ความที่เขาเป็นคนหัวก้าวหน้ามองเห็นว่าการขายของเบ็ดเตล็ดอย่างเดิมคงไปไม่ไกลแน่ จึงได้เปลี่ยนแนวมาทำร้านส่งเสื้อยืดชื่อ "เฮียบเซ่งเซียง" เมื่อปี 2485
บริษัทสหพัฒนพิบูล เกิดขึ้นมาแทนร้านเฮียบเซ่งเซียง เมื่อปี 2495 และเทียมก็ทำให้หลายคนแปลกใจในแนวทางการบริหารธุรกิจที่มองอนาคตเป็นสำคัญเมื่อเขามอบหมายหน้าที่ "หลงจู๊" ให้กับเด็กหนุ่มหน้ามนคนหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นการ "เสี่ยง" อย่างมาก ทว่าหลงจู๊คนนั้น "ดำหริ ดารกานนท์" ที่วันนี้กลายเป็นเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ "กลุ่มสหยูเนี่ยน" ไปแล้วนั้นย่อมเป็นบทพิสูจน์ความสามารถของเทียมได้เป็นอย่างดี
ปี 2502-2509 เป็นช่วงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของสหพัฒนพิบูล เมื่อเทียมเห็นว่าระบบการเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศนั้น หลายครั้งมีปัญหาจุกจิกกวนใจ และไม่ได้เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศอย่างแท้จริง
เทียมตัดสินใจยกระดับสหพัฒนฯ ขึ้นมาเป็นผู้ผลิตสินค้าเสียเอง โดยดัดแปลงวิธีการของญี่ปุ่นมาใช้ ซึ่งก็ต้องเรียนถูกเรียนผิดกันหลายครั้ง จนกระทั่งแก้ไขได้ถูกจุดกิจการของสหพัฒนฯ จึงเริ่มรุ่งเรืองขึ้นมาในปี 2505 และเป็นปีแรกที่สหพัฒนฯ ร่วมทุนผลิตซิปกับญี่ปุ่นซึ่งเป็นการร่วมทุนครั้งแรกของบริษัท
โรงงานไลอ้อน (กรุงเทพฯ) ที่เทียมตั้งขึ้นในปี 2506 เป็นรากฐานสำคัญของกิจการสหพัฒนฯ เพราะโรงงานนี้ทำหน้าที่เป็นผู้ผลิตสินค้าหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นสบู่ ยาสีพัน ผงซักฟอก พลาสติก เพื่อป้อนให้กับบริษัทสหพัฒนฯ ก่อนถึงปี 2510 ยังคงเน้นที่การผลิตสินค้าเพื่อทดแทนการนำเข้า
ปี 2511-2515 กลุ่มสหพัฒนฯ เริ่มรุกคืบเข้าสู่การผลิตสินค้าอุปโภค -บริโภคอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากตั้งบริษัทไทยวาโก้ และบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล แลบบอทรารี่ เพื่อผลิตชุดชั้นในสตรี เสื้อผ้า และเครื่องสำอาง พอถึงปี 2515 จึงตั้งบริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ผลิตอาหารสำเร็จรูปอย่างบะหมี่จนเป็นที่โด่งดัง
กลุ่มสหพัฒนฯ ในยุคปี 2489-2515 จึงกล่าวได้ว่าเป็นยุคที่เตี่ยอย่าง เฮงเทียม ได้ปูพื้นฐานให้กับลูกหลานอย่างหนักแน่นและมั่นคง
กลุ่มจิราธิวัฒน์ - กลุ่มนี้ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกวงการห้างสรรพสินค้าโดยเริ่มลงรากด้วยแนวความคิดของ สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ ลูกชายคนโตของ นี่เตียง แซ่เจ็ง ซึ่งตั้งร้าน "เซ็นทรัล" ขึ้นมาเมื่อปี 2490 เป็นห้องแถวอยู่ที่ ถ. เจริญกรุง ปากตรอกกัปตันบุช เพื่อขายนิตยสารต่างประเทศและขายของเบ็ดเตล็ด
สัมฤทธิ์เป็นคนที่สนใจและชอบธุรกิจขายส่ง เพราะเป็นทางเดียวที่สามารถขยายกิจการออกไปได้ จากตัวแทนขายนิตยสารเก่าเริ่มขยับมาเป็นตัวแทนขายพ็อกเกตบุ๊คและขยายร้านเป็นห้องแถว 3 คูหา ใกล้ ๆ ปากตรอกโรงแรมโอเรียนเต็ล ซึ่งร้านนี้ยังเป็นตัวแทนขายเสื้อยืดทันสมัยจากอเมริกาด้วย
ปี 2499 จิราธิวัฒน์ จึงได้ฤกษ์ลั่นห้างสรรพสินค้าขึ้นมาเป็นแห่งแรกในเมืองไทยที่วังบูรพาใช้ชื่อ "ห้างเซ็นทรัล" นับเป็นการพัฒนาธุรกิจขั้นที่ 1 ของจิราธิวัฒน์จากร้านห้องแถวมาเป็นห้างใหญ่ที่ทันสมัย และยังยกเลิกระบบต่อรองสินค้าอย่างที่เคยทำกันมา สินค้าที่วางขายในห้างเซ็นทรัลนั้น แม้ว่าบางตัวอาจเหมือนกับที่วางขายตามร้านทั่ว ๆ ไป ทว่าในแง่ภาพพจน์แล้วดูมีเครติดดีกว่า
ปี 2511 ได้ขยายสาขาเพิ่มอีกแห่งที่สีลม สาขานี้ตกแต่งอย่างหรูหราจนทำให้คนซื้อไม่กล้าเข้าไปซื้อเพราะกลัวของแพง สัมฤทธิ์ต้องหาทางแก้ไขด้วยการนำสินค้าที่คนอื่นไม่มีเข้ามาขาย ซึ่งในขณะนั้นเขาสามารถทำได้ง่ายแล้ว เพราะมีบริษัทเซ็นทรัลเทรดดิ้งที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ การแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการนี้รวมถึงการทุ่มโฆษณาอย่างหนักทำให้สีลมเอาตัวรอดมาได้ จนแตกหน่อเพิ่มได้อีกแห่งที่ชิดลม
การดำเนินธุรกิจหลักของกลุ่มจิราธิวัฒน์ในช่วงก่อนปี 2516 นั้น แม้ว่าจะนำเอาแนวความคิดเกี่ยวกับการจัดจำหน่ายสมัยใหม่เข้ามาใช้ในเมืองไทย แต่สินค้าที่วางขายส่วนมากยังเป็นสินค้าที่สั่งนำเข้า การผลิตสินค้าเป็นของตัวเองยังไม่ปรากฎเด่นชัดเหมือนอย่างในปัจจุบันที่เซ็นทรัลเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่าย
กลุ่มเจียรวนนท์ - กลุ่มนี้ดำเนินการผลิตอาหารสัตว์มาตั้งแต่ปี 2497 ในนามบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยมีเจียเอ็กซอเป็นหัวขบวน การก่อกำเนิดธุรกิจของเจียรวนนท์มีเป้าหมายที่วางไว้แน่นอนมานานแล้วว่าจะต้องก้าวไปสู่การทำธุรกิจแบบครบวงจร
ปี 2503 - 2512 เป็นช่วงเวลาที่เจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี ทุ่มเทเข้าสู่ธุรกิจการเลี้ยงสัตว์อย่างรุนแรง ซีพีเป็นผู้ที่สานแนวคิดฟาร์มทุนนิยมให้เป็นจริง เมื่อมีการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงไก่และบริษัทประกันราคารับซื้อ แนวคิดนี้ทำให้ซีพีสามารถกุมระบบการผลิตไว้ได้เกือบทั้งหมดเมื่อมีโรงงานผลิตอาหารสัตว์ขนาดใหญ่ขึ้นมาอีกยิ่งฉายภาพความเป็นผู้ผูกขาดอย่างเด่นชัด
ซีพีมาถึงจุดปรับวิถีโค้งที่ทำให้กิจการก้าวกระโดดอย่างน่าทึ่งในยุคที่ ธานินทร์ เจียรวนนท์ ขึ้นมามีอำนาจ ธานินทร์ได้นำซีพีเข้าร่วมทุนกับบริษัทอาร์เบอร์เอเคอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้นำธุรกิจปศุสัตว์ของโลก จากจุดนี้เองที่ทำให้ซีพีอหังการจนยากจะคลอนแคลน
ระยะผ่านของธุรกิจครอบครัวในห้วงเวลานับจากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง- ปี2516 ยังถือว่าเป็นช่วงของการเพิ่งหัดเดินเท่านั้น รากแก้วของการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างประเทศที่รุดหน้าไปไกลแล้วเช่นญี่ปุ่นนั้นยังไม่ปรากฎเงาร่างของกลุ่มทุนไหนจะสำแดงออกมาให้เห็นเลย!?
กระทั่งถึงระยะผ่านที่สำคัญหลังเกิดวิกฤติการณ์น้ำมันในปี 2516 โฉมหน้าของกลุ่มทุนอุตสาหกรรมไทยจึงปรับโฉมต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน!!!
ช่วงปลายปี 2516 ถึง 2517 ระบบเศรษฐกิจสังคมไทยตกอยู่ในห้วงการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อนในประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก่อผลสะท้อนอย่างมากมายต่อระบบการเมืองและสังคมไทย กลุ่มข้าราชการประจำที่ถืออาวุธได้สูญเสียสถานภาพในอำนาจการปกครอบที่เคยรุ่งเรืองมาอย่างยาวนานลงระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันกับที่ กลุ่มเอกชนภายนอกระบบราชการ เช่นพ่อค้า นักธุรกิจ เริ่มเข้ามามีบทบาทในการมีส่วนร่วมทางการเมือง และกำหนดค่านิยม ตลอดจนทิศทางทางสังคมมากขึ้น
การปรับเปลี่ยนดุลอำนาจทางสังคมที่ว่านี้ แม้แต่ในยุคสมัยปัจจุบัน ก็ยังคงทำหน้าที่ลงหลักปักฐานอยู่อย่างแน่นหนา
ด้านเศรษฐกิจ กลุ่มโลกอาหรับ ได้รวมตัวกันประกาศขึ้นราคาน้ำมันดิบอย่างห้าวหาญ ระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ปั่นป่วนกันไปหมด
แม้แต่เศรษฐกิจไทย ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นเริ่มต้นของการไปสู่เศรษฐกิจอุตสาหกรรมเกษตร ก็หลีกหนีไม่พ้น!
ภาวะราคาเฟ้อมากกว่า 10% การเติบโตทางการผลิตในสาขาอุตสาหกรรมอยู่ในภาวะชะงักงัน และบางแห่งชะลอตัวลงมีสภาพที่ระบาดไปทั่ว เพราะอำนาจซื้อของคนในประเทศเสื่อมทรุดลง
ผู้ประกอบการธุรกิจ ปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของบริษัทกันสุดตัว ด้วยสาเหตุเพราะ
หนึ่ง- แกนขับเคลื่อนธุรกิจอยู่ที่คนในครอบครัว ที่มีภาระต้องรับผิดชอบในชะตากรรมของลูกหลาน เหตุนี้ความอยู่รอดของธุรกิจจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับความอยู่รอดของลูกหลานในครอบครัวด้วย
สอง- ธุรกิจไทยในเวลานั้น อยู่ในยุคของการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศเสียมากกว่าการส่งออก เมื่ออำนาจซื้อของคนในประเทศถูกแรงกดดันจากภาวะราคาเฟ้อสูง จึงต้องปรับตัวธุรกิจให้อยู่รอดท่ามกลางสถานการณ์ตลาดที่วิกฤติ
หนทางการปรับตัวให้อยู่รอดในยุคนี้ ธุรกิจไทยมุ่งไปที่การปรับตัวด้านการบริหารองค์การและบริหารทุนกันยกใหญ่!
การปรับตัวด้านการบริหารองค์การ
ก่อนเข้าสู่ยุควิกฤติการณ์น้ำมันแพงและการเปลี่ยนแปลงระบบสังคมไทยอย่างใหญ่หลวง ธุรกิจไทยซึ่งว่ากันตามข้อเท็จจริงแล้ว หมายถึงธุรกิจกลุ่มคนจีนโพ้นทะเลที่อพยพมาตั้งรกรากทำมาหากินในเมืองไทยอยู่ในยุคการบริหาร "ข้าพเจ้ารับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" ของเถ้าแก่ผู้ก่อตั้ง
"มันเป็นช่วงการสร้างหลักปักฐานด้วยความอดทน ขยันหมั่นเพียร กล้าได้กล้าเสียโดยอาศัยวิจารณญาณ" แหล่งข่าวผู้ติดตามธุรกิจไทยมาเป็นเวลานานผู้หนึ่งกล่าวให้ฟัง
บุคลิกภาพในการสร้างหลักปักฐานตามนัยนี้ที่เด่นชัด เห็นทีจะไม่มีใครเกินกว่า นายห้างเทียม โชควัฒนา แห่งกลุ่มสหพัฒน์ ที่ปัจจุบันมรดกความมีมานะ อดทนของนายห้างส่งผลความยิ่งใหญ่ในสาขาอุตสาหกรรมผลิตสินค้าอุปโภค-บริโภค ที่พอฟัดพอเหวี่ยงกับกลุ่มลีเวอร์ฯ และคอลเกตฯ ได้ ไม่อาย
นายห้างเทียม แม้มีพื้นฐานการศึกษาไม่สูง แต่ดูเหมือนว่ามีจิตสำนึกยอมรับการเปลี่ยนแปลงอยู่เต็มเปี่ยม กล่าวกันว่า ในสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ใหม่ ๆ ร้านเฮียบเซ่งเชียง ซึ่งต่อมาขยายเป็นบริษัทสหพัฒนพิบูล ได้สร้างความตื่นตะลึงให้กับเถ้าแก่ร้านค้าในสำเพ็งเอามาก ๆ โดยการเอาหลงจู๊หนุ่มคือ ดำหริ ดารกานนท์ น้องเขย ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานกลุ่มสหยูเนี่ยนขึ้นมา เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะในสมัยนั้น เถ้าแก่ในย่านสำเพ็ง มีความเชื่อกันว่า การเอาหลงจู๊หนุ่มที่อ่อนเยาว์ต่อประสบการณ์ เป็นการเสี่ยงเกินไปต่อความอยู่รอดของกิจการ
แต่ด้วยการยอมรับการเปลี่ยนแปลง และสันทัดในการมองคนของนายห้างเทียม ปรากฏว่าหลงจู๊หนุ่ม-ดำหริ กลายเป็นคีย์แมนคนสำคัญที่มีส่วนสร้างธุรกิจซื้อมาขายไปของสหพัฒน์ในยุคก่อตั้งให้เติบใหญ่จนทุกวันนี้
การทำธุรกิจในยุคบุกเบิกของชนรุ่นที่ 1 ในหลายเหตุการณ์ เถ้าแก่ต้องใช้การตัดสินใจที่กล้าได้ กล้าเสียจากวิจารณญาณของตนเองเพียงลำพัง ซึ่งถ้าพลาดก็หมายถึงการล้มหายตายจากไป แต่เถ้าแก่อย่างนายห้างเทียม ดูออกจะโชคดีอย่างยิ่ง ที่บุคลิกกล้าได้กล้าเสียของนายห้างกลับมีส่วนเสริมสร้างให้ธุรกิจของสหพัฒน์เติบใหญ่มาจนวันนี้ อย่างเช่นครั้งหนึ่ง ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติใหม่ ๆ การค้าย่านสำเพ็ง โดยปกติจะซื้อขายกันเป็นเงินสด แต่นายห้างเทียมกล้าแหวกประเพณีทางการค้า โดยสั่งขายสินค้าในร้านด้วยวิธีเงินเชื่อ 2 อาทิตย์บ้าง หรือ 1 เดือนบ้าง โดยไม่หวั่นต่อคำวิจารณ์จากบรรดาเถ้าแก่ด้วยกันว่าคงต้องเจ๊งอย่างไม่มีปัญหา แต่นายห้างไม่สนใจ เพราะใช้วิจารณญาณดูแล้วเห็นว่า...
"สินค้าที่ขายออกไปได้กำไร 10-20% ค่าใช้จ่ายในการขายให้กับยี่ปั๊วก็มีน้อยเพียง 3-4% เปิดบัญชีให้กับร้านค้า 1 เดือน เรายังได้กำไรอีกกว่า 10% หมุนเพียง 6-7 เดือน เราก็ได้ทุนคืนแล้ว จะมามัวกลัวหนี้สูญอยู่ทำไม หนี้สูญนั้นสิ้นปีก็ค่อยคิดกันที อย่างมากก็ไม่เกิน 0.25-0.50% ของยอดขาย" นายห้างเทียม เคยเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังเมื่อ 3 ปีก่อน
กล่าวกันว่า วิธีการค้าโดยเปิดบัญชีให้ลูกค้าหรืออีกนัยหนึ่งขายแบบเงินเชื่อเช่นว่านี้ ของนายห้างเป็นครั้งแรกที่บุกเบิกในย่านสำเพ็ง ทั้ง ๆ ที่ว่าไปแล้วนายห้างเทียมยอมรับว่าศึกษามาจากห้างฝรั่ง
แต่ด้วยความกล้าได้กล้าเสียอย่างมีเหตุผลของนายห้าง ผลก็ช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าสั่งซื้อสินค้าจากสหพัฒน์ครั้งละมาก ๆ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญยิ่งประการหนึ่งของสหพัฒน์ในยุคชนผู้ก่อตั้งอย่าง นายห้างเทียม ที่มีส่วนทำให้สหพัฒน์เติบโตได้ถึงทุกวันนี้...ซึ่งมีลูกค้าที่ซื่อสัตย์ของสหพัฒน์อยู่ทั่วประเทศนับพันนับหมื่นแห่ง
ชนรุ่นบุกเบิกอย่างเจ็งนี่เตียง แห่งเซ็นทรัลกรุ๊ป ก็เช่นกัน เขาเป็นหนึ่งในผู้ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ธุรกิจครอบครัวในบ้านเรา ที่มีคุณูปการต่อชนรุ่นลูกหลานในตระกูล จิราธิวัฒน์ ไม่แตกต่างจากนายห้างเทียม ที่ได้สร้างคุณูปการแก่ชนรุ่นลูกหลานในตระกูลโชควัฒนา
จริงอยู่แม้เจ็งนี่เตียง ในยุคปลายของเขาก่อนจะลาโลกไป ได้ทิ้งหนี้สินหมุนเวียนแก่ชนรุ่นลูกที่นำโดยสัมฤทธิ์ไว้จำนวนหนึ่งก็ตาม แต่การสร้างหลักปักฐานอย่างขยันอดทน การกระเหม็ดกระแหม่ที่เริ่มจากการเปิดร้านค้าปลีกของเบ็ดเตล็ดแถวสี่พระยา และการสร้างหลักปักฐานที่วังบูรพาในนามห้างเซ็นทรัล โดยมีชนรุ่นลูกอย่างสัมฤทธิ์ วันชัย และสุทธิพร จิราธิวัฒน์ คอยช่วยเหลือติดต่อสั่งสินค้าจากต่างประเทศ เพราะมีความรู้ภาษาอังกฤษจากอัสสัมชัญบางรัก ก็ต้องนับว่าได้มีส่วนสำคัญยิ่งในการปูรากฐานทางธุรกิจ (ด้านทรัพย์สิน) แก่ชนรุ่นหลานต่อมา
จากการลำดับเวลาของกลุ่มธุรกิจครอบครัวที่ฟันฝ่าธุรกิจเติบใหญ่มาได้จนทุกวันนี้ ยืนยันได้ค่อนข้างแน่ชัดว่า กลุ่มเซ็นทรัล ในชนรุ่นลูก (GENERATION II) มีส่วนอย่างสำคัญยิ่งในการสร้างหลักปักฐานให้กับครอบครัวมาพร้อมกับชนรุ่นบุกเบิก ขณะที่ในช่วงลำดับเวลาดังกล่าว (หลังสงครามถึงก่อนวิกฤตน้ำมันแพง 2517) กลุ่มธุรกิจครอบครัวอื่น ๆ ชนรุ่นลูกในรุ่น 2 ส่วนใหญ่ยังศึกษาอยู่ต่างประเทศ
การเกิดวิกฤติน้ำมันแพงปี 2517 และการเปลี่ยนแปลงสังคมจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เรียกร้องให้กลุ่มธุรกิจครอบครัวของคนจีนโพ้นทะเลจำต้องปรับกลยุทธ์หันมาพึ่งตนเองด้านการผลิตอย่างจริงจัง และมองตลาดออกไปภายนอกประเทศ
การปรับปรุงโครงสร้างการบริหารภายในองค์กรให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ที่ปรับเปลี่ยนไป เริ่ม ปรากฏของชนรุ่นลูกรุ่นที่ II ในการเข้ามาแบกรับภารกิจในการบริหารธุรกิจของครอบครัวทดแทนชนรุ่นบุกเบิก ปรากฏชัดเจนขึ้นในหลายกลุ่มธุรกิจดังตัวอย่างกรณีกลุ่มบริษัทสหพัฒน์...
จากการศึกษา มีหลักฐานยืนยันชัดเจนว่านายห้างเทียม เริ่มปล่อยมือการบริหารวันต่อวันเพื่อผ่องถ่ายไปให้ลูก โดยในช่วงก่อนวิกฤติน้ำมันเพียงปีเดียว มีการตั้งบริษัทสหพัฒนฯ อินเวสต์เม้นท์ โฮลดิ้ง ขึ้นมาในช่วงประมาณปี 2515 ซึ่งเป็นสัญญาณที่บ่งชัดว่านายห้างเทียมกำลังจะเปลี่ยนมือการบริหารแบบวันแมนโชว์ เพื่อผ่องถ่ายไปให้ลูก ๆ ขณะที่ตัวเองขยับขึ้นเป็นประธานกรรมการกลุ่ม คอยเป็นสัญลักษณ์ด้านขวัญและกำลังใจแก่ชนรุ่นลูกและลูกน้องอีกหลายพันคน
นายห้างเทียม ดูจะเป็นคนโชคดีที่มีลูกอยู่หลายคนที่มีความรู้ความสามารถในการทำธุรกิจที่แตกแขนงไปสู่ภาคการผลิตเชิงอุตสาหกรรมด้านอุปโภค-บริโภคถึง 20 บริษัท และธุรกิจการค้าบริการอีกเกือบ 20 บริษัท
- บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา แม้จะเป็นคนมีพื้นฐานความรู้จากระบบโรงเรียนน้อยมาก ๆ แต่เป็นลูกชายคนโตของนายห้างเทียมที่ศึกษาการทำธุรกิจกับนายห้างมาตลอดตั้งแต่เล็กจนโต วงการธุรกิจยอมรับเป็นคนที่มีความสามารถและเป็นเสาหลักคนหนึ่งของครอบครัว เขาเป็นคนที่ขึ้นมารับช่วงบริหารวันต่อวันในตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของกลุ่มสหพัฒน์แทนนายห้างได้อย่างลงตัว
- บุญชัย โชควัฒนา น้องบุณยสิทธิ์ แฝดผู้พี่ของบุญเกียรติ เขาจบจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ขณะที่แฝดผู้น้อง บุญเกียรติจบจากสถาบันโพลีเทคนิค วอร์เชสเตอร์ สหรัฐฯ ลูกทั้ง 2 ของนายห้างเทียมคู่นี้ มีการศึกษาดี ขยันในการทำงานในธุรกิจของครอบครัวมาก บุญชัยรับผิดชอบเป็นกรรมการผู้อำนวยการสหพัฒนพิบูล ดูแลด้านบริหารวันต่อวันในกลุ่มสายงานด้านบริการตลาดและการจัดจำหน่าย พร้อมเป็นประธานบริษัทฟาร์อีสต์โฆษณาในเครือของกลุ่มด้วย ขณะที่บุญเกียรติผู้น้องดูแลบริษัทอินเตอร์เน-ชั่นแนล คอสเมติคส์ (ICC) ซึ่งเป็นธุรกิจอีกแห่งหนึ่งที่เป็นหัวหอกในการทำรายได้เข้าสู่กลุ่มได้ไม่น้อย
- ณรงค์ โชควัฒนา ลูกนายห้างเทียมคนนี้ดูจะ LOW PROFILE เอามาก ๆ เขาได้รับมอบหมายจากนายห้างให้ดูแลสายงานธุรกิจกลุ่มรองเท้า ที่กลุ่มสหพัฒน์เริ่มทำอย่างจริงจัง หลังปี 2520 เป็นต้นมา
- พิจารณาจากความมั่นคงและเติบใหญ่ของกลุ่มสหพัฒน์ในทุกวันนี้ เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า หนึ่ง-นายห้างเทียม ชนรุ่นบุกเบิกของธุรกิจครอบครัว "โชควัฒนา" ไม่เพียงแต่สันทัดในการมองคนเท่านั้น ยังมีปฏิภาณที่สูงพอที่จะรู้จักวางรากฐานในการสร้างคนรุ่นลูกขึ้นมารองรับภารกิจทางประวัติศาสตร์ของตนเองที่พ้นไปแล้ว ได้อย่างเหมาะสม
"สหพัฒน์ มีสินค้าและธุรกิจอยู่มากมาย มีการแบ่งประเภทและหน้าที่ของธุรกิจแต่ละอย่างออกมาอย่างชัดเจน แล้วให้ลูก ๆ ที่มีความสามารถขึ้นมาดูแล อย่างบุณยสิทธิ์ ลูกคนโตดูแลด้านการผลิตของกลุ่มสินค้าทุกประเภทในเครือ ขณะเดียวกันก็ดูแลด้านนโยบายการลงทุนของกลุ่มด้วย บุญชัยดูแลสายงานด้านตลาดของกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภค บุญเกียรติ ดูแลสายงานกลุ่มสินค้าในเครือ ICC และณรงค์ดูแลด้านกลุ่มสินค้ารองเท้า" นักการตลาดชื่อดังเล่าให้ฟัง
การที่ลูก ๆ ของนายห้างเทียมขึ้นมาแบกรับภารกิจสืบต่อจากนายห้างได้อย่างราบรื่น โดยไม่มีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกันภายในองค์กร นับว่าเป็นความโชคดีอีกประการหนึ่งของนายห้าง เพราะโดยธรรมชาติของธุรกิจครอบครัวในสังคมตะวันออกอย่างเมืองไทย มักจะมีความโน้มเอียงนำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้งกันในเชิงผลประโยชน์กันระหว่างลูก ๆ ได้ง่าย เมื่อธุรกิจของครอบครัวพัฒนามาถึงจุด ๆ หนึ่ง ซึ่งความโน้มเอียงที่อาจจะเกิดขึ้นนี้ ดร. ทนง ลำใย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการแบงก์ทหารไทยได้ตั้งข้อสังเกตให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า "เป็นเพราะธุรกิจครอบครัวในสังคมไทย มักทำครอบครัวให้เป็นบริษัท"
ความโชคดีของนายห้างเทียมในลักษณะนี้กล่าวสำหรับในแวดวงธุรกิจครอบครัวที่มีการสืบเนื่องธุรกิจสู่ชนรุ่นลูก ๆ แล้ว ก็มีอยู่หลายครอบครัวทีเดียวที่โชคดีเหมือนนายห้างเทียมเช่น ตระกูลจิราธิวัฒน์ แห่งกลุ่มเซ็นทรัล...
สัมฤทธิ์ ลูกชายคนโตของเจ็งนี่เตียง กล่าวกันว่า เขามีความสามารถสูงในการบริหารธุรกิจภายในครอบครัวให้อยู่ในสภาพที่พี่-น้อง ต่างให้ความเคารพเชื่อถือ สามารถทำงานให้ครอบครัวได้อย่างปกติสุข ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง สัมฤทธิ์ เป็นชนรุ่นลูกรุ่นสอง ที่สืบทอดหน้าที่ทางธุรกิจต่อจากบิดาได้อย่างลงตัว และยังสามารถเป็นเสาหลักให้กับน้อง ๆ และลูกหลาน ในชนรุ่นสามได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ธุรกิจของเซ็นทรัล มีหัวใจอยู่ที่การค้าปลีก ซึ่งเป็นรากฐานของครอบครัวมาตั้งแต่รุ่นพ่อ แม้ว่าต่อมาในช่วงหลังวิกฤติน้ำมันแพงและการเปลี่ยนแปลงสังคมเมื่อปี 2516 เป็นต้นมา จนกระทั่งทุกวันนี้ เซ็นทรัลจะขยายธุรกิจเข้าสู่อุตสาหกรรมการผลิตบางสาขาเช่นเสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้าและอาหารแล้วก็ตาม แต่ธุรกิจส่วนนี้ก็อาศัยตลาดภายในที่มีช่องทางการจัดจำหน่ายโดยอาศัยเครือข่ายห้างสรรพสินค้า 6 แห่งของตัวเองอยู่แล้ว จะมีส่งออกบ้างในปริมาณที่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ
อย่างไรก็ดี ในประวัติศาสตร์เซ็นทรัล หลังยุคเจ็งนี่เตียง กลุ่มชนรุ่นที่สองที่รับภารกิจดำเนินธุรกิจต่อ เคยประสบมรสุมอย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งแรกหลังเจ็งนี่เตียงเสียชีวิตไปใหม่ ๆ และทิ้งหนี้สินหมุนเวียนจำนวนหนึ่ง สัมฤทธิ์ สุทธิพร และวันชัย สามารถเจรจากับแบงก์เจ้าหนี้ให้การช่วยเหลือด้วยวิธีการผ่อนปรนการชำระหนี้และอัดฉีดเงินเข้ามาจำนวนหนึ่ง ซึ่งถือกันว่า การแก้วิกฤติการณ์ทางการเงินด้วยเงื่อนไขที่ดีเยี่ยมนี้ เป็นการพิสูจน์ความสามารถของชนรุ่นลูกที่สองได้เป็นอย่างดี
อีกครั้งหนึ่ง เกิดขึ้นในช่วงการขยายกิจการที่ลาดพร้าว ลาดหญ้า และวังบูรพา ท่ามกลางวิกฤติการณ์เศรษฐกิจที่ชะงักงัน ดอกเบี้ยแพง และการลดค่าเงินบาท ปี 2524 และ 2528 ช่วงเวลานั้น เซ็นทรัลกำลังขยายธุรกิจสู่โครงการศูนย์การค้าใหญ่ที่ลาดพร้าว ขยายห้างสรรพสินค้าที่ลาดหญ้าและวังบูรพา (2)
แต่สัมฤทธิ์และน้องชายก็สามารถต้านวิกฤติได้ โดยโครงการไม่ชะงักงัน เหตุผลเพราะ หนึ่ง - หัวใจของธุรกิจกลุ่มเซ็นทรัล อยู่ที่การค้าปลีกที่มีการหมุนเวียนของเงินสดปริมาณมากและรวดเร็ว จึงสามารถประคับประคองความสามารถในการคืนหนี้สิน สอง-มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้ลอยตัวตามตลาดโดยหันมาใช้ระบบ MULTI CURRENCY ในพอร์ตเงินกู้ได้ทันเวลา จุดนี้กล่าวกันว่า เป็นการพิสูจน์ความสามารถของชนรุ่นลูกที่สองอย่างสุทธิชัยได้อย่างดีว่า เขามีความรู้ความสามารถในการบริหารเงินให้กับครอบครัว จากหนักให้เป็นเบาได้
ในชนรุ่นลูกที่สองของครอบครัว "จิราธิวัฒน์" ในการสืบทอดภารกิจทางธุรกิจ มีการแบ่งแยกหน้าที่กันชัดเจน -สัมฤทธิ์ พี่ใหญ่ คุมด้านนโยบายของกลุ่ม กำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวไปข้างหน้าของธุรกิจ วันชัยพี่รองสันทัดในการติดต่อสร้างความสัมพันธ์กับคนภายนอก เป็นผู้มีหน้าที่คุมด้านบริหาร หรืออีกนัยหนึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการกลุ่มเซ็นทรัล สุทธิพร "พี่สาม" สุขภาพไม่ค่อยดีนัก บทบาทน้อยกว่าพี่ชาย 2 คนแรก เขาดูแลสาขาลาดหญ้า สุทธิชัยจบวิศวกรรมจากอังกฤษ เขาเป็นผู้มีบทบาทอยู่เบื้องหลังงานด้านเทคนิคบริหารทุนให้ครอบครัวมาตลอด ความรู้พื้นฐานของสุทธิชัยก็เหมือนกับสุทธิเกียรติ แต่สุทธิเกียรติเป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์สูง เขาได้รับหน้าที่เป็น EXTERNAL AFFAIR MANAGER ให้กับธุรกิจของครอบครัวมาตลอด พร้อม ๆ กับงานด้านวางแผนตลาด
วงการธุรกิจครอบครัวยอมรับว่า กลุ่มเซ็นทรัลเป็นตัวแบบของธุรกิจครอบครัวที่มีการผสมผสานกันอย่างกลมกลืนกับธุรกิจที่มีการบริหารแบบองค์กรมืออาชีพ
ส่วนความเป็นครอบครัว ก็คือ คีย์แมนผู้บริหารทุกจุดในบริษัทเป็นคนเดียวกับผู้ถือหุ้น และ ผู้บริหารทุกคน แม้จะ MATURE แต่ก็มีความรู้สึกเกรงอกเกรงใจสูงต่อผู้นำครอบครัวที่เป็นพี่ชาย - สัมฤทธิ์ นอกจากนี้ในส่วนผู้บริหารระดับกลางลงมาก็นำญาติพี่น้องเข้ามาดำเนินการ ซึ่งทั้งหมดที่อยู่ภายใต้ตระกูล "จิราธิวัฒน์" แล้วทุกคนต้องอยู่ภายใต้วัฒนธรรมอันเดียวกัน คือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และการยอมรับในระบบอาวุโส มองในแง่นี้สอดคล้องกับความเห็นของพิษณุ จงสถิตย์วัฒนา กรรมการ ผู้จัดการบริษัท AA FOOTWEAR ที่บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า "อาจเป็นเพราะกลุ่มเซ็นทรัลมีลูกหลานอยู่จำนวนมาก 40-50 คน ซึ่งถือว่าเป็นครอบครัวใหญ่ การสร้างความเป็นปึกแผ่นด้วยกรอบทางวัฒนธรรมของครอบครัว จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้การรับช่วงด้านธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่น"
ขณะเดียวกันความเป็นมืออาชีพของคนใน "จิราธิวัฒน์" ในการบริหารธุรกิจค้าปลีกก็สะท้อนออกมาให้เห็นชัดเจนในการบริหารงานตลาดและการเงินในช่วงการต้านวิกฤติการเงินปี 2524 และ 2528 ทั้ง ๆ ที่ในช่วงวิกฤติเวลานั้น กล่าวกันว่าในวงการธุรกิจค้าปลีกไม่มีธุรกิจรายใดกล้าขยายงานและลงทุนอย่างต่อเนื่อง แต่กลุ่มเซ็นทรัลขยายงานไม่หยุด
ซึ่งผลของมันประการหนึ่งทำให้ OUTLET OF DISTRIBUTION สินค้าของห้างเซ็นทรัลมีจำนวนมากที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มธุรกิจค้าปลีกด้วยกัน และทำให้มีอำนาจต่อรองด้านเครดิตในการจัดซื้อสินค้าจาก SUPPLIER สูงกว่าคู่แข่งขัน
"เซ็นทรัลเป็นจุดขายที่ดีที่สุด ที่ SUPPLIER ไม่ว่าเล็กใหญ่ยังต้องพึ่งพาอาศัยอยู่" SUPPLIER สินค้าอุปโภค - บริโภครายหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าการบริหารงานตลาดของคนใน "จิราธิวัฒน์" มีประสิทธิภาพสูง
อีกประการหนึ่งคนใน "จิราธิวัฒน์" อยู่ในธุรกิจค้าปลีกมานานและก่อนคนอื่น ความชำนาญบวกกับความเป็นคนกล้าเสี่ยงอย่างมีหลักการของชนรุ่น II อย่างสัมฤทธิ์ วันชัย และสุทธิชัย ทำให้ระบบการจัดการที่แม้จะเต็มไปด้วยคนในตระกูลยึดครองอยู่มากกว่าคนภายนอกก็ตามก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของธุรกิจ
"ชนรุ่นลูก ๆ ของคุณสัมฤทธิ์และน้องชาย แต่ละคนเรียนมาสูง ๆ ทั้งนั้น พวกนี้ถือเป็น GENERATION ที่ III ที่มีวิจารณญาณสูงและสามารถผสมกลมกลืนสไตล์การทำงานเข้ากับรุ่น II ได้เหมาะบวกกับพวกนี้ถูกหล่อหลอมอย่างเข้มข้นในวัฒนธรรมของครอบครัวที่เน้นความเป็นปึกแผ่นและระบบอาวุโส ปัญหาการแตกร้าวในสไตล์การทำงาน และผลประโยชน์ในหน้าที่การงาน จึงไม่ปรากฏให้เห็นเหมือนธุรกิจครอบครัวบางแห่ง" แหล่งข่าวรายเดิมกล่าว
ตัวอย่างการสืบทอดธุรกิจครอบครัวจากชนรุ่นพ่อสู่ลูกหลานใน GENERATION II และ III ของกลุ่มสหพัฒน์และเซ็นทรัลที่หยิบยกขึ้นมานี้ นับว่าเป็นความโชคดีเอามาก ๆ ของนายห้างเทียมและเจ็ง นี่เตียง ที่สายสัมพันธ์ทางธุรกิจในครอบครัวของบุคคลทั้ง 2 สามารถยืนยาวให้ลูกหลานรับทอดต่อกันได้อย่างมั่นคงและเติบใหญ่มาทุกวันนี้
ทั้ง ๆ ที่ว่าไปแล้ว ประวัติศาสตร์ธุรกิจครอบครัวไทยจะมีน้อยรายเหลือเกินที่ยืนยาวอยู่ได้ทุกวันนี้ เหมือนดังที่ ดร. สมบูรณ์ ศรีสุพรรณดิษฐ์ แห่ง NIDA เคยทำวิจัยธุรกิจครอบครัวไทยและได้เปิดเผยว่า
"90% ของธุรกิจครอบครัวที่สร้างหลักปักฐานของชนรุ่นบุกเบิกส่วนใหญ่ล้มหายตายจากไปก่อน จะมีเหลือเพียง 10% เท่านั้น ที่ยังดำรงอยู่สู่ชนรุ่นลูก และในจำนวนนี้จะมีเพียง 1% เท่านั้นที่ยังสามารถเติบใหญ่ได้ต่อไป"
ซึ่งว่ากันตามข้อมูลนี้ ความเป็นจริงที่เห็นกันอยู่ในระบบธุรกิจไทยทุกวันนี้ก็มีธุรกิจของนายห้างเทียมและเจ็งนี่เตียงรวมอยู่ด้วย!
นอกจากนี้แล้วยังมีธุรกิจของอีกหลายครอบครัวที่เติบใหญ่และยืนยงคงกระพันมาได้เหมือนนายห้างเทียมและเจ็งนี่เตียง อาทิ ศรีเฟื่องฟุ้ง จงสถิตย์วัฒนา เจียรวนนท์ บุลสุข ภิรมย์ภักดี เลี่ยวไพรัตน์ โอสถานุเคราะห์ และพรประภา เป็นต้น
แต่ธุรกิจครอบครัวที่โชคร้ายล้มหายตายจากไปก็มีให้เห็นอยู่ดาดดื่นในวงการธุรกิจไทย กรณีตระกูล "วังพัฒนมงคล" ผู้ผลิตซอสพริกยี่ห้อโรซ่าที่เก่าแก่ เป็นตัวอย่างธุรกิจครอบครัวร่วมสมัยที่ต้องล้มหายตายจากไปที่เด่นชัดที่สุด
ว่ากันไปแล้วซอสพริกและมะเขือเทศโรซ่าของตระกูล "วังพัฒนมงคล" เป็นผู้มาก่อนยี่ห้อในตลาด และประสบความสำเร็จในการดำเนินการตลาดที่ดีเยี่ยม ชนรุ่นพ่อของตระกูลอย่างเป็งเอี่ยง แซ่เฮง กับ ตางิ้ม แซ่ตั้ง สองคนตายายร่วมกันบุกเบิกผลิตและขายจากธุรกิจขนาดเล็กในครัวเรือน เมื่อตัวเองแก่เฒ่าลง ชนรุ่นลูกอย่างประพันธ์ วังพัฒนมงคล ลูกชายคนโต ประมิตร และสุวรรณีก็เข้ามาแบกรับธุรกิจต่อจากพ่อและแม่ ในช่วงปี 2516 เป็นต้นมา
ลูกทั้ง 3 คนของเป็งเอี้ยงสร้างซอสมะเขือเทศ และซอสพริกโรซ่าในนามบริษัท โรซ่าผลิตภัณฑ์ อาหาร (ไทย) ที่จัดตั้งขึ้นในปี 2516 ดังระเบิดไปทั่วตลาด จนเป็นที่อิจฉาแก่ผู้ผลิตรายอื่นที่เป็นคู่แข่งขัน
ประพันธ์ พี่ชายใหญ่ คุมด้านการเงิน ขณะที่ประมิตรและสุวรรณีคุมด้านการตลาดและส่งเสริมการขาย ตลอดจนถึงบริหารภายใน 3 คนพี่น้องเป็นแกนกลางในการผลักดันให้ธุรกิจของครอบครัวที่ ชนรุ่นพ่อสร้างมากับมืออย่างห้าวหาญ
แต่แล้วในที่สุด ในเพียงแค่ชนรุ่น II นี้เองธุรกิจครอบครัวของ "วังพัฒนมงคล" แห่งนี้ก็จบสิ้น ลงอย่างไม่น่าจะเป็นไปได้
"ตัวธุรกิจมันดี มีอนาคต พี่น้องไม่น่าจะต้องมาทะเลาะกันเลย เรื่องปัญหาในการบริหารน่าจะ พูดคุยกันเองได้" ประกิต ประทีปะเสน คนโต แบงก์ไทยพาณิชย์ เจ้าหนี้รายใหญ่ของโรซ่าเคยคุยกับ "ผู้จัดการ"
ก็อย่างว่า เรื่องภายในครอบครัวดูกันผิวเผินปัญหาต่าง ๆ ที่ไม่ลงรอยกัน น่าจะแก้ไขกันได้ด้วยการนั่งพูดคุยกันแบบเกรงอกเกรงใจกัน เรื่องก็คงจะเรียบร้อย
แต่อาจเป็นเพราะคนอย่างประพันธ์ที่เป็นพี่ชายคนโตเป็นคนดื้อรั้น เข้าทำนอง "มนุษย์เป็นสัตว์โลกชนิดเดียวที่ยอมตายเพราะความเชื่อของตน" ก็ได้ จึงไม่ยอมฟังความเห็นของใคร และสิ่งนี้ก็นำไป สู่ความขัดแย้งกับน้อง ๆ อยู่เสมอ
กล่าวกันว่า สาเหตุที่ธุรกิจครอบครัวของ "วังพัฒนมงคล" ต้องล้มลงในชนรุ่น II นี้ก็มาจากประพันธ์พี่ใหญ่ที่คุมการเงินบริหารงานผิดพลาด
"มีการใช้จ่ายเงินด้านโฆษณาส่งเสริมการขายกันมากมาย และรั่วไหล ซึ่งแสดงว่าประพันธ์บริหารการเงินหละหลวม" แหล่งข่าวในวงการคอนซูเมอร์รายหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"
ประกิต ประทีปะเสน เคยบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า หนี้สินของธุรกิจครอบครัวรายนี้ที่มีต่อแบงก์ไทยพาณิชย์ประมาณ 100 กว่าล้านบาท แต่ประพันธ์ก็ไม่สามารถเคลียร์ได้อย่างสมัยก่อน
ในที่สุด ธุรกิจของครอบครัวนี้ก็ต้องหลุดลอยไปเมื่อประกิต (เจ้าหนี้) จัดการโอนขายทรัพย์สินทั้งหมดไปให้กลุ่มโอสถานุเคราะห์ดำเนินการแทน
ความล้มเหลวของธุรกิจครอบครัว กรณี "วังพัฒนมงคล" เป็นตัวอย่างหนึ่งในหลายตัวอย่างที่เกิดขึ้นในธุรกิจครอบครัวไทยที่เป็นเหตุผลเชิงตรรกะอันหนึ่งที่บอกว่า ระบบธุรกิจครอบครัวนั้น ถ้าลูก ๆ ไม่สามารถปรองดองกันได้อย่างเป็นปึกแผ่น ย่อมทำให้การบริหารงานเละเทะ และธุรกิจย่อมถึงกาลแตกดับอย่างรวดเร็ว
กรณีนี้ก็คล้ายคลึงกับกรณีธานินทร์อุตสาหกรรมของตระกูล "วิทยะสิรินันท์" เช่นกัน
20-30 ปีก่อนชื่อเสียงของธานินทร์ ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านโด่งดังขนาดไหนทุกคนทราบดี
อุดม เอนก และอนันต์ วิทยะสิรินันท์ พี่น้อง 3 คน เป็น 3 แรงแข็งขันที่ช่วยกันสร้างธานินทร์ อุตสาหกรรมจากร้านขายวิทยุเล็ก ๆ "นภาวิทยุ" เมื่อหลังสงครามโลกยุติได้เพียงปีเดียว
ด้วยความเป็นคนช่างคิดชอบทดลองเรื่องวิทยุของอุดม ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเล่าเรียนด้านอิเล็กทรอนิกส์มาก่อน "เขาจบแค่อัสสัมชัญพาณิชย์เท่านั้น" แหล่งข่าวใกล้ชิดเล่าให้ฟัง แต่ด้วยความขวนขวายบวกกับใจรักด้านวิทยุ อุดมศึกษาด้วยตนเองจากตำรับตำรา แล้วในที่สุดอุดมก็ประกอบวิทยุ เองได้
ยี่ห้อ "ซิลเวอร์" เป็นยี่ห้อแรกที่อุดมและน้อง ๆ ร่วมกันทำกันอย่างจริงจัง ปรากฏว่าขายระเบิดไปเลย ด้วยความมุ่งมั่นต่อความสำเร็จ ช่วงต้นปี 2505 พี่น้องตระกูล "วิทยะสิรินันท์" ก็ร่วมกันจัดตั้งบริษัทธานินทร์อุตสาหกรรมขึ้นด้วยทุนกันเอง 3 ล้านบาท เพื่อผลิตและจำหน่ายวิทยุที่ผลิตจากฝีมือคนไทย ยี่ห้อ "ธานินทร์" เพราะต้องการโชว์ให้คนไทยได้ทราบว่า บัดนี้คนไทยทำวิทยุเองได้)
ในสมัยนั้นวิทยุที่ใช้กันในบ้านเราเป็นวิทยุหลอดที่มีรูปร่างเทอะทะใหญ่โตและมีราคาแพง ทั้งหมดต้องสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ และกล่าวกันว่า คนในเมืองที่มีฐานะดีเท่านั้นจะหาซื้อมาได้ ขณะที่ คนบ้านนอกคอกนาไม่มีเงินพอที่จะหาซื้อได้เลย
อุดมและน้อง ๆ จับจุดช่องว่างตลาดตรงนี้ได้ถูกต้อง พวกเขาทำวิทยุหลอดขนาดเล็กกะทัดรัดโดยเร่งความถี่ในการรับคลื่น A.M. ให้สูง ทำให้วิทยุ "ธานินทร์" รับคลื่น A.M. ได้ชัดเจน แม้จะอยู่พื้นที่ห่างไกลในชนบท
แน่นอนจุดแข็งสินค้าของธานินทร์สมัยนั้นอยู่ตรงนี้ แถมผลิตเองจึงมีราคาต่ำกว่าวิทยุของนอก คนบ้านนอกคอกนาจึงมีปัญญาหาซื้อกันได้
อนันต์ น้องชายเป็นนักการตลาดชั้นดี เขาใช้กลยุทธ์บุกถึงตัวลูกค้าบ้านนอก โดยการใช้หน่วยรถออกตระเวนไปทั่วประเทศ พร้อมเปิดการขายระบบเงินผ่อนด้วย
การสร้างหลักปักฐานธุรกิจครอบครัวจากการประกอบและจำหน่ายวิทยุของตระกูล "วิทยะสิรินันท์" ในเวลานั้นเป็นที่อิจฉาแก่บรรดาเอเยนต์วิทยุของต่างประเทศกันเป็นแถว
แต่ทำไงได้เมื่อโชคชะตาของอุดมและน้อง ๆ ได้ก้าวไปไกลเกินกว่าจะฉุดรั้งได้เสียแล้ว ธุรกิจครอบครัวของอุดมและน้อง ๆ ขยายฐานออกไปไม่หยุดยั้งจากวิทยุไปสู่ทีวี พัดลม ตู้เย็น และหม้อหุงข้าว ทุกชนิดที่เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านจะมีธานินทร์อุตสาหกรรมของอุดมและน้อง ๆ ประกอบและขายเองหมดและสามารถแข่งขันกับคู่แข่งจากต่างประเทศได้อย่างน่าพิศวง
แต่แล้วในที่สุดเมื่อธุรกิจครอบครัวเติบโตถึงจุด ๆ หนึ่ง ความแตกร้าวในวิธีการบริหารของคนในตระกูลก็เริ่มปรากฎและนำไปสู่ความทรุดโทรมของธุรกิจในเวลาต่อมา เมื่อสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคมภายนอกได้โหมกระหน่ำลงมาอย่างไม่มีปี่ไม่มีขลุ่ย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจครอบครัวโดยเนื้อแท้แล้ว ไม่มีความยืดหยุ่นพอต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเงิน อุดมและน้อง ๆ ก็เช่นกัน พวกเขาได้ลงทุนลงแรงกันมาหลายปี ผลกำไรที่ได้แต่ละครั้งถูกจัดสรรแก่คนในตระกูลเกือบหมดสร้างความร่ำรวยแก่สมาชิกในครอบครัวไปตาม ๆ กัน
และเมื่อน้อง ๆ แต่ละคนมีอาณาจักรครอบครัวขึ้นต่างก็แสวงหาทางออกไปเป็นใหญ่ในธุรกิจของตนเอง เอนกแฝดผู้น้องอุดมซึ่งรับผิดชอบบริหารโรงงานธานินทร์ฯ แตกตัวไปสร้างบริษัทไมโครเทคและให้ลูกสาววารุณี วิทยะสิรินันท์ ดูแล บริษัทของเอนกแห่งนี้สร้างขึ้นมาเพื่อหวังผลิต FERRITE DEVICES และ MICROWAVE COMPONENTS
นอกจากนี้ยังได้สร้างบริษัท BP-THAI SOLAR CORP, LTD. เพื่อผลิตแผงเซลแสงอาทิตย์และบริษัท MMP PACKAGING GROUP. LTD. เพื่อผลิตฟิล์มถนอมอาหาร โดยให้คุณหญิงวรรณี วิทยะสิรินันท์ ภรรยาเป็นผู้ดูแล ซึ่งคุณหญิงวรรณีนี้ยังมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลฝ่ายตลาดต่างประเทศของธานินทร์
วิกฤติการณ์ของธานินทร์ฯ เริ่มปรากฏชัดในปี 2524-25 เมื่อสต็อกทีวีขาว-ดำ ที่คุณหญิงวรรณี บุกทำตลาดต่างประเทศใน EEC และจีนมาได้อย่างรุ่งโรจน์ก่อนหน้านั้นเพียง 2 ปีต้องล้นเกิน เนื่องจากตลาด EEC ของธานินทร์ถูกเกาหลีและไต้หวัน DUMPING ทีวีขาว-ดำ อย่างรุนแรง พร้อม ๆ กับ EEC ใช้มาตรการกีดกันการนำเข้าจากประเทศผู้ผลิตในเอเซีย
ในจีนก็เช่นกัน หลังจากทีวีขาว-ดำ ธานินทร์ ที่คุณหญิงวรรณีบุกเบิกไปก่อนอย่างครึกโครม ปรากฏว่าหลังจากนั้นฮิตาชิจากญี่ปุ่นได้เข้าไปตั้งโรงงานในจีน โดยใช้ LOCAL CONTENT 80% เหตุการณ์ที่ผันแปรเช่นนี้ ทำให้สินค้าทีวีขาวดำของธานินทร์ต้องล่าถอยออกจากตลาดนี้อย่างสิ้นเชิง
กล่าวกันว่าทั้ง 2 ตลาดนี้ทำให้ธานินทร์เหลือสต็อกสินค้าทีวีขาวดำบานเบอะ ซึ่งสะท้อนให้เห็นการขาดการวางแผนประสานงานตลาดกับฝ่ายผลิตที่ดีเพียงพอ
ทั้ง ๆ ที่ผู้รับผิดชอบฝ่ายผลิตคือ เอนก สามีของคุณหญิงวรรณีผู้รับผิดชอบตลาดต่างประเทศนั่นเอง!
เมื่อมีสต็อกเหลือมาก หนี้สินจากดอกเบี้ยที่กลุ่มธานินทร์ไปกู้หนี้ยืมสินจากแบงก์ในการขยายกิจการก็เริ่มมีปัญหา
สาเหตุเพราะ หนึ่ง- ธุรกิจครอบครัวของ "วิทยะสิรินันท์" ใช้ฐานเงินทุนจากการกู้ยืมมากกว่าทุนส่วนตัวในการบริหารกิจการ ซึ่งนับว่าเสี่ยงอันตรายมาก สอง- การวางแผนการผลิตไม่ประสานกับการขายได้ดีเพียงพอ ซึ่งสะท้อนว่าการบริหารของคนในตระกูลไม่มีประสิทธิภาพสูงเพียงพอต่อความยืดหยุ่นของตลาดที่ผันแปรอย่างฉับพลัน และสาม- ตลาดภายในประเทศทรุดต่ำลงอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2526-2529 โดยเฉพาะอย่างยิ่งอำนาจซื้อของคนในชนบทซึ่งเป็นตลาดหลักของกลุ่มธานินทร์ รายได้ พืชผลเกษตร มีราคาตกต่ำลงมาก อันเป็นสืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก
ปัจจัยวิกฤตการณ์ทั้งที่เกิดจากการบริหารภายในองค์กรและการโหมกระหน่ำของภาวะตลาดตกต่ำ จึงเป็นปัจจัยที่กดดันให้ธุรกิจครอบครัวของ "วิทยะสิรินันท์" ที่ชนรุ่นหนึ่งอย่างอุดมและน้อง ๆ สร้างหลักปักฐานมาเกือบ 30 ปี ต้องแตกดับลงในท้ายที่สุด
ซึ่งบัดนี้ธุรกิจครอบครัวของ "วิทยะสิรินันท์" ได้ถูก TAKE OVER (ชั่วคราว) ทั้งด้านทุนและการบริหารจากเจ้าหนี้แบงก์เรียบร้อยแล้ว
ตัวอย่างความล้มเหลวของธุรกิจครอบครัว "วังพัฒนมงคล" และ "วิทยะสิรินันท์" นี้เป็นประจักษ์พยานที่ดีของระบบธุรกิจครอบครัวในบ้านเรา ที่อยู่ภายใต้การใช้ความเป็นปึกแผ่นและความหย่อนยาน ในประสิทธิภาพการบริหารของบรรดาญาติ -พี่น้องในครอบครัวว่าในท้ายที่สุดแล้ว ก็ต้องล่มสลายไปท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจสังคมที่ผันแปรไปอย่างรวดเร็ว
การปรับตัว ความเป็นเจ้าของทุน
ระบบธุรกิจครอบครัวไทยมักแยกไม่ออกความเป็นเจ้าของทุนกับอำนาจการบริหาร เนื่องจากการกระจุกตัวของทุนในการสร้างหลักปักฐานธุรกิจในชนรุ่นบุกเบิกจะอยู่ในกลุ่มญาติพี่น้องและคนในครอบครัวเป็นส่วนใหญ่
ในชนรุ่นบุกเบิก (GENERATION I) ความเป็นเจ้าของทุนแทบจะไม่กระจายสู่คนภายนอกเลย ซึ่งลักษณะเช่นนั้นเป็นวิวัฒนาการตามธรรมชาติของการเริ่มต้นทางธุรกิจทุกครอบครัวทั่วโลก
การปรับเปลี่ยนในประเด็นนี้จะเริ่มขึ้นในชนรุ่น II ที่คนภายนอกเริ่มเข้ามามีบทบาทร่วมทุนมากขึ้น แต่ก็ยังมีสัดส่วนไม่มากนัก เหตุเพราะหนึ่ง -ตลาดทุน (หลักทรัพย์) เริ่มปรากฏขึ้นและเริ่มเป็นช่องทางให้ชนรุ่น II ที่บริหารธุรกิจอยู่รู้จักใช้เป็นฐานในการระดมเงินทุนในการลงหลักปักฐานธุรกิจมากขึ้น ขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้คนภายนอกเข้ามามีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของธุรกิจมากขึ้น
ในประเด็นนี้จะเห็นได้ชัดจากตัวอย่างธุรกิจครอบครัวของ "ศรีเฟื่องฟุ้ง" ที่ทำธุรกิจผลิตกระจกในนามบริษัทกระจกไทย - อาซาฮี ได้นำหุ้นของบริษัทบางส่วนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือในกรณีธุรกิจของกลุ่มสหพัฒน์ที่นำบริษัทในเครือหลายบริษัทเข้าตลาดฯ เช่น บ. นิวซิตี้ บ. อินเตอร์เนชั่นแนลคอสเมติกส์ บ. สหพัฒน์ บ. สหพัฒนพิบูล บ. สหพัฒนา อินเตอร์ โฮลดิ้ง บริษัทอินเตอร์ฟาร์อีสวิศวการ บ. บางกอกรับเบอร์ และบริษัทไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม การกระจายหุ้นสู่คนภายนอกของธุรกิจครอบครัวโดยอาศัยกลไกตลาดหลักทรัพย์ก็ยังมีสัดส่วนไม่มากนัก ส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มญาติพี่น้องเหมือนที่ชนรุ่นบุกเบิกกระทำมาก่อน ดังดูได้จากตัวอย่างกลุ่มโอสถานุเคราะห์ จิราธิวัฒน์ เลี่ยวไพรัตน์ พรประภา ภิรมย์ภักดี เป็นต้น
อีกประการหนึ่งธุรกิจที่ชนรุ่นบุกเบิกได้สร้างหลักปักฐานเริ่มขยายตัวในบางกรณีที่ครอบครัวมีสมาชิกไม่มาก ขนาดครอบครัวเล็ก ชนรุ่น II ที่รับภาระธุรกิจต่อต้องกระจายหุ้นบางส่วนแก่คนภายนอกด้านหนึ่งเพื่อกระจายความเสี่ยงและอีกด้านหนึ่งเพื่อใช้เป็น INCENTIVE แก่คนภายนอกที่มีฝีมือได้เข้ามาบริหารงานอย่างเต็มเวลา ในแง่นี้มีตัวอย่างในธุรกิจกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์และสหยูเนี่ยน
จุดการปรับตัวในการกระจายทุนสู่คนภายนอกมากขึ้นของชนรุ่น II ของระบบธุรกิจครอบครัวไทยนี้ นับว่าเป็นความใจกว้าง เหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งน่าจะมากความรู้สึกนึกคิดในการบริหารธุรกิจแบบตะวันตกที่ไปเล่าเรียนมาจากต่างประเทศ และชนรุ่น II อยู่ในยุคสมัยของสังคมเปิดมากกว่าชนรุ่น I
แต่การกระจายทุนสู่มหาชนอย่างแท้จริง (แม้จะมีตลาดหลักทรัพย์ก็ตาม) นั้นยังอยู่อีกไกล เพราะข้อจำกัดทางวัฒนธรรมของสังคมในบ้านเรายังเห็นคนในครอบครัวดีกว่าคนข้างนอกเสมอ เนื่องจาก
"ธุรกิจครอบครัวไทยเน้นความสำคัญด้านความซื่อสัตย์มากกว่าความสามารถในการทำงาน" แหล่งข่าวระดับสูงในบริษัทที่ปรึกษาการจัดการรายหนึ่งสรุปให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
อย่างไรก็ตาม ความสำคัญของธุรกิจครอบครัวในระบบธุรกิจไทยว่าไปแล้วมีอยู่สูงมาก สอดคล้องกับ ดร. สมบูรณ์ ศรีสุพรรณดิษฐ์ จาก NIDA กล่าวว่า "ระบบธุรกิจไทยประมาณ 95% เป็นธุรกิจครอบครัว" นอกจากนี้จากการอนุมานกลุ่มธุรกิจครอบครัวประมาณ 22 กลุ่ม (ดูตารางประกอบ) ที่คำนวณมูลค่าสินทรัพย์ตามราคาทางบัญชีปี 2521-2522 ปรากฏว่ามีมูลค่าสินทรัพย์ประมาณเกือบ 60,000 ล้านบาท
ทุกวันนี้มูลค่าสินทรัพย์ดังกล่าวต้องเพิ่มขึ้นอย่างมากตามการขยายตัวของธุรกิจ ! แต่น่าเสียดายที่ยังไม่มีหน่วยงานไหนทำการคำนวณมูลค่าสินทรัพย์ของระบบธุรกิจทั้งหมดว่ามีมูลค่าเท่าไหร่? จึงไม่อาจเปรียบเทียบได้ว่าธุรกิจครอบครัวมีความสำคัญต่อระบบธุรกิจที่วัดจากมูลค่าสินทรัพย์แค่ไหน? แล้วธุรกิจครอบครัวที่อยู่ในช่วงชนรุ่น I และ II ผสมผสานกันอยู่เวลานี้จะมีทิศทางไปทางไหนในอนาคต? และจะดำรงอยู่ต่อไปได้ในรูปแบบใด?
ทั้งหมดนี้เป็นคำถามร่วมสมัยของธุรกิจไทย
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|