แสง อุดมจารุมณี เรียกเขาว่า "MR. RUBBER THAILAND"


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

ไม่มีใครในวงการยางพาราไม่รู้จัก แสง อุดมจารุมณี

ไม่ว่าใครผู้นั้นจะอยู่ในแวดวงตลาดยางภายในประเทศหรือกว้างออกไประดับโลก

แสง อุดมจารุมณี หรือในชื่อเดิม LEE SAENG HO เกิดที่อะลอสตาร์ (ประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน) เมื่อราว ๆ 50 ปีที่แล้ว แสงเป็นลูกชายคนเดียวของพ่อค้าชาวจีนฮกเกี้ยนซึ่งอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งปลายแหลมมลายูเมื่อกว่า 80 ปีที่แล้ว พ่อของเขาเปิดร้านขายสินค้าโชวห่วยเล็ก ๆ ขึ้น แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนักส่วนแม่ของเขาเป็นคนฮกเกี้ยนที่เกิดในมาลายา

เมื่ออายุ 10 ขวบ พ่อเสียชีวิตลงด้วยโรคไส้ติ่งอักเสบอย่างรุนแรง ตอนนั้นพ่ออายุเพิ่งจะ 40 "แม่ผมเพิ่งจะตั้งท้องลูกสาวคนที่ห้า เงินทองเราก็มีอยู่นิดเดียวเราจำเป็นต้องย้ายที่อยู่ และเปิดร้านขายข้าวสารเล็ก ๆ แห่งหนึ่งขึ้น" แสงเล่า

แสงเรียนหนังสือในโรงเรียนจีนจนถึงชั้นมัธยมต้น และด้วยความช่วยเหลือของญาติผู้หนึ่งเขาได้รับโอกาสเข้าเรียนต่อในโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษในอะลอสตาร์เมื่ออายุได้ 15 ปีจนอายุครบ 19

ต้นปี 2499 ขณะที่กำลังรอผลสอบ (ในที่สุดเขาได้รับ CAMBRIDGE SCHOOL CERTIFICATE) แสงได้งานเป็นครูในโรงเรียนแห่งหนึ่งที่ปะลิสในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกันนั้นเอง ลูกพี่ลูกน้องคนหนึ่งของเขาซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาของ "เต็กบีห้าง" ที่หาดใหญ่ก็ได้เรียกตัวเขาไปทำงานด้วย

ตั้งแต่นั้นมา แสงก็ไม่เคยเคลื่อนย้ายไปจากหาดใหญ่เลยและเขานี่แหละที่เป็นหนึ่งในจำนวนไม่ กี่คนที่ทำให้หาดใหญ่กลายเป็นศูนย์กลางการค้ายางของประเทศไทย

แสงเริ่มชีวิตการทำงานกับ "เต็กบีห้าง" ด้วยการเป็นพนักงานพิมพ์ดีดโต้ตอบจดหมายภาษาอังกฤษ แล้วค่อย ๆ เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปเรื่อย ๆ บนเส้นแห่งการไปสู่ความเป็น "มิสเตอร์ รับเบอร์ไทยแลนด์"

ภาษาไทยของแสงไม่ค่อยจะดีนัก เขาพูดจีนและอังกฤษคล่องกว่ามาก

ก็คงจะไม่ผิดหรอก ถ้าจะบอกว่าภาษาต่างประเทศเป็นเสมือนทรัพย์สินประจำตัวที่มีค่ายิ่งยวดสำหรับเขา

ปี 2503 แสงเลื่อนตำแหน่งขึ้นเป็นแคชเชียร์ประจำสำนักงานใหญ่ของ "เต็กบีห้าง" ที่หาดใหญ่ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของผู้จัดการฝ่ายการตลาดควบคู่ไปด้วย ผู้จัดการฝ่ายการตลาดคนนี้เป็นคนสูงอายุและไม่สันทัดในการใช้ภาษาอังกฤษ "ผมก็เลยทำงานเองทุกอย่างตั้งแต่เรื่องชิปปิ้งไปจนถึงเรื่องการเงิน" เขาย้อนความทรงจำและย้ำว่า "ผมเริ่มสร้างคอนเน็คชั่นทั่วโลกของผมจากตรงนี้นี่แหละ"

ปี 2505 แสงแต่งงานกับลูกสาวคนจีนกวางตุ้งเกิดในกรุงเทพฯ ชื่อ สุธีสรรพ์ ทั้งคู่มีลูกชาย 2 หญิง 1 ลูกชายคนโตจบวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และเรียนคอมพิวเตอร์ต่ออีกระยะหนึ่งที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันลูกชายคนนี้ช่วยงานเขาทางด้านฝ่ายการตลาดและตั้งเป้าว่าปีหน้าจะส่งไปเรียนต่อปริญญาโทที่สหรัฐอเมริกา ลูกชายคนที่สองเป็นนักศึกษาแพทย์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ส่วนลูกสาวเรียนภาษาจีนและภาษาอังกฤษที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

ในปี 2507 "เต็กบีห้าง" มีการจัดองค์การปรับโครงสร้างใหม่ตามคำสั่งของสำนักงานใหญ่ที่ สิงคโปร์ จากนั้นในปีต่อมาแสงก็ถูกส่งตัวไปเข้ารับการฝึกอบรมที่สิงคโปร์เป็นเวลาหนึ่งเดือน ตำแหน่งหน้าที่ของเขายังคงเหมือนเดิมคือผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาดและควบตำแหน่งแคชเชียร์ อย่างไรก็ตามขอบเขตอำนาจความรับผิดชอบของเขากลับเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ

ล่วงเข้าปี 2515 "เต็กบีห้าง" ซึ่งเคยผลิตแต่เฉพาะยางดิบแผ่นได้ตัดสินใจผลิตยางแท่ง "ผมถูกมอบหมายให้รับผิดชอบในเรื่องนี้ร่วมกับเพื่อนร่วมงานอีกคนหนึ่ง ผมมีหน้าที่ในเรื่องการตลาดและเรื่องเทคนิค ผมต้องเดินทางไปทั่วโลกเพื่อศึกษาตลาดและมองหาลู่ทางตลอดจนตัวลูกค้า เราประสบความสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น" แสงสาธยายให้ฟัง

หลังปี 2516 "เต็กบีห้าง" มีโรงงานยางอยู่ภาคใต้รวม 7 แห่ง และอีกแห่งหนึ่งที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก กำลังการผลิตช่วงนั้นขึ้นไปถึง 16,000 ตันต่อเดือน ระหว่างปี 2516 ถึงปี 2524 "เต็กบีห้าง" ทำรายได้อย่างงามจากการผลิตยางแท่งในขณะเดียวกันก็ยังไม่ทิ้งการผลิตยางแผ่น

"ช่วงปี 2520 ผมเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาด" ซึ่งนอกจากต้องทำงานตามหน้าที่แล้วก็ยังต้องถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับผู้ช่วยของเขา โดยที่ผู้ช่วยบางคนก็คือญาติสนิทของ ลี อิน ตง ประธาน "เต็กบีห้าง"

มันเป็นช่วงเวลาไม่นานนักก่อนที่ปัญหาทั้งหลายแหล่จะก่อตัวขึ้น

ว่าไปแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเกิดจากความแตกแยกและการชิงดีชิงเด่นกันของพนักงานกับอีกส่วนหนึ่งเกิดจากความทะเยอทะยานส่วนตัวของเขา

"ระหว่างปี 2524 ผมรู้สึกว่าผมกำลังจะถูกดอง ดังนั้นผมจึงเริ่มคิดที่จะตั้งบริษัทใหม่ แต่ตอนนั้นผมเองยังมีเงินแค่ 2 ล้าน" แสงเล่า

"ตอนนั้นเจ้าของโรงงานยางหลาย ๆ แห่งไม่มีช่องทางปล่อยสินค้าเข้าตลาด วันหนึ่งผมได้เสนอความคิดกับบางคนและได้รับการสนองตอบอย่างกระตือรือร้น ผมเรียกประชุมผู้คิดริเริ่มที่จะเป็นหุ้นส่วนกันได้ 7 คน แต่ละคนลงเงิน 1 ล้านบาท เราได้เจ้าของโรงงานยาง 5 คนอีกคนคือผม แต่เราต้องการใครสักคนที่มีโกดัง เราหามาได้ในที่สุด เป็นเพื่อนผมที่อยู่สงขลาและเราต้องการคอนเน็คชั่นที่สิงคโปร์ ซึ่งผมมีอยู่แล้ว" แสงอธิบายจุดเบี่ยงเบนจาก "เต็กบีห้าง" ของเขาอย่างค่อนข้างละเอียด

การลาออกจากเต็กบีห้างพร้อม ๆ กับสร้างกิจการของตัวเองขึ้นมาแข่งนั้น ทำเอาเต็กบีห้างว้าวุ่นพอสมควร

และภายหลังก่อตั้งได้ 6 ปีบริษัทไทยสรรพ์รับเบอร์ ของแสงและหุ้นส่วนก็ได้กลายเป็นบริษัทค้ายางที่ใหญ่เป็นอันดับสองบี้ตามเต็กบีห้างอยู่ติด ๆ

เมื่อปีที่แล้ว ไทยสรรพ์ รับเบอร์ ซึ่งมีพนักงาน 400 คนส่งออกยางไปต่างประเทศคิดเป็นมูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาทในขณะที่เต็กบีห้างซึ่งอยู่ในวงการเก่าแก่ส่งออกคิดเป็นมูลค่า 4,500 ล้านบาท

"สองปีแรกเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก โรงงานส่งยางให้เรา และเราเป็นคนทำการตลาดปี 2527 เราซื้อที่ดินและสร้างอาคารโรงงานขึ้น 1 โรง ปีต่อมาเราเพิ่มทุนจาก 12 ล้านบาทเป็น 24 ล้านบาท และ ปีที่แล้วเราขยายสาขาเพิ่มขึ้นอีกแห่ง เป็นโรงงานขนาดเล็กที่ระยอง นอกจากนี้เรายังได้ร่วมทุนกับ EURONAT ตั้งบริษัทใหม่อีกบริษัทชื่อยูโร-ไทยสรรพ์มีทุนจดทะเบียน 60 ล้านบาท วางโครงการจะตั้งโรงงานที่อำเภอพุนพิน สุราษฎร์ธานี โรงงานบ่มยาง กำลังจะเสร็จในเดือนสิงหาคมนี้ ส่วนที่เหลือจะเรียบร้อยในเดือนพฤศจิกาและเดือนธันวาเราพร้อมที่จะดำเนินการ

โรงงานที่ว่านี้เป็นโรงงานผลิตน้ำยางข้นได้เดือนละ 1,200 ตัน สัดส่วนการถือหุ้นเป็นของหุ้นส่วนฝรั่งเศส 47% ไทยสรรพ์ รับเบอร์ 49% อีก 4% ที่เหลือเป็นของแสงเอง

จริง ๆ แล้วแสงยังมีโรงงานอีกแห่งที่เริ่มดำเนินการในปีนี้ที่อำเภอเบตง เป็นโรงงานผลิตน้ำยางข้นเดือนละ 1,000 ตัน โรงงานแห่งนี้ดำเนินการภายใต้ชื่อบริษัททานาเมรา รับเบอร์มีทุนจดทะเบียน 7 ล้านบาทเป็นของไทยสรรพ์ 92% อีก 8% ถือโดยนักลงทุนในท้องถิ่น

ข้ามถนนไปอีกฟากหนึ่งตรงข้ามสำนักงานใหญ่ของเขาที่หาดใหญ่ เป็นโรงงานอีกแห่งหนึ่งที่กำลังก่อสร้าง โรงงานนี้จะเป็นโรงงานผลิตถุงมือ ซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดมาก

สำหรับโครงการอื่น ๆ ในอนาคตนั้น "เรากำลังจะขยายการผลิตยางแผ่นที่ระยองและอาจจะสร้างโรงงานเพิ่มอีกโรงที่เบตงซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีผลิตผลสูง" แสงกล่าวตบท้ายสะท้อนความยิ่งใหญ่ในวันนี้และอนาคตข้างหน้าของเขา


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.