|
ยักษ์ใหญ่ตนนั้นชื่อ "โซลเวย์"
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2531)
กลับสู่หน้าหลัก
ทันทีที่โซลเวย์ประกาศตัวขอรับการส่งเสริมจากบีโอไอในผลิตภัณฑ์พีวีซี คู่แข่งทั้งบิ๊กและไม่ บิ๊กอย่าง กลุ่มศรีเฟื่องฟุ้ง, กลุ่มศรีกรุงวัฒนา, กลุ่มอุตสาหกรรมสับประรดกระป๋องของพิพัฒน์ ตันติพิพัฒน์พงศ์, กลุ่มศรีเทพไทย ต่างพากันตื่นตระหนกตกใจ บรรยากาศโดยรอบผนึกตัวเข้ามาอย่างเยือกเย็น !
และฉับพลันที่โซลเวย์ได้รับการส่งเสริมจากมติของบอร์ดเล็ก ความรู้สึกของคู่แข่งระคนกันด้านหนึ่งต้องหนักใจที่ต้องเร่งล็อบบี้ให้เต็มที่ยิ่งขึ้น อีกด้านหนึ่งใจฝ่อเพราะเห็นลางแพ้มากขึ้น แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ มติบอร์ดใหญ่ยังคงให้โซลเวย์ได้พีวีซีไปครอง
ความยิ่งใหญ่ของโซลเวย์ย่อมทำให้ทุก ๆ คนอยากรู้ว่ายักษ์ใหญ่ตนนี้คือใคร !?!
โซลเวย์มีตำนานการเกิดที่ยาวนานถึง 125 ปี ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ปี 2406 (ค.ศ. 1963) ในบรรยากาศการขยายตัวทางวิทยาศาสตร์หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม
นักวิทยาศาสตร์คนสำคัญคือ เออร์เนส โซลเวย์ เป็นผู้ก่อตั้งร่วมกับ อัลเฟรด โซลเวย์ และครอบครัวของเพื่อน ๆ เขาเป็นปู่ของ JACQUES SOLVAY ประธานบริษัทในปัจจุบัน
บริษัทโซลเวย์เริ่มดำเนินการผลิตด้านเคมีภัณฑ์จากโซดาแอซ โซดาไฟ และคอลรีน เป็นต้นจากนั้นขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เช่น สาขาพลาสติก ได้แก่ พีวีซี พีพี พีอี สาขาสินค้าพลาสติกสำเร็จรูป สาขา PEROXYGEN ผลิตไฮโดรเจนเพโรไซด์ เพอร์ซอลท์ และออแกนนิคเพโรไซด์ และสาขาด้านผลิตภัณฑ์ยาและวัคซีนสำหรับคนและสัตว์
ทุกวันนี้โซลเวย์จัดได้ว่าเป็นยักษ์ใหญ่ในหลาย ๆ ระดับที่นี่เป็นบริษัทยักษ์ลำดับที่ 2 ของเบลเยี่ยม เป็นบริษัทด้านเคมีภัณฑ์ลำดับที่ 10 ของยุโรปและลำดับที่ 25 ของโลก
มีบริษัทในเครือถึง 30 แห่งกระจายไปทั้ง 32 ประเทศมีการจ้างงานถึง 45,000 คนในจำนวนนี้เป็นแผนกวิจัยถึง 3,000 คน
นับแต่ปี 1985 โซลเวย์เริ่มเจาะเข้ามาในตลาดแถบเอเชียแต่ทำไมถึงเลือกประเทศไทยเป็นฐานการผลิตพีวีซี วิลลี่ ลาลองค์ (WILLY LALANDE) ตัวแทนของบริษัทในไทยกล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า
"ที่มาลงทุนในเมืองไทยก็เพราะว่านโยบายของโซลเวย์ต้องการลงทุนในประเทศที่มีเสถียรภาพ หลังสงครามโลกครั้งที่สองเราไปลงทุนในสหรัฐอเมริกาและบราซิล สำหรับเมืองไทยในช่วงห้าปีที่ผ่านมามีเสถียรภาพที่ดีมากในทุก ๆ ด้านทั้งเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ มีบุคลากรที่ดี มีตลาดที่ขยายตัวในอัตราที่สูง มีความต้องการพีวีซีสูงมากในอนาคต"
เขายังชี้อีกว่าเมืองไทยมีมาตรฐานการครองชีพที่สูงขึ้นมากโดยดูจากห้างสรรพสินค้าจำนวนมากมาย สินค้าตัวใหม่ ๆ และแฟชั่นที่ทันสมัย "ผมถือว่าดีพาร์ทเมนท์สโตร์เป็นเครื่องชี้ความเจริญทางเศรษฐกิจและระดับการครองชีพของสังคมได้ดี ดีพาร์ทเมนท์สโตร์ในเมืองไทยมีสภาพที่ดีกว่าในที่อื่นมากนัก"
โซลเวย์ไม่เพียงแต่ลงทุนในพีวีซี แต่ยังรวมถึงวีซีเอ็มและคลอรีนซึ่งเป็นการผลิตที่ครบวงจร ซึ่งสิ่งนี้เป็นเหตุผลที่บีโอไออนุญาตการส่งเสริมให้กับโซลเวย์ ส่วนโซลเวย์เองก็ยังเห็นว่าก็ยืนยันประเด็นนี้ว่า
"ที่เราได้ก็เพราะ หนึ่ง-เราเป็นบริษัทระดับยักษ์ที่มีความสำคัญมากในโครงการระดับใหญ่
สอง- เราเป็นบริษัททำพีวีซีที่ใหญ่มากและมีเทคโนโลยีเป็นของเราเอง
สาม - เรามีความรู้เกี่ยวกับตลาดโลกดีมาก และเราก็เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบที่ต้องใช้ในการทำพีวีซี (คือวีซีเอ็ม) ทำให้เราสามารถรับมือ ปรับตัว หรือแก้ไขปัญหาในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านดีมานด์หรือซัพพลายได้อย่างไม่ลำบากนัก
สี่ - เรามีการศึกษาเกี่ยวกับตลาดพีวีซีอย่างละเอียด เรามีตัวเลขความต้องการพีวีซีในเมืองไทยยี่สิบปีที่ผ่านมาและอีกยี่สิบปีในอนาคต รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับผู้ผลิตรายอื่น และผู้ใช้ผลิตภัณฑ์พีวีซีเป็นวัตถุดิบสิ่งเหล่านี้แสดงถึงความยิ่งใหญ่และความพร้อมของโซลเวย์เป็นอย่างดี" วิลลี่ ลาลองด์ กล่าวอ้างกับ "ผู้จัดการ"
แน่นอนสิ่งที่พอจะทราบกันอยู่ความยิ่งใหญ่ของบริษัทเป็นเพียงปัจจัยหนึ่ง แต่ปัจจัยสำคัญที่ชี้ขาดก็คือ การล็อบบี้และสายสัมพันธ์ เรื่องนี้มิสเตอร์ลาลองด์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า
"เราไม่มี CONNECTION พิเศษอะไรที่ทำให้ได้โครงการนี้ เพราะว่าเรื่องการวิ่งเต้นหรือเงินใต้โต๊ะไม่ใช่ MENTALITY ของเรา และเราไม่รู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับเมืองไทยมาก่อน เพราะเราเพิ่งเข้ามา ถ้าเรามาอยู่ที่นี่เมื่อห้าปีที่แล้วก็อาจจะเป็นไปได้ที่จะใช้ CONNECTION พิเศษ เพราะเราพอจะรู้ว่าใครเป็นใคร จะไปติดต่อกับใครได้
CONNECTION อย่างเดียวที่เรามีอยู่ก็คือ ความช่วยเหลือจากสถานทูตเบลเยียมเป็นอย่างมาก เป็น CONNECTION เดียวและเป็น CONNECTION ที่ดีที่สุดที่เรามีในเมืองไทย"
อย่างไรก็ตามถึงทุกวันนี้แม้โซลเวย์จะได้พีวีซีไปครองแต่ยังคงมีเรื่องยุ่ง ๆ หลายเรื่องโดยเฉพาะการหา PARTNER
แต่เดิม PARTNER ที่ร่วมกันเสนอขอรับการส่งเสริมคือ TPI , เลียกเซ้งเทรดดิ้งและธนาคารทหารไทย แต่ทว่าจนบัดนี้อะไรหลายอย่างเปลี่ยนไป โซลเวย์กำลังหา PARTNER รายใหม่
"การดำเนินงานตามโครงการพีวีซีที่ได้จากบีโอไอนี้ เรามีทีมงานพิเศษมาจากบริษัทแม่เพิ่งจะกลับไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ (11 ก.ค.) ทีมงานนี้จะทำการเจรจาหา PARTNER ทางฝ่ายไทยตอนนี้ยังอยู่ในขั้นเจรจายังบอกไม่ได้ว่าจะเป็นใครเพราะยังไม่มีการตกลงกันแน่นอนเราต้องการบริษัทที่เป็น STRONG INDUSTRIAL PARTNER" มิสเตอร์ลาลองด์กล่าว
เมื่อมีบางคนยกตัวอย่างบริษัทที่ STRONG อย่างกลุ่มปูนใหญ่ กลุ่มสหยูเนี่ยน มิสเตอร์ลาลองด์ก็พยักหน้ารับว่าอยู่ในข่าย
"ผู้จัดการ" จบการเยี่ยมชมโซลเวย์ลงตรงที่มิสเตอร์ลาลองด์พาชมแผนผังแสดงผลิตภัณฑ์และความก้าวหน้าของโซลเวย์ และภาพประดับห้องบริเวณห้องรับแขก เป็นภาพที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมราชินีนาถทรงมีพระราชปฏิสันถารกับกษัตริย์โบดวงแห่งเบลเยียมและพระราชินี
มิสเตอร์ลาลองด์กล่าวว่าสิ่งนี้เป็นเครื่องแสดงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับเบลเยียม
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|