|
TDRI มือปืนรับจ้าง หรือ THINK TANK
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2531)
กลับสู่หน้าหลัก
ถึงแม้จะมีอายุย่างปีที่สี่เข้าไปแล้ว แต่ถ้าไม่ใช่คนที่สนใจติดตามกันจริง ๆ คงน้อยคนนักที่จะรู้ว่า TDRI แท้จริงคืออะไรและทำงานอะไรกันบ้าง ยิ่งเอ่ยชื่อในภาษาไทยที่เรียกกันอย่างเต็มยศว่า มูลนิธิสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทยด้วยแล้วถ้าไม่นึกถึงการเรี่ยไรและรับบริจาคที่มักจะมาพร้อมกับคำว่ามูลนิธิ ก็อาจจะคิดไปว่าเป็นหน่วยราชการธรรมดา ๆ ที่ไม่ค่อยจะมีงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอันออกมาเสียด้วยซ้ำ
คงจะเป็นเพราะงานที่ TDRI ทำมักจะหนักไปในทางวิชาการอันมากไปด้วยข้อมูลตัวเลข และศัพท์แสงยาก ๆ ที่คนทั่ว ๆ ไปฟังไม่ค่อยจะเข้าหูนัก ก็เลยทำให้สถาบันแห่งนี้ออกจะห่างเหินไปจากความรับรู้ของสาธารณชนอย่างไม่น่าจะเป็น
TDRI ในชื่อเต็ม ๆ ว่า THAILAND DEVELOPMENT RESEARCH INSTITUTE ตั้งขึ้นเมื่อปี 2527 โดยการริเริ่มของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อทำงานวิจัยในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาประเทศ และนำผลวิจัยไปใช้วางนโยบายระยะยาวทั้งในภาครัฐบาลและเอกชน
เพราะแม้ว่าจะมีสภาพัฒน์ฯ คอยทำหน้าที่วางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาช้านาน แต่ดูเหมือนประสิทธิภาพของแผนที่ผ่านมาออกจะไม่สอดคล้องและทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสถานการณ์แวดล้อม
"งานของสภาพัฒนฯค่อนข้างจะเป็นงาน ROUTINE มากกว่า คอยเก็บข้อมูลไปเรื่อย ๆ ถึงเวลา ทำแผนที่ก็เอาแผนเก่ามาปรับข้อมูลให้ทันสมัยขึ้นเท่านั้น สภาพัฒน์ฯ ไม่มีคนทำงานวิจัยพื้นฐานซึ่งสำคัญมากต่อการกำหนดนโยบาย" นักเศรษฐศาสตร์จากรั้วมหาวิทยาลัยท่านหนึ่งเคยพูดไว้กับ "ผู้จัดการ"
TDRI จึงเกิดขึ้นด้วยเหตุนี้เป็นประการสำคัญ โดยมีฐานะเป็นหน่วยงานอิสระ ไม่ขึ้นกับรัฐบาล เงินทุนในการก่อตั้งและดำเนินการในห้าปีแรกนั้นมาจากการช่วยเหลือของ CIDA (CANADIAN INTERNATIONAL DEVELOPMENT AGENCY ) ประมาณหนึ่งร้อยล้านบาท
งานวิจัยของ TDRI นั้นแบ่งออกเป็นเจ็ดฝ่ายคือ การเกษตรและพัฒนาชนบท นโยบายเศรษฐกิจส่วนรวม การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพลังงาน วิสาหกิจพื้นฐานและการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมและการค้ารวมทั้งฝ่ายวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคมเป็นฝ่ายสุดท้ายกับอีกหนึ่งโครงการคือ โครงการการบริหารเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
แรกเริ่มก็ดูท่าว่าจะดีเป็นที่ฮือฮากันพอสมควรว่า TDRI จะเป็นมันสมองของชาติที่คอยกำกับ ทิศทางของสังคมไม่ให้ไหลเลื่อนไปตามอารมณ์ชั่วครั้งชั่วคราวของผู้นำในแต่ละยุคแต่เอาเข้าจริง ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา ภาพพจน์ของ TDRI ในสายตาคนภายนอกกลับดูเลือน ๆ และค่อนข้างจะเป็นที่ สับสนว่าจะเดินไปในทางไหนกันแน่
"คนในนี้เองก็ยังไม่ค่อยเข้าใจว่าบทบาทและหน้าที่ของเราอยู่ที่ตรงไหน" เจ้าหน้าที่ระดับบริหารผู้หนึ่งของ TDRI เปิดเผย
ภาพพจน์ของ TDRI ในสายตาของคนภายนอกก็คือเป็นมือปืนรับจ้างในการทำวิจัยเราดี ๆ นี่เอง เพียงแต่เป็นมือฉมังระดับชาติด้วยคุณภาพของนักวิจัยระดับหัวกะทิที่อยู่ในสังกัด ปัญหาก็คือว่า งานวิจัยที่ผ่านมาของ TDRI นั้นมุ่งสนองตอบต่อความสนใจเฉพาะตัวของคนทำวิจัยเองหรือความต้องการของแหล่งเงินสนับสนุนเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ขาดแคลนงานวิจัยเชิงนโยบายที่จะให้ภาพรวมและชี้ทิศทางใหญ่ทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อเป็นพื้นฐานของการวางนโยบายพัฒนาในระยะยาว อันเป็นจุดมุ่งหมายหรือภาระหน้าที่หลักของ TDRI
"ก็เลยมีข้อสงสัยกันว่าแล้ว TDRI จะมีอะไรแตกต่างไปจากบริษัทที่ปรึกษาหรือรับทำวิจัยทางธุรกิจแค่ไหน ??
"ปัญหาของเราก็คือต้องพึ่งตัวเองทางด้านการเงิน ที่ CIDA ให้มาร้อยล้านเป็นทุนก่อตั้ง ค่าอาคารสถานที่ เครื่องไม้เครื่องมือ ค่าจ้างเงินเดือนและการดำเนินงานในระยะห้าปีแรกเท่านั้น ถ้าจะให้ยืนอยู่ได้ต่อไปและทำงานออกมาได้ ก็ต้องหาเงินเอง ก็โดยการขายสินค้าที่เราถนัดคืองานวิจัยนี่แหละ ทีนี้จะขายได้หรือไม่ ก็อยู่ที่ว่างานที่เราทำหรือเสนอไป คนที่เขาจะให้เงินสนับสนุนสนใจหรือเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเขาหรือเปล่า" แหล่งข่าวใน TDRI เปิดเผยถึงข้อจำกัดของตัวเองให้ฟัง
เงินค่าใช้จ่ายในการทำวิจัยของแต่ละโครงการรวม ๆ กันแล้ว มีจำนวน 21 และ 31 ล้านบาทในปี 2529 และ 2530 ตามลำดับ (งวดบัญชีสิ้นสุดในเดือนมีนาคมของแต่ละปี) ส่วนใหญ่มาจากหน่วยงานระหว่างประเทศ เช่น ยูเสค กลุ่มอีอีซี ธนาคารโลกและบางหน่วยงานของสหรัฐฯ ญี่ปุ่นรวมทั้งสหประชาชาติด้วย ส่วนแหล่งเงินทุนหลักในประเทศได้แก่ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สมทบด้วยภาคเอกชนรายใหญ่อย่างเครือซีพี บริษัทเชลล์ สมาคมธนาคารไทยและหอการค้าไทย เป็นอาทิ
ปัญหาอีกข้อหนึ่งก็คือสภาพภายในที่ดูเหมือนจะแบ่งเป็นอาณาจักรย่อย ๆ ต่างฝ่ายต่างก็เดินไปคนละทางตามแนวความคิดของผู้อำนวยการแต่ละฝ่ายเป็นสำคัญ
วิธีคิดที่แตกต่างกันพอจะแบ่งได้เป็นสองแนวทางคือ แนวทางแรกเห็นว่า TDRI ควรจะมีบทบาทเป็นแหล่งความคิดและความรู้ให้แก่สังคมไทย งานที่ทำออกมาไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นและความต้องการของรัฐบาล แต่จะเป็นข้อคิดเห็นในหลาย ๆ ด้านทั้งบวกและลบเท่าที่ผลงานวิจัยจะบ่งบอก อีกแนวทางหนึ่งมองว่า TDRI มีหน้าที่ตอบโจทก์ที่รัฐบาลต้องการรู้เท่านั้น โดยไม่สนใจว่าโจทก์หรือสิ่งที่รัฐบาลต้องการจะทำนั้นมีความถูกต้องหรือเหมาะสมหรือไม่
ผลที่ออกมาก็เลยกลายเป็นว่า ต่างคนต่างเดิน ทำให้TDRI ไม่มีทิศทางรวมของตัวเองที่ชัดเจน
ไพจิตร เอื้อทวีกุล เข้ามารับตำแหน่งประธานต่อจาก อาณัติ อาภาภิรมย์ เมื่อเดือนกรกฎาคมปี ที่แล้ว พร้อมกับความตั้งใจที่จะทำให้ TDRI มีบทบาทที่ชัดเจนและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากยิ่งขึ้น
"TDRI ควรจะเป็นเสมือน THINK TANK ของสังคม ทำงานวิจัยในเชิงนโยบาย ประเทศไทยไม่เคยมีนโยบายระยะยาวเลยเราต้องผลักดันตรงนี้ให้มีการสร้างนโยบายที่จะมองไปในอนาคตสิบถึงยี่สิบปีข้างหน้า" ไพจิตร กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงแนวความคิดของเขาต่อบทบาทของ TDRI
เรื่องเร่งด่วนในตอนนี้ก็คือสัญญาช่วยเหลือด้านการเงินจาก CIDA จะสิ้นสุดลงในปี 2532 ถึงตอนนั้น TDRI จะต้องมีแหล่งเงินทุนใหม่ ทำอย่างไรจึงจะพึ่งตนเองทางการเงินในระยะยาวได้โดย ไม่ต้องไปวิ่งหาเงินสนับสนุนอยู่เรื่อย ๆ
"เรากำลังทำ FUND RAISING CAMPAIGN เพื่อหาเงินมาตั้งเป็นกองทุนสำหรับนำไปหาดอกผลเป็นค่าใช้จ่ายในการทำงาน เราต้องการราว ๆ 180 ล้านบาท แต่ในขึ้นแรกนี้ขอสัก 150 ล้านก่อน 50 ล้านบาทจะระดมจากภาคเอกชนในประเทศที่เหลือมาจากต่างประเทศ" ไพจิตรกล่าว
ภาคเอกชนที่เป็นเป้าหมายของการระดมทุนได้มีการคุยกันไปบ้างแล้ว เป็นบริษัทระดับนำที่เห็นความสำคัญของการทำงานด้านนี้ ถึงแม้ไพจิตรจะไม่เปิดเผยว่ามีบริษัทใดบ้าง แต่คงไม่ยากที่จะคาดเดาว่าเขามองไปที่ไหนบ้าง
การดึงเอา ณรงค์ชัย อัครเศรณี มาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยอุตสาหกรรมและการค้าถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนการตั้งกองทุนนี้ด้วย เพราะณรงค์ชัยมีความสัมพันธ์กับภาคเอกชนใหญ่ ๆ หลาย ๆ แห่งมาพอที่จะดึงให้เข้ามามีส่วนร่วมได้
ภาระหน้าที่เรื่องต่อมาของไพจิตรก็คือ สร้างความเป็นเอกภาพภายใน TDRI ให้เดินไปในทิศทางเดียวกัน โดยการให้แต่ละฝ่ายมานั่งคุยกันว่า กำลังทำอะไรกันอยู่ และช่วยกันหาทิศทางที่ชัดเจนสำหรับอนาคต
"ที่จะมาคุยกันว่าต้องทำงานประสานกัน มีทิศทางร่วมกันนั้น ทุกคนก็รู้ ๆ กันอยู่ แต่ถ้ามัวแต่นั่งคุยกันเฉย ๆ ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เราต้องหาสิ่งที่แต่ละฝ่ายจะทำร่วมกันได้ด้วย" สิ่งที่จะทำด้วยกันได้อย่างที่ไพจิตรพูดนั้น เรื่องแรกก็คือ การประชุมประจำปี ซึ่งมีขึ้นทุกเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมานั้นจะกำหนดหัวข้อ แล้วแต่ละฝ่ายก็แยกกันไปทำงานของตน ถึงเวลาประชุมต่างคนต่างก็เสนอรายงานของตน
"ปีนี้ เราทำใหม่ แทนที่จะเริ่มจาก THEME ของการประชุม ก็มาดูว่า งานที่แต่ละฝ่ายกำลังทำกันอยู่มีส่วนในที่จะเอามากำหนดร่วมกัน มีส่วนไหนที่เกี่ยวข้องกันพอที่จะมากำหนดเป็น THEME ของการประชุมในปีนี้ได้หรือไม่ เราพบว่าเรื่องการกำหนดรายได้หรือ INCOME DETERMINATION ทุกฝ่ายทำร่วมกันได้ก็เลยใช้เรื่องนี้เป็นหัวข้อของการประชุมซึ่งจะต้องมีการทำงานร่วมกันก่อนที่การประชุมจะมาถึง" ไพจิตรเปิดเผย
อีกเรื่องหนึ่งซึ่งถ้าทำสำเร็จก็นับว่าเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรก และครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการวิชาการที่มีการระดมมันสมองจากทุก ๆ ฝ่ายมาศึกษาหนทางอีกยี่สิบปีข้างหน้าของเมืองไทย คือการศึกษาเรื่อง เมืองไทยในทศวรรษ 2010 "เป็นการศึกษาในทุก ๆ ด้านทั้งเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอีกยี่สิบปีข้างหน้า เราจะได้รู้ว่า ควรจะยืนอยู่ตรงไหน จะเดินไปอย่างไร จะมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นบ้างและจะแก้ไขกันอย่างไร งานนี้จะทำร่วมกันระหว่างนักวิจัย นักวิชาการทุก ๆ สาขา โดยมี TDRI สภาพัฒน์และแบงก์ชาติเป็นหลักตอนนี้กำลังคุยกันอยู่ในขั้นต้น"
พร้อม ๆ กับโครงการใหญ่ข้างต้น TDRI ก็จะทำการศึกษาวิจัยในสองเรื่องใหญ่คือเรื่องของทรัพยากรมนุษย์ คุณภาพของคน โดยเน้นที่ระบบการศึกษาว่ากำลังเดินไปในทิศทางไหนพร้อมที่จะ รับสถานการณ์ในศตวรรษใหม่หรือไม่ อีกเรื่องหนึ่งก็คือ ปัญหาเรื่องทรัพยากรธรรมชาติกับสิ่งแวดล้อม
ทั้งสองเรื่องนี้ไพจิตรบอกว่า "เป็นเรื่องที่ต้องแก้ให้ได้ไม่เช่นนั้นการพัฒนาประเทศต้องหยุดชะงัก เพราะเป็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญมาก"
นี่เป็นสิ่งที่ TDRI จะทำในระยะห้าปีข้างหน้า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่างานวิจัยแบบที่เคยทำกันมาจะหยุดชะงักลง เพราะดร.ไพจิตรก็ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า เป็นเรื่องธรรมดา "มันเป็นธรรมชาติของนักวิชาการที่เราจะต้องมี ROOM ให้เขาเล่นหรือทำในสิ่งที่ต้องการ เพียงแต่ว่ามีงานร่วมที่เขาจะต้องเข้ามาทุ่มเทให้ด้วย
ก็หวังกันว่านับแต่นี้ไป TDRI จะลดสีสันของการเป็นมือปืนรับจ้างพร้อมกับเพิ่มดีกรีในการเป็นผู้ชี้นำและผลักดันนโยบายของประเทศมากขึ้น แต่ยังไง ๆ ก็อย่างไปเล่นบทเป็นที่ปรึกษา นายกฯให้มากเกินไปเสียละ เดี๋ยวใคร ๆ เขาก็จะยกให้เป็นลูกป๋าไปอีกคน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|