นเรศ หอวัฒนกุล ยังต้องฝ่าฟันต่อไป


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

หลังวันที่ 1 เมษายนวันที่ประเทศไทยและคนไทยทั้งมวลรู้สึกภาคภูมิใจลึก ๆ กับการมี "สายการบินแห่งชาติ" เพียงหนึ่งเดียว ที่เกิดจากการรวมกิจการของ "เดินอากาศไทย" และ "การบินไทย" เข้าด้วยกัน

ในทางตรงกันข้ามกับใครหลาย ๆ คนที่ "บดท." นั่นอาจเป็นความเจ็บปวดร้าวลึกอยู่ในใจที่ต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงในหลาย ๆ ด้าน ทั้งตำแหน่งหน้าที่การงาน และก็คงจะ "เสียความรู้สึก" ไม่น้อยอย่างที่คนภายนอกคงยากที่จะเข้าใจ ถึงแม้หลายคนจะบอกว่า น่าจะถูกทดแทนได้จาก "ผลตอบแทน" และ "สวัสดิการ" ที่ได้รับเพิ่มขึ้น

แต่ก็มีคนบางคนอีกเหมือนกันที่ "การบินไทย" ที่อาจเจ็บปวดมากกว่าเมื่อ "เก้าอี้" ที่ตนเองนั่งมาเป็นเวลานานในตำแหน่งสำคัญนั้นต้องหลุดลอยไป

มิหนำซ้ำคนที่มานั่งแทนกลับไม่ใช่ "ลูกหม้อ" ที่สนับสนุนมากับมือ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ก็จะยังพออุ่นใจได้ว่าถึงแม้จะไม่ได้สวมหัวโขนนี้อยู่ แต่ก็อาจยังแผ่อำนาจบารมีไปจัดการเรื่องราวต่าง ๆ ได้อยู่เหมือนเดิม

คนที่ "ผู้จัดการ" กล่าวถึงจะเป็นใครเสียมิได้นอกจาก "ฉัตรชัย บุญยอนันต์" รองผู้อำนวยการใหญ่ที่นั่งทับตำแหน่ง "รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาด" มาเป็นเวลาสามปีด้วยเหตุผลที่ว่าหาคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมยังไม่ได้

ส่วนคนที่เดินยืดอก เชิดหน้าเข้ามารับตำแหน่งนี้ด้วยความภาคภูมิใจ ก็คือ "นเรศ หอวัฒนกุล" หลังจากรอมาเป็นเวลาหลายปีกว่าที่ตนเองจะได้แสดงฝีมือว่าอย่างน้อยฝ่ายการตลาดของการบินไทยก็ยังมีคนอื่น ที่มีฝีมือไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าฉัตรชัยเหมือนกัน

นเรศ หอวัฒนกุล ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการตลาดบริษัทการบินไทยจำกัด เกิดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2483 เข้าร่วมงานกับฝ่ายปฏิบัติการภาคพื้นตั้งแต่ปี 2506 ย้ายเข้ามาทำงานกับฝ่ายบินและทำงานด้านการตลาดในปี 2511 ซึ่งนับได้ว่าเขาเป็นผู้บุกเบิกงานด้านการตลาดที่สำคัญคนหนึ่ง

สามปีต่อมานเรศได้รับการแต่งตั้งให้ไปเป็นผู้ช่วยผู้จัดการที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย และได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นไปตามลำดับคือเป็นผู้จัดการฝ่ายขายสำนักงานกรุงเทพ เมื่อปี 2518 เป็นผู้จัดการประจำกรุงลอนดอนตั้งแต่ปี 2520 ถึงปี 2524

ในปี 2524 นี้เอง ด้วยประสบการณ์และความสามารถอย่างหาตัวจับยากของเขา นเรศได้รับตำแหน่งสำคัญอีกครั้งเป็นผู้อำนวยการของการบินไทยประจำสำนักงานที่เมืองซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา และในปี 2526 เขาก็ได้เป็นผู้อำนวยการดูแลตลาดของภาคพื้นเอเชียตะวันออกกลางพร้อมกันไปด้วย

แต่กว่านเรศจะเข้ามารับตำแหน่งสำคัญที่สามารถชี้เป็นชี้ตายให้กับ "การบินไทย" ได้ไม่ยากเย็นในวันนี้ ว่ากันว่าความยากลำบากนั้นไม่ผิดกับการฝ่าด่าน "สิบแปดอรหันต์" ก่อนลงเขาของศิษย์วัดเส้าหลินเลยสักนิด

"มีสองคนที่มีความสามารถประสบการณ์ต่าง ๆ ที่คู่คี่สูสีจนคณะกรรมการบริหารของบริษัทกว่าจะตัดสินใจได้ก็ต้อง "ชั่งใจ" กันอยู่นานทีเดียว" แหล่งข่าวบอก

นอกจากนเรศแล้ว คู่แข่งอีกคนก็คือ "ประเสริฐ ลิมปิวัฒนา" ผู้จัดการฝ่ายขายประเทศญี่ปุ่นเป็นคนไทยอีกคนหนึ่งที่ได้รับการฝึกอบรมความรู้เกี่ยวกับการบินมาเป็นอย่างดีจากบริติชแอร์เวย์ สถาบันเดียวกันกับฉัตรชัยซึ่งสืบทอดวิทยายุทธ์กล้าแข็งจนยากที่จะมีใครมาหาญทาบ

แน่นอน...ตามที่ทราบกันว่าคนที่ได้รับความไว้วางในจากบอร์ดใหญ่ของการบินไทยคือนเรศ แต่ในระดับหนึ่งแล้วทั้งสองคนที่ "คั่ว" ตำแหน่งนี้ขาดคุณสมบัติบางอย่างที่จะทำให้คณะกรรมการพิจารณาผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมของการบินไทยยอมรับมาตั้งแต่ต้น

"ปัญหาของนเรศก็คือพื้นฐานการศึกษาของท่านไม่สูงนัก เมื่อมองจากองค์กรอื่น ๆ ผู้บริหารระดับสูงที่ต้องรับผิดชอบหน้าที่สำคัญ ๆ อย่างนี้ ส่วนใหญ่จบปริญญาโท ปริญญาเอกจากเมืองนอกเมืองนาด้วยแล้ว บอร์ดใหญ่ก็ออกจะหนักใจไม่น้อยว่าจะทำให้ภาพพจน์องค์กรเสียไปหรือไม่ ทางฉัตรชัยที่หนุนประเสริฐเต็มที่ก็เลยคัดค้านที่จุดนี้ แต่ประเสริฐคงมีคุณสมบัติบางอย่างที่ด้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัด นเรศก็เลยได้เป็น" แหล่งข่าวที่รู้เรื่องดีบอก

แต่กับ "ผู้จัดการ" แล้วนเรศ หอวัฒนกุล ไม่มีอะไรที่เขาควรละอายใจ เพราะความสามารถของเขามีมากน้อยแค่ไหนคนของการบินไทยเองย่อมรู้อยู่แก่ใจดี

นอกจากนี้กับตำแหน่งที่ต้องติดต่อกับต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา ต้องตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ ที่พูดกันแต่ละครั้งหมายถึงผลประโยชน์ หรือความเสียหายของชาตินับพันล้านหมื่นล้านบาทนั้น ถ้านเรศไม่มีฝีมือจริง ๆ ไหนเลยบอร์ดใหญ่ของการบินไทยจะยอมให้เขาเข้ารับผิดชอบได้

ยิ่งเมื่อมองกลับไปยังคนหนุ่มรุ่นใหม่หลายคนในองค์กรใหญ่ ๆ ที่ชอบอ้างตัวว่าจบปริญญาโทมาจากต่างประเทศแต่ทำงานไม่เอาอ่าวมากมายในธุรกิจไทย ที่ผู้บริหารหลายองค์กรคงมี "ประดับ" สำนักงานอยู่บ้างสักคนสองคนแล้ว คนอย่างนเรศมีค่ามากกว่าพวกนั้นหลายเท่านัก

"ตอนนี้คุณนเรศแกก็พยายามแสดงฝีมืออย่างเต็มที่จากการที่ไปเปิดเพรสคอนเฟอเรนซ์ที่ไต้หวันหลังจากมีข่าวว่านักท่องเที่ยวไต้หวันลดลง เพราะทัวร์ของไทยไม่มีมาตรฐานนั้น นับเป็นแผนการตลาดเชิงรุกที่น้อยครั้งจะมีของการบินไทยทีเดียว ห้าเดือนที่ผ่านมาแกก็แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ไปมาก จะมีก็ตรงขาดความคล่องตัวอยู่บ้างในบางเรื่องที่คุณฉัตรชัยแกยังไม่ให้อำนาจการตัดสินใจอย่างเต็มที่แต่ก็เชื่อกันว่าภายในครึ่งปีหลังนี้ทุกอย่างคงจะเข้ารูปเข้ารอยขึ้น" แหล่งข่าวรายเดิมบอก

นเรศเองก็คงรอให้วันที่เขาสามารถแสดงความสามารถในตำแหน่งนี้อย่างเต็มตัวมาถึงเร็ว ๆ ซึ่งได้แต่หวังว่าฉัตรชัยคงไม่ทำตัวเหมือนคนรูปหล่อคอเอียงบางคนที่เราท่านรู้จักกันดีจนอาจทำให้ต้องบันทึกลงไปในประวัติศาสตร์ว่านอกจากมีรัฐบาล "เปรม 1" ถึง "เปรม 5" แล้ว

ที่การบินไทยก็ยังมียุค "ฉัตรชัย 1" ตามด้วย "ฉัตรชัย 2...3..." ด้วยเหมือนกัน

กว่าจะมานั่งแทนที่ฉัตรชัยคนอย่างนเรศต้องฟันฝ่าด่าน "สิบแปดอรหันต์" มาแล้ว

ไฉนคนอย่างเขาจะต้องมาสู้รบกับ "เงา" ของคนเก่าให้เหนื่อยแรงอีกทำไม??


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.