กทช.ล้มค่าเชื่อมโครงข่าย 1.07 บาท


ผู้จัดการรายวัน(4 เมษายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

กทช.ล้มผลศึกษาค่าเชื่อมโครงข่าย นาทีละ 1.07 บาท ของกรมไปรษณีย์ฯเดิม เหตุล้าสมัยไม่ทันยุคดิจิตอล โดยเฉพาะมีประเด็นบริการอย่าง VoIP ที่เชื่อมต่อครั้งเดียวใช้ได้ไม่จำกัด ยันปีนี้ไม่ได้ใช้ และเป็นคนละเรื่องกับค่าแอ็คเซ็สชาร์จไม่ได้แทนที่อย่างเอกชนคิด

พล.อ.ชูชาติ พรหมพระสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวถึงความคืบหน้าเรื่องค่าเชื่อมโครงข่าย (อินเตอร์คอนเน็กชั่น ชาร์จ) ว่า อยู่ในระหว่างการร่างเงื่อนไข (ทีโออาร์) เพื่อคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศเข้ามาดำเนินการจัดทำเงื่อนไข รายละเอียดต่างๆ สำหรับผู้ให้บริการโทรคมนาคมทั้งระบบ

ในส่วนของผลศึกษาที่เดิมกรมไปรษณีย์โทรเลขเคยทำไว้รวมทั้งมีการเปิดฟังความคิดเห็นจากเอกชน และได้จัดทำเป็นเอกสารมาให้กทช.นั้น อาจมีการใช้เพียงบางส่วนเท่านั้น โดยกทช.เห็นว่ายังมีเวลาพอที่จะรอผลศึกษาจากที่ปรึกษาต่างประเทศเพื่อนำมาใช้งานจริง

สำหรับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ก็มีอย่างธนาคารโลก ได้ส่งตัวแทนเข้ามาช่วยงานและอบรมบุคลากรให้ ซึ่งกทช.ก็ขอความร่วมมือให้ช่วยศึกษาเรื่องเร่งด่วนหลายเรื่อง โดยเฉพาะแผนจัดสรรเลขหมายหรือ Numbering Plan นอกจากนี้ในวันที่ 6-8 เม.ย.ที่จะถึงนี้ จะมีการประชุมย่อยของ APEC ที่โรงแรมเซ็นทรัล โซฟิเทล ในกรุงเทพฯ ซึ่งนายเหรียญชัย เรียววิไลสุข กรรมการกทช.จะเป็นตัวแทนในการร่วมประชุมในประเด็นมาตรฐานอุปกรณ์โทรคมนาคมของโลกและอาจจะมีการบรรยายในประเด็นความพร้อมของไทยในการเปิดการแข่งขันเสรีโทรคมนาคมซึ่งเรื่องค่าเชื่อมโครงข่ายจะเป็นประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญในการแข่งขันเสรี

แหล่งข่าวจากสำนักงานกทช.กล่าวว่าเป็นที่แน่นอนว่า ภายในปีนี้จะไม่สามารถประกาศใช้อัตราค่าเชื่อมโครงข่ายได้ และค่าเชื่อมโครงข่ายที่กรมไปรษณีย์ฯศึกษาไว้ในสมัยน.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และนำเสนอกทช. ซึ่งได้ตัวเลข 2 อัตรา คือคิดค่าเชื่อมโยงจากต้นทาง (Originated rate) 3 บาท/นาที และอัตราคิดค่าเชื่อมโยงจากปลายทาง (Terminated rate) 1.07บาท/นาที แต่ในส่วนการคิดค่าเชื่อมโยงแบบผ่านข้ามโครงข่าย (Transit rate) ยังไม่มีการระบุข้อสรุปตัวเลข กทช.จะยกเลิกและหาอัตราที่เหมาะสมใหม่

เนื่องจากอัตราดังกล่าวเป็นการจัดทำภายใต้ข้อมูล 3-4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อนำมาใช้จริง อาจไม่เหมาะสมกับการประกอบธุรกิจหรือการให้บริการโทรคมนาคมที่มีการแข่งขันกันรุนแรงอย่างในปัจจุบัน รวมทั้งยังไม่ได้มีการนำบริการอย่าง VoIP หรือวอยซ์โอเว่อร์ไอพี ซึ่งเป็นการให้บริการโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อเพียงครั้งเดียวแต่จะโทร.กี่ครั้งก็ได้ มาพิจารณาประกอบ เพราะในต่างประเทศที่มีการเปิดเสรีโทรคมนาคมอย่างแท้จริง ก็ยังมีข้อถกเถียงว่าค่าเชื่อมโครงข่ายสำหรับบริการ VoIP จะเก็บในรูปแบบไหน และเก็บเงินกับใครในอัตราเท่าไหร่

นอกจากนี้กทช.ยังเห็นว่าค่าเชื่อมโครงข่ายที่จะประกาศใช้จะมีผลเฉพาะบริษัทเอกชนที่มาขอไลเซนส์ใหม่กับกทช.เท่านั้น กรณีที่บริษัทคู่สัญญาสัมปทานกับรัฐอย่างดีแทคหรือ ออเร้นจ์ ที่ปัจจุบันเสียค่าแอ็คเซ็สชาร์จเลขหมายละ 200 บาทต่อเดือนในระบบโพสต์เพดและเสีย 18%ในระบบพรีเพด ให้กับบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น คิดว่าเมื่อมีการประกาศใช้ค่าเชื่อมโครงข่ายแล้ว จะเป็นการแทนที่แอ็คเซ็สชาร์จโดยอัตโนมัตินั้นเป็นความเข้าใจผิด

เพราะแอ็คเซ็ส ชาร์จเป็นการจ่ายผลประโยชน์ตามเงื่อนไขในสัญญาสัมปทาน ซึ่งกทช.ไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวได้ตามพรบ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม มาตรา 335ที่จะทำให้ค่าเชื่อมโครงข่ายมีผลเฉพาะบริษัทที่ขอไลเซนส์และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกทช.เท่านั้น

“กทช.เข้าไปยุ่งกับเรื่องแอ็คเซ็สชาร์จไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของสัญญาสัมปทานที่เอกชนจะต้องได้ข้อยุติ ก่อนที่จะมาใช้ค่าเชื่อมโครงข่ายที่ประกาศใช้ใหม่"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.