|
หัวไม้กอล์ฟคุณภาพระดับโลก Zonya สายันต์ อนาคตะวัฒนา ช่างฝีมือคนไทยผลิตเอง
นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2531)
กลับสู่หน้าหลัก
ในบ้านเรายุคนี้กีฬายอดฮิตในหมู่ผู้มีอันจะกินและรสนิยมสูงเห็นทีจะไม่มีอะไรเกินไปกว่าการเล่นกอล์ฟ ลองเดินทางออกไปชานเมืองหลวงเล็กน้อย สนามกอล์ฟระดับมาตรฐานมีอยู่ทั่วไป หรือแม้แต่สถานที่ท่องเที่ยวตามต่างจังหวัดบางจังหวัดก็มีให้เล่น คำนวณกันคร่าว ๆ แล้วทั่วประเทศมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 40 สนาม
ความนิยมที่มีกันมาก ๆ นี้ตรวจดูได้จากนอกเหนือจำนวนสนามแล้วจำนวนนักกอล์ฟทั้งระดับมือสมัครเล่นและมือโปรก็ปาเข้าไปเกือบ 50,000 คนเข้าไปแล้ว
และก็พลอยทำให้ธุรกิจที่หากินกับกีฬากอล์ฟเฟื่องฟูไปด้วยจากการตรวจสอบข้อมูลกับกรมศุลกากรพบว่ามูลค่าการนำเข้าอุปกรณ์การเล่นกอล์ฟไม่ว่าจะเป็น ไม้กอล์ฟ ลูกกอล์ฟ ถุงไม้กอล์ฟ รองเท้าตีกอล์ฟมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ประมาณเฉลี่ยปีละ 40% ตัวอย่าง ปี 2529 นำเข้าเกือบ 20 ล้านบาท พอปี 2530 นำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 27 ล้านบาท และปี 2531 นี้ก็ไม่น้อยกว่า 35 ล้านบาทค่อนข้างแน่ แหล่งข่าว "ผู้จัดการ" ท่านหนึ่งได้ประมาณการให้ฟังว่า เดือนหนึ่ง ๆ นักกอล์ฟใช้จ่ายเงินในสนามกันคนละไม่ต่ำกว่า 1,500 บาท หรืออีกนัยหนึ่งเดือนหนึ่ง ๆ จะมีเงินใช้จ่ายหมุนเวียนในสนามทั่วประเทศ ไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท หรือปีละ 600 ล้านบาท
ก็คงหาเกมกีฬาประเภทอื่นมาเทียบเคียบได้ยากที่ผู้เล่นเองต้องลงทุนลงรอนตัวเองด้วยงบมหาศาลเช่นกีฬากอล์ฟนี้
ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจอะไรเพราะรู้ ๆ กันอยู่ว่า กีฬากอล์ฟมันเป็นกีฬาของผู้มีอันจะกิน!
ยิ่งเดี๋ยวนี้ถ้าเป็นเศรษฐีแล้วเล่นกอล์ฟไม่เป็นก็ดูออกจะเชยไปสักนิดด้วยซ้ำ ดังนั้น เศรษฐีบางคนถึงกับลงทุนลงรอนจ้างครูฝึกกันอย่างจริงจัง แถมใช้อุปกรณ์จากนอกราคาแพงสุดซะด้วย นัยว่าเพื่อจะได้ไม่อายเพื่อนฝูง
อุปกรณ์ที่เห็นจะขาดไม่ได้ในการเล่นกอล์ฟคือ ไม้กอล์ฟที่ดัง ๆ อยู่ในเวลานี้ส่วนใหญ่ก็มาจากญี่ปุ่นยี่ห้อ HONMA และ MIZUNO แหล่งข่าวในกรมศุลกากรเล่าให้ฟังว่า ภาษีนำเข้าและภาษีการค้าไม้กอล์ฟจากต่างประเทศตกประมาณ 20% ของราคา C.I.F. และสาเหตุนี้เองเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาไม้กอล์ฟแพงมาก นอกเหนือจากปัจจัยด้านคุณภาพวัตถุดิบที่ใช้
"ไม้กอล์ฟ HONMA ที่หัวไม้กอล์ฟทำด้วยไม้PERSIMON พร้อมก้านเหล็กธรรมดา ตกอันละ 5,000 บาท" แหล่งข่าวกล่าว
ว่ากันว่าหัวไม้กอล์ฟที่ทำจากเนื้อไม้ PERSIMON ทั้งชุดซึ่งมี 4 หัวคือ หัวเบอร์ 1, 3, 4, 5, และก้านทำจากก้านเหล็กธรรมดาจะมีราคาตกประมาณเกือบ 20,000 บาท
นี่เฉพาะไม้กอล์ฟเท่านั้นยังไม่รวมถุง รองเท้า ลูกกอล์ฟและหัวไม้เหล็กเบอร์ 2, 6, 7, 8 และ 9 อีก ซึ่งถ้ารวมเบ็ดเสร็จครบชุดราคาไม่หนี 40,000 บาท!
การลงทุนซื้ออุปกรณ์เล่นกอล์ฟด้วยงบประมาณไม่มากไม่น้อยกว่า 40,000 บาท นี้ ว่ากันตามจริงไม่มากมายอะไรนักสำหรับนักกอล์ฟที่เล่นกันอยู่เวลานี้
มีนักกอล์ฟระดับเศรษฐีหลายคนลงทุนซื้ออุปกรณ์กัน 200,000 บาท ก็มีดาษดื่น
ราคา 40,000 บาทยังกระจอกด้วยซ้ำ!
อย่างไรก็ตามเวลานี้อุปกรณ์เล่นกอล์ฟโดยเฉพาะไม้กอล์ฟคนไทยคนหนึ่งทำได้แล้ว แถมมีคุณภาพระดับโลกไม่แพ้ HONMA เสียอีกด้วย
ยี่ห้อ "ZONYA" จากฝีมือสายันต์ อนาคตะวัฒนา แห่ง 68 กอล์ฟคลินิก
"ผู้จัดการ" ทราบมาว่าสายันต์ซุ่มทำไม้กอล์ฟชนิดหัวไม้ทำจากไม้เนื้อดีในประเทศมาเป็นเวลานานไม่น้อยกว่า 8 ปีแล้ว
ลูกค้าที่ใช้ไม้ยี่ห้อ " ZONYA" ของสายันต์เวลานี้เท่าที่ทราบฝีมือระดับ "เซียน" ก็มีหลายคน เช่น มือโปรอย่าง อุทัย ทัพวิบูลย์ , เส่ง สุวรรณกาศ นักกอล์ฟที่มีอาชีพเป็นนักธุรกิจชื่อดังก็มากอย่าง ประมุท บูรณศิริ, สมพจน์ ปิยะอุย ประเภทรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลป๋าก็หลายท่าน เช่นพลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ, ประจวบ สุนทรางกูร แม้แต่ป๋าเปรมและลูกป๋าอย่าง พ.อ. (พิเศษ) อู๊ด เบื้องบน พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์, พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์, ดร.อาณัติ อาภาภิรม. ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล หรือ "หม่อมเต่า" ของบรรดากระจอกข่าวก็ยังเป็นลูกค้าคนสำคัญของสายันต์ด้วยกันทั้งนั้น
เรียกได้ว่าลูกค้าของสายันต์แต่ละคนระดับ V.I.P.ทั้งนั้น!
ก่อนที่จะมาทำหัวไม้กอล์ฟอย่างจริง ๆ จัง ๆ เป็นเจ้าแรกในเมืองไทย สายันต์เป็นช่างซ่อมเครื่องบินประจำกองทัพอากาศมาก่อน ทั้ง ๆ ที่ความตั้งใจจริงแล้วสายันต์อยากเป็นนักบิน แต่เนื่องจากมีปัญหาด้านสายตาก็เลยเป็นนักบินไม่ได้
ความรู้และความชำนาญจากอาชีพช่างซ่อมเครื่องบินที่สายันต์ทำมาหลายปี เป็นพื้นฐานด้านความรู้เชิงประสบการณ์ในวิทยาการที่สายันต์ได้รับในอาชีพที่เขาทำในเวลานี้อย่างมาก ๆ
เขาเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า เขาได้นำความรู้ด้านแอร์โรไดนามิค ที่ใช้ทำปีกเครื่องบินมาปรับประยุกต์ใช้กับหัวไม้กอล์ฟ "ZONYA" ทำให้ไม้กอล์ฟ "ZONYA" ของเขา เวลาใช้ตีลูกจากจุดที-ออฟระยะเกิน 180 หลาขึ้นไป ไม่มีอุปสรรคจากแรงลมที่ต้าน (COEFFICENT OF DRAG) มากนัก ซึ่งมีผลให้ผลการตีพุ่งตรงสู่เป้าหมายได้แรงตามความตั้งใจของผู้เล่นได้ดีเยี่ยม
นอกจากนี้เขายังได้คิดค้นเทคนิคการทำหัวไม้กอล์ฟให้สอดคล้องกับ LINE ANGLE ของผู้เล่นชาวเอเชียอีกด้วย
" LINE ANGLE" นี่สำคัญมาก ถ้าทำให้เหมาะสมกับขนาดส่วนสูงของผู้เล่นแล้ว จะช่วยให้การ ตีลูกจากจุดที-ออฟ หรือแม้แต่การ DRIVE ลูกจากแฟร์เวย์จะไม่มีปัญหาการสไลด์ของลูกเลย" สายันต์บอก
ผู้สนใจวงการกอล์ฟรายหนึ่งกล่าวเสริมให้ฟังว่า เทคนิค 2 ประการข้างต้นนี้ ไม้กอล์ฟ "ZONYA" ของสายันต์สามารถพูดได้อย่างไม่อายชาวโลกว่าเป็นยี่ห้อแรกที่ยกระดับคุณภาพไม้กอล์ฟสู่ระดับไฮ-เทคโนโลยีมากที่สุด แม้แต่ยี่ห้อ HONMA หรือ MIZUNO ก็ยังไปไม่ถึงเพราะไฮ-เทคที่ว่านี้ไม้กอล์ฟ ZONYA ของสายันต์ทำมาก่อนแล้วเป็นเจ้าแรก
สายันต์เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังอีกว่า แรงจูงใจสำคัญที่ทำให้เขายึดอาชีพช่างทำหัวไม้กอล์ฟก็เพราะเหตุผล 2 ประการคือ หนึ่ง-โดยพื้นฐานเขาเป็นนักกอล์ฟมาก่อน ผลการเล่นเทียบเท่ามือโปรได้สบาย ๆ "แต้มแฮนดิแคปของผม 7 ครับ" สายันต์กล่าวอย่างภาคภูมิใจ
ดังนั้นด้วยพื้นฐานอันนี้เขาจึงมีความผูกพันและรู้สึกมีใจรักในเกมกีฬากอล์ฟมาก ๆ และสอง- เขาต้องการสร้างค่านิยมให้นักกอล์ฟคนไทยเห็นคุณค่าของไม้กอล์ฟที่ผลิตโดยคนไทย ราคาไม่แพง แต่ มีคุณภาพระดับโลก
"ถ้านักกอล์ฟหันมาอุดหนุนไม้กอล์ฟที่ทำได้จากภายในประเทศจะช่วยลดเงินตราที่เสียไปได้มาก" เขากล่าวอย่างจริงจัง
สายันต์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่าไม้กอล์ฟ ZONYAของเขาแต่ละชิ้นที่ทำเป็นงานฝีมือ (CUSTOM MADE) แท้ ๆ 24 ขั้นตอน กินเวลาประมาณ 7-10 วันต่อชิ้นฉะนั้นคุณภาพของไม้กอล์ฟแต่ละชิ้นที่ได้มาจึงเต็มไปด้วยความประณีตบรรจง ราคาก็ไม่แพงกว่าที่คิด หนำซ้ำถูกกว่าของนอกครึ่งต่อครึ่งเสียอีก
"หัวไม้เบอร์ 3 ยี่ห้อ HONMA ที่ทำจากเนื้อไม้ PERSIMMON จะตกราว ๆ 3,000 บาทของผมแค่ 1,500 บาทเท่านั้นและถ้ารวมก้านเหล็กธรรมดาด้วยแล้วของผมจะมีราคาแค่ 3,000 บาท ขณะที่ของ HONMA จะแพงกว่ามากถึง 5,000 บาท" สายันต์ยกตัวอย่างเปรียบเทียบให้ฟัง
ตรงนี้นักกอล์ฟก็ลองตรึกตรองกันเองก็แล้วกันว่าเมื่อคนไทยผลิตไม้กอล์ฟได้เองคุณภาพระดับโลกแถมราคาก็ถูกกว่า อีกทั้งประหยัดเงินตราของชาติด้วย ก็ไม่รู้จะลงทุนซื้อของแพงกันอีกต่อไปทำไม?
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|