ยุ่นทิ้งเวทีFTAหันล็อบบี้ กลุ่มเหล็กโวยทนงปิดกั้น


ผู้จัดการรายวัน(1 เมษายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เวทีเจรจาการค้าเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่นป่วน คณะผู้แทนญี่ปุ่นขอปิดเจรจาเร็วขึ้นกว่ากำหนด หลัง “ทนง”แบไต๋จะยอมเปิดเสรีเหล็ก เผย ‘มิติ’สบช่องวิ่งล็อบบี้ฝ่ายการเมือง ความหวังเข้าครอบงำตลาดเหล็กไทยใกล้แค่เอื้อม ด้านผู้ประกอบการเหล็กโวย รัฐบาลปิดกั้นให้เอกชนชี้แจงความจริง ยันหากทำตามญี่ปุ่นไทยเสียเปรียบ ล่าสุดพยายามขอพบ “ทนง-สมคิด” แต่ถูกปัด เหน็บทีต่างชาติกลับยอมให้พบง่าย ท้ารัฐหากยุ่นยอมเปิดเสรีน้ำตาล มันสำปะหลัง ข้าวให้ไทยโดยไม่มีโควต้าพร้อมเปิดเหล็กเช่นกัน

ภายหลังจากการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น หรือ การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น รอบที่ 7 ซึ่งจัดขึ้นที่ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมามาตั้งแต่วันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมาต่อเนื่องจนถึงวานนี้(31มี.ค.) แม้จะสามารถตกลงกันได้ในการเปิดตลาดสินค้าเกษตรหลายรายการตลอดจนความร่วมด้านเศรษฐกิจและบริการอื่นๆ ซึ่งกล่าวได้ว่า คืบหน้าไปกว่า 90% แล้ว แต่ก็มีอุปสรรคในการเจรจาการเปิดเสรีเหล็กที่เป็นสินค้าอ่อนไหวของไทย โดยไทยพยายามเรียกร้องขอให้ญี่ปุ่นเลิกกดดัน แต่จากการเปิดเผยท่าทีของนายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ให้สัมภาษณ์ว่า ไทยจะยอมเปิดเสรีเหล็กให้ญี่ปุ่นในบางรายการที่ผลิตเองไม่ได้ (ตามที่ผู้จัดการรายวันเสนอข่าว “ญี่ปุ่นยอมอ่อนข้อไทย เปิดตลาดเกษตรฉลุย-ทนงแบะท่าเปิดเสรีเหล็ก” ฉบับวันที่ 31 มี.ค.) นั้น ทำให้วานนี้ (31มี.ค.) ฝ่ายญี่ปุ่นมีความหวังมากขึ้น ตรงกันข้ามกับกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตเหล็ก ที่ผิดหวังท่าทีของรมว.พาณิชย์

รายงานข่าวแจ้งว่า ความคืบหน้าในการเจรจาขณะนี้ลุล่วงไปแล้วกว่า 90% โดยวันที่สองสามารถตกลงกันได้เพิ่มอีก 9 สาขานอกเหนือจากความตกลงพื้นฐานในเรื่องเกษตรที่คุยจบไปเมื่อวันแรกของการเจรจา รวมทั้งทั้งสองฝ่ายได้ถกเรื่องการเปิดเสรีการค้าบริการและใกล้จะได้ข้อสรุปซึ่งฝ่ายไทยมั่นใจว่าจะดีกว่าที่ญี่ปุ่นให้สิงคโปร์แน่นอน แต่การเจรจาก็สะดุดลงเมื่อกระทรวงเศรษฐกิจฯ ญี่ปุ่น (METI) เดินหน้ารุกไทยอย่างหนักในอุตสาหกรรมเหล็ก โดยเฉพาะเหล็กแผ่นรีดร้อน ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ แต่คณะเจรจาไทยยืนยันไม่เสี่ยงแลกอุตสาหกรรมที่ละเอียดอ่อนของไทยเด็ดขาด ทำให้ที่สุดหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายญี่ปุ่นขอปิดการเจรจาเร็วขึ้นจากเดิมที่จะมีการเจรจากันต่ออีก 1 วันในวันนี้ (1เม.ย.) และ อาจทำให้ไม่สามารถสรุปผลการเจรจาได้ในสัปดาห์นี้ตามที่ทั้งสองฝ่ายต้องการ

**METI ตัวปัญหา

รายงานข่าวระบุว่า จุดแตกหักของการรอบนี้อยู่ที่ฝ่ายไทยได้ยื่นข้อเสนอสุดท้ายให้มิติพิจารณา โดยในเรื่องเหล็กแผ่นรีดร้อนว่า ไทยจะไม่ลดภาษีเป็น 0 ทันทีตามที่ญี่ปุ่นต้องการ แต่จะคงภาษีเหล็กแผ่นรีดร้อนในอัตราปัจจุบันไว้ 10 ปี และเริ่มลดภาษีในปีที่ 11 จนเหลือ 0 ในปีที่ 15 ซึ่งเป็นท่าทีที่เอกชนผู้ผลิตเหล็กไทยเสนอมา ซึ่งหากญี่ปุ่นรับข้อเสนอนี้ของไทยไม่ได้ ไทยก็จะจำเป็นต้องรุกเรื่องเปิดเสรีสินค้าเกษตรรวมทั้งสินค้าที่ละเอียดอ่อนมากของญี่ปุ่น เช่น น้ำตาล สับปะรดกระป๋อง ต่อไป ซึ่ง มิติไม่สามารถตอบไทยในห้องเจรจาได้

รายงานข่าวแจ้งว่า มิติพยายามกดดันไทยทั้งในและนอกเจรจา โดยผู้แทนระดับสูงของญี่ปุ่นพยายามล็อบบี้ฝ่ายการเมืองระดับสูงของไทยตลอดระยะเวลา 2-3 วันที่ผ่านมาอย่างหนักหน่วง เพราะเห็นช่องทางจากการให้สัมภาษณ์ของนายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่แสดงท่าทีจะยอมตามข้อเสนอของญี่ปุ่นเปิดเสรีเหล็กในบางรายการ โดยการปิดเจรจาเร็วขึ้น 1วัน ก็เพื่อจะขอเข้าพบ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรงการคลัง เพื่ออธิบายความต้องการของญี่ปุ่นให้ฟังโดยตรงแต่ ล่าสุด นายสมคิดยังไม่ได้ตอบรับ

ด้าน นายพิศาล มาณวพัฒน์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศและหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีอไทย-ญี่ปุ่น กล่าวว่า ที่ผ่านมา คณะเจรจาไทยซึ่งประกอบด้วยผู้แทนระดับสูงจากหลาย ๆ กระทรวงรวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ อุตสาหกรรม และคลัง ได้ย้ำกับฝ่ายญี่ปุ่นไปหลายรอบว่า จุดยืนของไทยในแต่ละเรื่องอยู่ที่ใด ไทยได้ยอมโอนอ่อนผ่อนตามญี่ปุ่นในส่วนที่สามารถทำได้เพราะตระหนักดีว่า ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าและเป็นผู้ลงทุนที่สำคัญอันดับ 1 ของไทย

“ณ วันนี้ เรายืนอยู่บนท่าทีที่ได้จากการหารือกับผู้แทนในทุกๆ ภาค ทุกๆ สาขา สิ่งที่เรารับปากไว้ในการหารือกับประชาชนเราก็นำมาใช้ในการเจรจากับญี่ปุ่น หากวันนี้ ญี่ปุ่นต้องการเลิกคุยในห้องเจรจา และหันไปล็อบบี้ฝ่ายการเมืองไทย ผมก็คิดว่าเป็นสิทธิที่เขาสามารถจะทำได้และเป็นโอกาสที่ผู้ใหญ่ไทยจะสามารถอธิบายท่าทีไทยได้โดยตรง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี”

นายพิศาล ยังกล่าวถึงข้อตกลงที่คุยกันแล้วเสร็จว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะสร้างเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรไม่เพียงในประเทศไทยและญี่ปุ่น แต่ไทยอยากโยงผลประโยชน์ให้ไปถึงประชาชนในประเทศเพื่อนบ้านด้วย เรื่องต่างๆ เหล่านี้จะอยู่ในความดูแลของคณะกรรมการที่ทั้งสองฝ่ายได้เห็นชอบให้จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับสาขาความร่วมมือดังกล่าวโดยจะเริ่มดำเนินการตามแผนที่ได้ตกลงไว้ภายใน 9 เดือนแรก หลังจากที่ความตกลงมีผลบังคับใช้ซึ่งคาดว่าจะเป็นปลายปีนี้

ขณะที่นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังจากหารือกับกลุ่มผู้ประกอบการเหล็กว่า ได้ชี้แจงถึงกรณีการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีกับหลายประเทศโดยเฉพาะญี่ปุ่นขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจา ประเด็นการเปิดเสรีสินค้าเหล็กนั้นก็เพื่อจะให้เหล็กของญี่ปุ่นเข้ามาจำหน่ายได้ง่ายขึ้นแต่ไม่ได้หมายความว่า รัฐบาลจะไม่ดูแลผู้ประกอบการภายในประเทศ เพราะการเจรจายังไม่แล้วเสร็จ รัฐบาลต้องฟังข้อมูลจากหลายฝ่ายเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

**กลุ่มเหล็กโวย "ทนง" ปัดให้พบ

นายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทนครไทยสตริปมิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ NSM เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการเหล็กได้ชี้แจงถึงแนวทางการเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะกับญี่ปุ่นให้กับกระทรวงพาณิชย์ กับกระทรวงต่างประเทศไปแล้ว ซึ่งการจะเปิดเสรีโดยไม่มีขอบเขตด้วยการให้ภาษีนำเข้าเป็น 0 % เท่ากับเป็นการฆ่าอุตสาหกรรมในประเทศของตนเองแม้ว่าบางรายการยังไม่มีผลิตในประเทศก็ตามเพราะท้ายสุดก็จะไม่ส่งผลให้ไทยมีโอกาสได้พัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กเป็นของตนเอง

"ผู้ประกอบการได้พยายามติดต่อขอพบเรื่องนี้ไปแล้วหลายครั้งรวมถึงหลังการตั้งรัฐบาลใหม่ทั้งนายทนง พิทยะ รมว.พาณิชย์ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เพื่อขอชี้แจงประเด็นทั้งหมดแต่ก็ไม่ให้เข้าพบ เราอยากชี้ให้เห็นว่าอุตสาหกรรมเหล็กใดในโลกบ้างที่ไม่มีกำแพงภาษีนำเข้าเลย ประเทศใดบ้างที่ไม่ต้องการสร้างอุตสาหกรรมพื้นฐานทางเศรษฐกิจเช่นเหล็กแล้วรัฐไม่เข้าไปส่งเสริม" นายสวัสดิ์กล่าว

ทั้งนี้ผู้ประกอบการพร้อมที่จะให้กำแพงภาษีนำเข้าเป็น 0% หากรัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์สามารถชี้แจงอย่างละเอียดว่า ไทยจะได้ประโยชน์อะไรบ้างกับการทำเอฟทีเอกับญี่ปุ่น วันนี้มีคำตอบมีแล้วหรือยัง และที่สำคัญญี่ปุ่นยอมให้ข้าว น้ำตาล มันสำปะหลัง เข้าไปทำตลาดได้หรือไม่โดยไม่มีภาษีนำเข้าเลยและที่สำคัญไม่มีโควต้านำเข้าด้วย หากได้เช่นนี้อุตสาหกรรมเหล็กก็พร้อมจะเปิดให้เช่นกัน ขณะนี้ไม่แน่ใจว่าญี่ปุ่นต้องการอะไรเพราะภาษีนำเข้าเหล็กเฉลี่ยอยู่ที่ 5-9% ซึ่งไม่ได้หนักหนาหรือเป็นต้นทุนใดๆ สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นแม้แต่เล็กน้อย แต่คงตีความว่าญี่ปุ่นไม่ต้องการให้ไทยพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นของตนเองได้มากกว่า

นายพิบูลย์ศักดิ์ อรรถบวรพิศาล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวเช่นกันว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการเหล็กได้พยายามขอเข้าพบกับนายทนง เพื่อจะชี้ว่าญี่ปุ่นได้แอบอ้างพิกัดภาษีฯ เหล็กว่าไทยยังไม่มีผลิตเพื่อขอให้ภาษีนำเข้าเป็น 0% ซึ่งหากมีการยกเว้นภาษีจริงจะเป็นการยกไปหลายพิกัดที่พ่วงกันไปซึ่งเท่ากับจะเปิดฟรีเกือบทั้งหมด ดังนั้นราชการควรจะต้องฟังเสียงจากเอกชนไทยบ้าง

"พิกัดภาษีเหล็กของไทยจะระบุค่อนข้างกว้างบางพิกัดก็มีผลิต แต่บางพิกัดก็ไม่มีจริง แต่หากขอมาตามพิกัดกว้างๆ แล้วจะคลอบคลุมหมดต้องระวัง เพราะนี่เป็นชั้นเชิงการเจรจาและญี่ปุ่นที่ผ่านมาพยายามบีบไทยให้อยู่นอกกรอบในการเจรจาเพราะหากอยู่ในกรอบจะมีการลดภาษีเป็นขั้นบันไดไม่ใช่เว้นทันที ฝากรัฐด้วยคนของตนเองแท้ๆ ทำไมไม่เคยถามแต่ทีฝรั่ง ญี่ปุ่นขอเข้าพบทำไมมันง่ายจัง เรื่องนี้เรากำลังหารือว่าจะมีท่าทีอย่างไรต่อไป "นายพิบูลย์ศักดิ์กล่าว

ทั้งนี้หากรัฐเปิดนำเข้าเหล็กโดยไม่เก็บภาษีเลยจะมีผลกระทบต่อการผลิตเหล็กของไทยอย่างมาก โดยเฉพาะการผลิตเหล็กในไทยมีการจ้างงานในระบบถึง 1 แสนคน

นายวิน วิริยะประไพกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัทสหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI กล่าวว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล็กมีการเปิดเสรีอยู่แล้วเพียงแต่มีการเก็บภาษีนำเข้าอัตรา 1-10% ซึ่งหากจะมีการเลิกเก็บภาษีดังกล่าวจะต้องพิจารณาว่าคุ้มหรือไม่เพราะปัจจุบันไทยนำเข้าเหล็กอยู่ประมาณ 3.4 แสนล้านบาทเป็นการนำเข้าจากญี่ปุ่นถึง 1.3 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 40% หากเลิกเก็บภาษีอัตรานำเข้าก็จะมีมากขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมปลายน้ำมีการเก็บภาษี 20-30% จะต้องพิจารณา 2 ส่วนประกอบกัน

ขณะที่ นายเกียรติพงษ์ น้อยใจบุญ รองประธานส.อ.ท.กล่าวว่า การทำเอฟทีเอกับญี่ปุ่นโดยเฉพาะการนำประเด็นอุตสาหกรรมเหล็กเพื่อที่จะแลกกับการเกษตรจะต้องพิจารณาให้เกิดความสมดุลอย่างแท้จริงเพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้ญี่ปุ่นได้ดุลการค้าไทยค่อนข้างมากอยู่แล้ว และภาพรวมการเจรจา FTA ในฐานที่ส.อ.ท.เป็นกลางได้เคยเสนอรัฐบาลไปแล้วว่าจะต้องฟังเสียงจากเอกชนแล้วนำข้อมูลมาสร้างให้สมดุลกับการเจรจาให้ได้

แหล่งข่าวจากวงการเหล็กไทย กล่าวว่า กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็กรู้สึกเหมือนเป็นประชาชนชั้น 2 และผิดหวังต่อท่าทีของรมว.พาณิชย์ที่ยังไม่เปิดโอกาสให้เข้าพบ

"สิ่งที่กลัวตอนนี้ไม่ใช่การล็อบบี้จากญี่ปุ่น แต่เป็นการล็อบบี้จากผู้ใหญ่ที่เป็นคนไทยแต่ใจเป็นญี่ปุ่น หากรัฐยอมลดภาษีเหล็กให้ญี่ปุ่นโดยที่สินค้าเกษตรญี่ปุ่นกลับไม่ยอมลดภาษีให้ แล้วต่อไปจะเอาอะไรไปต่อรองญี่ปุ่นได้อีก "

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการเหล็กได้ทำหนังสือชี้แจงไปยังคณะเจรจาเอฟทีของไทย โดยมีรายละเอียดอาทิ ไทยจะขาดดุลการค้าหากมีการลดภาษีเหล็กให้ญี่ปุ่น ซึ่งเหตุผลแท้จริงที่บริษัทเหล็กญี่ปุ่นต้องการมาขายเหล็กในไทย เพื่อต้องการป้อนให้บริษัทในกลุ่มตนเองที่ตั้งโรงงานในไทย โดยมีการโอนกำไรระหว่างกันแล้วนำกลับญี่ปุ่น โดยที่ไทยไม่ได้ประโยชน์ และหากปล่อยให้อุตสาหกรรมเหล็กของไทยล้มไปจะก่อให้เกิดปัญหา NPL กลับมาอีกครั้ง ฯลฯ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.