|
วิกฤตทางการเมืองวิกฤตรัฐธรรมนูญ หัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองที่ต้องการการหักมุม ก่อนที่สถานการณ์ทุกอย่าง...จะสายเกินไป
โดย
รุ่งมณี เมฆโสภณ
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2531)
กลับสู่หน้าหลัก
การวิเคราะห์สถานการณ์สำหรับหนังสือพิมพ์รายเดือน ในขณะที่สถานการณ์มีการพัฒนาตัวอย่างรวดเร็วในปัจจุบันนี้ นับว่ามีข้อจำกัดไม่น้อย เมื่อเป็นดังนี้ ผู้เขียนจึงขอเกริ่นนำไว้ ณ ที่นี้ว่า บทวิเคราะห์ชิ้นนี้เป็นการมองสถานการณ์โดยรวม จากสถานการณ์พื้นฐานในต้นเดือนมิถุนายน ซึ่งมีบางเงื่อนไขและบางตัวแปรที่มีลักษณะแฝงเร้นเกินกว่าที่จะนำมาพิจารณาปัญหา ในขณะที่ทำการวิเคราะห์ ได้ แต่อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์ชิ้นนี้ได้พยายามอย่างยิ่งที่จะเสนอในสิ่งที่ผู้อ่านหนังสือพิมพ์รายเดือนสามารถนำไปใช้พิจารณาสถานการณ์ได้ เมื่อมีปรากฏการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นในช่วงต่อไป
พลเอกเปรมกับการยุบสภา ยุบด้วยเหตุผลหรือด้วยอารมณ์หวั่นไหว
ยิ่งใกล้วันเลือกตั้งซึ่งกำหนดไว้ใน พระราชกฤษฎีกายุบสภา เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2531 คือวันที่ 24 กรกฎาคม 2531 แต่กระนั้น วงการการเมืองทั้งวงนอก-วงในก็ล้วนพูดกันมาตลอดตั้งแต่หลังการยุบสภาว่า จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กรกฎาคมแน่ละหรือ?
ทำไมถึงเกิดความสับสนทางการเมือง ว่าจะมีการเลือกตั้งตามกำหนดหรือไม่?
คงต้องย้อนไปมองสภาพการณ์ทางการเมืองก่อนการเลือกตั้งเสียก่อนว่ามีสภาพการณ์เช่นไร เป็นที่ยอมรับกันว่า ความปั่นป่วนทางการเมืองก่อนการยุบสภานั้นมีจริง โดยเฉพาะจากทางด้านสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งโดยปรากฏการณ์นั้น เป็นเรื่องของการต่อสู้ในปัญหาการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ที่ว่าด้วยการต่อสู้เพื่อสิทธิระหว่างผลประโยชน์ของประชาชนไทยกับผลประโยชน์ของประชาชนอเมริกัน คือร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ซึ่ง "กลุ่ม 10 มกรา" "มุ้งเล็ก" ของพรรคประชาธิปัตย์ (ซึ่งเป็น 1 ใน 4 พรรคร่วมรัฐบาล) เป็นหัวหอกสำคัญในการคัดค้านร่างดังกล่าว แต่โดยความเป็นจริงแล้ว หลายฝ่ายเชื่อว่า ปัญหาความไม่มีวินัยของ "กลุ่ม 10 มกรา" ในพรรคประชาธิปัตย์นั้น เป็นปัญหาในลักษณะของ "ฟางเส้นสุดท้าย" ทางการเมืองเสียมากกว่า
แม้ว่านั่นจะนำไปสู่เหตุผลที่อ้างอย่างเป็นทางการในการยุบสภาว่า
"....พรรคการเมืองต่าง ๆ หลายพรรคไม่สามารถดำเนินการในระบบพรรคการเมืองได้อย่างมีเอกภาพ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในสังกัดพรรคการเมืองยังไม่รับรู้ความคิดเห็นหรือมติของสมาชิก ฝ่ายข้างมากในพรรคของตน อันเป็นการขัดต่อวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตย และก่อให้เกิดปัญหาอุปสรรคในการบริหารราชการแผ่นดินและการพัฒนาประเทศอย่างมาก "
แต่สาเหตุแห่งความปั่นป่วนทางการเมืองก่อนการยุบสภานั้น นอกจากจะเป็นดังอ้างข้างต้น ซึ่งเป็นผลพวงมาจาก ความไม่ลงตัวในการแบ่งปันผลประโยชน์ทางการเมืองภายในพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล หรือกล่าวอย่างเฉพาะเจาะจงลงไปคือพรรคประชาธิปัตย์นั่นเองเป็นเรื่องหลัก แต่ความปั่นป่วนหลักที่ฝ่ายพลเอกเปรม ติณสูลานนท์-นายกรัฐมนตรีและผู้พิทักษ์ทั้งหลายวิตกนั้นก็คือ ปัญหาการต่อสู้ระหว่างพรรคฝ่ายค้านกับรัฐบาล ซึ่งแม้ว่าโดยข้อเท็จจริงนั้น การต่อสู้ระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาลเองก็มี 2 ลักษณะ การต่อสู้ด้วยกัน พวกหนึ่งนั้น ตั้งใจทำหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะต้องดูแลการทำงานของรัฐบาล อีกพวกหนึ่ง ต่อสู้กับรัฐบาลด้วยหวังว่า การต่อสู้นั้นจะกลายเป็นการสร้างอำนาจการต่อรอง ทำให้มีโอกาสพลิกสภาพจากฝ่ายค้านมาเป็นร่วมรัฐบาลในที่สุด
อย่างไรก็ตาม การปั่นสถานการณ์ให้งวดเข้าจนถึงต้องยุบสภานั้น สาเหตุใหญ่ที่ทุกฝ่ายเห็นตรงกันก็คือ การที่ฝ่ายค้านสามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้สำเร็จอีกครั้ง และมีการกำหนดลงไปแล้วว่า พลเอกเปรม จะต้องถูกอภิปรายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2531 ซึ่งก่อนหน้าวันที่ 9 ได้มีการก่อกระแสอภิปรายนอกสภา ในลักษณะที่ว่าจะมีการนำเรื่องส่วนตัว ที่เป็นจุดอ่อนของพลเอกเปรมมาผนวกกับ การอภิปรายถึงจุดบกพร่องในการทำงานของพลเอกเปรมและคณะ--จากจุดนี้เองที่เมื่อประสานกันเข้าระหว่างปัญหาภายในพรรคร่วมรัฐบาล กับปัญหาภายนอกที่เกิดจากฝ่ายค้าน จึงนำมาซึ่งการยุบสภา ครั้งที่ 3 ของพลเอกเปรม
แต่กระนั้น ก็ยังมีนักวิเคราะห์หลายรายเชื่อว่า นั่นเป็นการวิเคราะห์สถานการณ์การ เมืองอย่างเป็นระบบ-อย่างเป็นเหตุเป็นผล แต่จริง ๆ แล้ว เขาเชื่อกันว่า การยุบสภาของพลเอกเปรมนั้นเป็นเรื่องของความรู้สึก ด้วยความไม่กล้าเผชิญหน้ากับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่ใช่เรื่องของเหตุผลที่จะนำไปต่อสู้หักล้าง แต่เป็นเรื่องของความหวั่นไหวทางด้านอารมณ์ ซึ่งพลเอกเปรมมีความเปราะบางเป็นพิเศษ ซึ่ง ทั้งสองฝ่ายพิทักษ์พลเอกเปรมรู้และฝ่ายต่อต้านพลเอกเปรมก็รู้ด้วย เช่นกัน
จะมีการวิเคราะห์ที่ผิดแผกไปข้างต้น ก็เพียงการวิเคราะห์ของฝ่ายนำของสภาปฏิวัติแห่งชาติ ที่ให้เครดิตกับพลเอกเปรมอย่างเต็มเปี่ยมว่า การยุบสภาของพลเอกเปรมนั้น เป็นเรื่องของการป้องกันการครอบงำทางสภาของกลุ่มทุนทั้งทุนชาติและทุนต่างชาติ โดยอ้างว่าเพราะพลเอกเปรมเห็นว่า หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ย่อมจะเสียหายแก่ประเทศชาติ ซึ่งด้วยการวิเคราะห์เช่นนี้นี่ เองที่นำไปสู่การเสนอให้พลเอกเปรมเป็นประธานสภาปฏิวัติแห่งชาติ นำการ "ปฏิวัติ ประชาธิปไตย"!
จะมีการเลือกตั้ง 24 กรกฎาหรือไม่ หรือจะปฏิวัติ/รัฐประหาร
อย่างที่เกริ่นไว้แล้วในตอนต้นว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ท่ามกลางความอึมครึมไม่ชัดเจนทางการเมืองหลังการยุบสภา ว่าจะมีการเลือกตั้งตามหมายกำหนดการหรือไม่ ถ้าไม่มีจะเกิดอะไรขึ้น และก็มีหลายเสียงแทรกขึ้นมาในเรื่องของการ "ปฏิวัติ", "รัฐประหาร" หรือที่เบาลงไปกว่านั้นก็คือ จะมีการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปช่วงระยะเวลาหนึ่ง
ทำไมจึงเกิดความอึมครึมทางการเมือง ทำไมถึงจะไม่มีการเลือกตั้งตามกำหนด ทำไมจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงการเมืองในวิธีที่ไม่ปรกติ?
เหล่านี้เป็นคำถามที่ต้องการคำตอบที่ชัดเจน มิเช่นนั้นแล้ว จะยิ่งเพิ่มความสับสนไม่รู้จบ
ภายหลังการยุบสภาเมื่อวันที่ 29 เมษายน หรือว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว ก่อนหน้าการยุบสภาเสียด้วยซ้ำที่มี "ข่าวลือ" ออกมาว่า อาจจะมีการยึดอำนาจอย่างพิเศษสำหรับการเมืองไทย คือ ยึดเพียงชั่วคราว แล้วจัดการปัญหาต่าง ๆ อย่างเฉียบพลัน ทั้งปัญหาทางด้านการเมืองการทหาร เสร็จแล้วก็คืนอำนาจให้กับประชาชน ปล่อยให้มีการเลือกตั้งตามวิถีที่ควรจะเป็น ซึ่งพอยุบสภาเกือบจะในทันทีทันใด ก็มีข่าวออกมาว่า จะมีการยุบอำนาจในลักษณะพิเศษอีกเหมือนกันคือจะยึดเพื่อ "คืนสถานภาพของ ส.ส." ...ข่าวลักษณะที่ว่านั้นออกมาอย่างไม่มีหัวไม่มีหาง ไม่มีการอธิบายขยายความที่ชัดเจนถึงเหตุผล และวิธีปฏิบัติและที่สำคัญก็คือ ไม่มีการระบุกลุ่มที่คิดก่อการนั้นอย่างชัดเจนว่าเป็นบุคคลกลุ่มใด มีแนวทางและนโยบายทางการเมืองอย่างไร
และที่สำคัญ เมื่อพูดเรื่องการยึดอำนาจ นั้นทุกคนที่ได้ยินคำนั้นล้วนได้กลิ่นรัฐประหารกันโดยทั่วถึง ภาพของรัฐประหารครั้งเก่าทั้งที่สำเร็จและล้มเหลวผุดขึ้นมาในความคำนึงตามด้วยการนองเลือด และการถอยหลังเข้าคลองทางการเมือง หลายคนคิดว่าประชาธิปไตยที่มีอยู่ แม้เพียงครึ่งใบก็จะดีกว่าไม่มีแม้สักครั้ง และแม้ว่าข่าวของการยึดอำนาจครั้งที่ลือกันล่นนี้ จะว่าเป็นการ "ยึดอำนาจชั่วคราว" เท่านั้น แต่ไม่เคยมีประวัติศาสตร์การเมืองครั้งใด ปรากฏให้เห็นมาก่อนเลยว่า การยึดอำนาจนั้นจะทำกันเพียงชั่วคราว เพราะเมื่อได้อำนาจแล้วภายหลังก็ล้วนมีข้ออ้างที่จะรั้งอำนาจไว้ให้นานที่สุดด้วยกันทั้งนั้น....
เรื่องการยึดอำนาจชั่วคราวนั้น แม้เป็นเสมือนภาพร่างลอย ๆ ที่ไม่มีฐานใดรองรับแต่กระนั้น ก็สร้างความปั่นป่วนแก่บรรดานักการเมือง ที่เตรียมตัวกับการเลือกตั้งทั่วไป เพราะบรรดานักลงทุนทางการเมืองหลายคนเริ่มไม่แน่ใจว่า หากลงทุนในสนามเลือกตั้งครั้งนี้จะคุ้มทุนหรือไม่ ...ไม่ว่าจะยึดอำนาจกันก่อนการเลือกตั้งหรือหลังการเลือกตั้งก็ตาม
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบกและรักษาราชการผู้บัญชาการทหารสูงสุด ออกมาพูดคำว่า "ปฏิวัติ" เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันเกิดครบ 55 ปีของตน และเพิ่มเติมด้วยว่า หากตนจะใช้กำลังที่มีอยู่ในมือนั้น ไม่มีอำนาจใดมาขวางได้ ...เนื่องจากความสับสนปะปนระหว่างคำว่าปฏิวัติและรัฐประหาร และความสับสนต่อสถานการณ์ชนิดจับต้นชนปลายไม่ถูกของประชาชนทั่วไป ทำให้สถานการณ์การเมืองอึมครึมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะประโยคที่พลเอกชวลิตพูดค้างให้คิดไว้เสียด้วยว่า ตนจะทำปฏิวัตินั้นก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากประชาชน!!!
สถานการณ์วุ่นหนักขึ้น เมื่อมีประชาชนกลุ่มหนึ่งออกมาอนุญาตให้ทำการปฏิวัติ (อย่างสันติ) ได้ด้วยการจัดการประชุมสภาปฏิวัติแห่งชาติ สมัยที่ 1 ขึ้น โดยการนำของประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ศาสดาของการ "ปฏิวัติประชาธิปไตย" ที่เคยขายความคิดนี้ให้กับผู้นำทางการเมืองการทหารมาหลายยุคด้วยกันอย่างต่อเนื่องมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี (มีหลายคนที่ยอมรับแนวความคิดของประเสริฐ และนำไปสู่การปฏิบัติ แต่ก็ยังไม่มีใครไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ทั้งด้วยเงื่อนไขทางการเมืองและเงื่อนไขส่วนบุคคล หรือผู้ที่ยอมรับความคิดของประเสริฐนั้นไม่ทิ้งแนวทางนี้เสียกลางคัน ก็ถูกสถานการณ์ใหญ่ทิ้ง) ตลอดกว่า 20 ปีนี้ แม้ว่าครั้งนี้สภาปฏิวัติฯ มิได้ชูพลเอกชวลิตแต่กลับชูพลเอกเปรมขึ้นมาโดยการมอบตำแหน่งประธานสภาปฏิวัติแห่งชาติให้ แต่กระนั้น ด้วยเนื้อหาและเวลาที่ฟ้องกันระหว่างพลเอกชวลิตกับสภาปฏิวัติทำให้มีการผูกสองบุคคลให้เข้าสู่เรื่องเดียวกัน แม้ว่าด้วยข้อเท็จจริงนั้น ไม่ได้มีการเตรียมการให้สอดคล้องกันมาก่อน เพียงแต่ว่าเป็น "ความสมพงศ์" กันของบุคคลทั้งสองอย่างไม่ตั้งใจ (รายละเอียดความสัมพันธ์ทางความคิดระหว่างพลเอกชวลิตกับประเสริฐนั้นเป็นเรื่องยาวอีกเรื่องหนึ่งที่ละไว้ที่จะไม่กล่าวถึงในที่นี่ นอกจากจะสรุปสั้น ๆ เพียงว่า พลเอกชวลิตกับประเสริฐ มีความเห็นตรงกันในประเด็น ของการปฏิวัติประชาธิปไตยอย่างสันติ คือทำให้เกิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ด้วยวิธีการสันติ หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงด้วยกำลังและความรุนแรงทางการเมือง นี่คือ "จุดร่วม" ของบุคคลทั้งสองแต่ความสัมพันธ์ในทางส่วนตัวนั้น จากการยืนยันทางการข่าวจากทั้งสองด้านนั้น ชี้ว่าทั้งคู่ไม่ได้มีการติดต่อกันแล้วเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี แต่กระนั้น ก็มีความพยายามที่จะโยงทั้งคู่เข้าด้วยกัน เพราะความเหมือนทางความคิดนั่นเอง)
จากสถานการณ์ข้างต้นนั้น ทำให้เกิดคลื่นของการปฏิวัติขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
สำหรับคลื่นของการรัฐประหารนั้น เป็นปัญหาสืบเนื่อง เนื่องจากปัญหาความไม่ลงตัวด้านการนำในกองทัพ เพราะในช่วงก่อนหน้านี้พลเอกชวลิตได้แสดงความจำนงว่าจะลาออกเมื่ออายุ 55 ซึ่งครบเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา พร้อมกันนั้นเมื่อครั้งขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก พลเอกชวลิตก็ได้ย้ำอีกว่า ตนต้องการอยู่ในตำแหน่งนี้เพียง 2 ปีเท่านั้น ซึ่งก็ครบ 2 ปี ไปเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2531 จากวิกฤติการสืบทอดผู้นำในกองทัพนี่เองที่ทำให้กระแสรัฐประหารขึ้นสูง แต่กระแสดังกล่าวก็ลดลงไประดับหนึ่งเมื่อมีการยับยั้งใบลาออกของพลเอกชวลิต แต่กระนั้น การช่วงชิงการนำในกองทัพก็จะเป็นคลื่นใต้น้ำกันไปไม่จบสิ้น โดยเฉพาะพลเอกชวลิตนั้นยังคงแสดงเจตนารมณ์ส่วนตัวว่าต้องการเกษียณตัวเองก่อน 60 แม้ว่าขณะนี้จะขัดเจตนารมณ์ส่วนรวม (และของพลเอกเปรม) ไม่ได้ นั้นหมายถึงกระแสของการช่วงชิงการนำ โดยอาศัยทุกมาตรการรวมทั้งมาตรการรัฐประหารก็ยังดำรงอยู่โดยพื้นฐาน
จากกระแสของสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นนั้นคือ ที่มาของการวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กรกฎาคม หรือไม่ ส่วนเรื่องของการเลื่อนเลือกตั้งออกไปนั้นเป็นผลมาจากข้อเสนอของหลายฝ่ายรวมทั้งของสภาปฏิวัติแห่งชาติและของ ดร. ปราโมทย์ นาครทรรพ นักรัฐศาสตร์ชื่อดังที่ออกมาเคลื่อนไหวในวิกฤติทางการเมืองครั้งนี้อย่างแข็งขัน ซึ่งจะพูดถึงการเสนอปัญหา และแนวทางในการคลี่คลายสถานการณ์ของแต่ละแนวคิดต่อไปในช่วงหลัง แต่อย่างไรก็ตาม ได้มีการเสนอแนวคิดออกมาสอดคล้องกันหลายฝ่ายด้วยกัน โดยต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เป็นจริงในขณะนั้นซึ่งจะทำให้ได้ผู้แทนราษฎรที่เป็นตัวแทนอธิปไตยของปวงชนอย่างแท้จริง ขจัดการเข้าครอบงำสภาผู้แทนราษฎรโดยกลุ่มทุนใหญ่ทั้งทุนภายในและทุนต่างชาติ ก่อนที่จะให้มีการเลือกตั้งทั่วไป นั่นหมายถึงการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีกช่วงหนึ่ง มีทั้งที่เสนอว่าเลื่อนออกไปแค่เพียง 1 อาทิตย์ และที่จะให้ยืดออกไปเป็น 6 เดือนหรือ 1 ปี ก็มี (ถ้า...ถ้าหนังสือฉบับนี้วางแผงแล้วเขาเลื่อนการเลือกตั้งไปแล้วก็เพราะเหตุนี้ แต่ถ้าไม่เลื่อนก็เพราะสถานการณ์ไม่สุกงอมเพียงพอที่จะให้เขาทำกัน) ส่วนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญและเลื่อนการเลือกตั้งโดยไม่ยึดอำนาจนั้นทำกันอย่างไรจะได้ขยายความกันต่อไป
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในขณะที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้ ด้านหนึ่งเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนแล้วถึงเลือกตั้ง แต่อีกด้านหนึ่งนั้นอยากจะปล่อยให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กรกฎาคมไปก่อน แต่ก็รู้ดีว่าสถานการณ์ภายหลังการเลือกตั้งจะยิ่งปั่นป่วน จะตั้งรัฐบาลได้ยาก และถ้าหากตั้งได้ก็จะเป็นรัฐบาลที่อายุสั้น และความปั่นป่วนก็จะตามมาอีกซึ่งคาดว่าจะหนักหนาสาหัสกว่าสถานการณ์ในขณะนี้ และนั่นหมายถึงสถานการณ์ที่สุกงอมมาถึง ถ้าจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรด้วยวิธีการใด ค่อยไปว่ากันตอนนั้น!
ต้อแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเป็นอุปสรรคในการบริหารและการพัฒนาประเทศ
ต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญ 2521 นั้นเมื่อยกเลิกบทเฉพาะกาลแล้วคือการยอมรับบทบาทของพรรคการเมืองโดยสมบูรณ์ด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้นั้น ก็เพราะต้องการให้พรรคการเมืองมีพัฒนาการที่เข้มแข็ง แต่เนื่องจากเจตนารมณ์นั้นไม่สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริงของสังคมในขณะนี้ พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นจึงเป็นพรรคสภามากกว่าเป็นพรรคมวลชน พรรคการเมืองส่วนใหญ่จึงเป็นตัวแทนของกลุ่มทุนหรือแก๊งอิทธิพล มากกว่าจะเป็นตัวแทนของมวลชน เพราะฉะนั้น พรรคการเมืองและ ส.ส. ที่ชนะการเลือกตั้งตาม "กติกา" รัฐธรรมนูญฉบับนี้ และรัฐบาลที่เป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญฉบับจึงมีภาพดังต่อไปนี้
หนึ่ง- มีนายทุนใหญ่เพียงไม่กี่คนคุมพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง และอยู่เบื้องหลังความสำเร็จในการประมูลรายใหญ่ๆ อยู่เบื้องหลังการแก้กฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ และอยู่เบื้องหลังของการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ โดยไม่มีอำนาจใดมาทัดทานได้
สอง- ส.ส. จำนวนมากเป็นผู้ที่ร่ำรวยมาจากธุรกิจที่ไม่ถูกต้อง ผู้รับเหมาอภิสิทธิ และกลุ่มอิทธิพลต่าง ๆ หรืออาจจะกล่าวได้ว่า ผู้แทนราษฎรที่แท้จริงจะไม่ได้เป็น ส.ส. และ ส.ส. ไม่ได้เป็นผู้แทนราษฎร
สาม- เพราะฉะนั้น รัฐบาลที่เป็นผลพวง จึงเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอในการแก้ปัญหาอันหนักหน่วงของชาติ แต่กลายเป็นรัฐบาลที่ให้โอกาสกับนักการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์เข้ามาตักตวงได้อย่างเอาการเอางาน
8 ปีที่ผ่านมานั้น ก็นับว่าเพียงพอกับการพิสูจน์สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่ในทุกวันนี้ เพียงแต่ต้องยอมรับความจริงและพูดความจริงแก่กัน ยอมรับกันหรือไม่ว่า ความอ่อนแอในการบริหาร ความระส่ำระสายทางการเมือง ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชนในชาติในขณะนี้นั้น ล้วนมีผลมาจากเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับนี้
จากปัญหาพรรคการเมืองมีสภาพดังกล่าวมาข้างต้นนี่เองที่ทำให้ บทบาทของพลเอกเปรมจึงเป็นบทบาทซึ่งสูงเด่น และได้รับการสนับสนุนอย่างถึงที่สุดจากทางด้านกองทัพและระบบราชการ เพื่อเป้าหมายเพื่อที่จะคานดุลกับพรรคการเมือง ซึ่งในช่วงต้นนั้น พลเอกเปรมก็สามารถเล่นบท "คนกลาง" ซึ่งโดยความเป็นจริงก็คือตัวแทนของกองทัพ และระบบราชการดังกล่าวมาแล้วนั้นได้อย่างดี ดังนั้น ทหารและข้าราชการประจำ (โดยเฉพาะส่วนนำของ 2 องค์กรนี้) จึงต้องเล่นบทจงรักภักดีกับพลเอกเปรมอย่างถึงที่สุด สำหรับพลเอกเปรมนั้นตระหนักในความสำคัญของตนอย่างยิ่ง และด้วย "ความเป็นมนุษย์" ที่เลือดเนื้อและมีกิเลสและมีสิทธิหลงใหลในอำนาจได้นั้น ก็ทำให้พลเอกเปรมเกิดภาวะหลงในอำนาจหลงคิดว่าตนเองเป็นรัฐบุรุษผู้วิเศษของสังคมไทยปัจจุบัน จนลืมไปว่า การที่ตนอยู่ได้ในสถานะเช่นในขณะนี้เพราะเงื่อนไขใด และการดำรงอยู่ของพลเอกเปรมเพื่อคานดุลกับพรรคการเมืองนี้บางครั้งก็ถูกอิทธิพลของนักการเมืองทำให้สั่นคลอนไป รวมทั้งเสมือนกับเอื้อต่อการตักตวงผลประโยชน์ ต่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังพรรคการเมือง อยู่เบื้องหลังนักการเมืองอีกด้วย และที่สำคัญที่สุดก็คือทำให้สถานการณ์ทรงตัวไม่เลวร้ายจนเกินไปเท่านั้น แต่ไม่อาจแก้ไขปัญหาขนาดใหญ่อันใดของชาติได้
พลเอกเปรมอาจจะเป็นผู้นำทางการเมืองที่ดีกว่าผู้นำทางการเมืองในประวัติศาสตร์หลายคน แต่มาถึงวันนี้สิ่งที่พลเอกเปรมต้องตระหนักได้แล้วว่า เวลาสำหรับตนนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว ถ้าพลเอกเปรมไม่ยอมรับสภาพความเป็นจริงนี้ พลเอกเปรมก็ไม่อาจอยู่ในอำนาจอย่างราบรื่นไร้ปัญหาอย่างที่ผ่านมา และการดันทุรังนั้น จะทำให้พลเอกเปรมเจ็บปวดอย่างไม่เคยคาดคิดมาก่อน ขณะนี้เสียงเรียกร้องให้พลเอกเปรมลงจากอำนาจอย่างมีเกียรติยังคงมีอยู่ แต่ถ้ายืดเยื้อออกไปเสียงเรียกร้องนี้ก็จะยุติลงและแปรเสียงเป็นอีกทางหนึ่งซึ่งตรงกันข้าม
เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ไม่เอื้อประโยชน์ให้กับการบริหาร และการพัฒนาประเทศ ก็มีความดำริที่จะแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งดำรินี้มีมาไม่ต่ำกว่าครึ่งทศวรรษ และที่รุนแรงนั้นก็คือคราววิกฤติรัฐธรรมนูญในปี 2524-2526 ก่อนที่พลเอกเปรมจะยุบสภาครั้งที่ 2
แนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญของกองทัพ ซึ่งมีพลเอกชวลิตเป็นผู้นำ
กลุ่มแรกที่ดำริที่จะแก้รัฐธรรมนูญนั้นก็คือ ทางด้านทหาร จุดที่ต้องการให้มีการแก้ไขนั้นก็คือกระทบการเลือกตั้ง ขณะนี้ ข้อเสนอพัฒนามาเป็นระบบวันแมนวันโหวตคือผู้มีสิทธิออกเสียงหนึ่งคนเลือกผู้แทนราษฎรคนเดียว ให้คงวุฒิสภา และให้ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ตลอดจนดำริที่จะให้สภามีตัวแทนของกลุ่มอาชีพเพิ่มขึ้น
ต่อมาก็ได้มีการเสนอแนวความคิดที่จะให้มีการแยกอำนาจบริหารออกจากนิติบัญญัติซึ่งก่อนหน้าที่จะเขียนต้นฉบับชิ้นนี้เล็กน้อย ก็ได้มีการยืนยันจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้อ้างว่า พลเอกเปรมต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามแนวนี้ อาจจะมีเพิ่มเติมออกไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้นำฝ่ายบริหารไม่ว่าจะเป็นพลเอกเปรมหรือใครก็คือ เรื่องจำนวน ส.ส. ที่จะยื่นขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ จาก 1 ใน 4 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาเป็น 1 ใน 3 แต่เงื่อนเวลาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพลเอกเปรมนั้น ยังสับสนอยู่ว่าจะเป็นก่อนหรือหลังเลือกตั้งทั่วไปกันแน่ แต่นักสังเกตุการณ์ทางการเมืองหลายคนเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายหลังการเลือกตั้งมีความเป็นไปได้สูงกว่า
แนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญของสภาปฏิวัติแห่งชาติ ประเสริฐ ทรัพย์สุนทรเป็นผู้นำ
สำหรับแนวการแก้ไขรัฐธรรมนูญและแก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของทางด้านสภาปฏิวัติแห่งชาตินั้นก็คือ ปรับปรุงระบบราชการให้เป็นประชาธิปไตย โดยใช้มาตรการประสานกลไกรัฐกับกลไกพรรค (การเมือง), ยกเลิก พ.ร.บ. พรรคการเมืองให้พรรคการเมืองพัฒนาตามธรรมชาติ มิใช่โดยกฎหมายบังคับ, เมื่อสมาชิกวุฒสภาพ้นจากตำแหน่งตามวาระ หรือด้วยเหตุผล อื่น ให้ตั้งสมาชิกวุฒิสภาแทนตำแหน่งที่ว่างลงตามสาขาอาชีพอย่างยุติธรรม, ตั้งสภาการเลือกตั้งแห่งชาติ ประกอบด้วยส่วนราชการ พรรคการเมือง และองค์การมวลชน ทำหน้าที่ดำเนินการเลือกตั้งทั้งการเลือกตั้งทั่วไป และการเลือกตั้งซ่อม เพื่อให้เป็นไปตามหลัก "เลือกตั้งเสรี" และ "ผู้มีสิทธิหนึ่งคนเลือกผู้แทนคนเดียว", ตั้งคณะกรรมการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง องค์การมวลชน นักวิชาการและข้าราชการ ทำหน้าที่แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ และเมื่อรัฐสภาลงมติเห็นชอบแล้ว ให้ประชาชนแสดงประชามติก่อนประกาศใช้ ทั้งนี้ให้เสร็จสิ้นก่อนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า- สำหรับทางด้านสภาปฏิวัตินี้ ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 24 กรกฎาคม โดยชูพลเอกเปรมว่าเป็นผู้รักประชาธิปไตย และเหมาะสมด้วยคุณสมบัติทุกประการที่จะนำ "การปฏิวัติประชาธิปไตย"
แนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญของนักวิชาการอิสระ ดร. ปราโมทย์ นาครทรรพ
ส่วนแนวความคิดของ ดร. ปราโมทย์ นาครทรรพ นักรัฐศาสตร์ ซึ่งเคยเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญปี 2517 และอดีตเลขาธิการพรรคพลังใหม่นั้น เสนอทางออกในวิกฤติการเมืองและวิกฤติรัฐธรรมนูญปี 2531 นี้ว่า ควรจะแก้ด้วยการเลื่อนการเลือกตั้ง แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยไม่จำเป็นต้องมีการปฏิวัติรัฐประหาร แล้วถึงเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่
ดร. ปราโมทย์ได้ไปแสดงปาฐกถาเรื่องการเลือกตั้ง '31 ระหว่างวัฏจักรน้ำเน่ากับวงจรอุบาทว์ ต่อสภามนตรีสมาพันธ์สมาคมครูประถมศึกษาแห่งประเทศไทยและสมาชิกชั้นนำทั่วประเทศเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2531 ได้พูดถึงเงื่อนไขที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยวิธีการพิเศษดังนี้คือ
1) นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ในรัฐบาลรักษาการทุกคนสมัครใจหรือยินยอมลาออก เพื่อให้พระมหากษัตริย์ใช้อำนาจตามมาตรา 146 ของรับธรรมนูญ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี
2)หัวหน้าพรรคการเมืองถวายพระราชอำนาจคืนให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยแทนปวงชน วิธีการก็คือหัวหน้าพรรคการเมืองส่วนใหญ่ประกาศไม่ส่งผู้สมัครลงรับการเลือกตั้ง เป็นการปฏิเสธรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง และจะก่อให้เกิดช่องว่างทางอำนาจ เมื่อไม่มีผู้ใดทำหน้าที่ใช้อำนาจแทนปวงชนก็ต้องถวายพระราชอำนาจคืนให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ใช้อำนาจดังกล่าว
3)ในประเด็นนี้ ดร. ปราโมทย์ เห็นว่าการที่พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ หัวหน้าพรรคชาติประชาธิปไตยตัดสินใจไม่ส่งผู้สมัคร และยุบพรรคการเมืองของตนนั้น เป็นการสอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริงทางการเมือง และเป็นการปฏิเสธเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญปัจจุบันที่ไม่สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริง แม้ว่าดร. ปราโมทย์เชื่อว่า หัวหน้าพรรคการเมืองอีกหลายคนจะกระทำการกล้าหาญอย่างพลเอกเกรียงศักดิ์ แต่นักวิเคราะห์สถานการณ์คนอื่น ๆ ยังไม่เชื่อว่าจะมีใครเข้าใจสภาพอย่างที่พลเอกเกรียงศักดิ์เข้าใจ และกล้าหาญอย่างพลเอกเกรียงศักดิ์ ตราบใดที่เสียงปี่เสียงกลองของการเลือกตั้งยังดังอยู่ วิสัยนักการเมืองอาชีพนั้นไม่อาจหยุดเต้นได้ ไม่ว่าจะมีความปั่นป่วนเพียงใดก็ตาม
4) โดยเหตุผลเดียวกับการตราพระราชกำหนด หยุดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว และแก้ไขปรับปรุงรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยพรรคการเมือง การเลือกตั้ง เพื่อให้มีการพัฒนาพรรคการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง พร้อมทั้งกำหนดมาตรการ ในการแก้ไขปัญหารีบด่วนของประเทศชาติ ซึ่งไม่อาจจะกระทำได้โดยสภาผู้แทนราษฎร เช่นการรักษาความปลอดภัยในชีวิตของคนไทยจากบรรดานักเลงอันธพาล และเจ้าพ่อที่มีอาวุธสงคราม อาชญากรทางเศรษฐกิจ และการใช้อำนาจรัฐกอบโกยทรัพยากรและความมั่งคั่งของแผ่นดิน
5) ตราพระราชกฤษฎีกา กำหนดการเลือกตั้งภายใน 6 เดือนหรือไม่เกิน 1 ปี เพื่อพรรคการเมืองเตรียมตัวและปรับตัว ถึงแม้ว่าจะยังไม่สมบูรณ์เป็นระบบ ก็ยังดีกว่าที่เป็นอยู่ขณะนี้
6) สำหรับความต้องการที่จะให้การเปลี่ยนแปลงในส่วยของพรรคการเมืองและระบบเลือกตั้งของ ดร. ปราโมทย์นั้น ดร. ปราโมทย์ต้องการให้มีการเลือกตั้ง ในระบบวันแมน-วันโหวต, ผู้สมัครรับเลือกตั้งจะต้องมีความเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองในเวลาที่ไม่น้อยกว่า 6 เดือนก่อนการเลือกตั้ง, ในกรณีที่ผู้สมัครไม่สังกัดพรรคการเมือง ส.ส. อิสระจะต้องเข้าสังกัดพรรคการเมืองทันทีภายหลังการได้รับเลือก, ไม่มีการกำหนดจำนวนผู้สมัครรับเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมือง
อย่างไรก็ตาม ดร. ปราโมทย์ก็เสนอให้พลเอกเปรมเป็นผู้นำการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ สำหรับเหตุผลก็เพราะภาพพจน์และบารมีของพลเอกเปรม ทั้งนี้พลเอกเปรมจะต้องได้รับการสนับสนุนจากพลเอกชวลิตในฐานะผู้นำทางทหาร
จะเห็นได้ว่า ทั้ง 3 แนวที่ยกมาข้างต้นนั้น จะเป็นได้ว่ามีความเหลื่อมในเนื้อหาน้อยมาก และมีความเหมือนอย่างฉกาจอยู่ 2 ประการคือ หนึ่ง) ทั้ง 3 คน 3 แนว ต้องการให้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ คัดค้านการเปลี่ยนแปลงด้วยกำลัง สอง) ทั้ง 3 คน 3 แนว ต้องการให้พลเอกเปรมเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้
จะมีเพียงความต่างก็ตรงที่เงื่อนเวลาเท่านั้น คือพลเอกชวลิตนั้น ไม่เร่งร้อนคือ แก้ไม่ได้ก็ยังไม่แก้ มีลักษณะที่รอได้ และเชื่อกันว่าพลเอกชวลิตนั้นต้องการให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กรกฎาคมที่จะถึงนี้เสียก่อน เมื่อมีสภาแล้วก็ค่อยยกเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้มาว่ากันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งครั้งนี้พรรคการเมืองที่เห็นด้วย (คาดว่าจะนำโดยพรรคชาติไทย) ในเรื่องนี้น่าจะเป็นหัวหอกแทน เพราะที่แล้วมาทหารนั้นนำจุดอ่อนของตัว ที่มีภาพพจน์ไม่ใช่นักประชาธิปไตยไปเล่นปัญหาการ เมืองในสนามของพรรคการเมือง โอกาสที่จะประสบความสำเร็จจึงเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง และก็พิสูจน์มาแล้วล้มเหลวมาโดยตลอดกว่าครึ่งทศวรรษ ยกเว้นเสียแต่ว่าจะมีการมาเร่งสถานการณ์กันจนปั่น และเกิดวิกฤติขนาดใหญ่กว่าที่เป็นอยู่มาถึง หรือมีแรงกดดันจากตัวแปรที่เหนือการควบคุมของพลเอกชวลิต ทำให้จะต้องแก้ไขปัญหาอย่างเฉียงพลัน นั่นเป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่อาจจะทำให้ พลเอกชวลิต นำเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาดำเนินการก่อนกำหนดที่ วางไว้ในขั้นต้นคือหลังการเลือกตั้งทั่วไป
สำหรับประเสริฐและดร. ปราโมทย์นั้นมีความเห็นว่า วิกฤติการเมืองขณะนี้จะต้องได้รับการแก้ไขแล้ว รอต่อไปไม่ได้แล้ว ทั้งสองคนเห็นว่าสถานการณ์ขณะนี้สุกงอมและเอื้อให้ทำการเปลี่ยนแปลง
ซึ่งเรื่องนี้นักวิเคราะห์การเมืองที่เจนจัดเห็นว่า ความคิดของประเสริฐและดร.ปราโมทย์นั้น ค่อนข้างที่จะมองจากด้านอัตวิสัยเกินไป และมีลักษณะ "ล้ำหน้า" ต่อสถานการณ์ที่เป็นจริง
ดร. ชัยอนันต์ สมุทวณิช รัฐธรรมนูญแก้ได้แต่ต้องไม่ลับ ๆ ล่อ ๆ
ปัญหาในเรื่องของการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ ที่เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมากนั้นอยู่ที่ผู้ที่เสนอให้มีการแก้ไข เรื่องนี้ผู้ที่จุดกระแสมาตั้งแต่แรกนั้นก็คือฝ่ายทหาร แม้ว่าระยะหลังจะมีลักษณะที่นุ่มนวลขึ้น ลดการเผชิญหน้าลงไป แต่ฝ่ายประชาธิปไตยส่วนใหญ่นั้น ยังติดปัญหาภาพพจน์เดิมที่ทหารเป็นฝ่ายเผด็จการ และห่วงถึงวัตถุประสงค์ที่อาจแฝงเร้น ทำให้กังขาต่อการที่ทหารเป็นฝ่ายเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และด้วยพฤติการณ์ของทหารเป็นฝ่ายเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และด้วยพฤติการณ์ของทหารเองก็ยังติดในเรื่องการสำแดงกำลัง แม้ว่าจะไม่มีการใช้กำลังออกมาในทางรุนแรงก็ตาม นอกจากนั้น ก็ตามด้วยความสับสนในเนื้อหาต่าง ๆ ที่ผู้นำทางการทหารเป็นผู้เสนอ อาทิเช่นเมื่อผู้นำทางการทหารพูดเรื่อง "การปฏิวัติ" ภาพพจน์เก่า ๆ ของทหารที่โผล่ผุดขึ้นทันที และผู้นำทางการทหารขณะนี้มักนิยมพูดปรัชญาทางการเมืองลึกซึ้ง โดยใช้ศัพท์ที่มีลักษณะเป็น "คำหลวง" ในภาษาของฝ่ายซ้ายมาก และขาดการอรรถาธิบายที่แจ่มชัด ทำให้ผู้นำทางการทหารที่แสดงตนมาโดยตลอดว่าเป็นผู้มีจิตใจกว้างขวาง เป็นนักประชาธิปไตยคนหนึ่งนั้น ต้องเดินไต่เส้นลวดระหว่างประชาธิปไตยกับเผด็จการอย่างน่าหวาดเสียว แถมผสมโรงด้วยภาพการโฆษณาให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ผู้เรียกร้องการปฏิวัติประชาธิปไตยอย่างสันติ แต่มีภาพของคอมมิวนิสต์ประทับอยู่แม้จะกลับใจ? ก็ตาม ทำให้ผู้นำทางการทหารถูกเหวี่ยงไปอยู่ขั้วซ้ายและถูกป้ายสีแดงเต็มตัว
ส่วนนักคิดและนักวิชาการที่คิดเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมานั้น ก็เป็นความคิดริเริ่มที่ไม่มีฐานทางการเมืองรองรับชัดเจน นอกจากนั้น ยังมีบางคนที่ทำในลักษณะขายความคิดหรือประสานความคิดกับทหารเป็นการภายใน และผลักดันจากคนกลุ่มน้อยที่มีอำนาจในลักษณะของการเล่นการเมืองจากบนลงสู่ล่างอีกด้วย ทำให้สถานการณ์ยิ่งคลุมเครือขึ้นเกิดความขัดแย้งแตกแยกยิ่งขึ้น
จากปัญหาดังกล่าวข้างต้นนี้เอง ที่ทำให้นักวิชาการอิสระบางคนอย่างเช่น ดร. ชัยอนันต์ สมุทวณิช เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นควรจะมีความร่วมมือกันของทุกฝ่ายในสังคม และควรทำกันอย่างชัดเจนโอ่อ่าผ่าเผย ไม่ควรทำกันในกลุ่มคนจำนวนน้อยและอย่างลับ ๆ ล่อ ๆ ทั้งนี้โดยผ่านบทบาทของรัฐสภา
"ลองเอาอย่างนี้ไหมครับ หลังเปิดสภาแล้ว (หลังการเลือกตั้งทั่วไป 24 กรกฎาคม 2531- ผู้เขียน) ให้สภาผู้แทนราษฎรนั่นแหละตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ (เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ-ผู้เขียน) ขึ้นมาชุดหนึ่ง ให้เวลาทำงาน 1 เดือน คณะกรรมาธิการชุดนี้ควรประกอบด้วย ส.ส., วุฒิสมาชิก, ทหาร (ซึ่งจะเข้ามาเป็นกรรมาธิการในฐานะวุฒิสมาชิกก็จะเหมาะสม), นักหนังสือพิมพ์, นักธุรกิจ, นักพัฒนาที่สังกัดองค์กรอาสาสมัครเอกชน, นักวิชาการและตัวแทนนิสิตนักศึกษารวมแล้วประมาณ 30-40 คนก็ได้
"ใน 1 เดือนนี้ ในการประชุมทุกครั้ง ให้มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียง และบางครั้งอาจ ถ่ายทอดทีวีก็ได้ ไหน ๆ จะแก้กติกาหลักทั้งที ควรเปิดเผย ไม่ควรไปจัดตั้งกันลับ ๆ ล่อ ๆ ผมว่าแบบนี้ จะดีกว่า เป็นการปฏิบัติตามหลักการของสังคมศิวิไลซ์ ใครคิดอย่างไรก็แสดงออกมาตรง ๆ คนทั่วไปเขาจะได้รู้กัน แบบกระซิบเฉพาะให้บิ๊กโน่นบิ๊กนี่ฟังหรือแนะนำว่า ยึดอำนาจสักวันสองวันแล้วคืนอำนาจให้ประชาชนนั้น ขอให้หยุดเถอะครับ"
ดร. ชัยอนันต์เสนอความเห็นข้างต้นใน "สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์" ฉบับวันที่ 5-11 มิถุนายน 2531
ซึ่งผู้สันทัดกรณีทางการเมืองนั้น ค่อนข้างจะเชื่อว่า แนวความคิดของดร. ชัยอนันต์เป็นแนวที่ "รับได้" มากในวงกว้าง โดยเฉพาะในหมู่ผู้ที่เรียกตนเองว่าเป็นนักประชาธิปไตยและพิจารณาปัญหาประชาธิปไตยจากทฤษฎีตะวันตก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเคลื่อนไหวสูงเนื่องจากเบื่อหน่ายสภาพการเมืองปัจจุบัน แต่กระนั้น คงต้องมีการปรับรูปแบบและรายละเอียดบางประการเท่านั้น และจำนวนอาจไม่ใช่เพียง 30-40 อย่างที่ ดร. ชัยอนันต์ว่าไว้ก็ได้ อาจจะมีลักษณะที่กว้างขวางกว่านั้น มีตัวแทนกลุ่มชนมากกว่ากลุ่มนั้น เหล่านี้เป็นอาทิ
อย่าไรก็ตาม ขณะที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้ ได้มีการเคลื่อนไหวจากบางกลุ่มที่เรียกตนว่า "ประชาชนไทยเจ้าของประเทศ" ได้เรียกร้องให้มีการชุมนุมทั่วประเทศ (กรุงเทพฯ ที่สนามหลวงและต่างจังหวัด บริษัทหน้าศาลากลางจังหวัดทุกจังหวัด) ในวันที่ 24 มิถุนายน 2531 ทั้งนี้เพื่อคืนพระราชอำนาจให้กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว... กระแสนี้ได้รับการพูดถึงและกล่าวขานกันมาก ในทำนองที่ว่าบ้านเมืองวุ่นวายกันนัก ผู้นำไม่สามารถแก้ปัญหาทางการเมืองได้และต้องพึ่งพระบารมีอยู่เสมอ ถ้าเป็นเช่นนั้น ทำไมไม่คืนพระราชอำนาจกลับให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสียเล่า
กระแสนี้ เจ้าหน้าที่ด้านการข่าวหลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า แม้จะไม่สัมฤทธิ์ผลตามที่พวกเขาประสงค์ แต่จะเป็นกระแสหนึ่งที่กระตุกให้ผู้นำทางการเมือง "ต้องคิด" ส่วนจะ "ได้คิด" หรือไม่นั้นไม่อาจทราบได้
ระยะผ่าน! มักยาวนาน...อย่าใจร้อน
สถานการณ์ที่เรียกกันว่าระยะผ่านหรือระยะหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองในสังคมไทยเช่นนี้ เป็นระยะที่กินเวลา และเป็นช่วงที่กินบุคคลเช่นกัน คนที่อดทนสูงสุดและมองการณ์ไกลจะเป็นผู้ที่ได้เปรียบมากที่สุด คนที่ใจร้อนและล้ำหน้านั้นมักจะล้มเหลว ถ้าเข้มแข็งพอที่จะหยิบซากของตนเองขึ้นต่อสู้ใหม่ ก็ไม่มีปัญหา แต่พวกที่ล้าหลังไม่ปรับตัวให้เข้ากับสภาพของสถานการณ์ที่เป็นจริง ก็จะมีแต่ตกเวทีไปในที่สุด
สำหรับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในรัฐบาลรักษาการนั้น หากมีจิตใจที่กว้างขวางและเข้าใจถึงแก่นของกลุ่มที่เรียกร้องกลุ่มต่าง ๆ ในขณะนี้ ก็จะรู้ว่าตนควรจะต้องทำตัวอย่างไร ทั้งที่เกิดประโยชน์ต่อตนและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ
ถ้าพูดกันอย่างเป็นธรรมที่สุด พลเอกเปรมนั้นคือ "เหยื่อทางการเมือง" ของโครงสร้างสังคม การเมืองและเศรษฐกิจที่ไม่ได้ดุลของสังคมไทยในปัจจุบันนี้ ซึ่งหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะไม่กลายเป็นเป้าของคู่ต่อสู้ ซึ่งเรื่องนี้พลเอกเปรมและผู้พิทักษ์ทั้งหลายควรจะต้องพิจารณาจากจุดนี้เป็นพื้นฐาน ก่อน ที่จะกำหนดวิธีการ แนวทางและนโยบายต่าง ๆ ในฐานะผู้ปกครองปัจจุบัน แทนที่การแก้ปัญหาด้วยการท้าทายการเคลื่อนไหวมวลชน หรือการออกมาพูดของผู้ที่ต้องการแสดงให้พลเอกเปรมเห็นว่าตนสุดจิตสุดใจอยู่กับพลเอกเปรม แต่การพูดนั้นก่อให้เกิดความแตกแยกร้าวรานยิ่งขึ้น
"ระบบอำนาจในปัจจุบันเป็นการโดดเดี่ยว แบ่งแยก และทำลาย ทำให้เกิดความอ่อนแอ ควรจะคิดระบบเสริมเพื่อผสานปัญญาบารมี เข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่สำคัญของประเทศ"
นายแพทย์ประเวศ วะสี กล่าวในบทความที่เสนอทาง "สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์" ฉบับวันที่ 5-11 มิถุนายน 2531 ซึ่งนับว่าเป็นการให้ข้อคิดที่น่าสนใจ
การหันหน้าเข้าหากันของทุกกลุ่มทุกฝ่ายในสังคม เพื่อระดมพลังในการสร้างสรรค์ประเทศ นั้นเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งในสถานการณ์ขณะนี้...พลังทุกส่วนของสังคมจะต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กัน และอย่างได้ดุล มิเช่นนั้นแล้ววิกฤติใหญ่จะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก หรือไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และเมื่อถึงเวลานั้น อาจจะสายเกินไป...
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|