สแตนดาร์ดฯฮุบSCNB100%


ผู้จัดการรายวัน(31 มีนาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

กองทุนฟื้นฟูฯ เทขายหุ้นธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน ให้ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด 25% ในราคาหุ้นละ 22 บาท รวมมูลค่า 3.8 พันล้านบาท หลังจากประสบผลสำเร็จในการขายหุ้นยูโอบีรัตนสินให้กับกลุ่มยูโอบี ได้เงินแล้วกว่า 2.95 พันล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 3 แบงก์ ทั้งกรุงไทย นครหลวงไทย และไทยธนาคาร ยังรอจังหวะให้ได้ราคาสูงที่สุดก่อนจะขาย ด้านผู้บริหารกลุ่มสแตนดาร์ดฯ ตอกย้ำรุกธุรกิจในไทยต่อ หลังถือหุ้นใหญ่ทั้ง 100%

นางสว่างจิตต์ จัยวัฒน์ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคาร แห่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายจัดการกองทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ได้ลงนามขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมดในธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน (SCNB) หรือธนาคารนครธนเดิม สัดส่วนประมาณ 25% ให้กับธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ในราคาหุ้นละ 22 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นประมาณ 3,800 กว่าล้านบาท

"ราคาขายที่หุ้นละ 22 บาทเป็นราคาที่กองทุนฟื้นฟูฯพอใจ เนื่องจากเป็นราคาที่ได้ส่วนต่างกำไรราคาหุ้นมากพอ และสูงกว่าราคามูลค่าทางบัญชีของธนาคารหลายเท่า โดยการขายหุ้นที่เหลือ 25% นี้ถือเป็นการทำตามสัญญาเก่าที่ได้ทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ไว้เมื่อนานมากแล้ว แต่เพิ่งจะมาลงนามซื้อขายกันในช่วงนี้"

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2542 กองทุนฟื้นฟูฯ ได้ขายหุ้นธนาคารนครธน 75% ให้กับกลุ่มสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดไปแล้ว และได้ไปเปลี่ยนชื่อเป็นสแตนดาร์ดชาร์เตอร์นครธน ซึ่งหลังจากขายหุ้นครั้งนี้ทำให้กลุ่มสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ถือหุ้นในธนาคารดังกล่าวทั้ง 100% ซึ่งสามารถทำได้เพราะมีการยกเว้นให้ตามเกณฑ์เดิม และเป็นไปตามหลักการสถาบันการเงิน หรือบริษัทต้องถือหุ้นได้ในสถาบันการเงินเดียวเท่านั้น ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (มาสเตอร์แพลน)

นางสว่างจิตต์ ยังกล่าวด้วยว่า ก่อนหน้านี้ กองทุนฟื้นฟูฯ ได้ขายหุ้นที่เหลือประมาณ 24% ให้กับธนาคารยูโอบี สิงคโปร์ ได้เงินรวมทั้งสิ้น 2,950 ล้านบาท ถือเป็นราคาที่ดี ซึ่งทำให้ยูโอบีถือหุ้นในธนาคารยูโอบี รัตนสิน 100% และสามารถนำธนาคารยูโอบี รัตนสินไปควบรวมกิจการกับธนาคารเอเชียได้ ตามหลักการเดียวกับสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดนครธนที่ต้องถือหุ้นในสถาบันการเงินแห่งเดียว ตามหลักการในแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

ในส่วนของ 3 ธนาคารที่เหลือ ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารไทยธนาคารนั้น ทางกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯยังไม่มีแนวคิดที่จะขายออกไป หรือนำไปควบรวมกิจการกับธนาคารใด ถึงแม้ว่าขณะนี้จะมีกำไรหากขายหุ้นของทั้ง 3 ธนาคารออกไป เนื่องจากทางกองทุนฟื้นฟูฯ เห็นว่าแนวโน้มราคาหุ้นน่าจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงต้องการรอให้ราคาดีที่สุดจึงจะนำหุ้นที่ถืออยู่ ออกมาขาย เพื่อนำเงินรายได้ไปชดเชยภาระหนี้สินของกองทุนฟื้นฟูฯ

"แบงก์นครหลวงไทย และไทยธนาคาร มีสถาบันการเงินทั้งของไทย และต่างประเทศเข้ามาขอซื้อหุ้นอยู่หลายแห่ง และยังได้รับการทาบทามเพื่อควบรวมกิจการจากหลายแห่งอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบงก์นครหลวงไทย ซึ่งเป็นแบงก์ที่มีหนี้เสียน้อยก็มีคนสนใจเข้ามาเจรจาหลายราย แต่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯยังไม่ได้ตัดสินใจ เพราะต้องรอจังหวะที่เหมาะสมเพื่อให้ขายได้ในราคาดีที่สุด ส่วนแบงก์ไทยก็เป็นอีกแบงก์ที่มีคนสนใจหลายแห่งเช่นกัน" นางสว่างจิตต์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากยังไม่ขายหุ้นธนาคารเหล่านี้ออกไป แต่มีการตั้งสถาบันประกันเงินฝากและต้องยุบกองทุนฟื้นฟู จะโอนหุ้นเหล่านี้ให้กระทรวงการคลังดูแลหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องของอนาคต จะต้องรอดูก่อนว่าจะขายหุ้นออกไปได้เมื่อไร ก่อนหรือหลังที่จะยุบกองทุนเพื่อการฟื้นฟู เพราะถึงแม้จะยุบกองทุนก็ยังต้องดูแลจัดการเรื่องงบดุลของตัวเอง และดูแลบรรษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) ที่อยู่ในการดูแลของกองทุนฟื้นฟูฯ อยู่

ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การขายหุ้นธนาคารนครธนออกไป เป็นไปตามเงื่อนไขเดิมที่ทำไว้ตั้งแต่การขายหุ้น 75% ในช่วงปี 2542 ทำให้ตอนนี้กลุ่มสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ถือหุ้นได้ 99.99% แต่ยังถือว่าเป็นธนาคารพาณิชย์ของไทยอยู่ เพราะตามหลักการแล้วหุ้นของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดในอนาคตจะทยอยลดลงจนเหลือ 49% เพราะจากนี้หากสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดนครธน มีการเพิ่มทุนอีก สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ดจะซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วนไม่ได้ แต่จะสัดส่วนจะลดลงเหลือ 49% ไม่สามารถระบุได้ สำหรับราคาขายหุ้นที่ได้ถือเป็นราคาที่ดีที่สุดในขณะนี้

ด้านนางแอนมารี เดอร์บิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดนครธน กล่าวว่าธนาคารจะจัดทำคำเสนอซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายย่อย (Tender Offer) ตามที่กฎหมายกำหนดสำหรับหุ้นที่เหลือในราคาเดียวกับที่ซื้อจากกองทุนฟื้นฟูฯ คือ ที่ราคาหุ้นละ 22 บาท

"การที่กลุ่มธนาคารถือหุ้นของธนาคารเพิ่มขึ้น แสดงถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจระยะยาวในประเทศไทย และยังแสดงถึงความสำคัญของไทยที่มีต่อกลุ่มธนาคาร ธนาคารมีความมุ่งมั่นในการขยายธุรกิจและการมอบประสบการณ์การเป็น "คู่คิดมิตรแท้" แก่ลูกค้าเพื่อจะทำให้เราเป็นธนาคารที่ดีที่สุด ในประเทศไทย"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.