|
วัฒนาพานิช เสือผู้มาใหม่ ฤาจะย้อนรอยเดิม ?
โดย
เพิ่มพล โพธิ์เพิ่มเหม
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2531)
กลับสู่หน้าหลัก
วัฒนาพานิชนั้น ต้นตระกูลรากฐานเดิมมาจาก "โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง" ประวัติยาวนานไม่แพ้ ไทยวัฒนาพานิช แต่เลี่ยงเชียงร่ำรวยมาจากพิมพ์และขายหนังสือพระ หนังสือนักธรรมบาลี เลี่ยงเซียง ถึงกับกล้าคุยว่าในอดีต "ตั้งแต่พระราชาคณะลงมาจนถึง พระเถระในพระนครยันเชียงใหม่ องค์ใดที่ไม่ รู้จักเลี่ยงเซียงเป็นไม่มี"
พี่น้องในตระกูลเลี่ยงเชียงแตกหน่อกลายเป็นเจ้าของกิจการ โรงพิมพ์และสำนักพิมพ์หลายแห่งเช่น โรงพิมพ์เลี่ยงเชียง สำนักพิมพ์อำนวยสาส์น โรงพิมพ์ธรรมบรรณคาร สำนักพิมพ์อุดมศึกษา สำนักพิมพ์รุ่งเรืองสาส์น เซ็นทรัลเอ็กเพรสการพิมพ์ สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช ส่วนใหญ่มีทำเลอยู่แถวสำราญราษฎร์ เสาชิงช้า
บริษัท สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช จำกัด ของเสี่ยเริงชัย จงพิพัฒนสุข ดูจะใหญ่โตที่สุดในกิจการแถบสำราญราษฎร์ และมาเล่นธุรกิจแบบเรียนที่มีมูลค่าเป็นพันล้านในแต่ละปี วัฒนาพานิช เลยยิ่งอู้ฟู่ ไปกันใหญ่
จะจงใจหรือไม่จงใจก็ตามแต่ เสี่ยเริงชัยก็ตั้งชื่อสำนักพิมพ์แห่งนี้ใกล้เคียงกับไทยวัฒนาพานิช ของคุณนายบุญพริ้งเอามาก ๆ เหมือนจงใจจะประกาศตัวเป็นคู่แข่งกับ ทวพ. อย่างเต็มที่ หรือจะอาศัยกิน บุญเก่าของทวพ. ก็สุดจะคาดเดา แต่เมื่อทวพ. เริ่มตก วพ. ติดตลาด เสี่ยเริงชัยก็ต่อท้ายคำว่า "สำราญราษฎร์" เข้าไปข้างท้าย กลายเป็น "วัฒนาพานิช สำราญราษฎร์" ตัวเบ้อเริ่มอยู่หน้าร้านและในหนังสือทุกเล่ม เพื่อแยกแยะได้ง่ายและกันตัวเองออกมาจากไทยวัฒนาพานิช
ในสงครามหนังสือแบบเรียน ดูเหมือนว่าวัฒนาพานิช จะมีทีเด็ดอยู่เรื่อย ๆ เริ่มตั้งแต่ที่ปรึกษาระดับหัวกะทิ ที่เป็นถึงอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการสมัยรัฐบาลหอย ดร. ภิญโญ สาธร เรื่องการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรในปี 2521 ดร. ภิญโญ ย่อมต้องรู้เรื่องดีคนหนึ่ง เพราะคาบเกี่ยวกับสมัยของท่านอดีตรมว. ผู้นี้ เดี๋ยวนี้ดร. ภิญโญยังเขียนตำรา สร้างสรรค์ ผลงานวิชาการให้กับวพ. จัดพิมพ์เป็นแบบเรียนสำหรับเด็กนับสิบ ๆ รายการ
ถ้าพลิกหนังสือพิมพ์ย้อนไปที่ปี 2521 วันที่ 24 พฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงใกล้เปิดเทอมมีข่าวขึ้นหน้าหนึ่งพาดหัวว่า "ตบตากรมวิชาการ พิมพ์ตำราเถื่อนขาย" เนื้อข่าวคือว่า แบบเรียนหน้าที่พลเมืองชั้น ม. 2 ที่สำนักพิมพ์วัฒนาพานิชขออนุญาตจัดพิมพ์จำหน่ายไว้ 5,000 เล่มและทุกเล่มต้องมาประทับตรากรมวิชาการเพื่อเสียค่าตีตราปกหรือ "ค่าต๋ง" แก่กรมวิชาการนั้น เผอิญกรมวิชาการไปเจอจำนวนหนังสือจริง ๆ เข้า มันปาเข้าไป 68,000 เล่ม เรื่องของเรื่องก็เลขต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริง หนังสือพิมพ์เล่นข่าวนี้อยู่หลายวัน แต่ประเด็นไปอยู่ที่การร่วมมือทุจริต ของคนในกรมวิชาการเพราะจำนวนหนังสือที่มากขนาดนั้น คนในต้องรู้เห็นเป็นใจแน่ ๆ แต่ไม่นานนักเรื่องก็เงียบ วัฒนาพานิชเลยรอดตัว
เรื่องเก่า ๆ อย่างนี้ โกวิทย์ วรพิพัฒน์ คนที่เคยเป็นรองอธิบดีสมัยนั้น แต่เป็นอธิบดีกรมวิชาการสมัยนี้น่าจะรู้เรื่องดี
เหตุการณ์ครั้งนั้นคนที่เดือดร้อนกลับกลายเป็นไทยวัฒนาพานิช เพราะเพียง 3 วันหลัง มีข่าว ทวพ. ก็จองหนังสือพิมพ์ครึ่งหน้าประกาศว่าตัวเองไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ชื่อของสำนักพิมพ์มันคล้าย ๆ กันเท่านั้นเอง
ครั้งหนึ่งวัฒนาพานิช เคยใจป้ำบริจาคหนังสือแบบเรียนให้กับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแจกจ่ายแก่โรงเรียนทั่วประเทศ แถมใจดีจัดหีบห่อออกค่าขนส่งให้เสียอีก ขอเพียงแค่บันทึกปะหน้าจากกระทรวงศึกษาธิการติดไปกับหนังสือเท่านั้น คนรับที่เป็นครูตามต่างจังหวัด รับหนังสือพร้อมเปิดบันทึกของกระทรวงฉบับนั้นอ่าน กลับไพล่คิดไปว่า นี่คือหนังสือแบบเรียนตัวอย่างที่กระทรวงส่งมาเพื่อให้ครูแนะให้เด็กซื้อเสียฉิบ
เรื่องการบริจาคก็เช่นกัน คุณนายบุญพริ้งแห่งไทยวัฒนาพานิช มักชอบบริจาคอยู่เนือง ๆ แต่ก็บริจาคไปเรื่อย ใครขอมาก็ให้ ขณะที่วัฒนาพานิชชอบบริจาคเหมือนกัน แต่ถนัดเลือกคนรับและเลือกจังหวะในการให้ คนไหนหรือกรมไหนในกระทรวงศึกษาธิการน่าจะได้รับบริจาคบ้าง "ผู้จัดการ" ไม่อยากคาดเดา!
ส่วนเรื่อง "เปอร์เซ็นต์ลด" แก่ลูกค้านั้นเป็นที่รู้กันว่า ในสถานการณ์สู้รบ การแข่งขันในเรื่องนี้ย่อมต้องมีเป็นธรรมดา เพียงแต่วพ. ที่เป็นสำนักพิมพ์เล็ก ๆ บริหารโดยเสี่ยเริงชัยคนเดียวย่อมคล่องตัวในการตัดสินใจมากกว่าก็เท่านั้น
วพ. มีหนังสือใหม่ขึ้นมาเรื่อยๆ หนังสือสรุปเนื้อหาบ้าง หนังสือแบบฝึกหัดบ้าง หนังสือแบบทดสอบบ้าง หรือหนังสือที่ยำทั้งสามอย่างอยู่ในเล่มเดียวกันก็มี อาณาจักรหนังสือแบบเรียนระดับประถมจึงแผ่กว้างไม่สิ้นสุด วพ. เลยแฮปปี้มาก ๆ ในวงการหนังสือแบบเรียนนี้
วพ. ออกจะเติบโตเร็วมาก ๆ ในช่วงสิบปีมานี้ ก็คล้าย ๆ ยุคของทวพ. สมัยก่อน และเผอิญเสี่ยเริงชัยเป็นพี่ชายคนโต มีน้องที่เป็นน้องสาวเป็นพรวน "ผู้จัดการ" ได้ยินข่าวแว่ว ๆมาว่าน้อง ๆ ของเสี่ยเริงชัยก็ออกจะไม่พอใจและอยากจะแบ่งสมบัติในวพ. ของเสี่ยเริงชัยอยู่ครามครัน
ธุรกิจสิ่งพิมพ์นี่ อะไร ๆ มันก็ซ้ำรอยได้บ้างเหมือนกันนะ...
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|