ยุทธศาสตร์แห่งการถอยร่น เริ่มต้นที่นี่

โดย เพิ่มพล โพธิ์เพิ่มเหม
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

ปี 2521 หลักสูตรการเรียนการสอนของไทยเปลี่ยนแปลงแบบหักมุม ความจริงแล้ว หลักสูตรที่ใช้สอนในโรงเรียนได้ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ๆ รวมทั้งกระแสการเรียกร้องให้ "เผาตำราเรียน" ก็ขึ้นสูงสุดในช่วงปี 2517-18 แต่มาลงล็อคเอาในสมัยที่ประเทศไทยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการชื่อ ดร. บุญสม มาร์ติน

การศึกษาภาคบังคับขยับไปที่ชั้นประถมปีที่ 6 แล้วลบชั้นประถมปีที่ 7 ออกไป ส่วนระดับมัธยมศึกษาเปลี่ยนเป็น ม.ต้นคือ ม. 1-3 และ ม. ปลายคือ ม. 4-6

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้เกิดองค์กรใหม่ขึ้นมาอย่างน้อย 2 องค์กร คือสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ ขึ้นต่อสำนักนายกรัฐมนตรี องค์กรนี้มีหน้าที่วางนโยบายโดยรวมการศึกษาทุกระดับ

องค์กรที่ 2 คือสำนักงานคณะกรรมการประถมศึกษาแห่งชาติ หรือ กปช. ขึ้นตรงต่อกระทรวงศึกษาธิการ มีหน้าที่กำหนดนโยบายแผนการพัฒนา กำหนดมาตรฐานตามวิชาการ รวมไปถึงพิจารณางบประมาณสำหรับการศึกษาในระดับประถม ซึ่งรัฐถือว่าเป็นการศึกษา "ภาคบังคับ" กปช. แห่งนี้มีเลขาธิการชื่อ สมชัย วุฑฒิปรีชา

หนังสือ ตำราเรียนที่สมัยก่อนพี่มอบเป็นมรดกแก่น้อง ในช่วงเปิดเทอมใหม่ก็เอาไปชั่งกิโลขายได้ จะมีบางเล่มที่เปลี่ยนแปลงอยู่ก่อนแล้วก็เก็บไว้ต่อไป

ในกระบวนวิชาทั้งหมด มีแบบเรียนอยู่ 3 วิชา ที่กระทรวงศึกษาธิการโดยกรมวิชาการเก็บไว้เป็นเคล็ดวิชาชั้นสุดยอดที่ห้ามเอกชนมาแตะต้องคื อ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งทั้งสามวิชานี้กระทรวงผูกขาดมาตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงหลักสูตร

นอกเหนือจากหนังสือแบบเรียน 3 วิชานี้แล้ว แบบเรียนวิชาอื่น ๆ ที่สำนักพิมพ์เอกชนโดดเข้ามาผลิตแบบเรียนแข่งกับกรมวิชาการได้ก็เช่น ภาษาอังกฤษ สังคมศึกษา ประวัติศาสตร์ สุขศึกษา วิชาพวกลูกเสือ-เนตรนารี-ยุวกาชาด-ดนตรีศึกษา เป็นต้น

แต่ทั้งนี้แบบเรียนทุกเล่มจะต้องผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากกรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการแล้วเท่านั้น ก็ใบประกาศที่ติดอยู่หลังปกหนังสือแบบเรียนที่เราเห็นคุ้น ๆ นั่นแหละ มีใบประกาศิตแบบนี้ หนังสือแบบเรียนถึงได้หลุดไปอยู่บนโต๊ะเด็กนักเรียนได้

ดูเท่านี้ตลาดหนังสือแบบเรียนออกจะเล็กเอามาก ๆ เพราะแบบเรียนวิชาที่สำคัญ กรมวิชาการก็เก็บเอาไว้คนเดียว แบบเรียนวิชาอื่น ๆ สำนักพิมพ์เอกชนก็ต้องแข่งกับแบบเรียนของกระทรวง ซึ่งแน่นอนที่เวลาผู้บริหารโรงเรียน อาจารย์ตัดสินใจเลือกซื้อมาใช้กับนักเรียนก็ต้องเลือกแบบเรียนของกระทรวงไว้ก่อน ยิ่งในโรงเรียนรัฐแล้ว พวกสำนักพิมพ์เอกชนเจาะได้ค่อนข้างยาก มีที่เจาะได้จริง ๆ คือโรงเรียนเอกชน ที่เห็นชัด ๆ เช่นแบบเรียนภาษาอังกฤษระดับ ป.1-ป. 4 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายให้เด็กระดับนี้เรียนภาษาอังกฤษ สำนักพิมพ์เอกชนก็เลยแข่งกันแหลกโดยเฉพาะในโรงเรียนเอกชนใหญ่ ๆ

ตลาดหนังสือเรียนที่ใหญ่จริง ๆ โตไม่สิ้นสุดกลับกลายเป็นตลาดที่สำนักพิมพ์เอกชนสร้างขึ้นมาเอง หนังสือพวกนี้ก็แล้วแต่สารพัดที่สำนักพิมพ์เอกชนจะคิดขึ้นมาได้ เริ่มตั้งแต่หนังสือแบบฝึกหัด มีทั้งคัดไทย, คัดอังกฤษ, แบบฝึกหัดคณิตศาสตร์, หนังสือสร้างเสริมความพร้อมเชาวน์ปัญญา, แบบเรียนครบวงจร คือสรุปเนื้อหา-แบบฝึกหัด-ทดสอบ ในเล่มเดียว, หนังสือชุดเสริมประสบการณ์, หนังสืออ่านนอกเวลา, คู่มือครู, หนังสือชุดวิชาลูกเสือ ยุวกาชาด ศิลปศึกษา, ชุดวัดผล, ชุดแบบฝึกการเรียน ทั้งนี้ก็แล้วแต่จะคิดจะพลิกแพลงกันอีท่าไหน

คนในวงการประชดเรียกหนังสือพวกนี้ว่า "เฟอร์นิเจอร์" !

ดูกันง่าย ๆ เด็กนักเรียนชั้นประถมซึ่งเป็นการศึกษาภาคบังคับ มีนักเรียนตั้งแต่ชั้น ป. 1 - ป. 6 ประมาณ 6 ล้านคน เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด เป็นอาหารจานใหญ่ที่หอมหวน ต่างก็รุมทึ้งกันขนานใหญ่

ผู้สันทัดกรณีแจงว่า เด็กนักเรียนประถมใช้หนังสือเรียนอย่างเก่งไม่เกิน 9-12 เล่ม ใช้งบเฉลี่ยไม่น่าจะเกินหัวละ 149 บาท แต่ผู้อยู่ในวงการหนังสือแบบเรียน กระซิบว่าตัวเลขที่แท้จริง ปาเข้าไปถึง 420 บาท ก็เพราะฤทธิ์เดชของ "เฟอร์นิเจอร์" พวกนี้แหล จะดูกันชัด ๆ ต้องไปดูที่โรงเรียนเอกชน

ทีนี้พ่อแม่เด็กจะต้องกัดฟันเจียดเงินซื้อหนังสือให้เด็กมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นกับ "พนักงานการตลาด", "พนักงานแนะนำหนังสือ" หรือ "เซลส์" นี่แหละ

เมื่อก่อนนี้พนักงานขายจะวิ่งเข้าล็อบบี้ "คณะกรรมการการประถมศึกษาจังหวัด" เพื่อให้หนังสือของตนอยู่ในงบประมาณที่เสนอต่อคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (กปช.) ซึ่งกปช.จะรับซื้อไว้เพื่อแจกให้เด็กบ้าง ให้เด็กยืมเรียนบ้าง หรือเพื่อเข้าห้องสมุดในแต่ละจังหวัด ส่วนโรงเรียนเอกชนก็เลือกซื้อเอา โดยอาจถือตามที่กปช. เลือก หรือเลือกตามเสียงรบเร้าของพนักงานขายก็ตามแต่

มาเมื่อต้นปีนี้ กระทรวงศึกษาธิการยกเลิกระบบการเลือกซื้อแบบเรียนวิธีเดิม แต่ให้โรงเรียนและครูผู้สอนตัดสินใจเลือกเอง เพื่อต้านระบบล็อบบี้ และรับเสียงค้านของผู้ผลิตตำราที่ว่า เมื่ออนุมัติให้เป็นแบบเรียนที่ใช้ในโรงเรียนได้ก็น่าจะขายได้ทั่วประเทศ วิธีการแบบเก่าเหมือนกับบังคับให้ขายได้จังหวัดเดียว ถ้าจังหวัดอื่นไม่รับ

"แต่คุณดูเถอะ วิธีการนี้ยิ่งสนุกใหญ่ พวกเขาต้องหาวิธีล็อบบี้จนได้ อาจที่ครูใหญ่ ผู้อำนวยการ หรือผู้ใหญ่ในวงการศึกษาของแต่ละจังหวัด เขาเจาะจนได้แหละ" คนในวงการบอก

พูดง่าย ๆ สงครามลดเปอร์เซ็นต์ราคาหนังสือ เงินใต้โต๊ะ ของกำนัลนานาสารพัดล็อบบี้ยัง ดุเดือดกันต่อไป !

และที่แน่ ๆ สำหรับในปีนั้น 2521 บนความยิ่งใหญ่ดูเหมือนว่าไทยวัฒนาพานิชจะหยุดอยู่กับที่ แต่สำนักพิมพ์รายอื่น ๆ ควบไล่หลังมาติด ๆ อย่างน่ากลัว !


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.