|
ไทยวัฒนาพานิช ราชสีห์เขี้ยวหักแห่งวังวนสนธยา
โดย
เพิ่มพล โพธิ์เพิ่มเหม
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2531)
กลับสู่หน้าหลัก
สถานการณ์ธุรกิจเปลี่ยนแปรไป แต่ไทยวัฒนาพานิชกลับวิ่งตามโลกไม่ทัน ความยิ่งใหญ่ที่สะสมมากว่า 53 ปี ต้องสะดุดหยุดลง ! ... กว่าที่สองพี่น้องแห่งตระกูล "ต.สุวรรณ" จะตระหนักและหันหน้ามาปรึกษากันหลังจากรบกันมากว่าสิบปี บางทีตอนนั้นราชสีห์อย่างไทยวัฒนาพานิชอาจหลงอยู่วังวนสนธยาเสียจนยากนักจะหาทางกลับ !!
วีระ ต.สุวรรณ นั่งมองเอกสารและหนังสือบนโต๊ะอย่างเงียบ ๆ พลางใช้ความคิด คิ้วของเขาขมวดเข้าตลอดเวลา ปากเม้มเห็นรอยย่นที่มุมปาก
ชั่วขณะ วีระเงยหน้าขึ้นมองออกไปรอบห้องยกไปป์ขึ้นสูบ แล้วปล่อยให้ควันละลอยไป
ห้องทำงาน เฟอร์นิเจอร์ หิ้งหนังสือ และสิ่งของจิปาถะอื่น ๆ ล้วนคุ้นเคยกับเขามาทั้งสิ้น เขาอยู่กับตึกหลังนี้มาตั้งแต่เด็ก กลิ่นไอของความเก่าแก่เขายังสัมผัสมันได้ แวบหนึ่งเขาตื้นตันใจที่ได้กลับมาสัมผัสมันอีกครั้ง หลังจากที่เขาร้างลาหายไป หายไปนานมาก... นานเกือบสิบปีเต็ม
บุญธรรมอพยพครอบครัวจากอำเภอสีคิ้ว โคราช มากรุงเทพฯ เมื่อราวปี 2477 เขามาพร้อมกับภรรยาคือบุญพริ้งและลูกชายเล็ก ๆ อีกสองคน ขณะนั้นบุญธรรมและบุญพริ้งมีอายุไล่เลี่ยกันคือประมาณ 23 ปี
แต่เดิมบุญพริ้งเป็นลูกสาวนายห้างขายของป่าที่สีคิ้ว บุญธรรมเป็นลูกจ้าง แต่ด้วยความขยัน อดทน หมั่นเพียรในการงาน นายห้างก็เลยยกลูกสาวให้
ที่กรุงเทพฯ บุญธรรมและบุญพริ้งเริ่มต้นด้วยเงินสี่พันบาทเช่าตึกแถวเล็ก ๆ สองชั้น หนึ่งคูหา (บริเวณตรงข้ามสำนักงานใหญ่ปัจจุบัน) เปิดเป็นร้านขายหนังสือและรับสั่งหนังสือแบบเรียนจากโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวชของคุรุสภามาจำหน่ายโดยเสียค่าเช่าห้องเดือนละ 16 บาท ตึกแถวแห่งนั้น สองสามีภรรยาขึ้นป้ายหน้าร้านว่า "สยามวัฒนาพานิช" ต่อมาจึงเปลี่ยนเป็น "ไทยวัฒนาพานิช" ตามประกาศเปลี่ยนชื่อประเทศปี 2482
ตำนานของ "ไทยวัฒนาพานิช" (ทวพ.) โดย "นายห้าง" บุญธรรม และ "คุณนาย" บุญพริ้ง ต.สุวรรณ เริ่มจากตึกแถวหนึ่งคูหาเล็ก ๆ นั้นเอง !
ตามแบบฉบับสูตรสำเร็จรูปคนจีนหากินในเมืองไทยที่ต้องขยันอดทน เก็บเงินทุกบาททุกสตางค์สร้างเนื้อสร้างตัว ทั้งนายห้างและคุณนายก็ไม่ได้พ้นกฎเกณฑ์ข้อนี้ โชคดีอยู่บ้างทั้งคู่อาจจะไม่ได้มาแบบ "เสื่อผืนหมอนใบ" เพราะอย่างน้อยก็มั่นใจมากถึงกับขนมาทั้งครอบครัว ทั้งลูกเล็กเด็กแดงที่ยังเตาะแตะสองคน
หลังเปิดร้าน 3-4 ปี นายห้างก็ซื้อแท่นพิมพ์ ฉับแกละ เครื่องแรกเข้ามา แล้วเริ่มพิมพ์หนังสือแบบเรียนทันที แบบเรียนชุดแรก ๆ คือ แบบเรียนศีลธรรม แบบเรียนสุขศึกษาของจำลอง สง่ามั่งคั่ง
แบบเรียนแต่ละเล่มขายดีมาก ๆ จากแท่นพิมพ์แท่นเดียวพุ่งพรวดมาเป็น 4 แท่นในเวลารวดเร็ว
ปี 2482 สงครามโลกครั้งที่สองระเบิด ความอัตคัตขัดสนเหมือนไฟลามทุ่ง อาหาร เสื้อผ้า สินค้า อุปโภคบริโภคขาดแคลนไปทุกอย่อมหญ้า คำว่า "กระดาษ" ก็แทบลบเลือนหายไปจากแท่นพิมพ์ในเวลานั้น
เหมือนโชคชะตาช่วยขณะที่โรงพิมพ์อื่น ๆ ที่เป็นคู่แข่งเกือบเป็นไม้ตายซาก ไทยวัฒนาพานิช กลับมีกระดาษอยู่ในมือมากพอที่จะพิมพ์หนังสือแบบเรียนต่อไปได้ บ้างว่าเพราะนายห้างติดต่อซื้อกระดาษจากจีนแผ่นดินใหญ่ แต่ก็เป็นกระดาษอย่างเลว เป็นพวกกระดาษชำระเป็นพับ ๆ เรียกว่ากระดาษ "เง็ดเข่า"
แต่บางคนก็ว่าเพราะคุณนายคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าเลยกักตุนกระดาษ พอทางการรู้เข้าก็จะเอาเรื่อง แต่ที่รอดตัวไปเพราะอ้างว่ากระดาษที่ตุนไว้เพื่อพิมพ์แบบเรียน ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของเด็ก ๆ อันเป็นอนาคตของประเทศโดยเฉพาะ
โชคชั้นเดียวไม่พอ ทวพ. กลับได้โชคสองชั้นซ้ำเข้ามาอีก เพราะด้วยความที่พิมพ์แบบเรียนมาหลายปี ผนวกกับคุณนายรู้จักสนิทสนมกับคนในกระทรวงศึกษาธิการคือหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล อธิบดีกรมตำราขณะนั้น (ต่อมา ม.ล. ปิ่นเป็น รมว. กระทรวงศึกษาธิการ) กับอภัย จันทรวิมล ผู้ช่วยอธิบดี
เมื่อคนโตทั้งสองจากกระทรวงศึกษาธิการมาปรึกษาเรื่องกระดาษสำหรับพิมพ์แบบเรียน เพราะทางกระทรวงเองก็จนปัญญา ทั้งนายห้างและคุณนายก็ให้ความช่วยเหลืออย่างดียิ่ง จนในที่สุด ทวพ. ก็สามารถประมูลเหมาพิมพ์แบบเรียนของกระทรวงศึกษาธิการมาพิมพ์และจัดจำหน่ายได้แต่เพียงผู้เดียว
โชคชะตาครั้งนี้ได้พลิกผันให้สองสามีภรรยาตระกูล "ต. สุวรรณ" นำพาร้านขายหนังสือเล็ก ๆ เฉกเช่น "ไทยวัฒนาพานิช" พุ่งทะยานสู่ความเป็นเจ้าแห่งอาณาจักรหนังสือแบบเรียนเป็นเวลากว่า 30 ปี ดุจดังราชสีห์ผู้เป็นเจ้าแห่งป่าเขียวขจีอันอุดมสมบูรณ์ไม่มีที่สิ้นสุดกระนั้น ! !
ประมาณปี 2495 ไทยวัฒนาพานิชสร้างตึกใหม่เป็นของตนเอง ตึกแห่งนี้เป็นตึกสี่ชั้นใหญ่โตมโหฬารมากในสมัยนั้น นายห้างและคุณนายได้ใช้สถานที่แห่งนี้บัญชาการและวางแผนกระจาย เครือข่ายธุรกิจของตนออกไปทั่วประเทศ
ไม่แต่เท่านั้น ทวพ. ได้แยกส่วนโรงพิมพ์มาตั้งที่บริเวณหน้าสนามกีฬาแห่งชาติ รวมทั้งซื้อแท่นมาเพิ่มอีกหลายแท่น
ช่วงนั้นเองที่นายห้างและคุณนายเริ่มแบ่งการบริหารออกเป็นสองส่วนโดยปริยาย โดยตัวนายห้างมาคุมโรงพิมพ์ ส่วนคุณนายซึ่งออกจะเก่งด้านคิดเงินคิดทอง หากำไรก็มาคุมด้านสำนักพิมพ์ เพียงคนเดียว
ปักหลักปักฐานแน่นอน ไทยวัฒนาพานิชก็เหมือนราชสีห์ประดับปีก ติดเขี้ยวเพชร ไปที่ไหนคนก็ต้องยำเกรง ศรัทธาและเชื่อมั่นในคุณภาพของหนังสือแบบเรียนตราสามห่วงของทวพ. !
ขณะนั้น คู่แข่งแทบล้มหายสาบสูญกันไปหมด จะมีเพียงบริษัทประชุมช่างของแสง เหตระกูล ซึ่งเราแทบไม่ได้ยินชื่อในแวดวงนี้เลยในเวลาต่อมากลับไปได้ยินชื่อ "เหตระกูล" ในฐานะเจ้าของหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ทางด้านกระทรวงศึกษาโดยคุรุสภาก็เพิ่งรวมกิจการที่กระจัดกระจายมาเป็น "องค์การค้าของคุรุสภา" ในราวปี 2493 พอปี 2496 ถึงได้เริ่มตั้งตัวเอากิจการพิมพ์หนังสือแบบเรียนกลับมาพิมพ์จำหน่ายแต่เพียงผู้เดียว
ถึงตอนนั้น ทวพ. ก็วิ่งไปไกลลิบลับ แถมยังจองพื้นที่ อุดช่องว่างธุรกิจหนังสือแบบเรียนในส่วนที่กระทรวงศึกษาธิการเข้าไปไม่ถึงเสียนจนพรึดไปหมดแล้ว !
ตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา ทวพ. ถึงยุครุ่งเรืองสุดยับยั้ง นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ล้วนมุ่งหน้าสู่ดินแดนสามห่วง -ทวพ. ผู้แต่งตำราที่มีชื่อเสียงสมัยนั้น เช่น ขุนประสงค์จรรยา, ขุนสัมฤทธิ์วรรณการ, ม.ล. มานิจ ชุมสาย, อาจารย์ทองศุข พงศทัต, อาจารย์วิทย์ ศิวิศริยานนท์, อาจารย์ผะอบ โปษะกฤษณะ, อาจารย์เจริญ ไชยชนะ เป็นต้น
นักวิชาการอีกท่านหนึ่งซึ่งมีบทบาทอย่างมากต่อ ทวพ. คือครูเปลื้อง ณ นคร ครูเปลื้องเป็นนักวิชาการข้าราชการชั้นเอกประจำกระทรวงศึกษาธิการ เป็นที่นับหน้าถือตาในแวดวงการศึกษา ครูเปลื้องเข้ามาเป็นที่ปรึกษาของ ทวพ. ตั้งแต่ปี 2502 ได้ช่วยสร้างภาพพจน์และความเชื่อถือแก่ ทวพ. อย่างเอกอุ รวมไปถึงการสร้างตำราและปทานุกรมที่ ทวพ. สามารถนำไปขายกินได้เป็นสิบปี
เงินประมาณ 3 ล้านบาท ที่คุณนายจ่ายเป็นค่าลิขสิทธิ์แบบซื้อขาดสำหรับดิกชันนารีของสอ เสถบุตร อาจเป็นจำนวนเงินนิดเดียวเมื่อคิดถึงว่าทุกวันนี้ คนทั้งประเทศยังต้องใช้ค้นคำศัพท์กันอยู่
นักวิชาการรุ่นหลังที่เข้ามาสนิทแนบแน่นกับ ทวพ. เช่น นักวิชาการจากมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ซึ่งรับพิจารณาต้นฉบับของนักวิชาการ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยทั่วไปแล้วเสนอให้ ทวพ. พิจารณาในแง่การลงทุนจัดพิมพ์จำหน่ายอีกต่อหนึ่ง
อนุช อาภาภิรม น้องชาย ดร. อาณัติ อาภาภิรม เข้าทำงานที่ทวพ. ตั้งแต่ปี 2508 เขาเป็นอีกคนหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับในแง่ความเป็นนักคิด นักเขียน เขาเคยเป็นบรรณาธิการวารสาร "ชัยพฤกษ์ฉบับนักศึกษาประชาชน" ช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 ปัจจุบันอนุชยังประจำฝ่ายวิชาการของ ทวพ.
นอกเหนือจากหนังสือแบบเรียน ตำราทางวิชาการ หนังสือแบบฝึกหัดและหนังสือประกอบการเรียนการสอนที่ทางทวพ. ถือเป็นหัวใจหลักในการหารายได้ของสำนักพิมพ์แล้ว หนังสืออ่านสำหรับเด็กหนังสือภาพ การ์ตูน ทวพ. ก็ผลิตมาวางแผงไม่ขาดสาย ทุกวันนี้ณรงค์ ประภาสโนบล ยังนั่งวาดการ์ตูนท่านขุน ทาร์ซาน เจ้าจุ่นใน "ชัยพฤกษ์ การ์ตูน" ไม่เปลี่ยนแปลงมาเป็นสิบปี หนังสือภาพสำหรับเด็กของ ทวพ. ยังได้รับรางวัลจากงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติอย่างสม่ำเสมอ
ขณะเดียวกันทางด้านโรงพิมพ์ นายห้างบุญธรรมดูเหมือจะสนุกสนานกับงานที่มีไม่หยุดหย่อน เพื่อรองรับการก้าวกระโดดของสำนักพิมพ์
"เราเคยพิมพ์แบบเรียน 20 ล้านเล่ม พิมพ์กัน 10 เดือน พิมพ์กันทั้งวันทั้งคืน เพื่อที่จะขายให้เกลี้ยงภายใน 2 เดือน" คนเก่าคนแก่แห่ง ทวพ. เล่าให้ฟังอย่างภาคภูมิใจ
ตั้งแต่ปี 2510 ทวพ. รับจ้างพิมพ์สมุดรายนามผู้ใช้โทรศัพท์และสมุดหน้าเหลืองมาจากบริษัท เยนเนราลเทเลโฟนไดเร็คตอรี่ หรือจีทีดีซี ระยะแรกทั้ง ทวพ. และจีทีดีซีคงต้องร่วมกันแก้ไขปรับปรุงระบบการผลิตและการพิมพ์กันน่าดู แต่ ทวพ. ก็ค่อย ๆ ซึมซับ KNOW-HOW และ TECHNOLOGY ใหม่ ๆ ที่จีทีดีซีป้อนมาให้จากเมืองแม่ไม่ขาดสาย
ในแต่ละปี ดังเช่นปี 2527 ทวพ. ต้องพิมพ์สมุดโทรศัพท์ 1 ชุด มีจำนวนทั้งสิ้น 8 ฉบับ เป็นภาษาไทย 7 ฉบับ ภาษาอังกฤษ 1 ฉบับ ทั้ง 8 ฉบับนี้ ถ้านำมาเรียงซ้อนกันจะมีความหนาราว ๆ 10,000 หน้า จำนวนพิมพ์เป็นแสน ๆ ฉบับ มีผู้ประเมินว่า ทวพ. อาจต้องใช้เวลาสำหรับกระบวนการผลิตตั้งแต่เรียงพิมพ์, ทำแม่พิมพ์, พิมพ์, เข้าเล่ม ฯลฯ สำหรับงานยักษ์ขนาดนี้เกือบ 6 เดือน
แต่เรื่องรายได้ ทวพ. ก็คงต้องนั่งนับกันเหนื่อยเหมือนกัน !
มีงานเล็ก ๆ อีกชิ้นหนึ่งที่ทวพ. รับพิมพ์สม่ำเสมอคือป้ายทะเบียนวงกลม แต่แผ่นกระดาษวงกลมเล็ก ๆ แผ่นนี้ เผอิญต้องไปติดอยู่หน้ากระจกรถทุกคัน แล้วรถในเมืองไทยมีเท่าไหร่กันล่ะ งานเล็ก ๆ นี้ก็เลยกลายเป็นแผ่นวงกลมทองคำมหาโชคสำหรับ ทวพ. !
ทุกวันนี้ โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชจัดอยู่ในระดับแนวหน้า มีแท่นพิมพ์แบบกระดาษม้วนราคา 30 ล้าน มีเครื่องเรียงพิมพ์แบบโมโนไทป์ซึ่งทวพ. เป็นผู้บุกเบิกนำเข้ามาเมื่อเกือบ 20 ปีมาแล้ว (แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยมนัก) มีเครื่องเรียงคอมพิวกราฟิก ที่ใหญ่โตคับตึก ราคาเป็นล้าน
คุณภาพการพิมพ์ของโรงพิมพ์ ทวพ. เป็นที่ยอมรับ พร้อมที่จะรองรับอุตสาหกรรมการพิมพ์ เพื่อการส่งออกได้อย่างสบาย เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทวพ. รับงานพิมพ์จากเมืองนอกมาตะลุยพิมพ์ แทบไม่มีเวลาพิมพ์งานอื่น ๆ จนพลาดงานสำคัญไปชิ้นหนึ่ง...หนังสืองานศพชิน โสภณพนิช!
แต่ไหนแต่ไรมาแล้วที่งานสิ่งพิมพ์ส่วนใหญ่ของธนาคารกรุงเทพจะต้องผ่านแท่นพิมพ์ของโรงพิมพ์ ทวพ. มีมาช่วงหลัง ๆ นี้ที่สายสัมพันธ์แต่ดั้งเดิมสมัยเจ้าสัวชิน-นายห้างบุญธรรมจะจืดจางไปบ้างในรุ่นลูก งานพิมพ์ของแบงก์จึงไม่จำเป็นจะต้องอยู่กับทวพ. เสมอไป
ครั้งหนึ่งในอดีต นายห้างบุญธรรมเก็บเล็กผสมน้อยเจียดเงินมาซื้อหุ้นของแบงก์กรุงเทพ ก็ไม่มากไม่น้อยแค่ถือได้ว่าจำนวนหุ้นมากเป็นอันดับสาม ในฐานะผู้ถือหุ้นในนามส่วนบุคคล!
เป็นที่รู้กันและร่ำลือว่า ทั้งตัวนายห้างบุญธรรมและคุณนายบุญพริ้งเป็นคนมัธยัสถ์ อดออมและละเอียดถี่ถ้วนในการใช้จ่าย แต่กับเรื่องทำบุญสุนทาน บริจาคเงิน บริจาคทองแล้ว ทั้งสองคนไม่เคยเกี่ยง เมื่อ 15 ปีที่แล้ว ทั้งสองบริจาคเงินสร้างโรงเรียนบุญวัฒนา ที่โคราชปัจจุบันโรงเรียนนี้ได้รับรางวัลเป็นโรงเรียนดีเด่น ใครมาขอบริจาคที่เกี่ยวข้องกับวงการศึกษามักจะไม่ได้รับการปฏิเสธ
เมื่อ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา "วันฉัตรมงคล" นายห้างบุญธรรม ต.สุวรรณ ได้รับพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ พร้อมกับเจ้าสัวถาวร พรประภา แห่งค่ายสยามกลการ!
ถ้ามาดูที่สินทรัพย์ของทวพ. ตัวเลขที่ปรากฎจะตกอยู่ราว ๆ 150 ล้านบาท แต่บางคนให้ข้อสังเกตว่า แค่สต็อกหนังสือก็ปาไปราว ๆ 50-60 ล้านบาท แล้วราคาแท่นพิมพ์แต่ละแท่นไม่ใช่ถูกๆ แท่นหนึ่งตก 30-40 ล้าน สินทรัพย์นั้นเกิน 150 ล้าน แน่ ๆ อาจเหยียบ 300 ล้านด้วยซ้ำไป
ดูสวยสดงดงามไปหมดสำหรับไทยวัฒนาพานิช ทั้งภาพพจน์ ศรัทธา ความยอมรับและสินทรัพย์ คนในตระกูล "ต. สุวรรณ" แทบไม่เคยเป็นข่าว ไม่ชอบถ่ายรูป ไม่ชอบให้สัมภาษณ์ลูกชายทั้งสามคนของนายห้างและคุณนายคือ วีระ, พีระ, ธีระ ต.สุวรรณ ก็เก็บตัวเงียบเช่นเดียวกัน
ทั้ง 5 คนแห่งตระกูล "ต.สุวรรณ" ยังทำงานกันแบบธุรกิจครอบครัวใน "ไทยวัฒนาพานิช" โดยมีคุณนายบุญพริ้ง วัยประมาณ 76 ปี เป็นหัวเรือใหญ่ และยังคงแวะไปทำงานทุกวันที่ ทวพ. ส่วนนายห้างบุญธรรมใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่โรงพิมพ์และการพักผ่อน ณ บ้านพักส่วนตัว ประเทศอังกฤษ
ราชสีห์เขี้ยวเพชรเช่นไทยวัฒนาพานิช ดูจะพอใจกับการอยู่อย่างสันโดษเช่นนี้ พวกเขาทั้ง 5 คน ทำงานกันอย่างเงียบ ๆ เงียบเสียจนลูกน้องไม่รู้ว่าจะก้าวเดินตามต่อไปอย่างไร จะเดินต่อไปในทิศทางไหน กว่าจะรู้ตัว ราชสีห์ตัวนี้ก็อาจจะเพิ่งตระหนักว่าตนเองตกอยู่ใน "วังวนสนธยา" เสียแล้ว ! !
ปี 2521 การนับหนึ่งกำลังเริ่มต้น หลักสูตรและแบบเรียนเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่และชัดเจน
"ยุทธศาสตร์แห่งการถอยร่นเริ่มต้นที่นี่" สองสำนักพิมพ์เอกชนที่หาญมาทาบท้าไทยวัฒนาพานิชเห็นจะเป็น เจ้าแรก-บริษัทสำนักพิมพ์วัฒนาพานิช จำกัด (วพ.) หรือที่รู้จักในนาม "วัฒนา พานิช สำราญราษฎร์" กับเจ้าที่สอง-บริษัท อักษรเจริญทัศน์ จำกัด หรือ อจท.
วัฒนาพานิชเติบโตมาจากร้านขายหนังสือพระ หนังสือนักธรรม-บาลี ค้าขายจนร่ำรวยมีกิจการโรงพิมพ์ สำนักพิมพ์ ร้านขายหนังสือในเครือญาติพี่น้องหลายแห่ง ส่วนใหญ่ยึดหัวหาดอยู่แถวสำราญราษฎร์ เลยเสาชิงช้าไปนิดหนึ่ง
เป็นที่ร่ำลือกันว่าเสี่ยเริงชัย จงพิพัฒนสุข นำทีมขายของวัฒนาพานิชลุยวงการหนังสือแบบเรียนอย่างถึงลูกถึงคน เชือดเฉือนกันด้วยเปอร์เซ็นต์ ที่ลดให้สำหรับผู้ซื้อแถมด้วยกลยุทธ์บุกถึงรังกรมวิชาการ
ที่ปรึกษาของวัฒนาพานิชไม่ใช่ใครที่ไหน ดร. ภิญโญ สาธร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สมัยรัฐบาลหอย ปี 2519-2520 ซึ่งแน่นอนที่เรื่องการปรับปรุงหลักสูตร-แบบเรียน ปี 2521 อย่างน้อยก็ต้องผ่านมือผ่านตาท่านอดีตรัฐมนตรีไปบ้าง !
แค่ชื่อก็คล้ายคลึงกันก็ทำเอาทีมขายของไทยวัฒนาพานิชแจกแจงแยกแยะให้ลูกค้าฟังจนเหนื่อย เจอกลยุทธ์สู้กันด้วยเปอร์เซ็นต์ลดของวัฒนาพานิช ทีมขายของไทยวัฒนาพานิชเลยยิ่งเหนื่อยหนักไปอีก!
ขณะที่วัฒนาพานิชดูจะเชี่ยวชาญเรื่องผลิตหนังสือประเภทแบบฝึกหัด, คู่มือ, แบบทดสอบ, เสริมการเรียนหรือที่เรียกว่า "เฟอร์นิเจอร์" ในระดับประถม อักษรเจริญทัศน์ของเสี่ยสุรพล เทวอักษร ก็พยายามเจาะตลาดหนังสือแบบเรียนระดับมัธยม
อักษรเจริญทัศน์ หรือ อจท. เติบโตมาจากขายหนังสือพระแถวเสาชิงช้าเช่นกัน จนเดี๋ยวนี้มาปักหลักแถวแพร่งสรรพศาสตร์ มีโรงพิมพ์และออฟฟิศใหญ่โตรโหฐานนอกเหนือจากหนังสือเรียน อจท. ก็กำลังลุยตลาดแข่งกับ ทวพ. ในเรื่องสารานุกรมภาษาไทย
แจ็คพ็อทของอจท. ที่ฮือฮาอย่างมากคือได้ทั้งชื่อ ได้ทั้งกล่อง เห็นจะเป็น "พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน" ที่อจท. รับเป็นผู้จัดพิมพ์และจำหน่าย ตั้งแต่ปี 2525 พจนานุกรมฉบับนี้พิมพ์ไปแล้ว หนึ่งแสนสองหมื่นเล่ม ราคาเล่มละ 150 และ 145 บาท สำหรับการพิมพ์ครั้งที่ 1, 2 และ 3 ตามลำดับ
พิมพ์แล้วขายได้ชัวร์ ๆ เงินผ่านอจท. เท่าไหร่คิดเอาเอง!
ส่วนองค์การค้าของคุรุสภาที่ประกอบด้วยส่วนจัดพิมพ์และจำหน่ายคือ ศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ และส่วนพิมพ์คือโรงพิมพ์คุรุสภา ที่ปักหลักปักฐานแถวลาดพร้าวจนเป็นโรงพิมพ์อยู่ในอันดับยักษ์ใหญ่ แม้องค์การค้าของคุรุสภาจะดูอึมครึมและอืดอาดตามประสาราชการบ้าง แต่ก็อึมครึมแบบกึ่งผูกขาดในระบบเสรีนิยมที่มีรัฐคอยปกป้องประคบประหงม
อย่าว่าแต่ไทยวัฒนาพานิชเลย สำนักพิมพ์เอกชนอื่น ๆ ก็สุดจะอิจฉา !
ตั้งแต่การนับหนึ่งในปี 2521 สำนักพิมพ์เอกชนในวงการแบบเรียนต่างดาหน้าเข้ามาบดขยี้แย่งตลาดหนังสือแบบเรียน ที่คนในไทยวัฒนาพานิชถึงกับออกปากว่าเป็นยุค "หมากินหมา"
ขณะที่สภาพตลาดหนังสือแปรเปลี่ยนไปคู่แข่งรุกเข้ามาอย่างชัดเจนขึ้น กลยุทธ์ในการขายซับซ้อนพลิกแพลงทุกขณะ การช่วงชิงตัว "ผู้ใหญ่" นักวิชาการเข้ามาเป็น "ที่ปรึกษา" และเขียนตำราต้องเยี่ยมยุทธ์จัดเจน
แต่ไทยวัฒนาพานิชไม่เคยเปลี่ยน!
ที่ชัดเจนที่สุดก็เป็นเรื่องระบบการตลาดของทวพ.
"คนทั่วไปคิดว่า ทวพ. รวยแล้ว มั่นคงแล้ว พวกที่เข้าไปทีหลังก็เลยเฉื่อย ๆ เข้าไปกินเงินเดือน เพราะขายได้หรือไม่ได้ ทวพ. เขาก็ต้องเลี้ยงอยู่แล้ว" แหล่งข่าวในวงการขายหนังสือให้ความเห็นเกี่ยวกับระบบขายของทวพ.
แต่สิ่งที่ต้องยอมรับคือ การขายของทวพ. ไม่มีคอมมิชชั่นให้พนักงานขาย!
"ระบบของทวพ. ไม่เหมือนฝรั่ง ถึงจะมีคอมมิชชั่นก็ได้ไม่เท่าไหร่ จ่ายก็ช้า พนักงานขายก็เลยไม่ค่อยมีกำลังใจ คุณดูอย่างบริษัทเบสท์บุ๊ค เขาประสบความสำเร็จมากเลยในการขายสารานุกรม เพราะเขาให้กำลังใจมาก จ่ายคอมมิชชั่นเร็วและเยอะ" แหล่งข่าวคนเดิมเพิ่มเติม
ทวพ. ไม่มีคอมมิชชั่นก็จริง แต่มี "เบี้ยเลี้ยง" ทวพ. จ่ายเบี้ยเลี้ยงไม่อั้น ให้เลี้ยงดูปูเสื่อลูกค้าเต็มที่ เลี้ยงกันแบบพี่แบบน้อง เลี้ยงกันยาว
มีบางคนแย้งว่า ระบบเบี้ยเลี้ยงกลับเป็นเรื่องที่รั่วไหลได้ง่ายมาก เพราะตรวจสอบได้ยาก เอาไปใช้อะไรบ้างก็ไม่แน่ใจ จำนวนเงินที่ลูกค้าจะซื้อสินค้ากลับมาก็ไม่แน่นอน
ทวพ. ไม่มีนโยบายสู้คู่แข่งด้วยการ "ลดเปอร์เซ็นต์" ทวพ. ลดเปอร์เซ็นต์อยู่ในราว ๆ 25 เปอร์เซ็นต์จากราคาหน้าปกหนังสือเมื่อลูกค้าซื้อจำนวนมาก ส่วนลดนี้จะเข้ากระเป๋าใครหรือบำรุงการศึกษา หรือจะถือเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของลูกค้าก็เลือกเอา
แต่ในวงการรู้กันว่า คู่แข่งของทวพ. กระหน่ำด้วยสงครามเปอร์เซ็นต์ เล่ากันว่า ขณะที่พนักงานขายของทวพ. มะงุมมะงาหราย้อนไปที่สำนักงานใหญ่ ถามเรื่องลดเปอร์เซ็นต์ เพราะไม่มีอำนาจตัดสินใจ ตอนนั้นคู่แข่งก็ลดเปอร์เซ็นต์ไปหายห่วง แถมของขวัญอีกต่างหาก
แล้วอย่างนี้ลูกค้าจะเลือกใคร?!
ไม่ว่าใครจะว่าอย่างไร ไม่ว่าสถานการณ์เรื่องสงครามเปอร์เซ็นต์จะเป็นอย่างไร คนในครอบครัว "ต.สุวรรณ" ก็ไม่แปรเปลี่ยนความคิดเรื่องนี้ พีระเคยบ่นว่า "จะแข่งไปตายหรือไง"
ตายแน่ ๆ เพราะต้นทุนการผลิตของทวพ. สูงมาก ทั้งการลงทุนด้านสำนักพิมพ์ที่ขยายตัวและเปิดแนวรบหลายด้าน การลงทุนด้านโรงพิมพ์ที่จมไปกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ เงินเดือนพนักงานของทวพ. ที่ยุคหนึ่งมีรวมแล้วประมาณ 1,200 คน รวมกับคุณภาพของหนังสือที่ต้องอยู่ในขั้นมาตรฐาน กระดาษพิมพ์ต้องดี พิมพ์สวย
การลงทุนทั้งหมดเป็นเรื่องดี และอาจเป็นเรื่องที่น่าจะเป็นมาตรฐานในวงการพิมพ์เมืองไทย แต่เมื่อความยิ่งใหญ่กลายเป็นโซ่แห่งความอืดอาด ยากแก่การปรับตัว กับที่ว่าเงินมาจากกระเป๋าคน ๆ เดียว หรือจากคนตระกูลเดียว ต้นทุนก็ต้องสูงและความยุ่งยากก็ติดตามมาด้วย!
นายห้างบุญธรรมเป็นคนขยันและทำงานไม่หยุดนิ่ง ในช่วงวัยชรา นายห้างยังมาทำงานทุกวัน ขับรถเอง บางครั้งก็กวาดห้องมันเสียเอง
ส่วนตัวคุณนายบุญพริ้งก็ไม่แตกต่างนัก คุณนายเป็นคนเงียบ ละเอียดในเรื่องการใช้จ่ายและเชื่อมั่นในความคิดและการตัดสินใจสูง เพราะความยิ่งใหญ่ของทวพ. ทุกวันนี้คือการตัดสินใจจากตัวคุณนายเกือบทั้งหมด
บางครั้งสีของปกหนังสือในทศวรรษที่ 2520 คุณนายก็ระบุให้ใช้สีที่เป็นที่ชื่นชอบของคนในทศวรรษที่ 2500 เพราะตัวคุณนายเคยประสบความสำเร็จมาแล้ว
คุณนายชอบเรียกคนในที่ทำงานไปปรึกษางานในห้อง ก่อนสั่งอาจเล่าเรื่องพงศาวดารจีน แล้วก็เน้นตัวละครในเรื่องที่มีลักษณะซื่อสัตย์มาก ๆ เพื่อเป็นตัวอย่าง
เรื่องที่สั่งอาจไม่มีอะไรมาก นอกจากขอให้คอยตรวจสอบลูกน้องอย่าให้ผิดพลาด เพราะงานก็เป็นไปตามระบบของมันอยู่แล้ว
คุณนายเชื่อมั่นในคุณภาพหนังสือของทวพ. มาก ๆ ในช่วงปี 2520-21 เคยมีคนเตือนเรื่องการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรซึ่งจะต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ แต่ทุกอย่างดูเหมือนจะเงียบสงบ บางคนบอกว่าเพราะความยิ่งใหญ่ของทวพ. ทำให้ทวพ. หมุนตามสถานการณ์ไม่ทัน บางคนบอกว่าเพราะคุณนายเชื่อมั่นในคุณภาพหนังสือของทวพ.มากเกินไป ไม่ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนไปอย่างไร คน ก็ต้องซื้อหนังสือที่มีคุณภาพอยู่แล้ว และดูเหมือนว่าคนทวพ. คิดว่าจะผูกขาดคุณภาพไว้ได้คนเดียว
แต่ที่แน่ ๆ ในปี 2521 วีระ ต.สุวรรณ ลูกชายคนโตของนายห้างและคุณนายต้องกระเด็นหลุดมาจากทวพ.!
แรกเริ่มเดิมทีคุณนายบุญพริ้งก่อรูปกิจการค้าของตนในนาม "ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลไทยวัฒนาพานิช" โดยมีตนเองถือหุ้นใหญ่ มีลูกชายทั้งสามถือหุ้นรอง ๆ ลงมา แต่ไม่ปรากฏชื่อนายห้าง ชื่อห้างหุ้นส่วนนี้ยังมีให้เห็นในหนังสือพวกนิตยสารและวารสารในเครือทวพ.
ปี 2513 คุณนายก็ตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ นัยว่าตั้งใจจะให้เป็นบริษัทหลักจริง ๆ คือ "บริษัท สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด" มีทุนจดทะเบียน 25 ล้านบาท โดยคนในตระกูล ต.สุวรรณ ทั้ง 5 คน คือหุ้นคนละ 20% เท่ากัน
งานนี้ วีระ ต.สุวรรณ เป็นคนกุลีกุจอริเริ่ม แต่คุณนายก็ยังมีอำนาจสิทธิขาด สามารถลงนามเพียงลำพังแทนบริษัทได้ แต่กรรมการหรือ "ต.สุวรรณ" คนอื่น ๆ ต้องลงนามสองคนพร้อมกัน
วีระเข้ามาบริหารทวพ. ตั้งแต่ช่วงนั้น โดยมีคุณนายบุญพริ้ง วัย 59 ปี ดูแลอีกชั้น ส่วนพีระ ไปเป็นผู้จัดการโรงพิมพ์ที่หน้าสนามกีฬาแห่งชาติและธีระเป็นรองผู้จัดการ
ช่วงนั้น ลูกชายทั้งสามคนของคุณนายอยู่ในวัยเกือบ 40 ปีทุกคน การเข้ามาของทั้งสามคนทำให้ทวพ. กลายเป็นธุรกิจครอบครัวสมบูรณ์แบบ การตัดสินใจทั้งหมดทุกเรื่องรวมศูนย์อยู่ที่ "ต. สุวรรณ"
ปมแตกหักแห่งปี 2521 ในทวพ. ไม่ชัดเจนนัก เพราะคนใน "ต.สุวรรณ" เว้นที่จะพูดถึงเรื่องนี้ให้คนอื่นรับรู้ แต่เป็นที่รู้กันว่า วีระผู้พี่และพีระผู้น้องขัดแย้งกันอย่างรุนแรง
วีระเป็นคนค่อนข้างแข็ง ใจร้อน และที่รู้ ๆ กันคือ เขาใช้เงินโดยไม่รู้จักเจ็บปวด
"ตระกูลเขาไม่ชอบเรื่องนี้มาก หาว่าคุณวีระใช้เงินเก่ง และแกก็มีเรื่องระหองระแหงในครอบครัวด้วย
จริงหรือไม่จริง ทุกอย่างยังคลุมเครือ วีระก็ถูกเขี่ยออกมาจากทวพ. หลุดจากการเป็นกรรมการ และถ้าไปตรวจรายชื่อผู้ถือหุ้นของทวพ. ล่าสุดก็ไม่ปรากฏชื่อวีระ ต.สุวรรณ จำนวนหุ้นกลับไปเพิ่มที่พีระและธีระผู้น้อง!
ตั้งแต่ปี 2521 วีระหายสาบสูญไปจากทวพ. หลังบริหารในทวพ. ประมาณ 7 ปี (โปรดอ่านล้อมกรอบ "วีระ ต.สุวรรณ อหังการแห่งผู้พี่ที่หวนคืน")
อำนาจในทวพ. กลับมาที่พีระ ต.สุวรรณ เขาเป็นคนทำงานจริงจัง ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร เป็นคนเงียบ ๆ ทำงานละเอียด แต่ก็ชอบตัดสินใจคนเดียว เมื่อตัดสินใจแล้วก็สั่งให้ลูกน้องปฏิบัติตามด้วยความเชื่อมั่นตัวเองมาก ๆ
ไม่ว่าจะเป็นยุคคุณนาย ยุควีระ หรือยุคพีระ สิ่งหนึ่งที่คล้ายคลึงกันคือ ทั้งสามคนไม่ใช้ระบบประชุมในระดับปฏิบัติงานเลย เมื่อถึงเวลาอยากได้ข้อมูลหรือจะสั่งงาน ทั้งสามคนก็ใช้วิธีเรียกมาคุยเป็นการส่วนตัว
วิธีการนี้แม้จะเป็นเรื่องดูง่าย ๆ ไม่น่ามีอะไรซับซ้อน แต่กลายเป็นดาบย้อนตัว กลายเป็นกระแสการซุบซิบ ไม่ไว้ใจซึ่งกันและกันในระดับผู้ปฏิบัติงาน ข้อมูลที่นำเสนอแก่ผู้บริหารก็ต้องแสดงถึงความผิดพลาดน้อยที่สุด และมีโอกาสโน้มเอียงเข้าข้างตนเอง เนื่องจากไร้ซึ่งการตรวจสอบซึ่งกันและกัน ใคร "เข้าถึง" ระดับบริหารได้ก็โชคดีไป
และที่สุดนำไปสู่สภาพความแตกแยกแหลกเป็นสายในทวพ.!
เมื่อพ้นยุควีระ มาสู่ยุคพีระ เขาน่าจะรวมทวพ. เป็นหนึ่งได้ แต่เนื่องจากบุคลิกส่วนตัวของเขาเองที่ยังคงสไตล์เถ้าแก่บริหารแบบเงียบ ๆ หรือไม่พีระก็คงตระหนักว่าทวพ. แหลกเกินกว่าจะรวมคนรวมพลังเคลื่อนพลเป็นหนึ่งได้
"คุณพีระจะขึ้นเงินเดือนสองขั้นให้พนักงานคนหนึ่ง พอสะใภ้คุณนายไม่ยอม คุณพีระก็ไม่รู้จะทำยังไงแล้ว" อดีตลูกหม้อทวพ. เล่าให้ฟัง
"สะใภ้คุณนาย" ที่ว่านี้คือ นงนิตย์ ต.สุวรรณ ภรรยาเก่าของวีระ เธอเป็นผู้จัดการฝ่ายวิชาการ ช่วงหนึ่งชื่อของเธอเคยปรากฏเป็นกรรมการของทวพ. หลังจากที่วีระออกไปแล้ว แต่ในปี 2529 ชื่อของเธอก็หายไปอีก
ทุกวันนี้พีระในฐานะกรรมการผู้จัดการก็ทำงานของตัวไป นงนิตย์ ผู้จัดการฝ่ายวิชาการก็ทำหน้าที่ของตนไปต่างหาก ต่างก็มีคนมีฝ่ายของตน เรียกประชุมกันไม่ได้ เพราะถ้าเรียกประชุมอะไรจะเกิดก็ยากนักที่จะเดา!
วันดีคืนดี ก็มีคนปล่อยข่าวว่า "ต.สุวรรณ" อยากแบ่งสมบัติแล้วขายบางส่วนไปบ้าง แก้รำคาญ
แต่คุณนายบุญพริ้งไม่ยอมแน่ ๆ !
เมื่อเรื่องมันยุ่งอีรุงตุงนังกันนัก ระดับบริหารทำงานไปเรื่อย ๆ ลูกน้องก็เลยทำงานไปเรื่อย ๆ เหมือนกัน
"ก็อยู่ ๆ กันไป ทวพ. เขาอึมครึมหยั่งนี้มาตั้งนานแล้ว เขาชินกันแล้ว" แหล่งข่าวคนเดิมปลงให้ฟัง
ลูกน้องเก่าของทวพ. คนไหนที่ทำใจปลงไม่ได้ ก็ต้องโบกมืออำลาในเวลาไม่นานนัก
สมชัย วุฑฒิปรีชาเคยมาช่วยทวพ. ในฐานะที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการ เขาอยู่ในระยะเวลาอันสั้น ก็ต้องออกจากทวพ. กลับไปนั่งที่กระทรวงศึกษาธิการที่เดียว
เดี๋ยวนี้สมชัยเป็นเลขาธิการกปช. ใหญ่แค่ไหนเขาก็คุมการศึกษาระดับประถมทั้งหมดก็แล้วกัน!
ไกรฤทธิ์ บุญยเกียรติ เคยผ่านสนามทวพ. ในช่วงสั้น ๆ แล้วเดี๋ยวนี้ไกรฤทธิ์ไปเป็นใหญ่เป็นโตในธุรกิจเอกชนมากมาย
ในช่วงปีหลัง ๆ คนในทวพ. ลาออกเป็นฝ่าย ๆ ในเวลาไล่เลี่ยกัน หลาย ๆ คนเป็นระดับมันสมอง เป็นนักวิชาการ ซึ่งจำเป็นมาก ๆ สำหรับการแข่งขันในธุรกิจที่ต้องขายความรู้และให้การศึกษา
"คนของเราออกไปมากจริง ๆ" คนของทวพ. เผยให้ฟัง มีบางกระแสข่าวเล่าว่า คนที่นี่มีทั้งลาออกเองและได้รับ "ซองขาว" ปัจจุบันพนักงานทวพ. เหลืออยู่ในราว ๆ 700 คน เฉพาะที่สำนักงานใหญ่มีอยู่ประมาณร้อยกว่าคน
ภายใต้สถานการณ์อึมครึมและสับสนดุจ "วังสนธยา" ไทยวัฒนาพานิช ถูกตีกระหน่ำและถอย ร่นไปอยู่รั้งท้าย โดยมีวัฒนาพานิช และอักษรเจริญทัศน์แซงขึ้นไปเชือดเฉือนกันข้างหน้า
คนในวงการหนังสือแบบเรียนหลายคนยอมรับว่าตลาดหนังสือแบบเรียนในปัจจุบันได้แปรเปลี่ยนไปมาก วัฒนาพานิชกลายเป็นผู้นำในตลาด วพ. มีหนังสือ มีสินค้าตัวใหม่ออกมาเรื่อย ๆ หนังสือแบบเรียนที่วพ. ครองตลาดอยู่ ส่วนใหญ่เป็นหนังสือในระดับประถม โดยเป็นฝ่ายกวาดพื้นที่ในส่วนที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยองค์การค้าของคุรุสภาเข้าไปไม่ถึง ส่วนอักษรเจริญทัศน์กุมตลาดหนังสือแบบเรียนระดับมัธยม
หนังสือแบบเรียนที่ทวพ. ยังครองอยู่ก็ใช่ว่าจะหายไปเลย ทวพ.ยังพยายามรักษาสถานะของตนในตลาดหนังสือแบบเรียนที่เป็นแบบเรียนจริง ๆ ไม่ใช่ "เฟอร์นิเจอร์" แบบเรียนที่ทวพ. ยังเป็นเจ้าอยู่ก็เช่นแบบเรียนภาษาอังกฤษระดับประถม 1-4 และหนังสือสารานุกรมภาษาไทยที่ทวพ. เป็นผู้บุกเบิกตลาดมาแต่ต้น นอกนั้นก็เป็นพวกดิชันนารี
แต่ถ้าถามคนทวพ. ทุกคนก็จะบอกว่าที่ทวพ. เงียบไปทุกวันนี้ก็เพราะ ทวพ. ทำตลาดหนังสือเรียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องโฆษณา ไม่ต้องฮือฮา หรืออย่างมากก็ยอมรับว่า ทุกวันนี้ทวพ. กำลังพยายาม "ตีตื้น" ตลาดหนังสือเป็นจุด เป็นด้าน ซึ่งตอนนี้เขาเชื่อว่า ทวพ. กำลังทำได้
อีกสถานการณ์สู้รบที่ทวพ. เพิ่งเจ็บช้ำกระดองใจหมาด ๆ ก็คือ "ศึกสมุดโทรศัพท์" หรือ "สมุดหน้าเหลือง" ที่ทำเอาคนแย่งประมูลหน้าเหลืองไปตาม ๆ กัน (โปรดอ่าน "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนมกราคม 2531 เรื่อง "สงครามธุรกิจไม่มีพรมแดน บทเรียนราคาแพงของจีทีดีซี")
ทวพ. รับจ้างพิมพ์สมุดโทรศัพท์จากจีทีดีซีเป็นเวลากว่า 17 ปี วันชื่นคืนสุขของทั้งคู่หายไปเมื่อเอทีแอนด์ทีใช้กลยุทธ์ที่เหนือชั้นกว่าเอาชนะจีทีดีซีไปได้ในการประมูลหาผู้จัดพิมพ์ครั้งใหม่เมื่อปี 2529
เพียงลำพังที่ผ่านมาทวพ. แค่รับจ้างพิมพ์ก็คงไม่เท่าไหร่ แต่นี่ ทวพ. ไปลงขันลงหุ้น กับจีทีดีซี ด้วยในการประมูลครั้งใหม่ ทวพ. มีหุ้นในจีทีดีซี 35% หลังการพ่ายแพ้เอทีแอนด์ที ผู้บริหารจีทีดีซี ออกมาแถลงว่า ในขั้นตอนการผลิต จีทีดีซีได้เตรียมงานไปแล้ว ทำเพลท (แม่พิมพ์) สั่งซื้อกระดาษและ วัตถุดิบอื่น ๆ เพื่อรอวันกดปุ่มผลิตอย่างเดียว แต่ก็ต้องหยุดและเก็บเสื่อกลับบ้านไปก่อน
ผลงานครั้งนั้น จีทีดีซีขาดทุนไป 200 ล้าน !
อาจเป็นตัวเลขทางบัญชี วัตถุดิบบางส่วนขายคืนหรือแปรสภาพเป็นสินค้าตัวใหม่ได้ แต่ที่แน่ ๆ พีระ ต.สุวรรณ ผู้ที่เข้าไปเป็นกรรมการจีทีดีซีด้วยคงใจหายในหัวอกไม่น้อย!
ด้านโรงพิมพ์ทวพ. คงไปได้เรื่อย ๆ ทุกวันนี้งานล้นมือเต็มที่ ธีระ ต.สุวรรณ น้องคนเล็กเข้ามาเป็นผู้จัดการเต็มตัวเมื่อสองปีนี่เอง แม้ขาดงานจากจีทีดีซีไป สิ่งที่ธีระต้องทำคือ ดิ้นไปหางานพิมพ์จากต่างประเทศ ส่วนตัวธีระเองก็ไม่ค่อยจะสุงสิงกับพี่น้องอีกสองคนนัก และถูกมองข้ามไปจากปัญหาระหว่างพี่น้อง
แต่ด้านสำนักพิมพ์ที่พีระเป็นผู้จัดการ (ที่ออกจะอึดอัดพอสมควร) ในช่วงปีหลัง ๆ ล้วนแต่มีมรสุมนอก มรสุมในซัดมาไม่ขาดสาย แถมฟ้าผ่าไม่ขาดแสง ฟ้าแลบไม่ขาดเสียงอยู่บ่อย ๆ และล่าสุดเรื่องเก่าครั้งอดีตที่เป็นหนามยอกอกพีระก็หวนมาจนได้
วีระ ต.สุวรรณ ผู้พี่กลับมาอีกครั้ง!
"ผมก็กลับมาทำงานที่ผมเคยทำ" วีระประกาศกับ "ผู้จัดการ"
งานที่วีระเคยทำเมื่อสิบปีที่แล้วคืองานในตำแหน่งผู้จัดการสำนักพิมพ์ที่พีระนั่งแป้นอยู่ในเวลานี้ แล้วที่รู้ ๆ กันคือ พีระก็ไม่ได้ย้ายไปนั่งที่ไหน เพียงแต่วีระทำงานอยู่ชั้น 4 พีระอยู่ชั้น 3
"เขาทำงานของเขาไป ผมก็ทำงานของผม ก็ดีเสียอีก เราจะได้แข่งกับตัวเราเอง ต่างก็มีสิทธิ์เท่ากัน เสนอความเห็นแข่งกัน ใครดีกว่าก็เอาของคนนั้น ไม่เห็นแปลก" วีระกล่าวย้ำกับ "ผู้จัดการ"
"แล้วใช้พนักงานร่วมกันนี่แหละ ไม่แบ่งแยก" วีระตอบ เมื่อ "ผู้จัดการ" งง ๆ กับการที่พนักงานในองค์กรเดียวมีผู้จัดการสองคน (ถ้านับคุณนายบุญพริ้งด้วยก็เป็นสาม) แถมมีหน้าที่เหมือนกัน
ดูวีระจะมั่นอกมั่นใจมากกับการกลับมาทำงานครั้งนี้ สิ่งที่เขาอยากปรับปรุงมาก ๆ คือพยายามออกสินค้าใหม่ ๆ โดยเฉพาะหนังสือแบบเรียนและตำรา วีระเชื่อว่า ถ้าทวพ. ผลิตหนังสือใหม่ ๆ ให้มากกว่านี้ ทวพ. จะผงาดขึ้นมาอีกครั้ง
"ผมยังเชื่อในเครดิตของทวพ. ผมมั่นใจว่าคนยังเชื่อถือในคุณภาพของหนังสือตราทวพ. ที่ผ่านมาเรามีสินค้าหรือหนังสือใหม่ ๆน้อยมาก เราต้องเร่งผลิตหนังสือใหม่ ๆ เราจะต้องแข่งด้วยคุณภาพ เราไม่แข่งด้วยเปอร์เซ็นต์ลดแน่ ๆ ทุกวันนี้แข่งขันกันยิ่งกว่าหมากินหมาเสียอีกคุณ"
ถึงอย่างไรวีระยอมรับว่าเขาห่างหายไปจากตลาดหนังสือเรียนไปนาน อะไร ๆ ต้องเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามกาลเวลา แต่สิ่งที่วีระไม่เปลี่ยนแน่ ๆ คือเรื่องราวในอดีตที่ยังคุกรุ่นจนทุกวันนี้
วีระปฏิเสธที่จะกล่าวอ้างถึงชื่อคนอื่น ๆ เมื่อถามถึงระบบการบริหารช่วงที่วีระไม่อยู่ วีระเอ่ยเพียงแค่ "นายเก่าเค้าใจดีมั้ง"
ตอนที่ "ผู้จัดการ" พบปะกับวีระ เขาเพิ่งกลับมานั่งที่ทวพ. ได้เดือนเดียวคือเมื่อเดือนเมษายน วีระกำลังกระตือรือร้น ไม่หยุดนิ่ง และแข็งกร้าว ตามสไตล์ของเขา ขณะที่พีระผู้น้องเก็บตัวเงียบยิ่งขึ้น เขาปฏิเสธข่าวทุกข่าว และบอกว่าเขาไม่ได้ย้ายไปไหน เขายังอยู่ที่นี่
วีระกับพีระก็ทำงานกันไป แต่คนที่เป็นปมของเรื่องทั้งปวงกลับไปตกอยู่ที่แม่ของคนทั้งสอง คุณนายบุญพริ้ง !
คุณนายบุญพริ้งยังเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดทั้งในแง่ธุรกิจครอบครัวและในแง่การถือหุ้นใหญ่ มีอำนาจเต็มในการลงนามแทนบริษัท
การ "ไฟเขียว" ให้วีระกลับเข้ามาทวพ. อีกครั้งอาจเป็นความหวังสุดท้ายในบั้นปลายชีวิตของหญิงวัย 76 ปี ที่อยากให้ลูก ๆ ได้กลับมารวมกันกลับมาคืนดีอีกครั้ง
จะยังไงก็ได้ขอให้คืนดีกันอีกครั้งเถอะ
สำหรับหนทางแบ่งสมบัติแล้วให้ลูกแยกกันทำ แยกกันค้า ผู้ใกล้ชิดคุณนายบุญพริ้งเชื่อว่าไม่มีทางเป็นไปได้ คุณนายคงไม่ยอมกะเทาะเพชรที่ตนเองเจียระไนมาตลอดชีวิต ให้แตกเป็นเสี้ยว ๆ แล้วขายในราคาที่ตกฮวบฮาบ อย่างน้อยคุณนายก็คงไม่ยอมตลอดชั่วชีวิตของแก!
เมื่อคืนดีกันไม่ได้ แยกกันก็ไม่ยอม คนที่กล้าหาญตัดสินใจเรื่องเงิน เรื่องการค้าเป็นค่าร้อย ๆ ล้านอย่างเด็ดขาดและเด็ดเดี่ยวมาตลอดชีวิตอย่างคุณนายบุญพริ้ง กลับไม่กล้าตัดสินใจความยุ่งยากเช่นนี้ให้เด็ดขาดลงไป
บางคนเชื่อว่านี่คือลักษณะธุรกิจแบบครอบครัว ที่หลาย ๆ ครั้ง ความรัก ความห่วงใย และความผูกพันอาทรมั่นคง และเหนียวแน่นเสียยิ่งกว่าสายธารทองคำที่ร้อยรัดพันธนาการร่างกาย เงินไม่ได้สำคัญกว่าลูกที่ตนเลี้ยงมาตั้งแต่แบเบาะ!
จะอย่างไรก็ได้ขอให้คืนดีกันเถิด คุณนายบุญพริ้งคงเรียกร้องเช่นนี้มาเป็นสิบปี!
มีคำถามมากมายเหลือเกินสำหรับไทยวัฒนาพานิชในยุคสามศรีพี่น้อง "วีระ-พีระ-ธีระ"
โรงพิมพ์ไทยวัฒนาพานิชนั้น ตราบใดที่ยังมีงานระดับยักษ์ป้อนเข้ามาไม่ขาดสายก็ไม่มีปัญหาทุกอย่างทำงานไปได้ตามระบบของมัน และเป็นที่เชื่อว่าโรงพิมพ์ทวพ. คงรักษาสถานภาพความยิ่งใหญ่ของตนไว้ได้
แต่ที่สำนักงานใหญ่ "บริษัทสำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช จำกัด" นี่ซิ มีคำถามกองพะเนินเทินทึก
คำถามแรก-ธุรกิจแบบครอบครัวอาจสร้างความยิ่งใหญ่และสินทรัพย์ค่ามหาศาลแก่วงศ์ตระกูลได้ แต่เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งที่ความยิ่งใหญ่มันใหญ่เกินตัว ธุรกิจครอบครัวก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับวงจรธุรกิจสมัยใหม่ เพื่อรักษาฐานะของตนไว้ให้ได้ การตัดสินใจที่รวมศูนย์เกินไปและขึ้นกับสัมพันธภาพส่วนตัวไม่ว่าจะเป็นแง่ดีหรือไม่ก็ตาม อาจทำให้ไม่รอบด้านและกว้างไกลเพียงพอ
แล้วไทยวัฒนาพานิช จะปรับตัวอย่างไร?
คำถามที่สอง- เมื่อความสัมพันธ์ภายในครอบครัวมีลักษณะอึมครึม มีผลทำให้นโยบายในด้านธุรกิจพลอยคลุมเครือไปด้วย การตัดสินใจที่ไม่เด็ดขาดทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่ เนื่องจากทุกเรื่อง มีการคานอำนาจและไม่แบ่งอำนาจการตัดสินใจและรับผิดชอบให้ชัดเจน
แล้วคนในตระกูล "ต. สุวรรณ" จะแบ่งอำนาจกันอย่างไร?
คำถามที่สาม-ระบบการตลาดในทศวรรษ 2530 ได้เปลี่ยนแปรไปมาก มีรูปแบบและกลวิธีใหม่ ๆ ไม่ขาดสาย รวมไปถึงยุทธศาสตร์แห่งการแข่งขันถึงพริกถึงขิงมากขึ้น และมีการคิดค้นสินค้าตัวใหม่มาเรื่อย ๆ
ไทยวัฒนาพานิชจะจัดขบวนทัพเพื่อรับศึก และการบดขยี้จากคู่แข่งก่อนที่ตัวเองจะถูกทิ้งห่างไปกว่านี้อย่างไร?
คำถามที่สี่-ในช่วงหลังพนักงานระดับ "มันสมอง" ของไทยวัฒนาพานิชได้ผันผายตัวเองออกมาเป็นจำนวนมาก การรับคนใหม่เพื่อมาเสริมกำลังในระดับหัวกระทิไม่ใช่เรื่องที่ค้นคว้าหากันได้ง่าย ๆ อีกทั้งต้องอาศัยเวลาการปรับตัวและองค์กรเพื่อรองรับซึ่งกันและกันอีกไม่ใช่น้อย
แล้วไทยวัฒนาพานิชจะหาคนที่ได้ดั่งใจ และพร้อมที่จะอยู่เป็นอยู่ตายกับทวพ. นานมาก ๆ จากที่ไหน?
คำถามที่ห้า-การสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระดับผู้บริหารกับระดับผู้ปฏิบัติงานเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ระบบประชุมในองค์กรใหญ่ ๆ เช่น ทวพ. จึงเป็นเรื่องจำเป็น แต่จะต้องเป็นการประชุมที่เป็นระบบ เหมาะสมและอยู่บนพื้นฐานของความจริงใจในการแก้ปัญหา
ก็อยู่ที่ว่าหัวขบวนพร้อมที่จะจัดขบวนแถวให้มันอยู่ในร่องในรอยหรือเปล่า?
คำถามที่หก-การเก็บตัวอย่างเงียบเชียบ ๆ และพยายามเก็บเงินเก็บทองไม่ให้ใครรู้ อาจไม่สอดคล้องกับกระแสธุรกิจที่เต็มไปด้วยสงครามข่าวลือ และการบ่อนทำลายกันด้วยวิธีปากต่อปากในยุคสมัยปัจจุบันเลย
หรือไทยวัฒนาพานิชจะใช้ความสงบสยบพายุข่าวลือที่โหมกระหน่ำทุกวันนี้?
คำถามสุดท้าย-หลังยุคนายห้างและคุณนาย เหล่าพี่น้องตระกูล "ต.สุวรรณ" จะจัดการกับเรื่องราวภายหลังอย่างไร ในแง่ผู้ถือหุ้นและอำนาจในฐานะกรรมการบริษัทดูเหมือนว่า วีระจะเสียเปรียบที่สุดเมื่อดูจากทะเบียนหุ้น หุ้นก็แทบไม่เหลือ กรรมการก็หยุด (แต่วีระยังถือหุ้น 20% ในโรงพิมพ์) เว้นเสียแต่ในความห่วงใยในฐานะพ่อแม่กับลูกชายคนโต ทุกสิ่งอาจแปรเปลี่ยนไป
แต่คงไม่มีใครอยากเห็นความยิ่งใหญ่ของไทยวัฒนาพานิช ถูกแบ่งเป็นเสี้ยว เพราะยากนักที่ธุรกิจเล็ก ๆ จะเรียกร้องความยิ่งใหญ่กลับคืนมาได้ง่าย ๆ ใน พ.ศ. ปัจจุบัน
ในกาลข้างหน้ายังมีคำถามอีกมากมายเหลือเกินสำหรับไทยวัฒนาพานิช และพี่น้องตระกูล "ต. สุวรรณ" ตราบเท่าที่เมฆหมอกแห่งความอึมครึมยังแผ่อยู่เหนือไทยวัฒนาพานิช
คำตอบทั้งหมดอยู่ที่ "วีระ-พีระ-ธีระ ต.สุวรรณ"
"ผมท้าเลย ถ้าพี่น้องเขารวมพลังและปรึกษากัน ไม่มีใครสู้ไทยวัฒนาพานิชได้ วพ. ก็วพ. เถอะ แข่งเรื่องเปอร์เซ็นต์กันก็ได้ ลดสู้กันตั้งแต่ 20 เปอร์เซ็นต์ยัน 50 เปอร์เซ็นต์ก็เอาซิ ใครจะทุนหนากว่ากัน ไทยวัฒนาพานิช มีสินทรัพย์เท่าไหร่ ปึ้กแค่ไหน คุณก็รู้ ใครจะตายก่อนให้มันรู้ไป เปลี่ยนหลักสูตรเหมือนกัน อีกสิบปีหลักสูตรมันก็ต้องเปลี่ยน นับหนึ่งตอนนั้นใหม่ก็ได้ ส่ง SPY เข้ากระทรวงก็เอาใครเครดิต ใครน่าเชื่อถือกว่ากันพิสูจน์กันได้ ถ้าพี่น้องเขาปรึกษากัน เอาซิ ผมท้าเลย... !" คนใกล้ชิดไทยวัฒนาพานิชประกาศ
วัฒนาพานิชกับอักษรเจริญทัศน์อาจหนาวเข้าไปถึงขั้วหัวใจ แต่ "ผู้จัดการ" อยากเห็นวันนั้น จริง ๆ
วันที่ "คำท้า" ขอเวลาเพื่อการพิสูจน์!
วีระ ต. สุวรรณ วางไปป์ลงบนโต๊ะ หยิบแว่นสายตากรอบทองขึ้นมาสวม มีหลายสิ่งเหลือเกินที่เขาต้องทำ ต้องจัดการ เวลาสิบปีที่ผ่านเลย หลายอย่างแปรเปลี่ยนไป เขากลับมาครั้งนี้ เขาต้องทำได้ ต้องพิสูจน์ความเป็นเจ้าของ "ไทยวัฒนาพานิช" ให้จงได้
วีระยิ้มพรายในใจแล้วหยิบปากกา ตั้งอกตั้งใจเขียนงานต่อไป...
อาจมีหลายสิ่งที่วีระต้องเริ่มทำก็จริง แต่วีระจะตระหนักบ้างหรือไม่ ไม่อาจรู้ได้ ก็คือในเวลานี้ราชสีห์ที่ถูกหักเขี้ยวเฉกเช่น "ไทยวัฒนาพานิช" ที่เขาต้องก้าวตามไปนั้นยังหลงทางอยู่ในวังวน...วังวนแห่งสนธยา
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|