|
พิพัฒน์ ตันติพิพัฒน์พงศ์ "ซัน ทัค ซุย"
โดย
ชูวิทย์ มังกรพิศม์
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2531)
กลับสู่หน้าหลัก
"พิพัฒน์ ตันติพิพัฒน์พงศ์" ทุกวันนี้เขายังชอบที่จะเก็บตัวอยู่อย่างเงียบเชียบ ไม่พอใจอย่างมากหากรับรู้ว่าตังเองต้องตกเป็นข่าวไม่ว่าในเรื่องใด ๆ ทั้งสิ้น ทั้งที่ความเป็นจริงทุกวันนี้เขาไม่ใช่ซัน ทัค ซุย พ่อค้าจีนไต้หวันกระจอก ๆ คนหนึ่งอีกแล้ว เขาไม่ใช่ผู้ถือหุ้นมากที่สุดในแบงก์กรุงเทพแต่ก็เป็นคนสำคัญที่อาจสามารถชี้อนาคตแบงก์ใหญ่แห่งนี้ได้เป็นอย่างดีและยังไม่นับถึงการเคลื่อนไหวสู่โลกธุรกิจอุตสาหกรรมอีกหลายแขนงที่น่าจับตามองในความสำเร็จเกินคาดคิด และจิตสำนึกทางธุรกิจของเขานับเป็นเรื่องที่น่าสนใจอย่างยิ่ง !!!
ชาตรีเองก็งงมากเหมือนกัน ที่อยู่ดี ๆ มีคนถือหุ้นต่างกันไม่กี่มากน้อยโผล่ขึ้นมาคนหนึ่ง ร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือไม่มีใครรู้ด้วยซ้ำว่านายคนนี้เป็นใคร มาจากไหนและทำธุรกิจอะไรถึงได้มีเงินมาซื้อหุ้นแบงก์ได้มากมายขนาดนี้" พนักงานเก่าแก่คนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ" เมื่อถูกถามถึงความเป็นมาของ หนึ่งในกรรมการสิบเก้าคนของธนาคารกรุงเทพชุดปัจจุบัน
กรรมการผู้ซึ่งครั้งหนึ่ง "ข่าวจัตุรัส รายสัปดาห์" เคยเขียนถึง และขนานนามว่าเป็น "กรรมการโหม่ง"
เป็นกรรมการคนเดียวที่นอกจากซื้อหุ้น ฝากเงิน ใช้บริการกู้เงินหรือเบิกเงินเกินบัญชีบ้างเป็นครั้งเป็นคราวแล้ว กล่าวได้ว่าลงไปสัมผัสหรือมีความสัมพันธ์กับการบริหารงานของแบงก์...น้อยยิ่งกว่าน้อย
"พิพัฒน์ ตันติพิพัฒน์พงศ์" ในวันนี้แทบไม่แตกต่างจากยี่สิบห้าปีก่อนที่เข้ามาเมืองไทยเลยแม้แต่น้อย!!!
คนใกล้ชิดกับเขาบอกว่าพิพัฒน์ออกงานสังคมน้อยมาก ไม่ชอบเล่นกีฬา ไม่มีงานอดิเรกใด ๆ ในชีวิตของเขาดูเหมือนมีเพียง "งาน" กับ "งาน" เท่านั้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่เคยมีใครที่จะได้เข้าไปพูดคุยสัมภาษณ์เขาทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการเลยแม้สักครั้ง ซึ่งเหตุผลที่ได้รับตลอดมาก็คือ "ไม่อยากโฆษณาตัวเอง"
แต่นักธุรกิจที่คุ้นเคยกับพิพัฒน์เป็นอย่างดีหลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ระยะหลังเวลาออกงานที่ไหน เขามักบอกใครต่อใครว่า
วันนี้...เขามีหุ้นแบงก์กรุงเทพอยู่ในมือเกือบสามสิบเปอร์เซ็นต์แล้ว!!!
และนับวันมีแต่จะเพิ่มขึ้น... เพิ่มขึ้น...?!?
สามสิบเก้าปีก่อน (พ.ศ. 2492) ชาวจีนส่วนหนึ่งอพยพออกจากจีนแผ่นดินใหญ่ มาตั้งหลักแหล่งใหม่บนเกาะเล็ก ๆ กลางทะเลที่มีเนื้อที่เพียงสามหมื่นตารางกิโลเมตร ที่เรียกกันว่า "เกาะฟอร์โมซา" (ไต้หวัน)
ไม่ถึงสิบปีดี พลเมืองบนเกาะแห่งนี้เพิ่มขึ้นไปถึงกว่าสิบล้านคน ถึงแม้วิทยาการและเทคโนโลยีของประเทศจะก้าวหน้าไปได้ไกลสักเพียงใด แต่วัตถุดิบก็ร่อยหรอลงไปทุกที โดยเฉพาะผลผลิตทางการเกษตรที่พอเลี้ยงก็เฉพาะคนในประเทศ
คนไต้หวันส่วนหนึ่งเริ่มเดินทางออกจากประเทศ แสวงหาทำเลที่เหมาะสมกว่าที่เดิม ส่วนหนึ่งมุ่งสู่มาเลเซีย ฟิลิปปินส์
อีกมากที่เริ่มเข้ามาบุกเบิก ติดต่อทำการค้า บ้างก็แสวงหาวัตถุดิบส่งกลับไปยังประเทศบ้านเกิด ที่เมืองไทย
และ " ฉั่นจอง แซ่ตั้ง"หรือ "ตั้ง สิก ติน" ก็เป็นคนไต้หวันอีกคนหนึ่ง ที่เข้ามาบุกเบิกสร้างอาณาจักรของตนเองในช่วงต้นปี พ.ศ. 2500 ตั้ง สิก ติน ไม่ได้แตกต่างจากคนจีนโพ้นทะเลคนอื่นๆ ที่มาตั้งรกรากแบบ "เสื่อผืนหมอนใบ" เลยสักนิด ช่วงแรกที่เพิ่งเข้ามาใหม่ ๆ เขาเช่าบ้านหลังเล็ก ๆ พักอาศัยอยู่แถวทรงวาด ที่ซึ่งเป็นแหล่งรวมชาวจีนจากทุกสารทิศ
เขาเริ่มทำงานครั้งแรกที่โรงงานทอเสื้อยืดของอื้อจือเหลียง ด้วยความขยันหมั่นเพียรก็ไต่เต้าขึ้นมาเป็นลำดับ จนกระทั่งได้เป็นผู้จัดการโรงงาน ได้รับเงินเดือนถึง 1,500 บาท ซึ่งนับได้ว่าสูงมากในสมัยนั้น
แต่ด้วยความกระตือรือร้นและความทะเยอทะยานที่อยากมีกิจการเป็นของตนเอง ตั้ง สิก ติน จึงลาออกจากโรงงาน และกลับไปบ้านเกิดเมืองนอนของเขาอีกครั้งหนึ่ง
"เขาไม่ได้กลับไปตัวเปล่าหรอกนะ พอดีเขาโชคดีที่ได้รู้จักคุณประเสริฐ ที่เป็นกรรมการคนหนึ่งของแบงก์กรุงเทพฯ ตอนนั้นก็เลยให้ยืมเงินหลายแสนบาทกลับไปลงทุนที่ไต้หวัน" คนเก่าแก่ย่านทรงวาดท่านหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
ประเสริฐ สิริพิพัฒน์ เป็นอีกคนหนึ่งในกรรมการแบงก์กรุงเทพปัจจุบัน เป็นคนที่กว้างขวางมากทั้งในวงราชการและธุรกิจเอกชนในยุคนั้น คนจีนที่มาอยู่เมืองไทยระยะแรก ๆ ต่างก็เคยมาขอให้เขาช่วยเหลือแทบทุกคน
จากเมืองไทย ตั้งสิกตินดั้นด้นไปแสวงหาโชคหลายแห่ง ด้วยความมานะพยายาม ความอดทน และความสามารถทางการค้าที่ยอดเยี่ยมหาตัวจับยากของเขาในเวลาเพียงไม่กี่ปี เขาก็มีกิจการ มากมายในหลายประเทศ
ทั้งบริษัทผลิตสับปะรดกระป๋อง อู่ต่อเรือ บริษัทผลิตเครื่องจักรสำหรับโรงงานทำน้ำตาลในไต้หวัน กิจการเทรดดิ้งเฮ้าส์ที่มีทั้งโรงแรม อาหารกระป๋อง ฯลฯ ในฮ่องกง และยังมีกิจการค้าไม้อัดร่วมกับ "ฉั่วเลี่ยงฮวด" มหาเศรษฐีใหญ่ ในฟิลิปปินส์อีกด้วย
ประมาณปี พ.ศ. 2505 ตั้งสิกตินกลับมาเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับ "เฉินซิดป๋วย" และเฉิน คูโชซิง น้องชายและน้องสะใภ้ จากไต้หวัน ด้วยตระหนักดีว่าเมืองไทยเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ มีทรัพยากรหรือวัตถุดิบมากมาย เขาตั้งใจแน่วแน่ว่าต้องประสบความสำเร็จในเมืองไทยให้ได้
ในขณะนั้นไม่มีอะไรเหมาะสมไปกว่ากิจการที่เขามีความชำนาญอย่างมาก นั่นคือการลงทุนทำสับปะรดกระป๋อง
"คงไม่ใช่เป็นเพราะทำที่นั่นแล้วถึงมาทำที่นี่ด้วย ตอนนั้น สับปะรดในเมืองไทยมีมากเหลือเกิน อย่างแถวปราณบุรี มีมากจนชาวบ้านต้องจ้างรถบรรทุกขนไปทิ้งที่เขาขายกิโลกรัมละสิบตังค์ สิบห้าตังค์ สมัยยี่สิบปีก่อนยังไม่มีคนซื้อเลย" คุณหญิง สุภัทรา ตันติพิพัฒน์พงศ์ ภรรยาของพิพัฒน์ อธิบายกับ "ผู้จัดการ"
การเข้ามาสร้างอาณาจักรของคนจีนในสมัยนั้น แม้ยากเย็นเพียงใดแต่ก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงไปได้ ปัญหาจริง ๆ ในช่วงนั้นของตั้งสิกตินและน้องชายก็คือ การที่จะต้องติดต่อกับหน่วยราชการของไทยมากมายและที่สำคัญ... ทั้งสองคนพูดภาษาไทยไม่ได้!!!
ความที่เดินทางไป ๆ มา ๆ ติดต่อการค้าระหว่างเมืองไทยกับไต้หวันบ่อยครั้ง ทำให้เขารู้จักพ่อค้าใหญ่ชาวจีนที่ประสบความสำเร็จหลายคน ซึ่งคนที่ช่วยเหลือเขาเป็นอย่างมาก คือ อัมพร บูลภักดิ์ นายกสมาคมพ่อค้าไทย-จีน ในขณะนั้น (ปัจจุบันเสียชีวิตไปแล้ว)
อัมพรชักชวนพ่อค้าจีนในไทยให้เข้ามาร่วมทุน ในกิจการสับปะรดกระป๋องได้หลายสิบคน จดทะเบียนตั้งบริษัท อุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องไทย จำกัด เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2505 ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท มีอัมพร เป็นประธานกรรมการ ยง อุทิศกูล เจ้าของบริษัทเครื่องกีฬาตรานกอินทรีเป็นกรรมการอำนวยการและเฉินซิดป๋วย เป็นกรรมการผู้จัดการ
เพิ่งดำเนินงานไปได้ไม่นานเท่าไรก็เกิดปัญหา เริ่มจากผู้ถือหุ้นชาวไทยส่วนหนึ่งถอนตัวออกไป
"มีส่วนหนึ่งที่เขายังไม่ได้ตกลงใจเรียกมาคุยกันเฉย ๆ เขาเห็นว่าพวกไต้หวันถือหุ้นมากเกินไป แถมยังต้องเสียค่าลิขสิทธิ์อะไรก็ไม่รู้อีกส่วนหนึ่ง เขาเลยบอกไม่เอาด้วย ทั้ง ๆ ที่เอาเครื่องจักรมาแล้วแต่ยังไม่ได้เริ่มผลิต" คนที่รู้เรื่องดีบอก
เรื่องยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี ก็มีปัญหาการติดต่อกับกรมสรรพากร ที่ต้องการเก็บเงินจากบริษัทมากกว่าที่ประเมินไว้ในครั้งแรก
"เขากำลังจะชวนสุนีรัตน์ เตลาน ชนัตถ์ ปิยะอุย กับพวกเข้ามาร่วมหุ้นแทนพวกที่ออกไปอยู่พอดีสุนีรัตน์คงเห็นว่ายุ่งยากนัก และจริง ๆ แล้วต้องการทำโรงแรมอย่างจริงจังมากกว่า ก็เลยไม่เอาด้วย" คนที่อยู่ในเหตุการณ์อีกคนเล่าให้ฟัง
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้ทำให้ตั้งสิกตนย่อท้อ เขาทำการติดต่อซื้อที่ดินแถวปราณบุรี ที่เป็นแหล่งผลิตสับปะรดที่สำคัญที่จะมาป้อนโรงงานของเขา และมาเช่าที่ของบริษัท เซาท์อีสท์ เอนจิเนียริ่ง เดิม ที่ซอยวัฒนวงศ์ แถวประตูน้ำ ของเพื่อนชาวจีนคนหนึ่ง ตั้งโต๊ะเก้าอี้สองสามตัว เป็นที่ทำการชั่วคราวของบริษัท
จากนั้น ไม่นานอัมพร บูลภักดิ์ และผู้ถือหุ้นอีกสองสามคนก็ลาออก กอปรกับเฉินซิดป๋วยกับภรรยาต้องกลับไปดูแลกิจการในไต้หวันและฮ่องกงบ่อยครั้ง ขณะที่การดำเนินงานของบริษัทยังไม่เข้ารูปเข้ารอยดี
นั่นคือการเข้ามาเมืองไทยของ ซัน ทัค ซุย (CHAN TAK SHUI) ลูกชายที่ตั้งสิกตินให้คุมกิจการค้าไม้อัด ที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนักที่ฟิลิปปินส์ สุภัทรา ตันติพิพัฒน์พงศ์ (อิทธอาวัชกุล) และลัม เชียงไก (LUM CHIANGKAI) ผู้จัดการกิจการเทรดดิ้งเฮ้าส์ หนุ่มอายุยี่สิบห้าจากฮ่องกง
เป็นจุดเริ่มหน้าแรกของประวัติศาสตร์ของชาวไต้หวันธรรมดาสามัญสองสามคน ผู้เข้ามาทำกิจการที่แทบไม่มีใครรู้จักและสนใจจนประสบความสำเร็จ
คนในวงการหลายคนให้ความเห็นว่า ซัน ทัค ซุย ในวันนั้น หรือพิพัฒน์ ตันติพิพัฒน์พงศ์วันนี้ มีสิ่งที่เขาไม่เคยเปลี่ยนแปลงตลอดมาอยู่หลายข้อ
นิสัยอย่างหนึ่งของเขาคือ ถ้าต้องทำกิจการใด ก็ตาม แล้วต้องให้เงินคนอื่นไปทำ หัวเด็ดตีนขาดเขาไม่ยอมให้ทำอย่างเด็ดขาด และจะเอาเรื่องนั้น ๆ มาทำเอง
เช่นเดียวกับการทำงานกับผู้บริหารที่เป็นคนไทยในยุดแรกของบริษัท แทบพูดได้ว่าไม่เคยมีใครทำงานกับเขาได้ตลอดรอดฝั่ง เพราะความไม่ไว้วางใจใครง่าย ๆ ของเขา
กับชาวต่างประเทศที่เข้ามาประกอบการค้าในเมืองไทยยุคสมัยใดก็ตาม ต้องมีหุ้นส่วนหรือผู้บริหารที่เป็นคนไทยร่วมอยู่ในบริษัทด้วยจำนวนหนึ่ง เพื่ออำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ไม่มากก็น้อย
การก่อตั้งบริษัท อุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องไทย (ทีพีซี) นี้ก็เช่นกัน แต่ดูเหมือนว่าที่นี่จะ มีการสับเปลี่ยนผู้ถือหุ้นชาวไทยมากเป็นพิเศษ
แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับการวางแผน และการมองการณ์ไกลของตั้งสิกตินที่วางบทบาทของตัวเองและลูกชายอย่างรอบคอบสุขุม
เขาไม่ได้ให้ซัน ทัค ซุย เข้ามาดูแลกิจการเลยแต่แรก เขาส่งให้ลูกชายไปเป็นเซลส์แมนขายเครื่องจักรอยู่ปีหนึ่งก่อน เพื่อที่จะได้ศึกษาธรรมชาติและแนวความคิดทางการค้าของคนไทยที่มีต่อคนจีนในสมัยนั้น
ตั้งสิกติน ชักชวนคนไทยเข้ามาร่วมหุ้นได้อีกหลายคน มีทั้งประเสริฐ สิริพิพัฒน์ อุดม วิทยะสิรินันท์ และพี่น้องจากธานินทร์อุตสาหกรรม นพ. สุนทร บุญญานิตย์ ฯลฯ รวมทั้งไพศาล ตระกูลลี้ ที่อีกไม่กี่ปีต่อมาเป็นนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปเข้ามาเป็นกรรมการผู้จัดการโดยมีซัน ทัค ซุย รั้งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ คอยติดสอยห้อยตามไพศาล และประเสริฐ ที่มีส่วนช่วยเหลือในการติดต่อหน่วยราชการต่าง ๆ อย่างมาก ในช่วงต้นของบริษัท และตัวตั้งสิกตินเองก็ลดบทบาทของตนเองลงเพื่อจะได้ดูแลกิจการทางไต้หวัน และฮ่องกงได้มากยิ่งขึ้น
ปี พ.ศ. 2508 ชัน ทัค ซุย ยื่นโครงการตั้งโรงงานผลิตสับปะรดกระป๋องที่ตำบลเขาน้อย ปราณบุรี กับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และขอ บีโอไอ
เขาได้รับการส่งเสริมสมใจ พร้อมเงินกู้อีก 5 ล้านบาท เขาสั่งเครื่องจักรทันสมัยจากโรงงานในไต้หวันเข้ามาด้วยหวังจะทำการผลิตทันที เนื่องจากวัตถุดิบ และบุคลากรนั้นพร้อมอยู่แล้ว เขากับลัม เชียงไกเดินทางไปมาระหว่างกรุเทพฯ-ประจวบคีรีขันธ์ดูแลความเรียบร้อยของโรงงาน มีสุภัทราติดต่อด้าน การตลาด ควบคุมการเงิน และบริหารงานทั่วไปของบริษัท
ถึงแม้คนไทยจะไม่ค่อยชอบรับประทานสับปะรดบรรจุกระป๋องในขณะนั้น แต่กิจการของเขาก็ไปได้ดีกว่าที่คาดคิด เนื่องจากสับปะรดกระป๋อง ของเขานั้นส่วนใหญ่ "ส่งออก" ไปต่างประเทศ
"ตอนนั้นเครื่องจักรของเราทำได้ทุกอย่าง ทั้งเงาะ ลำไย กล้วยไข่กระป๋องเราก็เคยทำมาแล้ว แต่ต่างประเทศไม่เหมือนเมืองไทย คนของเขาพิถีพิถันมาก โดยเฉพาะกับสิ่งที่บ้านเมืองเขาไม่มี เราจึงมุ่งมาทางสับปะรดที่เราถนัดอยู่แล้วอย่างเดียว" ลัม เชียงไก ที่เพิ่งเปลี่ยนชื่อมาเป็นเกรียงไกร นำประสิทธิผล เมื่อไม่กี่ปีมานี้ และเป็นผู้ช่วยผู้จัดการของทีพีซีบอก "ผู้จัดการ"
ตลาดสับปะรดกระป๋องเติบโตเร็วมากจากปี 2509 ที่เป็นปีแรกของการส่งออก มีจำนวนเพียง 4 เมตริกตัน มูลค่าไม่ถึงล้านบาท
เพิ่มเป็น 1,452, 7,746, 9,502 เมตริกตัน มีมูลค่าการส่งออกถึง 6, 29 และ 37 ล้านบาทในปีต่อ ๆ มา
"ส่วนใหญ่เป็นโควตาของทีพีซี เพราะตอนนั้นเขารับการถ่ายทอดโนว์ฮาวมาจากไต้หวันเป็นโรงงานเดียวในประเทศที่ใช้ STERILIZATION SYSTEM ขณะที่โรงงานที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ยังใช้ยากันบูดอยู่เลย" คนในวงการท่านหนึ่งเล่าให้ฟัง
แต่ก็เป็นสัจธรรมในวงการธุรกิจอีกเช่นกันที่ว่า กิจการที่เริ่มต้นใหม่ถ้าเจ็บก็ต้องเจ็บหนักกว่าคนอื่น แต่ถ้าหนทางสดใสเมื่อไรละก็ อย่าหวังที่จะได้กินเค้กก้อนโตนี้คนเดียว
สิ้นปี 2511 ซัน ทัค ซุย ประชุมผู้ถือหุ้นอีกครั้งด้วยเห็นว่ากำลังการผลิตที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับความต้องการของตลาดต่างประเทศได้ จึงเพิ่มทุนขึ้นเป็นสิบห้าล้านบาท และย้ายสำนักงานมาอยู่ที่ตึกนายเลิศ
เหตุผลที่สำคัญจริง ๆ แล้วน่าจะเป็นเพราะเขามองเห็นแล้วว่า มีใครบ้างที่จะเข้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาดที่เคยครองอยู่คนเดียวนี้ไปจากเขา
และคู่แข่งคนนี้ ก็ไม่ใช่จะประมาทได้ง่าย ๆ เสียด้วย นั่นก็คือพันเอกพล เริงประเสริฐวิทย์ เจ้าของบริษัท ชะอำไพน์แอปเปิ้ลที่อื้อฉาวในกาลต่อมานั่นเอง
"ทีพีซีมีเครื่องจักร 5 เครื่อง แต่เสธ. พล ขอตั้งโรงงานมี 11 เครื่อง ชาวไร่รู้เข้าก็ดีใจวางแผนผลิตเพิ่มกันใหญ่ ทีพีซีก็เลยอยู่เฉยไม่ได้ต้องขยับขยายกับเขาบ้าง" คนที่รู้เรื่องดีบอก
ยังไม่ทันได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันจากการเพิ่มทุน ทีพีซีก็ต้องเจอกับภัยธรรมชาติ น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ชาวปราณบุรีเอง บอกว่ายี่สิบปีอาจจะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง
แต่น้ำท่วมครั้งนี้ ทีพีซีโดนเข้าไปสองครั้งสองหน...สองปีติด ๆกัน !!!
ซึ่งแทบพัดพาเอาความรุ่งโรจน์ที่ผ่านมา กับความหวังอันเรืองรองที่รออยู่ข้างหน้าของซัน ทัค ซุย ไปกับกระแสน้ำเชี่ยวกรากหมดสิ้น
"มันมาเร็วมาก ชั่วโมงเดียวน้ำสูงสองเมตรกว่า ตอนนั้นรู้สึกหมดหวัง ไม่คิดว่าจะกลับมาทำได้อีกแล้ว" เกรียงไกรท้าวความถึงเหตุการณ์ตอนนั้นให้ฟัง
และไม่ได้แตกต่างจากความรู้สึกของซัน ทัค ซุยกับสุภัทราที่ทราบข่าวร้ายที่กรุงเทพฯ เลยแม้แต่น้อย ด้วยความเป็นห่วงโรงงาน และคนงาน เขาถึงกับเช่าเฮลิคอปเตอร์บินไปสำรวจความเสียหายด้วยตนเองทันที
"น้ำท่วมมากจริง ๆ มิดหลังคาโรงงานเลย เห็นคนงาน ช่างเทคนิคอยู่บนหลังคาแต่ทำอะไรไม่ได้ ก็ต้องกลับ" คุณหญิงสุภัทรา เล่าให้ฟังบ้าง
พอน้ำลด ซัน ทัค ซุย ก็เข้าไปเคลียร์โรงงานทันที เนื่องจากเขาไม่ได้วางแผนและคิดถึงปัญหาน้ำท่วมนี้มาก่อน ความเสียหายจึงไม่น้อยเลยทีเดียว
นั่นก็เป็นครั้งแรกที่เขาต้องดั้นด้นไปขอความช่วยเหลือจากธนาคารกรุงเทพ ที่เขาใช้บริการอยู่ แต่ก็ไม่เคยคิดว่าจะต้องขอกู้เงินแบงก์เลยสักครั้ง
การกู้เงินครั้งนี้ ไม่ได้ง่ายดังใจนึก ด้วยเขาเป็นคนที่เรียกได้ว่าโนเนมไม่มีใครรู้จัก แถมกิจการสับปะรดกระป๋องก็ไม่ได้น่าสนใจมากมายอะไร ทำให้ผู้จัดการที่รับผิดชอบฝ่ายสินเชื่อในเวลานั้นต้อง ขอดูตัวเขาก่อนที่จะให้กู้
"เขาเห็นว่าก็กู้ไม่มากมายอะไร แค่ไม่กี่แสน ก็เลยให้มา" คุณหญิงสุภัทราบอก
ผลจากน้ำท่วม ทำให้ปีนั้นบริษัทขาดทุนไปกว่าสิบล้านบาท รวมทั้งผู้ถือหุ้น และผู้บริหารชาวไทยที่เห็นว่าบริษัทคงจะไปไม่รอด มีบ้างบางคนมีปากเสียงกับตั้งสิกติน และเฉินซิดป๋วยที่บินมาบ่อย ๆ ก็พากันขายหุ้นคืนให้ซัน ทัค ซุย และถอนตัวออกไปจนหมดสิ้น
ก็เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด ตอนต้นปี ซัน ทัค ซุย กับตั้งสิกติน ขอเปลี่ยนชื่อและนามสกุล มาเป็นพิพัฒน์ และ จง ตันติพิพัฒน์พงศ์ ด้วยอาจหวังว่านั่นจะทำให้พวกเขาโชคดีขึ้นมาบ้าง
แต่นั่นไม่ได้ช่วยอะไรให้ดีขึ้นเลย ต้นเดือนธันวาคม 2514 วันที่ 1 น้ำท่วมที่โรงงานของพวกเขาอีกครั้ง ระดับน้ำคราวนี้ไม่ได้น้อยกว่าคราวที่แล้วเลยแม้สักนิด
แต่เนื่องจากเคยมีประสบการณ์มาครั้งหนึ่งแล้ว สภาพคราวนี้จึงดีกว่าคราวที่แล้วมาก จากยี่สิบเอ็ดวันกว่าที่จะให้เครื่องจักรใช้งานได้ของครั้งก่อน เพียงเจ็ดวันหลังจากน้ำลดก็สามารถส่งสินค้าออกไปได้ตามปกติ
ถึงแม้ปีนี้ บริษัทจะขาดทุนอีกไม่น้อยกว่าปีที่ผ่านมา แต่ก็ยังมีรายได้จากการขายข้าวโพดอ่อนเข้ามาแทนที่สับปะรดกระป๋อง ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน ทำให้มีเงินหมุนเวียนประกอบกิจการต่อไปได้
นั่นก็เหมือนกับว่าฝันร้ายของทีพีซีได้ผ่านพ้นไปแล้วและเป็นจุดเริ่มต้นของทศวรรษแห่งความสำเร็จของพิพัฒน์ ตันติพิพัฒน์พงศ์ กับทีพีซีของเขาในกาลต่อมา
พิพัฒน์ ตันติพิพัฒน์พงศ์ อาจไม่ใช่นักธุรกิจที่มุ่งมั่นจะเข้าไปลงทุนในธุรกิจใดก็ตามที่เขาเห็นว่าจะไปได้ดี หรือมีอนาคต
ไม่ใช่นักเก็งกำไรจากการร่วมทุนกับคนโน้นทีคนนี้ที เข้าไปทำธุรกิจแบบ "ตีหัวเข้าบ้าน" ที่พอได้กำไรแล้วก็ถอนตัวออกมา
แต่สำหรับ "ผู้จัดการ" แล้ว เขาเป็นมากกว่านั้น
ซึ่งนั่นไม่ใช่เพียงคำว่า "สุขุม" "ลุ่มลึก" หรือ "มองการณ์ไกล" เท่านั้นที่จะอธิบายศักยภาพทางความคิดที่มีอยู่ในตัวของเขาได้
พิพัฒน์ในวันนี้ ไม่ใช่ร่ำรวยขึ้นมาจากกิจการหลายอย่างที่เขาเป็นเจ้าของในต่างประเทศ ใช้เป็นฐานในการดำเนินธุรกิจของเขาในเมืองไทยอย่างที่หลายคนเคยเข้าใจ
อย่างน้อยเขาได้ผ่านการ "ลองผิดลองถูก" กับธุรกิจที่เขาจับมากับมือมาหลายครั้งร่วมกับพ่อ ของเขา รู้จักหันหางเสือตามลม เมื่อสถานการณ์นั้น ๆ เขากำลังเสียเปรียบ รวมทั้งจิตใจที่แน่วแน่ใน อุดมการณ์ของตนเอง ที่ผู้ใกล้ชิดบอกว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่คอนเซอร์เวตีฟมาก ๆ และยากที่ใครจะมาเปลี่ยนความคิดของเขาได้
แผนการ "รุก" ทางธุรกิจอย่างจริงจังของพิพัฒน์ เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2514 เป็นต้นมา
พิพัฒน์เพิ่มทุนทีพีซีเป็นห้าสิบล้านบาท เพราะตลาดสับปะรดกระป๋องส่งออกเติบโตรวดเร็ว กว่าที่เขาคาดคิด แต่การเพิ่มทุนเพียงอย่างเดียวกับสถานการณ์ในช่วงนั้น ยังคงไม่เพียงพอ วัตถุดิบที่เคย มีเหลือเฟือกลับต้องแย่งชิงกันด้วยวิธีการต่าง ๆ นานา เท่าที่แต่ละฝ่ายจะสรรหามาได้
"ใคร ๆ ก็รู้ว่าแถวปราณฯ เมื่อก่อนเป็นดงนักเลงเราดี ๆ นี่เอง มีอะไรที่ตัดสินกันไม่ได้ก็ใช้ลูกปืนเข้าว่าลูกเดียว เรียกว่าตอนนั้นใครเจ๋งกว่าก็ได้ของไป" คนเก่าแก่คนหนึ่งบอก "ผู้จัดการ" ถึงอีกรูปแบบหนี่งของการใช้ "ความพยายาม" ที่จะได้มาซึ่งสิ่งที่ตนต้องการของคู่แข่งขันด้วยกันในช่วงเวลานั้น
ปีต่อมา พิพัฒน์เปิดฉากการรุกใหญ่อย่างเต็มตัวอีกครั้ง เขาชักชวนมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่นจากญี่ปุ่นเข้ามาถือหุ้นครึ่งหนึ่งในทีพีซี
ซึ่งไม่ว่ามองอย่างไร งานนี้พิพัฒน์ มีแต่ได้กับได้ !!!
"ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งก็คือ เรามองตลาดในญี่ปุ่น การส่งสินค้าเข้าไปต้องใช้โควตา การร่วมมือกับมิตซูบิชิ จะเป็นการผูกมัดให้เขาซื้อจากเราคนเดียว ไม่ซื้อจากคนอื่น ดังนั้น นอกจากเขาจะเป็นผู้ซื้อรายใหญ่แล้ว ขณะเดียวกันเขายังเป็นเอเย่นต์หาตลาดให้เราด้วย" จรวยพรชี้แจงให้ฟัง
ต้นเดือนตุลาคมปีเดียวกัน พิพัฒน์ตั้งบริษัท ไร่สับปะรดไทย จำกัด บริษัทร่วมทุนระหว่างญี่ปุ่นกับทีพีซี เพื่อเป็นผู้ผลิตสับปะรดส่งตรงให้กับโรงงานของเขา ด้วยทุนจดทะเบียน 40 ล้านบาท
และอาจเป็นความล้มเหลวอีกครั้งหนึ่งของการตัดสินใจของเขา หลังจากที่เคยผิดหวังมาจากการค้าไม้ที่ฟิลิปปินส์ ที่เขาหวังว่าการมีไร่สับปะรดของตนเอง จะทำให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงานมากกว่า
"ไร่สับปะรดไทย" เป็นบริษัทที่ทำการปลูกสับปะรด โดยมีไร่สับปะรดของตนเองถึงกว่าหมื่นไร่ในเวลาไม่ถึงห้าปี แต่ก็ต้องเลิกกิจการและรวมกับทีพีซีไปในที่สุด แม้ว่าตลอดหลายปีของการดำเนินงานของบริษัทจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินเป็นอย่างดี จากมิตซูบิชิก็ตาม เพราะบริษัทไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการผลิตให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ อีกทั้งผลผลิตต่อไร่ก็ต่ำกว่าที่คำนวณไว้
อาจกล่าวได้ว่าในห้วงเวลานั้น พิพัฒน์ เริ่มรุกหนักในอุตสาหกรรมที่เขาดำเนินการมาตั้งแต่ต้น แต่อีกนัยหนึ่งก็เป็นการวางรากฐานที่มั่นคงยิ่งขึ้นให้กับบริษัทของเขา
แต่ผลพวงจากการเจริญเติบโตของตลาดสับปะรดกระป๋องส่งออก ก็ทำกำไรให้มากพอที่จะทำให้พิพัฒน์หันมาสนใจกิจการอื่นบ้างเหมือนกัน
ปลายปี 2516 พิพัฒน์ตั้งบริษัท บางกอกฮอลิเดย์ อินน์ส์ ขึ้น เพราะเฉินซิดป๋วย อาของเขาบริหารงานโรงแรม "ฮอลิเดย์ อิน์ส์" อยู่ที่ไต้หวัน รู้จักคุ้นเคยกับประธานกลุ่มโรงแรมนี้เป็นอย่างดี
"เราเขียนแปลนไว้เรียบร้อยแล้ว เป็นโรงแรมสิบแปดชั้น มีสี่ร้อยห้อง แต่มีปัญหาตกลงราคาที่ดินตรงวังเพชรบูรณ์ตอนนี้ไม่ได้ ก็เลยล้มโครงการนี้ไป" คุณหญิงสุภัทรา ผู้เป็นตัวตั้งตัวตีสนับสนุนให้พิพัฒน์มาลงทุนด้านนี้บ้างบอก "ผู้จัดการ"
แต่พิพัฒน์ก็ไม่ได้เลิกล้มความตั้งใจที่จะลงทุนในกิจการอื่นเสียทีเดียวเลย ปีเดียวกันนั้นเองเขาตั้งบริษัทในเครือขึ้นมาอีกสองบริษัท ชื่อ "พิพัฒน์ธนกิจ" กับ "วังเพชร" และเปลี่ยนชื่อบางกอกฮอลิเดย์ อินน์ส์ มาเป็น "พรภัทร" โดยทั้งสามบริษัทมีวัตถุประสงค์เด่นชัดว่า ตั้งขึ้นมาเพื่อลงทุนซื้อหุ้นและฝากเงินในบริษัทอื่น
พร้อม ๆ กับความก้าวหน้าของทีพีซี พิพัฒน์เริ่มสอดส่องสายตาของเขาไปยังกิจการอื่นที่เขาเห็นว่าน่าสนใจเพื่อเป็นฐานที่สำคัญ หากอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องจะไม่รุ่งโรจน์โชติช่วงดั่งที่เคยเป็นมา
มีคำถามที่ต้องการคำตอบจากพิพัฒน์เองมากมาย เมื่อเขาเริ่มเข้ามาเป็นกรรมการธนาคารกรุงเทพในปี 2527 และยังเป็นผู้ถือหุ้นในระดับ "ท็อปไฟว์" ที่ไม่เคยมีใครรู้จักมาก่อน
หรือแม้แต่วันนี้ หากไม่พูดถึงคนใน "โสภณพนิช" ที่ต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในแบงก์อย่างแน่นอนที่สุดแล้ว
พิพัฒน์นี่แหละ ที่เป็นผู้ถือหุ้นมากเป็นอันดับหนึ่งอย่างแท้จริง ชนิดที่ทิ้งที่สองไม่เห็นฝุ่นเลยทีเดียว!!!
ทำไมพิพัฒน์ถึงสนใจซื้อหุ้นแบงก์กรุงเทพ และทำไมต้องซื้อมากมายขนาดนี้ด้วย?
อุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องมันอิ่มตัวแล้ว คู่แข่งก็มีเยอะแยะ อย่างเมื่อก่อนมีสองสามเจ้า แต่เดี๋ยวนี้มีมากกว่าสิบบริษัท คุณพ่อกลัวว่าจะมีอะไรผิดพลาด ดังนั้นเราควรหาอย่างอื่นทำไปด้วย..."
ธุรกิจแบงก์เป็นธุรกิจที่มั่นคง และแบงก์กรุงเทพก็เป็นแบงก์ที่เจริญรวดเร็วมาก ตอนแรกเราไม่เคยคิดจะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เลยทีเดียว ตอนหลังเรามาคิดว่าเราน่าจะมีอะไรอีกสักอย่างหนึ่งเป็นฐานที่มั่นคงหน่อย เราก็เริ่ม.. พอมีโอกาสเราก็เริ่มซื้อให้มากขึ้น ๆ " จรวยพรลูกสาวพิพัฒน์ชี้แจงกับ "ผู้จัดการ" เมื่อถูกถามถึงคำถามข้างต้น
"เราเข้าไปขอกู้ ตอนเริ่มสร้างโรงงาน เขาไม่รู้จักเราก็ไม่ให้วงเงินเรา ถึงแม้ตอนนั้น เขาให้กู้เพราะเงินไม่มากนัก แต่เราก็มาคิดว่า "เครดิต" ของเรานี่เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราทำเครดิตตัวเราเอง "เสีย" แล้ว คุยกับใครก็ไม่มีใครเชื่อถือ" คุณหญิงสุภัทราเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง ถึงเหตุการณ์ที่เมื่อครั้งเข้าไป ขอกู้เงินครั้งแรก
ซึ่งอาจเป็นสองเหตุผลที่จะอธิบายถึงความคิดที่แท้จริงของพิพัฒน์ในการลงทุนซื้อหุ้นแบงก์กรุงเทพได้อย่างดี
"ผู้จัดการ" เองก็ไม่สามารถชี้ชัดลงไปได้ว่ายังมีเหตุผลอื่นอีกหรือไม่
แต่มีสิ่งหนึ่งที่เราสามารถ "ศึกษา" ถึงตัวพิพัฒน์ออกมาได้ในระดับหนึ่ง ก็จากตัวเลขที่แสดงการเข้าถือหุ้นของเขา
พิพัฒน์เริ่มใช้บริษัทในเครือของเขา "พิพัฒน์ธนกิจ" เข้าซื้อหุ้นโดยผ่านโบรกเกอร์สองตัว คือร่วมเสริมกิจและคาเธ่ย์ทรัสต์ ของกลุ่มศรีเฟื่องฟุ้ง ผ่านตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา
หลังจากนั้นก็ใช้ "วังเพชร" และ "พรภัทร" เข้าซื้อในปี 2526 และ 2528 ตามลำดับ
สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากไม่ใช่จำนวนหุ้นที่เขาซื้อ แต่คือวิธีการที่เขาใช้ในการซื้อหุ้นมากกว่า
ซึ่งได้แสดงถึง "ความต่อเนื่อง" ในการเข้าซื้อหุ้นของพิพัฒน์ตลอดมา ทั้ง ๆ ที่ในช่วงปี 2526-2529 มีความตกต่ำเกิดขึ้นกับสถาบันการเงินทั้งระบบอย่างมากมายอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ยิ่งเน้นให้เห็นถึง "ความตั้งใจ" และ "ความแน่วแน่" อย่างยิ่ง ที่ต้องการเข้ามาถือหุ้นอย่างนักลงทุน (INVESTOR) จริง ๆ ไม่ได้เป็นเพียงนักเก็งกำไร (SPECULATOR) อย่างที่เราเคยพบเห็นกัน
เช่นเดียวกับคำถามที่ว่า เขาเอาเงินจากที่ไหนมากมายมาซื้อหุ้น
อาจเป็นความสามารถอย่างเอกอุ... ของการบริหารการเงินของ MECHANICAL ENGINEER อย่างเขาที่คำว่า "ฝีมือชั้นเซียนเหยียบเมฆ" ก็อาจน้อยไป
หากนั่นเป็นเงินที่ได้มาจากกิจการสับปะรดกระป๋องที่เขาปลุกปั้นมากับมือ เพียงอย่างเดียว?!?
อาจเป็นเงินลงทุนส่วนหนึ่งของอาของเขาจากกิจการโรงแรมในไต้หวัน ที่ต้องการมาลงทุนในเมืองไทย อาจเป็นการใช้เงินกู้จากมิตซูบิชิ คอร์ปฯ บางส่วนจากภาระหนี้สิน (LEVERAGE BUY OUT) ที่ทีพีซีรับโอนมาเมื่อครั้งซื้อกิจการบริษัทไร่สับปะรดไทย ตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา ที่มีกำหนดการชำระคืนยาวนาน จนสามารถนำมาหาดอกผลได้ก่อน
หรือเป็นเงินลงทุนจากกิจการเทรดดิ้งเฮ้าส์ของพิพัฒน์ในฮ่องกง จาก CHINESE OVERSEAS BANK ในไต้หวันที่เขาเป็น EXECUTIVE DIRECTOR อยู่ในเมืองไทยไม่มีใครรู้ว่ากิจการสับปะรดกระป๋องที่เขาเคยทำนั้น บัดนี้เขาได้หันมาจับกิจการด้านการเงินธนาคารมานานแล้ว
ถึงแม้โครงการบางอย่าง เช่น การร่วมลงทุนกับญี่ปุ่นในการสร้างโรงงานซิลิคอนไดออกไซด์ หรือการยื่นขอสนับสนุนจากบีโอไอในโครงการปิโตเคมีระยะที่สองจะเปิดตัวออกมาอย่างเห็นได้ชัดบ้างแล้วก็ตาม
แต่นั่นคงไม่สำคัญไปกว่าวันนี้ของพิพัฒน์ ที่ไม่มีใครทราบว่าเขาเป็นคนเช่นไรกันแน่
เขากำลังทำอะไรอยู่ และกำลังจะทำอะไรต่อไป ???
เฉกเช่นเดียวกับธนาคารกรุงเทพในวันข้างหน้า ที่เขาอาจไม่ใช่ผู้ถือหุ้นใหญ่ในวันนี้
และอาจไม่ใช่ผู้ถือหุ้นใหญ่ของแบงก์ตลอดไป
แต่ก็เป็นไปได้ไม่ใช่หรือที่ "ความเปลี่ยนแปลง" ใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอาจต้องตัดสินจากคนในตระกูล "ตันติพิพัฒน์พงศ์" แทนที่จะเป็น "โสภณพนิช"...
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|