|
เศกสม บัณฑิตกุล โอกาสของคนรุ่นใหม่ยังพอมี
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2531)
กลับสู่หน้าหลัก
"เศกสม บัณฑิตกุล" ไม่ได้จบปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ (M.B.A.) จากสถาบันที่มีชื่อเสียงแห่งใดทั้งในและต่างประเทศ
ไม่ได้เป็นทายาทตระกูลธุรกิจนับร้อยล้านพันล้าน ที่กำลังจะสืบทอดความยิ่งใหญ่ และมั่นคงที่คนรุ่นก่อนได้บุกเบิกสร้างรากฐานด้วยความยากลำบากมาเกือบตลอดชีวิต ที่เราได้ยินกันอยู่ทุกบ่อย
ยิ่งไปกว่านั้น เขาไม่ได้มีตำแหน่งหน้าที่การงานในสถาบันหรือองค์กรธุรกิจใหญ่ ๆ อาทิปูนซิเมนต์ไทย ธนาคารกรุงเทพหรืออีกมากมายหลายแห่ง ที่ผู้ฟังเมื่อได้ยินอาจต้องเลิกคิ้วด้วยความสงสัยแกมยอมรับอยู่ในใจว่า "เก่งจริง ๆ อายุยังน้อยก็มา "นั่ง" ตำแหน่งสำคัญ ๆ อย่างนี้ได้"
"เศกสม บัณฑิตกุล" วันนี้เป็นผู้จัดการทั่วไปอยู่ที่หาญเอ็นจิเนียริ่ง บริษัทเก่าแก่ ผู้บุกเบิกนำเข้าเครื่องปรับอากาศเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นรายแรก และกล่าวได้อย่างเต็มปากว่าเมื่อสิบห้าสิบหกปีก่อนนั้น เป็น "อันดับหนึ่ง" ได้อย่างเต็มภาคภูมิ
หาญเอ็นจิเนียริ่ง ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2503 โดยหาญ และประยูรศรี ชาญณรงค์ รับออกแบบ คำนวณ ติดตั้ง ให้บริการเกี่ยวกับเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท
กิจกรรมของหาญในยุคแรก ๆ เรียกได้ว่ารุ่งโรจน์มาก ทั้งนี้เนื่องจากบริษัทที่ให้บริการด้านเครื่องทำความเย็นยังมีไม่มากนัก เมื่อเห็นว่าอนาคตข้างหน้าค่อนข้างสดใส หาญฯจึงเริ่มขยายไลน์สินค้าออกไปจากเดิมที่ตัวเองทำอยู่
ให้ครอบคลุมถึงสินค้าที่บริษัทยังไม่เคยสั่งเป็นชิ้นเป็นอันได้แก่ สินค้าประเภทเครื่องจักรกลเกี่ยวกับวิศวกรรมโยธาทุกประเภท เครื่องอุปกรณ์อุตุนิยมวิทยา อุปกรณ์การแพทย์ทุกสาขา มาจำหน่าย
และชักชวนยอดฝีมืออย่างสุเทพ ชวนะวิรัช ที่ปัจจุบันเป็นกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ของซาฟารีเวิลด์ กับเพื่อนฝูงอีกสองสามคนเข้าไปช่วยบริหารอีกแรงหนึ่ง
แต่เนื่องจากหาญฯ เข้าไปทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยทำมาก่อนอีกทั้งตลาดเครื่องปรับอากาศก็เติบโตเร็วกว่าที่ผู้บริหารดั้งเดิมหลายคนคาดคิด
นั่นก็คือแทนที่จะเป็นห้วงเวลาที่หาญฯประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ กลับเป็นยุคถดถอยที่ยากจะเหนี่ยวรั้ง รวมไปถึงการถอนตัวของสุเทพและผู้บริหารที่หาญฯชวนมาด้วย
"ตอนนี้เรากำลังจะบุกตลาดอีกครั้ง ด้วยสินค้าคุณภาพที่เรามีอยู่ ด้วยชื่อเสียงและความไว้วางใจที่ลูกค้ามีต่อเราตลอดยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา กอปรกับตลาดส่งออกสินค้าแช่แข็งต่าง ๆ ในช่วง 4-5 ปีนี้ที่จะขยายตัวออกไปได้อีกมาก" เศกสมบอกถึงเป้าหมายของหาญ ฯในระยะเวลาอันใกล้นี้กับ "ผู้จัดการ"
เศกสมจบมัธยมศึกษาตอนปลายจากเทพศิรินทร์ เข้าศึกษาต่อวารสารศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์
เป็นนายกองค์การนักศึกษาธรรมศาสตร์ (อมธ.) ขณะที่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 พอขึ้นปี 4 เขาเข้าอบรมในสองโครงการ คือโครงการ "ธนาคารคู่บ้านคู่เมือง" ของธนาคารกรุงเทพ และโครงการ "นักลงทุนรุ่นเยาว์" ของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อันเป็นรุ่นแรกของทั้งสองโครงการ
ซึ่งเศกสมได้รับเลือกจากเพื่อนต่างสถาบันเป็นประธานรุ่นทั้งสองโครงการ โดยโครงการแรกเขาเป็นประธานรุ่นร่วมกับสุชาดา ลูกสาวชาตรี โสภณพนิช
เริ่มทำงานครั้งแรกในโบรกเกอร์อินชัวรันส์ "สยามอินชัวร์ตี้" อยู่หนึ่งปี ก่อนเข้าทำงานกับธนาคารกรุงเทพอีกหกเดือน
"ผมมองว่างานแบงก์ไม่เหมาะกับบุคลิกของเราเท่าไรเราคงไม่สามารถทำประโยชน์ให้แบงก์ได้เต็มที่ รวมทั้งตัวเราคงไม่ได้ประโยชน์อะไรเช่นกัน" เศกสมบอก "ผู้จัดการ"
จากนั้นเขาก็เข้ามาทำงานกับหาญฯเป็นเซลส์แมนเขาเลือกขายเครื่องคอมเพรสเซอร์ยี่ห้อแอสเปอร่าที่ไม่เคยมีใครในบริษัทสนใจมาก่อน
แต่นั่นก็เหมือนการเปิดโอกาส ที่จะให้เขาพิสูจน์ตัวเอง และเศกสมก็ทำได้ดีเสียด้วย เมื่อเขาบุกเบิกจนแอสเปอร่ามียอดขายเป็นอันดับหนึ่งของสินค้าทุกตัวที่หาญฯขายอยู่ เพิ่มยอดขายจากไม่ถึงล้านมาเป็นหลายสิบล้านบาทในปัจจุบัน ได้รับการโปรโมทให้เป็น "ผู้จัดการทั่วไป" เป็นผู้รับนโยบาย มีส่วนร่วมในการวางแผน วางนโยบายในแง่การปฏิบัติ ซึ่งกล่าวได้ว่าตำแหน่งหน้าที่และความรับผิดชอบของเขา "เป็นรองคน ๆ เดียวแต่เหนือกว่าคนนับสิบนับร้อย"
รวมทั้งตอนนี้เขากำลังจะบุกเบิกสินค้าใหม่ คือเครื่อง INKJET CODING เป็นเครื่องจักรที่สามารถวางเข้าไปในไลน์การผลิตสินค้าชนิดใดชนิดหนึ่งได้ทันทีเป็นเครื่องที่เน้นเล่นทาง "แพคเก็จจิ้ง" มากกว่า "ตัวสินค้า" ที่ต่างประเทศ "เล่น" กันมานานแล้ว บรรดาผู้ผลิตสินค้าในตลาดเมืองไทยยังไม่มี ใครสนใจจริงจังมากนัก
สิ่งที่น่าสนใจมาก ๆ ก็คือเขาเป็นรุ่นใหม่ที่ถูกหล่อหลอมจากความกระตือรือร้น กระหายอยากจะเรียนรู้ตลอดเวลาของตัวเอง
บวกกับการได้รับการศึกษาอบรมความรู้ทางการบริหารสมัยใหม่ จากโครงการของธนาคารกรุงเทพ มีลักษณะของความเป็น INTREPRENEUR ที่สามารถตัดสินใจ ลงทุน และเกาะกุมโอกาสได้อย่างดีเยี่ยม อันเป็นความรู้ที่ได้รับจากโครงการนักลงทุนรุ่นเยาว์
ทั้งหมดนี้เป็นอีกภาพหนึ่งของผู้บริหารสมัยใหม่ที่ "ผู้จัดการ" เชื่อว่า เศกสม เป็นคนหนึ่งที่พอจะเป็นตัวแทนของคนที่ประยุกต์ทั้งสามสิ่งเข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดี ของคนรุ่นใหม่อีกมากมายที่กระจายอยู่ในทุกองค์กร และหากได้รับโอกาสที่จะพิสูจน์ความสามารถของตนเองแล้วก็จะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจในอนาคต
"นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่เราก้าวเข้ามาทำธุรกิจ มีอะไรที่ต้องเรียนรู้ และท้าทายมาก เป็นการมองธุรกิจอย่างที่มันไม่ใช่วิทยาศาสตร์ เป็นศิลปะ ซึ่งไม่ใช่เป็นเพียงการใช้ความรู้ในทางทฤษฎีจากตำราเรียน สิ่งสำคัญคือเราต้องเรียนรู้จากความเป็นจริงที่เป็นอยู่ และเราต้องเรียนอีกมากจากทั้งสิ่งแวดล้อมและคนที่อยู่รอบข้าง" เศกสมสรุปวันนี้และสิ่งที่เขาต้องทำกับ "ผู้จัดการ"
ยังมีเวลาอีกนานที่เศกสมจะต้องพิสูจน์ตัวเองในเส้นทางนี้ของเขา เช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดคล้ายคลึงกัน ที่พวกเราทุกคนคงหวังอย่างยิ่งที่จะเห็นคนอย่างเศกสมในธุรกิจของไทยมาก ๆ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|