ซิตี้แบงก์ WE ARE A LOCOL BANK !??


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้จะเป็นธนาคารต่างประเทศที่เข้ามาตั้งสาขาในเมืองไทยทีหลังเพื่อน ชั่วเวลาเพียงสามปี ซิตี้แบงก์ ก็โชว์ฟอร์มได้สมกับเป็นหนึ่งในใต้ร่มธงของซิตี้แบงก์เอ็นเอ ธนาคารใหญ่อันดับหนึ่งของสหรัฐอเมริกา

ซิตี้แบงก์ซื้อใบอนุญาตจากธนาคารเมอร์แคนไทล์ สาขาประเทศไทยเมื่อปี 2528 หลังจากที่มีฐานะเป็นเพียงสำนักงานตัวแทนอยู่หลายปีนับว่าเป็นแผนการอันชาญฉลาดเพราะถ้าขอเปิดสาขาโดยตรงก็คงเป็นเรื่องยากที่จะหว่านล้อมให้แบงก์ชาติยินยอมเปลี่ยนแปลงนโยบายคุมกำเนิดสาขาธนาคารต่างประเทศเหมือนกับที่หลาย ๆ รายต้องผิดหวังมาแล้วสู้ใช้วิธีซื้อของเก่าแล้วมาเปลี่ยนชื่อใหม่ทีหลังแบบนี้ดีกว่า

ความสำเร็จของซิตี้แบงก์ดูได้จากความสามารถในการสร้างสินทรัพย์จากที่มีอยู่ประมาณ 400 ล้านบาทในระยะแรกเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ล้านบาท เมื่อสิ้นปี 2530 มีส่วนแบ่งตลาดทางด้านเงินฝากและ สินเชื่อในอัตราร้อยละ 6 และ 12 ตามลำดับในกลุ่มสาขาธนาคารต่างประเทศในไทยที่มีอยู่ด้วยกัน 14 แห่ง

ถ้าไม่นับธนาคารมิตซุยและธนาคารโตเกียวที่เติบโตขึ้นมาจากผลพวงของการขยายตัวของการลง ทุนจากญี่ปุ่นแล้วซิตี้แบงก์ก็ยืนอยู่หัวแถวของธนาคารต่างชาติที่มีปริมาณธุรกิจรวม ๆ กันแล้วตกประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณธุรกิจในระบบธนาคารพาณิชย์ทั้งไทยและเทศ

แบงก์ไทยเองก็คงต้องจับตาดูก้าวย่างแต่ละก้าวของซิตี้แบงก์อย่างใกล้ชิดชนิดไม่ต้องสงสัย !!

ธุรกิจของธนาคารต่างประเทศที่เข้ามาทำมาหากินในเมืองไทยส่วนใหญ่แล้วจะเน้นหนักไป ทางด้านที่เรียกกันว่า WHOLESALE BANKING คือการปล่อยกู้ให้กับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ร่วมกับธนาคารอื่นในรูปของ SYNDICATED LOAN นอกเหนือจากการทำ TRADE HNANCE ให้สินเชื่อและบริการนำเข้าส่งออก อันเป็นธุรกิจที่ทำกันมาแต่ดั้งเดิม ปล่อยให้แบงก์ไทยลงไปเล่นทางด้าน RETAIL BANKING แต่เพียงฝ่ายเดียว

สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่าแบงก์ต่างชาติจะไม่สนใจลูกค้า รายเล็กรายน้อยที่มีอยู่อย่างมากมายในตลาด แต่เป็นเพราะข้อจำกัดทางด้านกฎหมายที่อนุญาตให้มีสาขาในประเทศได้เพียงสาขาเดียว สาขานั้นเป็นฐานสำคัญทั้งในการหาเงินฝากเพื่อนำมาปล่อยกู้ต่อและในการเจาะเข้าไปในตลาดลูกค้ารายย่อย ๆ ข้อจำกัดอีกประการหนึ่งก็คือการปล่อยกู้ รายย่อยมีความเสี่ยงสูงกว่าปล่อยให้กับโครงการเพราะต้องอาศัยความเข้าใจและลูกเล่นที่จะใช้กับตลาดท้องถิ่นซึ่งแบงก์ไทยกินขาดในเรื่องนี้

ดังนั้นแม้กำไรจาก RETAIL BANKING จะมากกว่า แต่ด้วยเหตุผลข้างต้น แบงก์ต่างชาติจึง วางทิศทางทางธุรกิจของตนไปทางด้าน WHOLESALE เป็นทิศทางหลัก

มีเพียงซิตี้แบงก์เท่านั้นที่ประกาศชัดเจนแต่เริ่มแรกเมื่อซื้อแบงก์เมอร์แคนไทล์ว่าจะเข้ามาเล่นในตลาด RETAIL BANKING แข่งกับแบงก์ไทย

"รายได้ของซิตี้คอร์ปทั่วโลกประมาณหกสิบเปอร์เซ็นต์มาจาก RETAIL BANKING เรามีฝ่ายบุคคลธนกิจตั้งแต่ปี 2517 เพื่อรับผิดชอบการบริการลูกค้ารายย่อย ความชำนาญและประสบการณ์ของเราจึงมีอยู่มาก" DAVID HENDRIX ผู้จัดการซิตี้แบงก์ประเทศไทยเปิดเผย

ซิตี้คอร์ปที่กล่าวถึงข้างต้นคือ HOLDING COMPANY ที่เป็นบริษัทแม่ของซิตี้แบงก์ทั่วโลกเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก นอกจากซิตี้แบงก์แล้วซิตี้คอร์ปยังมีบริษัทในเครือนับพันที่ทำธุรกิจด้านการเงินอยู่ทั่วโลกที่มีอยู่ในเมืองไทยคือบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ซิตี้คอร์ปไดเนอร์สคลับ บริษัท วิคเกอร์และบริษัท วัฒนา ซึ่งสองรายหลังนี้เป็นบริษัทนายหน้าประกันภัย

สำหรับบ้านเรา ตลาดที่ซิตี้แบงก์ให้ความสนใจอย่างมากในขณะนี้คือ ธุรกิจบ้านและที่ดินซึ่งมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูงมากในระยะสองสามปีนี้ สินเชื่อที่ปล่อยออกมาเพื่อรองรับตลาดในด้านนี้คือ ซิตี้มอร์เกจ สำหรับผู้ซื้อบ้านใหม่ โฮมเครดิต สำหรับผู้ที่เป็นเจ้าของบ้านและที่ดินอยู่แล้ว และที่ออกมาใหม่เมื่อเร็ว ๆ นี้คือสินเชื่อที่มีชื่อว่า มอร์เกจพาวเวอร์ สำหรับลูกค้าที่ต้องการเงินไปสร้างหรือต่อเติมบ้านเป็นสินเชื่อในรูปของวงเงินเบิกเกินบัญชี

"เรามีรายได้จากการปล่อยสินเชื่อด้านที่อยู่อาศัยกว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของรายได้จาก RETAIL BANKING" ผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งของซิตี้แบงก์เปิดเผย

แต่ซิตี้แบงก์ก็ไม่ได้ละเลย WHOLESALE BANKING เลยทีเดียว ผลงานที่ผ่านมาคือการให้ความสนับสนุนด้านการเงินแก่โครงการ NPC I DOWNSTREAM, โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ EASTERN SEABOARD ออกหุ้นกู้ 600 ล้านบาทและให้เงินกู้แบบ STNDICATED LOAN 1,900 ล้านบาทแก่บริษัท ไทยพลาสติก แอนด์ เคมิคัล เป็น UNDERWRITER สำหรับการขายหุ้นมูลค่า 245.8 ล้านบาท และ 450 ล้านบาทให้กับการประปานครหลวงและโรงแรมโอเรียนเต็ลตามลำดับ

โครงสร้างใหญ่ ๆ ของซิตี้แบงก์ในขณะนี้แบ่งออกเป็นสามฝ่ายคือ ฝ่ายวาณิชธนกิจ รับผิดชอบทางด้านตลาดทุนและการบริหารเงิน ฝ่ายการธนาคารเพื่อสถาบัน ให้บริการแก่ลูกค้าที่เป็นองค์กรหรือสถาบันและฝ่ายบุคคลธนกิจที่ดูแลลูกค้าส่วนบุคคล


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.