ศุภชัย พานิชภักดิ์ เดินหมากผิดตาเดียวผลมหาศาล


นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

อายุ 42 ปี สำเร็จปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยมีชื่อเสียงของเนเธอร์แลนด์ เป็นลูกศิษย์นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล ศาสตราจารย์แจน ทินเบอร์เกน เคยสอบเข้าเรียนแพทย์ได้เมื่ออายุเพียง 16 เป็นนักเรียนทุนของแบงก์ชาติ เคยดำรงตำแหน่งในแบงก์ชาติสำคัญ ๆ หลายตำแหน่ง ประวัติของศุภชัย พานิชภักดิ์ เป็นประวัติที่โดดเด่นมาก ๆ และเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันเมื่อครั้งรัฐมนตรีคลัง สมหมาย ฮุนตระกูล ประกาศลดค่าเงินบาทช่วงปี 2524 ขณะดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งต้องทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของแบงก์ชาติชี้แจงข้อเท็จจริงให้ประชาชนทราบ การลดค่าเงินบาทเมื่อปี 2524 นั้น เป็นวิกฤติการณ์ที่ส่งผลกระทบรุนแรงมาก ถ้ายังจำได้ก็ย่อมทราบดีถึงดีกรีความรุนแรงซึ่งทำให้ ไพจิตร เอื้อทวีกุล รัฐมนตรีช่วยคลังขณะนั้นถึงกับต้องลาออกจากตำแหน่ง ในฐานะโฆษกแบงก์ชาติช่วงนั้นเป็นช่วงที่ศุภชัยต้องชี้แจงข้อเท็จจริงกับประชาชนอยู่บ่อยครั้ง ศุภชัยกลายเป็นนักอภิปรายที่ได้รับเชิญให้ไปพูดเรื่องการลดค่าเงินบาทแทบทุกหัวระแหง เขาเริ่มมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันในวงกว้างนับแต่นั้นเป็นต้นมา คุณสมบัติดีเด่นส่วนตัวบวกความมีชื่อเสียง ว่าไปแล้วก็คือพื้นฐานสำคัญที่ทำให้ศุภชัยประสบความสำเร็จบนหนทางการเมือง เมื่อเขาตัดสินใจหันเหชีวิตจากเทคโนเครตคนหนึ่งกลายเป็นนักการเมืองอาชีพเมื่อครั้งมีการเลือกตั้งทั่วไปคราวที่แล้ว การหันเหวิถีชีวิตเข้าสู่เส้นทางการเมืองของ ศุภชัย พานิชภักดิ์ มีการพูดกันถึงเบื้องหลังการตัดสินใจมากพอสมควรบ้างบอกว่าเป็นเพราะเขาเล็งเห็นถึงหนทางตีบตันหากยังอยู่แบงก์ชาติในยุคที่รัฐมนตรีคลังยังเป็นสมหมายและผู้ว่าฯยังเป็นกำจร สถิรกุล เนื่องจากภาพในอดีตของศุภชัยเป็นภาพที่แนบแน่นอย่างแยกไม่ออกจาก นุกูล ประจวบเหมาะ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติที่ สมหมาย ฮุนตระกูล เสนอปลดแบบสายฟ้าแลบแล้วตั้งกำจรเข้ารับตำแหน่งแทน บ้างก็ว่าเป็นเพราะแรงยุจากผู้ใหญ่และนักการเมืองบางคนซึ่งจริงเท็จอย่างไรก็อาจจะต้องถาม พิจิตต รัตตกุล ดร.กมล ทองธรรมชาติ รวมทั้งพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ดูเอาเอง อย่างไรก็ตาม เบื้องหลังการตัดสินใจที่ดูเหมือนจะมีน้ำหนักที่สุด ก็เห็นจะเป็นปัจจัยที่มาจากตัวศุภชัยเอง ก็คงไม่เกินเลยไปหรอกหากจะบอกว่าศุภชัยนั้นเป็นคนมีจิตใจอยากรับใช้สังคม เช่นเดียวกับอาจารย์ของเขา - แจน ทินเบอร์แกน ซึ่งนำความรู้ทางเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ใช้สามารถช่วยยกระดับสังคมกระทั่งได้รับรางวัลโนเบลไพรซ์มาแล้ว และก็คงคล้าย ๆ กับอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์ อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ ซึ่งศุภชัยให้ความเคารพ ศุภชัยนั้นจริง ๆ แล้วก็ออกทำงานรับใช้สังคมมานานพอสมควรก่อนหน้าจะตัดสินใจเล่นการเมืองซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้ โดยเฉพาะทางด้านการศึกษาของเด็กชนบท ศุภชัยจะใช้เวลาช่วงวันหยุด ทำงานด้านนี้อย่างแข็งขันและจริงจังต่อเนื่องมาแล้วเป็นสิบปี ไม่แน่นักประสบการณ์ที่ได้รับอาจจะบอกเขาว่าถ้าจะช่วยสังคมกันอย่างได้ผลแล้วก็มีแต่จะต้องว่ากันระดับชาติซึ่งนั่นก็อาจจะเป็นแรงบันดาลใจของการตัดสินใจเล่นการเมืองของศุภชัยก็เป็นได้ "ก็เป็นสัจธรรมทั่วไปของคนที่อยากช่วยสังคมนั่นแหละลองทำโน่นทำนี่ดู ทำไปสักพักก็ติดขัดเพราะปัญหาจริง ๆ นั้นมันต้องแก้กันที่รากเหง้า แก้กันที่ระบบ แก้กันโดยใช้อำนาจทางการเมือง ทำให้เกิดความถูกต้องยุติธรรม ดร.ศุภชัย ผ่านงานช่วยเหลือชนบทโดยเฉพาะการศึกษาของเด็กมานานก็คงจะทราบถึงสัจธรรมข้อนี้ได้ในที่สุด..." แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดศุภชัยเล่ากับ "ผู้จัดการ" การตัดสินใจเล่นการเมืองของเทคโนแครตผู้เชี่ยวชาญปัญหาการเงินการคลังอย่าง ศุภชัย พานิชภักดิ์ เป็นการจุดประกายความหวังใหม่ของการเมืองไทยอย่างเห็นได้ชัด เขากระโดดเข้าสู่สนามเลือกตั้งที่เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ภายใต้เสื้อคลุมพรรคประชาธิปัตย์ท่ามกลางการแซ่ซ้องสรรเสริญ จากผู้คนรอบด้านและแม้ว่าจะเป็นเขตเลือกตั้งที่มีฐานคะแนนเสียงของพรรคประชากรไทยของ สมัคร สุนทรเวช หนาแน่น แต่ศุภชัยก็เป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวที่หลุดรอดได้รับเลือกเข้าสู่สภาฯ ได้ในที่สุด (เขตบางกะปิมีผู้แทนได้ 3 คนนอกจากศุภชัยจากพรรคประชาธิปัตย์แล้วอีก 2 คนเป็นพรรคประชากรไทย) และดูเหมือนจะเป็นการสมใจหวังของใครต่อใครมากเมื่อศุภชัยได้รับการแต่งตั้งเข้าดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยคลัง มันเป็นการเริ่มต้นของนักการเมืองมือใหม่ที่ก้าวขึ้นมาอย่างรวดเร็วมาก อนาคตข้างหน้าของศุภชัยในช่วงรับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยคลังใหม่ ๆ นั้นดูสดใสเหลือจะประมาณ ก็คงไม่มีใครคาดคิดหรอกว่าทุกอย่างจะกลับหน้ามือเป็นหลังมือเมื่อมาถึงวันนี้ เพราะเอาเข้าจริงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยคลังของศุภชัยก็ไม่ปรากฎผลงานอะไรที่เด่นชัด หลายคนลงความเห็นว่าเขาไม่ได้แสดงฝีไม้ลายมือสมกับที่ตั้งความหวังไว้เลย และการเลือกตั้งเที่ยวนี้ซึ่งศุภชัยเพิ่งจะตัดสินใจว่าจะลองเสี่ยงดวงที่เขตบางกะปิอีกครั้งก็เป็นที่เชื่อกันว่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายดายอีกต่อไป การเมืองทำให้คนดี ๆ อย่างศุภชัยเปลี่ยนภาพพจน์จากหน้ามือเป็นหลังมือได้ขนาดนี้เชียวหรือ ? เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากตัวศุภชัยหรือเพราะอะไรกันแน่? ศุภชัยนั้นว่าไปแล้วก็ค่อนข้างโชคร้ายที่เผอิญเข้าไปอยู่ในพรรคประชาธิปัตย์ พรรคร่วมรัฐบาลที่เริ่มต้นทะเลาะกันตั้งแต่การแบ่งสันโควตารัฐมนตรีไม่ลงตัวจนวันสุดท้ายที่มีการประกาศยุบสภากระทั่งแตกกระสานซ่านเซ็นกันไปเป็นเสี่ยง ๆ ว่ากันว่าบนความขัดแย้งของคนในพรรคนี้ศุภชัยกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอย่างยิ่ง ประการหนึ่งก็คงเป็นเพราะความไร้เดียงสา หรือเป็นคนดีเกินไปนั่นแหละก็เลยตามพวกเขี้ยวลากดินทั้งหลายไม่ทัน แต่กระนั้นในฐานะรัฐมนตรีช่วยในโควตาของพรรค ความมัวหมองที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ศุภชัย หลีกไม่พ้น การตัดสินใจอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ต่อไป ไม่ว่าจะมีผลลงเอยในอนาคตเช่นไร ก็เป็นสิ่งที่ ศุภชัยมีทางเลือกไม่มากนักถ้าเขาทิ้งพรรคไปตอนนี้ก็เสียอยู่ต่อไปก็อาจจะเปลืองตัวมากขึ้น ครั้นจะ อำลาวงการเมืองกลับสู่อ้อมอกของแบงก์ชาติหรือเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารในธนาคารทหารไทยตาม คำเชิญของ ประยูร จินดาประดิษฐ์ ตามที่ร่ำลือกัน ศุภชัยก็คงจะต้องมีชนักติดหลังในฐานะผู้พ่ายแพ้ไปตลอดชีวิต ศุภชัยนั้นเป็นคนเก่งคนหนึ่ง ว่ากันว่าเขาชอบใช้เวลาว่างโขกหมากรุกฝรั่ง ฝีมือการโขกนั้นไม่เป็นสองรองใคร แต่บนวิถีทางการเมืองศุภชัยจะต้องยอมรับว่าได้เดินหมากผิดไปแล้วตาหนึ่ง ซึ่งผลไม่ใช่จะบั่นทอนอนาคตทางการเมืองของเขาเพียงผู้เดียว หากเป็นการทำลายความหวังของคนรุ่นใหม่ที่มีฝีมืออีกจำนวนมากให้ต้องเข็ดขยาด ไม่อยากเข้าสู่เส้นทางการเมือง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นเวทีการเมืองก็คงไม่ต่างไปจาก "ฝนตกขี้หมูไหล..." หมากตาต่อไปสำหรับศุภชัยแล้ว เขาจะต้องเดินด้วยความระมัดระวังและสุขุมรอบคอบให้มาก ๆ

กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.