|
พิพิธภัณฑ์บีเอ็มดับบลิว อดีตปัจจุบันและอนาคตกาล
นิตยสารผู้จัดการ( กรกฎาคม 2531)
กลับสู่หน้าหลัก
จากศูนย์กลางนครมิวนิคเมืองหลวงแห่งแคว้นบาวาเรียเยอรมนีตะวันตก ไปทางด้านทิศเหนือไม่ไกลนักก็จะเห็นหอสูงโดดเด่นของสนามกีฬาที่ครั้งหนึ่งเคยใช้เป็นสถานที่จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2515 และใกล้ ๆ กันนั้นเอง อาคารสำนักงานใหญ่ของบีเอ็มดับบลิวตั้งตระหง่านอยู่โดดเด่นไม่แพ้กัน
สนามกีฬาโอลิมปิกมิวนิคในทุกวันนี้ นับเป็นสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นหน้าขึ้นตาแห่งหนึ่งของนคร มิวนิค นักท่องเที่ยวหลายชาติหลายภาษาหรือแม้แต่คนเยอรมันด้วยกันเอง เมื่อมาถึงมิวนิคแล้ว โปรแกรมเข้าชมสนามกีฬาโอลิมปิกเป็นสิ่งที่จะพลาดไม่ได้ทีเดียว
เช่นเดียวกัน ที่บีเอ็มดับบลิวก็มีคนจำนวนไม่น้อยกว่า 400,000 คนในแต่ละปีที่จะต้องแวะเวียนเข้าไปเยี่ยมชม
เป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาดของผู้บริหารบีเอ็มดับบลิวที่เมื่อคิดสร้างอาคารสำนักงานใหญ่แห่งนี้ขึ้นในช่วงปี 2514 ก็ไม่ละเลยที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นที่ด้านหน้าของอาคารสำนักงานใหญ่ด้วย
เพราะก็ตัวพิพิธภัณฑ์ของบีเอ็มดับบลิวนี่เองที่ดึงคนกว่า 400,000 คนในแต่ละปีเข้าไปเปิดหู เปิดตา
มิวนิคนั้นเป็นเมืองประวัติศาสตร์เมืองหนึ่ง สถาปัตยกรรมเก่าแก่หลายยุคมีปรากฎให้เห็นมากมายรวมทั้งยังมีพิพิธภัณฑ์ที่น่าสนใจอยู่หลายแห่ง
DEUTSCHES MUSEUM ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงประวัติทางด้านพัฒนาการเทคโนโลยีของมนุษยชาติถือกันว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับความสนใจมากที่สุด รองลงมาก็คือ NEUEPINAKOTHEK ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลป์
ส่วนที่ได้รับความสนใจรองจากพิพิธภัณฑ์ 2 แห่งข้างต้นก็ไม่ใช่อื่นไกลที่ไหน
พิพิธภัณฑ์ของบีเอ็มดับบลิวนี่เอง
พิพิธภัณฑ์บีเอ็มดับบลิวนั้นรูปทรงดูจากภายนอกคล้ายถ้วยกาแฟ เป็นผลงานการออกแบบของศาสตราจารย์ KARL SCHWANZER สถาปนิกชื่อดังแห่งเวียนนา เริ่มลงมือก่อสร้างพร้อม ๆ กับอาคารสำนักงานใหญ่บีเอ็มดับบลิวเมื่อปี 2514 แล้วเสร็จเมื่อปี 2516 นัยหนึ่งสร้างก่อนหน้ากีฬาโอลิมปิกมิวนิคหนึ่งปีและเสร็จสมบูรณ์ภายหลังมหกรรมกีฬาโอลิมปิกมิวนิคจบไปแล้วหนึ่งปีนั่นเอง
ด้วยความสูง 19 เมตรเส้นผ่าศูนย์กลาง 41 เมตร ภายในของพิพิธภัณฑ์ถูกออกแบบให้มีทางเดินวนโค้งขึ้นไป ซึ่งเมื่อเดินถึงยอดสุดต้องการลงชั้นล่างโดยไม่ต้องใช้เส้นทางเก่า บันไดเลื่อนที่ทอดตรงจากชั้นบนสุดบริเวณส่วนกลางของอาคารทรงถ้วยกาแฟก็จะพาลงมาที่ชั้นล่างได้อย่างสะดวกสบาย
นอกจากนี้ก็ยังมีห้องชมภาพยนตร์ที่ชั้นบนสุดด้วย
สองข้างทางเดินภายในพิพิธภัณฑ์ซึ่งวนโค้งขึ้นไปนั้นผลงานต่างยุคของบีเอ็มดับบลิวถูกจัดวางไว้อย่างมีศิลปะ มีการใช้แสงเข้าช่วย และมีวิดีโอชนิดกดปุ่มให้ชมเป็นระยะ ๆ ใครอยากชมตรงไหนก็เลือกกดปุ่มเอาตรงนั้น คำบรรยายมีให้เลือกได้ทั้งภาษาอังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส และภาษาสเปน
ซึ่งถ้าจะชมกันอย่างละเอียดทั้งผลงานที่ตั้งแสดงตลอดจนวิดีโอทุก ๆ เรื่องแล้ว กว่าจะจบครบถ้วนก็คงต้องใช้เวลาชม 2 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย
พิพิธภัณฑ์บีเอ็มดับบลิวมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาเป็นระยะ ทั้งนี้ก็คงเพื่อไม่ให้เกิดความจำเจซ้ำซาก เพราะเป้าหมายนั้นก็คงไม่ใช่เพื่อเป็นการแสดงผลงานกันแบบทื่อ ๆ หากแต่ต้องการแฝงความหมายบางประการเอาไว้ด้วย
มันเป็นส่วนผสมของผลงานทางด้านวิศวกรรม ศิลปะและจินตนาการอันบรรเจิดของมนุษย์ตลอดช่วงประวัติศาสตร์อันยาวนาน โดยใช้ยานที่ขับเคลื่อนได้เป็นสื่อชี้ให้เห็นพัฒนาการแต่ละขั้นตอน
ช่วงนี้เป็นช่วงที่พิพิธภัณฑ์จัดแสดงชุดที่เรียกว่า TIME MOTION
ควบคุมการออกแบบและการจัดแสดงโดย ROLF ZEHETBAUER นักออกแบบชาวเยอรมันเจ้าของรางวัลออสการ์ ซึ่งหัวใจของการจัดแสดงนั้นเป็นการบอกให้ทราบว่า ผลงานทางด้านวิศวกรรมเริ่มต้นจากจินตนาการของอดีตและมนุษย์ในทุกวันนี้ก็มีจินตนาการไปถึงอนาคตแล้ว
จากชั้นล่างที่เป็นการจัดแสดงผลงานเก่า ๆ ในแต่ละยุคของบีเอ็มดับบลิว ณ ที่ชั้นบนสุดจึงเป็นการแสดงถึงรถในอนาคตซึ่งนอกจากจะมีการนำรถต้นแบบมาตั้งโชว์จริง ๆ แล้ว ก็มีวิดีโอให้ชมอีกด้วย
พิพิธภัณฑ์บีเอ็มดับบลิวเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ให้อรรถรสหลายด้าน แต่อย่างน้อยประการหนึ่งที่ผู้ชมทุกคนจะต้องซึมซับ ก็เห็นจะเป็นการทราบว่ารถยนต์ตลอดจนเครื่องยนต์นั้นมีพัฒนาการที่ก้าวหน้ามาเป็นขั้น ๆ ตามลำดับ กว่าจะมาถึงทุกวันนี้เราผ่านมาแล้วหลายอย่าง และเรากำลังก้าวเดินไปบนหนทางที่จะรุ่งโรจน์ต่อไปในอนาคตตามจินตนาการที่วาดไว้
แน่นอน...บนเส้นทางที่ทอดมายาวไกลนี้ บีเอ็มดับบลิวเป็นผู้ร่วมทางมาโดยตลอด
และก็จะร่วมทางต่อไปในอนาคต
ความหมายที่แฝงไว้ลึก ๆ คงอยู่ตรงนี้นี่แหละ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|