|
แลนด์มาร์ค โฮเต็ล และ พลาซ่า ที่นี่มีแต่ปัญหา???
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2531)
กลับสู่หน้าหลัก
เรื่องราวของโรงแรมและศูนย์การค้ามูลค่าพันล้านที่เกิดขึ้นอย่างง่ายๆ กับรายงานความเป็นไปได้เพียง 2 หน้ากระดาษ จากจุดนั้นก็ถูกปกคลุมด้วยม่านหมอกของปัญหามาโดยตลอด อนาคตของโครงการนี้ยังเป็นเครื่องบ่งชี้ตัวเจ้าของโครงการที่กำลังก้าวย่างไปบนถนนธุรกิจอีกหลายพันล้านร่วมกับทายาทคนหนึ่งของ "ชิน โสภณพนิช" อย่างแจ่มชัดที่สุด!!!!
ดูเหมือนจะเป็นบทสรุปตายตัวไปเสียแล้วสำหรับธุรกิจโรงแรมเมืองไทย ที่ไม่อาจปรองดองสมานฉันท์เป็น CHAIN กับโรงแรมชื่อดังจากต่างประเทศให้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง ไม่เป็นปัญหาส่วนตัวของระดับนโยบายก็เป็นเรื่องของความขัดแย้งเชิงปฏิบัติการที่นำพาความแตกแยก
ในอดีตยุคก่อสร้างตัวของโรงแรมดุสิตธานี ที่ไปมีสัมพันธ์ลีกซึ้งกับกลุ่ม WESTERN ของอเมริกาแม้โดยส่วนลึกยังตระหนักถึงความสามารถที่จะเกื้อกูลผลประโยชน์ของกลุ่ม WESTERN มากเพียงใด แต่นั่นก็ไม่อาจทัดทานความแตกแยกทางความคิดในการบริหารงานกระทั่งที่สุดต้องหย่าร้างกันอย่างเด็ดขาด
ดุสิตธานีซื้อเวลาดูใจถึง 2 ปีเต็มก่อนแยกทางกันเดินกับ WESTERN ทว่ามาถึงยุคปัจจุบันที่เป็นข่าวครึกโครมของแลนด์มาร์ค โฮเต็ล นั้นกลับใช้ช่วงเวลาที่รวดเร็วยิ่งกว่า แลนด์มาร์ค โฮเต็ล ร่วมสังฆกรรม THE REGAL โรงแรมชื่อดังของฮ่องกงเพียงไม่ถึงครึ่งปีก็ต้องประกาศตัดญาติขาดมิตร
นับเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์การโรงแรมเมืองไทยที่ร่วมมือกับกลุ่มโรงแรมจากต่างประเทศแล้วต้องเดินทางมาพบจุดจบด้วยความสลดหดหู่ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว!!!!
ที่จริงเรื่องราวของแลนด์มาร์ค โฮเต็ล และพลาซ่า ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์ไปก่อนหน้านี้พร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของถนนสุขุมวิททันทีที่ลงเสาเข็มต้นแรกเมื่อเดือนมกราคม 2527 แลนด์มาร์ค โฮเต็ล และพลาซ่า เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ประดับบารมีความเป็นวอลล์สตรีทแห่งที่ 2 ของถนนสุขุมวิทให้ดูขลังมากยิ่งขึ้น
โครงการ 1,200 ล้านบาทบนเนื้อที่ 4 ไร่ 1 งานริมถนนสุขุมวิทระหว่างซอย 4 และ ซอย 6 แห่งนี้เด่นตระหง่านท้าทายสายตาและกระตุกเร้าความรู้สึกสนใจมาแต่แรกเริ่มเลยทีเดียวว่า
หนึ่ง - การฉายภาพความยิ่งใหญ่ที่รวมเอาโรงแรมระดับเดอลุกซ์ 418 ห้องและศูนย์การค้าสมบูรณ์แบบไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะศูนย์การค้าที่ร่วมลงทุนกับบริษัทเอ็ม.ซี.ซี. และบริษัทปักกิ่งดีพาร์ทเมนท์สโตร์ มิเพียงกดดันคู่แข่งอย่างมาบุญครองฯ ที่เคยวิ่งเต้นแข่งกันมาเท่านั้น หากยังเป็นเป้าที่น่ามองถึงการแผ่แนวรบด้านห้างสรรพสินค้าของจีนในเมืองไทยอีกด้วย
สอง - ความสูง 31ชั้นซึ่งเป็นอาคารที่สูงที่สุดบนถนนสายนี้ กับระบบก่อสร้างสมัยใหม่ที่ต้องขุดดินลึกกว่า 50 เมตรในการวางฐานราก ได้กลายเป็นปัญหาต่อเนื่องที่ไม่เพียงแต่จะทำให้อาคารข้างเคียงทรุดร้าวจนมีเรื่องเรียกร้องค่าเสียหายด้านหนึ่งยังส่งผลโดยไม่เจตนาให้งบประมาณการก่อสร้างบานปลายอีกหลายร้อยล้านบาท กระทั่งผูกโยงมาเป็นปัญหาความอยู่รอดในปัจจุบันและอนาคต
สาม - ว่าด้วยยุทธวิธีไม่เรียกเก็บเงินแป๊ะเจี๊ยะและพร้องคืนเงินต้นให้โดยไม่คิดดอกเบี้ยหลังจากหมดสัญญาเช่าเพื่อดึงร้านค้าให้มาเป็นเจ้าของพื้นที่ในแลนด์มาร์ค พลาซ่า แม้จะเป็นเทคนิคใหม่ทางการตลาดที่น่าเชยชม กระนั้นหลายคนก็ยังกังขาว่า "จะทำได้จริงๆ หรือ"!?
สี่ - "BANGKOK'S FIRST HI-TECH HETEL" คอนเซ็ปท์สั้นๆ กับพื้นฐานที่โตมาจากการเป็นเจ้าของโรงแรมชั้นสามของเจ้าของโครงการอย่าง "จตุพร สิหนาทกถากุล" ซึ่งเน้นจุดขายให้บริการรับ - ส่งเทเล็กซ์ด้วยคอมพิวเตอร์ในห้องพัก และยังออกตัวด้วยว่า "เป็นแห่งแรกในเอเชีย" ได้สร้างความฮือฮาแปลกใจกับเจ้าของโรงแรมรายอื่นๆ ไม่น้อย คำถามถามถึงเขาคือว่า "นี่เป็นการลงทุนที่เสี่ยงเกินไปหรือเปล่าที่จะต้องใช้เงินอย่างน้อยๆ 30 ล้านบาท"
ความเป็นนักมวยชกข้ามรุ่นกระโดดเข้ามาจับธุรกิจใหญ่โตมูลค่าเป็นพันๆ ล้านของคนที่ได้อดีตนางสาวไทย "นิภาภัทร สุดศิริ" มาเป็นภรรยาอย่าง "จตุพร สิหนาทกถากุล" ย่องทำให้คนทั่วไปแปลกใจเป็นพิเศษ??
"ใครก็ได้ที่อยู่ในธุรกิจโรงแรมคงไม่ปฏิเสธว่าเขาเป็นคนเก่งและก้าวข้ามชั้นเร็วเกินคาดแต่คนเก่งมีหลายแบบ เขาเป็นอีกแบบหนึ่งที่มีอะไรติดค้างน่าดูอีกเยอะ" ผู้บริหารโรงแรม 2 ท่านที่คร่ำหวอดมานานสรุปจังหวะก้าวและทิศทางของจตุพรกับ "ผู้จัดการ"
จตุพร สิหนาทกถากุล - บัณฑิตปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจากจุฬาฯ คนนี้เป็นลูกของตวง แซ่เบ๊ พ่อค้าจีนที่มั่งคั่งคนหนึ่งในย่างสำเพ็ง ตวงเป็นเอเย่นต์ขายผ้ารุ่นราวคราวเดียวกับสุกรี โพธิรัตนังกูร ร้านเบ๊เลียกฮั้วของเขาศักดิ์ศรีไม่ด้อยกว่าร้านกิมย่งง้วนของสุกรีมากนัก
สุกรีเลือกที่จะเป็น "ราชาสิ่งทอ" ของโลกแล้วก็เป็นได้จริงๆ ขณะที่คู่แข่งอย่างตวงมองเห็นความยิ่งใหญ่บนทางสายเก่าเป็นเพียงจุดเล็กๆ ที่เลือนลาง เขาเลยเบี่ยงเบนเป้าหมายมาเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโดยร่วมลงทุนกับชวาล นิธิวาสิน เจ้าของกิจการค้ากระดาษ
ตวงมองการค้าแบบนี้จะทำให้เขาร่ำรวยได้เร็วขึ้นเพราะวิธีการครั้งอดีตกระทำกันแบบเงินต่อเงิน!!!!
"ความต้องการของเขาหวังที่จะเป็นเจ้าที่ดิน (Land Lords) มากกว่า เขามีความคิดหลักว่า การถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินไว้ในมือจะเพิ่มค่าหลายสิบเท่าในอนาคต แต่ตวงไม่อาจบรรลุเรื่องนี้ได้ เพราะติดขัดที่เป็นคนต่างด้าว" คนรุ่นเก่าท่านหนึ่งเล่าให้ฟัง
การสั่งสมทุนของตวงที่ตกทอดมาถึงรุ่นลูกๆ คงเกิดขึ้นจากงานรับเหมาก่อสร้างเป็นหลัก งานสำคัญๆ ที่บริษัทสิหนาทก่อสร้างของเขาทำเอาไว้ก็มีอาคารพาณิชย์ย่านรองเมืองซอย 5 บรรทัดทอง อาคารสุรวงศ์แองโกลพลาซ่า ศูนย์การค้าตลาดสดหัวหมาก (ทางเข้าหมู่บ้านเสรี) ฯลฯ
แต่ธุรกิจที่ทำให้ตวงรวยขึ้นมาอย่างวูบวาบก็คือ "โรงแรม" โดยในราวปี 2508 ตวงลงทุนสร้างโรงแรมสยามขึ้นที่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ในที่ดินเช่าจากคนอื่น (ปัจจุบันกลายเป็นที่ดินของเขาไปแล้ว) โรงแรมสยามเป็นโรงแรมเล็กๆ ที่มีห้องพักเพียง 120 ห้อง และอยู่ในย่านที่ยังไม่เจริญมากนักในสมัยนั้น
ทว่าห้วงเวลาที่โรงแรมสยามเกิดขึ้นมาเป็นช่วงที่เป็นมงคลจริงๆ เพราะขณะนั้นสงครามเวียดนามกำลังระอุทำให้นักท่องเที่ยว จี.ไอ. เข้ามาในเมืองไทยมาก กอปรกับทหารอเมริกันก็ขยายกองกำลังจัดตั้งฐานทัพที่ประเทศไทยด้วย จี.ไอ.นี่เองที่เป็นลูกค้าหลักของโรงแรมสยามไปโดยปริยาย
"เรามีกำไรสะสมจากโรงแรมสยามช่วงจี.ไอ.มาอยู่มากมาย" จตุพรบอกเล่ากับ "ผู้จัดการ"
สำหรับตัวจตุพรเองหลังจบจากจุฬาฯ เขาไม่ได้เข้ามาคุมธุรกิจของเตี่ยแต่อย่างใด งานแรกที่ทำคือผู้ตรวจสอบบัญชีภายในของบริษัทเชลล์ แห่งประเทศไทย จตุพรร่วมงานกับเชลล์ได้ 3 ปี ก็มีอันต้องลาออกเพื่อมาเป็นผู้จัดการโรงแรมสยาม (ปี 2509) ตามคำขอร้องของเตี่ย "แรกๆ ที่เตี่ยทำโรงแรมผมยังไม่ได้มาช่วยเต็มตัว มาตอนที่งานกำลังรุกไปข้างหน้า" เขาเล่า
การเข้ามารับงานของจตุพรกับพี่ชายอีกคนหนึ่ง "สุชาติ สิหนาทกถากุล" ปรับเปลี่ยนโฉมหน้าของ "สิหนาทกถากุล" ไปไม่น้อย ประการหนึ่งคือ ตวงบรรลุความหวังที่จะเป็นเจ้าที่ดินได้สำเร็จ โดยให้ลูกตั้งบริษัทคุณตวง กับบริษัทสยามสินทรัพย์พัฒนา ขึ้นมาเป็นแกนหลักซื้อที่ดิน
ที่ดินทองของกลุ่มนี้ซึ่งกว้านซื้อมาได้ อาทิเช่น ที่ดินย่านหัวหมากติดกับรามคำแหง (ตรงข้ามห้างเซ็นทรัลฯ สาขารามฯ), ที่ดินสี่แยกคลองตัน (โรงหนังแคนนอน 1,2 ให้ตระกูลโชติชวาลาแห่งอีเอ็มไอเช่า) ที่ดินปากทางหมู่บ้านเสรี หัวหมาก, ที่ดินตรงข้ามกับโรงแรมสยาม (ติดกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรม) รวมทั้งที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของแลนด์มาร์คโฮเต็ล
"ซื้อที่ดินนี่ทำในสมัยผมทั้งสิ้น ใจผมชอบด้านนี้" จตุพรออกตัวกับ "ผู้จัดการ"
บทบาทการเป็นนักพัฒนาที่ดินและนายหน้าที่ดินของเขาน่ามองเป็นอย่างมาก เพราะปัจจุบันเขากำลังเดินหมากร่วมกับ "ชัย โสณพนิช" ทายาทสายประกันภัยของชิน โสภณพนิช เข้ากว้านซื้อที่ดินหลายแห่งในกรุงเทพฯ งานชิ้นแรกของคนคู่นี้ที่ลงมือในปีนี้คือ การสร้างอาคารกรุงเทพธุรกิจ ซอยอโศก สูง 20 กว่าชั้น เพื่อทำเป็นอาคารสำนักงาน (Office Building)
ความสัมพันธ์ของจตุพรกับชัยมีบางคนตั้งข้อสังเกตว่า น่าเกิดขึ้นจากสะพานเชื่อมโยงของ สรดิษ วิญญรัตน์ ผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งของแบงก์กรุงเทพที่ได้ช่วยเหลือจตุพรมาตั้งแต่วางโครงการแลนด์มาร์ค โฮเต็ลและพลาซ่า ซึ่งในบริษัทสยามสินทรัพย์พัฒนานั้น สรดิษก็เป็นรองประธานกรรมการบริหารอยู่ด้วย
"การที่เขาทำแลนด์มาร์คขึ้นมาได้นั้น ด้านหนึ่งเครดิตของสรดิษก็มีส่วนช่วยเหลือไม่น้อย ยิ่งเมื่อได้ชัยมาเป็นทัพหนุนอีกแรงผมว่าน่ามองมากทีเดียว นี่ก็ทราบว่าจังหวัดใกล้เคียงอย่างระยองทั้งคู่ก็ไปดูที่ดินมาแล้วหลายแห่ง" แหล่งข่าวคนหนึ่งบอกกล่าว
ทางที่เลือกแล้วของจตุพรกับชัยในสายนี้ น่าจะไปได้ดีเพราะจตุพรเองได้กุนซือมือฉมังอย่าง "เพียงใจ หาญพาณิชย์" ผู้หญิงที่ใหญ่เกินตัวแห่งแมนดารินกรุ๊ป เจ้าของแลนด์แอนด์เฮาส์ คอยให้แง่คิดอยู่เบื้องหลัง ซึ่งสายสัมพันธ์ของเพียงใจ-จตุพร นอกจากจตุพรจะแลกเปลี่ยนด้วยการเป็นตัวเชื่อมคุมเสียงเจ้าของโรงแรมในสมาคมโรงแรมให้เพียงใจแล้วนั้น ยังเป็นผลพวงมาจากการที่ตวงเป็นญาติห่างๆ ของ บุญทรง อัศวโภคิน สามีของเพียงใจอีกด้วย
"สิหนาทกถากุล" เก็บดอกผลกำไรจากโรงแรมสยามอย่างงดงามมาโดยตลอด แม้ว่าจี.ไอ.จะถอนทัพกลับไปก็ไม่สร้างผลสะเทือนมากนัก เพราะจตุพรปรุงแต่งโฉมใหม่ของสยามเสียใหม่ด้วยการวางจุดขายที่ "อาหาร" และเป็นสถานที่ติดต่อกามารมณ์ของคนกลางคืน โดยเฉพาะบรรดาหมอนวดทั้งหลายในเวลาต่อมา
"ผมไม่มีสิทธิจะไปห้ามไม่ให้เกิดขึ้นมาได้ แต่ผมบอกได้ว่าสำหรับตัวผมและโรงแรมแล้วนั้น เราไม่เคยเข้าไปเกลือกกลั้วหรือเป็นนายหน้าค้าประเวณีแต่อย่างใด" เขาบอกกับ "ผู้จัดการ" ซึ่งประเด็นนี้น่าเชื่อถือได้ เพราะคนที่อยู่ในวงการโรงแรมหลายท่านบอกว่า "จตุพรนี่แม้บางครั้งในเกมภายในสมาคมฯ เขาอาจไม่เป็นที่ยินดีของใครมากนัก แต่สิ่งดีของเขาก็คือเป็นเจ้าของโรงแรมที่นุ่มนวล ไม่เพลย์บอย เหล้าไม่กิน บุหรี่ไม่สูบ"
ยี่สิบกว่าปีของการสั่งสมทุนและประสบการณ์จากโรงแรมสยาม ที่สุดในปี 2525 ปีที่ธุรกิจท่องเที่ยวอ่อนตัวลง จตุพรก็วางแผนโครงการสวนกับความเป็นจริงข้อนี้ด้วยการประกาศสร้าง "ซิตี้ แลนด์มาร์ค" ซึ่งใช้งบสูงถึง 800 ล้านบาท อย่างไม่หวั่นกลัวภัยใดๆ
เขาคุยว่าที่นี่จะเป็นทั้งโรงแรมชั้นนำและศูนย์การค้าครบเครื่อง!!
มีเรื่องเหลือเชื่ออย่างหนึ่งของเงินกู้ 600 ล้านบาท ธนาคารทหารไทย จตุพรคุยว่า เขาไม่ต้องยุ่งยากเขียนรายละเอียดโครงการเป็นปึกๆ เพียงแค่ทำบทสรุปความเป็นไปได้ 2 หน้ากระดาษ ก็สามารถโน้มน้าวประยูร จินดาประดิษฐ์ กรรมการผู้จัดการในสมัยนั้นให้เห็นชอบด้วยได้
ยอดเงินกู้ 600 ล้านบาท กับวงเงินจำนองที่ดิน 300 ล้านบาท ในแง่ของแบงก์ทหารไทยคงไม่เสี่ยงนักหรอก???
การเกิดขึ้นของซิตี้ แลนด์มาร์ค นอกจากท้าทายความซบเซาของธุรกิจท่องเที่ยวในประเด็นที่ว่า หากสถานการณ์ด้านนี้ไม่ดีขึ้นในระยะ 5 ปี (นับจากปี 2527) โรงแรมแลนด์มาร์คย่อมต้องเจ็บตัวกับการแบกภาระหนี้ที่จะพูนขึ้นอย่างไม่จำเป็นอย่างน้อยๆ 2-3 ปี ซึ่งระยะดังกล่าวถ้ามีปัญหาสภาพคล่องทางการเงินขึ้นมาก็อาจเป็นอันตรายทั้งนักลงทุนและเจ้าหนี้โดยไม่เป็นที่น่ายินดี
ขวากหนามอีกแนวก็คือ ช่วงเวลานั้นเป็นยุคทองของการสร้างอาคารสูง มีอาคารที่คอนเซ็ปท์คล้ายกับซิตี้ แลนด์มาร์ค ผุดขึ้นมามากมาย เช่น มาบุญครองฯ, พันธ์ทิพย์ พลาซ่า, อัมรินทร์ พลาซ่า หรือแม้แต่ตึกทอง ซึ่งเป็นที่คาดหมายกันว่าทั้งหมดจะต้องเปิดศึกแย่งชิงลูกค้ากันอย่างดุเดือด
ในความเป็นจริงที่สืบทอดมาถึงวันนี้ เป็นดั่งที่คาดการณ์เอาไว้ไม่บิดเบี้ยวแม้แต่น้อย การแข่งขันทุกรูปแบบกับเงินลงทุนค่อนข้างสูงทำให้สถานะแท้จริงของหลายโครงการเป็นที่รับรู้กันว่า "แทบจะเอาไว้ไม่อยู่แล้วทั้งนักลงทุนและเจ้าหนี้"
ภาวะอย่างนั้นกับซิตี้ แลนด์มาร์ค ก็หนีไม่พ้นความกังขาว่า "ซิตี้ แลนด์มาร์ค กระอักเลือดจนต้องทำศัลยกรรมใหญ่กับเขาด้วยหรือเปล่า!!??
สอดรับกับความสงสัยนี้ ด้านหนึ่งอาจมีพื้นฐานมาจากความเข้าใจที่ว่า ซิตี้ แลนด์มาร์คเหมือนคนยังไม่สร่างไข้ดีนัก เพราะงบก่อสร้างนั้นเอาเข้าจริงๆ สูงกว่า 800 ล้านบาท โดยมีผลมาจากที่ในปี 2527 ที่แบงก์ชาติลงแส้มาตรการสินเชื่อ 18% พร้อมลดค่าเงินบาท ทำให้ภาระหนี้ของโครงการนี้ต้องได้รับผลกระทบสูงตามขึ้นไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากด้านหนึ่งของเงินกู้ได้กู้จากเออร์วิ่งทรัสต์ของอเมริกา รวมแล้วประมาณกันว่างบก่อสร้างซิตี้ แลนด์มาร์ค สูงถึง 1,200 ล้านบาท
"ตอนนั้นเขาเหมือนเสือลำบากต้องวิ่งวุ่นหาแหล่งเงิน การที่ไปดึงบริษัทเอ็ม.ซี.ซี. และบริษัทปักกิ่งดีพาร์ทเมนท์สโตร์ มาร่วมนั้น ก็เพื่อดึงเงินส่วนนี้มาจุนเจือ" แหล่งข่าวคนหนึ่งกล่าว ซึ่งข่าวอย่างนี้ทำให้จตุพรต้องแก้ข่าวเป็นพัลวันพร้อมเร่งก่อสร้างเป็นรูปเป็นร่าง
ถึงกระนั้นยอดเงินกู้เดิม 600 ล้านบาท กับที่บานปลายออกไปอีก 400 ล้านบาท ก็เป็นปัญหาจุกอกที่สร้างความคลุมเคลือให้หลายคนอดมิได้ที่จะหวาดหวั่นถึงความอยู่รอดในปัจจุบันและอนาคต!!!!
"ผมกล้ารับประกันว่าเราไม่มีปัญหา ไปตรวจสอบฐานะเราจากแบงก์ได้ ผมคำนวณแล้วว่าฐานะเราจะดีขึ้นใน 2-3 ปีข้างหน้า อีกไม่กี่เดือนทุกส่วนของโครงการก็จะเสร็จสมบูรณ์" จตุพรย้ำมั่นใจอย่างหนักแน่น
จตุพร สิงหนาทกถากุล นักมวยขึ้นชั้นรวดเร็ว ยามนี้เขายิ่งสูงยิ่งหนาวยะเยือก!!!!
แลนด์มาร์ค โฮเต็ล กล่าวได้ว่าเป็นโรงแรมที่มีทั้งข้อเด่นและข้อด้อยซึ่งแตกต่างกันราวฟ้ากับดิน ความได้เปรียบในการขายอยู่ที่ทำเลซึ่งเป็นศูนย์ของการค้า การท่องเที่ยว และการเงิน ทว่าความอ่อนด้อยที่ขาดไปคือ ความมี "เสน่ห์" ในการบริการและอาหารที่เป็นจุดขายสำคัญอีกจุดหนึ่ง!!
"เอากันง่ายๆ แค่เมนูนี่ดูแล้วไม่ประทับใจเลย เรื่องละเอียดอ่อนอย่างนี้ถือว่าเป็นเสน่ห์สุดยอดของโรงแรมชั้นหนึ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม อาจเป็นเพราะจตุพรเขาชินกับการทำโรงแรมชั้นสาม จึงไม่เข้าใจลึกซึ้งข้อนี้" นักบริหารท่านหนึ่งให้ทัศนะ
ยิ่งแลนด์มาร์ค โฮเต็ล กำหนดลูกค้าเป้าหมายไว้กลุ่มเดียวกับโรงแรมแอมบาสซาเดอร์ที่อยู่ประจันหน้ากันด้วยนั้น เสน่ห์เล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ เห็นทีจะละเลยไปไม่ได้เสียแล้ว เพราะคู่แข่งอย่างแอมฯ ถือว่าเป็นหนึ่งในเรื่องอาหารและบริการ
อนาคตของแลนด์มาร์ค โฮเต็ลและพลาซ่า จะเดินไปสู่สวรรค์หรือนรก แฟคเตอร์สำคัญที่จะเป็นตัวชี้ขาดก็คือสถานการณ์ท่องเที่ยว ถ้าภาวะยังไปได้สวยอย่างทุกวันนี้อีกสัก 2-3 ปี ขณะที่แลนด์มาร์คยังรักษาระดับการขายไว้ได้ในอัตรา 60-70% โดยเฉลี่ยทั้งปี จากจำนวนห้องพัก 418 ห้อง โอกาสที่จะมองเห็นความอยู่รอดก็ดูสดใสขึ้นอักโข
ส่วนจะถึงจุดคุ้มทุนหรือไม่นั้นคงเหมือนที่จตุพรบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า ต้องใช้เวลาอย่างน้อยๆ สิบปีเช่นนั้นกระมัง???
แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงเห็นจะเป็นวัฏจักรของการท่องเที่ยวที่ว่า "สองปีดีสามปีเน่า" นั้นแหละที่จะเป็นฆาตรกรเลือดเย็นฆ่าโรงแรมที่สายป่านไม่ยาวจริงให้ม่อยกระรอกไปได้อย่างไม่ยากเย็น ถ้าเป็นอย่างนี้แลนด์มาร์ค โฮเต็ล คงต้องรับศึกหนัก จตุพรเองก็น่าจะเตรียมรับสภาพการณ์ข้างหน้าได้เป็นอย่างดี!!!!
ปัญหาอีกประการหนึ่งที่ต้องพูดถึงของแลนด์มาร์ค โฮเต็ล ซึ่งน่าถือเป็นกรณีศึกษาได้กรณีหนึ่ง ก็คือ การบริหารและจัดการที่มีเรื่องมีราวไม่หยุดหย่อน กอปรกับดูเหมือนว่าอนาคตยังจะต้องตามสะสางกันเรื่อยไป
แลนด์มาร์ค โฮเต็ล เปิดเป็นทางการเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2530 แต่ก่อนหน้านี้หนึ่งปี จตุพรได้ประชาสัมพันธ์โรงแรมให้ต่างประเทศรับรู้ เขาวางแผนปฏิบัติการทางการตลาดเป็น 2 ส่วน คือ
หนึ่ง - ทำด้วยทีมงานของโรงแรมซึ่งมีตัวเขาเป็นหลักและได้ วิลเลียม เจ.เวเกอร์ อดีตบรรณาธิการนิตยสาร Business in Thailand กับสิทธิชัย อภิรักษ์อดุลย์ มาเสริมด้าน Marketing
สอง - สมัครเป็นสมาชิกของเครือโรงแรมชื่อดังในต่างประเทศ โดยแบ่งเป็นภาคพื้นยุโรปร่วมกับอูเทล ซูป้า และภาคพื้นแปซิฟิค- แคนนาดา เป็นสมาชิกของแพน แปซิฟิค ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจโรงแรมที่มีเครือข่ายไปทั่วโลก
จตุพรกำหนดชะตากรรมของแลนด์มาร์ค โฮเต็ล ได้อย่างสดสวยไม่น้อย ถ้าเป็นนักมวยก็ถือได้ว่าแค่รำไหว้ครูเขาก็มีชัยไปแล้วครึ่งส่วน!!
ปัญหาด้านนี้ของแลนด์มาร์คจะไม่เกิดขึ้นเลย ถ้าจตุพรจะสมัครใจมีแพน แปซิฟิค และอูเทล ซูป้า เป็นฐานทางการตลาดเพียงถ่ายเดียว แต่จตุพรเลือกที่จะสร้างความอุ่นใจแบบคนจับปลาสองมือ ขณะที่เขามีสัญญาอยู่กับแพนและอูเทล อีกด้านเขากลับไปเซ็นสัญญาเกาะ "เดอะ รีกัล" ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจโรงแรมฮ่องกง
แม้ว่าสัญญาที่แลนด์มาร์ค โฮเต็ล ที่ผูกพันอยู่กับแพนและอูเทล จะเป็นเพียงแค่ป้อนลูกค้าให้เท่านั้น ไม่ก้าวก่ายเข้ามามีส่วนในการบริหารโรงแรมเหมือนอย่างที่จะทำร่วมกับเดอะ รีกัล จะเป็นสิทธิที่จตุพรและแลนด์มาร์คฯ สามารถกระทำได้ก็จริงอยู่ ทว่ากล่าวโดยมารยาทและหลักการโดยทั่วไปแล้ว ปฏิบัติการดังกล่าวนี้ไม่มีเหตุผลข้อไหนที่จะทำให้เห็นดีเห็นงามไปได้ไม่
"ไม่มีโรงแรมที่ไหนในโลกเขาทำกัน ก็น่าจะรู้ว่าการหาลูกค้าทั้งของแพนและเดอะ รีกัลที่อยู่ในย่านเดียวกันนั้นจะต้องชนกันแน่นอน มองมุมกลับทางแลนด์มาร์คอาจหวังผลลูกค้าสองทางแต่ก็เหมือนไม่ให้เกียรติเชนทั้งสอง" คนในวงการท่านหนึ่งกล่าว
แหล่งข่าวอีกท่านหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า เหตุที่จตุพรเลือกเดอะ รีกัล เข้าร่วมด้วยกัน เพื่อหวังเงินลงทุน 15% หรือ 150 ล้านบาทมาใช้จ่ายในการทำงาน ขณะที่เดอะ รีกัล ยื่นข้อเสนอที่จะขอเข้ามาร่วมทีมบริหารด้วยเพราะเดอะ รีกัล เองก็ยังไม่มีโรงแรมไหนที่ตัวเองมีสิทธิเต็มที่ ซึ่งเงินในส่วนที่เดอะ รีกัล ต้องจ่ายให้นั้นได้ชำระกันไปแล้วงวดหนึ่ง
เรื่องยุ่งยากขึ้นเมื่อจตุพรไม่ยอมรับที่จะให้คนของเดอะ รีกัล เข้ามามีส่วนในการบริหาร แม้แต่ตัวผู้จัดการใหญ่ซึ่งเดอะ รีกัล ต้องการให้เป็นคนของตนก็ปรากฎว่าจตุพรได้ไปดึงเดวิด วิด. อดีตผู้บริหารโรงแรมแอมบาสซาเดอร์และเมอร์ริเดียน ภูเก็ต มารับหน้าที่
หลายคนบอกว่าเดวิด วิด. เป็นเพียงภาพจำลอง ส่วนของแท้ที่บริหารงานเบ็ดเสร็จนั้นก็เป็นตัวจตุพรเองนั้นแหละ!!!!
"ที่ไม่ยอมให้รีกัลเข้ามา อาจเป็นเพราะนิสัยส่วนตัวที่เชื่อมั่นในตนเองว่าเก่งที่สุด ซึ่งการที่เขาดึงรีกัลมาร่วมเพื่อสร้างภาพความเป็นโรงแรมที่ได้มาตรฐานเท่านั้น ไม่ต้องการให้มายุ่งเรื่องบริหาร อีกอย่างจตุพรมองว่ารีกัลเองในต่างประเทศยังให้เมอริเดียนเป็นคนบริหารโรงแรมของตน-ฮ่อนกงเลยยิ่งทำให้เขาไม่เชื่อมือมากขึ้น" แหล่งข่าวคนเดิมบอกกล่าว
"เขาเป็นฝ่ายขอเข้ามาร่วมเองและผมก็ได้บอกไปแล้วว่า งานด้านบริหารเราจะทำกันเอง เขาน่าจะเข้าใจ" จตุพรกล่าวถึงที่มาของเดอะ รีกัล ที่ขัดแย้งกับกระแสเสียงที่กล่าวถึงในวงการ
ความไม่ลงรอยกันของจตุพรกับเดอะ รีกัล ใช้เวลารักษาสัมพันธภาพกันเพียงไม่ถึงครึ่งปีหลังเปิดกิจการ ที่สุดจตุพรก็ออกข่าวว่า "เขาได้ตัดสินใจยกเลิกสัญญากับรีกัล เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ส่วนจะเป็นแฟรนไชส์กันต่อไปหรือไม่นั้นจะต้องตกลงกันอีกที"
บทสรุปเที่ยวนี้มีบางคนบอกว่า เป็นเดอะ รีกัล มากกว่าที่ทนการรวบอำนาจไว้เพียงคนเดียวของจตุพรไม่ไหว แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ดูเหมือนนี่จะเป็นอีกอุทธาหรณ์หนึ่งของโรงแรมเมืองไทยที่ไม่อาจเอาดีกับเชนจากต่างประเทศได้อย่างรักกันจนตายไปข้างหนึ่ง??
ยังไม่รู้เลยว่าอนาคตของแพน แปซิฟิค กับ อูเทล ซูป้า จะรักใคร่ใยดีกับแลนด์มาร์ค โฮเต็ลไปได้อีกสักกี่น้ำ!!???
จตุพร สิหนาทกถากุล - เขาก้าวข้ามชั้นอย่างรวดเร็วและใหญ่จนน่าเสียว คนอย่างเขาวันนี้มีเพียงความฝันที่ดุจดั่งกุหลาบสีสวย มีความมั่นใจและเชื่อมั่นที่พอกพูนมากยิ่งขึ้น เขาหวังที่จะเป็นว่าในอีก 3-4 ปีข้างหน้าแลนด์มาร์ค โฮเต็ล จะเป็นโรงแรมที่บริหารด้วยคนไทยล้วนๆ
จะด้วยความเคารพนับถือฝีมือคนไทยด้วยกัน หรือเป็นมธุรสวาจาที่ต้องการจะลดดีกรีการมองว่าเขาเป็นคนที่ชอบรวบอำนาจบริหารเอาไว้ชณะที่ภาพภายนอกดูราวกับสร้างระบบมืออาชีพสมัยใหม่ขึ้นมา หรือไม่อย่างไรนั้นคงไม่ใช่ประเด็นสำคัญถ้าจตุพรใจกว้างทำได้อย่างนั้นจริงๆ สิเป็นเรื่องที่ควรยกย่องกันอย่างมาก
แต่ความหมายนั้นจะเป็นไปได้หรือไม่ย่อมขึ้นอยู่ที่ว่า
หนึ่ง - แลนด์มาร์คยังคงสง่าผ่าเผยไปจนถึงวันนั้นโดยไม่คลอนแคลน
สอง - จตุพรต้องดับข่าวลือและสร้างความจริงให้ปรากฏด้วยว่า เขาไม่เคยว่าจ้างพนักงานคนไทยเป็นรายปีโดยไม่มีหลักประกันความเติบโตก้าวหน้าให้อุ่นใจอย่างที่หลายคนกล่าวหา และสร้างระบบบริหารแบบใหม่แท้จริงให้เกิดขึ้นภายในองค์กรแห่งนี้ มิใช่เหมือนที่พูดกันมากว่าเขาว่าจ้างมืออาชีพเข้ามาเป็นเพียงไม่กันหมาเท่านั้น
เพราะขืนเป็นอย่างนี้มันก็ช่วยอะไรไม่ได้จริงๆ!!!!
ไม่มีใครรวมทั้ง "ผู้จัดการ" ด้วยที่ต้องการจะเห็นโครงการพันล้านซึ่งน่าที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีของนักธุรกิจรุ่นใหม่จะต้องพบกับความเลวร้ายใดๆ ทั้งสิ้น???
แลนด์มาร์ค โฮเต็ล และพลาซ่า แค่ก้าวเดินก้าวแรก สถานะในวันนี้อุปมาอุปมัยเหมือนเรือที่กางใบโลดแล่นไปในท้องทะเลที่คลื่นลมสงบ แต่ยังไงก็ตามเบื้องหน้านั้นอาจมีพายุร้ายคอยจู่โจม!!!!
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|