NPC-2 ละครผิดบทของ BOI แก้ผ้าแล้วยังเอาหน้าไม่รอด

โดย สุรพล ธรรมร่มดี
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

เค้ก NPC 2 ชิ้นใหญ่นี้นุ่มนิ่มน่ากินจน BOI หั่นแบ่งไม่ถูก เพราะทุกครั้งที่ BOI เอื้อมมือไปหั่นจะมีมืออีก 60 กว่าข้าง คอยยึดย้ายดึงไปดึงมา ความปั่นป่วนจึงเกิดขึ้น และเป็นบทตอกย้ำการทำงานอีกครั้งหนึ่งของมือ BOI ที่ถือมีดเป็นอำนาจนั้น ด้อยประสิทธิภาพ ไม่อาจรับมือกับกลุ่มทุนอิทธิพลต่างๆ ได้ นี่เป็นอีกกรณีศึกษาหนึ่งในจำนวนมากมายที่ "คนบีโอไอ" ทุกคนจะได้ทบทวนบทบาทและระบบการทำงานเสียที!

"ยุคตื่นทอง" ในสหรัฐอเมริกาช่วงที่กำลังสร้างชาติของตนภายหลังปลดแอกจากอังกฤษ เป็นยุคที่สะท้อนการแก่งแย่งแข่งขัน กิเลสตัณหาของมนุษย์อย่างลึกซึ้งที่สุดยุคหนึ่ง เมื่อพบว่าความมั่งคั่งของทองคำทางตอนใต้แถบแคลิฟอร์เนียคือ "สวรรค์" แต่กว่าผู้คนจะไต่เต้าไปถึงก็ต้องผ่าน "อเวจี" เสียก่อน เพราะนั่นคือไฟสงครามและการประหัตประหารซึ่งกันและกัน

"ยุคโชตช่วงชัชวาล" ของไทยกำลังกลายเป็นสวรรค์และอเวจีของกลุ่มทุนกลุ่มต่างๆ แต่คราวนี้มีตัวละครเพิ่มมาอีกตัวคือ "BOI" ยืนอยู่ที่ปลายอเวจีตั้งตนเป็น "มัจจุราช" คอยถืออำนาจตัดสินให้กลุ่มใดได้ขึ้นสวรรค์หรือตกนรก สวรรค์ก็คือได้รับการเสริมส่งให้ได้ครองวงการอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติกที่มีมูลค่าการลงทุนถึง 1 แสน 5 หมื่นล้านบาท และมีตลาดทั้งในและนอกประเทศที่กว้างใหญ่รอคอยอยู่ แน่นอนว่า กลุ่มทุนที่เสียโอกาสย่อมเท่ากับตกนรกมิใช่หรือ ความสำคัญของโครงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมากกว่ามากต่อกลุ่มทุนเพียงไร "BOI" ก็มีความหมายเพียงนั้น โครงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคืออะไร และ "BOI" ทำอะไรกับโครงการนี้? คือสองคำถามที่จะนำเราไปสู่เรื่องราวของสงครามในสงครามและเกมในเกมที่ลึกซึ้ง


NPC พลิกโฉมอุตสาหกรรมไทย

ถ้าพิจารณาความเติบกล้าของอุตสาหกรรมไทยในระยะที่ผ่านมา สิ่งที่เราทำได้ก็คือการผลิตสินค้าอุปโภคเพื่อทดแทนการนำเข้า และสามารถขยายตัวไปสู่การส่งออกในระยะต่อมา แต่สำหรับ Industrialist ถือว่าอุตสาหกรรมประดานั้นเป็นเพียงขั้นเริ่มแรกเท่านั้น จนกระทั่งโครงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีปรากฏขึ้นเป็นจริงเป็นจังในปัจจุบัน จึงถือได้ว่าเป็นการยกระดับไปสู่ Basic Industry อย่างแท้จริง

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเกิดขึ้นจากการค้นพบก๊าซธรรมชาติและบ่อน้ำมันที่อ่าวไทย ปริมาณที่มากเพียงพออย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้สามารถ SET โครงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 1 (NPC 1) และระยะที่ 2 (NPC 2) วัตถุดิบเหล่านี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างอเนกอนันต์ โดยเฉพาะการผลิตเม็ดพลาสติก (Plastic Pellets) ประเภทต่างๆ เช่น PE, PP, PVC, PS, ABS, SBR, SM ซึ่งนำไปใช้เป็นวัตถุดิบทำการผลิตผลิตภัณฑ์ได้อย่างหลากหลาย อาทิ ถุงพลาสติก ฟิล์ม ขวด ภาชนะ ของเด็กเล่น เสื่อเชือกร้อย ท่อน้ำ ฉนวนหุ้มสายไฟฟ้า แผ่นพลาสติก แห อวนกระสอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า หลอดฉีดยา ชิ้นส่วนรถยนต์ วัสดุปูพื้น ตลับเทป ไม้บรรทัด เครื่องประดับผนังภายใน ตู้เย็น ตู้โทรทัศน์ เฟอร์นิเจอร์ หมวกกันน็อค ที่บรรจุเครื่องสำอาง เปลือกแบตเตอรี่ กาว หมากฝรั่ง พื้นรองเท้ากีฬา ถุงมือยางอนามัย ถุงมือแพทย์ ล้อยาง เส้นใยสังเคราะห์ เทปบันทึกเสียง เป็นต้น ขอบข่ายการผลิตของมันต้องเป็นที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน จึงนับเป็นการก้าวกระโดดครั้งสำคัญเทียบเท่า "ยุคพัฒนา" ของจอมพลสฤษดิ์

สำหรับ NPC 1 ขณะนี้อยู่ในขั้นกำลังดำเนินการ ประกอบด้วยเม็ดพลาสติกประเภทต่างๆ และบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนดังต่อไปนี้คือ PE อยู่ในความครอบครองของบริษัทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคัลไทย จำกัด (TPI) ด้วยกำลังการผลิต 60,000 ตัน/ปี และของบริษัท ไทยโพลีเอททีลีน จำกัด (TPE) ด้วยกำลังผลิต 137,500 ตัน/ปี สำหรับ PP บริษัท เอ็ช เอ็ม ซี โพลีเมอร์ จำกัด (HMC) ซึ่งร่วมทุนระหว่างศรีกรุงวัฒนา กับ Himont Corporation เป็นผู้ดำเนินการด้วยกำลังการผลิต 100,000 ตัน/ปี ส่วน VCM และ PVC บริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (TPC) ครองทั้งสองประเภทนี้ด้วยกำลังผลิต 140,000 และ 60,000 ตัน/ปี ตามลำดับ

ส่วน NPC 2 ก็เป็นการขยายโครงการเช่นเดียวกับ NPC 1 แต่กว้างขวางมากขึ้น คือนำวัตถุดิบมาขยายผลต่อการผลิตเม็ดพลาสติกมากชนิดกว่าเดิม (ดูแผนภาพ NPC)

การทำงานกับโครงการยักษ์ใหญ่เช่นนี้ ย่อมต้องมีการวางแผนอย่างรัดกุม ราวปลายปี 2530 กลุ่มเทคโนแครทและข้าราชการที่รับผิดชอบได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นศึกษาและวางแผนแม่บทซึ่งประกอบด้วย รมช.กระทรวงอุตสาหกรรม กร ทัพพะรังสี, สิปนนท์ เกตุทัต ผู้จัดการบริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ, ชีระ ภาณุพงศ์ เลขาธิการ BOI, พละ สุขเวช รองผู้ว่าการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และ สาวิต โพธิวิหค ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก

เมื่อแผนแม่บทออกมาก็มีการจัดประชุมร่วมกับกลุ่มนักลงทุนกว่า 60 ราย เป็นการสัมมนาเพื่อนำเสนอแผนแม่บทและปรึกษาหารือกับภาคเอกชน ต่อจากนั้นก็นำเสนอต่อคณะกรรมการที่กำกับดูแลโครงการปิโตรเคมีแห่งชาติที่มี สุธี สิงห์เสน่ห์, ศุลี มหาสันทนะ, มีชัย ฤชุพันธ์, เสนาะ อูนากูล, สาวิต โพธิวิหค ร่วมอยู่ด้วย

จนกระทั่งแผนแม่บทถูกพิจารณาอย่างละเอียดในระดับขั้นดำเนินการโดยคณะกรรมการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก และถูกส่งผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จากนั้นเรื่องจึงมาถึงมือ BOI เพื่อดำเนินงานในเรื่องการส่งเสริมการลงทุนต่อไป

ฉะนั้นจะเห็นได้ว่างานนี้โดยเฉพาะแผนแม่บทเป็นที่รับรู้กันทุกฝ่ายทั้งภาครัฐบาลและเอกชน หลักการสำคัญในแผนแม่บททั้ง 7 ข้อ ได้แก่

หนึ่ง - โครงการที่ซ้ำซ้อนกับโครงการ NPC 1 ควรดูแลเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดผลในแง่ลบต่อการดำเนินการของโครงการ NPC 1

สอง - กำลังผลิตของแต่ละหน่วยควรสูงมากพอในเชิงประสิทธิภาพของการผลิต และควรเน้นในด้านเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย

สาม - ควรมีการใช้ทรัพยากรปิโตรเลียมในประเทศในอัตราสูงสุด

สี่ - ควรตั้งโรงงานอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด

ห้า - ผลิตภัณฑ์ที่มีผู้ผลิตเพียงรายเดียวในปัจจุบัน ควรให้ความสำคัญในการพิจารณาข้อเสนอการลงทุนของผู้ขอรับการส่งเสริมรายอื่นๆ ก่อน

หก - ควรมีการคุ้มครองด้านภาษีนำเข้าไม่เกินกว่าอัตราภาษีนำเข้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน

เจ็ด - ควรจะยอมรับข้อผูกพันที่จะทำสัญญารับซื้อวัตถุดิบที่ผลิตได้จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น และเงื่อนไขอื่นๆ ที่คณะกรรมการพิจารณาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกจะกำหนด

และมีการกำหนดรายละเอียดกำลังผลิตไว้ดังนี้

ประเภทผลิตภัณฑ์ กำลังผลิต (ตัน/ปี)

PE 85,000

PP 155,000

PVC 130,000

PS 55,000

ABS/SAN 8,000

SBR 13,000

SM 135,000

VCM 140,000

LAB 30,000

PTA 205,000

PA 3,000

EG 90,000

สาระสำคัญเหล่านี้เป็นเสมือนบทบัญญัติที่ BOI ซึ่งเป็นองค์กรขั้นปฏิบัติงานจะต้องนำมาเป็นหลักใช้พิจารณาคัดเลือกผู้ขอรับการส่งเสริมรายต่างๆ อย่างเคร่งครัด จุดนี้แหละที่เป็นปัญหาของ BOI ในการวางตัวกับโครงการนี้


NPC 2 ในกำมือของ BOI

เมื่อเรื่องถึง BOI ที่ประชุมของ "บอร์ดเล็ก" มีมติให้เปิดรับข้อเสนอของผู้ขอรับการส่งเสริมกลุ่มต่างๆ และพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม งานเริ่มเดินนับจากวันที่ 22 มกราคม โดยเลขาธิการคือชีระได้ออกแถลงต่อสื่อมวลชนให้ผู้สนใจในโครงการ NPC 2 ยื่นคำขอรับการส่งเสริมภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ จนถึงวันนั้นมีผู้ยื่นขอรับการส่งเสริมทั้งสิ้น 63 ราย นับว่ามากมายเพียงพอที่จะทำให้หน่วยงานอย่าง BOI ปั่นป่วน

สิ่งที่ส่อเค้าความยุ่งยากประการแรกก็คือ การที่โครงการกว่าแสนล้านบาทตกอยู่ในความดูแลของบุคลากรเพียง 3 - 4 คน คนหนึ่งคือ ชีระ อีกสามคนอยู่ใน "หน่วยงานเฉพาะกิจ" ซึ่งมี โสฬส งามวงศ์วาน เป็นหัวหน้า

"หน่วยงานเฉพาะกิจ" เป็นหน่วยงานที่ชีระเป็นผู้จัดรูปองค์กรขึ้นโดยอาศัยอำนาจของเลขาธิการสำนักงาน ดังนั้นจึงเป็นอิสระจากการบริหารของคณะกรรมการบริหารของสำนักงาน แต่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของเลขาธิการโดยตรง ภาระหน้าที่ของหน่วยงานนี้คล้ายกับ "กองวิเคราะห์โครงการ" คือรับผิดชอบงาน 2 ลักษณะ ส่วนหนึ่งกลั่นกรองโครงการต่างๆ ที่มีวงเงินลงทุน 20 ล้านบาทลงมา แล้วส่งให้เลขาฯ อนุมัติได้ทันที และอีกส่วนหนึ่งเป็นโครงการใหญ่ๆ ไม่จำกัดวงเงินลงทุนที่เลขาฯ ส่งเรื่องมาให้กลั่นกรอง แล้วเสนอให้เลขาฯ และ "บอร์ดเล็ก" พิจารณาอนุมัติต่อไป

การจัดรูปองค์กรแบบนี้ได้กลายเป็น "ปัญหาโลกแตก" สำหรับความพยายามจะปรับระบบราชการให้คล่องแคล่วทันสมัยมากขึ้น ถ้าพิจารณา "กองวิเคราะห์โครงการ" ในสายงานเดิม การดำเนินงานตั้งแต่รับโครงการจากผู้ลงทุนมาศึกษา เสร็จเสนอต่อผู้อำนวยการกอง ผู้ช่วยเลขาธิการ รองเลขาฯ จนกระทั่งที่สุดที่เลขาธิการ สายงานเช่นนี้ย่อมล่าช้าไม่ทันกาล ยิ่งการลงทุนขยายตัวอย่างมากนับแต่ปี 2530 งานก็นับว่า "ตึงมือ" อย่างยิ่ง เหตุนี้จึงตั้ง "หน่วยงานเฉพาะกิจ" ซึ่งก็เหมือนกับตั้งกองวิเคราะห์โครงการขึ้นมาอีกกองหนึ่ง แต่ว่าเป็นอิสระจากสายงานเดิม โดยให้หัวหน้าหน่วยส่งเรื่องข้ามไปถึงเลขาฯ โดยตรงได้เลย

แน่นอนว่าสายงานใหม่นี้ย่อมคล่องตัวกว่าเดิมมาก แต่จุดอ่อนของรูปองค์กรแบบนี้ก็คือ มันจะสถาปนาอำนาจบริหารขึ้นเป็น "อาณาจักร" ของตน ซึ่งเป็นอิสระจากการตรวจสอบภายในที่ละเอียดรอบคอบ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับกรณีนี้ก็คือปัญหา "คุณภาพของการตัดสินใจ" ในการอนุมัติโครงการ

ที่ฉกาจฉกรรจ์กว่านั้นก็คือ "อำนาจ" และ "ความคล่องตัว" ที่ให้ไว้กับอาณาจักรนี้จะถูกใช้ติดต่อสัมพันธ์กับนักลงทุนอย่างเป็นเอกเทศ และมีอำนาจให้คุณให้โทษแก่นักลงทุนได้อย่างมหาศาล

ชีระและผู้คนในหน่วยงานเฉพาะกิจจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ได้กลายเป็นอาณาจักรอิสระใน BOI ไปแล้ว และที่สำคัญอาณาจักรนี้ได้ผ่านการทดสอบความทรงประสิทธิภาพของมันไปเรียบร้อยแล้วกับโครงการ NPC 2 กล่าวคือ

หลังจากสิ้นสุดการเปิดรับการขอรับการส่งเสริม ชีระและหน่วยงานเฉพาะกิจได้นัดหมายให้ตัวแทนกลุ่มทุนทั้ง 60 กว่าราย มาเข้าพบและซักถามเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการของแต่ละกลุ่มภายใน 15 วัน จากนั้นก็นำรายละเอียดเหล่านั้นมาพิจารณาศึกษา รวมเวลาที่ใช้ไปทั้งสิ้น 39 วัน จึงได้ "ข้อสรุป" และชีระก็นำไปผลักดันให้เป็นมติของ "บอร์ดเล็ก" เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ซึ่งเป็นวันศุกร์อันถือเป็นวาระ "พิเศษ" เพราะปกติจะประชุมกันวันอังคารเป็นประจำ วันนั้นกรรมการหลายท่านไม่อยู่ เช่น รองเลขาฯ สถาพร และคุณศุกรีย์ ส่วนที่เข้าประชุมก็ได้ Paper เดี๋ยวนั้น และเร่งรัดการประชุมแบบม้วนเดียวจบ

จากนั้น "ข้อสรุป" หนาเกือบ 100 หน้า ถูกส่งไปถึงมือคณะกรรมการ "บอร์ดใหญ่" ก่อนหน้าการประชุมเพียง 1 วัน ผลปรากฏว่าในวันที่ 30 มีนาคม "บอร์ดใหญ่" มีมติให้ทบทวนข้อสรุปของ "บอร์ดเล็ก" โดยแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 60 วัน

"งานนี้ทำกันอย่างลึกลับ รู้กันอยู่ไม่กี่คนใน "บอร์ดเล็ก" แล้วก็เร่งร้อนจะให้ "บอร์ดใหญ่" พิจารณาให้เสร็จๆ กันไป แต่ Mood โดยทั่วไปของ "บอร์ดใหญ่" ไม่อยากตัดสินใจเพราะยังไม่ได้อ่าน ยัง Study ไม่ทัน รู้สึกว่าวิธีแบบนี้มันเร่งรัดเกินไป" แหล่งข่าวระบุถึงความเห็นลึกๆ ของผู้เกี่ยวข้องใน BOI

เมื่อเรื่องนี้ถึงสื่อมวลชน หางเสียงของกระแสข่าวสอดคล้องเป็นเสียงเดียวกันว่า มติของ "บอร์ดเล็ก" ถูกแบน ชีระหน้าแตกเพราะมตินั้นส่งเสริมผูกขาดใน NPC 2 โดยให้ TPI ได้รับการส่งเสริมถึง 5 ผลิตภัณฑ์ คือ PE, PP, PVC, PS และ ABS ทั้งยังเป็นการบิดเบือนแผนแม่บทที่เน้นกระจายการลงทุนให้ผู้ประกอบการรายใหม่ และกรณีที่ตั้งเชิงเนินไม่ใช่มาบตาพุดซึ่งรัฐลงทุนไปมากแล้ว

การกระหน่ำตี TPI (อ่านเพิ่มเติมใน TPI) อย่างหนักหน่วงครั้งนี้เป็นภาพสะท้อนถึงความยุ่งยากประการที่สอง นั่นคือเกมการแข่งขันแย่งชิงระหว่างกลุ่มทุนกลุ่มต่างๆ "มีมาสมัคร 60 กว่าบริษัท ไอ้นี่เราเห็น 60 บริษัทปุ๊บ คนที่อยู่ในวงการก็ต้องเข้าใจแล้วว่าต้องมีปัญหาแน่ เราต้องเข้าใจแล้วว่ามันจะต้องแย่งกัน บางโครงการนี่แย่งกันถึง 7 - 8 กลุ่ม กลุ่มพวกนี้ก็ไม่ใช่กลุ่มธรรมดา เป็นกลุ่มอิทธิพล กลุ่มมีสตางค์ทั้งในและต่างประเทศ และแต่ละคนก็สามารถติดต่อกับผู้ใหญ่ได้ทุกระดับ โครงการเขาเป็นพันล้านทั้งนั้น ไม่ใช่ตาสีตาสาอยู่ดีๆ ขึ้นมาลงทุน" ดร.สาวิต ชี้ประเด็นให้เห็น และวิเคราะห์ต่อว่า

"BOI ก็พยายามสุดขีดที่จะเลือก 15 ใน 60 ก็ทำออกมาแล้วก็เสนอคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่มีนายกฯ เป็นประธาน แต่ผมก็เข้าใจตั้งแต่วันแรกแล้วว่า ยังไงก็คงออกลำบากเพราะยังไงก็ต้องมีคนไม่พอใจเพราะ 15 บริษัท ที่ได้คิดเป็นเงินลงทุน 2 หมื่นล้านไม่เป็นปัญหา แต่ไอ้ที่เหลือคือ 45 กลุ่ม เงินทุน 9 หมื่นล้านกว่าบาท จะเป็นปัญหาเวลาไม่ได้ พวกนี้ก็จะไม่อยู่เฉยๆ มีผู้หลักผู้ใหญ่ก็พยายามชี้แจงว่า ไอ้พวกที่ได้น่ะได้ไปยังไง มีการปล่อยข่าวลือโจมตีกันเป็นขบวนการธรรมดา ผมไม่ได้ใส่ร้ายใคร"

"ผู้จัดการ" จะได้กล่าวถึงการแข่งขันของกลุ่มทุนในช่วงต่อไป แต่สิ่งที่ต้องชี้ให้เห็นก็คือ การปล่อยให้ชีระและหน่วยงานเฉพาะกิจรับผิดชอบ NPC 2 อย่างเป็นอิสระ และแรงกดดันจากกลุ่มทุนกลุ่มต่างๆ เป็นสองสาเหตุสำคัญที่ทำให้มติของ "บอร์ดเล็ก" มีจุดอ่อนข้อผิดพลาดที่ฉกรรจ์หลายแห่ง โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงแผนแม่บทโดยพลการ

หากตรวจสอบมติของบอร์ดเล็กเราจะพบเห็นสิ่งนี้ เช่น กรณีที่ให้ TPI ได้รับการส่งเสริมถึง 5 ผลิตภัณฑ์ โดยที่สถานที่ตั้งอยู่ที่ตำบลเชิงเนิน ซึ่งห่างจากมาบตาพุด 40 - 50 กิโลเมตร ย่อมทำให้สองในสามของโครงการไม่ได้ใช้ Infra-Structure ให้คุ้มสมกับที่รัฐบาลได้ลงทุนลงแรงไป

กรณีอนุมัติให้ HMC ได้รับการส่งเสริมในผลิตภัณฑ์ PP ทั้งๆ ที่เดิมก็เป็นผู้ผลิตรายเดียวในปัจจุบัน จึงขัดกับแผนแม่บทที่จะต้องให้สิทธิ์แก่รายอื่นก่อน

กรณีปรับเปลี่ยนกำลังผลิตของผลิตภัณฑ์ PE และ PVC ให้มีปริมาณมากขึ้นกว่าที่กำหนดไว้เดิมเพียงเพื่อจะได้สามารถอนุมัติการส่งเสริมได้มากรายขึ้น

กรณีอนุมัติให้ TPI และกลุ่มชาติศิริ โสภณพนิช ได้รับการส่งเสริมในผลิตภัณฑ์ PE ทั้งสองรายทำให้ปริมาณการส่งออกรวมกันแล้วถึง 100% ของกำลังผลิตรวม ซึ่งเป็นเรื่องที่ "เสี่ยง" ต่อความผันผวนของตลาดโลก

"ผู้จัดการ" อยากสรุปให้เห็นว่า สไตล์การทำงานแบบ "ปิดลับ" ของชีระและหน่วยงานเฉพาะกิจไปกันไม่ได้กับบรรยากาศการแข่งขันของกลุ่มทุนกลุ่มต่างๆ ซึ่งต้องการความเปิดเผยหลักเกณฑ์และการพิจารณาที่ชัดเจนและมีเหตุผล ทั้งยังเปิดช่องให้เกิดการให้อำนาจโดยพลการ ทำให้มีแต่ความคลุมเครือและรังแต่จะสร้างความไม่เข้าใจให้บานปลายออกไป

ความพยายามแก้ปัญหาด้วยการจัดตั้งอนุกรรมการเฉพาะกิจ (ดูตารางรายชื่อ) ขึ้นมานั้น ก็ยังรักษาสไตล์การทำงานแบบนี้ต่อไปอีก ไม่ทราบว่าจะช่วยปกปิดความสัมพันธ์ของกรรมการบางท่าน เช่น อมร จันทรสมบูรณ์ กับกลุ่มโสภณพนิช เพราะเพิ่งได้รับตำแหน่งกรรมการบริหารแบงก์กรุงเทพเมื่อเร็วๆ นี้ และ อานันท์ ปันยารชุน กับกลุ่มปูนซิเมนต์ไทยเพราะเป็นรองประธานสภาอุตสาหกรรม ที่มี พารณ อิศรเสนา เป็นประธาน ได้หรือไม่!?!

สิ่งนี้ก็เป็นปัญหาการจัดวาง Position ภายในอนุกรรมการเฉพาะกิจซึ่งผู้คนในวงการ "เห็นไต๋" กันอยู่ แล้วจะมีกลุ่มทุนกลุ่มไหนเชื่อมติของอนุกรรมการฯ ชุดนี้ได้อย่างสนิทใจเล่า เรื่องก็คงยืดเยื้อต่อไป ด้วยเกมในเกมที่แต่ละกลุ่มจะงัดมาฟาดฟันกัน

รายชื่อคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ

1. สุธี สิงห์เสน่ห์ รมต.กระทรวงการคลัง ประธาน

2. ชีระ ภาณุพงศ์ เลขาธิการ BOI เลขานุการ

3. ร.ท.ศุลี มหาสันทนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ กรรมการ

4. เสนาะ อูนากูล เลขาฯ สภาพัฒน์ฯ กรรมการ

5. อมร จันทรสมบูรณ์ เลขาฯ คณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการ

6. กร ทัพพะรังสี รมช.กระทรวงอุตสาหกรรม กรรมการ

7. ศุกรีย์ แก้วเจริญ ผู้จัดการทั่วไป IFCT กรรมการ

8. อานันท์ ปันยารชุน รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กรรมการ

9.* พละ สุขเวช รองผู้ว่าการปิโตรเลียมฯ กรรมการ

*สิปนนท์ เกตุทัต เป็นผู้แทนพละ เพื่อดูแลผลประโยชน์ของ NPC-1


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.