|
BOI ยุคชีระครองอำนาจ
โดย
สมใจ วิริยะบัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2531)
กลับสู่หน้าหลัก
"ตอนนั้นชีระก็เกือบไม่ได้ และสถาพรก็เกือบจะได้จริงๆ ทั้งๆ ที่ชีระควรจะนอนมาเพราะเป็นลูกหม้อเก่า แต่สถาพรซึ่งมาจากสภาพัฒน์ฯ มีบทบาทโดดเด่นมาก โผที่ถึงมือนายกฯ ก็เป็นชื่อสถาพร แต่พอประกาศออกมากลับกลายเป็นชีระได้ ก็ไม่รู้ว่าโผไปพลิกตอนไหน" อดีตที่ปรึกษา BOI เล่าถึงการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งเลขาธิการของชีระเมื่อกรกฎาคม 2529
คู่แข่งคนสำคัญในขณะนั้นคือ สถาพร กวิตานนท์ ซึ่งย้ายจากผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) เป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 9 มารับตำแหน่งรองเลขาธิการ BOI ซึ่งเป็นนักบริหารระดับ 10 เมื่อมีนาคม 2527 แทนรองเลขาฯ คนเดิม คือ เดชา บุญชูช่วย ซึ่งเลื่อนขึ้นมาเป็นเลขาธิการ
สถาพรเป็นคนหนุ่มที่ก้าวหน้าในชีวิตราชการเร็วมากคนหนึ่ง ด้วยวัยเพียง 46 ปี สามารถก้าวขึ้นมาถึงระดับ 10 หลังจากจบเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ บินไปเรียนปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ที่ Vanderbeilt University อเมริกา หลังจากนั้นก็อยู่สภาพัฒน์ฯ มาตลอด งานที่รับผิดชอบส่วนใหญ่เป็นกองวางแผนเอกชน สถาพรจึงถือว่าตัวเองรู้เรื่องและรู้จักกลไกทางธุรกิจดี สถาพรมีส่วนอย่างสำคัญในการผลักดันให้เกิด กรอ. (คณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ) ซึ่งพลเอกเปรม เป็นประธาน เสนาะ อูนากูล เป็นเลขาธิการ สถาพรเป็นผู้ช่วยเลขาฯ งานนี้เองที่ทำให้สถาพรได้ใกล้ชิดกับป๋า ว่ากันว่าป๋าชอบเรียกใช้สถาพร เพราะความที่เขาเป็นคนคล่องแคล่ว พูดเก่ง ทำงานเร็ว และมีมนุษยสัมพันธ์ดี เมื่อสถาพรมาอยู่ BOI ภาพออกมาว่าเสนาะ คนโตของสภาพัฒน์ฯ หนุนให้มา เพราะอยากให้สถาพรเข้ามาเปลี่ยนแปลง เนื่องจากสภาพัฒน์ฯ มองว่า BOI ยังล้าหลัง ไม่มีประสิทธิภาพ สถาพรจึงดูเหมือนว่ามีทั้งสภาพัฒน์ฯและป๋าติดมาด้วย คนจึงคาดการณ์กันว่า สถาพรจะขึ้นสู่ตำแหน่งเลขาฯ ทั้งๆ ที่เพิ่งเข้ามาทำงานได้ 2 ปี
ชีระ ภาณุพงศ์ เลขาธิการ BOI คนปัจจุบัน ดูนามสกุลเขาแล้วหลายคนคงนึกถึง อรุณ ภาณุพงศ์ พี่ชายคนโตของเขา ที่รับราชการได้ดิบได้ดีเป็นถึงปลัดกระทรวงการต่างประเทศ และเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ในรัฐบาลเปรม 5 อรุณมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ ประสงค์ สุ่นศิริ พี่ชายคนที่สอง นิรันดร์ ภาณุพงศ์ ก็เป็นที่รู้จักกันทั่วไปเมื่อศึกร่มเกล้าที่เพิ่งผ่านไปหมาดๆ ในฐานะ ทูตไทยประจำประเทศลาว
ชีระเป็นคนใต้ เกิดที่อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา เรียกว่าเป็นคนบ้านเดียวกับพลเอกเปรม พ่อรับราชการเป็นศึกษาธิการอำเภอ ครอบครัวไม่ได้ร่ำรวย พ่อเขาคิดว่าอยากให้ลูกเติบโตไปได้ด้วยการศึกษาเท่านั้น กอปรกับพี่ชายช่วยผลักดัน เมื่อชีระเรียนจบ ม.6 ที่มหาวชิราวุธ เดินทางเข้ามาเรียน ม. 7- 8 ที่กรุงเทพฯ เรียนเตรียมธรรมศาสตร์ รุ่น 500 รุ่นเดียวกับปลัดพิศาล มูลศาสตรสาทร แต่ตอนหลังพิศาลแยกไปเรียนรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ชีระเรียนกฎหมายที่ธรรมศาสตร์ต่อ ซึ่งสมัยนั้นธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยเปิด ไม่จำเป็นต้องมาเรียนก็ได้ ถึงเวลามาสอบได้เลย ตอนจบ ม. 8 ชีระอายุยังไม่ถึง 18 รับราชการไม่ได้ จึงกลับไปเป็นครูประชาบาลที่รัตภูมิโรงเรียนที่เขาเคยเรียน
พอจบธรรมศาสตร์ ชีระเข้าทำงานที่กองสารวัตร กรมศุลกากรอยู่ 2 ปี เปลี่ยนเข็มไปสอบกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งเขาเป็นคนนอกหนึ่งในสองสามคนที่ได้ แต่ยังไม่มีสิทธิสอบทุนไปเรียนต่อของกระทรวงต่างประเทศ เพราะอายุงานยังไม่ถึง 3 ปี เขาจึงไปสอบทุนของกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ ไปเรียนปริญญาตรี ด้านบัญชีที่ University of Leeds และ ปริญญาโทด้านเศรษฐศาสตร์ที่ University of London ประเทศอังกฤษ
กลับมาทำงานที่กระทรวงพาณิชย์กับ ประยูร เถลิงศรี (ปัจจุบันเลขานุการกรรมการสภาหอการค้า) ช่วยกันร่างกฎหมายสิทธิบัตรขึ้นมา ทำงานได้ 6 เดือน ก็โอนมาอยู่สำนักงานวิชาการและวางแผนกระทรวงพัฒนา เพราะเห็นว่าเป็นกระทรวงใหม่ โอกาสที่จะแสดงผลงานดีมาก เข้ามาเป็นลูกน้อง ดร.อำนวย วีรวรรณ รับผิดชอบด้านพลังงานไฟฟ้า ชลประทาน ตลอดจนเรื่องราคาผลผลิต ตอนหลัง ดร.อำนวยไปเป็นเลขาธิการ BOI ก็ดึงคนจากกระทรวงพัฒนาไปช่วยหลายคนรวมทั้งชีระด้วย เพราะตอนนั้นสำนักงาน BOI เพิ่งตั้งได้ไม่นานจึงขาดคนมาก ตอนหลังยุบกระทรวงพัฒนาแล้ว พวกที่ถูกดึงไปชั่วคราวจึงย้ายไปอยู่เป็นการถาวร
ชีระเข้ามารับตำแหน่งวิทยากรพิเศษ ปี 2513 ได้เลื่อนเป็นรองเลขาฯ ระดับ 9 ปี 2519 เป็นรองเลขาฯ ระดับ 10 ปี 2522 ชีระเป็นรองเลขาฯ มาแล้วถึง 10 ปี นับอายุงานจริงที่ BOI ก็เกือบ 20 ปี กล่าวได้ว่าเขาโชกโชนกับงานที่นี่ไม่น้อยเลยทีเดียว นอกจากนั้นเขายังผ่านงานมาถึง 6 กระทรวง กอปรกับพี่ชายก็เป็นใหญ่เป็นโตในรัฐบาล ชีระจึงเป็นอีกคนหนึ่งที่มีสายสัมพันธ์มากพอสมควร
เมื่อเดชา บุญชูช่วย ขึ้นเป็นเลขาธิการ ในปี 2527 เขาเหลือเวลาอีก 2 ปี ก็จะเกษียณ มีรองเลขาฯ 2 คน คือ ชีระและสถาพร ซึ่งเดชาปล่อยให้ 2 คนนี้ บริหารกันอย่างเต็มที่ ให้ชีระคุมกองด้านปฏิบัติการ คือ กองวิเคราะห์โครงการ, กองสิทธิประโยชน์, กองตรวจสอบ ส่วนสถาพรให้คุมกองแผนงาน, กองเผยแพร่, กองพัฒนา
ทั้งสองคนโชว์ฝีมือกันเต็มที่ แต่ภาพที่ออกมาสู่สาธารณชน สถาพรจะโดดเด่นมากกว่าเพราะเขาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนบ่อย ไปร่วมสัมมนา อภิปรายอยู่เนืองๆ ซึ่งในแง่หนึ่งก็ตรงกับงานที่เขารับผิดชอบ กระนั้นก็มีบางคนค่อนขอดว่าเขาอยากดังและอยากโชว์ผลงาน เพื่อปูทางสู่ตำแหน่งเลขาฯ ส่วนชีระนั้นเขาทำงานเงียบๆ ค่อนข้าง Low Profile ด้วยซ้ำ แต่คน BOI รู้ว่าเขากุมงานที่เป็นหัวใจไว้ได้แทบทั้งหมด อำนาจแท้จริงอยู่ในมือชายผู้นี้
ตำแหน่งเลขาธิการ BOI เป็นระดับซี 11 เทียบเท่าปลัดกระทรวง เป็นตำแหน่งที่สำคัญมาก เพราะสามารถให้คุณให้โทษได้มาก โดยตำแหน่งแล้วจะต้องเป็นกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดใหญ่) ซึ่งมีนายกฯ เป็นประธาน และมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นรัฐมนตรี บอร์ดใหญ่ซึ่งประชุมเดือนละครั้ง ก็เกือบจะเหมือนการประชุม ครม. คนที่จะเป็นเลขาฯ ได้จะต้องได้รับความไว้วางใจจากนายกฯ
เมื่อทั้งสถาพรและชีระก็มีภาพว่ามีสายสัมพันธ์กับป๋าทั้งคู่ มันก็ขึ้นอยู่กับว่า ใครจะล็อบบี้ป๋าได้มากกว่า ในที่สุดป๋าเลือกชีระ เพราะมีความสมเหตุสมผลมากกว่า ชีระเป็นลูกหม้อเก่า อายุก็ 55 แล้ว กับสถาพรซึ่งเป็นคนหนุ่มไฟแรงอายุ 46 ด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิชีระเหนือกว่าแน่นอน
"คุณชีระได้ขึ้นนั้นเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง ถ้าสถาพรได้ตอนนั้นคงยุ่งยากมาก เพราะเป็นคนนอกมาใหม่ แรงต่อต้านจากคนในจะแรง" คน BOI วิเคราะห์
ชีระเคยทำงานกับเลขาฯ ตั้งแต่สมัย ดร.อำนวย ซึ่งเขาเรียนรู้จากผู้ใหญ่แต่ละคนไปไม่น้อย "ดร.อำนวย เด่นในการริเริ่มสร้างสรรค์ การให้เหตุผล วิธีการนำเสนอ ความคิดที่ก้าวหน้า คุณสมพรเป็นวิศวกร มีความคิดที่ชัดเจน (Precise) ไม่ใช่พูดกว้างๆ คลุมเครือ คุณชาญชัยเด่นด้านบุคลิกภาพ เดชาเด่นด้านการปกครองคน การที่ผมจบกฎหมาย, บัญชี, เศรษฐศาสตร์ แล้วต้องมาทำงานกับพวกวิศวะ ผมมองว่าเป็นการเสริมกันดี เพราะว่างานที่นี่ต้องการคนที่มีความรู้ที่ค่อนข้างหลากหลาย" ชีระกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
เมื่อชีระขึ้นสู่ตำแหน่งเลขาธิการ เขาประกาศนโยบายส่งเสริมการลงทุนในเชิงรุก คือเข้าหานักลงทุนมากขึ้น เพื่อประชาสัมพันธ์ถึงความน่าลงทุนของเมืองไทย "เรามุ่ง 2-3 อย่าง คือทำให้ความสนใจที่เขาจะออกมาจากประเทศเขา เน้นสภาวการณ์ที่ดีขึ้นในเมืองไทยให้เขารู้จักดีขึ้น เพราะว่าเราดีแต่เขาอาจจะไม่รู้ เขาก็อาจจะไม่มาก็ได้ ดังนั้น เราก็เน้นส่งเสริมความเข้าใจกับนักลงทุนต่างประเทศ โชคดีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้จัดสรรงบให้เป็นพิเศษ เป็นงบฟื้นฟู 50 ล้าน สำหรับใช้เผยแพร่บรรยากาศการลงทุน เพราะญี่ปุ่นเป็นแหล่งที่มี Potential สูง ขณะเดียวกันก็มุ่งสู่ยุโรปด้วยซึ่งรู้จักเราน้อย ในญี่ปุ่นเราระดมจัดสัมมนาหลายครั้ง จัดพิมพ์เอกสาร จัดนักข่าวทีวีให้มาเห็นสภาพที่แท้จริงของไทย จัด Mission หลายครั้ง ใช้ทุน 30 ล้าน" ชีระกล่าว
ตลอดปี 2530 มีนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ แห่มาลงทุนเป็นจำนวนมาก การขอรับการส่งเสริมก็มีมากขึ้นด้วยเช่นกัน ดูจากตารางแสดงภาวะการลงทุน โครงการที่ขอรับการส่งเสริมปี 2529 มี 431 โครงการ แต่ปี 2530 จำนวนขึ้นไปถึง 1,057 โครงการ ซึ่งนับว่ามากเป็นประวัติการณ์
การที่การลงทุน "บูม" มากในปีที่แล้ว ปัจจัยคือ การแข็งตัวของค่าเงินเยน และปัญหาภายในของทางประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน เช่น ไต้หวัน ซึ่งประเทศไทยเองก็ได้รับการยอมรับจากนักลงทุนมากกว่าชาติอื่นในอาเซียนด้วยกัน ซึ่งดูจากการจัดอันดับของนิตยสารฟอร์จูน มีนาคม 2531 (โปรดดู How The Countries of The Pacific Rim Stack Up)
เมื่อมีคนแห่มาลงทุนกันมากมาย คำถามก็คือ หน่วยงานราชการอย่าง BOI ซึ่งจะต้องเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจว่าจะให้โครงการต่างๆ ได้รับการส่งเสริมหรือไม่ ตลอดจนให้ความสะดวกต่างๆ กับนักลงทุน มีศักยภาพขนาดไหน สามารถรองรับกระแสการลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่? คำตอบคงหาได้จากการลงไปดูโครงสร้างการทำงานของ BOI และสไตล์การบริหารของผู้นำที่นั่น
จากแผนภูมิการแบ่งส่วนราชการ (ดูแผนภูมิที่ 1) จะเห็นว่าต้นสังกัดของ BOI คือสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งแบ่งออกเป็นคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดใหญ่) นายกฯ เป็นประธาน มีคณะอนุกรรมการซึ่งมาจากหน่วยงานต่างๆ 10 ชุด กับอีกส่วนหนึ่งคือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งมี ชีระ ภาณุพงศ์ เป็นเลขาธิการ มีรองเลขาฯ 2 คน และผู้ช่วยเลขาฯ อีก 2 คน ดูแลกองต่างๆ 8 กอง กับหน่วยงานที่ตั้งเพิ่มเป็นการภายในคือกองต่างประเทศ และหน่วยเฉพาะกิจ (ดูแผนภูมิที่ 2)
โดยสรุปแล้วงานกองต่างๆ แบ่งได้เป็น 3 ส่วน
ส่วนที่ 1 Generate Project กองเผยแพร่, กองต่างประเทศ
ส่วนที่ 2 Serve Project กองวิเคราะห์โครงการ, กองสิทธิประโยชน์, หน่วยเฉพาะกิจ, ศูนย์บริการลงทุน
ส่วนที่ 3 Think Thank กองแผนงาน, กองพัฒนาโครงการ
ช่วงที่ชีระขึ้นสู่อำนาจใหม่ๆ เขาไม่ได้มีการแบ่งงานและมอบหมายความรับผิดชอบกองใดกองหนึ่งกับใครอย่างเป็นทางการ ชีระให้เหตุผลว่าต้องการศึกษางาน และพิจารณาคุณสมบัติของคนให้เหมาะสมกับงาน ช่วงแรกจึงเป็นว่าใครเคยรับผิดชอบงานอะไรอยู่ก็ทำไปและมีการให้งานเป็นชิ้น กว่าที่ชีระจะคิดตกและมีหนังสือมอบหมายอย่างเป็นทางการก็เข้าไป 9 ธันวาคม 2530
รองเลขาฯ สถาพร รับผิดชอบกองวิเคราะห์, กองเผยแพร่, กองต่างประเทศ
รองเลขาฯ วาณี รับผิดชอบกองพัฒนาโครงการ, ศูนย์บริการ, กองแผนงาน
ผู้ช่วยเลขาทั้งสองคน คือ จักรชัย พาณิชพัฒน์ และเปรมศรี เกตุพงศ์ ไม่ได้รับมอบหมายให้ดูแลกองใดกองหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งเป็นพิเศษ คอยรับคำสั่งเป็นงานๆ ไปจากชีระโดยตรง
ส่วนชีระเองดูกองสิทธิประโยชน์, กองตรวจสอบ, หน่วยเฉพาะกิจ และเลขานุการกรม
การแบ่งงานดังกล่าวมีข้อสังเกต 3 ประการ ประการแรก ชีระยังคงกุมหน่วยงานที่เป็นหัวใจแทบทั้งหมด ซึ่งจะเห็นว่าแต่ละกองนั้น เป็นกองที่จะต้องตัดสินใจ (Make Dicision) มีลักษณะเป็นกองที่แสวงหาผลประโยชน์ได้ เหตุผลส่วนหนึ่งที่ชีระให้กับ "ผู้จัดการ" คือ งานบางอย่างเช่นกองสิทธิและประโยชน์ซึ่งเป็นงานที่ค่อนข้างละเอียดซับซ้อนนั้น รองเลขาฯ ทั้งสองยังไม่เคยจับ แต่เหตุผลในส่วนลึกอาจจะเป็นเพราะอาจจะไม่ไว้วางใจคนอื่นก็ได้
ประการที่ 2 ลักษณะการมอบอำนาจไม่เด็ดขาด ยังขยักอำนาจบางส่วนไว้ ตัวอย่างเล็กๆ อันหนึ่งจากคำสั่งที่ 135/2530 เรื่องมอบอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติราชการ ข้อที่ 1.14 สำหรับสถาพร และข้อ 1.11 สำหรับวาณี "อนุญาตการลาของข้าราชการ และลูกจ้างในกองที่ดูแลรับผิดชอบ ยกเว้น การลาของผู้อำนวยการกอง การลาศึกษา และการลาไปต่างประเทศของข้าราชการระดับ 6 ขึ้นไป" ซึ่งตามระเบียบราชการโดยทั่วไป ผู้บังคับบัญชาสามารถมอบหมายไปได้ทั้งหมดเลย โดยไม่ต้องมีข้อยกเว้นไว้ และเลขาฯ มีสิทธิที่จะดึงงานบางส่วนที่สามารถทำตามโครงสร้างปกติมาดูแลเองได้ในกรณีที่เห็นชัดคือ ดึงงานปิโตรเคมี 2 มาให้หน่วยพิเศษซึ่งชีระเพิ่งตั้งขึ้นมาต้นปี
ประการที่ 3 ตำแหน่งผู้ช่วยเลขาฯ นั้นแต่เดิมไม่มี แต่เมื่อ กพ. (คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) เข้ามาศึกษาอัตรากำลังคนและทำแผน 3 ปีนั้น ก.ก.เห็นควรให้ตำแหน่งผู้ช่วย 2 อัตรา เพื่อมาดูแล 2 เรื่องใหญ่ๆ ที่กพ.คิดว่ายังขาดคนดูแล คือเมื่อ BOI อนุมัติให้การส่งเสริมไปแล้ว แต่มีผู้ลงทุนจำนวนไม่น้อยไม่ได้ทำการลงทุน ซึ่งมีถึง 30-40% ในแต่ละปี ซึ่งกพ.สงสัยว่าอาจจะไม่อยากเปิดดำเนินการจริงแต่ขอกันคนอื่นไว้ หรืออาจจะเป็นเพราะระเบียบของ BOI เองที่เป็นอุปสรรค กพ.ต้องการให้มีคนติดตาม อีกเรื่องคือการพัฒนาโครงการ เพื่อจะได้บอกนักลงทุนได้ว่าในช่วงนี้ควรจะลงทุนอะไร ตลาดเป็นอย่างไรเป็นแบบไหน?
ผู้ช่วยทั้งสองคนไม่ได้ทำงานตามที่กพ.ปรารถนา เพราะชีระให้เหตุผลว่า "งานเฉพาะหน้าที่ทำอยู่ก็ล้นมืออยู่แล้ว และงานอย่างนี้ไม่ใช่ผู้ช่วยคนเดียวทำได้เมื่อไหร่ การที่จะแก้ตรงนั้นได้ต้องอาศัยทั้งคนและระบบ อัตรากำลังคนที่ได้เพิ่มก็ยังไม่มีเงินบรรจุ (กพ.เป็นผู้อนุมัติอัตรากำลังคน แต่ผู้อนุมัติงบประมาณคือสำนักงบประมาณ) ที่มัน Drop Out ไปประมาณ 30% อาจจะเป็นเพราะ เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป ตอนนั้นให้ส่งเสริมไปในขณะที่เศรษฐกิจซบเซา บางรายอาจหาเงินทุน, เทคโนโลยี, ผู้ร่วมทุนไม่ได้ ซึ่งผมรู้สึกว่าอัตรา Drop Out มันน้อยลงไปในปัจจุบัน"
ชีระเป็นลูกหม้อที่อยู่มานานเกือบ 20 ปี เขามีส่วนอย่างสำคัญในการร่างกฎหมายฉบับต่างๆ ของ BOI โดยเฉพาะล่าสุดกฎหมายส่งเสริมการลงทุนปี 2520 เขาจึงเชื่อว่าตัวเองรู้จักงานและคนที่นี่เป็นอย่างดี (ซึ่งอันที่จริงหน่วยงานนี้ก็ไม่ใหญ่โตอะไร มีคน 200 กว่าคนเท่านั้น ก็แทบจะรู้จักกันหมด) ชีระจึงเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเองสูงมากๆ ซึ่งในด้านกลับก็คือ ไม่ค่อยเห็นถึงความสามารถของคนอื่น และความที่เขาเป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยสุงสิงหรือมีมนุษยสัมพันธ์กับใครมากนัก หลายคนจึงกล่าวว่าเขาเป็นคนค่อนข้าง Introvert
ความที่ชีระเป็นคนเชื่อมั่นในตัวเองสูงมากๆ สไตล์การทำงานของเขาจึงมีลักษณะ Autocrat (อัตตาธิปไตย) ชีระเป็นคนที่ยึดตัวบุคคล ถ้าเขาเห็นว่าใครมีฝีมือก็จะใช้แต่คนนั้น ซึ่งก็มีอยู่เพียง 2 คน ที่ถูกเรียกใช้บ่อย ทั้งสองคนถูกจัดวางอยู่ในตำแหน่งสำคัญๆ ที่เป็นหัวใจ เมื่อรวมกับความรับผิดชอบในส่วนของชีระเข้าไปด้วย อำนาจจึงรวมศูนย์อยู่ที่คน 3 คนนี้ ซึ่งคน BOI เรียกว่า "แก๊ง 3 เสือ" อาณาจักรที่ถูกสถาปนาขึ้นมาแล้วในหน่วยงานราชการแห่งนี้
โสฬส งามวงศ์วาน หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจ เจ้าหน้าที่ระดับ 7 เรียนจบประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร และปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มเข้าทำงานกองวิเคราะห์และอยู่มาตลอด จนกระทั่งชีระตั้งหน่วยเฉพาะกิจขึ้นมา จึงแต่งตั้งโสฬสขึ้นเป็นหัวหน้าหน่วย ซึ่งการก้าวขึ้นมาคุมหน่วยงานสำคัญนี้ได้ ด้วยแรงหนุนเริ่มแรกจาก ปราณี ยศสินธุ์ ซึ่งขณะนั้นเธอเป็นผู้อำนวยการกองวิเคราะห์โครงการ ส่วนชีระเป็นรองเลขาฯ ที่รับผิดชอบกองนี้ ชีระกับโสฬสจึงมีสายสัมพันธ์กันแต่นั้น ซึ่งนับวันจะลึกซึ้งยิ่งขึ้นทุกที
โสฬส เป็นคนที่ผู้ใหญ่รักและไว้วางใจ นอกจากความคล่องแคล่วในการทำงานแล้ว เขาเป็นคนที่กล้าทำในสิ่งที่หลายคนไม่กล้า โดยเฉพาะการ Approach กับพ่อค้า
วีระ นาควัชระ น้องชายจิตแพทย์ชื่อดัง วิทยา นาควัชระ เรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ (ไฟฟ้า) จากจุฬาฯ ปริญญาโทวิศวกรรมศาสตร์ (อุตสาหการ) อเมริกา เป็นลูกหม้อ BOI เข้าทำงานที่นี่ปี 2514 เริ่มที่กองสิทธิประโยชน์ 4 ปี แล้วย้ายไปกองตรวจสอบ 2 ปี กลับมากองสิทธิประโยชน์อีกครั้งจนได้เป็นผู้อำนวยการในปัจจุบัน เบื้องหลังการขึ้นสู่อำนาจนั้น เพราะได้รับแรงหนุนจาก จักรพันธ์ ยศสินธุ์ ซึ่งเป็นผอ.ศูนย์บริการลงทุน และปราณี ยศสินธุ์ (ภรรยาจักรพันธ์) โดยอาศัยโสฬส งามวงศ์วาน เป็นหัวหอกเจาะเข้าหาเลขาธิการ
วีระนั้นหลายคนกล่าวว่าเขาเป็นคนสุขุม ลุ่มลึก มีมนุษยสัมพันธ์ดี แต่บางคนบอกว่า เขาเป็นคนประเภทที่มีจิตใจที่ยากจะหยั่งถึง (จักรพันธ์-ปราณี คงซาบซึ้งใจในข้อนี้ดี) และรู้สึกว่าเขาจะประทับใจกับทฤษฎี Devide and Rule
วีระคุมกองสิทธิและประโยชน์ ซึ่งเป็นกองที่สำคัญพอๆ กับกองวิเคราะห์โครงการ
วีระและโสฬสคือมือซ้ายขวาของชีระในปฏิบัติการอันครบวงจร (อ่าน BOI แดนสนธยา...แดนผลประโยชน์)
"หน่วยเฉพาะกิจ" เป็นหน่วยงานที่ชีระเป็นผู้จัดตั้งขึ้นมา เพื่อแบ่งเบาภาระของกองวิเคราะห์โครงการที่ต้องรับมือกับโครงการที่มีผู้ขอรับการส่งเสริมอย่างมากมาย เมื่อปี 2530 หน่วยนี้มีหน้าที่ 2 ส่วน คือ วิเคราะห์โครงการที่มีวงเงินลงทุนไม่เกิน 20 ล้าน โดยที่เลขาฯ เซ็นอนุมัติได้เลยโดยไม่ต้องผ่านบอร์ดเล็ก และอีกส่วนเป็นโครงการใหญ่ๆ ที่เลขาฯ เห็นว่าควรจะให้หน่วยนี้ทำแล้วเสนอเลขาฯ และคณะกรรมการเป็นลำดับไป
การตั้งหน่วยเฉพาะกิจก็เหมือนกับการตั้งกองวิเคราะห์โครงการขึ้นมาอีกกองหนึ่งเป็นอิสระจากสายงานเดิม โดยมีเจ้าหน้าที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กใหม่ 5-6 คน หน่วยงานนี้ดูเหมือนจะคล่องตัว การวิเคราะห์โครงการต่ำกว่า 20 ล้าน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีปัญหายุ่งยาก แต่การที่ให้คนกลุ่มเดียวกันแบกรับโครงการใหญ่ๆ อย่างโครงการปิโตรเคมี ซึ่งค่อนข้างยุ่งยากและซับซ้อนซึ่งต้องการอาศัยทีมงานที่มีประสบการณ์มากๆ ทำกันอย่างเป็นระบบและจริงจัง กลับให้เด็กใหม่ซึ่งเตรียมไว้สำหรับงานง่ายมาทำ ซึ่งมันขัดกันอยู่ในตัว นี่ยังไม่กล่าวถึงการทำงานที่มีลักษณะปิดลับ รู้กันไม่กี่คนในกรณีปิโตรเคมี 2
หน่วยเฉพาะกิจนั้นมีข้อดีที่ความคล่องตัวในการทำงาน แต่ก็ถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องอำนาจที่เพิ่มขึ้นของเลขาฯ และบริษัทบริวาร กับปัญหาเรื่องประสิทธิภาพซึ่งกรณีรูปธรรมที่สะท้อนอย่างชัดเจนในปิโตรเคมี 2 (อ่าน NPC-2 ละครผิดบทของ BOIฯ)
ในขั้นตอนของการส่งเสริมการลงทุนเมื่อโครงการได้รับอนุมัติแล้ว ก็จะเป็นการออกบัตรส่งเสริมการลงทุน ซึ่งจะมีรายละเอียดสิทธิประโยชน์ ตลอดจนเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งตามระบบงานแล้ว คนที่ควรจะเป็นผู้กลั่นกรองเรื่องนี้คือสำนักเลขานุการกรม แต่ชีระกลับมอบหมายให้โสฬสเป็นผู้ดูครั้งสุดท้าย ก่อนที่ชีระจะเซ็น ทั้งนี้รวมไปถึงการพิจารณามติหรือเรื่องสำคัญต่างๆ ก่อนจะถึงมือชีระก็ต้องผ่านโสฬสก่อน
"ดูแล้วเป็นเรื่องน่าประหลาดใจมาก หลายกรณีเรื่องที่ผู้อำนวยการกองซึ่งซี 8 จะส่งเรื่องตรงไปให้ชีระเซ็นไม่ได้ ต้องให้ซี 7 อย่างโสฬสดูก่อน ถ้าไม่ผ่านถือว่ายังไม่ Approve ซึ่งไม่ได้บริหารงานตามขั้นตอน ผู้อำนวยการกองหลายคนก็อึดอัด และโสฬสเขาก็บ่นว่างานหนัก และกลัวคนเขม่น" แหล่งข่าววิจารณ์
เรื่องนี้ชี้ได้ชัดเจนว่า ชีระยึดติดในตัวบุคคลมาก โสฬสจึงเป็นคนที่มีปริมาณงานมากและมีอำนาจมากด้วย ปัญหาคืองานมาเทกองอยู่ที่โสฬสมากแทนที่จะกระจายกันไป ถ้าโสฬสซึ่งงานล้นมืองานก็ย่อมจะช้า อาจจะเกิดความเสียหายต่อส่วนรวม และอาจจะเกิดข้อครหาได้ว่าเป็น "จุดคอขวด" ที่มีช่องทางหาผลประโยชน์ได้ ทั้งๆ ที่อาจจะทำงานด้วยความสุจริตใจ
ปกติผู้บริหารระดับสูงมักจะพูดเรื่องนโยบายและเรื่องหลักๆ เท่านั้น แต่ชีระเป็นคนแปลกที่ให้ความสำคัญกับงานที่ลงรายละเอียดมากๆ และปล่อยให้ระดับรองฯ เล่นเรื่องนโยบาย
สิ่งที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนมากๆ จากแผนภูมิที่จะพบว่ามีคณะอนุกรรมการอยู่ 10 ชุด ซึ่งจริงๆ แล้วมีคณะอนุกรรมการที่สำคัญอยู่ 5 ชุด กล่าวคือ
1. คณะอนุกรรมการสิทธิประโยชน์ด้านสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอากร
2. คณะอนุกรรมการสิทธิและประโยชน์ด้านช่างฝีมือและผู้ชำนาญการ
3. คณะอนุกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการส่งออก
4. คณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรองการอุทธรณ์
5. คณะอนุกรรมการสิทธิและประโยชน์ด้านเครื่องจักร วัตถุดิบและวัสดุจำเป็น
4 อนุกรรมการแรกเป็นการพิจารณาในแง่นโยบาย ซึ่งมีการประชุมกันเพียงเดือนละประมาณหนึ่งครั้ง ซึ่งชุดที่ 1 และ 3 ชีระมอบให้สถาพร, ชุดที่ 2 ให้วาณี, ชุดที่ 4 ให้เปรมศรี, ชุดที่ 5 ชีระเป็นประธานเอง
คณะอนุกรรมการสิทธิประโยชน์และเครื่องจักร วัตถุดิบและวัสดุจำเป็น เนื้อหาของงานคือการพิจารณารายละเอียดสิ่งของดังกล่าวทุกชิ้นที่ได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าในแต่ละวันซึ่งมีจำนวนมากมาย คณะอนุกรรมการชุดนี้ต้องประชุมกันทุกวันเพื่อลงมติอนุมัติและทำเป็นหนังสือให้ มีการประชุมกันทุกวันตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 10 โมง หรือบางทีเลยไปถึงเที่ยงวันก็มี
ถ้าคุณผ่านไปที่ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ เยื้องซอยอารีย์ แล้วเห็นรถมอเตอร์ไซค์จอดอยู่เต็มไปหมด ก็อย่าแปลกใจเลยเพราะเกือบครึ่งเป็นพนักงานที่มารอรับใบอนุญาตจาก BOI เพื่อไปออกของ
คณะอนุกรรมการประกอบด้วย 5 คน คือ ชีระเป็นประธาน มีวีระ นาควัชระ ในฐานะ ผอ.กองสิทธิประโยชน์, พรชัย ตุลยธัญ ผอ.กองตรวจสอบ, โอวาท ศรศึก เจ้าหน้าที่จากกรมศุลกากร และโสฬส งามวงศ์วาน เป็นผู้ช่วยซึ่งประธานเลือกเข้าไป
จากรายชื่อกรรมการมีเพียงพรชัยเท่านั้นที่ขัดแย้งกับชีระและวีระอยู่บ่อยๆ และโอวาทซึ่งความจริงเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับพรชัย แต่ตอนหลังดูเหมือนว่าโอวาทจะโอนเอียงไปทางวีระมากกว่า ซึ่งคะแนนเสียงในการพิจารณาในแต่ละครั้ง 4 ใน 5 เป็นคนที่มีความสัมพันธ์กันแนบแน่น การลงมติให้อนุมัติผ่านจึงไม่ใช่เรื่องยากเย็นเพียงแต่บางกรณีก็มีความเห็นขัดแย้งกันบ้างพอเป็นกระษัยยา หรือขึ้นอยู่กับว่ามีใครมาล็อบบี้กรรมการ แต่ต้องอย่าลืมว่ากรรมการทุกคนมีภารกิจของตัวเองที่ทำประจำอยู่เต็มมือ มีงานเฉพาะหน้าและมีเหตุที่ทำให้ต้องไปต่างประเทศกันบ่อย โดยเฉพาะท่านเลขาฯ ย่อมมีผลกระทบถึงการประชุมเป็นธรรมดา
แต่อย่างไรก็ตามการออกหนังสืออนุมัติให้ไปออกของที่ท่าเรือ ก็ยังมีความล่าช้าอยู่มาก ดังบริษัทหนึ่งซึ่งกำลังหัวเสียอย่างมากกับ BOI ระบายให้ "ผู้จัดการ" ฟังอย่างเหลืออด
"การพิจารณายกเว้นภาษีนำเข้า เครื่องจักร วัตถุดิบช้า จะมีผลกระทบต่อความแออัดของท่าเรือด้วยอย่างมาก เนื่องจากไม่สามารถ Clear ของออกได้ ต้องกองไว้ ขณะที่กองสิทธิประโยชน์และอนุกรรมการพิจารณาช้ามาก ของผมยื่นไปแล้วเดือนกว่ายังไม่ได้เลย ซึ่งผมเสียหายมาก และก่อให้เกิดการคั่งค้างสินค้าในท่าเรือแบบสะสมมากขึ้น เพราะปริมาณนำเข้าสินค้าสูงขึ้นจากการมาลงทุนกันมากขึ้น และทางกองสิทธิมีหลักเกณฑ์ว่า หากออกบัตรส่งเสริมแล้ว ผู้ได้รับการส่งเสริมจะขอใช้ธนาคารค้ำประกันภาษีอากรเพื่อเอาของออกไปก่อนไม่ได้ ต้องรอการพิจารณาจาก BOI เท่านั้น ซึ่งผมเห็นว่าระบบที่เป็นอยู่นี้แย่มากเลย"
มีข้อสังเกตว่าระหว่างการทำงานระดับนโยบายอย่างคณะอนุกรรมการ 4 ชุดแรก กับงานปฏิบัติการอย่างคณะอนุกรรมการสิทธิฯ ทำไมชีระเลือกอย่างหลัง ซึ่งอาจพิจารณาได้ 2 ประเด็น คือ ชีระต้องการกุมอำนาจในการตัดสินใจไว้ที่กลุ่มของเขาทั้งหมด หรือ ชีระอาจจะไม่ไว้วางใจคนอื่น เกรงว่าจะเกิดความเสียหายเพราะรู้อยู่แก่ใจดีว่าตรงจุดนี้มีผลประโยชน์มากมายมหาศาล
"มันเกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการ และความที่ผมมั่นใจต่อคนๆ นั้น เพราะมันเป็นเรื่องผลประโยชน์พอสมควร อย่างการจะอนุมัติเครื่องจักรหรือไม่มันต้องมีหลักเกณฑ์ที่สม่ำเสมอพอสมควร ซึ่งมันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยุ่งยาก ผมพยายาม Put Order ระเบียบลงในการพิจารณาพอสมควรแทนที่จะใช้ดุลยพินิจว่าจะอนุมัติหรือไม่ ผมคิดว่าผมปรับปรุงและสร้างหลักเกณฑ์ที่มันชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ที่ไม่มอบให้รองเลขาฯ ทั้ง 2 เพราะเขายังไม่เคยจับงานด้านนี้ และจริงๆ แล้วผมก็ไม่ทิ้งงานนโยบายผมก็ยังทำอยู่ ทุกวันนี้ผมมาทำงานก่อน 7.30 น." ชีระอธิบาย
ดูจากสูตรการทำงานของชีระ "ผู้จัดการ" อยากตั้งข้อสังเกตหลายอย่างว่าสไตล์ความคิดและการบริหารแบบชีระมีโอกาสก่อให้เกิดผลกระทบต่อองค์กรอย่าง BOI โดยส่วนรวมอย่างไรบ้าง?
ประเด็นที่ 1 "Deligation of Authority" การที่ชีระไม่กระจายอำนาจอย่างแท้จริง ทำให้ผู้บริหารระดับรองๆ ลงมาไม่ได้ใช้ศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ สิ่งที่คน BOI พูดกันก็คือรองเลขาฯ สถาพรและรองเลขาฯ วาณีถูกแขวน สถาพรก็เลยไปเรียน วปอ. (วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร) แก้เซ็ง ส่วนวาณีก็ได้คุมกองที่ไม่มีความสำคัญอะไร อยู่ไปเรื่อยๆ รอเกษียณพร้อมชีระ
ประเด็นที่ 2 ปัญหาเรื่องกำลังคน เป็นปัญหาที่ดูดกันมากว่ากระเสการขอส่งเสริมการลงทุนเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตัว แต่กำลังคนของ BOI เพิ่มขึ้นน้อยมาก ซึ่งตรงนี้ทั้งสถาพรและชีระอธิบายว่า มันเป็นปัญหาของระบบราชการ "เรามีปัญหาเรื่องการจัดสรรกำลังคนให้เหมาะสมกับงาน ในด้านกำลังคนก็ต้องไปที่ กพ. ในด้านการเงินก็ต้องไปสำนักงบประมาณด้านโครงการก็ต้องไปสภาพัฒน์ ผมคิดว่าประเด็นการจัดการของเราในขณะนี้ Speed ความรวดเร็วของความต้องการที่เพิ่มขึ้นไม่ได้สัดส่วนกับคำขอส่งเสริมที่เพิ่มมากเหลือเกิน เราได้อัตราประมาณ 100 คน แต่เราได้เพิ่มจริงๆ 30 คน เนื่องจากระบบราชการให้เพิ่มได้ไม่เกินร้อยละ 2 เป็นนโยบายไม่อยากเพิ่มกำบังคนของราชการ"
ประเด็นนี้มีข้อโต้แย้งจากแหล่งข่าวระดับสูงใน BOI ว่าเขาไม่เห็นด้วยกับปัญหานี้ทั้งหมดทีเดียว "ผมว่ามันอยู่ที่ Management Style ของผู้บริหารสูงสุดที่จะรู้จัก Delegate งานออกมา ไม่ใช่ไว้ใจใครบางคน บางกลุ่มก็ใช้อยู่นั่น โดยไม่สนใจคนกลุ่มอื่น หรือหน่วยอื่น คนที่ไม่ถูกใช้งานมีเยอะไป ไม่เชื่อคุณลองไม่สังเกตดูกองแผนงาน กับกองพัฒนาโครงการวันๆ แทบจะนั่งตบยุง เพราะไม่มีอะไรจะทำ 3 โมงครึ่งบางคนก็กลับแล้ว แม้แต่ผอ.กองแผนงาน ซึ่งเป็นลูกหม้อ BOI เคยรุ่งเรืองในยุคเลขาฯสมพร ปกติเป็นคนเด็ดเดี่ยว แข็งขัน กล้าชน ปัจจุบันเกิดความท้อแท้ อยู่ไปวันๆเพราะไม่ค่อยมีอะไรทำ โดยสรุปผมเห็นว่าถ้าเราใช้กำลังคนที่มีทุกส่วนอย่างเหมาะสมมีประสิทธิภาพและปราศจากอติ ผมคิดว่าไม่ต้องเพิ่มกำลังคนด้วยซ้ำ"
ประเด็นที่ 3 ปัญหาความคิด-ความเชื่อ และการจัดลำดับความสำคัญของหน่วยงานชีระให้ความสำคัญกับหน่วยงานหัวใจคือกองวิเคราะห์ กองสิทธิและประโยชน์กับกองตรวจสอบ ซึ่งเป็นงานด้านปฏิบัติการทั้งสิ้น ผลก็คือบางกองไม่ได้รับความสนใจ เวลามีการเสนอเรื่องเพื่อการตัดสินใจก็ไม่ได้รับความสะดวกเท่าที่ควร นอกจากกองแผนงานที่กล่าวไปแล้ว ที่ถูกละเลยมากคือกองพัฒนาโครงการ
กองนี้คน BOI บอก "ผู้จัดการ" ว่าที่นี่เป็น "สุสาน" ไว้ฝังข้าราชการ BOI ทั้งๆ ที่น่าจะเป็นกองที่สำคัญที่สุดกองหนึ่งเพราะมีหน้าที่รับผิดขอบด้านการศึกษาค้นคว้า และชี้แนะช่องทางการลงทุนเพื่อประโยชน์ในการกำหนดแนวทางส่งเสริมการลงทุนในระดับที่มีความแน่นอนของโครงการและเพื่อประโยชน์ในการชักจูงให้มีการลงทุนในกิจการนั้นๆ "คุณชีระมีอคติกับกองนี้มาตั้งแต่สมัยคุณสมพรตั้งขึ้นมา จึงไม่ให้ความสนใจ ผอ.กองนี้คือวิจารณ์ ขวัญจันทร์ ผอ.กองนี้เป็นคนสุขุมรอบคอบเป็นนักวิชาการเต็มตัว แต่บริหารงานไม่เป็น และขี้เกรงใจจึงเป็นช่องทางให้ผู้ที่เคยอยู่ระดับต่ำกว่ากลั่นแกล้งตลอด ล่าสุดโดนย้ายมาอยู่กองพัฒนาโครงการ"
ผู้บริหารระดับสูงคนหนึ่งของ BOI แสดงความเห็นว่า "หน่วยงานส่งเสริมการลงทุน ที่เป็นหัวใจคืองานเผยแพร่ งานวางแผนงานพัฒนาโครงการ ทั้ง 3 อันนี้เป็นหัวใจ ส่วนกองวิเคราะห์ กองสิทธิ ศูนย์บริการลงทุนเป็นแขนขา ทัพหลังคือกองตรวจสอบ ผมคิดว่าควรจะต้องจัดลำดับความสำคัญอย่างนี้
ประเด็นที่ 4 เรื่องขวัญและกำลังใจของคน BOI ความจริงยุคบูมของการขอรับการส่งเสริมการลงทุน ทุกคนก็ทำงานหนักกัน รางวัลที่ได้จากการทำงานก็น่าจะมีบ้าง แต่ดูเหมือนชีระจะละเลยปัญหาไป เช่น ตำแหน่งที่ว่างหลายอัตรา ในระดับซี 6 ซึ่งควรจะแต่งตั้งคนที่อยู่ซี 5 ขึ้นไป แต่ชีระบอก "ผู้จัดการ" ว่าถ้าแต่งตั้งคนที่คุณสมบัติไม่ถึงขึ้นไปก็ทำงานไม่ได้ (เพิ่งตั้งซี 6 เพิ่มอีก 6-7 อัตราหลังจากเกิดกรณี NPC-2 ซึ่งมันสะท้อน 2 ลักษณะคือคน BOI คุณภาพถึง หรือชีระมาตรฐานสูงเกินไป แต่ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลข้อไหนความรู้สึกของคน BOI เท่าที่ "ผู้จัดการ" สอบถามมาปรากฏว่าขวัญและกำลังใจไม่ค่อยดีนัก ความรู้สึกว่าไม่ได้ในสิ่งที่ควรจะได้ (อีกกรณีที่เห็นได้ชัด คือ สมพงษ์ วนาภา ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจที่ญี่ปุ่น ซึ่งมีผลงานมากมาย แต่ยังอยู่ที่ระดับ 7 ขณะที่สำนักงานตัวแทนที่อื่นมีผลงานน้อยกว่า แต่กลับได้ระดับ 8 ข่าวว่า สมพงษ์ ออกจะท้อแท้)
ระยะผ่านแต่ละยุคสมัยของ BOI หากยังไม่สามารถเคลียร์ปัญหาต่างๆ ที่หมักหมมอยู่ให้หมดไปได้ หน่วยงานแห่งนี้คงเหมือน คนไข้นอนรอวันตาย และถ้าวัดการปฏิบัติของผู้นำจะสะท้อนหรือบอกทิศทางเดินขององค์กรได้เป็นอย่างดี
ก็ยังไม่สายเกินไปที่ผู้มีอำนาจทั้งหมดจะพึงสำนึก...
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|