|

ยุบสภาถึงอีสเทิร์นซีบอร์ด ไอ้เข้ (ต้อง) ร้องไห้ จิ้งจก (อาจ) หัวเราะ
โดย
ไพโรจน์ จันทรนิมิ
นิตยสารผู้จัดการ( พฤษภาคม 2531)
กลับสู่หน้าหลัก
พลันที่มีการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 29 เมษายน การเคลื่อนไหวที่กำลังคึกคักกระปรี้กระเปร่าของโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดเสมือนหนึ่งเดินทางมาถึงทางสองแพร่งในบัดดล
การเมืองเรื่องยุบสภาบังเอิญต้องให้มาเกี่ยวพันกับโครงการนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะอนาคตโครงการนี้จะออกมาในรูปใดนั้นสัมพันธ์ไปถึงรัฐบาลที่จะพาเหรดเข้ามาบริหารประเทศหลังการเลือกตั้งวันที่ 24 กรกฎาคม เป็นผู้ชี้ขาด
เป็นที่รับทราบกันโดยทั่วไปว่า รัฐบาลที่สนับสนุนและผลักดันทุกวิถีทาง ทำได้แม้แต่การผ่าทางตันของระบบเศรษฐกิจในปี 2528 เพื่อที่จะให้โครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดคลอดออกมานั้นคือรัฐบาลที่มีพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี
แหล่งข่าววงในกล่าวว่า ป๋าเปรมและทีมงมนที่รับผิดชอบโครงการนี้มีความปลื้มปีติเหลือล้นที่เห็นโครงการนี้ทำท่าว่าจะไปได้สวยหลังจากที่ป๋าได้ไปวางศิลาจาฤกษ์โครงการปิโตรเคมี 1 เมื่อปลายปีที่แล้ว
แม้โดยหลักการรวมแล้ว โครงการนี้จะเป็นประติมากรรมชิ้นเอก ทว่ายังไม่อาจมั่นใจได้นักว่า สมมุติได้รัฐบาลใหม่ที่ไม่ได้มีป๋าเปรมเป็นหัวหน้าขบวนนั้นรัฐบาลชุดใหม่จะยอมรับแผนปฏิบัติการที่วางเอาไว้แล้วมากน้อยเพียงใด อย่างน้อยที่สุดคงมีการตกแต่งหรือดัดแปลงอะไรบ้างเล็กน้อย
ซึ่งสร้างความกระอักกระอ่วนใจแก่บรรดาลูก ๆ ของป๋าที่เป็นข้าราชการประจำ และมีหน้าที่โดยตรงกับโครงการนี้มากทีเดียว แต่ถ้าป๋ายังมีกิเลสตัณหาได้กลับมานั่งเก้าอี้ตัวโปรดอีกครั้ง โครงการนี้ก็คงเดินหน้าลุยโดยไม่มีอุปสรรคใด ๆ มากั้นขวาง
ไหน ๆ ก็ผลุบ ๆ โผล่ ๆ จนเป็นรูปเป็นร่างแล้ว อย่าให้มีอันต้องกระเจิดกระเจิงอีกเลย!!
แต่ที่แน่ ๆ ผลของการยุบสภาเที่ยวนี้ยังผลให้พรรคการเมืองและนักการเมืองที่หวังตักตวงผลประโยชน์จากการซื้อขายที่ดินเพื่อโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดมีอันต้องล้มฟาดคะมำหงายกันไปตาม ๆ กัน เผลอไผลถ้าไม่ได้กลับมากินตำแหน่งเดิม งานนี้อาจเป็นเรื่องเจ็บตัวฟรีก็เป็นได้
การสนองรับโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดให้เป็นจริงหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสูงก็คือการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ซึ่งต้องทำหน้าที่บุกเบิกพื้นที่นับหมื่นไร่สนองโครงการนี้ กนอ. หลังยุคอดีตผู้ว่าเจ้าปัญหาวันจักร วรดิลก เป็นช่วงเวลาที่การเวนคืนที่ดินเพื่อโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดได้เกิดขึ้น
กนอ.ก็เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีกลุ่มอิทธิพลคอยใช้ความเป็นข้าราชการขบงับผลประโยชน์ส่วนตัวกันอย่างปรีเปรม ในข้อเท็จจริงพบว่าช่วงที่มีการเวนคืนที่ดินทั้งมาบตาพุดและแหลมฉบังได้มีคนของ กนอ.หลายคนเช่นกันที่ได้ไปกว้านซื้อที่ดินบางส่วนดักหน้าเอาไว้ ทำให้การเวนคนที่ดินประสบปัญหายุ่งยากไม่เบา
แต่ก็พอที่จะกล่าวได้ว่า กนอ.ยุคที่โชติชัย อรรถวิภัชน์ อดีตผู้ว่าเมืองพัทยามาบริหารสามารถที่จะเวนคืนที่ดินได้ในจำนวนที่น่าพอใจ
ความคืบหน้าเรื่องนี้ควรที่จะก้าวต่อไปด้วยความราบรื่นถ้ากระทรวงอุตสาหกรรมจะไม่ได้ประมวล สภาวุส สส.พรรคชาติไทย เข้ามาเป็นรัฐมนตรี ก็อย่างที่รู้กันกว้างขวางว่า ไม่ว่าเรื่องอะไรประมวลพยายามที่จะทำตัวรู้เรื่องดีเสียทุกเรื่อง
ตุ๊กตาทองรัฐมนตรียุ่งดีเด่นเหมาะสมที่จะตกเป็นของเขามากที่สุด!!!
ประมวลได้ส่ง พล.อ.บุญฤทธิ์ ทรรทรานนท์ อดีตรองผบ.ทบ.เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการกนอ.เพื่อคอยกำกับและตรวจสอบการทำงานอย่างใกล้ชิด แน่ละว่าหากประมวลและคนของเขาจะเล่นบทนี้อย่างรัดกุมไม่กระโตกกระตากจนเป็นที่น่าเกลียดในหลายกรณีแล้ว "สิ่งที่เขาทำลงไปคงเป็นเรื่องที่ดีที่สุดที่ทุกคนยอมรับกันได้"
ทว่าทุกอย่างไม่เป็นเช่นนั้น กนอ.ยุคหลัง ๆ กลายเป็นที่สั่งสมความขัดแย้งอย่างหนักหน่วงระหว่างเจ้าหน้าที่ประจำกับระดับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกับตัวประมวลเอง เรื่องที่ไม่ลงรอยกันเอามาก ๆ คือแนวคิดและวิธีการดำเนินงาน
ข้อมูลที่เป็นจริงจากหลายกระแสยืนยันว่า จากความขัดแย้งที่แทบจะพูดคุยกันไม่รู้เรื่องนั้นทำให้โชติชัยคิดที่จะลาออกจากตำแหน่ง ผู้ว่าการนิคมฯมาแล้วหลายครั้ง ทว่าได้รับการทัดทานจากทีมงานของป๋าเปรมดึงเอาไว้
"ตอนหลังมาโชติชัยมักจะ DEAL โดยตรงกับท่านนายกฯ เองเลย โดยเฉพาะเรื่องการเวนคืนที่ดินแหลมฉบังและมาบตาพุดในส่วนที่เหลือ" แหล่งข่าวกล่าว
แล้วเรื่องก็มาประทุอีกครั้ง เมื่อจู่ ๆ ประมวลมีคำสั่งให้โชติชัยทบทวนการเวนคืนที่ดินบริเวณมาบตาพุดที่จะต้องประกาศภายในปีนี้อีก 8,000 กว่าไร่ว่ามีความต้องการใช้แท้จริงแล้วหรือ โดยอ้างเหตุว่า ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนที่จะใช้ที่ดิน หากมีการเวนคืนที่ดินจะเป็นการสร้างความเดือดร้อนกับชาวบ้าน
ก็เป็นอีกบทบาทหนึ่งของนักการเมืองที่อิงฐานมวลชนเป็นผนังทองแดง กำแพงเหล็ก!!
การอ้างความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ประมวลยกขึ้นมานั้น สร้างความเคลือบแคลงใจแก่เจ้าหน้าที่รับผิดชอบอยู่ไม่น้อย เพราะเป็นที่รู้อยู่แล้วว่าที่ดินบริเวณมาบตาพุดในปัจจุบันนี้นั้นหาได้เป็นของชาวบ้านร้านถิ่นอย่างเดิมอีกแล้ว แต่ตกเป็นของนายทุนที่ดินจากกรุงเทพฯทั้งสิ้น
โดยเฉพาะนายทุนที่ดินเป็นพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่ง ซึ่งใช้บริวารของตนออกไปกว้านซื้อที่ดินกักเก็บเก็งกำไรนับพันหมื่นไร่ในย่านมาบตาพุด
ประเด็นที่น่าตั้งข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือ แนวคิดของประมวลที่ต้องการยับยั้งการเวนคืนนี้ออกไปอีก 2-3 ปีแล้วปล่อยให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาที่ดินเพื่อใช้ในโครงการต่าง ๆ ความคิดอย่างนี้มองยังไง ๆ มันก็เป็นเรื่อง... "เตะหมูเข้าปาก....ดี ๆ นี่เอง"
เฮียประมวลล่ะก้อชอบเล่นอะไรตลก ๆ ที่ดูแล้วขำไม่ออกไปเสียทุกที!!
"ไม่แฟร์นะที่อ้างชาวบ้านมาสนับสนุน เรื่องที่ไม่สลับซับซ้อนอย่างนี้มองก็รูว่า ยิ่งยืดเวลาการเวนคืนที่ดินออกไปนานเท่าใด ก็เท่ากับเป็นการสร้างเงื่อนไขราคาให้สูงขึ้นโดยไม่มีผลดีอะไรกับนักลงทุน นอกเสียจากพวกนายทุนเห็นแก่ได้เพียงไม่กี่กลุ่ม" แหล่งข่าวคนหนึ่งกล่าว
และสิ่งที่โจษขานกันมากก็คือ ความเป็น "นายทุนที่ดิน" รายใหญ่ของพรรคชาติไทย ที่มีข่าวว่าได้มีการกว้านซื้อที่ดินเข้ามากักเก็บในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งถ้าข่าวดังกลายเป็นความจริงความคิดง่าย ๆ ของประมวลไม่อาจที่จะมองเป็นอย่างอื่นได้เลย
ถ้าจะไม่ใช่การกระทำที่ไร้สปิริตเพื่อผลประโยชน์แห่งพรรคของตนเป็นที่ตั้ง!!
แล้วนี่คงเป็นเรื่องธรรมดา ๆ อีกเรื่องหนึ่งในยุคนี้ที่การเล่นการเมืองเป็นไปเพื่อสนองตอบต่อความต้องการของกลุ่มก้อน โดยมิใส่ใจกับหลักการอันถูกต้อ
ดีที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมา ซึ่งจะต้องมีการทบทวนคำสั่งของรัฐมนตรีประมวลกันเสียใหม่สำหรับรัฐบาลชุดใหม่ งานนี้พรรคชาติไทยคงต้องทุ่มเทสุดกำลังที่จะกลับเข้ามาบริหารงานกระทรวงอุตสาหกรรมอีกครั้ง และยังมีคนหน้าเดิมที่ชื่อ ประมวล สภาสุ เป็นรัฐมนตรีว่าการ
หากผลิตไปจากนี้ไอ้เข้ทั้งหลายก็เตรียมตัวซับน้ำตาตัวเองกันให้ดีเถิด
หากผิดไปจากนี้ไอ้เข้ทั้งหลายก็เตรียมตัวซับน้ำตาตัวเองกันให้ดีเถิด
เพราะยังไง ๆ ที่ดินที่หวังจะฟันกำไรนันมีหวังต้องขายให้ กนอ. ในราคาถูกแสนถูกแน่นอน
อ้อมีคนร้องไห้ได้ก็ย่อมต้องมีคนที่รอคอยจะหัวเราะอยู่เช่นกัน การต่อสู้ทางการเมืองเที่ยวนี้อีกพรรคหนึ่งที่น่าจะออกแรงลุ้นให้พรรคตัวเองเข้ามามีบทบาทในคณะรัฐบาล โดยเฉพาะกับกระทรวงอุตสาหกรรม ก็น่าจะเป็น "พรรคประชากรไทย"
พรรคนี้เขาก็เป็นนายทุนที่ดินรายใหญ่อีกพรรคหนึ่งเหมือนกันนะ!!!
ไอ้เข้จะร้องไห้ หรือจิ้งจก จะได้หัวเราะอีกไม่ช้าได้รู้กัน!!!
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|