สยามนิรมิตงบพุ่ง1,500ล้านดรีมเวิลด์ปรับราคาตั๋วใหม่


ผู้จัดการรายวัน(30 มีนาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

กลุ่มดรีมเวิลด์ทุ่มงบสร้างโรงละครรัชดาแกรนด์เธียเตอร์ เผยงบบานจาก 800 ล้านบาท สู่ 1,500 ล้านบาทแล้ว หวังเป็นโรงละครโชว์ระดับโลก เจาะกลุ่มลูกค้ากระเป๋าหนักทั้งไทยและต่างชาติ ค่าบัตร 1,500 บาท อัดเงิน 40 ล้านเร่งทำตลาดปีนี้ คาดรายได้ 800 ล้านบาทในปีหน้า ด้านดรีมเวิลด์ปรับราคาค่าบัตรใหม่

นางพัณณิน กิติพราภรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รัชดาเธียเตอร์ จำกัด ผู้บริหารโครงการโรงละครรัชดาแกรนด์เธียเตอร์ หรือสยามนิรมิต เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ลงทุนงบประมาณ 1,500 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างโครงการโรงละครรัชดาแกรนด์เธียเตอร์ บนถนนรัชดาภิเษก บนพื้นที่เช่า ประมาณ 25 ไร่ เพื่อผลักดันให้โครงการนี้เป็นเธียเตอร์โชว์แห่งแรกและแห่งเดียวในกรุงเทพฯ ที่มีมาตรฐานระดับโลก

การแสดงในโรงละครแห่งนี้ จะนำเสนอการแสดงศิลปะวัฒนธรรมประเพณีของไทยในรูปแบบใหม่ จุดเด่นหลายประการของสถานที่แห่งนี้คือ ขนาดของเวทีที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก กรอบเวทีสูง 12 เมตร เท่ากับตึก 4 ชั้น สูงที่สุดในโลก ฉากมีจำนวนชิ้นของฉากรวมกันกว่า 100 ฉาก ใช้งบสร้างฉากอย่างเดียวถึง 20 ล้านบาท เทคนิคประกอบการแสดง แบบเธียเตอร์คลาสสิค

นายอำพล สุทธิเพียร รองกรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า เดิมทีโครงการนี้ตั้งงบประมาณไว้ 800 ล้านบาท แต่ขณะนี้คาดว่าใช้ไปถึง 1,500 ล้านบาท เพื่อทำให้โครงการมีความสมบูรณ์มากที่สุด อีกทั้งค่าต้นทุนวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น ซึ่งบริษัทฯเป็นผู้ลงทุนทั้งหมดไม่มีการร่วมทุนกับใคร เงินลงทุนส่วนใหญ่เป็นเงินกู้

สำหรับแผนการตลาดในปีแรกนี้จะเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นชาวไทยก่อน โดยทำตลาดทั้งคนมาเที่ยวทั่วไปและตลาดองค์กร ซึ่งเป็นระดับที่มีรายได้สูงพอสมควร โดยตั้งงบประมาณด้านการตลาดในช่วง 6 เดือนแรกนี้ ไว้ที่ 40 ล้านบาท เพื่อทำโฆษณาประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการขายต่างๆ ทั้งสื่อในประเทศและสื่อต่างประเทศด้วย และตั้งเป้าหมายรายได้ถึงสิ้นปีนี้ที่ 140 ล้านบาท จะเริ่มเปิดบริการเดือนพฤษภาคมศกนี้

นอกจากนั้นยังอยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรสินค้าและบริการที่จะเข้ามาเปิดร้านขายสินค้าในสถานที่แห่งนี้

ในปีที่สองคือปีหน้าที่สามารถทำธุรกิจได้เต็มตัวแล้วคาดว่าจะสามารถทำรายได้ 800 ล้านบาท ซึ่งอยู่บนเงื่อนไขที่ว่ามีผู้เข้าชมเต็มทุกรอบ จากจำนวนที่นั่งรวมกว่า 2,000 ที่นั่ง ราคาค่าตั๋ว 1,500 บาททุกที่นั่ง มีการแสดงเพียงวันละรอบเดียวคือ 19.30น. ทุกวัน ความยาว 80 นาทีต่อรอบ ซึ่งไม่นับรวมถึงรายได้อื่นเช่น ค่าอาหาร ของที่ระลึก ค่าเช่าพื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะมีประมาณ 10% จากรายได้การแสดงหรือ 80 ล้านบาท และคาดว่าจะมีผู้เข้าชมรวมแล้วกว่า 120,000 คนในปีหน้า

การทำตลาดจะต้องทำทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการจับมือกับกลุ่มบริษัททัวร์เพื่อดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาเที่ยวและชมในโครงการ ซึ่งขณะนี้มีการเจรจาประสานงานกันอยู่แล้ว อีกทั้งการต่อยอดธุรกิจจากกลุ่มที่มาเที่ยวที่ดรีมเวิลด์ซึ่งเป็นธุรกิจในเครืออยู่แล้วให้มาเที่ยวที่นี่ต่อได้ ส่วนตลาดต่างประเทศนั้นในช่วงแรกนี้ได้ไปร่วมออกบูธในงานต่างๆเช่น เอทีเอ็มที่ดูไบ งานไอทีอีที่ฮ่องกง งานจาต้าที่ญี่ปุ่น งานแอสต้าที่อเมริกา งานไอทีเอฟที่ไต้หวัน งานดับบลิวทีเอ็มที่อังกฤษ เป็นต้น

“เราแบ่งกลุ่มลูกค้าออกเป็นสองกลุ่มคือ กลุ่มคนไทยทั่วไปหรือกลุ่มบริษัทที่จัดงานให้กับลูกค้า และกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ มั่นใจว่ามีความเป็นไปได้สูง เพราะว่าแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่เป็นจำนวนมากในกรุงเทพฯขณะนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในช่วงเวลากลางวันเกือบทุกแห่ง ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวยามค่ำคืนจะมีเพียงสถานบันเทิงหรือคาบาเร่ต์โชว์เท่านั้น นอกจากนี้ทำเลที่ตั้งเดินทางสะดวกห่างจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินศูนย์วัฒนธรรมฯเพียง 800 เมตรเท่านั้น” นายอำพลกล่าว

นายอำพลกล่าวต่อถึงสวนสนุกดรีมเวิลด์ด้วยว่า ปีนี้จะใช้งบลงทุน 30 ล้านบาท ทำการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆเช่น เพิ่มพื้นที่ลานจอดรถ แต่ไม่มีการเพิ่มเครื่องเล่นใหม่ๆ เพราะเพิ่งเพิ่มไปเองเมื่อไม่กี่ปีมานี้คือ แกรนด์แคนยอน และปีที่แล้วเพิ่งเพิ่มโชว์ใหม่ 2 โชว์ โดยปีที่แล้วมีผู้เข้ามาเล่นในดรีมเวิลด์มากกว่า 2 ล้านคน แบ่งเป็นชาวไทย 70% ต่างชาติ 30% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มครอบครัวและวัยรุ่น ซึ่งรายได้หลักมาจากค่าผ่านประตู

ทั้งนี้ ดรีมเวิลด์ได้ปรับราคาค่าบัตรผ่านประตูรวมเครื่องเล่นใหม่เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา โดยค่าบัตรผ่านประตูรวมเครื่องเล่น 22 ชนิด ราคา 330 บาทต่อใบจากเดิมราคา 295 บาทต่อใบ ส่วนค่าบัตรรผ่านประตูอย่างเดียวไม่รวมเครื่องเล่นแต่สามารถดูโชว์ได้ 3 โชว์ฟรีราคา 120 บาทสำหรับผู้ใหญ่ ส่วนเด็กราคา 95 บาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.