ไทย-ลาว สัมพันธ์กันมาอย่างไร? ถึงได้มีแต่อคติเข้าหากัน

โดย รุ่งอรุณ สุริยามณี
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

ชนชาติลาวเป็นสาขาหนึ่งของชาติอ้ายลาวหรือไท (TAI) ชาวลาวได้ตั้งอาณาจักรขึ้นในดินแดนลานช้างตั้งแต่ต้นพุทธศตวรรษที่ 12 เรียกว่าอาณาจักรลานช้างหรือล้านช้าง

ในสมัยพระเจ้าฟ้างุ่มครองราชย์ในปี พ.ศ. 1893-1913 ลาวเจริญรุ่งเรืองมากและมีราชธานีอยู่ที่เมืองเชียงของ (หลวงพระบาง) อาณาเขตของลาวสมัยนั้นกว้างใหญ่ไพศาล ทิศเหนือได้แคว้นสิบสองปันนา สิบสองจุไทและเชียงขวาง ทิศใต้มีอาณาเขตติดต่อกับอาณาจักรเขมรและเทือกเขาอันนัม ทิศตะวันออกเฉียงใต้จรดอาณาจักรจำปา ส่วนทิศตะวันตกได้ที่ราบสูงโคราชและเชียงใหม่

ลาวได้เจริญรุ่งเรืองอยู่จนถึง พ.ศ. 1971 จึงเริ่มเสื่อมลงลาวต้องแตกแยกออกเป็น 3 อาณาจักร คืออาณาจักรลานช้าง หลวงพระบาง อาณาจักรลานช้างเวียงจันทน์และอาณาจักรลานช้าง นครจำปาศักดิ์ เมืองเชียงใหม่ก็ได้แยกตัวตั้งเป็นรัฐอิสระจากลาวและแคว้นสิบสองจุไทกับเชียงขวางหันไปสวามิภักดิ์ต่อเวียดนาม

การที่ลาวแตกแยกออกเป็น 3 อาณาจักร ทำให้ลาวอ่อนแอมาก หลังจากนั้นเป็นต้นมาลาวต้องตกเป็นประเทศราชของไทยสลับกับเวียดนามเป็นระยะ ๆ

ในต้นพุทธศตวรรษที่ 21 หรือรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิของไทยซึ่งของลาวตรงกับรัชสมัยของพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช (2091-2144) ไทยกับลาวได้ตกลงร่วมมือเป็นไมตรีต่อกันเพื่อต่อต้านการขยายตัวของพม่า ได้มีการสร้างพระธาตุศรีสองรัก (ตั้งอยู่ที่อำเภอด่านซ้ายจังหวัดเลย) ขึ้นเพื่อเป็นสักขีพยานในการเป็นพันธไมตรีต่อกันและจะช่วยเหลือกันและกันเมื่อเกิดศึกสงคราม

ในปี พ.ศ. 2155 รัชสมัยพระเจ้าเอกาทศรถของไทย ขุนนางไทยได้ขอความช่วยเหลือ ไปยัง กรุงล้านช้างให้ยกทัพ มาช่วยไทยปราบพวกทหารญี่ปุ่นที่ก่อการจลาจลในกรุงศรีอยุธยา ทัพกรุงล้านช้างได้ยกมาตั้งที่ลพบุรีเพื่อหวังผสมโรงยึดไทยในช่วงที่กำลังวุ่นวายแต่กองทัพล้านช้างแตกพ่ายกลับไป หลังจากนั้นความสัมพันธ์ไทย-ลาวก็ขาดหายไป จนกระทั่งถึงสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีเมื่อพระองค์ทรงกอบกู้เอกราชได้จากพม่า ก็ได้ส่งกองทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ในปี พ.ศ. 2321 เพื่อเป็นการแก้แค้นที่ลาวให้ความช่วยเหลือพม่าในการตีกรุงศรีอยุธยาจนกรุงแตกลาวได้ตกเป็นประเทศราชของไทย นับแต่นั้น

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 เจ้าอนุวงศ์ผู้ปกครองอาณาจักรเวียงจันทน์ได้คิดเอาใจออกห่างจากไทย เจ้าอนุวงศ์ได้ส่งเครื่องราชบรรณาการให้แก่จักรพรรดิเกีย ลอง แห่งเวียดนาม และต่อมาก็ยกทัพมาตีไทย (2369-2371) ไทย-ลาว ก็เลยต้องทำสงครามกัน ไทยยกกำลังออก ตีทัพของเจ้าอนุวงศ์แตกพ่ายไปและได้ติดตามไปยึดนครเวียงจันทน์อีกครั้งหนึ่ง เจ้าอนุวงศ์ต้องหนีไปพึ่งจักรพรรดิเวียดนาม พระเจ้าแผ่นดินไทยเขียนสาส์นไปยังจักรพรรดิเวียดนามขออย่าให้การสนับสนุนเจ้าอนุวงศ์ ในปี พ.ศ. 2372 เวียดนามก็ส่งตัวเจ้าอนุวงศ์กลับเวียงจันทน์ โดยมีทหารคุ้มกันมาเพียง 2 กองร้อย ในระหว่างทางใกล้เมืองเวียงจันทน์เจ้าน้อยแห่งเมืองเชียงขวางจับเจ้าอนุวงศ์ได้และส่งตัวมายังกรุงเทพฯ เจ้าอนุวงศ์ได้สิ้นพระชนม์ในที่คุมขังในกรุงเทพฯ ในอีกสามปีต่อมา ทำให้เชื้อสายกษัตริย์ลาวนครเวียงจันทน์สิ้นสุดลงจากการลงโทษตัดหัวเจ็ดชั่วโคตร

ไทยยกกำลังขึ้นไปตีนครเวียงจันทน์ครั้งนั้นได้ทำลายและเผานครเวียงจันทน์ลงอย่างราบคาบและได้กวาดต้อนครอบครัวลาวพร้อมสิ่งของมีค่าลงมายังกรุงเทพฯ ทั้งนี้เพื่อเป็นการแก้แค้นและไม่ให้เป็นตัวอย่างแก่ประเทศราชอื่น ๆ สืบไป นอกจากนี้ไทยยังได้ยุบฐานะของเวียงจันทน์ลงเป็นเพียงหัวเมืองขึ้นของกรุงรัตนโกสินทร์ด้วย

ไทยได้สร้างเมืองหนองคายบนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการปกครองอาณาจักรเวียงจันทน์แทนนครเวียงจันทน์ เมืองหนองคายมีชัยภูมิสามารถป้องกันการโจมตีของเวียดนามได้อย่างดี ทำให้การกู้อิสรภาพของลาวเป็นไปได้ยาก

อย่างไรก็ตามเวียดนาม สามารถขยายอิทธิพลเข้ามาในเชียงขวางและแคว้นสิบสองจุไทยได้สำเร็จในเวลาต่อมา เพราะหลังจากเหตุการณ์เจ้าอนุวงศ์ถูกจับตัวส่งมาให้ไทยแล้ว เวียดนามก็ได้ส่ง กำลังเข้าตีเมืองเชียงขวางและจับเจ้าน้อยประหารชีวิต พร้อมกับผนวกเชียงขวางเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเวียดนาม ในขณะเดียวกับเจ้าผู้ครอบแคว้นสิบสองจุไทย ได้ส่งเครื่องราชบรรณาการให้ทั้งไทยและเวียดนามพร้อม ๆ กันเพื่อความอยู่รอดของตน ซึ่งทั้งสองกรณีนี้ไทยไม่ได้แสดงท่าทีใด ๆ ที่ต่อต้านเวียดนามเลย ไทยขอเพียงรักษาอาณาจักรทั้งสามคือแคว้นหลวงพระบาง เวียงจันทน์ และนครจำปาศักดิ์เอาไว้ในอำนาจโดยเด็ดขาดเท่านั้น

กระทั่งฝรั่งเศสขยายอิทธิพลเข้ามาในอินโดจีน

ฝรั่งเศสเข้าครอบครองเวียดนามและในที่สุดก็ยึดเอาแคว้นสิบสองจุไทและดินแดนลาวบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงไปจากไทยในปี พ.ศ. 2431 และ 2436 ตามลำดับ ภายหลังไทยยังต้องสูญเสียดินแดนลาวบนฝั่งขวาแม่น้ำโขงรวมทั้งเมืองจำปาศักดิ์และเมืองมโนไพรอีกในปี พ.ศ. 2446 ซึ่งรวมดินแดนที่ไทยสูญเสียไปทั้งสิ้นถึง 292,500 ตารางกิโลเมตร

การเข้ามาของฝรั่งเศสมีผลทำให้การช่วงชิงอำนาจระหว่างไทยและเวียดนามเหนือแผ่นดินลาวเงียบหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์โดยปริยาย

ปัญหาไทยกับเวียดนามเหนือลาวเริ่มกลับมาเป็นปัญหาใหม่อีกครั้งเมื่อโฮชิมินห์พยายามที่จะทำการปลดแอกเวียดนามออกจากการปกครองของฝรั่งเศส โดยการร่วมมือกับกลุ่มขบวนการปลดแอกของลาวและเขมร ช่วงนั้นเป็นช่วงที่โฮชิมินห์ดำเนินการชี้นำการจัดตั้ง "สหพันธ์อินโดจีน" ขึ้นภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนในปี พ.ศ. 2473-2493 โดยรวมกำลังขบวนการปลดปล่อยชาตินิยมของ 3 ชาติ อินโดจีนเข้าต่อสู้กับศัตรูร่วมเดียวกันคือฝรั่งเศส

เวียดนามเปลี่ยนชื่อพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนมาเป็นพรรคลาวดง (LAO DONG PARTY) ในช่วงปี 2494 และเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างขบวนพรรคคอมมิวนิสต์ของเวียดนามกับลาวและเขมรจากรูปแบบของ "ผู้บังคับบัญชา-ผู้ใต้บังคับบัญชา" มาเป็นแบบ "ฉันท์พี่น้อง"

ต่อมาโฮชิมินห์ก็ประสบความสำเร็จสามารถนำพรรคคอมมิวนิสต์เข้าขับไล่ฝรั่งเศสออกไป ได้ และได้ปกครองแผ่นดินตอนเหนือของเวียดนาม ทำให้ประเทศเวียดนามต้องแบ่งออกเป็นเหนือและใต้

เวียดนามเหนือในช่วงนั้น ประกาศสนับสนุนนโยบายเป็นกลางของลาวและเขมรตามข้อตกลง เจนีวาปี 2497

แต่กระนั้นไทยและประเทศตะวันตกก็ยังคงไม่ไว้วางใจเวียดนามเหนือ และกล่าวหาว่าเวียดนามเหนือโดยการสนับสนุนของจีนและโซเวียตยังคงให้การสนับสนุนแก่ขบวนการประเทศลาว และพรรคคอมมิวนิสต์เขมรอยู่โดยตลอด ไทยยังคงกล่าวหาว่าเวียดนามไม่ละทิ้งแนวความคิดเรื่องการจัดตั้งสหพันธ์อินโดจีน เพื่อหวังผลการครอบงำลาวและเขมร โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังที่ลาว กัมพูชาและเวียดนามเหนือผนวกเวียดนามใต้กลายเป็นระบอบสังคมนิยมภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ทั้ง 3 ชาติ ในปี 2518 แล้ว ไทยดูเหมือนจะหวาดระแวงความเป็นสหพันธ์อินโดจีนของเวียดนามลาวและเขมรอย่างหนัก

ภายหลังการเปลี่ยนระบบการปกครองในปี 2518 นั้นในส่วนที่เกี่ยวกับลาว ลาวได้ให้เวียดนามตั้งกองกำลังทหารไว้ในลาวเป็นจำนวนถึง 30,000 คน ลาวมีความสัมพันธ์กับเวียดนามมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งในเดือนมิถุนายน 2520 ลาวก็ได้ทำสัญญามิตรภาพกับเวียดนาม โดยลาวยินยอมอย่างเป็นทางการให้เวียดนามคงทหารไว้ในลาว เพื่อช่วยทำการปราบปรามและรักษาความสงบภายใน โดยมีข้อตกลงว่าจะให้ความร่วมมือกันทุกรูปแบบในการต่อต้านการบ่อนทำลายของลัทธิจักรวรรดินิยมและของกองกำลังพวกปฏิการ (หมายถึงลาวกู้ชาติฝ่ายขวา) ดังนั้นกำลังของเวียดนามในลาวจึงเพิ่มจาก 30,000 คน ในปี 2520 เป็น 50,000 คนในปี 2522 เพื่อช่วยเหลือลาวทำการรบกับพวกลาวขวาหรือพวกขบวนการลาวกู้ชาติที่มีความสามารถพอสมควรโดยเฉพาะในช่วงที่จีนเข้ามาช่วยให้การสนับสนุนพวกลาวกู้ชาติเหล่านี้ เมื่อจีนเกิดความขัดแย้งขึ้นกับเวียดนามช่วงปี 2521-2522 อันมาจากสาเหตุที่เวียดนามบุกกัมพูชาโค่นฝ่ายพอลพต ที่จีนสนับสนุนในเดือนธันวาคมปี 2521 และจีนทำสงครามสั่งสอนเวียดนามเป็นการตอบโต้ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2522

ลาวนั้นไม่มีทางเลือก นอกจากจะต้องประกาศตัวสนับสนุนเวียดนามซึ่งทำให้ลาวต้องขัดแย้งกับจีนไปด้วย

การที่เวียดนามมีปัญหาขัดแย้งกับรัฐบาลพอลพตในกัมพูชาถึงขั้นต้องใช้กำลังเข้าล้มล้างรัฐบาลพอลพตอย่างอุกอาจและการที่ลาวยังคงกองกำลังทหารอยู่ในลาวต่อไป เป็นสาเหตุที่สำคัญ ที่ทำให้ผู้นำของไทยเชื่อว่า เวียดนามมีเจตจำนงที่จะครอบงำทั้งลาวและกัมพูชา ไม่ว่าจะภายใต้ชื่อสหพันธ์อินโดจีนหรือความสัมพันธ์ "พิเศษ" ที่เวียดนามลาวและกัมพูชาของเวียดนามอ้างก็ตาม

พฤติกรรมของเวียดนามจากอดีตถึงปัจจุบัน ทำให้ผู้นำไทยแทบทุกยุคมีความหวาดระแวงและ ไม่ไว้วางใจเวียดนาม ไทยค่อนข้างจะปักใจเชื่อว่าลาวนั้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของเวียดนามอย่างเต็มตัวแล้ว ผู้นำไทยมองว่าลาวไม่เป็นตัวของตัวเอง

เพราะฉะนั้นพฤติกรรมและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดการกระทบกระทั่งตามพรมแดนไทย-ลาว ที่เกิดขึ้นมาหลายครั้งหลายหนนับตั้งแต่ลาวเปลี่ยนระบอบ เมื่อปี 2518 จนปัจจุบัน มักจะถูกเพ่งเล็งโดย ผู้นำไทยส่วนมากว่า เกิดจากการยุยงหรือยั่วยุของเวียดนามที่หวังผลจะให้ไทยและลาวแตกแยกกันหรืออีกประการหนึ่งเกิดจากความปรารถนาของผู้นำลาวคอมมิวนิสต์เองที่มองไทยเป็นศัตรูคู่อริที่สร้างความเจ็บช้ำให้กับลาวตลอดประวัติศาสตร์ของการก่อตั้งชาติของพวกเขาก็เป็นได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.