|
ประธานการค้า VS. อนุชน "ปฏิบัติการเทคโอเวอร์ธุรกิจเซรามิคแบบคมเฉือนคม"
โดย
สมชัย วงศาภาคย์
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2531)
กลับสู่หน้าหลัก
ในยุโรปตะวันตก นักลงทุนระดับมือเซียนเกือบทุกคน รู้จักความก้าวร้าวห้าวหาญในการขยายอาณาจักรธุรกิจด้วยวิธีการเข้าซื้อกิจการของคาร์โล เดอ เบนเนเดตตี้ ยักษ์ใหญ่จากอิตาลีในนามกลุ่ม CERUS เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมานี้เอง กลุ่มCERUS ของเบนเนเดตตี้ เข้าแย่งชิงเพื่อการเข้าครอบครองกิจการกลุ่มโซเซเอเต้ เยอเนราล เดอ เบลเยียม กับกลุ่ม SUEZ ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มนักธุรกิจฝรั่งเศสและเบลเยี่ยม
ตามกระแสข่าวในแวดวงธุรกิจที่เผยแพร่ในยุโรปเปิดเผยว่า กลุ่มโซเซเอเต้ฯ นี้ใหญ่มากในยุโรป ผลผลิตมวลรวม(GDP) ของกลุ่มนี้คิดเป็น 1 ใน 3 ของผลผลิตมวลรวมของเบลเยี่ยม (118 พันล้านเหรียญ-ฟรังส์เบลเยี่ยม) มีสาขากระจายอยู่ทั่วโลก 67 ประเทศ ในรูปบริษัทธุรกิจต่าง ๆ 1,200 บริษัท ความใหญ่ของกลุ่มโซเซเอเต้นี้ เบนเนเดตตี้หมายปองมานานแล้ว เพราะเขาต้องการใช้มันเป็นเครือข่ายในการบุกทะลวงเข้ายึดศูนย์ธุรกิจในยุโรปให้อยู่ในมือของเขา ( PAN EUROPEAN EMPIRE)
แต่ดูเหมือนว่า การหมายปองของเบนเนเดตตี้ทำท่าจะล้มเหลว เพราะความก้าวร้าวห้าวหาญในการยึดยุโรปของเขาเป็นที่หมั่นไส้ของกลุ่มนักธุรกิจอนุรักษ์ SUEZ เอามาก ๆ กลยุทธ์เพื่อแย่งชิงสาวเนื้อหอมอย่างกลุ่มโซเซเอเต้ เยอเนราล เดอเบลเยียมจึงเกิดขึ้น!
กลุ่มเบนเนเดตตี้ในนาม CERUS ต้องการอีก 15% ในจำนวนหุ้นทั้งหมด 12 ล้านหุ้นที่เสนอขายในราคา 4,000 ฟรังส์เบลเยียม/หุ้น ซึ่งถ้าหากกลุ่มเขาชนะก็จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่ถืออยู่ในโซเซเอเต้ฯ ถึง 50.6% จากเดิมที่ถืออยู่ 35.6% ว่ากันว่าเฉพาะเบนเนเดตตี้คนเดียวถือหุ้นอยู่แล้ว 18.6% ซึ่งถ้าหาก 15% เขาสามารถได้มันมาเขาก็จะถือหุ้นเพิ่มเป็น 33.6% ซึ่งสามารถเข้าไปปฏิรูปการบริหารโซเซเอเต้ฯได้ เพราะ ก.ม. เบลเยียมกำหนดไว้ว่าจะสามารถกระทำเช่นนี้ได้ต้องถือหุ้นเกิน 25%
แน่นอนเกมธุรกิจนี้กลุ่ม SUEZ ยอมไม่ได้ ในฐานะถือหุ้นอยู่เดิมมากกว่าเบนเนเดตตี้อยู่แล้วคือ 42.5% ผลลงเอยก็คือ 10 ล้านหุ้นไทย 12 ล้านหุ้นที่เสนอขาย กลุ่ม SUEZ กว้านซื้อเข้าพอร์ตกลุ่มตนได้สำเร็จ และสามารถเพิ่มสัดส่วนถือหุ้นในกลุ่มโซเซเอเต้ฯ อีก 10% เป็น 52.5% ขณะที่กลุ่ม CERUS ไล่ตามขึ้นมาที่ 40.6%
การไล่ซื้อหุ้นกันครั้งนี้มีผลดันให้ราคาหุ้นโซเซเอเต้ฯ ในตลาดหุ้นบัสเซลล์เพิ่มขึ้นจาก 4,000 ฟรังส์เบลเยียมเป็น 6,100 ฟรังส์เบลเยียม
กลุ่ม CERUS ของเบนเนเดตตี้แม้จะแพ้กลุ่ม SUEZ ครั้งนี้ แต่ก็มีความหวังจะเข้าไปถือหุ้นใหญ่เพราะเขาเชื่อว่าพันธมิตรกลุ่ม SUEZ รวมตัวกันไม่เหนียวแน่นพอ และจะเปิดโอกาสให้เขาสวมรอยเข้าซื้อหุ้นเพิ่มอีกเมื่อราคางาม ๆ
เกมเทคโอเวอร์กลุ่มโซเซเอเต้ฯ รับรองยังไม่จบ...ความห้าวหาญในเกมการลงทุนครั้งนี้จะต้องถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ธุรกิจยุโรปอย่างมิพักต้องสงสัย
สำหรับในเมืองไทย เกมต่อสู้เพื่อการลงทุนทางธุรกิจในรูปลักษณ์การเข้าซื้อกิจการที่จะต้องถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ด้วยความสนุก ชิงไหวชิงพริบ ไม่แพ้ "ศึกชิงโซเซเอเต้เบลเยียม" ในปัจจุบันก็มีอยู่ นั่นคือ "ศึกชิงกลุ่มธุรกิจเสถียรภาพ" ที่ยืดเยื้อมานานหลายเดือน
กลุ่มธุรกิจเสถียรภาพเป็นที่รู้กันในหมู่นักลงทุนว่ายิ่งใหญ่ในสายธุรกิจผลิตภัณฑ์เซรามิกในครัวเรือน ที่เป็นที่หมายปองเอามาก ๆ นัยว่า ชื่อผลิตภัณฑ์ของเสถียรภาพขายได้ด้วยตัวมันเอง
ฐานผลิตของกลุ่มเสถียรภาพมี 7 แห่ง ยิ่งใหญ่ด้วยเงินทุนจดทะเบียน 145 ล้านบาท ตระกูล "จุลไพบูลย์" เป็นเจ้าของกิจการ...แหล่งข่าวในธนาคารพาณิชย์เปิดเผยว่า ความยิ่งใหญ่ของกลุ่มนี้อยู่ที่การอาศัยเทคนิคการระดมทุนจากสถาบันการเงินด้วยวิธีการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับปริมาณเงินที่ได้รับจากเครดิตไลน์ธนาคารซึ่งในขณะนี้ตัวเลขหนี้สินตกราว ๆ เกือบ 2,000 ล้านบาท เหตุเพราะ "เขาใช้ชื่อเสียงส่วนตัวจากการ RUN ธุรกิจนี้จนใหญ่โต และนายแบงก์ส่วนใหญ่ก็เชื่อเสียด้วย เมื่อหนี้สินจากเครดิตไลน์มันมากเกินไปจนฐานของธุรกิจมันรับไม่ไหว เรื่องก็ปูดออกมาและพบว่าหนี้สินมีมากกว่าสินทรัพย์ของเขาอยู่มากถึง 3:1"
ช่วงเวลาที่รู้กันว่ากลุ่มธุรกิจที่ยิ่งใหญ่นี้มีปัญหาวิกฤติหนี้สินก็คือช่วง 3 ปีก่อนหน้านี้ (2528)! มละ 1 ปีให้หลัง (2529) ก็คือช่วงของการให้เวลาแก้ปัญหา...แต่ดูเหมือนยิ่งแก้ทุกสิ่งก็ดูจะเลวร้ายลงเมื่อมีการเล่นตุกติกกันระหว่างลูกหนี้กับเจ้าหนี้
ดังนั้นปี 2530 ทั้งปี ก็คือปีของการแสวงหาลู่ทางของเจ้าหน้าที่จะหาวิธีการกำจัดลูกหนี้รายนี้ให้ออกจากวงจรธุรกิจโดยวิธีการแยกกันฟ้องล้มละลาย!
แบงก์กรุงเทพฯพาณิชย์การดูจะมีภาษีดีกว่าแบงก์แห่งอื่น ๆ ที่มูลหนี้ 267.5 ล้านบาทที่ปล่อยให้แก่กลุ่มธุรกิจนี้มีหลักทรัพย์ค้ำคุ้ม ขณะที่แบงก์ไทยพาณิชย์ที่มูลหนี้ 260 ล้านบาทดูจะมีหลักทรัพย์คุ้มหนี้เพียงครึ่งเดียวแหล่งข่าวในธนาคารพาณิชย์สรุปให้ฟังในประเด็นมูลหนี้นี้ว่า "ในจำนวนมูลหนี้เกือบ 1,600 ล้านบาท มีหลักทรัพย์ค้ำคุ้มมูลหนี้อยู่ 402 ล้านบาทเท่านั้น ที่เหลือ 248 ล้านบาทไม่คุ้ม และอีกประมาณ 1,000 ล้านบาท ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำเลย" เป็นไปได้อย่างมากว่ามูลหนี้ประมาณ 1,600 ล้านบาทนี้มี 3 แบงก์คือ กรุงเทพฯพาณิชย์การ ไทยพาณิชย์ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่คิดเป็นไม่น้อยกว่า 40% ของมูลหนี้ทั้งหมด
จึงไม่แปลกที่ตั้งแต่กลางปีที่แล้วเป็นต้นมา เจ้าหนี้ 3 แห่งนี้ต้องใช้วิธีการทั้งขู่และปลอบลูกหนี้ (เสถียรภาพ) กันทุกรูปแบบ ตั้งแต่การเจรจาปรับสภาพหนี้จนถึงฟ้องขับไล่...(อ่านปฏิทินล้อมกรอบ)
โรงงานซึ่งเป็นฐานการผลิตแห่งที่ 1-5 แบงก์กรุงเทพฯพาณิชย์การเข้ายึดกิจการ และขายทอดตลาด ประกอบด้วยสินทรัพย์ ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และเครื่องจักร มูลค่าราคาตลาด 210 ล้านบาท บริษัทอนุชนของลูกหนี้เสนอตัวเข้าซื้อกิจการจากบริษัทประธานการค้าในเครือของแบงก์กรุงเทพฯพาณิชย์การที่ชนะการประมูลขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายนปีที่แล้วด้วยราคา 310 ล้านบาท โดยวิธีผ่อนชำระ 12 ปี 9 เดือน ดอกเบี้ย 9%/ปี จ่ายงวดแรกทันที 7 ล้านบาท
"บริษัทอนุชนเป็นบริษัทลูกของเสถียรภาพที่คุณอุบล จุลไพบูลย์ เจ้าของเสถียรภาพตั้งขึ้นมาเพื่อการแบกรับการบริหารธุรกิจกลุ่มเสถียรภาพ โดยให้ลูก ๆ ถือหุ้นและเป็นกรรมการ ... เข้ามาติดต่อบริษัทประธานการค้าเพื่อขอซื้อกิจการโดยผ่าน นิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ พ่อคุณเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ กรรมการผู้จัด-การแบงก์กรุงเทพฯพาณิชย์การ"
มีการยืนยันว่าการติดต่อครั้งนี้ทางประธานการค้าและแบงก์กรุงเทพฯพาณิชย์การตอบตกลงในหลักการและเตรียมทำสัญญากันในวันที่ 28 กรกฎาคมปีที่แล้ว แต่มีการเตะถ่วงกันเพราะทางแบงก์ฯทราบว่าบริษัทนำเกียวเทรดดิ้ง (ไทย) จำกัด ซึ่งมีธุรกิจและบริษัทแม่ที่ผลิตเซรามิคในญี่ปุ่นสนใจซื้อ กิจการนี้ด้วยราคา 350 ล้านบาท และผ่อนชำระเพียง 5 ปีเท่านั้น
"อดีตผู้จัดการทั่วไปของบริษัทเสถียรภาพ เป็นคนเข้ามาติดต่อเองในนามบริษัทนำเกียวเทรดดิ้ง เขาอยู่กับเสถียรภาพมานาน เป็นลูกน้องที่ใกล้ชิดของอุบล จุลไพบูลย์ จึงรู้ปัญหาและกำลังภายในของเสถียรภาพดีว่ามีแค่ไหน" แหล่งข่าวในวงการธนาคารให้ข้อมูล
แต่บริษัทอนุชนไม่ยอมการเตะถ่วงครั้งนี้ของแบงก์ฯ โดยอ้างว่า สิทธิในสัญญาเช่าที่บริษัทรับเป็นผู้บริหารกิจการที่ทำกับบริษัทเสถียรภาพ ยังมีผลบังคับใช้ถึงปี 2532
บริษัทอนุชน ทำสัญญาเป็นผู้รับจ้างบริหารให้กลุ่มเสถียรภาพเป็นเทคนิคอีกแบบหนึ่งของอุบล จุลไพบูลย์ ที่รู้ว่าปัญหาหนี้สินของเสถียรภาพ อย่างไรเสียหนีไม่พ้นที่จะถูกฟ้องล้มละลาย
จึงว่าจ้างให้บริษัทอนุชนซึ่งตั้งขึ้นมาเป็นบริษัทลูก โดยให้ลูก ๆ ของอุบล จุลไพบูลย์ ลูกหนี้รายใหญ่ของแบงก์ เป็นกรรมการและถือหุ้นนั้น ขึ้นรับช่วงเช่าบริหารกิจการของตัว ก่อนหน้าที่แบงก์จะฟ้องล้มละลาย ดังนั้นการที่แบงก์จะขายกิจการนี้ไปให้นักลงทุนรายอื่นก็จะไม่มีประโยชน์จนกว่าจะพ้นปี 2532 ไปแล้ว
และช่วงที่แบงก์กำลังใช้มาตรการทางกม.เข้าขับไล่และฟ้องกลุ่มเสถียรภาพ ก็กินเวลากว่าคดีจะสิ้นสุด ซึ่งนั่นย่อมเปิดโอกาสให้บริษัทอนุชนสามารถเข้าแสวงหาผลประโยชน์จากกิจการนี้ต่อไปได้ "เดือน ๆ หนึ่งฟันกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท" เข้าทำนอง SO FAR SO GOOD
ความเป็นไปได้ที่บริษัทประธานการค้าของแบงก์กรุงเทพฯพาณิชย์การจะขายกิจการโรงงานที่ 1-5 ของเสถียรภาพไปให้แก่กลุ่มนำเกียวเทรดดิ้ง ของญี่ปุ่นโดยติดต่อผ่านอดีตผู้จัดการทั่วไปของเสถียรภาพ ในราคา 350 ล้านบาท มีอยู่สูงมาก ซึ่งนั้นหมายความว่า แบงก์ฯสามารถทำกำไรจากสินทรัพย์ก้อนนี้ไม่น้อยกว่า 140 ล้านบาท และกำจัดกลุ่มเสถียรภาพออกไปจากธุรกิจนี้ได้
"ประธานการค้าไม่เอาหรอกธุรกิจนี้ การที่วิ่งเต้นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจนี้จากกระทรวง อุตสาหกรรม เป็นเพียงวิธีการเตะถ่วงและหลอกล่อบริษัทอนุชนและกลุ่มเสถียรภาพให้หลงเต้นตามเพลงแบงก์เท่านั้น" แหล่งข่าววิเคราะห์เพื่อชี้ให้เห็นว่า โดยเนื้อแท้แล้ว แบงก์ไม่ต้องการติดต่อกับกลุ่มเสถียรภาพอีกต่อไป
เดือนกันยายนปีที่แล้วหลังจากที่บริษัทประธานการค้าได้ปฏิเสธการเซ็นสัญญาในข้อตกลงเบื้องต้นการขายสิทธิในกรรมสิทธิ์สินทรัพย์โรงงานที่ 1-5 กับบริษัทอนุชนที่จะมีขึ้นในปลายเดือนกรกฎาคมก่อนหน้านี้นั้น บริษัทประธานการค้าได้วิ่งเต้นเพื่อขอยื่นใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตและค้าเซรามิคจากระทรวงอุตสาหกรรม ผ่านรัฐมนตรีอุตสาหกรรม-ประมวล สภาวสุ นัยว่าโดยข้อเท็จจริงทางประธานการค้าก็พอจะมองออกว่า ในแง่กม.เป็นได้ยากเพราะใบอนุญาตดังกล่าวกลุ่มบริษัทเสถียรภาพเป็นผู้ถืออยู่
ดังนั้นเกมการซื้อกิจการ (TAKE OVER) ของนำเกียวเทรดดิ้ง ครั้งนี้จะเดินต่อไปหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ หนึ่ง-การต่อสู้ทางกม.ที่ทางแบงก์ฯฟ้องขับไล่บริษัทอนุชนให้ออกจากสิทธิต่าง ๆ ในการบริหารกิจการโรงงาน 1-5 ผลจะเป็นเช่นไร และกินเวลานานแค่ไหน และสอง-การงัดไม้เด็ดของบริษัทเสถียรภาพในฐานะ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ใบอนุญาตประกอบกิจการเซรามิคแต่ผู้เดียวที่กระทรวงอุตสาหกรรมเป็น ผู้ออกให้จะออกมาในรูปใด? และกินเวลานานแค่ไหน?
การเทคโอเวอร์กลุ่มบริษัทเครือข่ายเสถียรภาพของนำเกียวเทรดดิ้ง ยังไม่จบอย่างง่าย ๆ และเกมการต่อสู้ระหว่างแบงก์กรุงเทพฯพาณิชย์การ กับบริษัทอนุชนก็จะมีความรุนแรง ชิงไหวชิงพริบไม่แพ้ "ศึกชิงโซเซเอเต้ฯในยุโรป"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|