วิรัช หลีอาภรณ์ ไม่เห็น...ไม่หลั่งน้ำตา


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

บริษัทจอห์นสันแอนด์จอห์นสันเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเมื่อปี 2513 ผลิตภัณฑ์ หลาย ๆ ตัวของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (เจแอนด์เจ) ประสบความสำเร็จโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ถนอมผิว สบู่เด็ก และแชมพูเด็กกล่าวได้ว่าเป็นเจ้าตลาด

เมื่อปีที่แล้วโรงงานของเจแอนด์เจได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงอุตสาหกรรมให้เป็นโรงงานดีเด่นประจำปี 2530 ก็เป็นเรื่องที่เจแอนด์เจควรจะปราบปลื้มอย่างยิ่ง

แต่ในขณะเดียวกันมีปัญหาหลาย ๆ ประการที่ถาโถมเข้าใส่ในยุคที่วิรัช หลีอาภรณ์เป็นกรรมการผู้จัดการนี้

วิรัช หลีอาภรณ์ เข้าร่วมงานกับเจแอนด์เจ เมื่อปี 2522 ประเดิมด้วยตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดหลังจากที่ผละจากอ้อมอกของลีเวอร์บราเธอร์ที่เขานั่งในตำแหน่ง PRODUCT MANAGER

เขาใช้เวลาเพียง 6 ปีก็ก้าวขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการแทนมิสเตอร์นิโคลัส วูชิช ที่นั่งอยู่ต้องแต่ ปี 2524 จึถึงเวลาที่จะเลื่อนขึ้นเป็นรองประธานกรรมการรับผิดชอบกิจการของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันในประเทศจีนและฮ่องกง วิรัชก็เลยได้รับตำแหน่งแทนเขาเป็นนัมเบอร์วันของบริษัทโดยใช้เวลา ไต่เต้าอันสั้นและที่สำคัญเขาไม่ใช่ลูกหม้อของเจแอนด์เจด้วยซ้ำ

"จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน มีนโยบายในการดำเนินกิจการในประเทศไทยอย่างแน่ชัด ยิ่งหลังจากได้คุณวิรัช หลีอาภรณ์ เป็นกรรมการผู้จัดการคนไทยคนแรกการพัฒนาแผนการทุกอย่างจะเป็นระยะยาวทั้งหมด" ผู้บริหารระดับสูงของเจแอนด์เจกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

การเปลี่ยนนโยบายของบริษัทแม่จอห์นสันแอนด์จอห์นสันในครั้งนี้ก็น่าที่จะรุดหน้าไปอย่างรวดเร็วเหมือนกรณีที่บริษัทลีเวอร์บราเธอร์มีนโยบายให้ผู้บริหารระดับสูงเป็นคนท้องถิ่น อย่าว่าแต่ตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ แม้กระทั่งตำแหน่งประธานกรรมการ ยับมอบให้คนท้องถิ่น นั่นคือวิโรจน์ ภู่ตระกูล กิจการของลีเวอร์บราเธอร์ก็ก้าวหน้าด้วยดีมาโดยตลอด

แต่ที่นั่นคือลีเวอร์บราเธอร์ส่วนที่นี่คือจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน ที่นั่นคือวิโรจน์ ภู่ตระกูล ส่วนที่นี่คือวิรัช หลีอาภรณ์

จอก์นสันแอนด์จอห์นสัน เริ่มประสบปัญหาเมื่อ 4 ปีที่แล้วก่อนที่วิรัช จะเป็นกรรมการผู้จัดการด้วยซ้ำ (แต่ตอนนั้นเขาก็เป็นเบอร์หนึ่ง)

มีการสไตร๊ค์ของพนักงานขาย ทำให้ฝ่ายบริหารไม่พอใจเป็นอันมากก็เลยมีการใช้นโยบายเฉียบขาดไล่พนักงานขายออกถึง 40 คน และในครั้งนั้นมีระดับบริหารลาออกไป 2 คนคือพงษ์เกษม อรรคลีพันธุ์และสมชาย ล้วนชัยสิทธิ์ "มันมีการแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย พูดง่าย ๆ มีการเล่นการเมืองกันนั่นแหละ เมื่อเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำก็ต้องถอนตัว" อดีตลูกหม้อของเจแอนด์เจ พูดถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นให้ฟัง

และฝ่ายที่ยังคงอยู่ก็คือฝ่ายที่กำชัยชนะ "คงไม่ต้องให้ผมระบุว่าเป็นใคร จริง ๆ ผมว่ามันเป็นเรื่องธรรมดานะ การเล่นการเมืองภายในองค์กร แต่ต้องไม่ทำให้บริษัทเสียก็แล้วกัน" แหล่งข่าวคนเดิมวิจารณ์

มรสุมลูกถัดมาที่โหมกระหน่ำใส่คือการตบเท้าลาออกของระดับบริหารหลายคนเมื่อต้นปี 2530

นงลักษณ์ เตชะพิสิทธิ์ ผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าอนามัยผันตนเองไปอยู่วอร์เนอร์ แลมเบิร์ท ศิริ วงศ์ไวศยวรรณ ผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์ชาวเวอร์ทูชาวเวอร์ โยกไปอยู่บริษัทโฟร์โมสต์อาหารนม (กรุงเทพฯ) และอัครเดช โรจน์เมธา ผู้จัดการผลิตภัณฑ์สินค้าแชมพูและโลชั่นย้ายไปเป็นพนักงาน ของบริษัทแทคติคมาร์เก็ตติ้ง

นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ "มันสมองไหล" ในครั้งนี้ของเจแอนด์เจค่อนข้างเป็นอันตรายอย่างยิ่งยวด หากพิจารณาถึงบรรดากลุ่มสินค้าที่เหล่าระดับบริหารดูแลอยู่

นงลักษณ์ เตชะพิสิทธิ์ เป็นผู้ดูแลโมเดส ซึ่งเป็นสินค้าของเจแอนด์เจ ที่ครอบครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด การลาออกของนงลักษณ์ นับว่าเป็นอันตรายแล้ว ยิ่งข่าวล่าสุดนังลักษณ์ไปอยู่บริษัทดีทแฮล์มและไปคุมผ้าอนามัยโกเต๊กซ์ ไม่ทราบว่าวิรัช จะยินดีกับข่าวนี้หรือไม่ ??

กลางปี 2530 ยุทธชัย ศัลยประดิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด เบอร์ 2 รองจากวิรัชลาออก เหตุผลก็คือ "ไปทำธุรกิจส่วนตัว" แต่บางคนวิเคราะห์ว่าเขาอึดอัด

จอห์นสันภายใต้การบริหารของวิรัช หลีอาภรณ์ ความเป็นผู้นำของสินค้าต่าง ๆ เริ่มลดน้อยถอยลง โลชั่นปัจจุบันได้รับการท้าทายจากบริษัทอื่น ๆ โดยเฉพาะนีเวีย ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้นำด้านผลิตภัณฑ์บำรุงผิว หลังจากเข้าตลาดเพียงไม่กี่ปีก็สามารถแย่งส่วนแบ่งการตลาดมาครอบครองในอัตราที่น่าพอใจ จนกระทั่งบีดีเอฟเปิดโรงงานใหม่เพิ่มที่บางพลี เป็นการท้าทายเจแอนด์เจโดยตรง

สบู่เด็กจอห์นสันหรือแชมพูจอห์นสันก็ไม่ได้โดดเด่นดังเช่นอดีต นอกจากนี้ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดซึ่งคุมถึงสามฝ่ายคือผู้จัดการฝ่ายการตลาด วิจัยตลาดและฝ่ายส่งเสริมการขาย ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ยุทธชัย คุมอยู่เดิมก็ยังไม่มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเพียงแต่ให้ปรีเปรมรักษาการณ์เท่านั้น เป็นเวลาเกือบปีแล้วยังไม่มีการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ จนบางคนวิเคราะห์ว่า "มีคนต้องการรวมศูนย์อำนาจ"

สถานภาพของจอห์นสันแอนด์จอห์นสันภายใต้การนำของวิรัช หลีอาภรณ์ อยู่ในฐานะที่ไม่น่าไว้วางใจเท่าไรนัก ทั้งปัญหาด้านการตลาด การรุกของคู่แข่ง และปัญหาการบริหารงานภายใน มันเป็นภารกิจอันหนักหน่วงของกรรมการผู้จัดการคนไทยคนแรกที่ฝรั่งไว้วางใจมอบหมายให้ดูแลเป็นอย่างยิ่ง

การปิดปากเงียบของเขาไม่เป็นผลดีเลย เขามิอาจใช้ความสงบสยบวิกฤติการณ์ได้ ยุทธวิธีควรจะพลิกแพลงตามสถานการณ์


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.