|
ดร.ชวลิต ทิสยากร นักกู้กับระเบิด
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2531)
กลับสู่หน้าหลัก
บริษัทปัญจพลไฟเบอร์เป็นบริษัทที่แข็งแกร่งมีผลประกอบการเป็นที่น่าพอใจแตกต่างเกือบ ตรงกันข้ามกับบริษัทธานินทร์อุตสาหกรรมซึ่งประสบภาวะที่เรียกว่าเกือบจะล้มละลายถึงจะยังพอจะ มีอนาคตก็ตามที
หากให้เลือกทำงานระหว่างสองบริษัทนี้เชื่อแน่ว่าเกือบทุกคนจะต้องเลือกบริษัทแรก
แต่ไม่ใช่ ดร.ชวลิต ทิสยากร
ชวลิตทิ้งตำแหน่งผู้จัดการโรงงานของบริษัทปัญจพลไฟเบอร์อันมั่นคงและยินยอมตอบรับคำเชิญของม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล หัวเรือใหญ่ของบรรดาเจ้าหนี้มานั่งที่ธานินทร์อุตสาหกรรม ด้วยเหตุผลเพราะ "ผมว่ามันเป็นการท้าทายมาก สงครามทุรกันดารมากเพียงใด ก็จะทำให้นายกองแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น"
ก่อนมาอยู่ที่ธานินทร์ ชวลิตเริ่มงานครั้งแรกที่บริษัทยิบอินซอย ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายการตลาดหลังจากจบปริญญาตรี โท และเอก จากจุฬาฯและมหาวิทยาลัยเท็กซัส A&M ตามลำดับ ในสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าทั้งหมด
ปี 2523 ชวลิตก็ผันตัวเองมาอยู่ปัญจพลไฟเบอร์ ในตำแหน่งผู้จัดการ (ร่วม) โรงงานกระดาษ (PAPER MILL CO-MANAGER) งานที่นี่ทำให้เขาพัฒนาตนเองมากยิ่งขึ้น เขาต้องบริหารโรงงานกระดาษคราฟท์ที่มีกำลังการผลิต 200 ตันต่อวัน โรงงานนี้มีช่างเทคนิคถึง 400 คนกระจายใน 4 ส่วน หรือ 20 แผนก
ปี 2524 เขาก็มีส่วนในการติดตั้งคอมพิวเตอร์เครื่องจักรโรงงานกระดาษ 300 ตันต่อวัน และ ตั้งแต่ปี 2526 เป็นต้นมา เขาได้เริ่มจัดระบบโรงงานใหม่ (โดยการสนับสนุนของคณะกรรมการ) และระบบใหม่นี้ชวลิตต้องรับภาระหนัก ในการบริหารโรงงานกระดาษนี้เขาต้องผจญกับปัญหานานัปการ ตั้งแต่ปัญหาเกี่ยวกับกำลังแรงงาน การฝึกอบรม การตกลงกับสหภาพ และการจัดการทางการผลิตกระดาษ
เป็นภาระที่หนักหน่วงและท้าทายเขาไม่น้อย!!!
ปี2527 ก็สามารถโน้มน้าวใจให้บรรดากรรมการให้เพิ่มจำนวนคนงาน ที่จบระดับมหาวิทยาลัยจากแทบจะไม่มีเลยมาเป็น 10% ในปัจจุบัน
บรรดาเจ้าหนี้ของธานินทร์ฯ ที่เป็นเหล่าธนาคารและสถาบันการเงินต่าง ๆ ก็ค่อนข้างจะหนักใจกับการหาคนมาบริหาร คน ๆ นั้นต้องมีความสามารถทางด้านต่าง ๆ ทั้งสามารถบริหารโรงงานได้และต้องสามารถจัดการกับปัญหาเกี่ยวกับคนได้
แล้วในที่สุดเมื่อคัดเลือกกันแล้ว ชวลิตก็อยู่ในข่าย เขาตกปากรับคำทันทีเพราะ "ผมอยากแก้วิกฤติการณ์ ผมคิดแบบฝรั่งนะ ถ้ามันสำเร็จมันก็เป็นความภูมิใจของผม" เขาเผยเหตุผล
ชวลิต เข้ามานั่งในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปของธานินทร์เมื่อราว ๆ ต้นเดือนมกราคมมีปัญหามากมายรอให้เขาแก้อยู่ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องคน
"ที่นี่เราไม่มีสหภาพแรงงานนะและไม่มีผู้จัดการฝ่ายบุคคล" เขาบอกในสิ่งที่หลายคนอาจจะไม่เชื่อว่าบริษัทที่มีพนักงานนับพันอย่างธานินทร์จะไม่มีผู้จัดการฝ่ายบุคคล
เขาเริ่มปรับปรุงที่จุดนี้ซึ่งนับเป็นปัญหารากฐานเลยทีเดียว "ผมเริ่มศึกษางานและวัฒนธรรมบริษัทว่าเป็นอย่างไร แล้วผมก็เริ่มปรับปรุงโครงสร้างให้อำนาจแก่หัวหน้างานในการร่างอำนาจในแผนกของเขา"
หลังจากนั้นเขาก็เริ่มดูในส่วนของคอมพิวเตอร์ซึ่งยังไม่ได้ใช้งานอย่างเต็มความสามารถที่มีอยู่ "เรามีคอมพิวเตอร์เอ็นซีอาร์ใช้มาสิบปีแล้ว เราใช้ทางด้านสินค้าคงคลัง การทำสต็อก" เขาจึงเข้ามาขยายศูนย์คอมพิวเตอร์ให้มีบทบาทมากกว่าที่เป็นอยู่
ทางด้าน R&D "ปกติแล้ว R&D ของธานินทร์เคยพึ่งพาวิศวกรญี่ปุ่นตลอดเวลา แต่หลังจากนี้ไปเราจะเริ่มพัฒนาในจุดนี้ให้มากยิ่งขึ้น" ชวลิต บอกจังหวะก้าวล่าสุดของ R&D
"ผมคิดว่าเราจะฟื้นตัวภายใน 5 ปี" เขาบอกถึงแผนการในอนาคต
วันนี้ของธานินทร์นอกจากจะเป็นภาระหนักของบรรดาเจ้าหนี้ซึ่งลุ้นอยู่อย่างใกล้ชิดเนื่องจากห่วงเงินกู้ที่ถมไปหลายก้อนแล้ว ธานินทร์ยังเป็นการพิสูจน์ฝีมือของชวลิต ทิสยากรอีกด้วยว่าเขาคิดผิดหรือไม่ที่อำลาจากปัญจพลไฟเบอร์ไปสู่ธานินทร์
กาลเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|