ปิโตรเคมีแห่งชาติ จากเลวร้ายกำลังจะกลายเป็นดี


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

คงไม่แปลกอะไรที่จะกล่าวว่าโครงการปิโตรเคมีขั้นต้น (NPC-1) และปิโตรเคมีระยะที่ 2 (NPC-2) ที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ กว่าจะผ่านการเติบโตในแต่ละขั้นมาได้ ก็ต้องฟันฝ่ามรสุมมา ไม่น้อยเลยทีเดียว

เมื่อปี 2516 มีการสำรวจพบก๊าซธรรมชาติแหล่งใหญ่ที่มีปริมาณเชิงพาณิชย์อย่างมหาศาล ทำให้เกิดลู่ทางในการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่จะนำแก๊ซธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

แต่ขณะนั้นถึงแม้จะมีคนคิดถึงอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแต่ก็ยังเป็นความฝันอันสวยงามว่ามีความเป็นไปได้ในการลงทุน แต่ยังไม่มีแผนงานที่เป็นจริงแต่อย่างใด

มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการปิโตรเคมี ขึ้นในเดือนตุลาคมปี 2524 ซึ่งตอนนั้นมีการเริ่มวางท่อก๊าซธรรมชาติจากแหล่งผลิตในอ่าวไทย ขณะเดียวกันปตท. ซึ่งเป็นแกนนำและเป็นผู้ผลักดัน ให้เกิด โครงการนี้ก็มีการพิจารณาขยายโรงกลั่นไทยออยล์อยู่ด้วย

ความพยายามที่จะนำเอาแก๊ซธรรมชาติมาใช้ประสบปัญหาตั้งแต่ก่อนโครงการปิโตรเคมีจะเกิดขึ้นเสียอีก

ปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากรัฐบาลซึ่งมีพลเองเปรม ติณสูลานนท์เป็นประธานคณะกรรมการพัฒนาก๊าซธรรมชาติเพื่อการส่งออกไม่ประสงค์ให้เอกชนที่มีสัมปทานการผลิตและมีกฎหมายรับรองสิทธิว่าจะทำอย่างไรก็ได้กับสินค้าของตนส่งก๊าซธรรมชาติออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ

ปตท.เองก็ยังมีปัญหากับบริษัท FLUOR ซึ่งเป็น PROJECT MANAGING CONSULTANT เรื่องราคาค่าจ้างและค่าก่อสร้างรวมทั้งเครื่องจักรโรงงานสำหรับโรงงานแยกแก๊ซที่จะตั้งขึ้น ซึ่งบริษัท FLUOR เสนอราคาสูงกว่าที่ควรจะเป็นถึงกว่า 1,000 ล้านบาท ในที่สุดปตท.ยกเลิกการจ้างโดยจ่ายค่าจ้างแก่บริษัท FLUOR เท่าที่ได้ดำเนินการไปแล้วจนถึงวันที่เลิกจ้าง และปตท.ดำเนินโครงการต่อไปในลักษณะ TURNKEY PROJECT นอกจากนั้น ภาวะเศรษฐกิจของประเทศกำลังอยู่ในภาวะซบเซา การพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการรวมทั้งแผนการพัฒนาจึงจำเป็นต้องรัดกุมที่สุดเพื่อให้เป็นที่พอใจของทั้งภาครัฐบาลและเอกชน

ในครั้งแรกเนื่องจากโครงการดังกล่าวเป็นโครงการใหญ่ใช้เงินลงทุนสูงและความมั่นใจในการลงทุนในช่วงเวลานั้นยังมีน้อยบริษัทที่ปรึกษาโครงการจากต่างประเทศจึงเสนอรูปแบบในลักษณะเล็กลงกว่าเดิม โดยมุ่งหวังเพียงการผลิตเพื่อใช้สนองความต้องการภายในประเทศ

แต่เมื่อพิจารณาโครงสร้างทั้งหมดแล้วพบว่า อุตสาหกรรมที่จะสร้างต้องฉีกแนวจากสมัยก่อน ที่สร้างเล็ก ๆ พอมีตลาดในประเทศแล้วค่อยขยายตัว เป็นการสร้างเพื่อรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของประเทศโดยต้องสร้างในลักษณะที่ใหญ่พอจะแข่งขันกับต่างประเทศได้ในระดับกำลังการผลิตหรือที่เราเรียกว่ามี ECONOMICS OF SCALE

โครงการดังกล่าวสำเร็จโดยตั้งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างภาครัฐบาลกับเอกชนขึ้นเป็นบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด ในปี 2527 ซึ่งมีการประมาณการว่าการลงทุนทั้งสิ้นในโครงการปิโตรเคมี เบื้องต้นจะต้องใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อก่อสร้างโรงโอเลฟินส์และสาธารณูปการต่าง ๆ โครงการเริ่มพัฒนา เริ่มโครงสร้างกว้าง ๆ ใช้เวลาประมูลและจัดการรายละเอียด อื่น ๆ ประมาณ 2-3 ปี และเริ่มก่อสร้างเมื่อประมาณเดือนธันวาคม 2529

ต้นปีใหม่ปัญหาต่าง ๆ ก็ประดังเข้ามาให้ผู้บริหารของปคช. (ปิโตรเคมีแห่งชาติ) รับมืออย่าง ไม่หยุดหย่อน

เริ่มจาก 6 ธนาคารพาณิชย์ไทยอันมี กรุงเทพฯ กสิกรไทย กรุงไทย ไทยพาณิชย์ ทหารไทย และกรุงศรีอยุธยา ยื่นข้อเสนอแก่ปคช.จากกรณีที่แบงก์ทั้ง 6 จะเข้ามาค้ำประกันเงินกู้ให้ ปคช. โดยแบงก์จะขอสิทธิในการสั่งหยุดโครงการ ให้โอนหุ้นของผู้ถือหุ้นให้แบงก์ เรื่องของค่าธรรมเนียมที่แบงก์จะคิดกับปคช. และการขอให้ปคช. ฝากเงินกับแบงก์ที่ค้ำประกันทั้ง 6 ซึ่งสามารถตกลงกันได้ในระดับหนึ่ง

ต่อมาก็มีข่าวว่าบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) ผู้ถือหุ้นเดิมรายหนึ่งของปคช. เกิดถอนตัวไม่ยอมเพิ่มทุนในงวดใหม่ ซึ่งดร.สิปนนท์ เกตุทัต ผู้จัดการใหญ่ของปคช. ได้ออกมาชี้แจงบทบาทและหน้าที่ที่แท้จริงของ IFC ปัญหาผ่านไปอย่างเรียบร้อยอีกเปลาะ

เวลาผ่านไปไม่นาน คณะกรรมการของปคช.ก็นำเอาสัญญาซื้อขายก๊าซ-วัตถุดิบเชื้อเพลิงกับปตท.ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งเพราะเกิดปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการเสียภาษีสรรพสามิตที่มิได้ระบุ ในสัญญานั้น

ในส่วนของโครงการปิโตรเคมี 1 ภาพในขณะนั้นก็ชัดเจนว่าอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะยืนอยู่ด้วยขาเดียวซึ่งก็คือการผลิตเอททิลีน และโพรไพลีนไม่ได้ แต่ต้องมีขั้นที่ 2 ที่เรียกว่า อาโรเมติกส์ด้วยเพื่อผลิตภัณฑ์อีกหลายประเภทขึ้นมา

และเนื่องจากเศรษฐกิจดีขึ้นมาก มีผู้สนใจลงทุนที่มีความมั่นใจมากเปลี่ยนแปลงจาก 3-4 ปีที่แล้วจึงร่นระยะของการพัฒนาได้เร็วขึ้น ปิโตรเคมี 2 จึงเกิดขึ้นเร็วกว่าที่วางแผนไว้แต่ต้น

ปัญหาที่ถกเถียงกันอย่างมากสำหรับการเกิดโครงการปิโตรเคมีขั้นที่ 2 นี้ก็คือเป้าหมายหรือตลาดที่จะรองรับผลผลิตที่จะเกิดขึ้นอย่างมากมายทั้งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป

คณะกรรมการของปคช. ได้ศึกษาและวางแผนโดยการไปดูงานและพูดคุยกับนักธุรกิจที่ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน ที่เป็นผู้นำตลาดในด้านปิโตรเคมี ซึ่งพบว่าแนวทางที่กำลังจะดำเนินการในขั้นต่อไป มีความเป็นไปได้สูงมาก โดยเฉพาะในการแข่งขันกับต่างประเทศ

สำหรับประเทศญี่ปุ่นหลังจากเกิดสถานการณ์ประมาณปี 2523-2524 ที่เกิดจาก OVER CAPACITY มาก ทำให้ญี่ปุ่นลดกำลังการผลิตลงเหลือหนึ่งในสามและมีนโยบายที่จะไม่ขยายปิโตรเคมีประเภทนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมดา ซึ่งประเทศอื่นในแถบนี้ก็เริ่มมีเทคโนโลยีที่จะผลิต ได้แล้ว

นอกจากนี้ยังเป็นเพราะญี่ปุ่นขาดศักยภาพที่จะทำให้สามารถแข่งขัน ไม่มี COMPETITIVE ADVENTAGE เพราะต้นทุนสูงกว่าประเทศอื่นอย่างเช่นเกาหลี ไต้หวัน และไทย แต่ญี่ปุ่นก็กำลังจะ ก้าวไปในเทคโนโลยีที่สูงกว่านี้และปล่อยให้ธุรกิจนี้ดำเนินโดย 3 ประเทศข้างต้น

สำหรับเกาหลีและไต้หวันวัตถุดิบที่ใช้สำหรับผลิตปิโตรเคมีก็ยังไม่พอใช้สำหรับในประเทศเอง เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้ส่งออกไม่ได้เป็นคู่แข่งขันกับประเทศไทย

แต่ทั้งประเทศไทย และ เกาหลี ไต้หวัน ก็ยังต้องนำเข้าส่วนหนึ่ง ถึงแม้บางส่วนจะมีประโยชน์ ที่ว่าราคาวัตถุดิบที่ซื้อเป็นราคาเดียวกันทั่วโลกคือ INTERNATIONAL PRICE แต่ถ้าไม่มีฐานการผลิตวัตถุดิบที่สำคัญเหล่านี้ การส่งออกก็จะเป็นการส่งออกระยะสั้น

ดังนั้นโครงการปิโตรเคมีระยะที่ 2 จึงเกิดขึ้นเพื่อรองรับช่องว่างดังกล่าว ทำให้สามารถผูกพัน วางแผนการส่งออกระยะยาวได้จำนวนมากขึ้น เนื่องจากสามารถทำสัญญามีการตกลงกับผู้ใช้ปิโตรเคมี เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพื่อส่งออกได้

หากคิดถึงปริมาณการนำเข้า วงเงินในเชิงเศรษฐกิจประมาณว่าอยู่ระหว่าง 50,000 -60,000 ล้านบาทต่อปี แต่หากพูดถึงผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่ประเทศไทยจะสามารถผลิตเอง ใช้ในประเทศเอง ส่งออกเอง วงเงินดังกล่าวจะสูงเกินกว่า 100,000 ล้านบาท ที่เมื่อคิดแล้วยังไม่ถึง 1% ของความต้องการด้าน ปิโตรเคมีทั้งหมดของโลก

แต่ปัญหาที่สำคัญยิ่งนอกเหนือไปจากการติดต่อกับหน่วยงาน ทั้งทางราชการและเอกชนก็คือ การที่ต้องทำงานแข่งกับเวลาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนที่วางไว้ในแต่ละขั้น

"ช่วย ๆ กันหน่อยนะพวกเรา ช่วงนี้ห้ามลา ห้ามป่วย ห้ามตายด้วยนะ แล้วผมจะให้ผลัดกันหยุดคนละ 2-3 วันแล้วกลับมาทำงานใหม่" ดร. สิปปนนท์ เกตุทัต ผู้จัดการใหญ่ของปคช. เคยสัพยอกทีมงานของเขาในช่วง 1-2 เดือนก่อนงานวางศิลาฤกษ์ที่ระยองจะมาถึง

โครงการปิโตรเคมีขั้นต้นได้ทำการก่อสร้างไปเกือบ 50% แล้ว ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในวันที่ 20 ตุลาคม 2532

โครงการปิโตรเคมีระยะที่ 2 จะพิจารณาคัดเลือกผู้ลงทุนภาคเอกชนเสร็จในเดือนมีนาคมหลังจากได้รับอนุมัติ การก่อสร้างคงจะเริ่มขึ้นแล้วเสร็จภายใน 2-3 ปี เพราะฉะนั้นอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ขั้นต้นที่คล้ายกับปิโตรเคมีจะเริ่มผลิตไปก่อน

ส่วนปตท.ก็จะศึกษาโครงการในรายละเอียด ทำการประมูล เจรจาผู้รับเหมานำเข้าวัตถุดิบรอไว้ก่อน ซึ่งจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 5-6 ปี

แม้ภาพที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีวางศิลาฤกษ์บริษัททั้ง 5 ในโครงการปิโตรเคมีในขั้นที่ 1 เมื่อวันที่ 23 มกราคมที่ผ่านมา เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเราได้ก้าวเข้าไปใกล้กับการเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่อีกขั้นหนึ่งแล้ว

แต่ก็หมายความถึงการที่จะต้องติดตาม และจับตามองก้าวต่อไปของโครงการทั้ง 2 นี้อย่างใกล้ชิดมากกว่าที่ผ่านมาเช่นกัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.