เส้นทางการค้าที่จะนำไปสู่ความจำเริญทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน

โดย ขุนทอง ลอเสรีวานิช
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

ใครว่าโลกธุรกิจไม่มีพรมแดนโลกธุรกิจจริง ๆ แล้วมีพรมแดนเพียงแต่ว่าพรมแดนนั้นไม่ได้กำหนดกันไว้ด้วยเส้นกั้นเขตตามธรรมชาติหรือความแตกต่างของประชาชาติเขตแดนของโลกธุรกิจ ขีดคั่นกันขึ้นด้วยผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเมื่อใดที่มีการได้-เสียกันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ นั่นหมายถึงการล้ำแดนได้เกิดขึ้นแล้ว และมาตรการทางเศรษฐกิจก็จะถูกนำมาใช้เป็นอาวุธในการปกป้อง ผลประโยชน์ของแต่ละฝ่ายควบคู่ไปกับการเจรจาเพื่อคลี่คลายข้อขัดแย้งกติกากลางในทางการค้าระหว่างประเทศจึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งและเป็นหลักประกันของความเสมอภาค และความเติบโตของเศรษฐกิจโลก

แม้กระนั้นการละเมิดต่อกติกากลางนี้ก็ยังเกิดขึ้นอยู่เสมอโดยเฉพาะในยุคที่ปริมาณการค้าระหว่างประเทศได้เพิ่มขึ้นอย่างมากมายและรวดเร็วการพิจารณาทบทวนประสิทธิภาพและความศักดิ์สิทธิ์ของกติกานี้ จึงต้องอุบัติขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้มีผลบังคับใช้ที่เป็นจริง

ซึ่งนี่คือที่มาของหนังสือที่มีความหนาสองร้อยกว่าหน้าในชื่อว่า TRADE ROUTES TO SUSTAINED ECONOMIC GROWTH หรือ "เส้นทางการค้าที่จะนำไปสู่ความจำเริญทางเศรษฐกิจ ที่ยั่งยืน" ที่พิมพ์ออกเผยแพร่ทั่วโลกเมื่อต้นปีนี้

เนื้อหาในเล่มเป็นผลการศึกษาเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับระบบการค้าระหว่างประเทศและ ข้อเสนอแนะนำเพื่อการแก้ไข โดยเน้นไปที่การทบทวนบรรทัดฐาน ( NORMS ) กฎ (RULES) และ ขั้นตอนการปฏิบัติ (PROCEDURES) ในข้อตกลงพิกัดอัตราภาษีศุลกากรและการค้า (GENERAL AGREEMENT ON TARIFFS AND TRADE ) หรือ GATT

รายงานนี้เป็นผลงานการศึกษาของกลุ่มศึกษาที่ประกอบขึ้นด้วยนักวิชาการ นักการธนาคาร นักธุรกิจ และเจ้าหน้าที่บริหารระดับสูงในภาครัฐบาลที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญเรื่องการค้าระหว่างประเทศจากทั่วโลกจำนวน 12 คน โดยมี ดร.อำนวย วีรวรรณ ประธานกรรมการบริหารของธนาคารกรุงเทพ เป็นหัวหน้ากลุ่มศึกษา

ในเดือนมีนาคม 2528 องค์การสหประชาชาติได้จัดให้มีการประชุมชื่อว่า ASIAN- PACIFIC SYMPOSIUM ON TRADE AND ECONOMIC RECOVERY ขึ้นที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในโอกาสครบรอบปีที่ 40 ขององค์การ TRADE POLICY RESEARCH CENTRE ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยและค้นคว้าในเรื่องนโยบายทางเศรษฐศาสตร์และการค้าระหว่างประเทศได้รับมอบหมายให้เป็นผู้เตรียมการประชุมครั้งนี้

ทาง TRADE POLICY RESEARCH CENTRE ได้ตั้งกลุ่มศึกษาดังกล่าวขึ้น ศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นในวงการค้าระหว่างประเทศเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการอภิปรายในที่ประชุม เนื้อหาที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้คือรายงานการศึกษาดังกล่าว ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่โดยเพิ่มข้อวิพากษ์วิจารณ์และข้อสรุปของการประชุมเข้าไป

ASIAN-PASIFIC SYMPOSIUM ON TRADE AND ECONOMIC RECOVERY มีขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและหาข้อสรุปเกี่ยวกับ GATT เวลาสี่ทศวรรษภายหลังจากที่ GATT ได้เกิดขึ้น สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศได้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ความได้เปรียบและความสามารถในการแข่งขันที่เคยตกอยู่กับสหรัฐอเมริกาและยุโรปในยุคที่ GATT เพิ่งจะก่อกำเนิดขึ้นได้ขยายออกไปอยู่ที่ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่สองอย่างญี่ปุ่นและกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา ทำให้การแข่งขันมีความรุนแรงขึ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนหลาย ๆ ประเทศได้ละเลยต่อกฎข้อบังคับของ GATT โดยการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจที่ขัดต่อหลักการพื้นฐานของ GATT การค้าเสรีที่เป็นหัวใจของระบบทุนนิยมต้องพบกับอุปสรรคจากลัทธิกีดกันทางการค้า (PROTEC-TIONISM) ทำให้เกิดความไม่พึงพอใจต่อระบบการค้าระหว่างประเทศในวิถีทางที่เป็นอยู่และเกิดความหวั่นเกรงว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะต้องหยุดชะงักลง การประชุมในระดับนานาชาติเกิดขึ้นหลายครั้งเพื่อทบทวนหลักการข้อบังคับของ GATT รวมทั้ง ASIAN-PACIFIC SYMPOSIUM ON TRADE AND ECONOMIC RECOVERY นี้ด้วยทั้งนี้ผู้เข้าร่วมในการประชุมคือรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่บริหารชั้นสูง นักธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญจาก 14 ประเทศในภูมิภาคเชีย-แปซิฟิก ซึ่งข้อสรุปจากการประชุมครั้งนี้จะได้ นำเสนอต่อที่ประชุมของ GATT ครั้งต่อไป

เนื้อหาในหนังสือพิมพ์เล่มนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับความยุ่งยากที่เกิดขึ้นกับระบบการค้าระหว่างประเทศสาเหตุและสภาพของปัญหาที่เกิดขึ้นรวมทั้งแนวทางการแก้ไข โดยไม่ได้พูดถึงปัญหาใดปัญหาหนึ่งอย่างเฉพาะเจาะจง แต่เป็นการกล่าวในแง่หลักการและนโยบายกว้าง ๆ โดยแบ่งออกเป็น 7 บทด้วยกันบทแรกพูดถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วงทศวรรษ 1980 ความพยายามของประเทศต่าง ๆ ที่จะทำให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยการส่งเสริมการค้าแบบเสรีและกำจัดการกีดกันทางการค้า แต่ดูเหมือนว่าผลประโยชน์เฉพาะประเทศจะเป็นตัวขัดขวางไม่ให้ความพยายาม นี้บรรลุผลได้ บทที่สองเป็นเรื่องของการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจของโลกโดยการก่อตั้งสถาบัน เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก โดยเฉพาะการกำเนิดของ GATT ในปี 1948 หลักการพื้นฐานและหน้าที่สำคัญของ GATT รวมทั้งความเชื่อมั่นของมหาชนที่มีต่อ GATT ซึ่งถูกกัดกร่อนด้วยความไร้สมรรถภาพของกฎข้อบังคับของ GATT เองสาเหตุที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเชื่อมั่นที่มีต่อระเบียบทางเศรษฐกิจของโลกเป็นผลมาจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกเป็นผลมาจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นเป็นระลอกในช่วงปลายทศวรรษ 1960 และการพังทลายของระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราแบบคงที่ของ IMF ในปี 1971 วิกฤติการณ์เหล่านี้และความพยายามของมหาอำนาจทางการค้าคือสหรัฐฯ ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป และญี่ปุ่น ในการแก้ไขคือเนื้อหาของบทที่ 3 การเพิ่มขึ้นของการเข้าแทรกแซงกระบวนการทางการตลาดของรัฐบาลในประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หลักการและกฎข้อบังคับของ GATT ไม่เป็นจริง รายงานบทที่ 4 อธิบายว่าการแทรกแซงดังกล่าวนำไปสู่การใช้นโยบายแบบเฉพาะส่วน (SECTORAL POLICIES) และการเจรจาทางการค้าแบบสองฝ่าย ( BILATERAL TRADE AGREEMENTS) มากขึ้น ทั้งสองสิ่งนี้ไม่สอดคล้องกับหลักการและข้อบังคับของ GATT นอกจากการเพิ่มขึ้นของการแทรกแซงจากรัฐบาลแล้ว ระบบการค้าระหว่างประเทศยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของโลกและดุลอำนาจทางเศรษฐกิจ ในบทที่ 5 กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของระบบเศรษฐกิจโลกการขยายตัวของลัทธิอุตสาหกรรมการที่ภาคบริการทวีความสำคัญขึ้นในการค้าระดับชาติและระดับระหว่างชาติ การรวมตัวกันของกลุ่มประเทศประชาคมเศรษฐกิจยุโรปและกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา การที่ญี่ปุ่นและประเทศอุตสาหกรรมใหม่หลายประเทศมีความสำคัญทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นในขณะที่สหรัฐฯ ลดความสำคัญลง ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้เกิดความต้องการที่จะ "ปรับเปลี่ยน" พร้อม ๆ กับการต่อต้านการ "ปรับเปลี่ยน" นั้น บทที่ 6 พูดถึงรูปแบบของการกีดกันทางการค้าแบบใหม่ที่มีลักษณะของมาตรการยกเว้นภาษีแบบแอบแฝง ( 'HIDDEN' NON-TARIFF MEASURES) และข้อตกลงเพื่อจำกัดการส่งออกแบบไม่เป็นทางการ ( 'INFORMAL' EXPORT- RESTRAINT AGREEMENTS ) มาตรการเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า GREY AREA MEASURES

บทสุดท้ายของรายงานนี้เป็นการเสนอประเด็นที่ควรจะต้องนำเข้าสู่วาระการประชุมของสมาชิก GATT ได้แก่ หน้าที่ของระเบียบของเศรษฐกิจเสรีระหว่างประเทศที่สอดคล้องกับบรรทัดฐานของ GATT หลักการในการแลกเปลี่ยนประโยชน์ซึ่งกันและกัน บทเฉพาะกาล ระบบการค้าและการเงินระหว่างประเทศและการทำให้กฎ ข้อบังคับของระบบการค้าระหว่างประเทศเกิดผลบังคับใช้

สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียดก็ลองหาซื้ออ่านได้ ซึ่งแหล่งที่พอจะหาได้แน่นอนก็ลองสอบถามแบงก์กรุงเทพดูก็แล้วกัน


ชื่อหนังสือ TRADE ROUTES TO SUSTAINED ECONOMIC GROWTH

ผู้เขียน ดร.อำนวย วีรวรรณและคณะ

จำนวนหน้า 230 หน้า

ผู้จัดพิมพ์ MACMILLIAN PRESS สหรัฐอเมริกา

ปีที่พิมพ์ 1987


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.