|
ไทยรุ่งยูเนียนคาร์ นักบุกเบิกพัฒนาแบบไทย ๆ ขนานแท้
โดย
ชูวิทย์ มังกรพิศม์
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2531)
กลับสู่หน้าหลัก
ไทยรุ่งฯ กำเนิดขึ้นจากจุดเล็ก ๆ โดยคู่สามี-ภรรยาคู่หนึ่ง วิเชียรถนัดทางด้านงานช่าง ปราณี ดูแลเรื่องเงินทอง จากจุดเล็ก ๆ วันนี้ของไทยรุ่งฯ กลายเป็นอาณาจักรที่มีขนาดที่ตั้งโรงงานเป็นร้อยไร่ คนงานเฉียดพันคน และยอดขายกว่า 400 ล้านบาท ก็คงต้องนับว่ามาได้ไกลพอสมควร แล้ววันพรุ่งนี้ของไทยรุ่งฯ ยังจะโตต่อไปหรือไม่ ท่ามกลางตลาดยานยนต์ที่ผันผวนตลอดเวลา ??
ไทยรุ่งยูเนียนคาร์ เป็นบริษัทชั้นแนวหน้าในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และประกอบตัวถังรถยนต์ ที่ใช้ชิ้นส่วนประกอบส่วนใหญ่ที่ผลิตขึ้นในประเทศแทนชิ้นส่วนที่ผลิตจากต่างประเทศ
ไทยรุ่งยูเนียนคาร์ ก่อตั้งเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2516 มีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท เพิ่มทุนเป็น 10 ล้านบาท เมื่อปี 2527 เพื่อรองรับการขยายตัวของกิจการ และกำลังมีแผนงานที่จะขยายโรงงานใหม่ใน พื้นที่กว่า 15 ไร่ ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะทำให้โรงงานไทยรุ่งฯ กลายเป็นโรงงานใหญ่โตใช้พื้นที่เกือบ 100 ไร่เป็นที่ตั้งโรงงานที่ลึกเข้าไปราว ๆ 1 กิโลเมตรในซอยเพชรเกษม 81 ย่านหนองแขม
สิบห้าปีในอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ของไทยรุ่งฯ อาจกล่าวได้ว่ายาวนานพอสมควร แต่เมื่อเทียบกันแล้วก็คงจะยังไม่ถึงหนึ่งในสี่ของอายุ หรือการต่อสู้ผ่าฟันจนมาถึงจุดนี้ของ "วิเชียร เผอิญโชค" ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้ง (FOUNDER) ของไทยรุ่งฯ ด้วยซ้ำ
วิเชียรมาจากครอบครัวฐานะไม่ดีนัก พ่อเสียชีวิตตั้งแต่เขาเพิ่งอายุได้ 9 ขวบ ทำให้ต้องรับผิดชอบตัวเองตั้งแต่เด็ก และเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้วิเชียรไม่ได้เรียนหนังสือเหมือนคนอื่นทั่ว ๆ ไป
เมื่อโตขึ้น วิเชียรออกจากบ้านที่ชลบุรีมากรุงเทพโดยหวังจะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น วิเชียรทำ ทุกอย่างที่คนจนและไร้การศึกษาอย่างเขาจะทำได้
เขาเริ่มชีวิตในกรุงเทพจากการหาบผลไม้เร่ขายไปตามถนนสายต่าง ๆ แล้วก็มารับจ้างเป็นคนขับสามล้ออยู่แถวเยาวราช
เยาวราชในยุคสมัยนั้นเป็นย่านการค้าที่สำคัญที่สุดของกรุงเทพก็ว่าได้ วิเชียรชอบไปอยู่แถวหน้าร้านขายทอง "ฮั่วเซ่งเฮง" ที่มีชื่อเสียงมาก
"ผมอยากเป็นอย่างเขา คนเข้าออกร้านเยอะไปหมด ดูมีชีวิตชีวา น่าภูมิใจดี" วิเชียรพูดถึงความรู้สึกของเขาในตอนนั้นให้ฟัง
จากสามล้อวิเชียรเข้าไปเป็นลูกจ้างในอู่ซ่อมรถยนต์ ที่นี่วิเชียรได้ศึกษากลไกต่าง ๆ ด้วยการ ทำกับของจริง ต่อสามล้อ สามล้อเครื่อง และใกล้ ๆ กันนี่เองที่เขาได้พบกับ "ถาวร พรประภา" ลูกชาย เจ้าของร้านขายของเก่า "ตั้งท่งฮวด" ซึ่งภายหลังกลายเป็นเจ้าของสยามกลการที่โด่งดัง
พอสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้น ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก วิเชียรไปขับรถให้กับคนไต้หวันในไทย ซึ่งเกาะไต้หวันในตอนนั้นเป็นของญี่ปุ่นอยู่ ด้วยความสนิทสนมกันเป็นอย่างดี พวกไต้หวันก็มอบให้วิเชียรจัดซื้ออะไหล่รถยนต์ให้กับกองทัพญี่ปุ่น ทำให้วิเชียรได้ความรู้เกี่ยวกับชิ้นส่วนรถยนต์อย่างดี
ครั้นเมื่อสงครามสิ้นสุดลง วิเชียรสั่งอะไหล่รถยนต์จากต่างประเทศเข้ามาขาย แต่ขายไม่ดีไปไม่รอด กิจการไปไม่รอด
ตอนนั้นพ่อของถาวรเห็นว่าวิเชียรสนิทสนมกับคนในร้าน "ตั้งท่งฮวด" มากพอสมควร เพราะเขาเข้า ๆ ออก ๆ ซื้ออะไหล่บ่อย ๆ และเห็นวิเชียรสนใจเรื่องเครื่องยนต์อยู่บ้าง พ่อของถาวรเลยชวนวิเชียรให้ไปทำงานด้วยกัน
วิเชียรรับผิดชอบรถเก่าของสหประชาชาติที่สั่งจากสิงคโปร์ โดยวิเชียรจะเป็นคนแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือซ่อมแซมให้ดี แล้วขายออกไป
ในขณะนั้นด้วยวัย 36 ปีของถาวร พรประภา ลูกชายร้านตั้งท่งฮวด คนหนุ่มอย่างเขาเริ่มแสวงหาหนทางของตนเอง เขามีความทะเยอทะยานสูง และในช่วงสงครามโลกที่ผ่านมา ถาวรได้สร้างความสัมพันธ์กับญี่ปุ่นไว้ในระดับดีพอสมควร
ถาวรจึงตั้ง "สยามกลการ" ขึ้นเป็นเอเย่นต์แรกที่จำหน่ายนิสสันนอกประเทศในโลกให้กับนิสสันมอเตอร์ญี่ปุ่นและชวนวิเชียรไปช่วยงานที่แผนกรถเก่าของสยามกลการ
"ตอนนั้นสยามกลการขายนิสสันอย่างเดียว รถเก่าสั่งมาเยอะแยะ ผมต้องเอาไปให้โรงงานแถวบ้านโป่ง ชลบุรี หรือแปดริ้วทำ ผมก็ให้ความคิดเขาไป เพราะโรงงานของเราเองไม่มี" วิเชียรบอกถึงหน้าที่ของเขาที่สยามกลการในยุคเพิ่งเริ่มต้น
ที่สยามกลการนี่เองที่วิเชียรได้รู้จักกับ YOSHIO MORITA พนักงานคนหนึ่งของมิตซูบิชิ ญี่ปุ่นในไทย
ตอนนั้นมิตซูบิชิยังอยู่ตึกเดียวกับสยามกลการ วิเชียรทำงานอยู่ชั้นล่างจึงรู้จักและคุ้นเคยกับคนของมิตซูบิชิเป็นอย่างดี
ปี 2498 มิตซูบิชิ ได้เป็นเอเย่นต์ขายรถของอีซูซุในประเทศไทย MORITA ก็ชวนวิเชียรออกจากสยามกลการไปทำงานด้วย
มิตซูบิชิ ในระยะแรกมีคนแค่ 7-8 คน วิเชียร กับ MORITA ต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง โดยเฉพาะมิตซูบิชิคอร์ปอเรชั่นที่ญี่ปุ่น
ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ส่งเสริมให้ต่างประเทศเข้ามาตั้งบริษัทค้าขายในประเทศไทย และมีโครงการจะตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนขึ้น
มิตซูบิชิใช้ช่วงเวลานี้ในการศึกษาตลาด และความพร้อมที่จะเข้ามาลงทุนในไทย พอขึ้นปี 2503 บริษัท มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) จำกัด ก็ถือโอกาสเข้ามาตั้งรกรากในไทยอย่างจริงจัง
มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) ประกอบกิจการสั่งเข้ามาและส่งออกไปซึ่งสินค้าต่าง ๆ อาทิ เครื่องจักร เครื่องกล รถไฟ ยานยนต์ อากาศยาน อะไหล่ และเครื่องประกอบต่าง ๆ รวมทั้งมีการรับจ้างทำด้วย
สำนักงานใหญ่ตอนนั้นตั้งอยู่ที่ตึกดุสิตธานี โดยมีทุนจดทะเบียนสามสิบสามล้านบาท โดย มิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น จากญี่ปุ่น ส่งคูนิโอ มิตซูย่า โยชิโร อิวาอิ คิซาบูโร่ ชิบุย่า และเฮอิจาโรยามาดา เป็นตัวแทนมีอำนาจเต็ม เข้ามาบริหารงานของบริษัท
ประมาณเดือนเมษายนปีเดียวกัน วิเชียรขออนุญาตตั้งบริษัท "ชัยเจริญกิจมอเตอร์ส" จำกัด ขึ้น แต่ก็ต้องขอระงับการจดทะเบียนไว้ก่อน เนื่องจากการเงินของบริษัทยังไม่เรียบร้อย แต่เขาก็ก่อตั้งบริษัทได้ในที่สุดในเดือนพฤศจิกายนปีนั้น
ชัยเจริญกิจมอเตอร์ส หรือชื่อภาษาจีนว่า "ไฉ่จาลุ้นกิจมอเถอะอู่หังกงซี" เกิดจากการลงทุนร่วมกันของวิเชียร กับเพื่อนอีกหลายคน เช่น อาว แซ่เตีย หงี่เมี่ยง แซ่จึง มีทุนจดทะเบียนหนึ่งล้านบาท ทำการซื้อขาย-ซ่อม เครื่องยนต์ เครื่องมือทางจักรกล ตลอดจนรับต่อตัวถังรถยนต์ทุกชนิด โดยธุรกิจ หลักจริง ๆ ก็คือเป็นเอเย่นต์ขายรถอีซูซุในกรุงเทพฯ รับช่วงจากมิตซูบิชิ โดยครั้งแรกสำนักงานตั้งอยู่ที่ถนนหลวง ป้อมปราบ แต่ไม่ถึงสิ้นปีก็ย้ายไปอยู่ที่บางรักแทน
ขณะนั้นสยามกลการขายนิสสันอยู่ก่อนแล้ว ยังไม่มีใครรู้จักอีซูซุ นอกจากวิเชียรต้องขายรถแล้ว เขายังต้องผลิตอะไหล่บางชิ้นให้อีซูซุด้วย
การสั่งอะไหล่ในตอนนั้น เสียเวลาอย่างน้อย 1-2 เดือน ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ค่อยพอใจนักที่ต้องจอดรถรอไว้เฉย ๆ
"ผมคิดทำอะไหล่เทียมขึ้นมา ให้ผู้ซื้อ ๆ รถ แล้วมีอะไหล่ใช้ ทางญี่ปุ่นไม่พอใจ ผมสมมติให้เขาฟังว่าของแท้ใช้ 2 ปี ของเทียมใช้ได้แค่ 6 เดือนก็จริง แต่พอของแท้มาก็เปลี่ยนไม่ต้องจอดรถไว้เฉย ๆ ทางญี่ปุ่นก็ยอมรับ" วิเชียรเล่าถึงสิ่งที่เขาต้องทำนอกเหนือไปจากการขายรถยนต์ในตอนนั้น
ยอดขายรถยนต์ของวิเชียรในปีแรก ๆ ดีมาก เขาขายได้ถึง 3.6 ล้านบาทในปี 2506 แต่ปีต่อมาลดลงเป็น 1.5 ล้านบาท และปี 2508 ลดลงเหลือแค่ 573,845,.50 บาท
วิเชียรต้องเลิกขายรถยนต์ในช่วงต่อมา ไม่ใช่เพราะเขาไม่มีความสามารถในการขาย แต่เขาไม่มี "วิญญาณของนักขาย" ที่คนขายรถยนต์คนอื่นมีเสียมากกว่า
"ผมขายได้เยอะก็จริง แต่เก็บเงินไม่ค่อยได้ เห็นเขาร้องไห้ก็ไม่เก็บ เห็นเขามีปัญหาก็ไม่เอา" วิเชียรบอกถึงปัญหาของเขา ซึ่งสวนทางกับความคิดที่ว่าคนขายรถต้องโหดเหี้ยม ถึงเวลาโหดก็ต้องโหด ถึงเวลายึดก็ต้องยึด
เอเย่นต์ขายรถจึงต้องยกให้คนอื่นทำต่อ แต่เขายังมีชื่อเป็นเจ้าของอยู่ ซึ่งทางมิตซูบิชิเองก็ไม่ว่าอะไร ด้วยเห็นว่าวิเชียรมีฝีมือทางช่างมากกว่า จึงสนับสนุนให้ตั้งโรงงานประกอบชิ้นส่วนขึ้น
ด้วยประสบการณ์ของวิเชียรที่คลุกคลีกับชิ้นส่วนและการประกอบรถยนต์มากกว่า 30 ปี รวมทั้งอายุที่ค่อนข้างสูงของตัวเขาเอง ทำให้เขาต้องคิดถึง "ความเป็นปึกแผ่น" และอนาคตของครอบครัวให้มาก
และจากการที่ได้บุกเบิกตลาดให้อีซูซุ กับการเดินทางไปต่างประเทศบ่อยครั้ง ทำให้วิเชียรมองภาพออกว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยต้องเติบโตไปอีกมาก ยานพาหนะจะต้องมีมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรที่ต้องเพิ่มขึ้น
ในช่วงปี 2509 นั่นเองมีการตั้งอีซูซุ (ประเทศไทย) ขึ้น โดยเป็นบริษัทประกอบรถยนต์อีซูซุ ในประเทศไทย
ห้างหุ้นส่วน ไทยรุ่งเรืองวิศวกรรม จำกัด เกิดขึ้นหลังจากนั้นไม่นาน จากการร่วมลงทุนของตระกูลเผอิญโชคและธนวัฒนากูล ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ในปี 2510
ถึงแม้จะทำงานร่วมกันมาเป็นเวลาหลายปี แต่อีซูซุยี่ปุ่นยังไม่วางใจทีจะสห้ไทยรุ่งวิศวกรรมประกอบชิ้นส่วนให้ในระยะแรก
ไทยรุ่งวิศวกรรมจึงต้องแสดงฝีมือคนไทยให้ญี่ปุ่นประจักษ์ด้วยการต่อรถบัสให้บริษัทรถเมล์ ศรีนครก่อนเป็นจำนวน 50 คัน ซึ่งไทยรุ่งฯ ใจป้ำพอที่ต่อให้ก่อนโดยไม่เอาเงินดาวน์ แถมยังให้เวลาผ่อนส่งถึง 2 ปี
"ไม่แปลกอะไร ตอนนั้นคุณวิเชียรคิดว่าต่อให้เขาก็ไม่หนีไปไหน ความเสี่ยงไม่มี เพราะเขาวิ่งอยู่ในเมืองทุกวัน ๆ คนที่รู้เรื่องดีเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
หลังจากทำรถบัส ไทยรุ่งฯ ก็มาทำงานร่วมกับอีซูซุโดยรับ PROJECT ทั้งหมดทำรถกระบะ ตัวถังรถกระบะมาทำเพียงผู้เดียว
ไทยรุ่งวิศวกรรมในตอนนั้นต้องเลิกกิจการไปก่อน ในเดือนสิงหาคม 2516 ดังรายละเอียดในหนังสือขอยกเลิกห้างความว่า "การค้าขายขาดทุน และผู้เป็นหุ้นส่วนไม่ประสงค์จะทำการค้าร่วมกันอีกต่อไป เนื่องจากตลาดการค้ากำลังปั่นป่วนหนัก"
แต่สำหรับวิเชียรแล้ว เส้นทางของเขาเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น กอปรกับช่วงเวลานั้นรัฐบาลเริ่มเน้นเรื่อง LOCAL CONTENT หรือการนำชิ้นส่วนในประเทศมาใช้ในการผลิตมากขึ้น
นอกจากนั้น MORITA เพื่อนสนิทของวิเชียรที่เป็นรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของมิตซูบิชิ ก็สนับสนุนเต็มที่ แถมจุติ บุญสูง, วรรณ ชันซื่อ และพงส์ สารสิน ก็กำลังจะตั้งบริษัทขายรถอีซูซุอยู่ด้วย
วิเชียรตั้งบริษัทของเขาขึ้นโดยใช้ชื่อว่า "ไทยรุ่งยูเนียนคาร์" และย้ายสำนักงานของชัยเจริญกิจมอเตอร์ส มาอยู่ที่เดียวกัน
ไทยรุ่งฯ ในระยะแรกก็มีปัญหาด้านการเงินค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง แต่วิเชียรสามารถแก้ไขโดยได้รับความช่วยเหลือจากสองทาง
ทางแรกคือไทยรุ่งฯ ขอรับเงินในการผลิตชิ้นส่วน และรถกระบะจากมิตซูบิชิทันทีที่ได้รับ ออร์เดอร์ก่อน 80% ที่เหลืออีก 20% จ่ายทันทีที่ได้รับสินค้า
อีกทางหนึ่ง วิเชียรได้รับความช่วยเหลือจากจรูญ เอื้อชูเกียรติ ซึ่งรู้จักกันตั้งแต่ครั้งที่เขาอยู่สยามกลการ และจรูญอยู่ที่ทหารสามัคคี ทั้งสองติดต่อกันเรื่อยมา ตอนหลังก็เป็นเสฐียร เตชะไพบูลย์ น้องชายคนที่เจ็ดของตระกูลเตชะไพบูลย์ ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการแบงก์เอเชียอยู่ช่วงหนึ่ง นอกจากนั้นวิเชียรช่วยตัวเองมาตลอด
ซึ่งในส่วนนี้จะสังเกตเห็นถึงความฝังลึกของประสบการณ์ในช่วงที่ยังยากจนของวิเชียรอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจาก ชิน โสภณพนิช เองเคยเอ่ยปากถามวิเชียรว่าทำไมมีปัญหาไม่ยอมไปหาเลยสักครั้ง??
"ที่ผมไม่ไปเพราะรู้ว่าเราเป็นคนจน เราต้องเจียมตัว ผมบอกคุณชินว่า จะหาแบงก์ก็ต้องมีหลักทรัพย์ ไม่มีก็พูดกันไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้นไม่ไปดีกว่า" วิเชียรให้เหตุผลที่เขาไม่ไปพบชินยามที่เขามีปัญหา
ไทยรุ่งฯ ตั้งได้ปีเดียว มิตซูบิชิ คอร์ป ก็ตั้งตรีเพชรอีซูซุเซลส์ ขึ้นอีกบริษัทหนึ่ง โดยมี มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) ร่วมกับมิตซูบิชิ คอร์ป ญี่ปุ่น เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ร่วมกับสามสหาย จุติ บุญสูง วรรณ ชันซื่อ และพงส์ สารสิน
เทคโนโลยี่และ KNOW-HOW ต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิตไทยรุ่งฯ ได้รับความช่วยเหลือจากอีซูซุมอเตอร์ และบริษัทชาไตโคเงียว จากประเทศญี่ปุ่น
ในช่วงแรกไทยรุ่งยูเนียนคาร์รับทำกระบะไม้กระบะเหล็กและ REAL BODY ซึ่งขณะนั้นกล่าวได้ว่าไทยรุ่งฯ เป็น "เจ้าพ่อรถกระบะ" ของเมืองไทยเลยทีเดียว
ตลาดรถขนาดกลางมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ความต้องการมีสูงมาก ไทยรุ่งฯ เริ่มทำโรงงานแม่พิมพ์สำหรับปั๊มชิ้นส่วนต่าง ๆ ทำการพัฒนาจากการทำไว้ใช้เองในโรงงานจนกระทั่งเป็นซัพพลายเออร์ใหญ่ให้อีซูซุ
ทางแห่งความสำเร็จย่อมไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไปฉันใด เส้นทางของไทยรุ่งฯ ก็เช่นเดียวกันที่จะต้องเผชิญความผันผวนและปัญหาต่าง ๆ เสมอ
ครึ่งปีแรกตั้งแต่เดือนตุลาคม 2518 - มีนาคม 2519 ตรีเพชรฯ ขายรถได้ 6,605 คัน ทั้ง ๆ ที่คาดว่าจะขายได้ไม่ต่ำกว่า 12,000 คัน ในปีนั้น
ปี 2519 - 20 ยอดขายเป็น 16,670 คัน เป็นเงินทั้งสิ้น 3,456 ล้านบาท ความต้องการรถบรรทุก รถปิกอัพ โดยเฉพาะขนาด 1 ตัน เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในปี 2526 - 27 ยอดขายพุ่งขึ้นไปถึง 24,781 คัน
แน่นอนที่สุด ตรีเพชรฯ เริงร่าได้ ไทยรุ่งฯ ที่เป็นผู้ผลิตและประกอบรถให้อีซูซุย่อมต้องพลอยสดใสไปด้วย
ปี 2528-29 มีการขึ้นอัตราอากรขาเข้าของชิ้นส่วน และค่าเงินเยนที่สูงขึ้น ยอดขายครึ่งปีลดเหลือแค่ 9,334 คัน ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 1,391 คัน และกรรมการบริหารของตรีเพชรฯ เอง ก็คาดหมายว่าในปลายปียอดขายคงไม่กระเตื้องขึ้นด้วย
ปริมาณงานของรถกระบะจากอีซูซุที่ไทยรุ่งฯ เคยทำอยู่ลดลงจากประมาณ 6-700 คันต่อเดือน เหลือเพียงไม่ถึงครึ่งหนึ่ง
เนื่องจากใน 2-3 ปีที่ผ่านมา อีซูซุไม่ได้สั่งทำรถกระบะ และชิ้นส่วนทั้งหมดจากไทยรุ่งฯ การลดลงของปริมาณงานครั้งนี้ จึงทำให้ไทยรุ่งฯ ต้องขยับตัวครั้งใหญ่
ไทยรุ่งฯ ในตอนนั้นคงคิดไว้ว่าจะพึ่งแต่ออร์เดอร์ของอีซูซุอย่างเดียวคงไม่ได้แล้ว
เพื่อความอยู่รอดของบริษัท และคนงานไทยรุ่งฯ จึงเกิดความคิดที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เป็นของไทยรุ่งฯ เองเข้าสู่ตลาดพร้อม ๆ กับการเพิ่มการประกอบรถยี่ห้ออื่น ๆ ที่เอเย่นต์ขายรถส่งมาให้
ผลิตภัณฑ์ใหม่จากการพัฒนาในระยะแรกของไทยรุ่งฯ คือ "ซุปเปอร์แต๋น" รถสำหรับเกษตรกรไทยรุ่งฯ ดัดแปลงจากรถอีแต๋นที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีความปลอดภัยมาออกแบบให้ถูกหลักวิศวกรรมและปลอดภัยในราคาที่เกษตรกรซื้อหาได้
"ซุปเปอร์แต๋น" ไม่ได้ประสบความสำเร็จมากมายอย่างที่หวังไว้ เนื่องจากตลาดนี้เป็นตลาดที่ ผู้ซื้อมีกำลังซื้อน้อยมาก และผลผลิตทางการเกษตรในปีนั้นไม่ดีอย่างที่คาดคิด
นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ตัวสินค้ามี MARGIN ต่ำ แต่แม้ว่าจะไม่ได้เป็น PROFIT TAKING PRODUCT ไทยรุ่งฯ ดูจะพอใจที่ "ซุปเปอร์แต๋น" สามารถยกระดับสินค้าประเภทนี้ในตลาดขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง
ซุปเปอร์แต๋นส่วนมากจะขายได้เป็นฤดูคือหลังเกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตมีเงินทองแล้ว ซึ่งภาคอีสานขายได้ดีมาก ๆ
ไทยรุ่งฯ ไม่ได้หยุดยั้งการพัฒนาเพียงเท่านี้ ขณะที่ไทยรุ่งฯ ส่ง BODY PART ของรถปิคอัพบางส่วนให้อีซูซุ ยังมีเครื่องมือบางส่วน รวมทั้งบุคลากรที่มีประสบการณ์เหลืออยู่ ที่จะทำให้การพัฒนาก้าวไปได้เรื่อย ๆ
ในช่วงที่ความต้องการของตลาดลดลงนั้น ไทยรุ่งฯ LAUNCH รถปิคอัพที่ดัดแปลงมาเป็น "DOUBLE CAB" ที่เคยมีทำอยู่บ้างในตลาดแต่ไม่จริงจังนักออกตลอด
"เราเป็นแห่งแรกในเมืองไทยที่ทำอย่างเป็น MASS PRODUCTION และมีมาตรฐาน" สมพงษ์ เผอิญโชค ผู้จัดการทั่วไปของไทยรุ่งฯ บอกกับ "ผู้จัดการ"
"DOUBLE CAB" ของไทยรุ่งฯ ประสบความสำเร็จเป็นที่น่าพอใจทีเดียว
ขณะเดียวกันไทยรุ่งฯ ทำการวิจัยสำรวจความต้องการใช้รถบรรทุกในเมืองไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศอยู่ด้วย
ผลการวิจัยแสดงความแตกต่างของการใช้รถในเมืองไทย ว่าผู้ซื้อจะใช้รถบรรทุกสิ่งของและบรรทุกคนสลับกันแล้วแต่โอกาส แต่การบรรทุกมีน้อยครั้งมากที่ใช้เต็มกำลังของรถ
จากช่องว่างนี้เอง เมื่อความต้องการมีสูงขึ้น แต่ผู้ซื้อมีกำลังซื้อไม่พอที่จะซื้อรถเก๋งไทยรุ่งฯ จึงคิดออกมาเป็น "DOUBLE CAB SUPREME"
"DOUBLE CAB SUPREME" ดัดแปลงมาจากอีซูซุฟาสเตอร์แซด 2500 DI ที่ไทยรุ่งฯ พัฒนารูปร่าง DIMENSION ต่าง ๆ ที่คิดขึ้นมาเอง จุคนได้มากขึ้น บรรทุกสิ่งของได้มากกว่า
เช่นเดียวกับที่เวลานั้น อีซูซุนำ "บัดดี้" มาจากญี่ปุ่นทั้งคัน โดยนำเอารถบรรทุกมาดัดแปลงเป็นรถตู้
หลังจากนั้นไม่นานไทยรุ่งฯ ออก "คิวเอฟอาร์ บัดดี้" สู่ตลาด
"คิวเอฟอาร์ บัดดี้" เป็นอีกชิ้นหนึ่งที่เป็นความภาคภูมิใจของไทยรุ่งฯ เป็นแบบที่คนไทยคิดขึ้นเอง ไม่ได้เป็นสเป็คที่ออกแบบมาจากญี่ปุ่น ได้รับการทดสอบสมรรถนะ และได้รับการยอมรับให้เป็นรถในมาตรฐานอีซูซุญี่ปุ่นไปแล้ว
แค่สามตัวนี้ไทยรุ่งฯ ก็ปลื้มไม่เสร็จไปนานทีเดียว
จากความสำเร็จที่ผ่านมา ไทยรุ่งฯ "ปัดฝุ่น" สเตชั่นแวกอน ที่เคยคิดไว้เมื่อปี 2527 กลับมาอีกครั้ง
ครั้งนั้น สมัคร สุนทรเวช แห่งพรรคประชากรไทย นำเสนอความคิดที่จะยกเลิกแท็กซี่แบบโทรม ๆ ที่วิ่งกันอยู่ มาเป็นรถที่มีความเรียบร้อยปลอดภัยมากขึ้น
สมัครนำเรื่องนี้มาปรึกษากับวิเชียร วิเชียรจึงเสนอรถเบ๊นซ์ และสเตชั่นแวกอนที่นั่งได้ 11 คน แต่ต้องยกเลิกไป เพราะสมัครไม่ได้เป็นรัฐมนตรีคมนาคมในสมัยต่อมา
วิเชียรกลับไม่ได้ทิ้ง "สเตชั่นแวกอน" ลงตะกร้าไป เพราะนี่เป็นรถที่ตรงกับความคิดของเขา ที่ต้องการรถที่มีฟังก์ชั่นการใช้งานได้มากกว่า "DOUBLE CAB"
เป็นรถที่ผู้ทำมาหากินทั่ว ๆ ไป สามารถซื้อได้ในราคาไม่สูงนัก ใช้บรรทุกของได้ รูปร่างสวยเหมือนเก๋งทั่วไป ใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศมากที่สุด
ซึ่ง "สเตชั่นแวกอน" เป็นรถในจินตนาการของวิเชียรพอดี
ความคิดเช่นนี้ของวิเชียรถูกคัดค้านจากหลายฝ่าย แต่เขายังดันทุรังทำมันออกมา ด้วยความคิดที่ว่าจะทำให้คนไทยใช้เท่านั้น
แต่จากนั้นสเตชั่นแวกอน "รถสารพัดประโยชน์" ก็ทำให้ไทยรุ่งฯ ทั้งชื่นชม และปวดหัวมากมายกับนโยบายของรัฐ หลังจากออกมาสู่ตลาดได้ระยะหนึ่ง (โปรดอ่านล้อมกรอบ "เบ็นซ์แวน ที่ทำให้ไทยรุ่งฯ เสียววาบ")
พอมีปัญหาเรื่องเบ็นซ์แวนที่อื้อฉาว ไทยรุ่งฯ กับสเตชั่นแวกอน พลอยถูกหางเลขไปด้วย ยอดขายที่เคยสูงถึง 100-200 คันต่อเดือน ลดฮวบลงเหลือไม่ถึง 50 คัน
จากจุดนี้ ไทยรุ่งฯ ต้องกลับมาเหนื่อยอีกครั้ง
ด้วยความคุ้นเคยที่มีต่อรถบรรทุกขนาดกลางที่ทำมาตั้งแต่ต้น ไทยรุ่งฯ นำ "ซีต้า" ทั้งรถโดยสาร และบรรทุกออกตลาด
ไทยรุ่งฯ นำเอา CHASSIS-WINDSHIELD ที่ใช้แล้วเป็นเครื่อง SECOND HAND จากญี่ปุ่นมา REBUILT OVER ALL ทำใหม่หมด ทำให้คุณภาพใกล้เคียงประมาณ 80% ของรถใหม่
นั่นคือส่วนที่เก่าจะเป็นเฉพาะเครื่องยนต์และเฟืองท้าย แต่ตัวถังใหม่หมด
โครงการนี้ของไทยรุ่งฯ เริ่มจาก เปลี่ยนรถสองแถวเป็นมินิบัสตามนโยบายของขสมก. จำนวน 300 คัน ต่อมารัฐบาลไม่ดำเนินโครงการนี้ ต่อความต้องการของตลาดในส่วนของโรงเรียนอนุบาล หรือตลาดอื่นน้อยลง ไทยรุ่งฯ จึงต้องยกเลิกโครงการซีต้ามินิบัสไปอย่างน่าเสียดาย
สำหรับไทยรุ่งฯ โครงการนี้ไม่จบลงเสียทีเดียว เมื่อความต้องการมินิบัสลดลงไทยรุ่งฯ จึงคิดค้นรถบรรทุกซีต้าออกมาแทน
รถบรรทุกซีต้า (CHEETAH) เป็นรถที่ใช้เครื่องใช้แล้ว (USED ENGINE) มาทำใหม่ ให้คุณ-ภาพดีใกล้เคียงกับรถใหม่ จะด้อยกว่าเฉพาะในส่วนของ HIGH TECHNOLOGY แต่ราคาก็ถูกกว่ามาก
CHEETAH TRUCK หรือรถบรรทุกซีต้า เป็นโครงการในความรับผิดชอบโดยตรงของสมพงษ์ เผอิญโชค ลูกชายคนที่ 2 ของวิเชียร และเขาเชื่อมั่นมากว่ามันจะไปได้ไกลแน่ ๆ
"อาจมีปัญหาบ้างถ้าราคาเราสูงขึ้น ก็จะต้องสู้กับรถใหม่ ขึ้นอยู่กับมูลค่าของตัวรถที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่เราพรีเซ้นท์จุดยืนของสินค้าตัวนี้ออกไปชัดเจนว่าเป็นเครื่องเก่า แต่ตัวอื่นใหม่หมดลูกค้าก็ ยังพอใจดี" สมพงษ์ชี้แจงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับ "ผู้จัดการ"
คนในวงการวิเคราะห์ว่าความก้าวหน้าและความสำเร็จในวันนี้ของไทยรุ่งฯ มาจากการพัฒนาสร้างหรือออกแบบตัวรถ ให้เหมาะกับความต้องการภายในประเทศ
รวมทั้งนโยบายทางการตลาดที่ค่อนข้างคอนเซอร์เวตีฟที่ต้องหาจุดใดจุดหนึ่งที่เป็นจุดเด่น เป็นเส้นทางที่ได้รับการยอมรับอยู่แล้ว ศึกษาจนแน่ใจก่อนจึงจะเข้าไป
แต่ปัญหาในอนาคตของไทยรุ่งฯ จริง ๆ แล้ว คงอยู่ที่ความเป็น FAMILY BUSINESS ที่คนรุ่นต่อไปจะสานต่อเจตนารมณ์ของคนรุ่นเก่าได้ดีเพียงไร
"เมื่อก่อนว่าไปแล้วเราเป็นเพียงบริษัทรับจ้าง เป็นผู้ผลิต เป็นผู้ทำชิ้นส่วนให้เขามีออร์เดอร์ มาวันหนึ่งไม่ต้องดูอะไร คุณสั่งมา ผมทำให้ทันมันก็เท่านั้น" สมพงษ์เท้าความถึงลักษณะธุรกิจของไทยรุ่งฯในอดีต
แต่เมื่อมีสินค้าเป็นของตนเอง จึงต้องทำการศึกษามากขึ้น หาลู่ทางที่จะทำให้สินค้าเป็นที่ยอมรับของตลาด สร้าง CHANNEL และ NETWORK ที่เป็นของตนเอง ซึ่งในส่วนเหล่านี้สมพงษ์บอกว่าการที่เคยเป็นเอเย่นต์มาก่อน มีเพื่อนเป็นเอเย่นต์มาก ๆ ช่วยไทยรุ่งฯ ได้มากทีเดียว
วิเชียรคงมองเห็นจุดนี้เช่นกัน ทำให้เขาวางแผนและกำหนดบทบาทของลูกชายชาตรี และสมพงษ์ไว้อย่างแจ่มชัด
นั่นคือ วิเชียรให้สมพงษ์ดูแลงานทางด้านโรงงานทั้งหมด และตั้งบริษัทในเครือขึ้นอีกแห่งหนึ่ง เพื่อทำการตลาดโดยเฉพาะ
ไทยรุ่ง วี พี คอร์ปอเรชั่น ถูกตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2530 มีทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท
เปลี่ยนชื่อเป็น ไทย วีพี คอร์ปอเรชั่น ในเดือนพฤศจิกายน คนใกล้ชิดของไทยรุ่งฯ บอก "ผู้จัดการ" ว่า วีมาจากวิเชียร พี มาจาก ปราณี โดยมีชาตรี เป็นกรรมการผู้จัดการ
ไทย วีพี จะพยายามสร้าง NETWORK ของตัวเอง พยายามจะนำสินค้าของไทยรุ่งฯ กระจายไปให้มากที่สุด เน้นให้เอเย่นต์ที่เขาจะได้มี PRODUCT MIXED หลาย ๆ ตัวมีสินค้ามากขึ้น" ชาตรีพูดถึงบทบาทของไทย วีพี ที่เขารับผิดชอบอยู่
"องค์กรมันโตขึ้นมาเรื่อย ๆ เราต้องมีการบริหารโดยใช้ PROFESSIOHNAL MANAGEMENT เป็นสิ่งเดียวที่เราจะทำได้ และเป็นเป้าหมายหลักของเราด้วย" สมพงษ์บอก "ผู้จัดการ" ถึงก้าวต่อไปของไทยรุ่งฯ และบริษัทในกลุ่ม
ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติที่ว่าธุรกิจครอบครัว เมื่อขยายตัวมาถึงระดับหนึ่งจะมีปัญหา ถ้าโชคดีเป็นครอบครัวที่เก่ง มีคนมากปัญหาก็อาจจะลดน้อยลงไป และขึ้นอยู่กับพื้นฐานธุรกิจที่มีการเตรียมการได้ดีแค่ไหน มองภาพในอนาคตเป็นอย่างไรด้วย
"ตอนนี้เราเริ่ม RECRUIT คนจากภายนอกเข้ามา คนภายในก็เสริมสร้างให้เขามีศักยภาพมากขึ้น สมพงษ์เน้นย้ำแนวทางที่เขาจะทำต่อไปด้วยความเชื่อมั่น
หากชัยเจริญกิจมอเตอร์ที่มีรายได้ในปี 2509 แค่ 1.5 ล้านบาท มาเป็นไทยรุ่งวิศวกรรม ซึ่งก่อนเลิกกิจการมีรายได้จากการต่อรถถึง 11.3 ล้านบาท
เป็นไทยรุ่งยูเนียนคาร์ ที่มีสินทรัพย์กว่า 180 ล้านบาท และยอดขายในปีที่ผ่านมากว่า 400 ล้านบาท ก็คงต้องถือว่าไทยรุ่งฯ มาได้ไกลพอสมควร
"ตอนนี้ก็สร้างพื้นฐานไว้เท่านั้น ยังต้องเติบโตต่อไปอีก เพราะว่าประเทศไทยเรามีโอกาสที่ดีมาก ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ก็มีปัญหา ก็จะมาดีที่ไทยเรา เราต้องขยาย ต้องทำก็ต้องให้ลูก ๆ ผมไม่บังคับลูก ไม่ชอบโรงงานก็ไม่ให้ทำ เราทำมาถึงแค่นี้แล้วนี่" วิเชียรกล่าวทิ้งถึงเป้าหมายของไทยรุ่งฯ ในอนาคต
เรื่องราวของไทยรุ่งฯ คงไม่จบลงเพียงเท่านี้ แต่ประวัติศาสตร์หน้าต่อไปของไทยรุ่งฯ จะเจิดจรัส น่าสนใจ และมีความหมายเช่นเดียวกับอดีตที่ผ่านมาหรือไม่ คงขึ้นอยู่กับคนรุ่นต่อไปที่จะเขียน และกำหนดให้เป็นอย่างไรต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|