|
แผนหมูสามชั้น ข่าวดีที่แบงก์กลัวเจ็บตัวอีก !?
โดย
ธนธรณ จันทรนิมิ
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2531)
กลับสู่หน้าหลัก
หลังปล่อยให้วังน้ำฝนมีอิสระในการแก้ไขปัญหาเกือบหนึ่งปีเต็ม แบงก์กรุงเทพก็พอมองออกเลา ๆ แล้วว่า ตัวเองคงหมดความหวังกับวังน้ำฝนเสียแล้ว ดังนั้นจึงได้ยื่นข้อเสนอแบบค่อย ๆ บีบและ ไม่น่าเกลียดจนเกินไปนักรวมทั้งวังน้ำฝนเองก็ไม่มีสิทธิ์ปฏิเสธ 3 ข้อใหญ่คือ
หนึ่ง - ให้วังน้ำฝนรับดำเนินการหาผู้ร่วมทุนรายใหม่ภายในเวลา 1 ปี (สิ้นปี 2530)
สอง - ให้วังน้ำฝนทำการชำระหนี้สินกับแบงก์อย่างเด็ดขาด เนื่องจากที่ผ่าน ๆ มายังไม่มีการปลดหนี้สินส่วนหนึ่งส่วนใดอย่างเป็นรูปธรรมเลย แม้ว่าแบงก์จะยืดระยะเวลาผ่อนชำระให้แล้วก็ตาม
สาม - ให้มีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารโดยสิ้นเชิงถ้าสภาพการณ์ต่าง ๆ ยังคงเลวร้ายเช่นเดิม
แรก ๆ ที่รู้เงื่อนไขจะถูก "เชือด" แน่นอนแล้ว พิเชษฐ์เองได้วิ่งเต้นสุดกำลังที่จะหาผู้ร่วมทุนจากต่างประเทศเข้าร่วมสังฆกรรม แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ปรากฎผู้กล้ารายไหนจะร่วมตกร่องปล่องชิ้นด้วยกระทั่งถึงกลางเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว พิเชษฐ์จึงดิ้นครั้งสุดท้ายด้วยการทำบันทึกแนวทางแก้ไขปัญหาระยะยาวให้แบงก์รับพิจารณา
แนวทางใหม่ที่เขาเสนอไปนั้นมุ่งเน้นที่ "การชำแหละเนื้อหมูส่งออก" โดยขั้นแรกขออนุมัติเงินลงทุน 5 ล้านบาทเพื่อใช้ในการปรับปรุงโรงเรือนเสียใหม่ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนซองคลอดให้ทันสมัยขึ้น 48 หลัง เพิ่มคอกอนุบาล อีก 48 หลัง
พิเชษฐ์ได้ใช้เวลาศึกษาปัญหาและหาทางออกด้วยการแจกแจงรายละเอียดความเป็นไปได้ที่จะฟื้นสภาพของโครงการลาดตะเคียนให้แบงก์รับทราบว่า ถ้ายินดีรับข้อเสนอดังกล่าวจะทำให้ผลผลิตหมูของโครงการลาดตะเคียนเปลี่ยนไปดังนี้
ปี 2530 จะได้ลูกหมู 65,740 ตัว/ปี หรือ 180 ตัว/วัน
ปี 2531 จะได้ลูกหมู 81,134 ตัว/ปี หรือ 220 ตัว/วัน
ปี 2532 จะได้ลูกหมู 97,200 ตัว/ปี หรือ 226 ตัว/วัน
ปี 2533 จะได้ลูกหมู 140,000 ตัว/ปี หรือ 380 ตัว/วัน
ปี 2534 จะได้ลูกหมู 178,125 ตัว/ปี หรือ 486 ตัว/วัน
ปี 2535 จะได้ลูกหมู 186,430 ตัว/ปี หรือ 510 ตัว/วัน
จากการเปลี่ยนแปลงคอกเลี้ยง (ถ้าแบงก์ยินยอม) ซึ่งจะได้ผลผลิตใหม่ดังข้างต้น พิเชษฐ์ตั้งเป้าเอาไว้ว่าถ้าขายลูกหมู 1 ตัวตามราคาเฉลี่ยในช่วง 6 ปี จะได้กำไร กก.ละ 3.00 บาท ซึ่งจะทำให้มีเงินผ่อนชำระหนี้กับแบงก์ได้เดือนละ 31.8 ล้านบาท
นอกจากนี้เขายังขอความช่วยเหลือในระยะยาวจากแบงก์เพิ่มเติมอีก 3 ข้อคือหนึ่ง - ให้แบงก์ลดยอดหนี้เงินกู้ 607.8 ล้านบาทให้เหลือเพียง 300 ล้านบาท และยอดหนี้จำนวนนี้ให้ถือเป็นยอดหนี้คงค้างจ่ายที่ไม่มีดอกเบี้ย สอง - ขอให้มีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ย 3 ปี สาม -ให้แบงก์คิดอัตราดอกเบี้ยโดยแบ่งเป็นช่วง ๆ เวลาคือ ปีที่ 4-8 คิด 6% ปีที่ 9-10 คิด8% ปีที่ 14-18 คิด 12%
พิเชษฐ์มั่นใจมากว่าจะคืนเงินกู้ที่เป็นหนี้สูงร่วม 700 ล้านได้แน่นอนภายในเวลา 28 ปี!!!
เขาคิดว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องเพ้อฝัน เพราะมันถูกกลั่นกรองซ้ำแล้วซ้ำเล่าจากมันสมองของผู้เชี่ยวชาญอย่างเขาที่เคยทำกำไรนับร้อยล้านบาทให้กับ ซี.พี.มาแล้วในโครงการหนองหว้า
ซึ่งเมื่อถึงเวลานี้ที่ราคาหมูในท้องตลาดเริ่มที่จะกลับมาดีอีกหน อีกทั้งในตลาดโลกความต้องการเนื้อหมูก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มปริมาณมากขึ้น ๆ ตามลำดับนั้น ดู ๆ แล้วแนวทางแก้ไขปัญหาของพิเชษฐ์ก็ไม่ถึงกับที่จะอับมืดไปเสียทีเดียว ??
น่าเสียดายที่เครดิตและความเฉียบฉลาดที่เขาเคยมีจนทำให้แบงก์ตาพองโตมาแล้วนั้นไม่มีหลงเหลือให้เชื่อใจเสียแล้ว !!
ชาตรี โสภณพานิช ฟังที่เขาเสนอมายังไง ๆ ก็ฟังไม่ขึ้น!!!
แล้วที่สุดจึงนำไปสู่การฟ้องร้องในเวลาถัดมา !!!
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|