กรมธรรม์ฉบับแรกในโลก เพราะ YOU ASKED FOR IT

โดย สมชัย วงศาภาคย์
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

ก่อนจะมาเป็นกรมธรรม์ฯ

อภิรักษ์ ไทพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยประกันฯ ได้รับแจ้งจากวานิช ไชยวรรณ กรรมการผู้อำนวยการว่า ทางกองทัพบกปรารถนาให้บริษัทไทยประกันฯ ช่วยจัดทำโครงการประกันชีวิตให้แก่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ตามแนวชายแดน และสู้รบกับข้าศึก โดยย้ำว่าอยากให้โครงการนี้สำเร็จโดยเร็วที่สุด

หลังจากนั้นวันรุ่งขึ้น (กลางเดือนธันวาคม 2529) อภิรักษ์ได้สั่งการให้ปราณีต วีรกุล หัวหน้าส่วนประกันชีวิตหมู่ศึกษาความเป็นไปได้โครงการนี้ โดยให้เสนอทางเลือกเพื่อการพิจารณาไว้ เพราะ "ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงความต้องการทางกองทัพที่จะให้บริษัทเข้าไปประกันในรูปแบบใด"

จากการศึกษาด้วยระยะเวลาเพียง 2 สัปดาห์ ปราณีต วีรกุล ก็ได้เสนอทางเลือกความเป็นไปได้โครงการนี้แก่อภิรักษ์

ทางเลือกที่ว่านี้มี 4 รูปแบบ คือ หนึ่ง - ประกันชีวิตกลุ่มทหารแบบธรรมดาเหมือนกับที่ใช้กับการประกันชีวิตกลุ่มทั่วไป หรือ สอง - ประกันชีวิตกลุ่มพิเศษเน้นการคุ้มครองเฉพาะทหารที่ออกรบ ลักษณะของการประกันแบบกึ่งบริหารกองทุนกึ่งประกันชีวิต หรือ สาม - ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้จัดตั้งกองทุนและรับบริหารกองทุนให้แก่กองทัพทั้งหมด ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นคืนให้กองทัพทั้งหมด โดยบริษัทได้ค่าตอบแทนในรูปค่าธรรมเนียมเล็กน้อย หรือ สี่ - จัดตั้งเป็นมูลนิธิ

ต้นมกราคม 2530 อภิรักษ์ พร้อมสุมิตรา จากสำนักงานประกันภัยกระทรวงพาณิชย์ ได้นำ ข้อเสนอ 4 รูปแบบนี้ ประชุมปรึกษาหารือกับเสธ. จรวย วงศ์สายันห์ ผู้แทนกองทัพบกที่หอประชุม กองทัพบก

ในช่วงนั้น เสธ. จรวยได้บอกนโยบายของบิ๊กจิ๋วในโครงการนี้แก่อภิรักษ์ว่าทางกองทัพต้องการผลการคุ้มครองเฉพาะทหารที่ปฏิบัติการรบเท่านั้น และลดหลั่นตามขั้นยศ

เมื่อทราบนโยบายที่แน่ชัดของกองทัพในเรื่องนี้ อภิรักษ์ก็ได้ตัดทางเลือกจาก 4 ข้อ เหลือเพียง 2 ข้อ คือเหลือเฉพาะทางเลือกเป็นเพียงผู้บริหารกองทุนหรือกึ่งประกันชีวิต กึ่งบริหารกองทุน ซึ่งต้องออกเป็นรูปลักษณะกรมธรรม์ประกันชีวิตหมู่พิเศษขึ้นมาใหม่ และต้องผ่านการอนุมัติจากสำนักงานประกันภัย

ในการประชุมกับผู้แทนกองทัพบก รอบที่สอง ข้อเสนอ 2 ข้อที่ว่านี้ อภิรักษ์ได้นำเข้าปรึกษาหารือ โดยชี้ว่าถ้าเป็นข้อเสนอรับบริหารกองทุน ที่กองทัพจัดตั้งขึ้น ทางกองทัพจะต้องมีจำนวนเงินที่ แน่นอนในการตั้งกองทุนและร่างระเบียบกฎเกณฑ์การใช้จ่ายเงินในกองทุนที่เฉพาะเจาะจง

แต่ทางกองทัพติดปัญหาไม่สามารถกำหนดเงินจัดตั้งกองทุนได้ เพราะตัวเลขการสูญเสียจากการสู้รบของทหารในอดีต 10 ปี ย้อนหลังไม่แน่นอน จึงกำหนดวงเงินกองทุนลำบาก

ดังนั้น จึงเหลือเพียงทางเลือกเดียว คือรูปแบบกึ่งจัดการกองทุนกึ่งประกันฯและในที่สุด เรื่องนี้ทางบิ๊กจิ๋วก็เห็นชอบด้วยตามข้อเสนอของไทยประกันให้ใช้รูปแบบกึ่งจัดการแบบกองทุน กึ่งประกัน โดยผลตอบแทนที่เกิดขึ้นจากการบริหารกองทุนของบริษัท ทางบริษัทไทยประกันจะคืน (REFUND) ให้แก่กองทัพทั้งหมด หลังจากหักค่าใช้จ่ายค่าจัดการ 5% ของเบี้ยประกันและค่าสินไหม ที่จ่าย

หลังจากนั้นปลายเดือนมกราคม 2530 การทำงานเพื่อผลิตกรมธรรม์ประกันชีวิตหมู่ภัยสงคราม จึงเริ่มขึ้น !!

กรมธรรม์ที่ G 2-0001:ฉบับแรกในโลกที่บางเฉียบเพียง 4 หน้าเท่านั้น!

กรมธรรม์ชิ้นนี้ อภิรักษ์ ไทพัฒนกุล กรรมการผู้จัดการไทยประกันชีวิตซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ประกันภัย ในฐานะเป็นคนไทยคนแรกในธุรกิจนี้ที่ได้รับประกาศนียบัตร สมาชิกวิสามัญสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัย หรือที่เรียกกันในภาษาอังกฤษว่า "A.S.A. ASSOCIATE OF SOCIE-TY OF ACTURARITES" ที่วงการธุรกิจประกันภัยทั่วโลกยอมรับในฝีมือ ได้ลงมาเล่นเองโดยตรง อภิรักษ์ใช้เวลาผลิตกรมธรรม์ชิ้นนี้ประมาณ 1 เดือนเต็ม ๆ โดยข้อมูลทั้งหมดมาจากกองทัพบกทั้งสิ้น

"ผมทำงานชิ้นนี้ บนพื้นฐานความเชื่อใจและไว้วางใจกองทัพว่าจะให้ข้อมูลทั้งหมดที่เป็นความจริง" อภิรักษ์เล่าให้ฟัง

กรมธรรม์ชิ้นนี้ลงตัวที่ หนึ่ง- ทางกองทัพบกจะต้องจ่ายเบี้ยประกันปีละ 17 ล้านบาท โดยทยอยจ่าย 3 งวด ทุก ๆ 4 เดือน สอง-ทุนประกันถือตามขั้นยศชั้นสูงสุดไม่เกินคนละ 100,000 และต่ำสุด 50,000 บาท สาม - บริษัทไทยประกัน จำกัด ขอบเขตความรับผิดชอบค่าสินไหมส่วนเกินของจำนวนเบี้ยประกันรวมไม่เกิน 50% หรือพูดง่าย ๆ งานนี้บริษัทไทยประกัน ขอขาดทุนเพียง 50% ของจำนวนรวมเบี้ยประกัน 17 ล้านบาท ซึ่งตกราว ๆ 8.5 ล้านบาท สี่- บริษัทขอคิดค่าธรรมเนียมจัดการโครงการนี้ 5% ของจำนวนรวมเบี้ยประกัน และสุดท้าย - กรมธรรม์นี้คุ้มครองเฉพาะส่วนทหารที่เสียชีวิตหรือพิการจนปลดประจำการจากเหตุการสู้รบเท่านั้น

เมื่อกรมธรรม์ลงตัวแล้ว อภิรักษ์ก็เสนอขออนุมัติออกกรมธรรม์ฉบับนี้ต่อสำนักงานประกันภัย ซึ่งคนที่พิจารณาเรื่องนี้คือ สุมิตรา วรกุลเฉลิม ผ.อ. กองประกันชีวิต

สำนักงานประกันภัยใช้เวลาพิจารณาอนุมัติกรมธรรม์ด้วยเวลาเร็วมากกว่าปกติเพียงสัปดาห์เดียว ทุกอย่างเรียบร้อย ต้นเดือนมีนาคม 2530!

"ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เราพิจารณารวดเร็วเพราะทราบว่าทางกองทัพบกอยากให้โครงการนี้ออกใช้โดยเร็วภายในเดือนเมษายน..." สุมิตราเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

กรมธรรม์ที่ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานประกันภัยชิ้นนี้ หมายเลย G 2-0001! บางเฉียบเพียง 4 หน้าเท่านั้น นับว่าเป็นกรมธรรม์ที่บางที่สุดในโลก และเป็นครั้งแรกในโลกและครั้งแรกในรอบ 45 ปีของบริษัทไทยประกันที่ออกกรมธรรม์ใช้ในลักษณะเช่นนี้

เหตุผลข้อหนึ่งเพราะ เอกสิทธิ์และเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์มีเพียง 9 ข้อเท่านั้น สั้น ๆ และง่าย ๆ ต่อการเข้าใจ รายละเอียดมีดังนี้...

ข้อ 1 สัญญาประกันภัยนี้เกิดขึ้นจากการที่บริษัท (ไทยประกันชีวิต) เชื่อถือข้อแถลงของผู้ทรงกรมธรรม์ (กองทัพบก-พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ) ในใบคำขอเอาประกันภัยที่ผู้ทรงกรมธรรม์ลงลายมือชื่อไว้ และได้มีการชำระเบี้ยประกันภัยแล้ว บริษัทจึงตกลงทำสัญญาและออกกรมธรรม์นี้ให้ไว้

ตรงนี้ "ผู้จัดการ" ขออนุญาตเล่าบรรยากาศวันทำสัญญาสักเล็กน้อย...คือว่า ก่อนหน้าวันทำสัญญา (27 มีนาคม 2530) เพียงวันเดียว กองทัพบกเพิ่งได้เงินบริจาคเพื่อชำระค่าเบี้ยงวดแรก 5 ล้านบาทในวันทำสัญญา

เรียกว่าการเตรียมเงินเพื่อชำระเบี้ยงวดแรกนี้ฉุกละหุกมาก ๆ เพราะเงินชำระค่าเบี้ยทั้งหมดในโครงการนี้ จะเบิกเอาจากงบประมาณในกองทัพไม่ได้ ต้องขอบริจาคเอาจากประชาชน

และวันนั้นคนที่บริจาคให้ก็คือ แบงก์ทหารไทย 2 ล้าน บาท ราชตฤณมัยสมาคม 1 ล้านบาท บริษัทสุรามหาราษฎรและสุราทิพย์อีก 2 ล้านบาท !

ข้อ 2 ผู้เอาประกันภัยหมายถึงนายทหารสัญญาบัตร นายทหารประทวน พลทหารประจำการ พลทหารกองประจำการ พลอาสาพิเศษ อาสาสมัครทหารพราน อาสาสมัครทหารพรานของกองทัพบก ซึ่งได้รับคำสั่งให้มีหน้าที่ปฏิบัติราชการเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ ตามแผนหรือคำสั่งที่กองทัพบก และ/หรือ ก.อ.ร.ม.น. กำหนด หรือสั่งการใช้กำลัง

ข้อ 3 เมื่อครบกำหนดการชำระเบี้ยประกันภัย บริษัทจะผ่อนผันระยะเวลาการชำระให้ 30 วัน ถ้าผู้ทรงกรมธรรม์ไม่ชำระเบี้ยภายในกำหนดนี้ ให้ถือว่ากรมธรรม์สิ้นผลบังคับ ตั้งแต่วันครบกำหนดชำระเบี้ยประกัน

ตรงนี้ ... มีเรื่องแปลกจะเล่าให้ฟังคือว่า สัญญาในกรมธรรม์ระบุว่าการชำระเบี้ยในงวดแรกให้ชำระในวันที่ 1 เมษายน 2530 งวด 2 วันที่ 1 ส.ค. 2530 และงวด 3 วันที่ 1 ธ.ค. 2530 ปรากฏว่า 2 งวดแรกไม่มีปัญหา แต่งวด 3 กองทัพบกไม่สามารถชำระเบี้ยประกันจำนวน 6 ล้าน บาท ได้ตามกำหนดระยะเวลา เพราะต้องการนำเงินส่วนนี้ไปใช้ ในโครงการพัฒนาอีสานเขียว ซึ่งตามสัญญาในกรมธรรม์แล้ว สามารถผ่อนผันให้ได้ภายใน 30 วัน คือ 31 ม.ค. 2531 ถ้ายังไม่จ่ายอีกก็ต้องสิ้นสุดของกรมธรรม์นี้ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2530 ทันที

"จนถึงวันนี้ (10 ก.พ. 31) ทางบริษัท ยังไม่ได้รับเงินค่าชำระเบี้ยจากกองทัพเลย แต่ก็ยังไม่เป็นไร อะลุ่มอล่วยกันได้ การสิ้นสุดของสัญญายังเหมือนเดิมคือ 31 มี.ค. 2531" อภิรักษ์ ไทพัฒนกุล และประยูร จินดาประดิษฐ์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยประกันชีวิตกล่าวยืนยัน

จะว่าเบี้ยวก็ไม่เชิงนัก เรียกว่ารายการคุณขอมาจะเหมาะสมกว่าเพราะอะไรที่จะช่วยเหลือกองทัพและชาติบ้านเมืองได้ก็ช่วยกันไป

แต่จริง ๆ แล้ว "ผู้จัดการ" รับทราบจากแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับเรื่องนี้มาว่า ตอนวันเซ็นสัญญากรมธรรม์ เหตุการณ์สู้รบที่ช่องบกและร่มเกล้ายังไม่เกิดขึ้น ทางบริษัทไทยประกันชีวิตเองก็ค่อนข้างจะมั่นใจมากว่างานนี้บริษัทไม่มีวันขาดทุน แถมยังได้ค่าจัดการอีก 5% ของเบี้ยซึ่งตกราว ๆ 800,000 บาท ด้วยซ้ำไป

ถึงตอนนี้ที่หวังไว้ทั้งหมดผิดพลาดหมด เพราะหนึ่ง - ค่าสินไหมที่บริษัทต้องจ่ายตามเงื่อนไขในสัญญาเกินจำนวนรวมของเบี้ยประกันไปแล้ว 8.5 ล้านบาท ด้วยเกิดกรณีสู้รบหนัก ๆ 2 ครั้งที่ชองบกและร่มเกล้า และสอง - ค่าธรรมเนียมจัดการ 5% ของเบี้ย ซึ่งตกราว ๆ 800,000 บาท ที่จะต้องได้รับตามสัญญาเอาเข้าจริง ๆ ก็ถูกขอร้องไม่ให้คิดจากกองทัพ

"ท่าน ผบ.ทบ. พลเอกชวลิต ขอมาเมื่อเดือนมกราคมปีนี้เอง ทางคุณวานิช ไชยวรรณ ก็บอกท่านไปว่าไม่เป็นไรหรอก จริง ๆ แล้วตอนปิดบัญชีโครงการนี้ทางท่านเองก็คิดจะคืนเงินค่าธรรมเนียมทั้งหมดที่บริษัทจะได้แก่กองทัพอยู่แล้ว" อภิรักษ์กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ข้อ 4 การแก้ไขกรมธรรม์นี้จะสมบูรณ์ต่อเมื่อบริษัทตกลงรับการแก้ไขนั้นแล้ว โดยผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทลงนาม

ข้อ 5 ผู้เอาประกันมีสิทธิจะระบุตัวผู้รับประโยชน์ หรือเปลี่ยนตัวผู้รับประโยชน์ใหม่ได้ โดยแจ้งให้ผู้ทรงกรมธรรม์ทราบเป็นลายลักษณ์อักษร

ข้อ 6 เมื่อผู้เอาประกันบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต ผู้ทรงกรมธรรม์จะต้องแจ้งให้บริษัททราบเป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ทราบถึงการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตนั้นพร้อมหลักฐานใบสำคัญ ความเห็นของแพทย์หรือใบมรณบัตร

ข้อ 7 บริษัทจำกัดความรับผิดชอบการจ่ายค่าสินไหมทดแทนกรณีเสียชีวิตหรือพิการทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงเท่าจำนวนเงินเอาประกันเพียงรายการเดียว

ข้อ 8 ในแต่ละรอบปีกรมธรรม์ บริษัทรับผิดจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 150% ของเบี้ยประกันที่บริษัทได้รับ

ข้อ 9 เมื่อครบรอบปีกรมธรรม์ บริษัทจะคำนวณเงินคืนตามประสบการณ์ (EXPERIENCE REFUND) ให้แก่ผู้ทรงกรมธรรม์ภายใน 6 เดือน นับแต่วันครบรอบปีกรมธรรม์ โดยใช้สูตร

1. R(0.95 G-C) เพื่อตั้งกองทุนสำรองฉุกเฉิน
2.
3. (I-R) (0.95 G-C) เพื่อคืนผู้ทรงกรมธรรม์
4.
ทั้งนี้ ;

-กองทุนสำรองฉุกเฉิน หมายถึง เงินที่ผู้ทรงกรมธรรม์สำรองไว้เพื่อเป็นค่าสินไหมทดแทน สำหรับส่วนที่เกินความรับผิดสูงสุดของบริษัท... ตรงนี้แหละ ! ที่แหล่งข่าวในวงการประกัน ให้ข้อสังเกตกับ "ผู้จัดการ" ว่า "กรณีการรับบริจาคจากประชาชน จากเหตุสู้รบที่ร่มเกล้า จึงต้องกระทำกัน ต่อเนื่อง แม้นการสู้รบจะยุติลงไปแล้วตั้งแต่วันที่ 19 ก.พ. 31 ก็ตามที"....

- G หมายถึง เบี้ยประกันรวมในรอบปีกรมธรรม์

- C หมายถึง เงินค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นในรอบปีกรมธรรม์ โดยให้รวมถึงจำนวนค่าสินไหมทดแทนค้างจ่าย และเงินสำรองค่าสินไหมทดแทนค้างจ่าย ทั้งนี้การคำนวณเงินค่าสินไหมทดแทน (C) อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ 3 ข้อดังนี้คือ

หนึ่ง - กรณีเสียชีวิตให้ถือเอาวันที่ผู้เอาประกันประสบอันตรายจากการสู้รบในรอบปีกรมธรรม์นั้นเป็นเกณฑ์ สอง - กรณีพิการทุพพลภาพถาวร สิ้นเชิงถึงขั้นปลดประจำการ ให้ถือเอาวันที่ ผู้เอาประกันประสบอันตรายจากการสู้รบ ในรอบปีกรมธรรม์นั้น และการปลดประจำการจะต้องกระทำภายในเวลาไม่เกิน 4 เดือน นับแต่วันครบรอบปีกรมธรรม์ หากพ้นกำหนดนี้แล้วให้ถือว่า สิทธินั้นเป็นอันระงับไป เว้นแต่กรณีที่มีการต่ออายุสัญญา ให้ถือเป็นเงินค่าสินไหมทดแทนของรอบปีกรมธรรม์ถัดไป และ สาม - เงินค่าสินไหมทดแทนส่วนที่เกิน 95% ของเบี้ยประกันภัย จะต้องยกยอดนำไปรวมกับเงินค่าสินไหมทดแทนในรอบปีกรมธรรม์ถัดไป

- R หมายถึง ตัวเลขที่มีค่าระหว่าง 1 กัน 0 ที่จะกำหนดในแต่ละปี โดยที่ในปีแรก กำหนดให้เท่ากับ 0

ตบท้ายนี้ "ผู้จัดการ" ขอเรียนจริง ๆ ว่า กรมธรรม์ฉบับ YOU ASKED FOR IT นี้ ทางกองทัพเกาหลีเหนือและใต้ น่าจะเอาไปใช้เป็นแบบอย่าง เพราะถ้าหากเกิดกระทบกระทั่งกันเข้าที่หมู่บ้าน "ปังมุนจอม" จะได้นำมาใช้ได้ทันที


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.