อนุสรณ์ "ศึกร่มเกล้า" ชัยชนะซ่อนลึกของ "พ่อค้าเถื่อน"

โดย รุ่งอรุณ สุริยามณี
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

อมตะวาจาที่แฝงไว้ด้วยความจริงประโยคหนึ่งที่สามารถกระตุ้นให้คนเราบังเกิดความรู้สึก นึกคิดไปในทางสลดหดหู่ รวมทั้งบังเกิดความรู้สึกเชื่อมั่นอันน่าปลาบปลื้มปิติยินดียิ่งพร้อม ๆ กันนั้นคงไม่พ้นคำกล่าวที่ว่า "สงครามเป็นทั้งผู้ทำลายและผู้สร้างสรรค์"

ความหมายในส่วนแรกเป็นจริงทันทีที่เสียงปืนนัดแรกแผดก้องกังวาน ณ บ้านร่มเกล้า ขณะที่ความหมายส่วนที่สองกำลังคืบคลานเป็นจริงในไม่ช้า อยากมี "ร่มเกล้า" อีกไหม น่าเชื่อว่าหลายคนอยาก ให้มันเกิดขึ้นอีก เพราะผลแบกรับจากสงครามสามสิ่งสำคัญที่ตามติดมาคือ เงิน ! เงิน ! เงิน !

ครั้งหนึ่งเราคิดว่า ไม่กี่ร้อยศพก็คงพอ !!! กระทั่งหลายพันคนก็ยังคงน้อยไป !?

แล้วในที่สุดก็ไม่อาจสามารถนับจำนวนคนตายได้ในสงครามแต่ละคราวที่ผ่านไป ??

สงครามเป็นความทารุณโหดร้ายก็จริงอยู่ ทว่าโชคร้ายของสันติภาพกลับโหดเหี้ยมยิ่งกว่าตรงที่มีคนใจดิบ ๆ ซึ่งหื่นกระหายที่จะยั่วยุทำลายความสุขุมให้มอดลงและจุดไฟสงครามให้ลุกโชนอวิชชาเหล่านั้นคาดหวังสูงสุดว่า

"สงครามก็คือการค้าที่จะก่อผลประโยชน์มหาศาลอย่างยากที่จะหาการค้าใดมาเปรียบปาน" !?

"ผมอยากให้สงครามมันเกิด" -ต่อให้คำกล่าวนี้จะริยำบัดซบเพียงไหน แต่คนหนุ่มร่วมสมัยคนหนึ่ง ที่มีดีกรีการศึกษาสูงส่งก็กล้าพอที่จะเผยถึงความรู้สึกโดยไม่อ้อมค้อมเลยว่า "สงครามเท่านั้นที่มันจะทำให้ผมกลายเป็นเศรษฐีไปในชั่วพริบตา"

ในเมื่อคนหนุ่มยังมีความคิดเช่นนี้ แล้วสำมะหาอะไรกับพ่อค้าที่มากเล่ห์เพทุบายหลาย ๆ คน จะไม่รู้สึกเกษมสันต์ไปกับการมีสงคราม ???

ยิ่งมองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ นับแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา จนถึงสงครามอินโดจีน ได้พิสูจน์แล้วว่า กล่าวโดยเชิงเศรษฐกิจสงครามนับเป็นผู้สร้างสรรค์อันเอกอุ สงครามได้ลากดึงคนหลายคนให้กลายเป็นอัครมหาเศรษฐีได้อย่างไม่มีที่ติ

อนุสรณ์หลังศึกบ้านพี่-เมืองน้องที่ "ร่มเกล้า" กำลังให้คำตอบนั้นอยู่เช่นกัน !??

และคงไม่ผิดพลาดเสียด้วย !!!

ปี 2529 สินค้าออกจากไทยไปลาวมีมูลค่า 865.6 ล้านบาท ทำให้เราได้เปรียบดุลการค้าสูงถึง 722.8 ล้านบาท นับเป็นการเปิดศักราชการค้าชายแดนไทย-ลาว ครั้งใหม่ที่สดใสไม่น้อย หลังจากที่ความสัมพันธ์อันดีได้ถูกปิดกั้นด้วยเหตุผลและนโยบายทางการเมืองที่แตกต่างกันนานถึง 12 ปี

12 ปี ที่ไม่เคยสรุปบทเรียนอย่างมีเหตุมีผล จนมีอันต้องหลงทางไปอย่างน่าเสียดายยิ่งนัก !!!

ปี 2530 กระแสเรียกร้องของพ่อค้าต่าง ๆ ให้รัฐบาลรู้จักประสานผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และการเมืองอย่างชาญฉลาด จนมีการยกเลิกสินค้ายุทธปัจจัย 273 รายการให้เหลือเพียง 61 รายการ ภายใต้สัญญา "กินข้าวฮ่วมพา กินปลาฮ่วมถ้วย กินกล้วยฮ่วมหวี กินปลีฮ่วมกาบ"

ปรากฏผลให้ภาวะการค้าชายแดนไทย-ลาว ทวีความคึกคักอย่างผิดหูผิดตา มีบริษัทขนาดใหญ่-เล็ก ยื่นแสดงความจำนงเปิดหนทางการค้าถึง 200 กว่าราย ซึ่งถึงสิ้นปีมูลค่าการค้าส่งออกจากฝั่งไทย ได้พุ่งขึ้นถึง 990.4 ล้านบาท และมูลค่าการค้าผ่านแดนที่เราชักรอกรายได้ในรูปภาษีอีกถึง 1,611.2 ล้านบาท

นั่นเป็นเพียงตัวเลขการค้าในระบบ ทว่าการค้านอกระบบที่ข้ามไปมาสองฝั่งลำน้ำโขงนั้นยัง ไม่นับรวม มูลค่าการค้าส่วนนี้แบงก์ชาติภาคอีสานคะเนว่า "น่าจะสูงเป็นเท่าตัวของเงินการค้าในระบบ" ซึ่งนับเป็นการสูญเสียรายได้เข้ารัฐอย่างน่าเสียดาย

พ่อค้าหลายคนทั้งในอดีตและปัจจุบันร่ำรวยขึ้นมาได้ก็ด้วยความผูกพันกับธุรกิจเถื่อน ๆ แบบนี้ !!!

แน่นอน...ในอนาคตยังต้องมีต้องเกิดอยู่ร่ำไปตราบเท่าที่เจ้าหน้าที่รัฐของทั้งสองประเทศยังเป็นใจทำงานกันด้วยความบกพร่องเป็นที่ตั้ง เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ หลงมัวเมาไปกับการรับอามิสสินจ้างอย่างน่าสมเพชเวทนา

คิดดูเอาเถอะว่า ทั้งขณะที่การสู้รบที่บ้านร่มเกล้ายังคุกรุ่น และภาวะหลังเสียงปืนสงบที่พ่อค้าหลายคนวิเคราะห์ว่า คงเป็นต้นเหตุให้การค้าชายแดนไทย-ลาว ที่เริ่มจะมีชีวิตชีวามีอันจะต้องซบเซาเหงาหงอยไปอีกระยะเวลาหนึ่งนั้น

ในหนทางกลับกันบรรดาพ่อค้าเถื่อนดูเหมือนจะลิงโลดดีใจกันสุดขีด เนื่องจากในช่วงเวลาของการเจรจากันใหม่นั้น การติดต่อค้าขายในระบบอาจมีอุปสรรคถูกตรวจตราเข้มงวดมากกว่าปกติ ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการเปิดไฟเขียวให้กับพวกตนในทางอ้อมเป็นอย่างดี !?

"ผู้จัดการ" พบเห็นและรับทราบข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ จ. หนองคายว่า ช่วงการสู้รบแม้จะมีคำสั่งขอร้องจากทางราชการไม่ให้พ่อค้าส่งของเข้าไปในลาว เพื่อเป็นการบีบให้ฝ่ายโน้นยุติความก้าวร้าว ทว่าในความเป็นจริงยังคงปรากฏพ่อค้ากลุ่มหนึ่ง ลักลอบขนส่งสินค้ายุทธปัจจัยอย่างเมามัน ???

"พวกนี้จะทำงานกันตอนกลางคืน จุดรับ-ส่ง และแลกเปลี่ยนสินค้าซึ่งเป็นกัญชาและฝิ่นจากลาวนั้น จะอาศัยเกาะแก่งต่าง ๆ ของแม่น้ำโขง คิดดูก็แล้วกันว่าตลอดแนว 1,700 กม. นั้น กำลังเจ้าหน้าที่ของเราคงตรวจตราไม่ถึงแน่ เรือลำหนึ่งบรรทุกสินค้าคิดเป็นเงินก็ร่วมล้าน" เจ้าหน้าที่คนหนึ่งกล่าว

เอากันอย่างชัด ๆ เลยอย่างเช่น ที่บ้านหนองผือ อ.ท่าลี่ จ. เลย ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับเมืองแก่นท้าวของลาว (เมืองแก่นท้าวเป็นจุดระบายไม้เถื่อนและกัญชาแหล่งใหญ่แห่งหนึ่ง" (ในระหว่างที่ศึกยัง ไม่ยุติ ปรากฎว่ามีรถบรรทุกสินค้าของพ่อค้าคนหนึ่งบรรทุกสินค้ายุทธปัจจัยเช่น ปูนซิเมนต์ ดินระเบิด ยางรถ ชุดทหารพราง รวม 14 รายการ เพื่อนำไปส่งมอบให้พ่อค้าและเจ้าหน้าที่ฝั่งลาว

สินค้าล็อตนี้ถ้าผ่านไปได้ พ่อค้าก็รวยอื้อซ่า !! แต่ภัยมหันต์จะตกอยู่กับประเทศอย่างหลีกไม่ได้ !!?

ดีที่เจ้าหน้าที่ไหวทัน รวบรถบรรทุกคันนั้นได้เสียก่อน ไม่งั้นคงแย่ ทว่าพ่อค้าตัวการใหญ่เป็นเรื่องปกติที่เอ้อระเหยลอยนวลได้อย่างสบาย ๆ จะด้วยเหตุผลอะไรนั้นคงรู้ ๆ กันอยู่ !!!

"โธ่คุณเอ๋ยอย่าว่าแต่สินค้านี้เลย แม้แต่ในสนามรบก็ยังมีการลักลอบขนไม้เถื่อนกันอย่างไม่แยแส รบก็รบกันไปแต่กำไรพ่อค้าเอาไว้ก่อน อย่าลืมนะว่าในเมืองลาวมีไม้ที่ตัดทิ้งสมัยอเมริกายังอยู่อีกหลายหมื่นต้น ไม้เหล่านั้นล่ะที่พ่อค้าไทยต้องการจนเป็นชนวนสงครามอันหนึ่ง" เจ้าหน้าที่คนหนึ่งสรุป

สำหรับจุดรับ-ส่ง สินค้าที่สำคัญ ๆ ในเขต จ.หนองคาย และ จ.เลย (สองจุดนี้ทำกันเป็นนิจสิน) มีหลายแห่งเช่น

บ้านคลองนา อ. ท่าบ่อ จ. หนองคาย

บ้านท่ามะเฟือง อ. เมือง จ. หนองคาย

บ้านพะโก อ. เมือง จ. หนองคาย

บ้านเวียงคุก อ. เมือง จ. หนองคาย

บ้านเวียงหมี อ. เมือง จ. หนองคาย

บ้านสระเวียง อ. เมือง จ. หนองคาย

พื้นที่เหล่านี้เหมาะแก่การขนถ่ายสินค้าเป็นอันมาก เพราะหนึ่ง- แม่น้ำโขงช่วงนี้ค่อนข้างแคบ มีเกาะแก่งซึ่งใช้เป็นจุดพักสินค้าที่ดีกระจายอยู่มากมาย สอง-เมื่อของขึ้นถึงฝั่งลาวง่ายต่อการนำไปซุกซ่อนยังป่าทึบที่กินบริเวณกว้าง สาม-กำลังเจ้าหน้าที่ไทย-ลาว ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง

และเพื่อให้งานสะดวกมาขึ้นจึงจำต้องอาศัยกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ทำตัวเป็น "นกต่อ" ซึ่งกำนันหรือผู้ใหญ่บ้านบางคนที่เลวบริสุทธิ์จริง ๆ นั้น ไม่เพียงแต่จะเอื้ออำนวยขนถ่ายสินค้าเถื่อน ยังสร้างความหนักใจแก่ราชการด้วยการนำ "คนลาวอพยพ" เข้ามายังฝั่งไทยอีกด้วย

สนนราคาที่กำนันคนหนึ่งชื่อย่อ "น" เรียกเก็บนั้นคิดค่าหัวรายละ 15,000 บาท เดือนหนึ่งเอาเข้ามาซัก 10 คน ก็ปรีดิ์เปรมพ่อเลยเชียวละ !?

ปัญหาอย่างนี้ จ. เลย ก็ไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน ด้านนี้ว่ากันว่า "กองแดง" เจ้าพ่อคนม้ง เป็นตัวตั้งตัวตีในการชักนำคนลาวและคนม้งเข้ามา โดยคิดราคาค่าหัวคนละ 5,000-6,000 บาท จุดที่นำเข้ามีทั้ง ที่อ. ปากชม และ อ. เชียงคาน ซึ่งเมื่อเข้ามาแล้วจะนำไปอยู่ที่ศูนย์อพยพบ้านวินัย อ. ปากชม ทันที

ปัจจุบันตัวเลขทางการแจ้งว่ามีคนม้งที่ศูนย์นี้ประมาณ 20,000 คน แต่ตัวเลขจริง ๆ คนที่รู้เรื่องดีบอกว่ามันน่าจะทะลุถึง 40,000 คน เป็นอย่างต่ำ จำนวนที่เกินมาคำนวณรายได้แล้วจะเห็นว่ามันงดงามเสียนี่กระไร? แต่ปัญหาระยะยาวใครเล่าจะรับผิดชอบคนพวกนี้ที่บางกลุ่มเริ่มสร้างปัญหาขึ้นมาแล้ว ?

ความเมตตาปราณีที่มีการทุจริตเคลือบแฝงอยู่นั้นก็คือ "หอกข้างแคร่" ดี ๆ นี่เอง !!!

ส่วนที่ จ. เลย จุดถ่ายสินค้าสำคัญ ๆ จะอยู่ที่บ้านห้วยขอบ และบ้านปากเนียม อ. ปากชม บ้านนาข่า อ. นาแห้ว (ไม่ไกลจากบ้านร่มเกล้ามากนัก) และที่บ้านหนองผือ อ.ท่าลี่ ทั้ง 3 จุดนี้นับเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นจุดถ่ายกัญชาและฝิ่นดิบแห่งใหญ่ ซึ่งอาจทำให้โอกาสของการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ไทย-ลาว ที่มาจากการปราบปรามมีสิทธิเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ

เพียงรอยนิ้วแตะที่บางเบาก็ทำให้ชักศึกเข้าบ้านได้ไม่ยากเย็น???

ฝิ่นดี/กัญชาหอม

ผลประโยชน์มหาศาลจาก "ไม้เถื่อน" ในฝั่งลาวที่มีต่อพ่อค้าคนไทยนั้นก็รู้ๆ กัน อยู่แล้ว ถ้า ไม่สำคัญแล้วไหนเลยจะกลายเป็น "น้ำผึ้งหยดเดียว" ของสงครามร่มเกล้าไปได้

แต่ที่จะเป็นตัวปัญหาใหญ่ในอนาคตก็คือ "กัญชาและฝิ่น" เสียมากกว่า!!!

โดยปกติแล้วปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาที่หนักใจของรัฐบาลทุกสมัย ขอบข่ายของขบวนการค้าธุรกิจเถื่อนประเภทนี้ใหญ่โตจริง ๆ มูลค่าที่ลักลอบกันทำประมาณแล้วปีหนึ่ง ๆ ถึงหมื่นล้านบาท พ่อค้าหรือ ส.ส. บางคนที่ชูหน้าชูตาอยู่นั้น เบื้องหลังพัวพันกับงานนี้ไม่น้อยเลย และนี่เป็นเหตุให้การปราบปรามไม่อาจทำกันได้อย่างเด็ดขาดเสียที

กัญชาและฝิ่นนี่มีข่าวว่ารัฐบาลลาวทำเป็นเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ปล่อยให้มีการปลูกและค้าขายกันโดยเสรี!!!

ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่คลุกคลีปัญหานี้มานานเคยบอกว่า ปัจจุบันมีการลักลอบนำฝิ่นดิบและกัญชาจากลาวเข้ามา และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งฝ่ายลาวไม่มีทีท่าสนใจปัญหานี้แต่อย่างใด? (เรื่องนี้ยืนยันได้เพราะจากฝั่งไทยมองไปฝั่งลาวที่หนองคาย จะเห็นไร่กัญชาปลูกกันเป็นแนวพืดริมแม่น้ำโขงนั่นเชียว)

ก็น่าเป็นบทเรียนล้ำค่าของเราอีกบทหนึ่งว่า ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจกับนโยบายทางการเมืองระหว่างประเทศนั้นบางทีอาจไม่มีใครใส่ใจหรอกว่า มันจะขัดแย้งกันอย่างรุนแรงเพียงใด ???

ขึ้นอยู่กับกึ๋นของแต่ละฝ่ายมากกว่าว่าจะช่วงชิงความได้เปรียบกันอย่างไร !!

งามหน้าดีในเมื่อลาวส่งเสริมและไทยเป็นช่องทางระบายสินค้าไปสู่ตลาดโลกได้ดีที่สุด ธุรกิจนี้นับวันจึงทำกันเป็นล่ำเป็นสัน อีกทั้งมีความเป็นไปได้มากกว่า จะเฟื่องฟูเกินคาดคิดจนบางทีอนาคตอาจเลิกพูดถึงสามเลี่ยมทองคำแล้วหันมาพูดถึงสินค้าที่มีคุณภาพมากที่สุดด้านนี้แทน

"เฮโรอีนที่จับกันโครม ๆ หรือกัญชาที่ลักลอบเข้ากรุงเทพฯ นั้นมาจากชายแดนไทย-ลาวเสียเป็นส่วนใหญ่" เจ้าหน้าที่ ปปส. คนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"

นาย "ป" นักการเมืองชาวนครพนม ได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของขบวนการค้า กัญชาและฝิ่นดิบไทย-ลาว มีข่าวว่าเขาเป็นแหล่งเงินทุนใหญ่ ให้ชาวลาวปลูกกัญชาส่งเข้ามายังฝั่งไทย โดยจะส่งมาตามชายแดนด้าน จ. เลย (บริเวณ 3 จุดที่กล่าวมาแล้ว) จ. มุกดาหาร และ จ. นครพนม

"ที่มุกดาหารและที่นครพนมเคยเงียบเหงาไปพักหนึ่งสมัยที่ผู้การเสรี (พ.ต.อ. เสรี เตมียเวส) อยู่เพราะเป็นไม้เบื่อไม้เมากับคนพวกนี้มาก พอผู้การเสรีย้ายไปขบวนการนี้ก็ฟื้นตัวขึ้นมาอีก คราวนี้ใหญ่กว่าเดิมมาก อีกทั้ง นาย "ป" สนิทกับผู้ใหญ่นักการเมืองที่มีอำนาจในขณะนี้หลายคน เพราะเขาเป็นฐานการเงินของพรรค ๆ หนึ่งในภาคอีสาน เลยยิ่งทำให้ช่องทางการค้าง่ายขึ้น" แหล่งข่าวคนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"

สายสัมพันธ์ของราชากัญชาผู้นี้มีข่าวว่าเดี๋ยวนี้ได้เชื่อมติดกับนักค้ายาเสพติดชื่อดังทางภาคเหนือเรียบร้อยแล้วเช่นกัน ในช่วงปีที่ผ่านมาเขาสามารถทำกำไรจากกิจการนี้ได้อย่างมากมาย จนถึงกับมีเงินพอที่จะซื้อโรงแรมขนาดใหญ่แห่งหนึ่งได้ และยังมีเงินขยายธุรกิจโรงแรม-บ้านพัก-คอนโดฯ ที่พัทยาได้อีก !!

น่าสนใจมากคือว่า ระหว่างศึกร่มเกล้า ขบวนการค้ากัญชาและฝิ่นดิบของเขาได้เย้ยฟ้าท้ากฎหมายได้ โดยปราศจากการควบคุม-นี่คือความสำเร็จในรูปแบบหนึ่งที่มีผลพวงจากสงคราม!!

ใครเป็นใคร ค้าชายแดนมืด ๆ

"โอ๊ยเขาทำกันตามปกติ"

"พวกนี้ประเภทปากว่าตาขยิบทั้งนั้นแหละ"

"จะไปห้ามเขาได้ยังไง ยิ่งมีสงครามยิ่งมีโอกาสขูดรีดราคาสินค้าได้ง่ายขึ้น"

สุจริตของ จ. หนองคาย พูดถึงการค้านอกระบบกับ "ผู้จัดการ" ด้วยการยอมรับว่า แม้จะมีการเพิ่มจุดค้าชายแดนในช่วงก่อนเกิดสงครามมากขึ้น ก็ยังไม่อาจตัดช่อง "การลักลอบ" ไปได้ และเมื่อเกิดสงคราม ขบวนการเหล่านี้ยิ่งสบจังหวะเขมือบชิ้นปลามัน !!

ระบบเศรษฐกิจใต้ดินไม่ว่าบ้านไหนเมืองไหนของโลกนี้ ต่างเป็นที่ยอมรับแล้วว่า มันมีมูลค่ามหาศาลสูงจนชวนให้น่าลิ้มลอง สำหรับขบวนการลักลอบค้าสินค้าตามชายแดนไทย-ลาว รายใหญ่ ๆ ที่น่ารู้จักก็มีเช่น

เฮีย "จ." -รายนี้เป็นเจ้าของร้านขายสีซึ่งเป็นอาชีพหลักบังหน้า นัยว่าเขาเป็นแบบฉบับของเถ้าแก่รุ่นใหม่ที่ใจถึงจริง ๆ ซึ่งสร้างตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็วด้วยงานอดิเรกค้าของเถื่อนที่ต่อมากลายเป็นงานหลักเสียจนถอนตัวไม่ขึ้น

เจ๊ "พ" -ด้วยความที่มีสามีเป็นข้าราชการมีชื่อของ จ. หนองคาย เลยเป็นช่องทางทำมาหากินให้เจ๊พัฒนาตัวเองจากแม่ค้าถูกกฎหมายที่รายได้ไม่ค่อยดีนัก มาเป็นคนค้าของเถื่อนที่พุ่งแรงจัดในปัจจุบัน เจ๊ "พ" นับเป็นเจ้าแม่ที่มีบทบาทสูงในขบวนการค้าสินค้าเถื่อน เป็นคนมือเติบและใจใหญ่จน เจ้าหน้าที่เกรงใจ

นาย "อ" -คน ๆ นี้ น่าจับตามองอย่างมากวัย 30 ปี ของเขาเมื่อเทียบกับธุรกิจการค้าที่ฝัง รากลึกร่วมกับประเทศลาวนับว่าห่างไกลกันเสียเหลือเกิน "อ" หรือที่ชื่อแปลว่า "ฮีโร่" ปกติแล้วเขา ค้าขายเครื่องเงิน ถีบตัวขึ้นมาได้เพราะมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับอดีตผู้ว่าฯ คนหนึ่งของ จ. หนองคาย

"ทุกเที่ยวเขาต้องแบ่งให้ผู้ใหญ่ กระทั่งปัจจุบันก็มีผู้ใหญ่บนศาลากลางบางคนที่ได้รับผลประโยชน์จากเขา" แหล่งข่าวกล่าว

"อ" มีพฤติกรรมที่น่ากลัวตรงที่ว่า เขาไม่ใช่แค่พ่อค้าธรรมดา ๆ ที่ลักลอบขายสินค้าเท่านั้น ทว่างานหลักที่เขาทำอีกอย่างหนึ่งก็คือ เป็นนายใหญ่ของขบวนการค้าแบงก์ปลอม โดยมีโรงพิมพ์เงินบาทไทยอยู่ที่บ้านหลังหนึ่งในกรุงเวียงจันทร์ ซึ่งขบวนการค้าแบงก์ปลอมนี้พ่อค้าเก่ารายหนึ่งบอกว่า มันได้มีมานานแล้วเป็นสิบ ๆ ปี พวกนี้มีภัยต่อสังคมอย่างสูง

หลายครั้งที่เงินบาทปลอมของ "อ" ทะลักไหลสร้างปัญหาให้กับวงการแบงก์และวงการค้าของ จ. หนองคาย และเขตจังหวัดใกล้เคียง

เฮีย "ส" -นี่ก็เป็นคนหนุ่มอีกคนหนึ่งที่อาจจะไม่ร่ำรวยขึ้นมาอย่างทันตาเห็นถ้าไม่เข้าไป เกี่ยวพันกับการค้านอกระบบ "ส" เป็นคนกรุงเทพฯ ที่ย้ายมาปักหลักทำการค้าชายแดนกับลาวที่หนองคาย เมื่อหลายปีก่อน รายนี้ข่าวว่า เอาทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นการค้าทองเถื่อนหรือยาเสพติด

เฮีย "ม" -เจ้าของร้านขายเครื่องเฟอร์นิเจอร์ในหนองคาย ซึ่งมีกิจการควบด้วยการทำสหกรณ์การค้าในเวียงจันทร์ด้วย "ม" เข้านอกออกในหนองคาย-เวียงจันทน์ได้สะดวกเพราะรู้จักกับเจ้าแขวงฝั่งโน้นเป็นการส่วนตัว เมื่อเร็ว ๆ นี้เขาเพิ่งถอยรถเปอร์โยต์คันใหม่ออกมา กิจการที่เขายึดเป็นหลักได้แก่การเป็นนายหน้าค้ากัญชาและฝิ่นดิบ

ข่าวระบุว่าในเวียงจันทน์มีโรงสกัดฝิ่นดิบทั้งเล็ก-ใหญ่ไม่น้อยกว่า 40 โรง ซึ่งหลายโรงนั้นเป็นการร่วมหุ้นของพ่อค้าไทย "ม" ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มีโรงฝิ่นดิบ

บุคคลเหล่านี้รัฐน่าจะทวงถามภาษีที่พวกเขาควรเสียอย่างจริงจัง !?

พูดถึงการค้าชายแดนไทย-ลาว เชื่อแน่ว่าคำถามหนึ่งที่หลายคนสนใจก็คือว่า "แล้วเสี่ยกิมก่าย หรือกลุ่ม อีพีซี. ล่ะเป็นอย่างไร ?"

กิมก่ายและอีพีซี. ของเขาใหญ่คับแผ่นดินอีสานจริง ๆ ใหญ่เสียจนทุกคนอยากรู้ความเป็นมาและไป !!!

เขาชื่อ "กิมก่าย"

ทั้งสุจริตชนและทุจริตชนที่ค้าชายแดนไทย-ลาว ไม่มีใครไม่รู้จัก "กิมก่าย" หรือธเนศ เอียสกุล !!

สุดแท้แต่ว่าจะเลือกรู้จักเขาในมุมไหน พ่อค้า นักการเมือง ผู้ทรงอิทธิพลที่คุมนักการเมืองระดับประเทศ และระดับท้องถิ่นให้สามารถพูดเป็นเสียงเดียวกันกับใจที่นึกคิดของเขาได้หลาย ๆ คน แต่ที่แน่นอนที่สุดเขาเป็นคำตอบที่เด่นชัดเหลือเกินว่า เศรษฐีเกิดขึ้นได้ง่ายถ้ามีสงคราม

กิมก่ายยิ่งใหญ่เพราะสงครามอินโดจีน !!

กิมก่ายเป็นลูกจีนพูดลาว "แซ่เอี้ย" เกิดที่ ต. โพนแพง อ. โพนพิสัย จ.หนองคาย ครอบครัวที่มีพื้นฐานไม่ดีนักมีลูกมากถึง 10 คน เขาเป็นคนที่ 4 ก็ออกมาล่องเรือเล็กค้าขายไปมาระหว่างหนองคาย-นครพนม ซึ่งพอประทังชีวิตให้อยู่รอด

ค้าขายไปมาทำให้ได้เมียคนหนึ่งซึ่งเป็นลูกจีน เชื้อลาวที่อยู่ในเวียงจันทร์ ซึ่งเป็นรอยเชื่อมให้เขาค้าขายกับพ่อค้าฝั่งโน้นได้ เขามักบอกคนสนิทว่าที่รวยขึ้นมาได้อย่างสายฟ้าแลบเป็นเพราะได้งาช้างเหม็นที่เป็นมงคลจากฝั่งลาวคู่หนึ่งด้วยราคาเพียง 800 บาท แต่สำหรับเขาแล้วงาคู่นี้มีค่าจนหาค่ามิได้

เพราะหลังจากได้งาเหม็นมากิจการค้าดูรุ่งเรืองไปเสียหมด ทำให้มีเงินเหลือพอที่จะนำไปเล่น "หวยเถื่อน" ในเวียงจันทน์ (สมัยยังไม่เปลี่ยนแปลงการปกครอง) ซึ่งถูกบ่อยครั้ง ครั้งละเป็นเงินหลายล้านบาท เงินจากหวยนั้นเองทำให้สามารถตั้งบริษัทขายรถยนต์ที่เวียงจันทน์ได้สำเร็จ

ญาติคนหนึ่งของเขาบอกว่า นอกจากหวยเถื่อนแล้วเขายังเป็นนักค้า "ทองคำ" ที่มีชื่อคนหนึ่งโดยเฉพาะช่วงสงครามอินโดจีนกิมก่ายฟันกำไรจากการค้าทองหลายสิบล้านบาท

เขาเปิดการค้ากับฝั่งลาวอย่างเต็มรูปแบบ เมื่อตั้งบริษัท อีพีซี. ค้าข้าวหรือเอี๊ยะเป็งเชียงขึ้นมา โดยเป็นผู้ประมูลส่งข้าวให้กับรัฐบาลลาวได้แต่เพียงผู้เดียว ว่ากันว่าสมัยนั้นเขาส่งข้าวให้ลาวถึงวันละ 2,000 กระสอบ และยังเป็นตัวแทน รสพ. รับหน้าที่ขนบรรทุกสินค้าไปให้ลาวอีกทางหนึ่งด้วย

"แต่ปัจจุบันนี้เขาถูกตัดสิทธิ์แล้ว เพราะการตัดสินใจให้ลูกชาย 2 คนลงสมัคร ส.ส. ในนามพรรคประชาธิปัตย์ สร้างความขุ่นเคืองใจให้กับผู้ใหญ่พรรคชาติไทย ที่เคยช่วยเหลือเขาให้เป็นตัวแทน รสพ. เป็นอันมาก เมื่อชาติไทยมาคุมงานด้านนี้เลยไม่สนใจที่จะให้แกเป็นอีก" นักการเมืองคนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"

กิมก่ายรู้จักกันเป็นอย่างดีกับ พล.อ.อ. ทวี จุลละทรัพย์ และเสธ.ทวี ผู้นี้ก็เป็นคนสนับสนุนให้เขาก้าวเข้ามาเล่นการเมือง จนได้เป็น ส.ส. และรมช. พาณิชย์ในสมัยหนึ่งมาแล้ว ซึ่งสมัยที่เขาเป็น รมช. นั้นการค้าของอีพีซี. ที่ไปยังฝั่งลาวรุ่งเรืองสุดขีด

มีคนบางคนพูดถึงเขาว่า ต้องใช้เงินหลายสิบล้านให้กับพรรคเพื่อแลกกับตำแหน่งทางการเมือง ทว่า ตัวเขาเองมักพูดว่า "ไม่เคยทำอย่างนั้น พรรคเชื่อในฐานที่แน่นหนาและความมีเครดิตส่วนตัวมากกว่า" เขาคิดที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งสมัยที่ 2 ทว่าเป็นไปไม่ได้เนื่องจาก ไม่มีคุณสมบัติและถูกขบวนการ "ชนวน" ของผู้พันอันตราย อนันต์ เสนาขันธ์ ตีไม่ยั้งว่า "เขาค้าขายกับคอมมิวนิสต์" (สมัยหนึ่งมีข่าวว่ากิมก่ายมีความสัมพันธ์อันดีกับรัสเซีย จนสินค้าโซเวียตผ่านแดนไทยไปยังกลุ่มประเทศอินโดนีเซียจีนนั้นเขาได้สิทธิ์คนเดียว)

ถึงอย่างไรก็ตามมิอาจหยุดยั้งเส้นทางการเมืองของเขาได้ เพราะกิมก่ายส่งลูกชาย 2 คน คือฉัตรชัย - เฉลิมชัย ให้ สมัคร แทนตน จนทั้งคู่ได้เป็น ส.ส. ในปัจจุบัน เป็นทายาททั้งทางการเมือง-ธุรกิจ ที่ถูกวางตัวได้อย่างเหมาะเจาะ

แม้ลาวจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่เขายังคงทำการค้ากับลาวอย่างเป็นปกติ มีการขยายสาขาของอีพีซี.ไปยัง จ. นครพนม มุกดาหาร และเชียงราย ซึ่งนอกจากจะประมูลขนไม้จากฝั่งลาวส่ง ขายให้กับประเทศอื่นได้แล้ว เขายังเป็นพ่อค้าไทยรายเดียวที่ประมูลค้า "หวาย" จากลาวได้สำเร็จ

ในระหว่างศึกร่มเกล้า "ผู้จัดการ" ทราบว่าเจ้าหน้าที่ได้มีการจับกุมรถบรรทุกขนไม้จากฝั่งลาวมาฝั่งไทยที่ท่าแลง จ.หนองคาย บางคันว่ามีการขนของผิดกฎหมายซุกซ่อนมาด้วย และมีบางคันที่ลักลอบขนสินค้ายุทธปัจจัยจากฝั่งไทยกลับไป

รถเหล่านั้นเล็ดลอดสายตาเจ้าหน้าที่ไปได้ยังไง!?

ไม่รู้ล่ะ แต่จากการสังเกตของทีมงาน "ผู้จัดการ" พบข้อพิรุธอย่างหนึ่งว่า ดูเหมือนการทำงานของเจ้าหน้าที่ไทยบางคนออกจะหย่อนยาน ไม่เข้มงวดกวดขันอะไรมากนัก ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่า มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันเป็นพื้นฐาน

แต่หน้าที่และความจำเป็นก็เป็นเรื่องที่ไม่ควรหลีกเลี่ยงไม่ใช่หรือ ???

จากการจับกุมดังกล่าว หลายคนตั้งข้อสงสัยว่าเป็นไปได้ไหมว่าพ่อค้าคนไทยที่ทำการค้ากับบริษัทรัฐบาลลาวจะมีส่วนรู้เห็นเป็นใจกับการกระทำอันผิดกฎหมายบ้านเมืองเราทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา และถ้าเป็นจริง หนึ่งในพ่อค้าจะมีคนชื่อ "กิมก่าย" กับเครือ อีพีซี. ของเขาร่วมอยู่ด้วยหรือไม่

"ผมไม่เชื่อว่าจะมีเสี่ยกิมก่ายไม่เล่นอย่างงั้นแน่ เขาไม่มีความจำเป็นอะไร เพราะทุกวันนี้ทุกอย่างก็ไปได้ดีแล้ว แต่สำหรับคนอื่นไม่แน่นะ เพราะพวกนี้หวังตกทองจากสงครามกันทั้งนั้น" อดีตนักการเมืองที่รู้จักกิมก่ายดีคนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"

พูดถึงเรื่องไม้เถื่อนที่พ่อค้าคนไทยร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลลาวบางคนลักลอบโดยไม่ผ่านด่านตีตรา ซึ่งเป็นความจริงที่ "อย่าได้ปฏิเสธ" กันนักเลยนั้น "ผู้จัดการ" พบสาเหตุว่าที่เป็นเช่นนั้น เพื่อเลี่ยงการเสียภาษีขาเข้าที่สูงถึง 20% อย่างเช่นไม้ 100 คิวจะต้องเสียภาษีถึง 200,000 บาท

เป็นยังนี้พ่อค้าก็เลยคิดว่าจะต้องไปเสียให้ทำไม กำไร/หน่วย หมดไปโดยไม่จำเป็นเสียเปล่า สู้ลักลอบนำเข้ามิดีกว่าหรือ

ทางการลาวเองก็เคยย้ำหลายครั้ง และมีข้อมูลที่น่าจะเป็นจริงไม่น้อยว่า พ่อค้าไทยมักดอดเข้าไปตัดไม้ขนไม้จากฝั่งเขาอยู่บ่อย ๆ โดยมีกำลังรบเป็นผู้คุ้มกัน กระทั่งมีการประทะและถูกลาวจับกุมกันอยู่บ่อย ๆ

บางคนเขาเล่นกันอย่างงี้ละ !!!

วิบัติของประเทศ ความตายของชีวิต และมิตรภาพที่ผุกร่อนของไทย-ลาว นั้น จะต้องอาศัยเงื่อนไขหลายประการในการดำรงอยู่ เพื่อให้บางคนได้มีโอกาสร่ำรวยขึ้นมาทันตาเห็น

โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่เขม็งเกลียวระหว่างไทย-ลาวเป็นเงื่อนไขที่สำคัญมาก

ถ้าไทยกับลาวดีกัน การค้าด้านเปิดก็สามารถพัฒนาให้ทำกันตรงไปตรงมาได้ และรัฐบาลก็จะได้ประโยชน์จากภาษีอากร และไม่ต้องใช้จ่ายงบป้องกันประเทศสูงเกินไปโดยใช่เหตุ

แต่ถ้าไทย-ลาวทะเลาะกัน การค้าด้านเปิดต้องระงับไปหรือถูกจำกัดขอบข่ายลง

สวรรค์ของพ่อค้าเถื่อนกับข้าราชการบางกลุ่มก็จะมาถึงเมื่อนั้น !!


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.