|
ห้อยเทียนเหลา ลาก่อนอดีต...สวัสดีอนาคต
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2531)
กลับสู่หน้าหลัก
กรุงเทพฯ เพิ่งจะมีอายุ 200 ปีเศษ นอกจากพระบรมมหาราชวังวัดวาอารามบางแห่งแล้วสิ่งที่ยัง คงอยู่สืบเนื่องจากอดีตกาลมาจนยุคปัจจุบันที่มีอายุมาก ๆ เป็นร้อยปีหรือเกือบร้อยปีนั้นว่าไปแล้วก็มีไม่ มากนัก
ภัตตาคารห้อยเทียนเหลาดูเหมือนจะเป็นภาพในอดีตอีกภาพหนึ่งที่พอจะมีตัวตนหลงเหลือให้เห็น คนรุ่นปัจจุบันสัมผัสได้ ไม่ว่าจะเป็นตัวอาคารย่านถนนเสือป่า เครื่องใช้ไม้สอยภายในภัตตาคารที่เป็นของเก่าตลอดจนรสชาติอาหารก็ตาม
กรุงเทพฯ ในอดีตเป็นชุมชนที่ไม่ใหญ่โตนัก บ้านเมืองร่มรื่นเป็นอดีตที่แตกต่างหน้ามือหลังมือกับปัจจุบัน และเมื่อต้องผจญกับความพลุกพล่านในปัจจุบันอดีตก็นับเป็นความชุ่มฉ่ำได้อย่างดี หลายคนจึงสามารถจดจำ "ห้อยเทียนเหลา" ได้แม้ว่าในชีวิตจริงจะไม่เคยเดินขึ้นๆไปรับบริการจากภัตตาคารเก่าแก่แห่งนี้เลยก็ตาม ห้อยเทียนเหลาเป็นตำนานเรื่องหนึ่งของชุมชนกรุงเทพฯ ที่พอจะสัมผัสได้
แต่นั่นก็คงจะเป็นก่อนวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2531 ที่ผ่านมา
เพราะหลังวันนั้นแล้วห้อยเทียนเหลาที่ใครต่อใครเคยสัมผัสความเก่าแก่ของอดีตได้ก็จะกลายเป็นตำนานเล่าขานที่สัมผัสไม่ได้อีกต่อไป
ภัตตาคารห้อยเทียนเหลาประกาศหยุดดำเนินการไปแล้ว เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันสุดท้าย "โดยรายการอาหารชุดสุดท้ายที่ลูกค้าสั่งมาก็คือผู้บริหารของกสิกรไทย สั่งไปเลี้ยงคณะกรรมการของธนาคารที่จัดประชุมกันเย็นนั้นพอดี..." ผู้ดูแลภัตตาคารห้อยเทียนเหลาเล่ากับ "ผู้จัดการ" ซึ่งก็ไม่ใช่ลูกค้าคนห่างไกล ที่ไหน ตระกูลล่ำซำเจ้าของกสิกรไทยเป็นเจ้าของห้อยเทียนเหลาเช่นกัน
การปิดกิจการของห้อยเทียนเหลา จริง ๆ แล้วก็เป็นการปิดชั่วคราวเพื่อเปิดใหม่อีกครั้งเพียงแต่ความเป็นห้อยเทียนเหลาก็คงจะเปลี่ยนไปแทบไม่เหลือแล้ว รสชาติอาหารนั้นก็คงจะไม่มีปัญหาเพราะว่ากันว่าพ่อครัวยังคงเป็นชุดเดิม
ที่เปลี่ยนไปอย่างไม่มีวันหวนคืนเห็นจะเป็นสถานที่เครื่องใช้ไม้สอยและบรรยากาศเก่า ๆที่อบร่ำมานานกว่าครึ่งศตวรรษทั้งนี้ด้วยเหตุผลความจำเป็นทางธุรกิจของผู้ลงทุนโดยแท้
หรือพูดกันง่าย ๆ ก็คือสถานที่ตั้งเดิมนั้นตัวอาคารเก่าแก่เกินกว่าที่จะทะนุบำรุง ในขณะที่ราคาที่ดินย่านเสือป่าก็ขึ้นไปมากหากทุบอาคารเก่าทิ้งแล้วพัฒนาที่ดินแปลงดังกล่าวอย่างเหมาะสมผลประโยชน์ก็จะได้คุ้มค่ากับราคาทรัพย์สิน ขณะเดียวกันก็จะเป็นการแก้ปัญหาที่ภัตตคารแห่งนี้ประสบกับการขาดทุนอย่างต่อเนื่องเพราะหมุนตามโลกไม่ทันอีกด้วย
ห้อยเทียนเหลา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2475 ปีเดียวกับที่ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองคนจีนเชื้อสายจีนแคระที่ชื่ออึ้งยุกหลงต้นตระกูล "ล่ำซำ" เป็นเจ้าของ โดยร่วมทุนกับญาติ ๆ และเพื่อนพ่อค้ารวม 23 คน แรกทีเดียวก่อตั้งภัตตาคารภายใต้ชื่อว่า "หน่ำเทียนเหลา" ต่อมาในปี 2477 จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นห้อยเทียนเหลา
กิจการของต้นตระกูล "ล่ำซำ" แห่งนี้ ครั้งแรกตั้งอยู่ที่ตรอกตั้งโต๊ะกัง ถนนเจริญกรุง แต่เผอิญถูกไฟไหม้ ในปี 2477 ที่เปลี่ยนชื่อเป็นห้อยเทียนเหลาก็เลยต้องย้ายมาที่ถนนเสือป่าซึ่งก็คือสถานที่ที่เพิ่งจะปิดและจะทุบตึกทิ้งที่ว่าไปแล้วนั่นเอง
ห้อยเทียนเหลามีชื่ออีกชื่อหนึ่งซึ่งตั้งขึ้นในช่วงปี 2484 ว่าหยาดฟ้าภัตตาคารและใช้เป็นชื่อบริษัทที่เป็นผู้บริหารห้อยเทียนเหลาด้วย กล่าวกันว่าชื่ออันไพเราะนี้ถูกตั้งขึ้นโดยหลวงวิจิตรวาทการอดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในยุคจอมพล ป. ที่ต่อเนื่องมาถึงยุคจอมพลสฤษดิ์ ผู้มีความสามารถหลายด้านโดยเฉพาะเคยสร้างวรรณกรรมและเพลงปลุกใจในเรื่องชาตินิยมเอาไว้มากมายที่ตกทอดมาถึงปัจจุบัน
ห้อยเทียนเหลาเป็นอดีตนั้นเป็นสัญลักษณ์ของความ "FIRST CLASS" เศรษฐีและคนใหญ่และคนโตหลายยุค ถ้ารวยจริงหรือใหญ่จริงส่วนมากแล้วคุ้นเคยกับห้อยเทียนเหลา แม้แต่แขกบ้านแขกเมืองก็เคยลิ้มรสซาลาเปากับหูฉลามอันเลิศรสของห้อยเทียนเหลามาแล้ว
"ก็ตั้งแต่จอมพล ป. จอมพลสฤษดิ์ คุณชินที่เพิ่งจะเสียชีวิตหรือแขกรัฐบาลอย่างเติ้งเสี่ยวผิง เคยมารับประทานอาหารที่นี่ด้วยกันทั้งนั้น" ผู้บริหารคนหนึ่งของห้อยเทียนเหลาบอก
หรือแม้แต่ในนวนิยายชุดสามเกลอ-พล, นิกร, กิมหยวนของป.อินทรปาลิต ก็ใช้ห้อยเทียนเหลาเป็นฉากอยู่บ่อย ๆ เพราะเป็นภัตตาคารที่เสี่ยกิมหงวนมหาเศรษฐีผู้ร่ำรวยอย่างเหลือหลายในเรื่องจะต้องมาแสดงศักดาด้วยการฉีกแบงก์เล่นที่ภัตตาคารแห่งนี้เป็นประจำเกือบทุกตอนของนวนิยายก็ว่าได้
ห้อยเทียนเหลาในยุคแรก ๆ ก็น่าจะเป็นกิจการที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภัตตาคารสามารถอยู่ยืนยงมาได้เนิ่นนานและมีชื่อเสียงไม่มีลืมเลือน
เพียงแต่กาลเวลาที่หมุนเวียนไปพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนแปลงบางทีก็ทำให้คนรุ่นปัจจุบันส่วนใหญ่เพียงได้ยินชื่อบ้างแต่ไม่เคยเข้าไปสัมผัสเลย
ภาวะการแข่งขันที่ห้อยเทียนเหลาต้องเผชิญกับภัตตาคารจีนหรู ๆ ที่เกิดขึ้นในเวลาต่อมานับสิบ ๆ แห่งที่อยู่ในเกรดเดียวกันโดยที่ทุกที่สร้างความสะดวกสบาย (โดยเฉพาะที่จอดรถ) ได้มากกว่าและมีสถานที่ ที่รับรองแขกผู้ใช้บริการได้จำนวนมากกว่า
ก็ทำให้ห้อยเทียนเหลาในยุคเกือบสองทศวรรษนี้ต้องอยู่ในภาวะที่หวานอมขมกลืนพอสมควร โดยเฉพาะในช่วงปีสองปีนี้ต้องขาดทุนปีละเกือบล้านบาท
แม้ว่าจะพยายามแก้ปัญหาด้วยการขายฟรานไชส์ให้กับกลุ่มอิตัลไทยในการเปิดห้อยเทียนเหลาขึ้นที่คอนโดมิเนียมย่านคลองสานตรงข้ามโรงแรมรอยัลออคิด เชอราตัน และรับจัดโต๊ะจีนนอกสถานที่วันละหลายแห่งแล้วก็เถอะ
ความเสียดายต่อภัตตาคารเก่าแก่แห่งนี้ไม่ว่าตัวเจ้าของแขกขาเก่า หรือคนรุ่นใหม่ที่รับทราบกิตติศัพท์นั้นก็คงจะต้องมีเป็นธรรมดา
แต่ความจำเป็นทางธุรกิจก็คงจะมีความสำคัญมากกว่าอยู่แล้ว
ห้อยเทียนเหลามีกำหนดเปิดอีกครั้งไม่นานจากนี้ ณ บริเวณใหม่ย่านถนนหลังสวนภายในเนื้อที่ดิน ที่เช่าจากสำนักงานทรัพย์สินกว่า 2 ไร่ ที่นี่จะมีของเก่า ๆ บางชิ้นที่เจ้าของต้องการเก็บรักษามาประดับเพื่อให้หลงเหลืออดีตไว้บ้าง ส่วนนอกนั้นก็จะเป็นของใหม่เอี่ยมอ่องถอดด้ามไม่น้อยหน้าคู่แข่งขันในตลาด ส่วนที่ดินเดิมที่เป็นที่ตั้งห้อยเทียนเหลาทางตระกูลล่ำซำก็จะให้ภัทรธนกิจมาศึกษาดูว่าจะพัฒนาอย่างไรต่อไป
ห้อยเทียนเหลานั้น ทุก ๆ ปีคนในตระกูลล่ำซำจะมีวันวันหนึ่งที่นัดแนะสมาชิกทุกคนทุกสายไม่ว่าจะเป็นเจนเนอเรชั่นไหนมาพบกันและทานข้าวร่วมกันเป็นประเพณีที่ยึดถือมานานปีดีดักแล้ว
ช่วงที่ยังไม่มีห้อยเทียนเหลาทั้งที่เก่าที่ใหม่นี้ก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าคนในตระกูลล่ำซำจะจัดให้พบกันที่ใด ซึ่งไม่ว่าจะเป็นที่ใดความขลังอย่างไรเสียก็คงจะสู้ที่ห้อยเทียนเหลาที่บรรพชนอุตส่าห์สร้างขึ้นไม่ได้อยู่ดี
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|