เสถียรภาพล้มได้ แต่ "จุลไพบูลย์" จะไม่มีวันล้มได้?


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

เมื่อปี 2497 อุบล จุลไพบูลย์กับพงษ์เทพ-สามี ได้ร่วมหุ้นกับญาติและเพื่อน ๆ หลายคนสร้าง โรงงานเครื่องปั้นดินเผาขึ้นในนามบริษัทพอสเลนไทย จำกัด ลงเงินและลงมือสร้างโรงงานไปแล้ว แต่ ยังไม่ทันได้ลงมือผลิตก็มีอันให้ต้องล้มละลายไปเสียก่อนว่ากันว่าญาติและเพื่อน ๆ ที่เป็นหุ้นส่วนหมดเงินหมดทองไปพอสมควร แต่กระนั้นอุบลกับสามีกลับยังมีกำลังเหลือพอที่จะประมูลซื้อกิจการนี้ได้จากกองล้มละลายกระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นจังหวะก้าวสำคัญ ครั้งแรกที่ทำให้สองสามีภรรยา "จุลไพบูลย์" สามารถหันเหวิถีชีวิตจากเอเย่นต์บุหรี่มาเป็นเจ้าของโรงงานเครื่องปั้นดินเผาเล็ก ๆ ได้สำเร็จเมื่อราว ๆ ปี 2501 และเจริญรุ่งเรืองในเวลาต่อ ๆ มาจนกลายเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเสถียรภาพยักษ์ใหญ่ในวงการ เซรามิก มีโรงงานถึง 7 โรง มีบริษัทในเครือถึง 4 บริษัทมียอดสินทรัพย์รวมกันเกือบ 800 ล้านบาท

เวลาผ่านไปเกือบ 30 ปี แม้จะดูเนิ่นนานจนใครต่อใครลืม ๆ ไปแล้ว

แต่ถ้าระลึกขึ้นมาได้ เหตุการณ์ในวันนี้ของกลุ่ม "จุลไพบูลย์" เจ้าของเสถียรภาพก็ช่างไม่ต่างไปจากเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้วเลยแม้แต่น้อย !?!

หนี้สินมหึมากว่า 1,600 ล้านบาทอาจจะทำให้เสถียรภาพมีอันต้องล้มละลายไปซึ่งก็ยังคงต้องถือว่าเป็นการล้มละลายครั้งที่สองของกิจการที่ "จุลไพบูลย์" ทำอยู่ก็จริง แต่นั่นก็คงจะเป็นคนละเรื่องกับเจ้าของอย่าง "จุลไพบูลย์"

อุบล จุลไพบูลย์กับลูก ๆ ทุกวันนี้ยังผงาดอยู่อย่างคงเส้นคงวาในวงการเซรามิคและไม่แน่นัก บางทีโรงงานที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเสถียรภาพก็จะกลับเข้ามาอยู่ในอุ้งมืออีกครั้งด้วยซ้ำไป

"คอยดูเถอะ ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย..." เจ้าหนี้ประเภทไม่มีหลักประกันที่ปล่อยเงินให้กลุ่มเสถียรภาพไปหลายสิบล้านบาทพยากรณ์ให้ฟัง

เรื่องของเสถียรภาพนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะ "เหลือเชื่อ" มาตั้งแต่ต้นเมื่อประสบวิกฤติการณ์การเงินในช่วงปี 2529 และก็ "เหลือเชื่อ" มาเรื่อย ๆ จนทุกวันนี้

เหลือเชื่อที่โรงงานมีทรัพย์สินราว ๆ 800 ล้านบาท (ซึ่งอาจจะน้อยกว่านี้ก็เป็นได้) แต่สามารถสร้างหนี้สินได้สูงถึงกว่า 1,600 ล้านบาท ทั้งนี้ด้วยฝีมือของคน 2 คนที่เป็นแม่ลูกกันคืออุบลกับสุรีย์พรเท่านั้นจริง ๆ ?

เหลือเชื่อที่หนี้ทั้งหมดมาจากจำนวนเจ้าหนี้ถึง 27 แห่งทั้งที่เป็นสถาบันการเงินในประเทศและนอกประเทศ

และสุดจะเหลือเชื่อที่มีหนี้ในวงเงินเพียง 660 กว่าล้านบาทของ 3 สถาบันการเงินเท่านั้นที่มีหลัก-ทรัพย์ค้ำประกัน ส่วนที่เหลือมีบางแห่งที่อุบลกับสุรีย์พรค้ำประกันส่วนตัวบางแห่งเอาเงินมาใช้เฉย ๆ โดยไม่ต้องค้ำและจำนวนเป็นร้อยล้านบาทค้ำประกันโดยศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ สามีของสุรีย์พรที่ตอนนี้กลายเป็นอดีตสามีไปแล้วคนนั้น

ก็เพราะมีแต่เรื่องเหลือเชื่อซึ่งยังมีข้อปลีกย่อยที่เป็นปริศนาอีกมากมาย (อย่างเช่นแม่ลูกอุบล-สุรีย์พร ทะเลาะกันจริงหรือไม่ ทำไมศิรินทร์ค้ำประกันให้ภรรยาทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ข้อเท็จจริงของกิจการ ฯลฯ) ก็เลยทำให้เรื่องของเสถียรภาพเป็นเรื่องที่สะสางยากลำบากและยืดเยื้อมาก ๆ (โปรดย้อนกลับ ไปอ่านผู้จัดการรายเดือนฉบับที่ 34 เดือนกรกฎาคม 2529 และผู้จัดการรายสัปดาห์ ฉบับที่ 96(63) และฉบับ 97 (64)...)

"ปมสำคัญก็คือหนี้สินมันมากกว่าทรัพย์สินเป็นเท่าตัวจำนวนเจ้าหนี้ก็มากและรวมกันไม่ติด พยายามเท่าไรก็รวมกันไม่ได้ ต่างฝ่ายต่างเอาแต่พยายามปกป้องตัวเอง เรื่องก็เลยยืดเยื้อและเปิดช่องโหว่..." ผู้ที่ติดตามเรื่องราวของเสถียรภาพให้ความเห็น

เวลาที่ยืดเยื้อนี้ให้คุณกับ "จุลไพบูลย์" มาก ๆ

โดยเฉพาะการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินและการแก้ไขหนี้สินบางส่วนที่เจ้าหนี้สามารถฟ้องเป็นคดีอาญาได้ถึงตัวอุบลและสุรีย์พร "ก็มีเช็คหลายใบวงเงินมากพอสมควรที่อุบลกับสุรีย์พรสามารถแก้ปัญหาได้เรียบร้อย เราก็พอ ๆ จะจับทางได้ว่าเธอไม่ต้องการเจอคดีอาญาส่วนแพ่งก็ว่ากันไปไม่กลัวอยู่แล้ว" เจ้าหนี้รายหนึ่งเล่าถึงเหตุการณ์บางด้านในช่วงปลายปี 29 ที่ฝุ่นยังตลบอยู่

สุรีย์พรหรือยุ้ยนั้น ได้แยกตัวออกจากกลุ่มเสถียรภาพและในช่วงที่เสถียรภาพกำลังประสบปัญหาโดยฝ่ายเจ้าหนี้ก็ได้แต่เงื้อง่าไม่กล้าลงมือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดลงไป สุรีย์พรก็เข้าไปเกี่ยวข้องกับการก่อตั้งโรงงานผลิตถ้วยชามแห่งใหม่ใกล้ ๆ กับโรงงานเก่า

โรงงานแห่งนี้ดำเนินการในนามบริษัททีเบรน จำกัด ซึ่งแม้จะไม่ปรากฏชื่อของสุรีย์พรในการ จดทะเบียนบริษัท แต่ก็เป็นที่รู้ ๆ กันอยู่ว่าจริง ๆ แล้วใครเป็นเจ้าของ? บางคนถึงกับระบุที่มาของทุน ก็มี "คือผมคิดว่าคงมีบางส่วนจากกระเป๋าผม..." เจ้าหนี้รายหนึ่งของเสถียรภาพพูดแบบเศร้า ๆ

ซึ่งปัจจุบันโรงงานแห่งนี้ก็แล้วเสร็จลงมือผลิตไปแล้ว

"น่าติดใจอยู่หน่อยก็ตรงที่ทีเบรนไม่มีเตาเผาระดับที่เสถียรภาพมี แต่ทำไมจึงผลิตสินค้าคุณภาพสูงได้ บางคนเขาบอกว่าก็ไม่ใช่เรื่องยาก ก็อาศัยเตาเผาของโรงงานเสถียรภาพก็หมดเรื่อง ทีนี้ปัญหาก็มีอยู่ว่า จริง ๆ แล้วแม่ลูกเขาทะเลาะกันจริงหรือเปล่า ในเมื่อสุรีย์พรยังสัมพันธ์กับโรงงานเก่าเช่นนี้" แหล่งข่าววงในคนหนึ่งกล่าว

โรงงานของเสถียรภาพทั้ง 7 โรงนั้นปัจจุบันนี้ก็ยังบริหารและดำเนินการโดยกลุ่ม "จุลไพบูลย์" ตามปกติ เพียงแต่แทนที่จะใช้ชื่อเดิม-เสถียรภาพก็เปลี่ยนใหม่เป็นบริษัทอนุชน เท่านั้น

และแม้ว่าจะไม่มีชื่อของอุบลปรากฎอยู่ในทะเบียนผู้ถือหุ้นบริษัทอนุชนนอกจากลูก ๆ ของอุบล แต่ในทางเป็นจริงก็เห็นจะต้องบอกว่าอุบลยังทรงอิทธิพลอยู่ไม่เสื่อมคลาย

อุบลในวัย 65 ปีในวันนี้ดูเหมือนยังไม่รู้สึกถึงความเหน็ดเหนื่อยและคิดจะวางมือแต่ประการใด หลายคนลงความเห็นว่าอุบลยังต้องการที่จะบริหารโรงงานเซรามิคต่อไป ทั้ง ๆ ที่เงินทองก็มีเหลือล้นและอายุก็ถึงวัยที่น่าจะพักผ่อนได้แล้วก็ตาม

บริษัท อนุชนเข้าทำสัญญาดำเนินการโรงงานที่ 6 กับธนาคารไทยพาณิชย์และดำเนินการโรงงานที่ 7 กับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย อันเป็นผลจากการเข้าครอบครองโรงงานที่ 6 กับโรงงานที่ 7 ของ 2 สถาบันการเงินข้างต้นในฐานะเจ้าหนี้ที่กลุ่มเสถียรภาพจดจำนองโรงงานทั้ง 2 โรงเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้

นอกจากนี้ก็ยังสามารถดำเนินการโรงงานที่ 1 ถึง 5 ด้วยข้อตกลงกับบริษัทประธานการค้าที่ชนะการประมูลซื้อทรัพย์สินภายหลังธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การฟ้องล้มละลายและมีการขายทอดตลาดโรงงานที่ 1 ถึง 5 เมื่อปี 2530

บริษัทประธานการค้านั้นจริง ๆ แล้วก็คือบริษัทของเจ้าของแบงก์กรุงเทพฯพาณิชย์การซึ่งปัญหาข้อตกลงกับบริษัทอนุชนถึงวันนี้ก็ยังวุ่น ๆ อยู่ เพราะทางฝ่ายประธานการค้าอ้างว่าเป็นข้อตกลงให้เช่า ส่วนอนุชาก็บอกว่าเป็นข้อตกลงที่กำหนดให้ซื้อขายโรงงานกัน

ผู้สันทัดกรณีบอกว่าเรื่องวุ่น ๆ ระหว่างธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การบริษัทประธานการค้ากับบริษัทอนุชนที่เป็นของเจ้าของเก่าโรงงานเสถียรภาพนั้นก็คงจะต้องวุ่นกันไปอีกนานพอสมควรซึ่งระหว่างนั้นทางอนุชนก็คงจะเก็บดอกผลจากการดำเนินการโรงงานไปได้เรื่อย ๆ โดยไม่ต้องเสียค่าเช่าด้วยซ้ำ

ทั้งนี้ก็คงจะเป็นอย่างที่ว่าไว้ตั้งแต่จั่วหัวนั่นแหละ

เสถียรภาพล้มได้ แต่ "จุลไพบูลย์"จะไม่มีวันล้ม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.