|

ชูศักดิ์ หิมะทองคำ เขาติดกับดักตัวเองแท้ ๆ
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2531)
กลับสู่หน้าหลัก
เมื่อเกือบ 10 ปีก่อน ชื่อของชูศักดิ์ หิมะทองคำ เจ้าหน้าที่แบงก์กรุงเทพระดับ VP ดังระเบิดทั่วยุทธจักรการเงินในบ้านเรา เมื่อเขาริเริ่มโครงการสินเชื่อเกษตรครบวงจร "หนองหว้า" ร่วมกับเจริญโภคภัณฑ์ นัยว่าโครงการสินเชื่อชิ้นนี้ประสบผลดียิ่งจนผู้ใหญ่หลายคนในแบงก์ให้การยอมรับในฝีมือชูศักดิ์เป็นอย่างมาก และจากโครงการนี้เองชูศักดิ์ก็ได้รู้จักกับพิเชษฐ์ เหล่าเกษม ผู้บริหารและจัดการโครงการนี้ของเจริญโภคภัณฑ์และให้ความ "ชื่นชมในความสามารถและอุดมการณ์ในการพัฒนาเกษตรของพิเชษฐ์เอามาก ๆ"
เมื่อชูศักดิ์กับพิเชษฐ์เกิด "ปิ๊ง" กันขึ้นเพราะผลจาก "หนองหว้า" ชูศักดิ์ได้โปรโมทเป็น SVP พิเชษฐ์ก็ริอยากเป็น "เถ้าแก่" เสียเอง โครงการเกษตรครบวงจร "วังน้ำฝน" ก็เกิดขึ้น
พิเชษฐ์ตั้งบริษัทวังน้ำฝนขึ้น เพื่อรับบริหารโครงการเกษตรครบวงจรที่หมู่บ้านทรายขาว จ.ปราจีนบุรี โดยพิเชษฐ์ไปติดต่อกับองค์การทหารผ่านศึก นำอดีตทหารผ่านศึกที่ปลดประจำการเข้ามาเป็นเกษตรกรเลี้ยงหมูในโครงการ เหตุการณ์ตอนนี้เกิดขึ้นในช่วงปี 2525
พอพิเชษฐ์เอาแนวคิดและโครงการนี้มาบอกชูศักดิ์ที่แบงก์กอปรกับชูศักดิ์มีอาการ "ปิ๊ง" กับพิเชษฐ์อยู่ก่อนแล้วจากโครงการหนองหว้า เรื่องของเรื่องก็เลยง่ายขึ้นเมื่อชูศักดิ์นำโครงการนี้มาปรึกษาหารือกับปิติ สิทธิอำนวยและชาตรี โสภณพนิช นายของชูศักดิ์เพื่อร่วมกันพิจารณาความเป็นไปได้
จะเป็นด้วยบอสส์ของชูศักดิ์เชื่อถือชูศักดิ์อยู่ก่อนแล้ว หรือมั่นอกมั่นใจโครงการว่าต้องสำเร็จ ไปได้สวยเหมือนหนองหว้าหรือเปล่าก็สุดเดา
ปรากฏว่าโครงการนี้ชูศักดิ์ปล่อยสินเชื่อให้พิเชษฐ์ไปเกือบ 400 ล้านบาท "ผมอนุมัติสินเชื่อให้เกษตรกรในโครงการนี้ไปรายละเกือบ 2 ล้านบาท โดยพิเชษฐ์เป็นผู้ค้ำประกันและรับไปดำเนินการแทนเกษตรกร" ชูศักดิ์เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงขั้นตอนการปฏิบัติปล่อยสินเชื่อแก่โครงการนี้ พร้อมย้ำว่าวงเงินสินเชื่อเกษตรจำนวนนี้อยู่ในอำนาจของเขาที่กระทำได้
เมื่อชูศักดิ์อนุมัติสินเชื่อให้โครงการนี้ไปแล้ว ก็อยากให้โครงการประสบผลดี ชูศักดิ์จึงติดต่อไปยังเจริญโภคภัณฑ์คู่หูเก่าเพื่อขอซื้อพันธุ์หมูชั้นดีมาให้โครงการ
"พันธุ์หมูที่ซื้อมานี้ดีมากเหลือเกินเพราะโตเร็ว ให้น้ำหนักและเนื้อหมูแท้ ๆ ในสัดส่วนของมันหมูที่น้อยกว่าพันธุ์หมูชนิดอื่นทั่วไปถึง 30-40 %" ชูศักดิ์บรรยายสรรพคุณพันธุ์หมูที่เขาเอามาจากเจริญโภคภัณฑ์ให้ "ผู้จัดการ" ฟังคล้าย ๆ กับกำลังจะบอกว่า โครงการนี้เขา..................
แต่จะเป็นเพราะชูศักดิ์กับพิเชษฐ์โชคร้ายดวงไม่ดีหรือเปล่าก็ไม่ทราบเพราะปรากฎว่าเพียงปีแรกที่โครงการเริ่มผลิตหมูเนื้อราคาหมูเนื้อในตลาดชำแหละตกต่ำลงอย่างรวดเร็วจากก.ก.ละ 30 บาทก่อนหน้านี้เหลือเพียง 12 บาท ขณะที่ต้นทุนปาเข้าไปก.ก.ละ 21 บาท...
พูดง่าย ๆ ขาดทุน ก.ก.ละ 9-10 บาท
วันหนึ่ง ๆ โครงการผลิตหมูเนื้อได้ไม่ใช่ 3-4 ตัว แต่เป็น 300-400 ตัว ขาดทุนเดือนละเท่าไร ไม่อยากคิด ชูศักดิ์และพิเชษฐ์ถึงกับเหงื่อตก!
โชคชะตาช่างเล่นตลกกับเขาเสียจริง ๆ
ขณะที่ราคาหมูเป็นดิ่งลงเหว การจัดการและบริหารของพิเชษฐ์ในโครงการก็หย่อนยานมีการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในบริษัทวังน้ำฝนของพิเชษฐ์กันอย่างสนุกมือ
"คุณคิดดู หมูตัวหนึ่งน.น. 100 ก.ก. เวลาแจ้งยอดทางบัญชีบอกน.น.แค่ 90 ก.ก. ขาดไปตัวหนึ่ง 10 ก.ก. วันหนึ่ง ๆ ขายไป 300-400 ตัว เดือนหนึ่ง ๆ บริษัทขาดรายได้ไปถึงเกือบล้านบาท...นอกจากนี้เรื่องข้าวโพดที่ใช้เป็นอาหารหมูนี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทุจริตกันสนุกมือ ซื้อมาจากบริษัทลีวัฒนาและแหลมทองสหการวันละ 10 คันรถ คันรถหนึ่งประมาณ 14-15 ตัน แต่แจ้งยอดไม่ถึง ตอนแรก ๆ เราไม่รู้ มารู้ทีหลัง ก็บอกให้พิเชษฐ์เขาตรวจ แต่พิเชษฐ์ไม่เชื่อเพราะรักลูกน้องมากเกินไป มายอมรับทีหลังก็สายเสียแล้ว" ชูศักดิ์ครวญให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
ในที่สุดโครงการเกษตรวังน้ำฝนของพิเชษฐ์ก็เจ๊ง ค้างจ่ายดอกเบี้ยและเงินต้นคืนแก่แบงก์มาตลอด เงินทุนหมุนเวียนที่แบงก์ให้สินเชื่อไปเดือนละเกือบ 20 ล้านบาทมาตลอดก็หยุด...เมื่อสถานการณ์บริษัทวังน้ำฝนล่วงรู้ไปถึงหูของเกษตรกรที่เป็นทหารผ่านศึก (ปลดประจำการไปแล้ว) เกษตรกรพวกนี้ก็ออกลายซิกแซกเอากับพิเชษฐ์ด้วยวิธีเอาลูกหมูที่ขุนเลี้ยงไว้ไปขายตลาดก่อนกำหนดตัวละ 60 บาทแทนที่จะขายให้บริษัทเพื่อบริษัทจะได้ขายต่อไปยังโรงชำแหละตัวละ 200-300 บาท ... อย่างนี้ต่อให้พิเชษฐ์สร้างปาฏิหาริย์ยกดวงอาทิตย์ได้อย่างไร บริษัทวังน้ำฝนก็เจ๊งแหง ๆ...
ถึงปัจจุบัน บริษัทวังน้ำฝนมีหนี้สินค้างเติ่งกับแบงก์กรุงเทพอยู่ประมาณ 700 ล้านบาทแล้ว
ส่วนชูศักดิ์ถูกเตะโด่งไปนั่งตบยุงในตำแหน่งที่ปรึกษากรรมการผู้จัดการใหญ่-ชาตรี โสภณพนิช ส่วนพิเชษฐ์ถูกแบงก์ฟ้องล้มละลาย
"งานนี้ถ้าแบงก์ฟ้องล้มละลายพิเชษฐ์ ทรัพย์สินทั้งหมดในโครงการวังน้ำฝนถูกอายัดและขายทอดตลาด อย่างมากแบงก์ก็ได้คืนไม่เกิน 100 ล้านบาท ซึ่งก็เท่ากับว่าแบงก์ต้องตัดหนี้สูญไปจำนวน 600 ล้านบาท" แหล่งข่าวสาธยายให้ "ผู้จัดการ" ฟังเมื่อทราบว่าทางแบงก์กรุงเทพฟ้องล้มละลายพิเชษฐ์และบริษัทวังน้ำฝนเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
โครงการวังน้ำฝนนี้ เป็นบทเรียนครั้งใหญ่สุดของชูศักดิ์ที่หาซื้อไม่ได้อีกแล้ว... ชูศักดิ์ยืนยันกับ "ผู้จัดการ" ว่าความล้มเหลวทั้งหมดของโครงการนี้เขาไม่เชื่อว่าพิเชษฐ์จะหลอกลวงเขา แต่คนอื่นเขาไม่แน่ใจที่จะยืนยันเช่นนั้น
ช่างน่าเสียดายจริง ๆ สำหรับคนอย่างชูศักดิ์ ในวัย 55 ปีของเขา น่าจะลงเวทีอย่างยิ่งใหญ่สมกับที่อุทิศชีวิตทั้งชีวิตในหน้าที่การงานกับแบงก์มา 25 ปี ในฐานะผู้เชี่ยวชาญสินเชื่อและนักพัฒนาธุรกิจเกษตร หากไม่เพราะเขาหลงติดเข้าไปใน "กับดัก" ที่สร้างมากับมือ
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|