วิชัย เชิดชัย รอได้รอ รุกได้รุก


นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2531)



กลับสู่หน้าหลัก

เขาคนนี้ "ผู้จัดการ" เคยเขียนถึงไปแล้วพร้อมคำขานรับที่เป็นจริงว่า เขาคือ 1 ใน 3 คหบดีที่ "รวยจริง" อีกทั้งอิทธิพลบารมีก็มีคลุมไปทั่วภาคอีสาน ขณะเดียวกันก็มีเสียงย้ำติงค่อนข้างหนักแน่น ว่าบนถนนธุรกิจเขาและเมียขึ้นชื่อลือชานักในความ "หิน" ที่มากมายหลายรูปแบบ

ที่จริงถ้าจะบอกว่าท่าที "หิน ๆ" นั้นเป็นความน่ารังเกียจ คงดูรุนแรงไป เพราะในเกมธุรกิจที่ไม่มีมิตรแท้หรือศัตรูถาวรด้วยความรู้เพียงแค่ชั้น ป.4 ทั้งของเขาและเมีย อาการ "หิน ๆ" ที่สำแดงออกมาอาจจะเป็นคมที่ทำให้กลายเป็นหนึ่งได้อย่างไม่คลอนแคลน

จังหวะชีวิตเขาน่าศึกษาไม่น้อย จากเด็กหนุ่มที่แทบจะหาบทสนทนากับอนาคตของตัวเองไม่ได้ เขาใช้ความมานะพยายามกระทั่งปีนบันไดความสำเร็จเป็นเจ้าของอู่ต่อตัวถังรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศได้ ซึ่งแน่ละว่าบางครั้งของการต่อสู้กับชีวิตย่อมรับรู้ได้ถึง "ความบริสุทธิ์" ทว่าหลายครั้งที่คนซึ่งรู้จักเขาดีก็บอกว่า "อาจมีบ้างของการฉกฉวยสถานการณ์ผสานเข้ากับความป้อแป้ของกลไกรัฐที่ทำให้การค้ารุ่งเรือง"

ถูกหรือผิดในกรณีนี้ "ผู้จัดการ" ไม่สามารถให้คำตอบได้ รู้แต่เพียงว่ารูปแบบอย่างนั้นกลายเป็นประเพณีนิยมซึ่งคงเป็นทางที่ทอดผ่านของพ่อค้าไปอีกหลายยุคหลายสมัย !!??

มุมที่พลิกกลับอยู่ที่ว่าเมื่อถึงวันหนึ่ง เวลาหนึ่งพร้อมที่จะชำระ "เงินเปื้อนมลทิน" และปรับตัวให้เข้ากับความสุจริตคิดชอบของสังคมและผู้คนส่วนใหญ่ ก้าวเดินของวิชัยน่าที่จะเป็นแบบอย่างได้ดี จากที่มีเสียงติฉินนินทาข้างต้น วันนี้ข้อมูลใหม่ที่ "ผู้จัดการ" ทราบมานั้นเขาได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว

วันนี้ของเขาไม่ได้กักตัวอยู่กับความคิดแคบ ๆ ที่มองเห็นแต่ตัวเลขกำไรในบัญชีเป็นสิ่งที่ควรค่าชื่นชมโดยละเลยต่อปัญหาต่าง ๆ ที่ผู้คนร่วมวิถีเดียวกันประสบ วิชัยหรือเฮียไซได้ผลักดันตัวเองเข้าไปเป็นกรรมการหอการค้า จ.นครราชสีมาและเป็นคีย์คนหนึ่งที่ร่วมแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้กับสมาชิกจน ภาพพจน์เริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้นตามลำดับ

กรรมการคนหนึ่งพูดถึงเขาว่า "เราอาจหวังอะไรจากเขาได้ไม่มาก แต่การที่คนรวย ๆ อย่างเขาหันมาสนใจปัญหาและยอมรับปรัชญาการค้าสมัยใหม่เข้าไปปรับปรุงระบบการบริหารงานในบริษัท ใหญ่ ๆ ของเขาก็ถือว่าดีที่สุด เขาเปลี่ยนไปมากนะ"

แต่สิ่งที่วิชัยและครอบครัวต้องจดจำและดีใจมากที่สุดก็คือ การที่เขาได้รับคัดเลือกให้เป็น "นัก-ธุรกิจดีเด่นประจำปี 2530 สาขาพัฒนาอุตสาหกรรม" ซึ่งรางวัลนี้กับผลงานที่ผ่านมาหลายสิบขวบปีและ ที่กำลังจะก้าวรุดหน้าในอนาคตอันใกล้เขานั้นเหมาะกับเกียรติยศนี้แล้วจริง ๆ

"ผู้จัดการ" เคยบอกว่า "เชิดชัยอุตสาหกรรม" ของเขามาถึงจุดปรับโค้งของระบบธุรกิจครอบครัวอีกครั้งหนึ่งด้วยข่าวคราวที่ว่ามีบริษัทรถยนต์ต่างชาติหลายรายสนใจงานผลิตตัวถังรถของอู่นี้ และอยากจะเข้าร่วมลงทุนด้วย ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้หรือเนเธอร์แลนด์ ซึ่งถ้าข่าวคราวนี้เป็นจริงก็เท่ากับเป็นการยกระดับธุรกิจภูธรชนิดก้าวกระโดดครั้งใหญ่เลยทีเดียว!!!

บัดนี้เวลานั้นได้มาถึงแล้ว "เชิดชัยอุตสาหกรรม" พร้อมที่จะอวดฝีมือให้ประจักษ์ว่า โรงงานต่อตัวถังรถยนต์แห่งนี้ใหญ่และมีคุณภาพดีที่สุดในเอเชียอาคเนย์ด้วยการที่จะผลิตตัวถังรถยนต์ป้อนให้กับบริษัทเดินรถต่าง ๆ ในมาเลเซีย ซึ่งขณะนี้ได้มีการเจรจาตกลงกันไปหลายขั้นแล้ว วิชัยนั้นบอกว่าเขาไม่ได้หวังแค่ต่อตัวถังรถเท่านั้นยังหวังที่จะขายชิ้นส่วนต่าง ๆ เป็นผลพวงตามมาอีกด้วย

ไม่เพียงแต่ขยายตัวส่งออกต่างประเทศ แม้แต่กิจการเดินรถภายในประเทศก็มีข่าวว่าวิชัยได้เข้ามาเซ็งลี้รถเมล์ร่วมบริการขสมก.ไปแล้วบางสายอาทิเช่น สาย 39 รังสิต-สนามหลวง ซึ่งหลังจากที่เขาเข้ามาทำไม่เท่าไหร่ก็สามารถฟื้นภาวะย่ำแย่ของการเดินรถสายนี้ได้อย่างน่าชื่นใจจนผลงานดังกล่าวทำให้ ขสมก.ยินดีที่จะให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมในอีกหลาย ๆ สาย

ซึ่งจะว่าไปแล้วคงไม่ลำบากยากเย็นเท่าไรนัก เพราะเป็นที่รู้ ๆ กันอยู่ว่าความสัมพันธ์อันสนิท...........บรรหาร ศิลปอาชา นั้นเหนียวแน่นยากนักที่ใครจะสะบั้นให้แยกขาดจากกันได้ ???

สัมปทานการเดินรถไฟดีเซลรางปรับอากาศทั่วประเทศ 6 สายที่กรรมาสิทธิ์ตกเป็นของบริษัทเชิดชัยดีเซลราง จำกัด ที่มีวิชัย เชิดชัย เป็นหัวเรือใหญ่นั้นน่าจะเป็นคำตอบไขข้อสงสัยนั้นได้ดีที่สุด นอกเหนือไปจากความสามารถด้านการผลิตที่เขามีเป็นทุนรอนเดิมอยู่ก่อนแล้ว !???

พูดถึงรถไฟดีเซลรางปรับอากาศนี่แล้ว "ผู้จัดการ" มีอยู่เรื่องหนึ่งที่ไม่รู้ว่าคนอย่างวิชัยหรือเฮียไซจะขำออกไหม? ครั้งหนึ่ง "ผู้จัดการ" เคยใช้บริการรถไฟดีเซลรางปรับอากาศของบริษัทเชิดชัยดีเซลรางในสายหาดใหญ่-กรุงเทพฯ พอดีเที่ยวนั้นฝนตกลงมาห่าใหญ่ เที่ยวเดียวกันนี้มีนักธุรกิจชาวสิงคโปร์ 3-4 คนที่อยากเปลี่ยนบรรยากาศจากเครื่องบินหันมาใช้บริการรถไฟแทนร่วมมาด้วย วันนั้นปรากฏว่า 5-6 ชั่วโมงที่นักธุรกิจกลุ่มนั้นรวมถึง "ผู้จัดการ" ต้องทนนั่งดูและรับเอาความชุ่มฉ่ำของหยดน้ำที่รั่วไหลลงมาจากเพดานรถโดยไม่มีสิทธิป้องกันไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ทั้งสิ้น

"รถนี่เขาต่อกันที่ไหนนะ ทำในเมืองไทยหรือเปล่า ในสิงคโปร์เป็นอย่างงี้ถูกด่าแหลกเลย" นักธุรกิจกลุ่มนั้นพูดกับ "ผู้จัดการ" อย่างนี้จริง ๆ นี่ยังดีนะที่บัสโฮสเตสเที่ยวนั้นแกพยายามเอารอยยิ้มหวาน ๆ เข้าปลอบและกุลีกุจอช่วยเหลือเท่าที่จะช่วยได้ไม่งั้นมีหวังโดนสวดหนักกว่านี้เป็นแน่

ไหน ๆ ก็จะไปอหังการ์ในบ้านเมืองเขาแล้วอย่าให้เป็นอย่างที่ว่านี้อีกล่ะ เดี๋ยวเสียชื่อคนโคราชหมด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.