|
ไบวอเตอร์ เข้ามาเพื่อทำอีสาน (ให้) เขียว
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2531)
กลับสู่หน้าหลัก
ถ้าพูดถึง "โครงการอีสานเขียว" แล้ว แทบจะกล่าวได้ว่ามีน้อยคนนักที่ไม่รู้จักหรือไม่เคยได้ยิน และคงมีอีกหลายคนที่กำลังติดตามความเคลื่อนไหวของโครงการนี้อย่างใกล้ชิด
เช่นเดียวกันกับที่คงมีน้อยยิ่งกว่าน้อยที่หากไม่มี "โครงการอีสานเขียว" จะเคยได้ยินชื่อของ "BIWATER INTERNATIONAL GROUP"
BIWATOR INTERNATIONAL LIMITED เป็นบริษัทเอกชนที่เชี่ยวชาญงานด้านวิศวกรรมทางน้ำที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของสหราชอาณาจักร มีสำนักงานใหญ่อยู่ในเซอร์เรย์ ประเทศอังกฤษ
BIWATOR INTERNATIONAL ไม่เพียงแต่จะเป็นที่ปรึกษาเฉพาะโครงการวิศวกรรมทางน้ำ หากแต่ยังมีบริษัทที่ปรึกษาทางด้านการก่อสร้าง การวางแผนโครงการ การออกแบบ ที่มีสาขาอยู่ในสหราชอาณาจักรและอีกกว่า 10 ประเทศทั่วโลก
BIWATER INTERNATIONAL เปิดตัวบริษัท ไบวอเตอร์ จำกัด ในประเทศไทย รวมทั้งจัดนิทรรศการพร้อมกับเสนอรายละเอียดเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการอีสานเขียวที่ห้องมณฑาทิพย์ โรงแรมรีเจนท์ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา
"พระองค์รู้สึกยินดีที่ไบวอเตอร์ฯ ซึ่งเป็นบริษัทของสหราชอาณาจักรมาทำประโยชน์ให้กับประเทศไทย และกอปรกับพระองค์เองก็ทรงให้การสนับสนุนโครงการด้านการพัฒนาในหลาย ๆ ด้านอยู่เสมอ" ADRIAN WHITE ประธานบริษัท ไบวอเตอร์ จำกัด บอกกับ "ผู้จัดการ" เมื่อถูกถามถึงเหตุผลที่เจ้าฟ้าชายชาร์ลส์ มกุฎราชกุมารแห่งอังกฤษเสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานซึ่งค่อนข้าง "เซอร์ไพร้ซ์" อย่างมาก เพราะไม่มีรายละเอียดในหมายกำหนดการที่บริษัทส่งให้สื่อมวลชนก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้ผู้สื่อข่าวหลายสำนักรู้สึก "ทึ่ง" และ "ประหลาดใจ" ในความ "ยิ่งใหญ่" ของไบวอเตอร์ตาม ๆ กัน
บริษัท ไบวอเตอร์ จำกัด เปิดดำเนินงานในประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน 2530 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบกดำเนินการจัดรถบรรทุกแจกจ่ายน้ำให้แก่ประชาชนผู้เดือดร้อนในภาคอีสาน เพื่อเป็นการสนองตอบพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงห่วงใยต่อความทุกข์ยากของประชาชนเพราะขาดแคลนน้ำบริโภค และน้ำใช้ในชีวิตประจำวัน
แต่การดำเนินการในระยะแรกนั้นเป็นเพียงโครงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น
ดังนั้นกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.)ได้ให้กองทัพบกจัดตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือประชาชนตามพระราชดำริ (ศชร.) จึงมีรัฐบาลเป็นศูนย์กลางการดำเนินงาน และมีกองทัพบกเป็นหน่วยงานหลักที่ช่วยประสานการปฏิบัติให้บรรลุวัตถุประสงค์
ศูนย์อำนวยการช่วยเหลือประชาชนตามพระราชดำริ (ศชร.) ที่จัดตั้งขึ้นมีพลเอกวันชัย เรืองตระกูล เสนาธิการทหารบกเป็นผู้อำนวยการ ก็ได้ดำเนินการตามโครงการนี้โดยให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 6
แต่ลำพังภาครัฐบาลคงไม่สามารถทำให้โครงการสำเร็จตามวัตถุประสงค์ได้
"พอดีคุณวิรุฬ เตชะไพบูลย์ ที่เป็นเจ้าของ WORLD TRADE CENTER ท่านให้ความช่วยเหลือบริจาคสิ่งของแก่ประชาชนทั่วไปอยู่เสมอ และคุ้นเคยกับพลเอกชวลิตพอสมควร ก็คงจะมีการ APPROACH ระหว่างกันว่าให้ช่วยเหลือเรื่องนี้หน่อย"
WORLD TRADE CENTER จึงได้เข้ามาเป็นผู้ประสานงานกับบริษัท และองค์กรจากต่างประเทศให้แก่โครงการอีสานเขียว
ซึ่ง BIWATER INTERNATIONAL ก็เป็นหนึ่งในหลายบริษัทที่นำเสนอโครงการเพื่อการพัฒนาอีสานอย่างเป็นระบบมาให้ ศชร.พิจารณา
"ตอนนั้น ไบวอเตอร์ก็เลยส่งโครงการอีสานเขียวเป็น PROPOSAL หนึ่งในหลายโครงการกลับไปที่อังกฤษ ซึ่ง OVERSEA DEVELOPMENT ADMINISTRATION DEPT. ของรัฐบาลก็เห็นดีเห็นงามด้วย" คนในบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"
รัฐบาลอังกฤษก็สนับสนุนทางด้านการเงินเป็นจำนวน 1/5 ของเงินที่ไบวอเตอร์ต้องใช้ในการศึกษาโครงการทั้งหมด
โครงการพัฒนาในแผนแม่บทที่บริษัท ไบวอเตอร์จัดทำขึ้น ไดัรับความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดจากบริษัทที่ปรึกษาทั้งในและนอกประเทศหลายแห่ง
HOWARD HUMPHRIES & PARTNER, และ SIR WILLIAM HALCROR & PARTNER แห่งประเทศอังกฤษ
TEAM CONSULTING ENGINEERS บริษัทที่ปรึกษาทั้งทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมของไทยที่ดำเนินงานโดยวิศวกรมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีอย่างทัชชะพงศ์ ประเวศวรารัตน์ ประเสริฐ ภัทรมัย และมีดร.ทนง ลำใย อธิการบดี ABAC. เป็นกรรมการอยู่ด้วย
แผนงานที่เสนอจะนำมาใช้เป็นแผนแม่บทในการเร่งรัดพัฒนาภาคอีสาน ประกอบด้วยการปลูกป่าในพื้นที่ 5 ล้านไร่ ขยายพื้นที่ชลประะทานใหม่อีก 2.5 ล้านไร่ ลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตร 30 รายการ ฯลฯ ซึ่งจะใช้เวลาในการดำเนินการ 5 ปี และคาดว่าจะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท
"WE WANT TO INVENT ANY WORK NOT WILL" ADRIAN WHITE กล่าวย้ำจุดยืนของ BIWATER ที่มีต่อโครงการอีสานเขียวอย่างหนักแน่น
เป็นความตั้งใจอย่างแรงกล้าของบุคคลที่ตั้งใจจะมาทำประโยชน์ให้แก่ประเทศเราซึ่งคงจะต้องติดตามกันต่อไปว่าโครงการนี้จะเป็นโครงการในความฝันที่วาดไว้อย่างสวยหรูหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็พอจะบอกได้ว่า "โครงการอีสานเขียว" ไม่ได้หมายถึงเพียงโครงการที่ให้คนใส่ชุดเขียวไปทำเพียงลำพังอย่างที่เคยคิดกัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|