|
หนึ่งเดียวคนนี้ ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์
นิตยสารผู้จัดการ( มีนาคม 2531)
กลับสู่หน้าหลัก
คงไม่เพียงแต่คนที่ไม่เคยสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับอุตสาหกรรมหนักมาก่อนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงหลาย ๆ คนที่ศึกษาและติดตามข่าวคราวของ "ปิโตรเคมี" ที่คิดเช่นเดียวกันว่าเป็นเรื่องที่ยากยิ่งแก่การเข้าใจเสียเหลือหลาย
การลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่นี้ เกิดขึ้นหลังจากการสำรวจพบก๊าซธรรมชาติแหล่งใหญ่ในอ่าว-ไทยในปี 2516 ซึ่งได้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการที่เกี่ยวเนื่องจากก๊าซธรรมชาติ
การเริ่มต้นโครงการปิโตรเคมีเบื้องต้น ได้ใช้เงินลงทุนในโครงการมากกว่า 20,000 ล้านบาท จนกระทั่งปัจจุบันที่ได้มีการศึกษาแนวทางการพัฒนา "ปิโตรเคมี"ขั้นที่ 2 คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้จัดการฝ่ายวางแผนและประสานงานของบริษัท ปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด เป็นกลไกสำคัญยิ่งที่อยู่เบื้องหลังความก้าวหน้าของโครงการมาโดยตลอด
ศิริจบการศึกษาระดับไฮสคูล จาก SEVENTH DAY ADVENTIST หลังจากนั้นได้ทุนไปศึกษาต่อที่ UEVENTH OF AKRON มลรัฐโอไฮโอ เรียนได้เพียงปีเดียวก็ย้ายไปเรียนที่ CALIFORNIA IN-STITUTE OF TECHNOLOGY (CAL TECH) ในสาขาวิศวกรรมเคมี (CHEMICAL ENGINEERING) โดยได้รับทุนจากสถาบันอีกเช่นกัน
ศิริจบปริญญาตรีจาก CAL TECH โดยได้รับเลือกให้อยู่ในกลุ่มนักศึกษาที่มีอันดับคะแนนสูงสุดที่จบในปีนั้น และเข้าเรียนต่อปริญญาเอกในสาขาเดียวกันที่ MIT (MASSACHUSETTS INSTITUTE OF TECHNOLOGY ) สถาบันการศึกษาสาขาวิศวกรรมศาสตร์ที่เยี่ยมที่สุดของสหรัฐอเมริกา
ระหว่างที่ศิริทำปริญญาเอกในงานวิจัยของเขาก็ได้มีการจัดตั้งบริษัทภายในโครงการขึ้นมาเอง ซึ่งความเป็นยอดฝีมือทางด้านนี้ของศิริพิสูจน์ได้จากการที่บริษัทของเขาได้รับเชิญจากบริษัทที่ปรึกษาใหญ่ของสหรัฐฯอย่าง ARTHUR D.LITTLE ให้เป็นที่ปรึกษาในงานวิจัยของบริษัท
ARTHUR D. LITTLE เป็นหนึ่งในสองบริษัทที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมเคมี ที่ได้เสนอตัวเข้ามาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างโรงงานปิโตรเคมีขั้นที่ 2 กับปตท.ในขณะนี้
ศิริใช้เวลาว่างสร้างประสบการณ์ให้ตัวเองทางคอมพิวเตอร์ และการบริหารองค์กรอยู่เสมอ เขาใช้เวลาเรียนที่ MIT อยู่ 3 ปีครึ่ง และพกเอา EQUIVALENT TO MBA จาก BUSINESS SCHOOL ของ MIT กลับมาเมืองไทยอีกใบ โดยปฏิเสธงานที่น่าสนใจและค่าตอบแทนสูงมากมายที่บริษัทชั้นนำในสหรัฐฯเสนอให้ ด้วยเหตุผลเดียวที่ว่า "ไม่มีที่ไหน... สุขใจเท่าบ้านเรา"
ศิริกลับมาเมืองไทยในปี 2523 เริ่มงานด้ายการวางแผนโครงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมิคัลไทย- - จนเป็นรูปเป็นร่าง ขณะเดียวกันก็เข้าไปสอนในแผนกวิศวเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปลายปีเดียวกันนั่นเอง ศิริก็ถูกชักชวนจากปตท. ให้เข้าร่วมวางแผนศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจนสามารถเสนอโครงสร้างทั้งหมดตั้งเป็น บริษัทปิโตรเคมีแห่งชาติ จำกัด สำเร็จในปี 2527
ช่วงแรกที่ปตท.ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการนี้โดยมีบริษัทจากต่างประเทศเป็นที่ปรึกษา ซึ่งให้ความเห็นว่าประเทศไทยควรสร้างโรงงานผลิตเอททิลีนเล็ก ๆ กำลังการผลิตประมาณ 160,000 ตันต่อปี เพื่อทดแทนการนำเข้า ศิริเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการคัดค้านความคิดดังกล่าว
"ตอนนั้นผมพูดได้อย่างมั่นใจจากประสบการณ์ที่ผ่านมาว่า ในลักษณะเศรษฐกิจอย่างนี้ทำไปวันต่อวันก็ไม่ได้ประโยชน์มูลค่าแก๊ซอาจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ได้เป็นฐานของอุตสาหกรรมจริง ๆ" ศิริอธิบายความคิดของเขาในครั้งนั้น
และนี่คือความแตกต่างที่สำคัญ ของการเรียนในด้าน CHEMICAL ENGINEERING มาโดยตรงของศิริ ที่เขาสามารถมองตั้งแต่ต้นจนจบได้โดยเขารู้ว่า ขบวนการทั้งหมดเกี่ยวข้อง กับอะไรบ้าง มีจุดอ่อน จุดเด่นที่ไหนบ้าง ทำอย่างไรที่จะให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดที่เรียกว่ามีเหตุผล REASONABLE RANGE และ REASONABLE CAPACITY
ขณะเดียวกัน ตอนนั้นมีคนที่รู้เรื่องปิโตรเคมีอย่างลึกซึ้งน้อยมาก ศิริจึงถูกเชิญเข้าไปเป็นที่ปรึกษาให้แบงก์กรุงเทพ ในเรื่องการวางแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อประกอบในการวางแผนโครงสร้างการดำเนินธุรกิจของแบงก์ที่จะเกี่ยวข้องกับปิโตรเคมีซึ่งแบงก์กรุงเทพเองก็เห็นชัดว่า แบงก์ไหนที่มีบทบาทในอุตสาหกรรมนี้ได้ จะเป็นจุดยืนเป็นฐานสำคัญของธุรกิจของแบงก์ในอนาคต
นอกจากงานที่รับผิดชอบที่ปคช. (ปิโตรเคมีแห่งชาติ) ศิริยังเป็นกรรมการและเลขานุการมูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่มีเป้าหมายในการส่งเสริมพัฒนาให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถ มีกำลังที่จะพัฒนาบุคลากรในด้านต่าง ๆ ในสาขาปิโตรเคมีให้มากที่สุด และเป็นที่ปรึกษาและอาจารย์พิเศษในโครงการจัดตั้งวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ร่วมกับสหสาขา วิชาปิโตรเคมีของจุฬาฯ อีกด้วย
ศิริบอกว่า วิทยาลัย ฯ ที่ตั้งขึ้นเพื่อรองรับโครงการของมูลนิธิเพื่อสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็นหนึ่งในหลายโครงการที่มูลนิธิสนับสนุนอยู่บ้าง แต่ไม่ได้เป็นการแข่งขันกัน
"เราพยายามกระตุ้นให้ประชาชนทั่วไป นิสิต นักศึกษามีความรู้เกี่ยวกับปิโตรเคมี พอมีสถาบันนี้ มีมูลนิธิ ฯ จะทำให้นักศึกษาที่จบออกมามีความพร้อม ที่จะก้าวเข้าไปในปิโตรเคมีมากขึ้น" ศิริย้ำถึงความสำคัญในการให้ความรู้เกี่ยวกับปิโตรเคมีในอีกด้านหนึ่ง
ทุกวันนี้ ศิริใช้เวลาว่างหลังจากเลิกงานของเขาพักผ่อนด้วยการว่ายน้ำ กับลูกชายสองคนอายุเพียง 8 และ 6 ขวบครึ่งและลูกสาววัย 3 ขวบของเขา
"ตอนแรกผมอยากเป็นหมอ เพราะชอบเรียนเคมีแต่ก็อยากเป็นวิศวกรด้วย ก็มีวิศวเคมีนี่แหละ ที่ผมคิดว่าเหมาะสมกับผมที่สุด" ศิริเล่าถึงเหตุผลที่ทำให้เขาเลือกเรียนวิศวเคมีและคงไม่เคยคิดว่าตัวเขาจะเป็นผู้นำความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาทำประโยชน์ได้มากขนาดนี้
ศิริเคยบอกว่าเขาไม่ใช่ทั้ง ENGINEER และไม่ใช่ BUSINESS MAN แต่เขาต้องพยายามมองกว้างขึ้นถึงขั้นว่า จะใช้วิศวกรรมในการพัฒนาธุรกิจอย่างไร เพื่อให้ก่อตั้งเป็นธุรกิจที่สำเร็จได้
และทุกวันนี้ศิริยังคงหมกมุ่นและอุทิศแรงกายแรงใจทุกหยาดของเขา ในการพัฒนาศึกษาเรื่องราวของ "ปิโตรเคมี" ที่เขามั่นใจว่าอุตสาหกรรมนี้จะเป็นฐานหลักของประเทศในอนาคต
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|