เอกชนโหมออกตั๋วเงิน สะท้อนสภาพคล่องฝืด-ดอกเบี้ยขาขึ้น


ผู้จัดการรายวัน(28 มีนาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เอกชนเบนเข็มออกตั๋วเงินระยะสั้น เพราะออกง่าย ใช้หมุนชั่วคราวยามกระแสเงินสดสะดุด หลังแบงก์ชะลอปล่อยกู้ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเศรษฐกิจไทย เจอน้ำมันแพงพ่นพิษ เข้มงวดปล่อยกู้ภาคอสังหาริมทรัพย์ รับเหมาก่อสร้าง หวั่นเอ็นพีแอลกลับมา ผู้บริหารศูนย์ตราสารหนี้ฯ เผยเอกชนเลี่ยงตราสารหนี้ระยะยาว เหตุแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น คาดปีนี้เอกชนระดมออก ตราสารหนี้ 1.3 ล้านล้านบาท ห่วงรัฐหากคุมเงินเฟ้อไม่อยู่อาจได้เห็นดอกเบี้ยปรับขึ้นเกิน 1%

การคาดหมายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย หรือจีดีพี แม้ว่าลดจากระดับ 6% มาอยู่ที่ 5% แต่ก็ยังนับว่าเป็นการเติบ โตที่น่าพอใจในยามที่ราคาน้ำมันตลาดโลกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่สำหรับผู้ประกอบธุรกิจบางกลุ่มในเมืองไทยเวลานี้กลับต้องดิ้นรนในการหมุนเงินสดมาเสริมสภาพคล่องให้กับกิจการ โดยการหันมาออกตั๋วแลกเงินหรือตั๋วบีอี (B/E) กันอย่างคึกคัก เพราะเป็นวิธีการที่สะดวกรวดเร็วในยามที่ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อ แม้ว่าสภาพคล่องในระบบธนาคารยังมีอยู่ถึง 5 แสนล้านบาท แต่ว่าเม็ดเงินที่หมุนเวียนค่อนข้างจะตึงตัว

แหล่งข่าวซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายหนึ่งเปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น แม้ว่ายังมีสภาพคล่องในระบบยังล้นอยู่ แต่ธนาคารต้องพิจารณาเรื่องของความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อในสถานการณ์ที่กล่าวได้ว่า เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งจะต้องมีการประเมินผลจากราคาน้ำมันแพงที่ทำให้ต้นทุนสินค้าสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรง อย่างเช่น เหล็ก และปูนซีเมนต์ ธนาคารหลายแห่งจึงปล่อยกู้ยากขึ้น เพราะเกรงจะเกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้

"หากจะปล่อยกู้ก็จะต้องเข้มงวดเรื่องหลักประกัน ตลอดจนการค้ำประกัน ซึ่งหลักประกันถือเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ความเสี่ยงลดลง" แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับธุรกิจที่ธนาคารเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อขณะนี้ คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งจะมีปัญหาเรื่องการควบคุมต้นทุน ตลอดจนธุรกิจที่ผูกพันกับราคาน้ำมัน และต้นทุนการขนส่ง "อสังหาริมทรัพย์นั้นเข้มงวดเป็นทุนเดิมอยู่แล้วเมื่อมีเรื่องของน้ำมันที่กระทบต้นทุนแพงยิ่งทำให้แบงก์เข้มงวดในการปล่อยกู้มากในขณะนี้"

การระมัดระวังการปล่อยกู้ของธนาคารส่งผลให้ช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลายรายหันไปออกตั๋วแลกเงินหรือบีอีและตราสารหนี้ระยะสั้นกันค่อนข้างมาก

ส่วนผู้ประกอบธุรกิจประเภทอื่นซึ่งปกติมีการออกตั๋วบีอีกันอยู่แล้ว เพราะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากยังอยู่ในระดับต่ำ นักลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนที่สูงจึงนิยมลงทุนในตั๋วบีอีที่ให้ผลตอบแทน 4-5% ขณะนี้ หันมานิยมออกตั๋วบีอีกันมากขึ้นกว่าเดิม โดยสถานการณ์เช่นนี้ เริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2547

"หลายคนต้องวิ่งหมุนเงินด้วยการออกตั๋วบีอีมาใช้เนื่องจากกระแสเงินสดของกิจการเริ่มไปจมอยู่กับวัตถุดิบและสินค้าคงคลัง สำหรับกิจการขนาดกลางนอกจากออกตั๋วบีอีวงเงิน 100-200 ล้านบาท แล้วบางกิจการก็ยังมีทางเลือกที่จะออกตราสารหนี้ระยะสั้นวงเงิน 500-1,000 ล้านบาท"

แหล่งข่าวกล่าวว่า การออกตั๋วบีอีรวมไปถึงตราสารหนี้ระยะสั้นประเภทอื่นจะสะดวกและมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการกู้เงินธนาคาร เนื่องจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นเป็นเหตุให้มีการนิยมออกกันมาก

ทั้งนี้ จากการรวบรวมข้อมูลพบว่าบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในตลาดหุ้นไทยมีการระดมทุนด้วยการออกตั๋วบีอีหรือตราสารหนี้ระยะสั้นหลายแห่ง เพราะต้นทุนถูกและทำได้สะดวก เช่น

บริษัท โฮม โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ออกหุ้น กู้วงเงิน 1 พันล้านบาท ประกอบด้วยหุ้นกู้ 500 ล้านบาท อายุ 3 ปี ดอกเบี้ย 5% และ หุ้นกู้ 500 ล้านบาท อายุ 4 ปี ดอกเบี้ย 5.4%, บริษัทพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค ออกตั๋วแลกเงินมูลค่า 1,000 ล้านบาท และหุ้นกู้ 450 ล้านบาท เพื่อซื้อและพัฒนาที่ดินตามแผนปรับโครงสร้างทางการเงิน, บริษัท อารียา พร็อพเพอร์ตี้ ออกตั๋วแลกเงินอายุ 3 ปี วงเงิน 500 ล้านบาท, บริษัท ชลบุรีคอนกรีต จำกัด ออกหุ้นกู้ 500 ล้านบาท บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสิร์ช ออกตั๋วแลกเงิน 3 ปี วงเงิน 500 ล้านบาท บริษัทแกรนด์ แอสเสท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ออกตราสารหนี้ระยะสั้น วงเงิน 500 ล้านบาท และบริษัทโนเบิล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ออกหุ้นกู้มูลค่า 1,000 ล้านบาท อายุไม่เกิน 5 ปี

นอกจากนั้น ธนาคารพาณิชย์ก็มีการออกหุ้นกู้ในระยะนี้ด้วย ซึ่งนอกเหนือเพื่อเพิ่มเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง เตรียมขยายธุรกิจแล้ว อาจจะมาจากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นจึงช่วงชิงที่จะระดมทุนด้วยต้นทุนต่ำ อีกทั้งในระยะต่อไปการระดมทุนจะยากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยลง ตลอดจนการระดมทุนในตลาดหุ้นไทยก็ไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่ายในปีนี้ ยิ่งภาวะตลาดหุ้นไม่เอื้อ หลายบริษัทขณะนี้เริ่มเลื่อนการขายหุ้นเข้าตลาดหุ้นแล้ว เว้นแต่รัฐวิสาหกิจที่จะยังเป็นที่สนใจและมีความเสี่ยงน้อยในสายตานักลงทุนที่จะสามารถระดมทุนได้

ปี48 ตราสารหนี้ระดม 1.3 ล้านล้าน

นายณัฐพล ชวลิตชีวิน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์ซื้อขายตราสารหนี้ไทย เปิดเผยถึงการที่ช่วงนี้ผู้ประกอบการหันมาออกตั๋วเงินระยะสั้นตั๋วเงินบีอี รวมถึงตราสารหนี้ระยะสั้นอายุสูงสุดไม่เกิน 3 ปีว่า เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับกิจการหรือเพื่อการลงทุนโดยเม็ดเงินการระดมทุนไม่สูงนัก โดยคาดว่ามีสาเหตุมาจากการที่อัตราดอกเบี้ยยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้การลงทุนในตราสารต่างๆ โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะยาวมีความเสี่ยงในการขาดทุนสูง เมื่ออัตราดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจะทำให้ผู้ซื้อตราสารหนี้ขาดทุนได้จากการที่ตราสารหนี้มีมูลค่าเชิงเปรียบเทียบที่ลดลง ทำให้มูลค่าของตราสารหนี้ลดลง

คาดว่าในปีนี้จะมีการออกตราสารหนี้ระยะสั้นประมาณ 1. 3 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงกับปี 2547 แต่ยังไม่สูงเท่าปี 2546 ซึ่งมีการออกตราสารหนี้มูลค่าสูงที่สุด 1.8 ล้านล้านบาท

น้ำมันแพงดันดอกเบี้ยพุ่ง

นายณัฐพล ยังกล่าวต่ออีกว่าจากการที่ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นขนาดนี้เชื่อว่าดอกเบี้ยต้องเพิ่มขึ้นตามอย่างแน่นอนปีนี้ดอกเบี้ยน่าจะปรับเกินกว่า 1% มากกว่าที่คาดการณ์ไว้และภาวะเงินเฟ้อหากรัฐควบคุมไม่ได้จะส่งผลต่อดอกเบี้ยอย่างชัดเจน ต้องดูว่ารัฐคุมเงินเฟ้ออยู่หรือเปล่า

สำหรับการออกตราสารหนี้ นายณัฐพลกล่าวว่า จำเป็นต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะออกให้มีความแตกต่างมีแรงจูงใจพิเศษเพื่อให้นักลงทุนให้ความสนใจในการลงทุนในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและการพัฒนาตลาดรองตราสารหนี้ซึ่งจะเปิด ให้บริการในปลายปี 2548 นี้จะมีส่วนช่วยให้ช่องทาง การซื้อขายตราสารหนี้ให้กระจายในวงกว้างรวมถึงนักลงทุนทั่วไปได้เข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้

พร้อมกันนี้ทำให้นักลงทุนสถาบันโดยเฉพาะผู้จัดการกองทุนได้มีข้อมูลในการซื้อขายตราสารหนี้จากราคาซื้อขายตามราคาตลาดจริง (Mark to Market) ซึ่งเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในการลงทุน ที่สำคัญและเป็นที่ต้องการของนักลงทุนสถาบันเพื่อเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจลงทุน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.