จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ชุบธุรกิจก่อสร้างไทย ประวัติที่เขียนโดยหมอชัยยุทธ


นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2529)



กลับสู่หน้าหลัก

นับแต่ปี พ.ศ.2488 หรือประมาณเกือบ 40 ปีมานี้ ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่สงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามมหาเอเชียบูรพาสิ้นสุดลงและได้เริ่มการก่อสร้างเพื่อบูรณะและพัฒนาประเทศกันใหม่นั้น อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในภาคเอกชนส่วนใหญ่มีขอบเขตอยู่เฉพาะการสร้างอาคารต่างๆ เท่านั้น งานวิศวกรรมโยธาขนาดใหญ่ เช่น งานสร้างทางหลวง ทางรถไฟ งานขุดคลองส่งน้ำ งานสร้างท่าเรือ ฯลฯ ล้วนเป็นงานที่หน่วยงานของรัฐบาลทำเอง หรือมิฉะนั้นบริษัทต่างประเทศเป็นผู้รับดำเนินการแทบทั้งสิ้น บริษัท, ห้างหุ้นส่วน หรือเอกชนไทยที่ทำงานก่อสร้างส่วนใหญ่ในช่วงนั้นยังมีขนาดเล็ก เพราะส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมในหมู่วงศ์ญาติ หรือมิฉะนั้นก็ระหว่างมิตรที่สนิทกันจริงๆ เท่านั้น ฉะนั้นกิจการอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยส่วนใหญ่จึงอยู่ในวงจำกัด สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะอุตสาหกรรมในขณะนั้นอยู่ในระยะเริ่มก่อร่างสร้างตัวประการหนึ่ง และเหตุอีกประการหนึ่งที่สำคัญกว่า คือ ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว รัฐบาลยังมีนโยบายที่จะดำเนินงานก่อสร้างงานวิศวกรรมโยธาขนาดใหญ่เอง เช่น ให้กรมทางหลวงเป็นผู้ดำเนินการสร้างทางหลวงสายต่างๆ หรือมิฉะนั้นก็ให้บริษัทก่อสร้างต่างประเทศเป็นผู้ทำการสร้าง เช่น การสร้างถนนมิตรภาพสายแรก เชื่อมระหว่างสระบุรีกับนครราชสีมาโดยบริษัทก่อสร้างอเมริกัน หรือการสร้างเขื่อนเจ้าพระยาโดยกรมชลประทาน หรือการสร้างเขื่อนภูมิพล โดยบริษัทก่อสร้างอเมริกัน เป็นต้น ฉะนั้นการที่บริษัทก่อสร้างไทยจะได้มีโอกาสรับสัญญาเป็นผู้จัดสร้างงานวิศวกรรมโยธาขนาดใหญ่ จึงยังไม่มี นับได้ว่าเป็นอุปสรรคประการหนึ่งของบริษัทก่อสร้างไทยในขณะนั้น แต่เรื่องนี้หากนำมาพิจารณาถึงข้อเท็จจริงโดยยุติธรรมแล้ว ย่อมเห็นได้ว่า งานวิศวกรรมโยธาขนาดใหญ่ เช่น การสร้างทางหลวง หรือการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ เป็นต้นนั้นบริษัทก่อสร้างไทยในขณะนั้นยังไม่อยู่ในฐานะที่จะมีบุคลากรที่มีประสบการณ์มากนัก และไม่มีเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็น ซึ่งมีประสิทธิภาพ และมีจำนวนเพียงพอ ฉะนั้นการที่รัฐบาลต้องจัดทำเอง หรือใช้บริษัทต่างประเทศ ก็เป็นเรื่องของความจำเป็นเฉพาะหน้า
แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวมแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าความจำเป็นที่จะต้องแก้อุปสรรค เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยสามารถพัฒนาก้าวหน้าขึ้นให้ทัดเทียมนานาอารยประเทศจะต้องเริ่มขึ้นโดยเร็วที่สุด หากมัวแต่ปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปในสภาพเดิม โดยไม่กล้าที่จะเริ่มก้าวไปข้างหน้า เพราะกลัวการพลาด กลัวผิดนั้นก็คือการที่นับวันแต่จะอยู่ล้าหลังห่างจากคนอื่นๆ เขาไปทุกขณะ
แต่นับได้ว่าเป็นบุญหรือกุศลส่งของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย หรือจะพูดว่าพระสยามเทวาธิราชผู้คุ้มครองชาติไทยเรามาโดยตลอด ได้ทรงโปรดเข้าแก้ให้ก็ได้ โดยที่ในปี พ.ศ.2502 รัฐบาลภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้พิจารณาและสอบสวนข้อเท็จจริงของผลงานวิศวกรรมโยธาที่กรมกองต่างๆ ของรัฐบาลเป็นผู้จัดทำเอง แล้วพบว่าส่วนใหญ่ล่าช้านับแรมปี และมากรายด้วยกัน ยังสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากกว่าประมาณการเดิมเป็นอันมาก ซึ่งการที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากเหตุหลายประการด้วยกัน แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ การที่ในวงราชการมีระเบียบนานาประการ ซึ่งผู้ปฏิบัติจะต้องทำตามโดยเคร่งครัด ถึงแม้จะเห็นว่าข้อบังคับเป็นอันมาก เป็นอุปสรรคแก่การปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพก็ตาม ระเบียบข้อบังคับมากมายซึ่งเรียกกันว่า Red tape เป็นผลทำให้ผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานไม่อยู่ในฐานะที่จะพิจารณาตัดสินใจ และสั่งการที่เห็นควรได้ด้วยตัวเองเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการแก้ไข ดัดแปลงรายการให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง, ตามหลักวิชา และเพื่อความรวดเร็ว รวมทั้งการมีข้อบังคับอย่างเข้มงวดและจำกัดในการที่ผู้รับผิดชอบดำเนินงานจะอนุมัติสั่งจ่ายเงินตามความจำเป็น เพื่อให้งานลุล่วงไปโดยเร็วทันกำหนดเวลา ดังตัวอย่างเช่นการเปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้างแม้เพียงเล็กน้อย ซึ่งนอกจากมิได้เป็นผลเสียหายแก่โครงสร้างแต่ประการใดเลย แต่ยิ่งจะเป็นผลดีกว่าอีกด้วย ก็จะต้องรายงานตามลำดับขั้น จนถึงการได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี อันต้องใช้เวลาเป็นแรมเดือน ซึ่งผมขอสรุปสั้นๆ ว่าเป็นการที่ไม่ให้ความไว้วางใจแก่ผู้ดำเนินการเลย กลัวแต่ว่าจะมีการโกงกินกันเท่านั้น ซึ่งหากหลักการเป็นเช่นนี้งานจะเดินด้วยดีได้อย่างไร?

ฉะนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาให้การพัฒนาประเทศซึ่งท่านจอมพลสฤษดิ์ต้องการให้รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการแก้ปัญหาคมนาคมทางบกด้วยการสร้างทางหลวงขึ้นเป็นจำนวนมาก เพื่อเชื่อมโยงท้องที่ต่างๆ โดยทั่วถึงกันทุกจังหวัด อันเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งของการพัฒนา โดยเฉพาะจะช่วยให้ชาวนาชาวไร่สามารถขายพืชผลที่ผลิตได้ออกสู่ตลาดโลกได้อย่างกว้างขวางและในเวลาอันสั้นที่สุด ท่านจอมพลสฤษดิ์จึงได้มอบหมายให้ ฯพณฯ พจน์ สารสิน ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ กับคุณอุทัย วุฒิกุล ซึ่งเป็นอธิบดีกรมทางหลวงจัดการออกแบบจัดหาวิศวกรควบคุมงานสร้างทางหลวงขึ้นให้พร้อม แล้วประกาศให้บริษัทก่อสร้างเอกชนเข้ามาประมูลรับงานก่อสร้างทางหลวงไปทำตามโครงการโดยทันที การริเริ่มนี้เป็นก้าวใหญ่ที่สุดก้าวหนึ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย และเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญควรแก่การสรรเสริญตลอดไป แต่แม้กระนั้นก็ดี การริเริ่มนี้ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง เพราะมีคนไม่น้อยที่เชื่อกันในขณะนั้นว่า งานก่อสร้างทางหลวงเป็นงานที่ต้องใช้เงินทุนมาก เนื่องจากเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ล้วนมีราคาแพง เกินกว่ากำลังเงินของบริษัทก่อสร้างไทย และนอกจากนั้นแล้ว ก็ยังว่าบริษัทก่อสร้างจะเอาวิศวกร ช่างเทคนิค พนักงานที่มีประสบการณ์จากที่ไหนมาทำงานตามโครงการให้สำเร็จลุล่วงไปได้ แต่กาลเวลาได้พิสูจน์อย่างแจ้งชัดว่า บรรดาบริษัทก่อสร้างไทยต่างๆ จำนวนมาก สามารถปรับปรุงกิจการของตัวให้ก้าวหน้าจนมีโอกาสรับงานก่อสร้างทางหลวงของประเทศได้อย่างรวดเร็ว จนปรากฏผลว่าเพียงชั่วเวลา 5 ปีเศษเท่านั้น บริษัทก่อสร้างไทยจำนวนมาก ก็สามารถเข้ารับประมูลก่อสร้างทางหลวงจำนวนหลายสาย เป็นผลสำเร็จด้วยดี จนได้การรับรองของกรมทางหลวง และในระยะเวลาประมาณ 10 ปี ก็สามารถขยายกิจการเข้าประมูลรับงานก่อสร้างทางหลวงให้แก่รัฐบาลได้เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นแล้ว ยังมีบริษัทก่อสร้างไทยสามารถไปประมูลงานแข่งขันรับก่อสร้างทางหลวงในต่างประเทศนับเป็นระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร เป็นผลสำเร็จอย่างดีมาแล้วด้วย...” (จากตอนหนึ่งสุนทรพจน์ของ นพ.ชัยยุทธ กรรณสูต ในหัวข้อ "อุปสรรคการพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย" ณ งานมหกรรมก่อสร้าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 6 มีนาคม 2528)


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.