|

นพ.ชัยยุทธ-แบร์ลิงเจียรี: เอกภาพบนความขัดแย้ง!
นิตยสารผู้จัดการ( มิถุนายน 2529)
กลับสู่หน้าหลัก
"Our characters complement each other. Even though I was born in Europe, I have as Asian Flexibility . While Dr. Chaijudh uas born in Asia, his character has some German toughness'
จีออร์จีโอ แบร์ลิงเจียรี หรือ ยอร์ยอแบร์ลิงเจียรี (Giorgio Berlingiere) กล่าวถึงตัวเองกับเพื่อนรัก-นายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต ไว้นานแล้ว
“ครั้งหนึ่งบริษัทอิตาเลียนไทยฯ ได้สัญญาสร้างโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ในหลวงได้เสด็จมาทรงเป็นองค์ประธานทำพิธีเปิด พระองค์ได้ตรัสถามนายแพทย์ชัยยุทธว่า ทำไมตั้งชื่อบริษัทอิตาเลียนไทย แทนที่จะเป็นไทยอิตาเลียนเพื่อให้สมกับเป็นบริษัทที่ตั้งในประเทศไทย หมอชัยยุทธได้กราบทูลชี้แจงว่า บริษัทนี้ตั้งขึ้นไม่มีอะไรเลย ต้องพึ่งพาชาวอิตาเลียนทั้งหมด เมื่อก้าวหน้าก็ไม่ต้องการเปลี่ยนชื่อ ถือเป็นการให้เกียรติชาวอิตาเลียนที่มีบุญคุณต่อบริษัท” เสียงเล่าขานจากพนักงานของอิตัลไทยกรุ๊ป และบ่อยครั้งจากปากหมอชัยยุทธเอง
ความสัมพันธ์ระหว่างนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต กับจีออร์จีโอ แบร์ลิงเจียรี เริ่มต้นอย่างไร
ปริศนานี้มีการเล่ากันอย่างผิดๆ ถูกๆ หรือไม่ก็ขาดรายละเอียดที่สำคัญไป
“ผมรู้จักมิสเตอร์แบร์ลิงเจียรีมา 35 ปี แล้ว เขาก็ตายไป 4 กว่าปีแล้ว ทำงานร่วมกันมาเกือบ 32-33 ปี โดยการแนะนำของคุณประสิทธิ์ นฤทธิรางค์กูร ตอนนั้นท่านเป็นกงสุลอยู่ในเวียดนามใต้ ฝรั่งเศสก็อยู่...” นายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต เปิดเผยรายละเอียดเรื่องนี้ครั้งแรกกับ “ผู้จัดการ”
นพ.ชัยยุทธเล่าต่อไปว่า น้องเขยของเขา-เผด็จ ศิวะทัต ทำธุรกิจกู้เรือ ซึ่งได้สัญญาจากกรมเจ้าท่าในการกู้เรือจำนวน 5 ลำที่จมอยู่บริเวณปากน้ำ โดย นพ.ชัยยุทธการันตีเป็นผู้ค้ำประกันสัญญาดังกล่าว ทั้งยังสนับสนุนกิจการนี้ด้วยการจ่ายเงินล่วงหน้าให้ประมาณ 1 ล้านบาท
“ทีแรกน้องเขยผมไปร่วมกับญี่ปุ่น เป็นเพราะอะไรไม่ทราบได้ญี่ปุ่นไม่มา ก็เลยไปร่วมกับฮ่องกงก็ทำไปกู้ไม่ขึ้นสักลำ ไม่ขึ้นก็ไม่ได้เงิน งานกู้เรือไม่เหมือนอย่างอื่น No cure No pay ภาษาบริหารเขาบอกไม่ได้เงิน จึงอยู่ในฐานะลำบากไม่รู้จะทำอย่างไร...”
ประสิทธิ์ นฤทรางกูร เป็นนักเรียนอัสสัมชัญเช่นเดียวกับ นพ.ชัยยุทธ ก่อนเขาจะมาจากฮานอย อ่านหนังสือพิมพ์พบว่า บริษัท มาริโอ เอ็ม โคลัมโบ แห่งประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นซับคอนแทค บริษัทฝรั่งเศสรับจ้างกู้เรือที่โดนพวกเวียดกงระเบิดจม ประกาศว่าได้กู้เรือตามสัญญาเสร็จแล้ว และกำลังจะส่งเครื่องมือกลับอิตาลี เครื่องมือเป็นทุ่นใหญ่ยกของได้ 450 ตัน จะส่งกลับ คุณประสิทธิ์บอกว่าจากเมืองญวนไปอิตาลีมันต้องผ่านเมืองไทย อาจจะเป็นโอกาสที่เราจะไปติดต่อกับเขา..” หมอชัยยุทธเล่าเหตุการณ์เมื่อ 30 กว่าปีก่อนอย่างละเอียดเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้
“คุณเผด็จบอกว่าดี อ้ายเรามันหมดท่าแล้ว...ผมเป็นคนเขียนจดหมายไป เพราะทางโน้นเขาพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ได้แต่ฝรั่งเศส มิสเตอร์แบร์ลิงเจียรีเขาเป็นผู้จัดการ เขาก็เข้ามา ทำอยู่ปีเศษก็กู้เสร็จ 5 ลำ”
เมื่อกู้เรือเสร็จ น้องเขยของเขาก็ทำธุรกิจของตนเองต่อไป ส่วนหมอชัยยุทธนั้นเพียงเวลาปีเศษก็ได้สร้างความสัมพันธ์อันแนบแน่นกับแบร์ลิงเจียรี “เมียของเขาชอบเมืองไทย เขาก็คิดจะตั้งอิตัลไทยฯ” นพ.ชัยยุทธเล่า
นั่นเป็นจุดเริ่มต้นแห่งความร่วมมือที่ยาวนานมาจนถึง 30 ปี
แบร์ลิงเจียรีนั้นสมปรารถนาที่อยู่เมืองไทยตลอดกาล เขาเสียชีวิตเมื่อ 1 ธันวาคม 2524 โดยได้ทำฌาปนกิจดุจคนไทยที่โบสถ์ดอนบอสโก บนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เมื่ออายุ 59 ปี
หมอชัยยุทธอายุมากกว่าแบร์ลิงเจียรี 1 ปี
เมื่อเขาทำงานอยู่ในตึกอิตัลไทยบนถนนเพชรบุรี แบร์ลิงเจียรียึดมุมตึกชั้นที่ 15 ทิศตะวันออก ในขณะที่หมอชัยยุทธอยู่มุมตึกทิศตะวันตกชั้นเดียวกัน
เมื่อมีธุระ หมอชัยยุทธมักจะเป็นฝ่ายไปหา หมอชัยยุทธเรียกแบร์ลิงเจียรีว่า “นายห้าง” เหมือนพนักงานของอิตัลไทยทุกคน...
นายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูต เกิดที่นครปฐม เมื่อปี 2464 ในครอบครัวที่มีธุรกิจโรงสี โรงน้ำแข็ง แต่ถูกส่งมาเรียนที่กรุงเทพฯ ที่อัสสัมชัญ ก่อนจะเข้าเรียนแพทย์ที่ศิริราช จนจบ เขาบอกกับ “ผู้จัดการ” ว่า “พ่อบอกให้เรียนหมอก็เรียน ไม่ได้ชอบอะไร”
เขาจึงรักษาคนอยู่เพียง 11 เดือน ก็ลาออกมาทำธุรกิจของครอบครัว
ในที่สุดพรหมลิขิตหักเหมาพบแบร์ลิงเจียรี และเขาพบว่างานที่ถนัดที่สุดคือธุรกิจก่อสร้าง!
แบร์ลิงเจียรีมาทำงานแต่เช้า บางครั้งก็ก่อน 7 โมง ก่อนพนักงานจะมาทำงานกันด้วยซ้ำ แต่เวลาบ่ายประมาณ 4 โมงเย็นก็กลับบ้าน เขาทำงานด้วยความสุข วันหยุดสุดสัปดาห์ก็เดินทางไปพักผ่อนตามโรงแรมหรือสถานที่ตากอากาศซึ่งเป็นของอิตัลไทย ว่ากันว่าด้วยอุปนิสัยเช่นนี้ของเขา แบร์ลิงเจียรีจึงตัดสินใจเข้าสู่ธุรกิจโรงแรม
ส่วนหมอชัยยุทธ ทำงานหนัก แทบไม่มีวันหยุด เดินทางไปต่างจังหวัดบ่อย เขาบอก “ผู้จัดการ” ว่า ปกติเขามาทำงานประมาณ 8 โมงเช้า กว่าจะเลิกก็เลย 2 ทุ่ม
หมอชัยยุทธ ได้รับการยอมรับจากบรรดาวิศวกรอิตัลไทยแขนงต่างๆ ว่า มันสมองเป็นเลิศ นั่งประชุม “ขุนพล” โดยที่เขาไม่มีพื้นความรู้ด้านวิศวกรรมมาก่อนเลย แต่สามารถไล่เบี้ยและเรียนรู้ได้เร็วมาก
“คุณหมอคิดทันวิศวกรไม่ว่าเก่งขนาดไหน ใครที่คิดจะหลอกนั้นเห็นจะยาก” อดีตพนักงานอิตัลไทยกล่าว
ว่ากันว่าหมอชัยยุทธ คือเจ้าของตำนาน รถแทรกเตอร์สองคันที่เสียพร้อมกันให้ใช้ได้ 1 คัน โดยสับเปลี่ยนอะไหล่กัน ว่ากันว่าหมอชัยยุทธอีกนั่นแหละลงมือปฏิบัติเป็นตัวอย่าง
หมอชัยยุทธทำงานหนัก หน้าเป็นมันเยิ้ม ผมเผ้ายุ่งเหยิงอยู่ต่างจังหวัด ในขณะที่นายห้างแบร์ลิงเจียรีทำงานด้วยความสุข สบายๆ ในห้องแอร์...
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2524 ตำนานของนักธุรกิจสองชาติที่สร้างอิตัลไทยกรุ๊ปก็ปิดหน้าลง
นพ.ชัยยุทธเล่าว่า เพราะการตายอย่างกะทันหันของเพื่อนรัก-แบร์ลิงเจียรี เขาจึงเสียใจมาก
“ถ้าเขาไม่มาทำงานเช้า บางทีเขายังไม่ตาย...” หมอชัยยุทธพูดถึงเพื่อนด้วยความอาลัยและเล่ารายละเอียดวันที่เขาจากไปให้ฟังว่า
“วันนั้นเขามาทำงานก่อน 7 โมงเช้า เพราะเขาอยู่ใกล้ๆ ที่ทำงาน อยู่ซอยไปดีมาดี แล้วเขาไปในห้องน้ำก็หัวใจวาย โดยไม่มีใครรู้ ตามธรรมดาสัก 7 โมงกว่าๆ จึงจะมีคนมาทำงาน เป็นประจำตอนเช้า เลขาของเขาก็จะมาชงกาแฟให้ พอชงกาแฟก็เข้าไปในห้องก็ไม่เจอ มองไปในห้องน้ำปรากฏว่าปิดก็นึกว่าอยู่ในห้องน้ำ เขาก็ออกมาเอากาแฟวางไว้ ประมาณ 7.40 น. เขาก็เอะใจธรรมดาไม่น่าจะเข้าห้องน้ำนาน ก็เปิดดู...ความจริงนายห้างเข้าไปผูกเนกไท มือกำลังจับเนกไทอยู่เลย...” นพ.ชัยยุทธเล่าเสียงเครือ
ตึกอิตัลไทย บนถนนเพชรบุรี ห้องทำงานของ นพ.ชัยยุทธมีสองห้อง ปกติห้องทำงานในห้องใหญ่ ซึ่งมีเอกสารกองเต็มโต๊ะ หมอชัยยุทธบอกว่าถ้าต้องการความเงียบสงบเป็นพิเศษ จะมาทำงานในห้องเล็กซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม
ในห้องนี้มีสิ่งสะดุดตาคือ ภาพถ่ายขนาดใหญ่ บนฝาผนัง 2 ภาพ ภาพแรกเป็นภาพถ่ายคู่ของ นพ.ชัยยุทธ กรรณสูต กับภรรยา ม.ร.ว.พรรณจิต ส่วนอีกภาพหนึ่งคือ จีออร์จีโอ แบร์ลิงเจียรี...
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|